WHAT’S AIM READING
บันทึกเรื่องราวของ ‘เอม—ภูมิภัทร ถาวรศิริ’ ถึงการก้าวเข้าสู่งานแสดง หนังที่ชอบ หนังสือที่อ่าน และร้านที่โปรด
เรื่อง: ชนัดดา ตันนพรัตน์
ภาพ: ชวิชญ์ มายอด
“เจอพระไม่ไหว้ ไม่เป็นไร
แต่ถ้าเจอรุ่นพี่…
มึง! ต้อง! ไหว้!”
ยกมือไหว้หนึ่งครั้งพร้อมกล่าวสวัสดีทันทีที่เราเปิดโปรแกรม Zoom ไปเจอหน้า ‘เอม—ภูมิภัทร ถาวรศิริ’ หรือ ‘เค’ รุ่นพี่สุดโหดเจ้าของคำพูดด้านบนจากซีรีส์ เด็กใหม่ (Girl From Nowhere) ซีซั่น 2 ใน EP 5 รับน้อง (Sotus) ที่เพิ่งออนแอร์ไปเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
โอเค ไหว้แล้ว ลำดับต่อไปก็ต้องทักทายถามสารทุกข์สุขดิบสินะ เดี๋ยวจะหาว่ารุ่นน้องไม่ใส่ใจรุ่นพี่อีก
“ชีวิตช่วงนี้เป็นยังไงบ้างคะ สบายดีไหม”
“เศร้าครับ จะมองไปทางไหนก็เศร้า (หัวเราะ) สถานการณ์ปัจจุบันของโลกนี้มันดูเศร้าไปหมดทุกมิติ ไม่รู้จะหากำลังใจจากที่ไหนมาหล่อเลี้ยงชีวิต แต่ว่าทุกๆ คนก็น่าจะรู้สึกคล้ายกันอยู่”
…
แค่เริ่มต้นก็แซดแล้ว แต่จริงๆ บทสนทนาต่อจากนี้ไม่ได้เศร้าขนาดนั้นนะ
เพราะเราจะชวนเอมคุยถึงเส้นทางการแสดง ที่ก่อนจะมาเป็นพี่เคในวันนี้เขาก็ไปโผล่ตามหนังและซีรีส์มาไม่น้อยเลย
‘ทิว’ น้องนักศึกษาที่ขอฝึกงานในบริษัทของเคท (น้ำทิพย์ จงรัชตวิบูลย์) ผู้ต้องสงสัยในคดีฆาตกรรม จากซีรีส์ ล่วง-ละเมอ-รัก จากโปรเจกต์ แพ้กลางคืนเดอะซีรีส์ (2563)
‘เต้ย’ นักสะสมแผ่นเสียง เพื่อนมหา’ลัยของจีน (ออกแบบ—ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุข) จากภาพยนตร์ ฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ (2562)
คนรักเก่าของเอย—หญิงสาวที่กลับมาจากต่างประเทศเพื่อจัดการงานศพของแม่ใน นคร-สวรรค์ (2561)
แถมเรายังอาจเคยเห็นเขาในมิวสิกวิดีโอต่างๆ ไม่ว่าจะ เพื่อนเล่น ไม่เล่นเพื่อน – Tilly Birds Feat. MILLI, ยังคงสวยงาม – Tilly Birds, คงคา – BOWKYLION, นิโคติน – Mirrr, ดอกไม้ในหนังสือหน้าที่ 75 – THE WHITEST CROW, คนถูกเท (DEJAVU) – O PAVEE Feat. UrboyTJ, เสียง – The Yers ฯลฯ
นอกเหนือไปจากเรื่องเส้นทางงานแสดงแล้ว CONT. ที่เคยออกตัวแรงเสมอว่าอยากเล่าเรื่องการอ่าน ก็ต้องไม่พลาดขอแง้มดูบันทึกเกี่ยวกับหนังสือที่เขาอ่าน แนวที่ชอบ ปกที่ใช่ ร้านหนังสือในดวงใจ ไปจนเล่มไหนที่อยากบอกต่อด้วย
แน่นอนเราไม่ได้จะเก็บไว้ดูคนเดียวอยู่แล้ว มันเหงานะ เพราะงั้นมาเปิดอ่านไปด้วยกันเถอะ
หน้า 1
หนัง ซีรีส์ และเอ็มวี
เพราะเอมเรียนจบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาวิชานิเทศศิลป์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ไอ้เราก็ดันขี้สงสัย อยากรู้ว่าเหตุใดเขาถึงไม่หยิบจับงานกราฟิกฯ อย่างที่ร่ำเรียน แต่ผันตัวมาให้เห็นผ่านหน้าจอแสดงแทน
“หลังเรียนจบเราไม่เคยทำงานเกี่ยวกับกราฟิกฯ เลย เพราะรู้สึกว่ามันประสาทแดก มันเครียดเกินไป (หัวเราะ)”
เอมว่าอย่างนั้น ก่อนจะเล่าย้อนกลับไปช่วงที่ตัดสินใจเลือกเรียนคณะนี้ ซึ่งเหตุผลก็น่าจะเหมือนที่หลายๆ คนเคยเจอตอน ม.ปลายคือ ยังไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร ถึงอย่างนั้นชีวิตมหา’ลัยส่วนใหญ่ของเขาก็มักจะไปคลุกคลี วนเวียนอยู่กับเพื่อนที่เรียนถ่ายภาพ เรียนฟิล์มมากกว่า ซึ่งนั่นแหละคือจุดเริ่มต้นของเรื่องทั้งหมด
“เราเริ่มรู้สึกว่าชอบถ่ายรูป ชอบกล้อง ก็เลยไปช่วยงานเพื่อนที่เรียนโฟโต้ เรียนฟิล์ม ทั้งในตำแหน่งทีมงานโปรดักชั่น และเป็นคนแสดง ได้ไปเล่นทีสิสให้เพื่อนต่างมหาวิทยาลัยบ้าง แล้วก็มีผู้กำกับคือพี่โรส—พวงสร้อย อักษรสว่าง เขาไปเห็นงานเหล่านั้นก็เลยชวนเราไปแคสต์ พอเล่นเรื่อง นคร-สวรรค์ ของพี่โรสจบ ก็รู้สึกว่าชอบการแสดง โชคดีที่หลังจากนั้นก็มีคนมาชวนไปเล่นนู่นเล่นนี่อยู่บ้าง”
เอมบอกว่าเขาไม่ค่อยอยากดูผลงานชิ้นที่เสร็จสิ้นไปแล้วเท่าไหร่ แต่โดยหน้าที่แล้วก็ต้องดูเพื่อประเมินตัวเอง ซึ่งในช่วงเวลาที่ทุกอย่างถูกปล่อยทางออนไลน์เป็นหลัก เอมก็ต้องใช้เวลากว่า 4-5 วันถึงจะทำใจดูได้
แต่กับกระแส เด็กใหม่ ที่บทของเขาถูกพูดถึงสุดๆ บนหน้าฟีด ผ่านไปแล้วเกือบเดือน เขาก็ยังไม่ค่อยกล้าเข้าไปดู
“พยายามจะไม่เข้าไปเห็น เพราะผมรู้สึกเขินๆ ช่วงนั้นไม่กล้าจับมือถือเท่าไหร่เลย แต่ก็มีเพื่อนๆ แท็กมาตามเฟซบุ๊กว่าเพจนี้เอาไปลง เพจนี้เขียนถึงนะ ซึ่งผมดีใจมากครับ แต่ก็ดีใจที่มันเริ่มซาลง ผมจะได้อ่านอย่างอื่นบ้าง (หัวเราะ)”
เขาพูดจบเราก็ขอส่งฟีดแบ็กบ้างว่า แวบแรกที่ได้ดู เราดันกลัวพี่เคซะอย่างงั้น ทั้งสีหน้าตอนเขาตวาด และให้เล่นเกมชวนอี๋ ทำไมคุณพี่ดุจังคะ
“กลัวอะไร ดุตรงไหน มันไม่ได้มีอะไรน่ากลัวเลย ตัวพี่เคก็มีแค่นั้น จับแขนนิดก็หักแล้ว
“เอาจริงๆ เราทนดูตัวเองพาร์ตนั้นไม่ได้เหมือนกัน เราจะขำ ไม่ไหวว่ะ มันตลกอะ แล้วน้อยคนที่จะกลัว ส่วนใหญ่จะอยากถีบ อยากเอาตีนลูบหน้า”
แม้ว่าบทบาทในซีรีส์จะดูคุกคามรุนแรง แต่ในชีวิตจริงประสบการณ์รับน้องที่เอมเคยผ่านมาไม่ได้ดุเดือดแบบนั้นออกจะเป็นแนวน่ารักๆ ทำให้เขาต้องวาดภาพสถาบันนี้ขึ้นมาใหม่ว่ามันคืออะไร สิ่งที่เกิดขึ้นหน้าตาเป็นยังไง และมันส่งผลกระทบอะไรกับคนที่อยู่ในเหตุการณ์นั้นบ้าง
