YOU’VE ‘GOT’ A FRIEND
ชวน ‘ก๊อต จิรายุ’ มาสนทนา ถึงการแสดง แรงบันดาลใจ และหนังสือที่ต้องกลับมาอ่านใหม่ถึงแปดครั้ง
เรื่อง: A. Piriyapokanon
ภาพ: ภาพถ่ายจากทางบ้าน
ไม่นานมานี้ แม่เราติดละครอยู่เรื่องหนึ่ง…
สิบคะแนนจะเป็นของบ้านคุณทันที ถ้าตอบได้ว่าเรื่องนั้นคือเรื่องอะไร
เฉลย… (ยังไม่ทันตอบเลย!)
แม่เราติด กระเช้าสีดา ละครดราม่ารีเมคที่เพิ่งลาจอไปเมื่อช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ละครที่ทำเอาแม่เรา (และอีกหลายแม่) นั่งติดหน้าจอโทรทัศน์แบบไม่ยอมให้ใครมาแย่งรีโมตไปจากมือ
แน่นอนว่าตัวละครที่ได้ใจใครหลายคนก็คงหนีไม่พ้น ‘อำพน’ หนุ่มอบอุ่น สุขุม #บราเธอร์โซน ที่รับบทโดยนักแสดงที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันดีอย่าง ‘ก๊อต—จิรายุ ตันตระกูล’ ผู้เคยฝากฝีมือการแสดงไว้ในบท ‘ออกหลวงสรศักดิ์’ หรือ ‘พระเจ้าเสือ’ จากละคร บุพเพสันนิวาส (2561) อันธพาลครองถิ่นเมืองพลในบท ‘แสน ราชสีห์’ จาก คมแฝก (2561) และบท ‘มานพ’ แพะรับบาปคดีฆาตกรรมภรรยาตัวเองจากภาพยนตร์ คืนยุติ-ธรรม (2563) รวมถึงยังมีผลงานภาพยนตร์ต่างประเทศอย่าง Gold (2559) ของผู้กำกับ สตีเฟ่น เกแกน (Stephen Gaghan) อีกด้วย
และนอกจากการแสดงแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ก๊อตรักคือการอ่าน อย่างที่เราเคยได้เห็นตามบทสัมภาษณ์ และรูปหน้าหนังสือที่เขาชอบถ่ายลงในไอจีสตอรี่ เราเลยอดไม่ได้ที่จะต่อสายไปขอพูดคุยกับชายหนุ่มคนนี้ ถึงเส้นทางนักอ่าน ชีวิตหลังกล้อง และห้องหนังสือของเขา
Chapter 1
เพื่อนวัยเด็ก
วันเสาร์ตอนบ่ายๆ ก๊อตในเสื้อฮาวายสบายๆ แทนที่จะเป็นเสื้อเชิ้ต ใส่สูท ผูกเน็กไท สไตล์ลูกชายนักการเมืองอย่างที่เราเห็นในละครก็ปรากฏตัวขึ้น พร้อมเอ่ยทักทายบนหน้าจอผ่านโปรแกรม Zoom
เรากล่าวคำสวัสดีกลับไปด้วยความรู้สึกแอบเกรงใจเล็กๆ เพราะรู้ดีว่าช่วงนี้ตารางงานของเขาคงจะยุ่งพอสมควร
“ก็ไม่ได้ยุ่งหรอก” ก๊อตบอกยิ้มๆ “แต่ว่างแค่วันนี้”
…
โอเค ก็ได้ ตามนั้น
แม้ก๊อตจะออกตัวมาว่าไม่ยุ่ง แต่เราก็จะไม่พูดพร่ำทำเพลงให้เสียเวลา เริ่มต้นคำถามแรกด้วยอะไรง่ายๆ อย่างทำไมถึงชอบอ่านหนังสือ และตอนเด็กๆ ก๊อตชอบอ่านอะไร
เพราะเราเชื่อเหลือเกินว่าใครก็ตามที่โตมาเป็นนักอ่าน ร้อยทั้งร้อยก็ต้องบอกว่าชอบอ่านมาตั้งแต่เด็กกันทั้งนั้…
“เราเกลียดการอ่านมากอะ”
ซะงั้น!
