IN READING, WE TRUST
สำรวจมุมมองของผู้คนในม็อบ ผ่านการพูดคุยถึงการอ่าน การดู และการฟังสิ่งต่างๆ
เรื่อง: ขวัญชาย ดำรงค์ขวัญ
ภาพ: ขวัญชาย ดำรงค์ขวัญ
หากการเคลื่อนไหวของคนเดือนตุลาฯ (ทั้ง 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519) มีหนังสือว่าด้วยแนวคิดทางการเมืองฝ่ายซ้ายและวรรณกรรมเพื่อชีวิตเป็นแรงขับเคลื่อนขบวนการนักศึกษา หนังสือความรู้ทางการเมืองจำนวนมากที่ได้รับการตีพิมพ์ และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่ายและเร็วในยุคสมัยแห่งสมาร์ตโฟน ก็คือแรงขับเคลื่อนสำคัญของการออกมาชุมนุมทางการเมือง ณ ปัจจุบัน
หลังรัฐประหาร 2557 หนังสือ 1984 โดย จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) ถูกหยิบมาเป็นสัญลักษณ์ในการต่อต้านรัฐบาลทหาร เพียงหยิบขึ้นมากางอ่านก็สร้างความปั่นป่วนให้ทหารขี้ตกใจไม่น้อย
มาในปัจจุบัน หนังสือเล่มหนาของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันถูกชูขึ้นเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้กับอำนาจที่กำลังกดขี่ ตำรวจหลายคนไปเดินป้วนเปี้ยนหน้าบูธของสำนักพิมพ์ในงานสัปดาห์หนังสือ ก่อนจะซื้อติดไม้ติดมือกลับไปฝากนาย (ไม่รู้ว่าเขาได้เปิดอ่านเองบ้างหรือเปล่า) ไม่ใช่เพียงเท่านั้น ตำรวจหลายคนยังเข้าไปแสดงตัวที่ออฟฟิศของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันและหยิบกลับไปโดยไม่จ่ายเงินอย่างเสียมารยาทยิ่ง—อย่าลืมเชียวว่า สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นในประเทศ (ที่อ้างว่าเป็น) ประชาธิปไตย
ถ้านั่นคือการคุกคามให้หวาดกลัว สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ลิสต์หนังสือถูกห้ามปรามกลายเป็นสินค้าขายดีขึ้นมาเสียอย่างนั้น ราวกับนั่นคือการประชาสัมพันธ์ที่ไม่ใส่ #Advertorial แถมไม่ต้องเสียเงินสักบาทเดียว
ทุกครั้งที่มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือมีประเด็นทางการเมืองใดๆ กลายเป็นกระแส เทรนด์ทวิตเตอร์อันดับหนึ่ง (อย่างน้อยก็อันดับต้นๆ) มักเป็นเรื่องการเมืองเสมอ แน่นอนว่าในโลกออนไลน์ย่อมมีทั้งเรื่องจริงและเท็จ ทั้งมาจากปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารและเป็นไปโดยธรรมชาติ แต่หากใครมีทักษะในการตรวจสอบความถูกต้องอยู่บ้าง ไม่ถึงขนาดหลับหูหลับตาเชื่อไปทุกอย่าง ดินแดนที่ชื่อว่า ‘ทวิตภพ’ คือการขยายจินตนาการต่อสารพัดเรื่องไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด รวมไปถึงการที่ข่าวสาร ความรู้ บทสัมภาษณ์ และคลิปงานเสวนาจำนวนมหาศาลได้อัพโหลดเข้าสู่โลกออนไลน์ ตราบที่แบตเตอรี่ของสมาร์ตโฟนยังไม่หมดเกลี้ยง ทุกคนก็สามารถเข้าถึงความรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา
แม้ว่าหลายเพจหลายลิงก์จะถูกระงับการเข้าถึง แต่กล่าวอย่างตรงไปตรงมา เจ้าหน้าที่รัฐคงลืมไปว่า การพยายามเข้าถึงลิงก์ที่ถูกระงับคือความท้าทายที่หลายคนทำได้สำเร็จในไม่กี่นาที
การอ่าน การดู และการฟัง คือต้นทุนของเหล่า ‘ราษฎร’ ที่ออกมาเคลื่อนไหว เพื่อที่จะเข้าใจพวกเขา เราเลยอยากเลือกบางคนมาอธิบายความเป็นมาของความรู้ แม้ว่าจำนวนไม่กี่คนคงเป็นตัวแทนของภาพรวมไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็ทำให้เห็นภาพได้บ้างว่า ระหว่างบรรทัดของพวกเขาเป็นเช่นไร
1