“เราเชื่อว่าคนที่คิดแบบพี่เคก็มีอยู่ คนที่ทำอะไรบางอย่างลงไปทั้งที่ลึกๆ เขาอาจไม่ได้เชื่อสิ่งนั้นด้วยซ้ำ แต่เขาทำเพื่อให้ตัวเองอยู่รอด เพราะต้านกระแสลมแห่งอำนาจไม่ได้ เขาเลือกที่จะเอนอ่อนไปกับมัน เพราะเขารู้ว่าถ้าเกิดสู้มันก็หัก
“เราว่าเป็นธรรมชาติของกุศโลบายที่มันจะมีผลกับความเชื่อของเราในช่วงเวลาหนึ่ง แต่ว่าก็เป็นธรรมชาติของกุศโลบายเช่นกันที่มนต์ขลังย่อมมีวันเสื่อม สิ่งเหล่านั้นมันจะอาจจะเวิร์กในช่วงยุคสมัยหนึ่ง ช่วงวัยหนึ่งเท่านั้น มันไม่ได้ตลอดไป ซึ่งผมก็เคยมีช่วงวัยเหล่านั้นอยู่ เคยมืดบอดทึบพอที่จะเชื่อว่าสิ่งเหล่านั้นทรงคุณค่า ซึ่งก็รู้สึกแย่นะที่ตัวเองเคยเชื่อในอะไรแบบนั้น”
ถึงประสบการณ์การรับน้องในซีรีส์และชีวิตจริงจะแตกต่างกันลิบลับ แต่การวาดภาพสถาบัน ตัวละคร และความรู้สึกขึ้นมาเพื่อแสดงในบทบาทนี้ของเอมก็สมน้ำสมเนื้อ จนหลายคนในโลกออนไลน์ต่างพูดถึงเหมือนๆ กันว่าเอมเล่นถึง—ถึงความน่าหมั่นไส้และความน่าสงสาร
“จริงๆ บทมันดีด้วยตัวของมันเอง ตัวละครพี่เคที่ถูกเขียนมา จากสถานการณ์ในบทย่อมทำให้คนดูรู้สึกแบบนั้นกับตัวละคร คล้อยตามไปกับสถานการณ์ที่ตัวละครตัวนี้เจออยู่แล้ว”
จากเด็กกราฟิกฯ ที่ไม่ได้เรียนด้านการแสดงมาก่อน หันมาสวมบทบาทต่างๆ ถ่ายทอดผ่านหน้าจอจนได้รับเสียงชื่นชมมากมาย เราอยากรู้เหลือเกินว่ามีอะไรที่เป็นจุดเปลี่ยนชีวิตของเขาบ้าง
“มีหนังที่ดูแล้วเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตบ้างมั้ย”
“โห ยากจังเลย (คิดนาน) ไม่รู้อะ จริงๆ เราว่ามันประกอบขึ้นจากหนังหลายๆ เรื่องมากกว่า ยังไม่เคยดูเรื่องไหนที่แบบ this is fucking จุดเปลี่ยนของชีวิตขนาดนั้น เอาเป็นหนังที่ชอบล่าสุดแล้วกันเนอะ”
“อ้อ ได้เลย”
“…อืม แต่อันนี้ก็ยากแฮะ (หัวเราะ)”
เอมนั่งนึกต่ออีกนิด ไม่นานก็ได้คำตอบว่าเป็นเรื่อง Malcolm & Marie (2021) ภาพยนตร์ขาว-ดำที่เล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ของผู้กำกับกับแฟนสาว ภายหลังที่ทั้งคู่กลับจากงานเปิดตัวภาพยนตร์ ซึ่งมันประสบความสำเร็จตามคาดหวัง แต่สิ่งที่ไม่ได้หวังไว้คือการทะเลาะใหญ่โตเมื่อถึงบ้าน
“มันเป็นหนังที่เราชอบด้านการแสดงมาก ดูแล้วนึกถึงละครเวทีค่อนข้างชัดเจน มันมีแค่ตัวละครสองตัวอยู่ในสถานที่เดียวกันยาวไปสองชั่วโมง เราชอบหนังแนวนี้ แบบตัวละครน้อยๆ คุยกันเยอะๆ”
หน้า 2
หนังสือ
