Wed 07 Oct 2020

SUFFERING OF THE BOOKSELLER

ภารกิจรับมือวิกฤตแห่งโรคระบาค ปัญหาในตลาดหนังสือไทย และการพาธุรกิจร้านหนังสือให้รอดปลอดภัยในภาวะปกติใหม่

     สิโรตม์ จิระประยูร บอกเราว่าปลายปีนี้ ร้านหนังสือ The Booksmith จะก้าวเข้าสู่ปีที่ 9 แต่นั่นล่ะ ก่อนจะถึงช่วงเวลานั้น—เช่นเดียวกับผู้ประกอบการอื่นๆ อีกมากมาย—หากไม่ล้มหมอนนอนเสื่อกันไปก่อน เราต่างรับรู้ว่านี่เป็นปีที่สาหัส

     “ปีนี้ผมอายุ 50 เดิมทีตั้งใจว่าปีนี้จะไปฉลองกับเพื่อนสนิทที่สวีเดน กระทั่งโควิด-19 มา ไม่ใช่แค่ไปไม่ได้ แต่ผมพบว่าเหมือนชีวิตเราในปีนี้ทั้งปีมันหายไปเลยนะ” สิโรตม์กล่าว

     เขาเล่าต่อ, แม้จะไหวตัวทันตั้งแต่ต้นปี ชะลอการสั่งหนังสือเข้าร้านก่อนที่โรคระบาดจะข้ามพรมแดนมาด้วยซ้ำ แต่เขาก็ยังมองโลกในแง่ดีว่า อย่างมากวิกฤตที่เริ่มต้นเมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ก็อาจอยู่กับเราแค่สองสัปดาห์เท่านั้น…

     หลังเรียนจบ สิโรตม์เริ่มต้นทำงานในบริษัทด้านการเงิน ก่อนจะย้ายไปทำงานกับ Asia Books จนขึ้นสู่ตำแหน่ง Managing Director ปี 2012 เขาลาออกมาเริ่มธุรกิจของตัวเองด้วยการเปิดร้านหนังสืออิสระอย่าง The Booksmith

     โดยควบคู่ไปกับการเป็นเจ้าของกิจการ เขายังเป็นทั้งเอเจนซี่หนังสือต่างประเทศ, ที่ปรึกษาด้านการคัดเลือกหนังสือให้สถาบันการศึกษา ไปจนถึงเคยเป็นคอลัมนิสต์ทำหน้าที่อัพเดตข่าวสารในแวดวงสิ่งพิมพ์จากทั่วโลกให้คนอ่าน ปัจจุบันสิโรตม์มีร้านหนังสือทั้งในเชียงใหม่และกรุงเทพฯ (The Papersmith) รวม 5 สาขา, 8 ปีที่ผ่านมา กิจการของเขาทำกำไรมาได้ตลอด

     “ผมวางแผนจัดการความเสี่ยงอย่างรัดกุมมาตลอด และธุรกิจก็ผ่านมาได้ตั้งแต่ต้มยำกุ้ง แฮมเบอร์เกอร์ เสื้อเหลือง-เสื้อแดง และอื่นๆ” สิโรตม์กล่าว “แต่ใครจะไปคิดว่ามาถึง พ.ศ.นี้แล้ว จู่ๆ มันยังมีโรคระบาดที่ไม่สามารถยับยั้งได้ แล้วจนถึงวันนี้ก็ดูเหมือนยังไม่มีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์”

     ในวาระที่หมอกควันแห่งความหวาดกลัวโรคระบาดเริ่มจางหาย หากมันกลับฝังรากวิกฤตเศรษฐกิจเรื้อรังไว้แก่ผู้คนในทุกแวดวง CONT. สนทนากับสิโรตม์ จิระประยูร ในภาวะปกติใหม่ของผู้ประกอบการร้านหนังสือ การรับมือกับวิกฤตที่ผ่านมา รวมถึงหนทางข้างหน้าที่จะเดินต่อไป

ในฐานะผู้ประกอบการ คุณรับมือกับวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมาอย่างไร