“ผมเริ่มจากอ่านหนังสือการ์ตูนก่อน เวลาพ่อแม่พาไปเดินห้างแล้วให้ซื้อของเล่น ผมมักเลือกซื้อหนังสือการ์ตูน หลังจากนั้นก็อ่านมาเรื่อยๆ มาเริ่มอ่านหนังสือวรรณกรรมตอนเรียนธรรมศาสตร์เมื่อปี 2542 เช่น หนังสือของ ชาติ กอบจิตติ ช่วงเวลานั้นผมยังเป็นติ่งประชาธิปัตย์ ไม่ชอบทักษิณ และชอบอภิสิทธิ์ แต่หลังการรัฐประหาร 2549 ผมได้ฟังอาจารย์วรเจตน์ (วรเจตน์ ภาคีรัตน์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งคณะนิติราษฎร์) ให้สัมภาษณ์ทีวีช่องหนึ่งโดยบังเอิญ ถ้าจำไม่ผิด อภิสิทธิ์เคยออกมาตอบโต้คณะนิติราษฎร์ ผมเลยอยากฟังว่าอาจารย์พูดอะไร เนื้อหาคือการยกเลิกผลพวงรัฐประหาร การพาทักษิณกลับมาเข้าสู่การพิจารณาคดีที่ถูกต้อง เฮ้ย…โคตรหลักการ ขนาดว่าผมไม่ชอบทักษิณยังเถียงไม่ได้
“หลังจากวันนั้น ผมเริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวเอง เจอบทความของอาจารย์สมศักดิ์ (สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล) ที่แชร์ต่อกันมาเรื่อยๆ เช่น กรณีสวรรคตของ ร.8 มันไม่ใช่แค่เนื้อหาที่ไม่เคยรู้มาก่อน แต่ผมเห็นการเอานำข้อมูลมาค่อยๆ อธิบายอย่างเป็นขั้นตอน เราเคยฟังข้อมูลด้านเดียวจนเกิดอคติ แต่ข้อมูลที่อ่านตอนนั้นคือการใช้เหตุผล ช่วงนั้นผมซื้อ มติชนรายสัปดาห์ ทุกเล่ม อ่านบทความของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขาเป็นคนมีข้อมูลทางประวัติศาสตร์เยอะ การวิเคราะห์ก็เข้าใจง่าย เป็นเหตุเป็นผล หลังจากนั้นก็ไปตามอ่านหนังสือเล่ม ผมกดไลก์เพจหรือติดตามคนแนวนี้ เป็นการวิเคราะห์การเมืองที่ไม่ใช่แค่ใช้อารมณ์ หลายคนในเฟซบุ๊กก็เขียนบทความค่อนข้างดี เช่น รุจ ธนรักษ์, ภัควดี วีระภาสพงษ์, นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ ฯลฯ
“ผมได้ย้อนไปอ่านประวัติศาสตร์ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ผ่านมาเขาเล่นการเมืองแบบไหน พอได้ถอยออกมามองพรรคที่ตัวเองชอบ พวกเขาคือพรรคแบบที่หลายคนนิยามเลยว่า ดีแต่ปาก วาทะสวยหรู แต่การกระทำไม่ได้เป็นแบบนั้น ผมไม่ได้ยึดมั่นในตัวบุคคล ไม่ได้เชื่อทุกสิ่งที่พูด แต่เอามาคิดวิเคราะห์ แม้แต่ความคิดของอาจารย์สมศักดิ์ เราก็วิเคราะห์ก่อนจะเชื่อ ดังนั้นเราต้องแม่นในหลักการบางอย่าง เช่น หลักการว่าคนเท่ากัน อำนาจต้องมาจากประชาชน ฯลฯ แล้วค่อยพิจารณาว่าความคิดนั้นถูกต้องตามหลักการไหม ถ้ามันผิดจากหลักการ เราก็โต้เถียงได้ แม้จะเป็นคนที่เราศรัทธาก็ตาม
“สิ่งที่ผมเชื่อในปัจจุบัน เป็นหลักการสากลทั่วไป หลักการที่คนทั่วโลกเชื่อกัน เช่น คนเท่ากัน ประชาธิปไตยที่อำนาจมาจากประชาชน ไม่ว่าจะองค์กรอะไรก็แล้วแต่ ต้องยึดโยงกลับไปหาประชาชน ถ้าองค์กรไหนสาวอำนาจกลับไปแล้วไม่ยึดโยงกับประชาชน องค์กรนั้นก็ไม่มีความชอบธรรมในการก่อตั้งขึ้นมาเพื่อบริหารอำนาจ มันทำให้เราตอบได้ว่า ส.ว. 250 คนไม่ดียังไง ศาลรัฐธรรมนูญมีปัญหายังไง หรือแม้แต่ กกต.ที่ตั้งขึ้นมาจากพวกพ้องตัวเอง เพราะยังไงระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทนก็ต้องมีการโหวตให้คนอื่นทำหน้าที่บางอย่างแทน
“ทุกวันนี้ผมอ่านหนังสือน้อยลง ส่วนหนึ่งเพราะอ่านจากทางออนไลน์แล้ว อีกส่วนคือหนังสือราคาแพงขึ้น ผมเงินน้อย ช่วงหลังไปงานหนังสือแล้วซื้อแต่หนังสือมือสอง มันราคาถูกกว่าเยอะ ซึ่งถ้าเทียบกัน ผมชอบฟีลของการอ่านเป็นเล่มมากกว่านะ แต่ไม่ว่าจะอ่านอะไร การอ่านทำให้เราได้ทบทวนอะไรบางอย่าง ถ้อยคำที่อ่านแล้วกระทบจิตใจ มันทำให้เราหยุดคิด มันใช่ไหม มันจริงไหม เราอ่านหนังสือหลายแบบ ถ้าช่วงไหนที่เราท้อแท้ การอ่านวรรณกรรมช่วยให้มีความหวัง ช่วยจรรโลงใจ (เงียบคิด) ทำให้เราเกิดความรู้สึกว่า ชีวิตก็เป็นแบบนี้ เราก็ใช้ชีวิตไป โดยมีความหวังบางอย่างมาหล่อเลี้ยงด้วย”
ขอ 3 เล่ม
1. The White Tiger พยัคฆ์ขาวรำพัน
Aravind Adiga (เขียน)
นิยายเรื่องนี้เพิ่งทำเป็นหนังในเน็ตฟลิกซ์ คนมักพูดถึงอินเดียในมุมของจิตวิญญาณ ความศักดิ์สิทธิ์ของแม่น้ำคงคา แต่เล่มนี้ฉายภาพอีกด้านของอินเดียที่คนไม่ค่อยพูดถึง คือการกดขี่ของชนชั้นวรรณะ
2. ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย
คริส เบเคอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร (เขียน)
เล่มนี้อ่านง่าย กระชับ อ่านเพลิน ทำให้เห็นภาพรวมๆ ของชาติไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
3. ดั่งใจปรารถนา
Susanna Tamaro (เขียน)
เป็นเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของยายและหลาน ลึกๆ แล้วผมมีประเด็นเรื่องครอบครัวด้วย เรามีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กับพ่อแม่ หนังสือเล่มนี้ให้มุมมองของคนที่อายุเยอะกว่า เขาคงผ่านอะไรบางอย่างมาถึงคิดและทำแบบนั้น
2
“เราเริ่มจากอ่านการ์ตูน พอ ม.ต้นก็อ่านวรรณกรรมเยาวชนแปล เพื่อนสนิทที่โรงเรียนเอามาให้อ่าน เล่มแรกๆ คือหนังสือของ โรอัลด์ ดาห์ล (Roald Dahl) เช่น แม่มด ตอนนั้นอ่านแล้วเกิดคำถามว่า ‘มันคือเรื่องจริงหรือแต่งกันแน่’ ส่วนใหญ่เราอ่านหนังสือของสำนักพิมพ์ผีเสื้อ เช่น โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง, โมโมจัง พอขึ้น ม.ปลาย เราไปนั่งตากแอร์ที่ห้องสมุด แล้วบังเอิญเจอหนังสือเล่มหนึ่ง พูดเรื่องนักโทษหญิงจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 (เปิดบันทึกนักโทษหญิง 6 ตุลา โดย สุชีลา ตันชัยนันท์) อ่านแล้วเสียใจ ร้องไห้ โมโห แต่ไม่ได้เอาไปคุยกับใครเลย พอ ม.5 เราได้ไปเข้าค่ายที่กลุ่มข้างนอกเป็นคนจัด เนื้อหาในค่ายพูดเรื่องการอยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ ความแตกต่างหลากหลาย คำพูดจากการแลกเปลี่ยนในวงคุยทำให้เรานึกถึงหนังสือเล่มที่อ่านในห้องสมุดวันนั้น
“เราไม่ค่อยได้อ่านหนังสือการเมือง และไม่คิดว่าตัวเองสนใจการเมืองด้วย แต่เรามาเรียนรู้ทีหลังว่า การเมืองอยู่ในทุกบริบทของชีวิต แค่คุยกับเพื่อนว่า ‘วันนี้จะกินอะไร’ นั่นก็การเมืองแล้ว มันคือการต่อรองเจรจาให้อยู่ร่วมกันได้ ยอมรับความต่างซึ่งกันและกัน โดยที่ทุกเสียงมีความสำคัญ เรามีไปม็อบบ้าง ครั้งแรกคือม็อบพันธมิตร ตอนนั้นเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว เราไปกับเพื่อนที่ทำกิจกรรมตอน ม.ปลาย อยากไปเห็นว่าบรรยากาศในนั้นเป็นยังไง เราไม่ได้ไปม็อบเสื้อแดง แต่เห็นคนเสื้อแดงตรงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอยู่บ้าง ผ่านแว้บๆ พอมี กปปส. เราทำงานประจำแล้ว ออฟฟิศที่เราทำงานไปซัพพอร์ตกิจกรรมต่างๆ เราก็ต้องทำ (เงียบคิด) ตอนนั้นเราไม่ได้เห็นด้วย เราไม่เชื่อแบบนั้น แต่ทำเพราะบริษัทให้ทำ
“การทำกิจกรรมสมัยเรียน และการทำงานสายอีเวนต์ พาเราไปเจอกับคนที่ไม่รู้จัก ตอนจัดคอนเสิร์ตที่พูดถึงลานหอยเสียบ ซึ่งเป็นพื้นที่แถวอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เราไม่รู้จักพื้นที่นั้นหรอก แต่งานทำให้เรารู้ว่าตรงนั้นมีปัญหาเรื่องสิทธิชุมชน ทำคอนเสิร์ตเรื่องป่า คน ต้นน้ำ ก็รู้จักชีวิตชาวปกาเกอะญอ ‘อ๋อ.. ชีวิตเขาเป็นแบบนั้น’ น้ำของพวกเขามาจากลำธาร ขณะที่ตอนเป็นเด็กเรามองว่าน้ำมาจากก๊อก รวมไปถึงการดูหนังในกิจกรรมต่างๆ แล้วนั่งคุยกัน เราค่อยๆ เริ่มรู้จักคนที่แตกต่าง ส่วนถ้าเป็นการอ่าน ส่วนใหญ่เราอ่านจากโซเชียลฯ เช่น บทสัมภาษณ์ บทความ และดูนิทรรศการต่างๆ แทบไม่ได้อ่านหนังสือการเมืองเป็นเล่มเลย