ยอมรับว่าแอบเซนิดหน่อย เลยต้องถอยกลับมาสูดลมหายใจตั้งสติหนึ่งทีก่อนจะเริ่มต้นสืบพยานต่อ
“เพราะตอนนั้นเราถูกบังคับให้อ่านวิชาที่เราไม่ได้สนใจ วิชาแล้ววิชาเล่า เราก็เลยเกลียดมัน”
เข้าใจได้
ก๊อตยกตัวอย่างเป็นหนังสือเรียนวิชาสายศิลป์-คำนวณว่าเป็นหนึ่งในสิ่งที่เขาไม่อยากอ่านเอาเสียเลย เพราะไม่รู้จะเอาไปใช้ประโยชน์ด้านไหนดี แถมยิ่งโดนเคี่ยวเข็ญให้อ่านมากๆ เข้า เขาก็ยิ่งเบื่อหนักเข้าไปใหญ่
“จนได้ไปอ่านหนังสือนอกตำรา ที่ว่าด้วยเรื่องการตั้งเป้าหมายชีวิต หรือการจัดการเงิน เราก็แบบ ว้าว เกิดความสงสัยว่าทำไมโรงเรียนไม่สอนเรื่องพวกนี้บ้าง ทั้งที่มันเป็นเรื่องที่เปิดสมองเรานะ”
นับจากนั้นก๊อตจึงเริ่มเส้นทางการเป็นนักอ่านฝึกหัดด้วยการอ่านสิ่งที่เขาอยากจะอ่านจริงๆ เล่มที่เขาเลือกเองและไม่มีใครมาบังคับ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือที่ช่วยแก้ปัญหาและตอบข้อสงสัยที่ก๊อตกำลังเจออยู่
“เรามีทัศนคติว่าทุกปัญหาที่เจอในชีวิตมันมีคนแก้ไขได้แล้ว ซึ่งก็มีหลายคนที่เขาเขียนออกมาเป็นหนังสือ การที่เราอ่านวิธีการแก้ไขของเขาเหล่านั้น ก็จะทำให้เรามีวิธีการแก้ไขปัญหาที่เราเจออยู่ตรงหน้าได้มากขึ้น เพราะฉะนั้นหลายๆ ปัญหามันจะไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป เพราะเรามีวิธีจัดการมันแบบง่ายดาย แต่ถ้าไม่อ่าน ก็คงจะกลุ้มใจแม้แต่ปัญหาเล็กๆ เพราะเราแก้มันไม่ได้”
“ฟังแบบนี้แล้วดูเหมือนก๊อตจะยกให้หนังสือเป็นเหมือนที่ปรึกษาเลย” เราสรุป
“เป็นเพื่อนมากกว่า” ก๊อตแย้ง “ให้เขาเป็นเพื่อนเรา เพื่อนที่คอยบอกเราว่า ถ้าเป็นเขา เขาจะทำยังไง”
Chapter 2
เพื่อนสนิท
ในบรรดาเพื่อนที่ก๊อตพูดถึง จะมีคนหนึ่งพิเศษกว่าคนอื่นอยู่สักหน่อย นั่นคือเพื่อนที่ชื่อว่า The Laws of Success โดยนักเขียนชาวอเมริกัน นโปเลียน ฮิลล์ (Napoleon Hill) หนังสือเล่มโด่งดังที่ได้ชื่อว่าเป็นต้นแบบของหนังสือพัฒนาตัวเอง ซึ่งกลั่นเนื้อหาออกมาจากปรัชญาชีวิตของบุคคลที่ประสบความสำเร็จสูงสุดกว่าสี่ร้อยคนจากทั่วทุกมุมโลก
ที่บอกว่าพิเศษ ก็เพราะว่าเพื่อนคนนี้เป็นเพื่อนคนสนิทขนาดที่ว่าก๊อตต้องกลับมาอ่าน เยี่ยมเยียน นัดรียูเนียนด้วยทุกปี
“ทุกปีเลยเหรอ ปีนี้ปีที่เท่าไหร่แล้วคะ”
“แปดแล้วมั้ง”
เราแอบเซอีกรอบ เพราะจำไม่ได้แล้วว่าครั้งสุดท้ายที่เจอคนอ่านหนังสือเล่มเดิมแปดครั้งคือเมื่อไหร่ แถมในเพจคำคมส่วนใหญ่ก็จะชอบบอกทำนองว่าอ่านหนังสือเล่มเก่าไปทำไม ในเมื่ออ่านท่าไหนก็จบแบบเดิม