     อย่างที่บอกว่าผมไม่ได้คาดการณ์ไว้ก่อน ที่ทำได้คือรับมือไปตามสถานการณ์จริงๆ ซึ่งก็ถือเป็นโชคดีที่ผมทำธุรกิจนี้แบบ conservative คือเอาเงินเก็บของตัวเองมาลงทุนล้วนๆ โดยไม่กู้ธนาคาร เลยไม่มีปัญหาเรื่องต้นทุนหรือดอกเบี้ยแบงค์ และเจ้าของพื้นที่ที่ร้านผมเช่าอยู่ทั้งหมดก็พร้อมใจกันลดค่าเช่า แต่นั่นแหละเมื่อเริ่มธุรกิจแล้ว เราไม่มีทางหยุดค่าใช้จ่ายให้เป็นศูนย์ได้ เพราะเรายังมีเงินเดือนพนักงานหรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ซึ่งผมก็ต้องหมุนเงินสดมาหล่อเลี้ยงไว้ให้มากที่สุด

     วิกฤตนี้ให้บทเรียนผมหลายอย่าง แต่บทเรียนที่สำคัญคือ Good Boy Dies First หรือการยอมเป็นคู่ค้าที่นิสัยไม่ดีบ้าง เพราะเป้าหมายเราคือต้องเก็บเงินสดไว้สำหรับรองรับกับวิกฤตที่เลวร้ายที่สุดในอนาคต แต่ความที่ธุรกิจร้านหนังสือของเรายังมีการดีลหนังสือจากสำนักพิมพ์ต่างประเทศมาขาย แม้เราจะขอหยุดรับหนังสือเขาแล้ว แต่ก็ยังมีหนี้จากหนังสือล็อตที่แล้วอยู่ ผมเลยเขียนอีเมลไปหาคู่ค้า บอกพวกเขาตรงๆ เลยว่าตอนนี้ยังจ่ายค่าหนังสือให้ไม่ได้นะ เพราะมีปัญหา เราไม่เบี้ยวหรอก แต่ขอผ่อนผันไปก่อน ซึ่งทุกรายเขาก็ยอม เพราะเข้าใจปัญหาและเจ้าอื่นๆ ก็เป็นกันหมด เขาก็ออก invoice มาให้ใหม่ เพื่อขยาย credit term ไป บางสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ ทำเงื่อนไขนี้ไม่ได้ แต่เขาอีเมลมาตกลงว่าช่วงนี้จะไม่ทวง หลังโควิด-19 ค่อยว่ากัน

     เมื่อก่อนเราไม่เคยมีปัญหาเรื่องนี้เลย เป็นคู่ค้าที่ดี จ่ายเงินครบยอดและตามงวดตลอด แต่เพื่อนนักธุรกิจผมบอกไว้ว่าวิกฤตตอนนี้คนดีนี่แหละที่จะตายก่อน อย่างไรก็ตาม พอหลังจากกลับมาเปิดร้านได้เหมือนเดิม ร้านก็เริ่มทยอยเคลียร์หนี้ด้วยการแบ่งจ่าย คิดว่าอย่างเร็วตุลาคมนี้ก็คงหมด และธุรกิจก็จะกลับมา turn around ได้ แต่ปีนี้อย่าถามหากำไรเลย เอาแค่อยู่รอดให้ได้ก่อน

แต่จริงๆ ถ้าผ่านช่องทางออนไลน์ ธุรกิจหนังสือน่าจะเป็นหนึ่งในธุรกิจที่สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้แม้จะมีโรคระบาดไม่ใช่หรือครับ

     ใช่ครับ ในตลาดหนังสือของอังกฤษ ปีนี้เป็นปีที่ยอดขายพุ่งขึ้นสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ หนังสือเด็กพุ่งขึ้นเกือบยี่สิบห้าเปอร์เซ็นต์ สูงที่สุดในรอบสิบปีหลัง เพราะโควิด-19 ทำให้ทุกคนต้องล็อกดาวน์ ไปไหนไม่ได้ คนส่วนใหญ่ก็เลยเปิดเว็บไซต์สั่งหนังสือมาอ่านที่บ้าน ยอดขายจึงสูงเป็นประวัติการณ์ แต่ก็ไม่มีสำนักพิมพ์ไหนกล้าออกมาบอกว่าเป็น Best Year กันหรอกครับ เพราะเหตุของเรื่องมาจากสถานการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดนัก

     อย่างไรก็ตาม ความที่เราเป็นร้านหนังสือที่ไม่ได้เน้นขายออนไลน์ ขณะเดียวกันเราก็ต้องหยุดสั่งหนังสือใหม่มาขาย เราเลยไม่ได้ประโยชน์อะไรจากตรงนี้มากนัก แต่สุดท้ายเราก็ต้องเข็นร้านค้าออนไลน์ออกมาจนได้ ซึ่งก็พอทำรายได้ทดแทนในช่วงที่ร้านปิด

คุณเปิดร้านมา 8 ปีแล้ว แต่เพิ่งเปิดร้านออนไลน์ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา

     จริงๆ ผมทำเว็บไซต์ไว้ตั้งนานแล้ว แต่ก็ทำค้างไว้ ไม่เสร็จสักที อาจเพราะชะล่าใจด้วย เมื่อก่อนเราจะขายหนังสือผ่านทางเฟซบุ๊กเป็นหลัก สัก 6-7 ปีที่แล้วขายดีมากๆ โพสต์อะไรไปก็ขายได้หมด จนเฟซบุ๊กมาเปลี่ยนอัลกอริทึม และ access คนมาเห็นก็น้อยลงเรื่อยๆ ช่องทางนี้เลยไม่ยั่งยืนอีกต่อไป 

     ส่วนเว็บไซต์เราก็พัฒนาต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว คือทำทิ้งไว้ 80 เปอร์เซ็นต์ มี link data เชื่อมไปหาสำนักพิมพ์ต่างประเทศแล้ว ตั้งใจว่าปีนี้จะทำต่อให้เสร็จเรียบร้อยแล้วค่อยเปิดตัว แต่พอโควิด-19 มา จำได้ว่าช่วงวันที่ 17 มีนาคม ก็พบว่าไม่ได้แล้วล่ะ เราต้องเข็นมันออกมาแล้ว เลยตัดสินใจเก็บข้อมูลที่ทำไว้ และเกณฑ์พนักงานมาแบ่งกันไปคีย์ข้อมูลหนังสือที่เรามีสต็อกไว้ลงขายก่อน ยอดออนไลน์ก็ใช้ได้เลย จนมาคลายล็อกดาวน์ ยอดตรงนี้ก็ลดลง แถมยอดหน้าร้านก็ดันนิ่งไปอีก เนื่องจากคนยังไม่กล้าเดินทางออกมาซื้อเท่าไหร่

เพราะยังไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาด้วย

     จริงๆ ถึงเราขายหนังสือภาษาอังกฤษเป็นหลัก แต่ลูกค้าส่วนใหญ่คือคนไทยที่อ่านหนังสือภาษาอังกฤษ หรือชาวต่างชาติที่อยู่ไทย ลูกค้าส่วนใหญ่จึงเป็นนักท่องเที่ยวจากกรุงเทพฯ หรือจากเมืองอื่นๆ ที่มาเชียงใหม่ ซึ่งพอหายไป ก็ดึงไปทั้งหมด ที่สะท้อนชัดคือสาขาสนามบิน พอคนไม่เดินทางเข้า-ออก ยอดมันก็นิ่ง แต่พอช่วงหลังมานี้ คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตปกติ และเดินทางกันอีกครั้ง ยอดขายก็เริ่มกลับมาดีขึ้น 

คือไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเลยก็อยู่ได้

     ไม่เชิงครับ นักท่องเที่ยวต่างชาติก็มีความสำคัญ แต่สัดส่วนลูกค้าเราคือคนไทยมากกว่า

ถ้าแนวโน้มลูกค้าเป็นแบบนี้ หาก The Booksmith ไม่ขายหนังสือภาษาอังกฤษเลย จะสามารถอยู่แต่กับการขายหนังสือภาษาไทยอย่างเดียวได้ไหม