“ช่วงปี 2563 บางช่วงเราไปม็อบทุกครั้ง บางช่วงไม่ค่อยได้ไป เราเคยเห็นจากไลฟ์ในเพจข่าว เลยอยากไปเห็นด้วยตัวเองว่าเป็นแบบเดียวกันไหม แต่ละครั้งที่ไปก็ไม่เหมือนกัน ถ้าไปกับรุ่นพี่มีอายุหน่อย เราจะคอยสังเกตการณ์หรือพูดคุยกับเขา ม็อบที่สีลมเราไปคนเดียว เราเดินดูไปเรื่อยๆ ว่าเขาจัดกิจกรรมอะไรบ้าง การมาม็อบทำให้เห็นชีวิตคน มาม็อบแล้วได้ยินน้ำเสียง เห็นรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ เห็นแล้วกลับมาถามตัวเองว่า เราทำอะไรอยู่ เราทำอะไรได้บ้าง เราเป็นคนติดรูปแบบ ชอบม็อบที่ไม่ได้ออกมาพูดประท้วงอย่างเดียว เพราะมันคือการสื่อหาคนที่หลากหลาย ฐานคนกว้างมาก ช่วงปีที่ผ่านมา เราเห็นความสร้างสรรค์ที่เตะตาโดนใจกับคนใหม่ๆ ที่เข้ามา สุดท้ายแล้ว สิ่งที่จะทำให้เปลี่ยนได้ นอกจากปริมาณคนที่เรียกว่ามวลชนแล้ว มันต้องเอาทุกๆ กลุ่มมาเป็นพวกด้วย”
ขอ 3 เล่ม
1. โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง
Tetsuko Kuroyanagi (เขียน)
ถ้ามันมีโรงเรียนแบบโทโมเอเยอะๆ มีคุณครูใหญ่แบบนั้นเยอะๆ น่าะจะทำให้สังคมดีขึ้น
2. WITCHES and FAIRIES แม่มดกับนางฟ้า /
Eva Montanari (เขียน)
เป็นนิทานเด็กน้อยที่พูดถึงก๊วนแม่มดกับนางฟ้า แต่มีตัวหนึ่งที่ไม่ใช่นางฟ้าและแม่มด แต่เป็นคนตรงกลางที่ไม่เหมือนใคร เรามองว่าในหนึ่งคนก็มีทั้งด้านดีและไม่ดี
3. แมวน้อย 100 หมื่นชาติ
Yoko Sano (เขียน)
สำหรับเรา มันคือความเศร้าที่รู้สึกดี
3
“พ่อแม่พาเราไปร้านหนังสือตั้งแต่เด็ก เราเริ่มจากอ่านการ์ตูน แล้วมาอ่านวรรณกรรมเยาวชนตามพี่สาว เช่น ชาร์ลี กับ โรงงานช็อกโกแลต (Charlie and the Chocolate Factory) สำหรับเรา หนังสือจากสำนักพิมพ์ผีเสื้อคือวรรณกรรมเยาวชนหมด แม่ซื้อไดอารี่ของแอนน์ แฟร้งค์ (บันทึกลับของแอนน์ แฟร้งค์) มาให้อ่านก็อ่าน แต่ตอนนั้นอ่านไม่จบนะ มันน่ากลัว เราเป็นเด็ก เราเป็นเด็กที่ชอบอ่านหนังสือมาก เคยอ่านนิยายตั้งแต่หกโมงเย็นไปถึงหกโมงเช้าอีกวัน ส่วนใหญ่เราอ่านแต่เรื่องแต่ง อ่านแฮร์รี่ พอตเตอร์ อ่านนิยายไทย สนุกดี เหมือนมีคนมาเล่าอะไรให้ฟัง ขณะเดียวกัน มันทำให้เรามีคำอธิบายอารมณ์เยอะ ทำไมโกรธ ทำไมรัก พอโตมาทำให้เรามีความ empathy มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
“แม่ของเราเป็นนักข่าว เขาทำข่าวสายการเมืองด้วย เราโตมากับการที่เขาคุยโทรศัพท์บนรถแล้วมีชื่อนักการเมืองโผล่มา เราเลยรู้สึกว่าการเมืองเป็นส่วนหนึ่งกับชีวิตประจำวัน ปี 2540 นายกฯ ออกคำสั่งบางอย่างแล้วเงินบาทลอยตัว หลังจากนั้นสักพักแม่ก็โดนเลย์ออฟ เราเข้าใจแบบเด็กๆ ว่า คำสั่งนายกฯ มีผลต่อชีวิตคน ตอนทักษิณมาเป็นนักการเมือง เราชอบนโยบาย เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค คำพูดของเขาเหมือนเป็นพวกเดียวกับเรา เห็นสัมภาษณ์ในทีวีแล้วรู้สึกว่าเป็นผู้นำที่เด็ดขาด แต่เวลาผ่านไป เรารู้สึกว่าเขาอีโก้เยอะ ตอนนักข่าวสัภมาษณ์ เขาทำป้ายถูก-ผิด ถ้าคำถามไหนไม่ถูกใจก็ชูป้ายผิด คนปกติไม่ทำแบบนี้ เลยเลิกชอบไป (หัวเราะ) ช่วงนั้นเราดูรายการ เมืองไทยรายสัปดาห์ รู้ว่าสนธิถูกเลิกจัดรายการอย่างไม่เป็นธรรม แต่เห็นด้วยกับเขาแค่ระยะสั้นมาก เพราะเขาโจมตีทักษิณเหมือนคนไม่มีอะไรดีเลย มันไม่ใช่ละ เพราะบางนโยบายของเขาก็ดี
“เราได้อ่านหนังสือของแม่ชื่อ เราคือผู้บริสุทธิ์ ทำให้รู้จักเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ดูหนัง 14 ตุลา สงครามประชาชน เหตุการณ์พฤษภา 2535 แม่วิ่งทำข่าวอยู่สนามหลวงก็มาเล่าให้ฟัง เรารู้สึกว่าการรัฐประหารไม่ถูกต้อง ทำให้เกิดความรุนแรง เราเรียนด้านวรรณคดีอังกฤษ (คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) นิยายของฝรั่งสอนเรื่องความทุกข์ยากของคนอยู่แล้ว เราเรียนเรื่องความไม่ยุติธรรม ความไม่เท่าเทียม เฟมินิสต์ การแย่งอำนาจ ฯลฯ ผ่านการอ่านวรรณกรรม การรัฐประหาร 2549 เราไม่เห็นด้วย แต่ไม่ได้เกลียดอะไรรุนแรง พอไม่มีการนองเลือด เราก็งงๆ แหละ แต่การรัฐประหารทำให้เรากลับไปค้นประวัติศาสตร์ ระหว่างนั้นนายกฯ โดนเด้งเพราะทำกับข้าวออกรายการ มีเรื่องสองมาตรฐานซ้ำแล้วซ้ำเล่า พอรัฐประหาร 2557 เราเกลียดการรัฐประหารแบบรุนแรงเลย เพราะรู้แล้วว่ามันไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา ความขัดแย้งก็ยังคงอยู่ ทำไมถึงไม่ให้การเมืองแก้ตัวเองไป