“ก็หนังสือมันมีเจ็ดร้อยกว่าหน้า เราไม่สามารถรับสาระของหนังสือทั้งเล่มได้ จะได้อย่างมากก็แค่เท่าที่จำไหว แล้วพอมีข้อมูลจากโลกภายนอกเข้ามา เราก็จะลืมเรื่องในหนังสือไป”
ก๊อตเปรียบเทียบให้ฟังว่าสำหรับเขา สมองก็เหมือนกับตู้เก็บเอกสาร การอ่านหนังสือคือการพิมพ์เอกสารวางไว้ทีละแผ่น แต่พอรับเรื่องราวจากโลกภายนอกเข้ามา เรื่องพวกนั้นก็จะทับเอกสารที่เราบรรจงพิมพ์ ปีแล้วปีเล่า เท่ากับว่าข้อมูลที่เราตั้งใจอ่านไว้ก็จะถูกลืมหายไป
“แต่พอเราอ่านซ้ำ ก็เหมือนเราได้หยิบเอกสารสำคัญนั้นขึ้นมาอยู่หน้าบนสุด เราก็จะเตือนตัวเองได้ด้วยสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ซึ่งก็คือสิ่งที่เราเคยอ่านมา อย่างที่บอกว่าให้เขาเป็นเพื่อนเรา ก็จะให้เขาคอยเตือนเราในแต่ละปี”
ถึงอย่างนั้น ก๊อตก็ไม่ได้ผูกมัดตัวเองว่าจะต้องอ่านเล่มนี้ทุกปี เขาบอกว่าบรรดาหนังสือในกรุของเขาหลายๆ เล่มก็มีเนื้อเรื่องและใจความคล้ายกัน แต่สิ่งที่ทำให้ The Laws of Success เป็นเพื่อนคนสำคัญกว่าคนอื่น ก็คือการเล่าที่ละเมียดละไม และความตรงไปตรงมาของภาษาที่ดันไปตรงใจตรงจริตของเขาพอดิบพอดี
ไหนๆ ก็พูดถึงเล่มที่ชอบ ภาษาที่ใช่กันแล้ว เราเลยชวนถามไปถึงแนวหนังสือที่ชอบกันบ้าง ซึ่งเหมือนว่าจะเป็นคำถามสุดหินสำหรับเขาพอตัว เพราะก๊อตคิดอยู่สักพัก ก่อนจะตอบมาสั้นๆ ว่า
“พูดยากอะ”
ก๊อตอธิบายว่าจุดประสงค์ในการอ่านหนังสือแต่ละเล่มของเขาไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่นถ้าอ่านแนวพัฒนาตนเอง นั่นแปลว่ากำลังต้องการตัวช่วยในการแก้ปัญหา ต้องการหลักคิด ถ้าอ่านวรรณกรรม ก็เพราะต้องการจินตนาการและความบันเทิง หรือไม่ก็เพื่อต่อยอดการคิดงาน ถ้าอ่านประวัติศาสตร์ บางทีก็เพื่อที่จะได้รู้ว่ามนุษย์เราผ่านมาได้ด้วยอะไรบ้าง ดังนั้นเขาจึงไม่สามารถตอบได้แน่ชัดว่าชอบแนวไหนเป็นพิเศษ
“งั้นเอาเป็นแนวที่อ่านอยู่ช่วงนี้ก็ได้ค่ะ”
“ช่วงนี้เหรอ…”
เขาทวนคำถาม เขาทำท่าคิด และเรามีความหวัง…
“ก็พูดยากอีกอะ”
อ้าว…
แต่พอได้รับคำอธิบาย เราถึงได้เข้าใจที่ก๊อตบอกว่ามันพูดยาก เพราะเขาเป็นคนที่อ่านหนังสือพร้อมกันสามเล่ม เช้าเล่มหนึ่ง กลางคืนเล่มหนึ่ง และตอนไปออกกองก็พกอีกเล่มหนึ่ง
เห็นอย่างนั้นเราก็เลยเปลี่ยนใจ หันมาอยากรู้ว่าหนังสือสามเวลาของก๊อตตอนนี้คือเล่มไหนแทน
“ตอนเช้ายังอ่านเล่มเดิมอยู่ The Laws of Success เช้าๆ สบายๆ”
“ของรอบปีนี้ใช่ไหม”
“ใช่ (หัวเราะ) ช่วงกลางคืนจะอ่าน The Greatest Salesman in the World”