     อันนี้ตอบเลยว่าไม่ได้ครับ ที่ผ่านมาเราอยู่ได้เพราะเลือกหนังสือภาษาอังกฤษที่ร้านอื่นๆ อาจไม่มี แต่กับหนังสือภาษาไทยเราทำแบบนั้นไม่ได้ ขณะเดียวกันนี่เป็นข้อสำคัญ คือเราไม่สามารถควบคุมราคาได้ เพราะหนังสือไทยจะถูกลดราคามาจากต้นทางโดยสำนักพิมพ์แล้ว และสำนักพิมพ์แต่ละแห่งก็ขายหนังสือของเขาเองผ่านช่องทางออนไลน์อีก เราไม่สามารถลดราคาแข่งกับเขา เพราะเรามี fixed cost เป็นค่าเช่าต่อตารางเมตร 

เหมือนว่าเราเป็นตัวแทนจำหน่ายหนังสือที่ต้องขายแข่งกับผู้ผลิตเสียเอง

     ใช่ครับ โมเดลที่สำนักพิมพ์ขายหนังสือเองจะทำให้ร้านหนังสือกลายเป็นโชว์รูมมากกว่า คนอ่านเข้ามาทดลองอ่านที่ร้าน แต่ก็อาจสั่งซื้อตรงจากสำนักพิมพ์เพราะได้ส่วนลดมากกว่า แต่ผมก็เข้าใจเขานะ เพราะมันเป็น quick win สำนักพิมพ์เขาลงทุน เขาก็ต้องการเงินสดกลับมาให้เร็วที่สุด ขณะเดียวกันเขาก็ไม่ต้องรับมือกับต้นทุนการขนส่งไปยังร้านหนังสือ หรือแบกรับความเสี่ยงในกรณีที่ร้านขายไม่ได้อีก 

     คือในมุมมองเขาก็ถูกแหละ แต่ถ้ามองทั้งอุตสาหกรรม ในวันหนึ่งข้างหน้า ก็น่าสนใจว่าแล้วบทบาทของร้านหนังสือจะอยู่ตรงไหน ระบบ supply chain อาจจะเหลือแค่ผู้ผลิตที่เป็นต้นน้ำ ส่วนกลางน้ำอย่างผู้จัดจำหน่าย และปลายน้ำที่เป็นร้านหนังสือ ก็อาจหายไป

แล้วตลาดหนังสือต่างประเทศเขาไม่ประสบปัญหาแบบเดียวกันนี้บ้างหรือครับ

     สำนักพิมพ์ในต่างประเทศก็เคยขายตรงผ่านช่องทางของใครของมันเหมือนกัน แต่พอเขาพบว่ามันทำลาย supply chain ก็เลยเลิกกันไป ถ้าเราเข้าไปดูหนังสือในเว็บไซต์ของสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ แล้วเกิดสนใจหนังสือเล่มไหน เราคลิกเข้าไปที่เล่มนั้น ก็จะเจอลิงก์ของร้านหนังสือทุกร้านที่ขายหนังสือเล่มดังกล่าวให้คุณตามไปซื้อเองเลย ไม่มีให้หยิบหนังสือใส่ตะกร้าและจ่ายตรงที่เว็บไซต์ของสำนักพิมพ์

     ตลาดหนังสือต่างประเทศเขาค่อนข้างให้ความสำคัญกับร้านหนังสือ เพราะนอกจากจะเป็นที่จัดจำหน่าย เขามองว่ามันเป็นพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรม ที่โปรโมตหนังสือ ที่จัดอีเวนต์ให้นักเขียนมาเปิดตัว และยิ่งมีร้านหนังสือก็ยิ่งการันตียอดการผลิตหนังสือด้วย เขาจึงมีการสนับสนุนให้เปิดร้านหนังสืออิสระกันมากๆ

คุณเคยเป็นกรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย เคยนำประเด็นนี้ไปคุยกับคณะกรรมการด้วยกันบ้างไหม 

     ยังเลยครับ เอาจริงๆ ผมก็ไม่กล้า เพราะกรรมการส่วนใหญ่เขาก็เป็นเจ้าของสำนักพิมพ์กันด้วย ผมเลยเลือกที่จะเน้นการขายหนังสือภาษาอังกฤษแบบเดิมดีกว่า