ระหว่างที่เอมกำลังเล่าถึง Malcolm & Marie เราก็เหลือบไปเห็นหนังสือที่เรียงรายอยู่บนชั้นแนวยาวหนึ่งแถวด้านหลังของเขา พอเอมเล่าเรื่องหนังจบปุ๊บ เราเลยถามเรื่องหนังสือต่อปั๊บว่าเขาเป็นคนชอบอ่านขนาดไหน
“จริงๆ เราไม่ใช่คนอ่านหนังสือเยอะหรอก ตอนเด็กๆ มีอะไรอ่านก็อ่านไป อ่านแล้วก็รู้สึกสนุกดี ได้ใช้เวลาว่าง อยู่คนเดียวเป็นส่วนมากก็เลยอ่านหนังสือ ง่ายสุดละ ซึ่งที่บ้านก็มีหนังสือเก่าๆ เยอะ ชอบขโมยหนังสือแม่อ่าน หนังสือกระดาษเหลืองๆ ที่เปิดนิดก็ขาด”
“เดี๋ยวนะ เล่มไหนเนี่ยที่ขโมยของแม่อ่าน”
“นิกกับพิม”
หนังสือเล่มดังกล่าวคือนวนิยายรักสดใสของชายหนึ่ง หญิงหนึ่ง และหมาสองตัว ซึ่งอยู่ห่างไกลกันคนละโยชน์ของ ว. ณ ประมวญมารค นอกจากนี้ยังมี บ้านเล็กในป่าใหญ่ เรื่องเล่าของเด็กหญิงที่อาศัยอยู่ในกระท่อมไม้กลางป่ากับครอบครัวของ ลอร่า อิงกัลล์ส ไวล์เดอร์ (Laura Ingalls Wilder) และมิตรภาพของหมูแคระกับแมงมุมยักษ์จาก แมงมุมเพื่อนรัก ของ อี. บี. ไวต์ (E. B. White) ที่เขาพอจะจำได้ว่าเคยอ่านเมื่อนานมาแล้ว
เรากวาดสายตาดูที่ชั้นอีกที อยากรู้ต่อว่าหนังสือบนชั้นมีอะไรบ้าง ก็เลยขอให้เขารื้อทุกเล่มบนนั้นออกมาโชว์หน่อย
เปล่า ไม่ใช่ เราจะกล้าใช้รุ่นพี่ทำอย่างนั้นได้ยังไง เราก็แค่ถามถึงเล่มที่เขาเพิ่งอ่านจบ
“เราเพิ่งอ่าน สาวไห้ ของคุณวิตต์ สุทธเสถียร นวนิยายจากยุค 2480 ที่สำนักพิมพ์แซลมอนเอากลับมาพิมพ์ใหม่จบไป เราไม่เคยอ่านงานของเขามาก่อน พออ่านแล้วรู้สึกว่าชอบภาษาของเขามาก จนอยากอ่านภาษาในยุคนั้น อ่านคำที่ยังไม่ได้ถูกปรับใหม่ เรารู้สึกว่าศัพท์สมัยนั้นมันเจ๋งมาก วิธีการเขียนของเขาไม่ถึงขนาดกับ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ นะ มันคนละแบบเลย เท่ว่ะ เท่สัสๆ เราลองเสิร์ชหาภาพใบหน้าของคุณวิตต์ดู หน้าเขาเหมือนกับที่บรรยายถึงตัวเองไว้ในหนังสือเลย กรามเหลี่ยม ใส่แว่น
“อีกอย่างเราชอบวิธีการเขียนของเขา มันเหมือนเอาฟุตเทจมาชนกัน ตัดไปตัดมาเร็วมาก แบบเดี๋ยวนะ กูจูนอารมณ์ไม่ทัน เมื่อกี้มัน… (ทำท่าหยุดชะงัก) เมื่อกี้แม่งเศร้าเหี้ยๆ แล้วหน้าข้างๆ มึงเฮฮาดีใจแล้ว ซึ่งตัวละครเดิมด้วย เดี๋ยวนะ (กุมขมับ) มึงทิ้ง… (ชี้นิ้วใส่ที่ตัวเอง) มึงไม่แคร์กูเลยใช่มั้ย (หัวเราะ)”
เราอยากให้คุณผู้อ่านเห็นท่าทางระหว่างที่เอมพูดถึงหนังสือเล่มนี้มากๆ และในฐานะที่เราได้อ่านเล่มนี้แล้วเหมือนกัน คำกล่าวของเขาไม่เกินจริงไปเลย
“ปกติแล้วคุณชอบอ่านหนังสือแนวไหน”
“ไม่รู้เลย ทุกวันนี้หนังสือที่ซื้อมาก็ไปเรื่อยๆ นะ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันมีประเภทอะไรยังไง เรายังไม่เจอแนวที่ไม่ชอบมากกว่า คำถามนี้มันตอบยากนะเว้ย เนี่ย ขอถามกลับบ้างว่าชอบอ่านแนวไหน”
