Tue 16 Feb 2021

STORY AND ILLUSTRATION BY PEN-EK

ความรัก ความหลงใหลในกราฟิกโนเวลของผู้กำกับที่ชอบเล่าเรื่อง

เรื่อง: คุณากร

     ทันทีที่รถเคลื่อนตัวมาหยุดบริเวณกลุ่มอาคารสีขาวเด่นกลางท้องทุ่ง ‘เปเป้’ สุนัขพันธุ์ลาบราดอร์สีน้ำตาลช็อกโกแลตก็คาบตุ๊กตาออกมาต้อนรับด้วยท่าทางเป็นมิตร ผมจำเจ้าตัวใสซื่อที่กำลังแกว่งหางดุ๊กดิ๊กตัวนี้ได้แม่น เพราะมันตามติดเจ้าของอย่างกับอะไรดี จึงมั่นใจว่าไม่พลาดแน่ หลังนี้แหละบ้านพักในอำเภอแม่ริมของ ‘เป็นเอก รัตนเรือง’

     หลายคนที่ติดตามเขาคงพอทราบแล้วว่า ผู้กำกับหนังอินดี้มือรางวัลคนนี้กำลังออกผลงานชิ้นใหม่หมาดในรูปแบบ ‘กราฟิกโนเวล’ 

     ใช่ เขาทำให้พวกเราต้องประหลาดใจ แต่ผมอยากจะบอกว่าทันทีที่ก้าวพ้นบันไดโรยหินแม่น้ำ ทะลุเข้าไปยังโถงโปร่งของตัวบ้าน ความฉงนสงสัยก็ถูกกะเทาะเปลือก เมื่อสังเกตเห็นชั้นวางหนังสือริมโต๊ะทำงานที่เต็มแน่นไปด้วยบรรดากราฟิกโนเวลสูงท่วมหัว 

     “ทุกคนรู้จักผมในฐานะคนทำภาพยนตร์ แต่เอาเข้าจริง ภาพยนตร์ไม่ใช่สาระสำคัญสำหรับผม สาระสำคัญคือการได้เล่าเรื่องที่ตัวเองอยากเล่าในวิธีที่อยากเล่าเท่านั้น” 

     เป็นเอกอธิบายแก่นการสร้างสรรค์งานของเขาที่ไม่ตีกรอบเรื่องรูปแบบ พลางต่อบทสนทนาด้วยการเปรยว่า เรื่องเล่าเรื่องแรกไม่ใช่ ฝัน บ้า คาราโอเกะ แต่เป็นซีรีส์การ์ตูนวัยเด็กที่ไม่เคยเปิดเผยที่ไหน ก่อนผมจะชวนขุดคุ้ยความหลงใหลในพลังของเรื่องเล่า รสนิยมการอ่าน ตลอดจนเส้นทางปลุกปั้น Trouble in Paradise กราฟิกโนเวลเล่มแรกในชีวิต

ปิ๊กมี่ ลูกลาดพร้าว

     “ผมออกหนังสือการ์ตูนเล่มแรกในชีวิตตอนเรียนอยู่ชั้น ป.5 ตอนนั้นบ้ามวยไทยมาก ถึงขั้นที่ว่าพอปิดเทอมใหญ่จะต้องไปเข้าค่ายซ้อมมวย แล้วสมัยก่อนมีมวยดังชื่อ ‘พุฒ ล้อเหล็ก’ เป็นนักมวยหุ่นผอม แต่ชกด้วยสมอง ชั้นเชิงแพรวพราว ซึ่งผมชอบมาก ก็เลยจับคาแรกเตอร์ของเขามาวาดเป็นการ์ตูนเกี่ยวกับมวยไทย จำได้ว่าตัวละครเอกชื่อ ‘ปิ๊กมี่ ลูกลาดพร้าว’” เป็นเอกหัวเราะร่วนกับความทรงจำสนุกๆ อันเป็นที่มาของซีรีส์การ์ตูนว่าด้วยเส้นทางสู่สังเวียนของนักมวยตัวเล็กหมัดคม บนกระดาษหน้ากลางสมุดเรียน ที่หากเพื่อนคนไหนอยากอ่านจะต้องสละกระดาษหน้ากลางหนึ่งคู่มากำนัล

     “เชื่อมั้ย ซีรีส์ของผมป๊อบมาก จนมีกระดาษหน้ากลางเป็นตั้งๆ ผมวาดกระทั่งวันหนึ่งถูกครูสั่งห้าม โดยให้เหตุผลว่าเหมือนเป็นการทำธุรกิจในโรงเรียน” 