“ช่วงนั้นเราอ่าน มติชนสุดสัปดาห์ ค้นข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต ฟังเสวนาของคณะนิติราษฎร์ อ่านสเตตัสของสมศักดิ์เจียมฯ เราไปม็อบเสื้อแดงกับแม่ ตอนนั้นทำงานแล้ว ก็ฟังปราศรัย ฟังคนในม็อบ เขาไม่พอใจที่เลือกตั้งมาแล้วคนนั้นไม่ได้เป็นนายกฯ ป้าจากอีสานมานวดเท้าในม็อบ เขาพูดว่า ‘เราต้องสู้ คนรุ่นลูกรุ่นหลานจะได้รับความยุติธรรม’ เรื่องเล่าแบบนี้หาไม่ได้จากสื่อกระแสหลัก ตอนเสื้อแดงโดนปราบ เราอัดอั้น พอทหารรัฐประหาร เอาอีกแล้ว ประเทศไม่ไปไหนเลย เราเรียน ป.โท (คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ได้เรียนเรื่องการใช้อำนาจอย่างแยบยล ทำให้เรามีสำนึกทางการเมืองมากขึ้น
“ถ้าหนังสือการเมืองเป็นเล่ม เราเพิ่งมาอ่านเมื่อ 3-4 ปีมานี้ เช่น ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย เคยอ่านหนังสือชื่อ Red Journeys: Inside the Thai Red Shirt Movement ของ เคลาดิโอ โซปรานเซตติ (Claudio Sopranzetti) เขาเป็นนักมานุษยวิทยาที่มาเก็บข้อมูลเรื่องคนขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างในประเทศไทย เขาไปม็อบเสื้อแดงบ่อย แล้วเขียนเรื่องเล็กเรื่องน้อยในม็อบ มันเปิดโลกเราพอสมควรเลย เขาเล่าถึงวันที่คนเสื้อแดงโดนสลายการชุมนุม มีคนหนึ่งพูดซ้ำๆ ว่า ‘เราไม่แพ้หรอก เราไม่แพ้หรอก เดี๋ยวเราก็กลับมา เดี๋ยวเราก็มาใหม่’ เราอ่านหลังจากเวลาผ่านไปเป็นสิบปีแล้ว โอ้โห…เราใจสลาย เพราะรู้แล้วว่าสิ่งนั้นไม่เกิดขึ้น พวกเขาต้องทนอยู่กับการถูกมองเป็นผู้ก่อการร้ายมาไม่รู้กี่ปี
“ทุกอย่างที่เสพกลายเป็นชุดข้อมูลในตัวเรา การเข้าใจคนเสื้อแดง เข้าใจคณะราษฎร เข้าใจคนมาม็อบ มันมาจากสิ่งที่เราเสพมาตลอด กลายเป็นสิ่งที่เราเชื่อในทุกวันนี้ด้วย เราอยากให้การเลือกตั้งสามารถตรวจสอบได้ ใครชนะ รอให้เขาทำงาน เพื่อรู้ว่านโยบายทำได้หรือไม่ได้ ถ้าไม่ชอบก็เลือกใหม่ วนไปอีกสี่ปี เราอยากได้แค่นี้ ระบบที่ปล่อยให้คนได้ทำงาน โดยไม่ต้องกังวลว่าจะเจอคนเล่นนอกเกม นักการเมืองไม่ต้องเป็นคนดีก็ได้ เขาอาจทำงานผิดพลาด แต่เราจะมีวิธีจัดการมันอย่างนุ่มนวล ถ้าเขาทำไม่ดี เวลาผ่านไปสี่ปีก็เลือกใหม่ อยากให้ประเทศได้ลองรันระบบเต็มๆ สักที
“ช่วงที่ผ่านมาเราพยายามจะจัดเวลาไปม็อบ ช่วงแรกเราไปเพราะอุดมการณ์ เรียกร้องความยุติธรรม ช่วงกลางๆ ม็อบสนุก มันป๊อป เราเลยอยากไปดูว่าเขาทำอะไรกัน ป้ายในนั้นเขียนว่าอะไรบ้าง เราไปคุยกับคนในม็อบด้วย สะกิดป้าในม็อบแล้วคุยกัน ช่วงหนึ่งไปทำแบบสำรวจคนในม็อบว่าเป็นกลุ่มไหนบ้าง ส่วนวันนี้ออกมาเพราะตำรวจกระทืบอาสาพยาบาล เราโกรธ อยากออกมาเพิ่มจำนวนให้การชุมนุม”
ขอ 3 เล่ม
1. Pachinko
Min Jin Lee (เขียน)
เป็นนิยายที่เล่าประวัติศาสตร์ของเกาหลี 100 ปีผ่านครอบครัวเดียว ครอบครัวนี้ผ่านสงครามเกาหลี สงครามโลก ตอนญี่ปุ่นยึดเกาหลี สิ่งที่เราชอบมาก คือการเล่าประวัติศาสตร์ใหญ่ผ่านครอบครัวเล็ก
2. Things Fall Apart ก่อนรัตติกาลจะดับสูญ
Chinua Achebe (เขียน)
นิยายของคนไนจีเรีย เล่าเรื่องสมัยคนยังอยู่เป็นชนเผ่า ตอนนั้นคือใครมีกำลังเป็นผู้ชนะ ถ้ามองจากสมัยนี้อาจคิดว่าอะไรกัน ใช้ความรุนแรง แต่หนังสือเล่มทำให้เข้าใจกฎอีกแบบ
3. 500 ล้านปีของความรัก เล่ม 1
ชัชพล เกียรติขจรธาดา (เขียน)