รับบทนางอึกอักหนึ่ง เพราะเท่าที่สัมภาษณ์ไม่ค่อยมีใครถามกลับแบบนี้เท่าไหร่ ก่อนจะบอกไปว่าแนวบันทึกประสบการณ์ บันทึกท่องเที่ยว นั่นแหละคือสิ่งที่เราชอบอ่าน
“เราไม่ค่อยได้อ่านบันทึกการเดินทางขนาดนั้น แต่ก็มีเล่มที่ชอบอย่าง ดาวหางเหนือทางรถไฟ (เขียนโดย ทรงกลด บางยี่ขัน) เพราะรู้สึกว่าอิ่มดี ณ ตอนนั้น เราจะชอบเซนส์ของงานเขียนที่พาไปทำความรู้จักเมืองใหม่ๆ ผ่านอย่างอื่นที่ไม่ใช่การท่องเที่ยว อย่าง สาวไห้ ก็มีส่วนที่พูดถึงเมืองไซง่อน เขาก็เอาโรงมหรสพ เอาโรงแรม เอาสามล้อมาเล่า ซึ่งมันอาจไม่กว้างหรือลึกเท่าบันทึกท่องเที่ยว แต่เรารู้สึกว่าการที่นักเขียนจะเมนชั่นถึงเมืองไหนสักเมือง มันคือความประทับใจของเขาเช่นกัน”
งานเขียนอีกแนวที่เอมชอบคือ ความลึกลับที่คนอ่านจะไม่ได้รู้เรื่องของมันทั้งหมด อย่างเช่น แกะรอย แกะดาว (A Wild Sheep Chase) นวนิยายว่าด้วยการเดินทางตามหาแกะดาวของนักเขียนนิรนามท่านหนึ่ง ผลงานของ ฮารูกิ มูราคามิ (Haruki Murakami) นักเขียนนักผูกโยงโลกความจริงและโลกจินตนาการไว้ด้วยกัน
“เวลาอ่านงานของมูราคามิ เราจะสงสัยถึงความมีอยู่จริงหรือไม่มีอยู่จริงตลอดเวลา ซึ่งเราชอบเซนส์แบบนั้นเวลาได้อ่าน”
“จากที่ว่ามาเหมือนคุณจะชอบอ่าน fiction มากกว่าหรือเปล่า”
“จริงๆ เราก็รู้สึกว่าตัวเองอ่าน non-fiction ได้เร็วกว่า fiction บางเล่มนะ หมายถึงเราจูนกับมันได้เร็วกว่า หรืออย่างพวกวิทยาศาสตร์เราก็อ่านได้แต่อาจจะใช้พลังเยอะ ขึ้นอยู่กับอารมณ์ตอนนั้นว่าอยากอ่านไหม”
และนอกจาก ดาวหางเหนือทางรถไฟ บันทึกการเดินทางรถไฟสายทรานส์ไซบีเรียแล้ว หนึ่งในหนังสือ non-fiction ที่เอมอ่านก็คือ ปืน เชื้อโรค เหล็กกล้า กับชะตากรรมของสังคมมนุษย์ (Guns, Germs, and Steel: The Fates of Human Societies) ของ จาเร็ด ไดมอนด์ (Jared Diamond) ที่เขียนถึงประวัติศาสตร์มวลมนุษย์ตั้งแต่กำเนิด ภาษา ศาสนา เชื้อชาติ อาวุธ ซึ่งเกี่ยวพันกับพัฒนาการที่หลากหลายของมนุษย์
“แล้วหนังสือเล่มโปรดล่ะ”
เขาบ่นอุบว่า คำถามยากอีกแล้ว จากนั้นก็ทำหน้าครุ่นคิดอยู่สักพัก ก่อนจะขอเลือกเป็นหนังสือที่ส่งผลกับชีวิตในช่วงวัยนี้ของเขาแทน
“เป็นเล่มที่อ่านไปเมื่อ 3-4 ปีก่อน รู้สึกว่าที่อ่านมาก็ยังไม่มีเล่มไหนชนะเล่มนี้ได้”
เล่มที่ว่านั้นคือ สิทธารถะ (Siddhartha) ของ เฮอร์มานน์ เฮสเส (Hermann Hesse) วรรณกรรมเยอรมันเรื่องราวการออกตามหาทางดับทุกข์ด้วยตนเองของสิทธารถะ