     นี่คือเรื่องเล่าลำดับแรกแท้จริงของเป็นเอก รัตนเรือง สมัยที่ยังชื่นชอบเตะบอล ต่อยมวยมากกว่าอ่านหนังสือ และก่อวีรกรรมมากมายกับก๊วนที่เขาออกตัวว่าเป็นเพียงเด็กชาย ‘ท้ายโจก’

อุบัติเหตุแห่งอุบัติเหตุ

     ภาพที่ห่างไกลจากคำว่า ‘เด็กเรียน’ ของเขาชัดเจนขึ้นตามวัย จนในที่สุดพร้อมๆ กับการถูกเชิญออกจากโรงเรียน ครอบครัวก็ตัดสินใจส่งเขาไปเรียนต่อไฮสคูลที่สหรัฐฯ ก่อนจับพลัดจับผลูลงทะเบียนเรียนสาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ สถาบันแพรตต์ (Pratt Institute) ตามหญิงสาวที่เฝ้าจีบ และโดยไม่คาดคิด เหตุการณ์นี้กลับกลายเป็น Happy Accident ซึ่งช่วยลากเส้นต่อจุดความหลงใหลในพลังของเรื่องเล่าให้กับเขา 

     “พอเรียนๆ ไปก็พบว่า กูชอบสิ่งนี้ว่ะ ชอบมากเลย เพราะเวลาดูภาพศิลปะแต่ละภาพมันเหมือนเรากำลังนั่งดูหนัง ในนั้นมันมีเรื่องเล่า และไอ้ความเป็นนักเล่าเรื่องของเราก็น่าจะบ่มจากจุดนี้ 

     “ส่วนภาพยนตร์ จริงๆ แล้วไม่ใช่สิ่งที่เราใฝ่ฝันไว้เลยนะ มันเป็นอุบัติเหตุ กราฟิกโนเวลเองก็เหมือนกัน ชีวิตเราคล้ายเป็นอุบัติเหตุที่พัดพาไปเจอกับอีกอุบัติเหตุเรื่อยๆ แบบนั้นมากกว่า” 

     ระหว่างเรียนอยู่ชั้นปีที่ 2 ขณะเตร็ดเตร่อยู่ใจกลางแมนฮัตตัน เป็นเอกบังเอิญเหลือบไปเห็นโปสเตอร์โปรโมตหนังสุดเท่ ของผู้กำกับ เฟเดริโก เฟลลินี (Federico Fellini) จึงตามเข้าไปนั่งเสพต่อ 

     แล้วสองชั่วโมงอันพิศวงสนเท่ห์นั้นก็ทำให้เขาต้องมนตร์เสน่ห์ของโลกภาพยนตร์

     “มันเหมือนเวลาหลงรักผู้หญิงที่เราไม่เข้าใจว่าเพราะอะไร แต่ทำไมโคตรมีเสน่ห์เลยวะ ผมดูไม่รู้เรื่องเลยนะ แต่เอาตาออกจากจอไม่ได้เลย สำคัญที่สุด มันทำให้ได้รู้ว่าโลกเรามีหนังแบบนี้อยู่ หลังจากนั้นผมก็ขวนขวายหาหนังของเฟลลินี อิงก์มาร์ เบิร์กแมน (Ingmar Bergman) และ วูดดี อัลเลน (Woody Allen) มาดู จนรู้ตัวอีกทีทุกวันนี้คนก็รู้จักผมในฐานะผู้กำกับหนัง ไม่ใช่นักเรียนประวัติศาสตร์ศิลปะอีกแล้ว”

     เช่นเดียวกับการหลงใหลในภาพยนตร์ ช่วงเริ่มต้นงานประจำเป็นนักออกแบบกราฟิก เขาพลัดเข้าไปในร้านขายคอมิกเพื่อพบกับหนังสือปกสวยสะดุดบนชั้น เขาพลิกหน้ากระดาษ พิจารณาลายเส้นและเนื้อหาที่ไม่อาจแยกแยะได้ว่าเป็นการ์ตูน งานศิลปะ หรือบทกวี แต่รู้ตัวอีกที เขาก็ส่งให้แคชเชียร์สแกนบาร์โค้ด แล้วเป็นเอกก็ค้นพบความมหัศจรรย์ของกราฟิกโนเวลนับตั้งแต่นั้น