เป็นเล่มที่เปิดโลก non-fiction ของเราเลย ทำให้เราเข้าใจว่าวิธีคิดของมนุษย์นั้นซับซ้อนแบบนี้ ทั้งหมดที่มนุษย์กำลังสู้กัน ถ้าเปรียบเป็นปฏิทิน มันอยู่ใน 25 นาทีสุดท้ายของปฏิทินในวันสุดท้ายของปี มันทำให้เราลดอีโก้ลง เวลาคิดว่าตัวเองถูกต้อง ตัวเองใหญ่คับจักรวาล มันไม่ใช่ เราเล็ก จักรวาลยาวนานกว่ามนุษย์มาก
4
คนซ้าย
“หนูอ่านเรื่องการเมืองจากทวิตเตอร์เป็นหลัก อัพเดทข่าวสารตลอด ในนั้นมีเรื่องของรัฐบาลที่ไม่มีในสื่ออื่นเยอะเลย อ่านเรื่อง 112 เรื่องการใช้เงินภาษี และเรื่องนักโทษการเมืองที่โดนจับ พออ่านเยอะๆ ก็เกิดความคิดว่า ภาษีที่เราเสียกันไปให้รัฐบาลใช้บริหารประเทศตั้งมากมาย ไม่เห็นมีอะไรเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น เลยอยากออกมาร่วมชุมนุม หนูไม่เคยมองการเมืองเป็นเรื่องไกลตัว เด็กคืออนาคตของชาติ แต่เวลาผู้ใหญ่ตัดสินใจอะไรก็ไม่เคยเห็นหัวของพวกเราเลย”
แนะนำให้อ่าน: ทวิตเตอร์ของคุณแสนแสบ
คนกลาง
“เมื่อก่อนหนูเป็นอิกนอร์แรนต์ พี่ของหนูเล่นทวิตเตอร์มานานแล้ว สนใจเรื่องการเมืองมานาน แต่หนูไม่เคยสนใจ วันหนึ่งก็ลองไปโหลดทวิตเตอร์มาเล่นบ้าง เห็นแฮชแท็กเกี่ยวกับการเมืองติดอับดับเลยกดเข้าไปดู เริ่มรู้ว่าประเทศเรามีเรื่องซุกไว้ใต้พรมเยอะมาก เช่น เรื่องเกี่ยวกับราชวงศ์ การบริหารประเทศของนายกฯ เมื่อก่อนก็คิดว่าตัวเองไม่ได้รับผลกระทบ เลยไม่ได้สนใจเท่าไร แต่พอคิดดีๆ ชีวิตตอนนี้ก็ไม่ได้ดีเลย ปัญหาเรื่องการศึกษา ฟุตพาทที่ใช้ไม่ได้ ฯลฯ หนูติดตามหลายคน หน้าไทม์ไลน์ของหนูมีแต่เรื่องการเมือง ใครแชร์อะไรมาก็อ่าน ไม่ได้เล่นเฟซบุ๊ก เล่นแค่ไอจี กับทวิตเตอร์”
แนะนำให้อ่าน: กลุ่ม นักเรียนเลว ทั้งในทวิตเตอร์ และแพลตฟอร์มอื่นๆ
คนขวา
“หนูอ่านทวิตเตอร์แล้วเก็บเอามาคิด บ้านเมืองในต่างจังหวัดก็ไม่ได้รับการพัฒนา หรือแม้แต่ในกรุงเทพฯ ก็ไม่ได้พัฒนาเหมือนกัน ทางฟุตพาทที่ไม่ดี หนูมองว่าการเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัว เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับทุกคน หนูอ่านในทวิตเตอร์เรื่อยๆ อ่านตลอด แต่ไม่ได้ติดตามใครเป็นพิเศษ”
แนะนำให้อ่าน: ทวิตเตอร์ของพี่พร้อม
5
“เราเกิดในชุมชนคลองเตย พออายุสัก 4-5 ขวบก็ย้ายมาข้างนอก เราได้เรียนในโรงเรียนดีๆ ได้รับรางวัลต่างๆ ทำให้คนรอบตัวชมว่าเก่ง เราอยู่ข้างนอกตอนวันธรรมดา พอวันหยุดพ่อพากลับไปคลองเตย เจอสองพื้นที่แตกต่างอย่างชัดเจน เราอดคิดไม่ได้ว่า มันไม่เกี่ยวกับความสามารถของคนอย่างเดียว แต่มาจากสภาพแวดล้อมด้วย ถ้าคนที่ได้รับรางวัลในโรงเรียนที่ดีต้องใช้ชีวิตที่คลองเตย ก็อาจมีชะตากรรมไม่ต่างกัน หรือในทางกลับกัน คนในคลองเตยที่มีลูกตั้งแต่มัธยมหรือติดคุก ถ้าเขาออกมาอยู่ข้างนอก ได้เรียนในโรงเรียนที่ดี ก็อาจได้รับคำชมเหมือนกัน ความเชื่อพื้นฐานของเราคือเรื่องโอกาสส่งผลต่อชีวิตคน
“บ้านของเราเป็นโรงงานอลูมิเนียม พี่ๆ ในนั้นอ่านอะไรเราก็อ่านด้วย เล่มที่เริ่มติดจริงๆ คือ แฮร์รี่ พอตเตอร์ เราอ่านตอน ป.4 มันทำให้เราสนใจเรื่องราวในต่างประเทศ ต่อยอดไปอ่านหนังสือเกี่ยวกับประเทศอังกฤษ อ่านนิยายต่างๆ และสนใจมากกว่าแค่หนังสือภาษาไทย จำได้ว่าช่วงที่แฮร์รี่ฉบับภาษาไทยแปลช้า เราตัดสินใจแกะฉบับภาษาอังกฤษทีละคำ ซึ่งการสนใจภาษาอังกฤษทำให้สนใจโลกภายนอกไปโดยปริยาย
“หนังสือที่เนื้อหาเกี่ยวกับการเมือง เล่มแรกที่ส่งผลกับเราน่าจะเป็นของอาจารย์เสกสรรค์ (เสกสรรค์ ประเสริฐกุล) หนังสือของศรีบูรพา ฯลฯ เหตุผลง่ายๆ คือ ตอนเราเรียนที่ธรรมศาสตร์ หนังสือมือสองที่ราคาถูกเป็นหนังสือประมาณนี้ พวกทำเพื่อมวลชน หรือเล่ม ความรักของวัลยา ดูเป็นวรรณกรรมแห่งความรักมากเลย แต่เนื้อหาก็พูดเรื่องชนชั้นในสังคมมากๆ วัลยามีความใกล้กับเราตอนนั้น เป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่มีโอกาสกับการเรียน แล้วเริ่มตั้งคำถามว่า ทำไมฉันต้องมีโอกาสอยู่คนเดียว