“มันเกี่ยวกับความคิดและชีวิต การเดินทางของทุกคนบนโลกเพื่อทำความเข้าใจชีวิต การที่เราจะเข้าใจทุกๆ อย่าง มันไม่ควรจะมีแค่สามวิธีหรือแปดวิธี จำแนกตามศาสนา และความเชื่อที่มีอยู่บนโลก แต่มันควรจะมีเจ็ดร้อยล้านวิธีเท่าจำนวนคนบนโลกในการที่จะเข้าใจ และค้นพบความสุขของตัวเอง”
เอมไม่ใช่คนอ่านหนังสือซ้ำ น้อยมากๆ ที่จะเกิดเรื่องนี้ขึ้น และหากต้องอ่านซ้ำจริงๆ ก็ต้องเว้นไป 3-4 ปีถึงกลับมาอ่านอีกรอบได้
เอมเป็นคนอ่านหนังสือหลายเล่มพร้อมกัน ดังนั้นระหว่างอ่านอะไรสักเล่มก็มักจะมีเล่มอื่นๆ ถูกกด pause อยู่มากมาย ซึ่งถ้าย้อนกลับไปเมื่อปีก่อน ทุกคนรู้ แฟนคลับรู้ เราต่างล็อกดาวน์กันยาวนาน ซึ่งนั่นน่าจะประจวบเหมาะที่เอมจะได้กลับไปกด play หนังสือที่ค้างไว้หลายเล่ม
“ทั้งปีอ่านจบไปเล่มเดียว”
เขาคิดเหมือนกันว่าปีก่อนควรจะเป็นปีที่ได้อ่านหนังสือเยอะ เพราะมีเวลาว่างเยอะ แต่ตัวเขาเองกลับไม่มีสมาธิเลย ซึ่งเราก็เชื่อเหลือเกินว่าเขาไม่มีสมาธิจริงๆ เพราะเล่มเดียวที่อ่านจบนั้น เขาจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าเป็นเล่มไหน
“ก็อย่างที่บอกว่าเราชอบอ่านเล่มนี้ทีและข้ามไปอ่านเล่มอื่น ซึ่งถ้าคิดเป็นภาพนี่ถือเป็นวิชวลที่น่าสนใจมาก เราสงสารตัวละครในหนังสือเหล่านั้นที่แม่งต้องฟรีซท่าทาง (ทำท่าฟรีซ) ค้างไว้ และต้องรอเรามาอ่าน มันคงคิดเหมือนกันว่าเมื่อไหร่กูจะได้เคลื่อนไหวอีกรอบนะ”
“และถ้าเป็นเล่มที่อ่านอยู่ตอนนี้ยังจำได้ใช่ไหม”
“เออ จำไม่ได้แล้วว่าเล่มล่าสุดที่อ่านอยู่คืออะไร” เขาว่าและหันไปมองชั้นหนังสือตัวเองสักพัก “อ๋อ อ่านนี่อยู่ ทางโลก ของพี่หนึ่ง—วรพจน์ พันธุ์พงศ์ ไปเจอจากกรุ๊ปขายหนังสือมือสอง”
เรื่องหนังสือของวรพจน์คงไม่ต้องถามถึงความดีงาม เพราะรวมความเรียงว่าด้วยสุรา ความรัก และนักสู้ประชาธิปไตยตามวิถีชีวิตในโลกเล่มนี้ใครอ่านก็ชอบ แต่เรื่องกรุ๊ปหนังสือมือสองนี่สิที่น่าสนใจ
หน้า 3
ปกหนังสือ
เอมเล่าว่าเขาชอบเข้าไปกด F หนังสือมือสองในอินเทอร์เน็ตอยู่บ่อยๆ บางทีเล่มที่ตามหาก็ได้มาในราคาแสนถูก อย่าง ชิทแตก! นิยายแนวไซไฟมีฉากหลังเป็นประเทศไทยในปี 2666 ซึ่งเขียนโดย ปราบดา หยุ่น และมีเพลงประกอบหนังสือที่บรรเลงโดยวงบัวหิมะ ซึ่งมีสมาชิกวงคือพี่คุ่น—ปราบดา และพี่เจ—เจตมนต์ มละโยธา แห่งวง Penguin Villa
อันที่จริง เอมเคยอ่านและมีหนังสือเล่มนี้ในครอบครองอยู่แล้ว แต่ที่เขาอยากได้คือปกฉบับพิมพ์ครั้งแรกต่างหาก