     อย่างไรก็ตาม ล่าสุด คุณมกุฏ อรฤดี เจ้าของสำนักพิมพ์ผีเสื้อ เขาก็พยายามหา solution เรื่องนี้ด้วยการร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม ริเริ่มโครงการ Book Passport ขึ้นมาเพื่อสนับสนุนร้านหนังสืออิสระ โดยหนึ่งในกิจกรรมของโครงการคือการจัดพิมพ์หนังสือ กรีบูย (Gribouille วรรณกรรมเยาวชน โดยนักเขียนฝรั่งเศส จอร์จ ชองด์ (George Sand)) ในเวอร์ชั่นปกแข็ง และส่งให้ร้านหนังสืออิสระทั่วประเทศขายราคาพิเศษ คือเอาไปขายหน้าร้านเล่มละ 99 บาท แต่ถ้าลูกค้าอยากซื้อตรงจากสำนักพิมพ์ สำนักพิมพ์จะขายเล่มละ 200 บาท กลายเป็นว่าใครอยากซื้อเล่มนี้ ต้องไปสั่งซื้อที่ร้านหนังสืออิสระเท่านั้น ปรากฏว่าเราขายหนังสือเล่มนี้หมด ทำให้ผมเห็นแนวโน้มที่ดีของโมเดลนี้

     ขณะเดียวกัน ทางโครงการนี้ก็ให้งบประมาณสนับสนุนร้านหนังสืออิสระจัดอีเวนต์เกี่ยวกับการเขียน การอ่าน หรือสนับสนุนการขายหนังสือที่ร้านในระยะยาวอย่างต่อเนื่อง คือไม่ได้ชวนให้เราจัดงานอย่างเดียว แต่ให้เงินมาสนับสนุนด้วย ซึ่งผมชอบเลยนะ เพราะนี่ไม่ใช่แค่กระตุ้นให้เกิดการขายอย่างเดียว แต่มันมีส่วนสร้างชุมชนหรือเครือข่ายการอ่าน การเขียน สนับสนุนให้เกิดวัฒนธรรมการอ่านด้วย

ไหนๆ ก็พูดเรื่องตลาดหนังสือไทยแล้ว คุณมองเห็นปัญหาเรื่องอื่นอีกไหม

     อาจจะไม่ได้มองว่าเป็นปัญหานะ เพราะถ้าพิจารณาจากเงื่อนไขการตลาดก็อาจเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ แต่ที่เห็นชัดๆ คือการผลิตหนังสือแปลในบ้านเรายังไม่หลากหลายพอ อย่าง 100 Years of Solitude ของ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ (Gabriel Garcia Marquez) ผมไม่แน่ใจว่ามีแปลไทยออกมากี่เวอร์ชั่นแล้ว หรือ จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) ที่มีวรรณกรรมหรือข้อเขียนเกี่ยวกับการเมืองดีๆ หลายเล่มมาก แต่ก็จะถูกจัดพิมพ์หลักๆ อยู่แค่สองเล่มคือ 1984 กับ Animal Farm ผมคิดว่าผู้ผลิตควรมีมากและหลากหลายกว่านี้ ที่ผ่านมามันถูก manipulate โดยเทรนด์ ตอนนี้หลายสำนักพิมพ์ก็อยากทำวรรณกรรม Y เต็มไปหมด   

    อีกเรื่องที่สำคัญและเกี่ยวพันกับประเด็นเรื่องการขายตรงของสำนักพิมพ์ที่ผมพูดไปก่อนหน้า พอดีวันก่อนผมได้คุยกับเพื่อนรุ่นพี่คนหนึ่งในสำนักพิมพ์ Li-Zenn เขาบอกว่างานมหกรรมหนังสือปีนี้จัดอยู่ในทำเลที่ไกลและไม่เอื้อต่อการเดินทาง คนจึงไปกันน้อย ขณะเดียวกัน พอไปเดินเราก็จะพบว่าหนังสือในแต่ละบูทเหมือนๆ กันไปหมด ก็เลยมาคุยกันว่าจริงๆ แล้วงานมหกรรมหรือเทศกาลหนังสือนี้มันควรเป็นงานโดยตรงของสำนักพิมพ์มากกว่า ร้านค้าปลีกไม่จำเป็นต้องไปร่วมงานหรอก เพราะเขามีพื้นที่ขายของเขาอยู่แล้ว งานนี้ควรเป็นงานโชว์เคสหนังสือ สำนักพิมพ์พานักเขียนมาเปิดตัว หรือมีกิจกรรมอะไรก็ว่ากันไป ถ้าเหลือแค่งานสำหรับสำนักพิมพ์อย่างเดียว เราก็สามารถหาสถานที่จัดขนาดที่เหมาะสมในเมืองก็ได้ ไม่จำเป็นต้องไปจัดไกลหรือมีพื้นที่ใหญ่ขนาดนั้น งานเทศกาลเหล่านี้มันน่าจะสำคัญตรงที่อีเวนต์ ไม่ใช่ในเชิงปริมาณ