“หนังสือของเสกสรรค์ทำให้รู้จักเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 6 ตุลาฯ มากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่แทบไม่มีในหนังสือแบบเรียน หลังจากนั้นก็อ่านหนังสือเล่มอื่นต่อ เราเคยเขียนในบทความว่า ‘ตู้หนังสือเป็นการสะท้อนตัวเราในแต่ละช่วงเวลา’ เราจะมาเห็นตอนจัดตู้หนังสือ ช่วงหนึ่งอินเรื่องสังคมมาก หนังสือของเสกสรรค์ก็เป็นแถว ช่วงไหนอินเรื่องพม่า หนังสือของจอร์จ ออร์เวลล์ ก็เยอะ ช่วงที่อินเรื่องจิตวิญญาณ ก็มีหนังสือของเชอเกียม ตรุงปะ (Chogyam Trungpa) เนื้อหาของหนังสือในตู้ของเราจะแล้วแต่ช่วงวัยเลย
“ช่วงปี 3-4 เราได้ไปเรียนที่สหรัฐฯ ตอนนั้นอาจารย์ธงชัย (ธงชัย วินิจจะกูล) เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน มีหนังสือ Siam Mapped ออกมาแล้ว เป็นเล่มที่คนต่างประเทศพูดถึงและอ้างอิงกันเยอะ อาจารย์ที่ปรึกษาถามเราว่า ‘คุณรู้จักธงชัยหรือเปล่า’ เราก็ตอบไปตามตรงว่า ‘ไม่รู้จัก’ แต่หนังสือของอาจารย์ธงชัยเป็นเล่มที่นำมาคุยกันในคลาสด้วย เราค่อยๆ รับรู้ว่ามีหลายอย่างที่เป็นเรื่องสมมติ เป็นกึ่งๆ เรื่องที่แต่งขึ้น เป็นโปรเจกต์ทางการเมืองบางอย่าง แต่เราอยู่ในเรื่องนั้นมาตลอดก็คิดว่าเป็นเรื่องจริง ช่วงนั้นเราเริ่มมีสายตาที่ deconstruct มองว่าสิ่งนั้นถูกสร้างขึ้นมาได้ยังไง
“ในคลาสเรียนมีการพูดถึงระบบกษัตริย์ เราเป็นคนเดียวที่มาจากประเทศที่ยังมีระบบกษัตริย์ มีคนถามว่า ‘คนในประเทศรู้สึกยังไง’ ตอนนั้นเราอายุสัก 19-20 ปี ยังมองว่ากษัตริย์ไม่ได้มีบทบาททางการเมือง การมีอยู่ของเขาเป็นเชิงสัญลักษณ์ เป็นคำที่ท่องจำมาในสมัยเรียน (ยิ้ม) จำได้ว่าถูกคาดคั้นจากเพื่อนพอสมควร ‘แล้วรู้ได้ยังไงว่าเขาไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง’ ‘รู้ได้ยังไงว่าเขาเป็นเชิงสัญลักษณ์’ ความรู้สึกตอนนั้นคือเรากดดัน เราเพิ่งมาสำเหนียกว่า คำพูดกึ่งดีเฟนด์ตอนนั้นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจากเรา แต่เราแค่ได้ยินมาแล้วพูดออกไป
“อีกคำตอบที่จำได้แม่นคือ มันคือบริบทของประเทศไทย อย่าเอาบริบทโลกมาจับ อย่าเอาความสากลมาจับ ซึ่งเป็นคำตอบที่ได้ยินมาอีกที ทั้งจากโรงเรียน สื่อ และการหล่อหลอมผ่านวัฒนธรรมต่างๆ มันทำให้เราคิดแบบนั้น เป็นคำที่อยากตบปากตัวเองที่สุด (หัวเราะ) อาจารย์พยายามอธิบายเยอะ ในห้องพูดเรื่องสิทธิมนุษยชนสากล คำมันก็บอกอยู่แล้วว่าสากล คำว่าคนเท่ากัน มันคือสิ่งที่อาจารย์พยายามจะสื่อสาร เป็นสิ่งที่เพื่อนสงสัยกัน เราก็ดีเฟนด์ว่าเป็นเรื่องของไทย พูดออกไปโดยอัตโนมัติ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันเป็นคำตอบของเราจริงหรือเปล่า
“ถามว่าตอนไหนที่เราเปลี่ยนความคิด มันไม่ได้มีจุดเปลี่ยนเดียวขนาดนั้น มันค่อยๆ เห็นอะไรมากขึ้นจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เหตุการณ์ปี 2553 เราทำงานในสายพัฒนา คนทำงานพูดเรื่องพัฒนาคนต่างๆ นานา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในปีนั้น มีคนไม่ได้รับฟังเสียงจริงๆ มีคนตายจริงๆ ทำไมคนที่บอกว่าอยู่ข้างผู้คนกลับไม่ออกมาพูดเรื่องนี้ มันเป็นม่านหมอกของการพูดไม่ได้ อย่างกรณี #ตั๋วช้าง ก็เห็นความเชื่อมโยงบางอย่าง ถ้าเป็นหนังสือ เล่มแรกที่ทำให้เห็นความเชื่อมโยงบางอย่าง คือ 6 ตุลา ลืมไม่ได้จำไม่ลง ของอาจารย์ธงชัย เป็นเล่มที่พูดถึงบทบาทของสถาบันกษัตริย์ชัดเจน แต่หนังสือการเมืองตอนนี้ก็ค่อยข้างมีน้ำหนักของฝ่ายซ้าย ไม่มีตัวละครทางวิชาการอีกฝั่งออกมาเลย เราอยากรู้เสียงจากอีกฝั่งด้วย