ห้าเล่มรัก

     “ผมรู้สึกว่ากราฟิกโนเวลมีความลึกซึ้งและจริงจังกว่ามังงะญี่ปุ่นหรือคอมิกดีซี ตัวละครเป็นคนธรรมดาสามัญ บ้างเป็นลูสเซอร์ตกงาน บ้างก็ลูกผู้อพยพ แล้วที่น่าสนใจคือไอ้เรื่องประเภทที่มีความซับซ้อน โศกเศร้า หรือโดดเดี่ยว ตัวอาร์ตเวิร์กของหนังสือมักจะสวยเป็นพิเศษ เพราะมันไม่ได้ตั้งหน้าตั้งตาเล่าเรื่องเพียงอย่างเดียว แต่ยังใส่ใจในรายละเอียดของบรรยากาศและการถ่ายทอดอารมณ์ด้วย” 

     ผู้กำกับที่หลงใหลในสไตล์การเล่าเรื่องด้วยดีเทลมากกว่าพล็อตคนนี้เสริมว่า ในการเลือกกราฟิกโนเวลแต่ละเล่ม เขามักลงคะแนนให้อาร์ตเวิร์กก่อนเนื้อหา และเพื่อให้เห็นภาพ เขาผุดลุกไปคว้ากราฟิกโนเวล 5 เล่มรักจากกว่า 30 เล่มโปรดมากาง พลางไล่เรียงความน่าสนใจให้ฟังด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น

     “Black Hole ของ ชาร์ลส์ เบิร์นส์ (Charles Burns) เป็นเรื่องเกี่ยวกับแก๊งวัยรุ่นที่พากันไปเฮฮาปาร์ตี้ในป่าแล้วก็ประสบกับเหตุการณ์พิศดาร พิศวง งานอาร์ตทั้งเล่มให้อารมณ์ลึกลับ พรั่นพรึง เล่มนี้เป็นแรงบันดาลใจให้ผมทำหนังเรื่องนางไม้ 

     “ส่วนเล่มนี้ Asterios Polyp ของ เดวิด มาซซุคเคลลี (David Mazzucchelli) เป็นเล่มที่อาร์ตเวิร์กโคตรประหลาด คือมันรวมเอาอาร์ตเวิร์กหลากรูปแบบหลายสไตล์เข้ามาอยู่ในเรื่องๆ เดียว จำได้ว่าตอนอ่านผมทึ่งมาก 

     “เล่มต่อมา No Longer Human ของ จุนจิ อิโต้ (Junji Ito) เป็นมังงะ แต่ที่เลือกเพราะมันแปลงมาจากวรรณกรรมญี่ปุ่นที่ผมชื่นชอบของ โอซามุ ดาไซ (Osamu Dazai) วรรณกรรมเรื่องนี้มีฉบับแปลไทยด้วยชื่อ สูญสิ้นความเป็นคน

     “ส่วน From Hell ของ อลัน มัวร์ กับ เอ็ดดี้ แคมป์เบล (Alan Moore & Eddie Campbell) เล่มนี้เคยถูกสร้างเป็นหนังที่ จอห์นนี เดปป์ เล่นนะ เป็นเรื่องของ แจ็ค เดอะ ริปเปอร์ ฆาตกรต่อเนื่องในย่านไวต์ชาเปล ความที่หนังสือพยายามเปิดเผยว่าตัวตนแท้จริงของฆาตกรเกี่ยวข้องกับราชวงศ์ มันจึงมีเรื่องค่อนข้างอ่อนไหว ผสมกับบุคลิกของตัวละครเอกที่มีมิติซับซ้อน เพราะเป็นฆาตรกรผู้ดี มีความละเลียดอ่อน มีรสนิยมด้านวรรณกรรม และเข้าใจเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมอังกฤษอย่างลึกซึ้ง เราจึงเหมือนได้เรียนรู้เรื่องราวเหล่านี้ไปในตัว

     “เล่มสุดท้าย Justine and The Story of O ของ กวิโด เครแพกซ์ (Guido Crepax) เป็นกราฟิกโนเวลเอ็กซ์เรตแบบสุด บทพูดแทบไม่มี ดูงานอาร์ตเวิร์กมันสิ สุดยอดทั้งนั้น สีหน้า ท่าทาง อารมณ์ต่างๆ อย่างกับภาพยนตร์ อีกนิดเดียวก็แทบจะกระโดดออกมาจากหน้ากระดาษอยู่แล้ว” แล้วเขาก็พลิกเปิดหนังสือเล่มเขื่องอวดเนื้อหาวาบหวิวทีละหน้า 

     เป็นเอกบอกว่า กราฟิกโนเวลเล่มนี้เป็นเล่มที่มีค่ามากที่สุดของเขา พร้อมชื่มชมกวิโด เครแพกซ์ ในฐานะศิลปินที่สามารถถ่ายทอดความทะลึ่ง สัปดน หยาบโลน และโคตรลามกออกมาได้หมดจดราวบทกวี 