กลับมาที่ตลาดหนังสือโลก ยอดขายหนังสือที่สูงขึ้นในปีนี้ชี้ให้เห็นว่าโควิด-19 ไม่ใช่ disruption ของธุรกิจหนังสือ แล้วในอนาคต คุณคิดว่ามีปัจจัยอะไรน่ากังวลต่อธุรกิจนี้อีกไหม

     ผมยังคงยืนยันเหมือนเดิมว่า disruption เดียวของธุรกิจหนังสือ คือกิจกรรมอื่นที่ทำให้คนไม่อ่านหนังสือหรือไม่ซื้อหนังสืออ่าน ก่อนหน้านี้เคยมีคนพูดกันว่า อีบุ๊กจะมาแย่งตลาดหนังสือเล่ม แต่ตอนนี้เราก็เห็นว่าการมาของอีบุ๊กคือการส่งเสริมธุรกิจ เพราะสุดท้ายไม่ว่าจะรูปแบบไหน ผลที่ได้ก็ตกอยู่กับนักเขียนและสำนักพิมพ์เหมือนเดิมอยู่ดี กลายเป็นว่ารายได้มันคือ 1+1 = 2 ถ้ายอดอีบุ๊กตก สำนักพิมพ์ก็แย่เหมือนกัน 

     ซึ่งล่าสุดมันก็ไม่ใช่แค่สองขานี้แล้ว เพราะมันมีหนังสือเสียง หรือออดิโอบุ๊กเพิ่มเข้ามาอีก ซึ่งมาแรงมาก เติบโตปีละ 25-30 เปอร์เซ็นต์ โมเดลการขายออดิโอบุ๊กในต่างประเทศก็น่าสนใจ เพราะสำนักพิมพ์เขาจะไม่ขายเอง แต่จะมีแพลตฟอร์มจำหน่ายเรียกว่า aggregator ซึ่งรับต้นฉบับจากสำนักพิมพ์มาทรานส์ฟอร์มให้เป็นอีบุ๊กและออดิโอบุ๊ก เขามีเทคโนโลยีที่ปลอดภัยในการจัดเก็บและจัดส่ง สำนักพิมพ์และร้านค้าไม่ต้องลงทุน แถมไม่มีปัญหาเรื่องสต็อก อย่างสมมติลูกค้าจะเข้าไปซื้อหนังสือเสียงจากเว็บไซต์ร้านของเรา ระบบเราก็ไปเคาะประตูหลังบ้านของ aggregator ทางนั้นก็หยิบไฟล์หนังสือที่ถูกซื้อมา encrypt และส่งลิงก์ให้ลูกค้าไปดาวน์โหลดฟังโดยตรง แล้วก็แบ่งเปอร์เซ็นต์กัน ผมยังอยากขายเลย แต่ในบ้านเรายังไม่มีใครทำ

คิดว่าอาจจะมีเร็วๆ นี้ก็ได้ครับ เห็นจากความนิยมพ็อดแคสต์ในปัจจุบัน

     อาจเป็นได้ ว่าไปพ็อดแคสต์ในตอนนี้ก็มีมากจนผมตามฟังไม่ทันเหมือนกัน ซึ่งวันหนึ่งมันอาจจะถึงจุดอิ่มตัว  และคนทำคอนเทนต์ก็อาจมองหาแพลตฟอร์มใหม่ๆ ต่อไป ผมว่าออดิโอบุ๊กนี้น่าสนใจ 

ตอนนี้คุณมีร้านหนังสือ 5 สาขาแล้ว ซึ่งว่าไปก็ถือเป็นหนึ่งในร้านหนังสืออิสระที่มีสาขามากที่สุดในบ้านเราเหมือนกัน ถ้าพ้นจากช่วงโควิด-19 นี้ไป คุณมีแผนจะขยับขยายอีกมั้ย