“เราเคยอ่านตอน ม.6 แล้วชอบมาก พอเสิร์ชดูอัลบั้มเพลงประกอบหนังสือที่เป็นของวงบัวหิมะ มันเป็นอีกปกหนึ่ง เราชอบปกนี้ รู้สึกว่า เชี่ย ต้องมีว่ะ และก็ไปเจอในกรุ๊ปพอดี ก็เลย F มา ได้ ชิทแตก! ฉบับพิมพ์ครั้งแรกในราคา 35 บาท ค่าส่งยังแพงกว่าอีก (หัวเราะ)”
พอพูดถึงปก คนที่เรียนด้านการออกแบบมาอย่างเขาก็ยอมรับว่า หน้าปกหนังสือส่งผลต่อการซื้อเหมือนกัน ซึ่งต้องพยายามบังคับใจไม่ให้ส่งผลจนเกินไป เราเลยถามออกไปว่าปกที่โดนใจเป็นแบบไหน
“เรามักจะถูกตกด้วยปกของคุณมานิตา ส่งเสริม เราชอบงานเขามาก คนอะไรกล้าหาญได้ขนาดนี้ และก็ของ wrongdesign อันนั้นก็เดือดเหมือนกัน
“แต่เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่แค่ปกนะ คือปกหนังสือสำหรับเรามันเป็นการออกแบบในแง่สามมิติ มันคือภาพรวมของทั้งเล่ม การเอามาทำรูปเล่ม ดูว่าหนาเท่าไหร่ ควรจะใช้กระดาษแบบไหน อย่างเช่นหนังสือ ร่างของปรารถนา ของพี่ม่อน (อุทิศ เหมะมูล) ที่หนังสือถูกออกแบบมาให้เราต้องฉีกมันก่อนอ่าน มันจะเป็นรอยปรุที่เขาออกแบบมาให้เราดึง ซึ่งดึงยังไงก็เกิดบาดแผลอยู่ดี เป็นการสื่อสารที่ไปกับตัวหนังสือได้”
นอกจากนวนิยายรักที่เกิดจากรอยแผลหลังผ่านรัฐประหารมาสามครั้งของอุทิศ เหมะมูล คนชำรุดหรือมนุษย์โรแมนติก หนังสือรวมบทความของอุทิศตั้งแต่ปี 2549-2563 ที่ออกแบบโดยจับคู่กับเบียร์ Eleventh Fort ในวงเล็บว่า “เบียร์อร่อยสัสๆ” ก็เป็นไอเดียการออกแบบที่เขามองว่าเจ๋งมากๆ
ถึงอย่างนั้นปกอื่นๆ ที่ค่อนไปทางเรียบและง่าย มีแค่ภาพและชื่อเรื่อง ทั้งแนวปกหนังสือของพี่หนึ่ง หรือ ผุดเกิดมาลาร่ำ นวนิยายที่ความตายถมเติมชีวิต ของ อารยา ราษฎร์จำเริญสุข ก็เป็นอีกรูปแบบที่เขาชอบ
“เราชอบการออกแบบหนังสือ รู้สึกว่ามันเป็นสื่อที่น่าสนใจ แต่ไม่เคยซื้อหนังสือเพราะปกนะ หมายถึงเราต้องชอบอย่างอื่นของมันด้วย”
หน้า 4
ร้านหนังสือและหนังสือบนชั้น
แม้จะมีกรุ๊ปหนังสือให้เข้าไปกด F แต่สำหรับเอมแล้ว การคุ้ยกระบะหนังสือมือสองตามงาน flee-market การเดินสอดส่องหนังสือในร้านล้วนเป็นสถานที่ที่ดีเสมอ นั่นเพราะมักจะเจออะไรที่คาดไม่ถึงอยู่เรื่อย
Bookmoby ที่หอศิลป์ Candide Books แถวคลองสาน ร้านหนังสือเดินทาง ย่านพระสุเมรุ และ Books & Belongings ตรงพระโขนง ใครที่ชอบแวะไปเดินเล่นร้านหนังสือเหล่านี้ กระซิบว่าคุณอาจเจอเอมเดินเลือกหนังสืออยู่ก็ได้นะ เพราะทั้งหมดนี้คือร้านหนังสือที่เขาโปรด และชอบแวะไป
แต่ตอนนี้ยังออกไปไหนไม่ค่อยได้ เราก็เลยขอให้เขาแวะไปที่ชั้นหนังสือ และหยิบมาแนะนำผู้อ่านอีกสักเล่ม