มอดไหม้ในสรวงสวรรค์

     ผมคาดหวังว่าจะได้รับคำตอบแบบไดอะล็อกหนังอันเฉียบขาดของเขาจากคำถามที่ร่ายเสียยืดยาวว่า “ชีวิตคุณวนเวียนอยู่ในวงการภาพยนตร์มานานกว่า 20 ปี ผมอยากรู้ว่าอะไรคือแรงบันดาลใจให้จู่ๆ คุณกระโดดมาลองสนามใหม่ อย่าง กราฟิกโนเวล” 

     “โควิด-19 ครับ” ผมแทบสำลัก ส่วนเขาหัวเราะลั่น จะว่าไปไดอะล็อกนี้ก็ฟังดูไม่จืด

     ภายหลังรัฐบาลประกาศมาตรการล็อกดาวน์รอบแรก แผนการหาทุนทำหนังเรื่องใหม่ของเขาก็หยุดชะงัก เป็นเอกจึงชักชวนคนรักและพาเจ้าเปเป้ กระโจนจากเชียงใหม่ลงมาอาศัยอยู่ปราณบุรี ในบ้านพักริมชายหาด เขาใช้เวลายามว่างวาดสตอรี่บอร์ดเล่นแก้เปื่อย ก่อนผุดความคิดเปลี่ยนมันเป็นกราฟิกโนเวลจริงจัง เขารื้อซ่อม เก็บรายละเอียด และค้นหารูปแบบการเล่าที่เข้าท่า จนได้ออกมาเป็นผลงานความยาว 500 กว่าหน้า แบ่งออกเป็นสองเล่มต่อหนึ่งชุด

     “ผมไม่ทำอะไรเลยนอกจากวาดการ์ตูนในไอแพดและจบเรื่องที่นั่น” เป็นเอกใช้คำว่า “ชิลล์มาก” กับช่วงเวลาที่เขาละเลงวาดมันแบบบ้าคลั่งทุกวันตั้งแต่เช้ายันเย็น ตลอดระยะเวลาเกือบสามเดือน 

     Trouble in Paradise คือผลงานกราฟิกโนเวลเล่มปฐมของเป็นเอก ที่หยิบจับสคริปต์หนังเรื่องใหม่ ซึ่งซึมซับแรงบันดาลใจจากเรื่องสั้น Two Little Soldiers ของนักเขียนชื่อดังชาวฝรั่งเศส กีย์ เดอ โมปัสซังต์ (Guy de Maupassant) และก่อนหน้านี้ก็เคยถูกย่อส่วนทำเป็นหนังสั้นร่วมเทศกาลศิลปะ Bangkok Art Biennale 2020 มาร้อยเรียงสร้างสรรค์ โดยมีเนื้อหาว่าด้วยพลทหารรักษาดินแดนสองนายที่ตกขบวนเดินทางเข้าเมืองหลวงเพื่อสลายม็อบ ก่อนพบพานกับหญิงสาวชาวบ้านโฉมสะคราญ ท่ามกลางสถานการณ์ปราบปรามดุเดือด ความสัมพันธ์ของทั้งสามค่อยๆ เบ่งบาน รื่นรมย์ ทว่าในสวนสวรรค์บ้านนาไม่อาจมีอดัมสองคน จึงเกิดเป็นเรื่องรักรันทดและโศกนาฏกรรมในเวลาต่อมา

     “ในแง่ของหนัง เนื้อหามันพูดถึงประเด็นที่ค่อนข้างอ่อนไหวอยู่เหมือนกัน แล้วฟอร์มก็เป็นเชิงทดลองมาก เรื่องหาทุนจึงไม่ง่าย คือเราตั้งใจทำให้เป็นหนังพูดผสมหนังใบ้ เพราะบรรยากาศตอนเขียนสคริปต์เรื่องนี้มันมีประเด็นที่ใครคิดต่างจากรัฐมึงซวย ดังนั้นในเรื่องฝั่งผู้นำจะมีเสียงปกติ ส่วนฝั่งที่เป็นคนตัวเล็กๆ เป็นประชาชน หรือทหารชั้นผู้น้อย จะถูกเล่าด้วยเทคนิคแบบหนังใบ้” เป็นเอกเสริมคอนเซปต์ของหนังที่ต่อขยายกลายเป็นผลงานบนหน้ากระดาษ 