     อาจจะยัง เอาจริงๆ ภาพฝันในระยะยาวของผมคือการปิดทุกสาขา เพื่อเหลือร้านค้าขนาดใหญ่ที่มีขนาด 100 ตารางเมตรขึ้นไปเพียงร้านเดียว เราอยากมีบ้านของเราอย่างจริงจัง และทำให้เว็บไซต์แข็งแรงขึ้น

วิกฤตครั้งนี้ทำให้คุณไม่เชื่อในระบบสาขาแล้วหรือ

     ไม่ใช่ครับ ยังเชื่ออยู่ แต่ในระยะยาวที่ผมบอกคือผมมองไปถึงตอนเราเกษียณเลยน่ะ คิดว่ายังไงก็คงขายหนังสือต่อไป แต่ทำอย่างไรให้เราทำแล้วสนุกและควบคุมมันได้ เลยคิดถึงการทำร้านใหญ่ๆ ร้านเดียว ไม่ต้องเช่าเขาอยู่ตามสาขาต่างๆ ให้ที่นี่เป็นบ้านเราไปเลย 

โดยคิดแต่จะขายหนังสืออย่างเดียว

     จริงๆ ก็อยากขายของเก่า กำไรดีนะ (ยิ้ม) ผมเอาแผ่นเสียงมาขาย 200-300 แผ่น ตอนนี้เหลือไม่เท่าไหร่แล้ว พวกของแต่งบ้าน พิมพ์ดีด หรือเฟอร์นิเจอร์วินเทจ ก็ขายควบคู่ไปกับหนังสือได้

ในฐานะที่คุณเป็นผู้ประกอบการร้านหนังสือที่ประสบความสำเร็จ คุณมีคำแนะนำให้คนที่มีความฝันจะเปิดร้านหนังสืออิสระ หรือที่เปิดแล้วและกำลังดิ้นรนกันอยู่ตอนนี้ไหม

     ผมขอพูดจากคำแนะนำของคนที่เขาประสบความสำเร็จจริงๆ ดีกว่า มาจากหนังสือเล่มหนึ่งของ ทิม วอเทอร์สโตน (Tim Waterstone) เจ้าของร้านหนังสือ Waterstone’s ในอังกฤษ เขาบอกว่าทุกตารางเมตรในร้านหนังสือล้วนมีต้นทุนคงที่ของมัน ฉะนั้นมีพื้นที่ก็วางหนังสือเข้าไปเถอะ วางให้แน่นๆ เดี๋ยวก็ขายได้เอง เพราะวางน้อยวางมาก คุณก็ต้องจ่ายค่าเช่าเท่ากัน ขณะเดียวกันก็ให้โฟกัสไปที่รายได้หลักที่เข้ามา ทุกอย่างจะดีเอง แต่การสร้างรายได้นี่แหละคือสิ่งที่ยากที่สุด

คือไม่ต้องจัดร้านสไตล์มินิมอลเก๋ๆ ก็ได้

     จะมินิมอลก็ได้ครับ แต่คุณก็ต้องมีหนังสือที่ตอบโจทย์ลูกค้า เจ้าของร้านและพนักงานมีความรู้ สามารถแนะนำหนังสือให้แก่ลูกค้าได้ แต่ถ้าเรายังเช่าเขาอยู่ ผมก็เห็นด้วยกับวอเทอร์สโตนนะ วางไปเถอะครับ 

     ส่วนข้อนี้วอเทอร์สโตนไม่ได้กล่าวไว้ หัวใจสำคัญของการทำร้านสำหรับผม คือการทำให้ลูกค้ามาสนับสนุนเรา ที่ผ่านมาบางทีอาจจะยังแยกกันไม่ออกระหว่างอารมณ์ของการเข้าร้านหนังสือ กับการสนับสนุนร้านหนังสือ เพราะคนที่มาด้วยอารมณ์อยากเข้าร้านหนังสือ เขาก็อาจไม่ได้เป็นลูกค้า แต่การสนับสนุนก็คือการมีลูกค้ามาซื้อหนังสือจริงๆ กลับไป และนั่นจะทำให้ร้านหนังสือเราอยู่ได้