เขาเลือก Walk Through Walls: A Memoir ของ มารีน่า อบราโมวิช (Marina Abramovic) ศิลปินแสดงสด (performance art) ชาวเซอร์เบียน ผู้ซึ่งสื่อสารประเด็นสังคมและการเมืองผ่านการใช้ร่างกายที่ถูกท้าทายด้วยความเจ็บปวด
“หนังสือเล่มนี้เป็นความทรงจำของชีวิตมารีน่า เป็นมุมมอง เป็น manifesto ของเขา เขาเคยมาพูดที่กรุงเทพฯ เมื่อ 3-4 ปีก่อน (งาน Bangkok Art Biennale 2018) แล้วไอ้การพูดครั้งนั้นมันช่วยชีวิตเราไว้หลายหนเหมือนกัน ในเวลาที่รู้สึกว่าชีวิตมันยาก หรือในเวลาที่เจอกับความยากลำบาก ความท้อแท้ในการทำงานฐานะนักแสดง ก็จะรู้สึกว่าอยากกลับมาพึ่งประสบการณ์ หรืออ่านอะไรที่เกี่ยวกับตัวเขา”
อ้อ เรายังไม่ได้บอกทุกคนใช่มั้ยว่า จริงๆ นอกจากการแสดงหนัง อีกสิ่งที่เอมชอบคือการแสดงสด หรือ live performance เมื่อปีก่อนเขาได้แสดงละครเวทีโรงเล็กอย่าง โอเค แลนด์ (OK Land) หนึ่งในโปรเจกต์ของคณะละคร Circle Theatre แม้ว่าเขาจะไม่ได้เรียนด้านละครเวทีโดยตรง แต่การได้เล่น live performance ที่ไม่มีการสั่งคัตนั้นทำให้เขาสนุกและติดใจ ระหว่างต้องพักอยู่บ้านนานๆ อย่างนี้ เขาก็มีประชุมถึงโปรเจกต์ performance ที่กำลังทำอยู่กับเพื่อน ซึ่งจะจัดขึ้นในงาน Bangkok Design Week 2021 ที่จะถึงนี้ด้วย
“เราคิดเอาเองว่านักแสดงส่วนใหญ่น่าจะชอบ live performance เพราะว่ามันสนุก และจริงๆ ก็ไม่มีอะไรดีกว่าอะไรหรอก หนัง ละคร ซีรีส์ เอ็มวี ละครวิทยุ ทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับว่าเราชอบอะไรมากกว่ากัน แต่เราก็อยากให้ทุกคนลองเล่น live performance สักครั้งนะ มันสนุกดี”
หน้านี้จะจบแล้ว
หลังเปิดบันทึกชวนเอมมาพูดถึงหนัง การแสดง และหนังสือที่อ่านไปมากมาย ก็คงถึงเวลาแล้วสินะที่เรา เอม และคุณผู้อ่านต้องแยกย้าย เพราะงั้นขอปิดท้ายด้วยการให้เขาเลือกหนังสืออีกสักเล่มก่อนจากแล้วกัน
“ถ้าต้องเลือกหนังสือให้พี่เคสักเล่ม ให้เล่มไหนดี”
เขาลุกไปหาที่ชั้น ก่อนจะหยิบ 6 ตุลา เราคือผู้บริสุทธิ์ โดยกลุ่มผดุงธรรม หนังสือเล่าประวัติศาสตร์เหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 และ คนไขลาน (A Clockwork Orange) ของ แอนโธนี เบอร์เจสส์ (Anthony Burgess) นวนิยายแนวดิสโทเปียกับการตามติดชีวิตเด็กวัยรุ่นอันธพาลที่ต้องได้รับผลจากการกระทำของตัวเอง
“อาจจะยื่นให้เฉยๆ เราไม่รู้เหมือนกันว่าพี่เคชอบอ่านอะไร หรือจริงๆ น่าจะไม่ชอบอ่านหนังสือนะ ก็อาจจะยื่นให้แล้วบอกว่าถ้ามีโอกาสก็ลองอ่านดู ถ้าอ่านแล้วเจออะไรในนั้นก็คงเป็นเรื่องดี”