     “ทีนี้พอดึงสคริปต์มาทำเป็นกราฟิกโนเวล เลยต้องพยายามตีโจทย์วิธีการเล่าให้สามารถถ่ายทอดอรรถรส อารมณ์ และทำให้ผู้อ่านเข้าใจตัวละครมากที่สุด ความรู้สึกเดียวกับสมัยทำหนังเรื่องแรกเลย ตอนนั้นเราก็ยังไม่มีความรู้ ทำไปตามใจคิด ระหว่างทางจึงมีทั้งความสนุก ความเจ็บปวด กระทั่งหฤหรรษ์เต็มไปหมด” 

     “คุณเคยกังวลบ้างมั้ยว่ามันจะออกมาพัง” ผมสงสัย

     “ไม่มี ไม่เคย” เป็นเอกเว้นจังหวะ “ตอนผมเริ่มทำหนัง ผมก็ไม่รู้ว่ามันจะเวิร์กหรือไม่เวิร์ก เพราะผมไม่มีความรู้เรื่องการทำหนัง ผมแค่อยากทำ พอมันเป็นความอยากที่รุนแรงประกอบกับมีคนให้โอกาส ผลลัพธ์จึงตกเป็นเรื่องรอง ทุกวันนี้ผมทำหนังมา 20 กว่าปี เชื่อมั้ย มันไม่ได้ง่ายขึ้นเลย ไหนใครบอกว่าทำมากขึ้นแล้วจะเก่งขึ้นไง กูไม่เห็นจะเก่งขึ้นตรงไหน พอเริ่มเรื่องใหม่ทีไรใจก็ตุ้มๆ ต่อมๆ ทุกครั้ง ถ้าเป็นแบบนี้แล้วมัวมานั่งกังวลกับผลลัพธ์ ผมคงไม่ได้ทำอะไรสักอย่าง 

     “สำหรับผมการเดินไปบนเส้นทางตรงนี้มันสำคัญกว่า ขอให้ได้ออกเดินทางก่อน ที่ผ่านมาประสบการณ์ชีวิตมันสอนผมมาแบบนั้น งานชิ้นนี้ผมก็คิดแบบเดียวกัน ถ้าโจทย์คือจากเชียงใหม่ไปภูเก็ต ก็อย่าเสือกหลุดไปถึงมาเลย์ก็พอ”

ความรู้สุข

     กลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา ผลงาน Trouble in Paradise ที่พิมพ์ด้วยเทคนิคริโซกราฟ (Risograph เทคนิคการพิมพ์ที่พิมพ์ได้ครั้งละสี หากต้องการพิมพ์สีอื่น ต้องนำกระดาษที่พิมพ์แล้วกลับไปพิมพ์อีกครั้ง นอกจากนั้น ยังเป็นวิธีการพิมพ์ที่เหมาะกับการผลิตสิ่งพิมพ์จำนวนน้อยๆ เช่น โปสเตอร์ ใบปลิว หรือหนังสือทำมือ) พร้อมเข้าเล่มประณีตผ่านศิลปะการเย็บมือแบบญี่ปุ่น ประกาศเปิดให้จับจองเป็นเจ้าของ และแน่นอนว่า ‘มันเวิร์ก’ ด้วยยอดจองหมดเกลี้ยง 30 ชุด ภายในสามวัน

     เป็นเอกกล่าวอย่างมีอารมณ์ขัน ถึงผลตอบรับข้างต้น “รู้สึกเพื่อนๆ ใจดีมาก” ก่อนแย้มว่าการได้เริ่มเรียนรู้และทดลองทำงานใหม่ในวัยย่าง 60 ปีคราวนี้ ทำให้เขารู้สึกโชคดี

     “ผมว่าผมโชคดีนะ เพราะวันหนึ่งพอมาถามตัวเองว่าตกลงเราชอบอะไรกันแน่ ก็พบว่าชอบเล่าเรื่อง เล่าแล้วคนสนใจ ชอบฟัง ฉะนั้นพอได้มาทำสิ่งนี้เหมือนมันช่วยยืนยันความคิดและทำให้เรารู้ว่า อย่างน้อยหากวันข้างหน้าไม่ได้ถ่ายหนัง ก็รู้แล้วว่าจะทำอะไร ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทำได้แน่ๆ และมีความสุขด้วย” 

     “แสดงว่าเรามีโอกาสได้เห็นกราฟิกโนเวลเล่มถัดไปของเป็นเอกอยู่ใช่ไหม” ผมทิ้งท้ายคำถาม

     “เห็นๆ เพราะว่าเอนจอยมากครับ” แววตาแช่มชื่นของเขาดูหมายความตามนั้นจริงๆ