“เราเชื่อในเรื่องโอกาสของคนที่ต้องเท่ากัน เราเคยได้รับโอกาส แต่เราจะไม่โอเคเลยถ้าตัวเองได้แค่คนเดียว มีคนบอกว่าจุดเริ่มต้นชีวิตคนคือตัวกำหนดว่าจะมีพันธกิจแบบไหนในชีวิต แต่ไหนแต่ไรของเราคือเรื่องนี้เลย โอกาสในการที่แต่ละคนใช้ศักยภาพสูงสุดของตัวเองออกมาให้ได้ ถ้าในโลกของหนังสือฮาวทูบอกว่า ทุกคนสามารถดึงศักยภาพของตัวเองออกมาได้ แต่จากประสบการณ์ของเราคือ มันมาจากสภาพแวดล้อมด้วย ต่อให้เราเป็นเด็กที่โคตรขยัน แต่ต้องช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน เราก็อาจไม่มีเวลาเพียงพอ เวลาเป็นต้นทุนอย่างหนึ่ง มันจะไปเต็มที่เท่าคนที่เรียนอย่างเดียวและได้เรียนพิเศษด้วยได้ยังไง
“ในการเคลื่อนไหวปัจจุบัน เราทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย การเคลื่อนไหวเรื่องคนเท่ากันที่แตะเรื่องโอกาสของคน ทำยังไงให้ทรัพยากรของประเทศไปสู่ผู้คนมากที่สุด กระจายไปอย่างเท่าเทียม ซึ่งต้องเป็นหน้าที่ของรัฐในการทำสิ่งนี้ เป็นสิ่งที่เราเห็นด้วยมากๆ แต่เรื่องที่พูดไปแล้วอาจโดนด่าได้ คือเรื่องท่าที เป็นสิ่งที่เรารู้สึกอยู่บ่อยๆ เราควรดึงอีกฝ่ายให้มามีส่วนร่วม การพูดอะไรก็ได้เป็นสิทธิเสรีภาพ แต่เป้าหมายที่ใหญ่กว่า คือเราจะไม่มุทะลุอย่างเดียว แต่อยากให้อีกฝั่งเห็นว่า ทำไมเราถึงเชื่อแบบนี้ ทำไมเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับทุกคน ถ้าพูดตรงๆ คือ เราไม่เห็นด้วยกับท่าทีบางอย่างที่ไม่ดึงให้อีกฝั่งมาเห็นด้วยมากขึ้น มันเลยกลายเป็น echo chamber ที่เราคุยกันเอง
“มันยากที่จะบอกว่าหนังสือเล่มไหน เหตุการณ์ไหน ใครหรืออะไรอย่างใดอย่างหนึ่งสร้างความเป็นเรา แต่ทุกอย่างก็อยู่ตรงนี้ ทั้งชุมชนคลองเตย แฮร์รี่ พอตเตอร์ อาจารย์ธงชัย ประสบการณ์ทำงานฝั่งอนุรักษนิยมมาก และฝั่งเสรีนิยมมาก สิ่งที่ชัดเจนที่สุดคือการเห็นโลกสองใบ เรามาจากพื้นที่ที่ไม่ได้ดีมาก แล้วได้มาอยู่โรงเรียนที่สภาพแวดล้อมดีมาก เราเคยทำงานในที่อนุรักษนิยมมาก และมีเพื่อนที่เสรีนิยมมาก เราเห็นว่าสุดท้ายแล้ว เรามีจุดประสงค์ไม่ต่างกัน ไม่มีใครอยากทำให้ชาติวอดวายฉิบหาย เพียงแค่เขามองว่าวิธีการไปถึงจุดนั้น มันคนละวิธีการ แล้วต่างฝ่ายก็มองว่าวิธีการของตัวเองถูกต้อง ถ้าเราพยายามจะเข้าใจอีกฝ่าย ไม่ได้แปลว่าเห็นด้วย มันถึงเกิดพื้นที่ในการบอกได้ว่า ที่เราไม่เห็นคืออะไร”
ขอ 3 เล่ม
1. SOPHIE SCHOLL กุหลาบขาวและนาซี
ไพรัช แสนสวัสดิ์ (เขียน)
แก่นใจความที่ชอบมากคือ การไม่ทำอะไรเลยน่าจะเป็นความฉิบหายเหมือนกัน โซฟี โชล ไม่เห็นด้วยกับคนเยอรมันที่นิ่งเฉยเมื่อเห็นความรุนแรง ทุกคนก็มองว่า ไม่พูดไม่เห็นเป็นอะไร ไม่ได้เป็นฆาตรกร แต่การไม่ต่อต้านก็ไม่ต่างจากการสนับสนุนให้เกิดขึ้น
2. Women & Power: A Manifesto ผู้หญิง | อำนาจ
Mary Beard (เขียน)
เป็นเรื่องของเจนเดอร์ และพื้นที่สาธารณะในการพูด การพูดของผู้หญิงกับผู้ชายถูกสร้างมาตั้งแต่สมัยกรีก-โรมัน เวลาผู้หญิงออกมาพูดในที่สาธารณะ ไม่ว่าจะปราศรัยอะไรก็ตาม มันต้องเป็นท่าทีแบบ masculine ชายเต็มเปี่ยม แข็งแรง แข็งแกร่ง คำถามคือผู้หญิงสามารถพูดแบบ feminine ได้ไหม
3. Sapiens: A Graphic History: The Birth of Humankind
Yuval Noah Harari (เขียน)
เราชอบฉบับที่เป็นกราฟิกโนเวล ตัวเองอ่านฉบับภาษาอังกฤษ กำลังจะมีแปลเป็นภาษาไทย เล่มนี้เซอร์ไพรส์มาก มันถอดเนื้อหาของหนังสือมาเป็นการ์ตูนแล้วยังคงเนื้อหาได้ดีมาก หนึ่งช่องการ์ตูนเต็มไปด้วยข้อมูล แต่มันทำให้สนุกและตลก จากข้อมูลที่คนทั่วไปมองว่าเสพยาก แต่พอเป็นการ์ตูน แม้แต่เด็กยังอ่านได้ ถ้าเด็กรับรู้ถึงประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ มันจะเชปอะไรเขาในอนาคต