เล่มเดียวสำหรับอ่านยามดึกที่ว่านั้นเป็นหนังสือของ อ็อก แมนดิโน (Og Mandino) ว่าด้วยเรื่องราวของฮาฟิด เด็กชายเลี้ยงอูฐที่เปลี่ยนตัวเองเป็นยอดนักขายผู้เก่งกาจ
ส่วนเล่มกลางวันที่จะติดกระเป๋าไปกองถ่ายนั้น ก๊อตไม่ได้มีเพียงแค่เล่มเดียว แต่เป็นการสลับสับเปลี่ยนกันไป แล้วแต่ว่าในวันนั้นเขารู้สึกอยากจะอ่านอะไรมากกว่า
“บางวันก็เป็นหนังสือของอาจารย์ติช นัท ฮันห์ (Thich Nhat Hanh) บางวันก็ของโอโช (Osho) บางวันก็ของดาไล ลามะ (Dalai Lama) แล้วแต่ ก็เปิดตู้แล้วหยิบเลย”
ก๊อตยังบอกอีกว่าโดยปกติเวลาอยู่กองถ่าย ระหว่างรอเข้าฉาก รออาหาร และอีกสารพัดการรอ เขาจะมีหนังสือที่หยิบติดไปจากบ้านเหล่านี้นี่แหละเป็นเพื่อนแก้เหงาเสมอ
และด้วยความที่ได้ยินชื่อนักเขียนหลุดจากปากของเขามาหลายคน เราเลยถือโอกาสถามเรื่องนักเขียนในดวงใจของเขาเสียเลย
“ส่วนใหญ่เป็นหนังสือแปล อย่างของ เปาโล คูเอลญู (Paulo Coelho) ก็ดี หรืออ็อก แมนดิโน นี่ก็ชอบ แล้วก็โกวเล้ง
“อย่างภาษาของโกวเล้ง หนึ่งบรรทัดมันเล่าภาพได้ ซึ่งเราชอบอะไรแบบนี้มาก อย่างเช่น ‘ปรายตามองไป ใครก็รู้ว่าเขาไม่พอใจโลกทั้งใบ’ หรือ ‘หิมะที่ขาวโพลนกับเลือดที่แดงฉาน’ มันเห็นภาพ”
ก๊อตเล่าต่อไปว่าหลักการเลือกหนังสือเข้าชั้นของเขานั้นง่ายมาก ก็คือเลือกเล่มที่ถูกจริต และข้อดีคือเขาเป็นคนที่รู้ความชอบและสิ่งที่ตัวเองต้องการอย่างแน่ชัด บางช่วงที่อยากแต่งบ้าน ก๊อตก็จะซื้อหนังสือเกี่ยวกับอินทีเรียดีไซน์ หรือบางช่วงที่อยากปลูกต้นไม้ก็จะซื้อหนังสือต้นไม้มาศึกษา แล้วแต่ว่าช่วงนั้นเขาอยากจะทำอะไร
“แต่หนังสือที่จะไม่ซื้อเข้าบ้านเลยคือเรื่องดวง”
ก๊อตบอกแบบนั้น เพราะส่วนตัวเขาไม่เชื่ออะไรที่ไม่มีเหตุผล แต่ก็มีข้อยกเว้นพ่วงติดท้ายอยู่หนึ่งประการ คือถ้าเมื่อไหร่ได้มีโอกาสรับเล่นบทที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดวง เมื่อนั้นเขาถึงจะซื้อมาอ่าน ด้วยเหตุผลที่ว่า
“อ่านให้รู้ว่าคนที่เชื่อเขาคิดกันยังไง”
Chapter 3
เพื่อนคู่คิด
จากคำตอบเรื่องหนังสือแต่งบ้าน หนังสือปลูกต้นไม้ และหนังสือดูดวง ทำให้เราสังเกตได้ว่าก๊อตเป็นคนประเภทที่หาความรู้จากการอ่านหนังสือมากกว่าจะหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต
ต้องยอมรับว่าเราค่อนข้างจะแปลกใจอยู่นิดหน่อยกับการหาข้อมูลจากหน้ากระดาษแบบสุดแอนะล็อกของเขา ในยุคสมัยที่ปลายนิ้วสามารถหาทุกอย่างได้ง่ายๆ เช่นนี้
“อินเทอร์เน็ตมันเป็นอาหารชิมฟรี เวลาไปห้างสรรพสินค้าแล้วมีคนเอาไส้กรอกให้เราชิม เราก็ชิม อร่อยนะ แต่ไม่อิ่ม ไม่เหมือนหนังสือ หนังสือคือกะเพราเนื้อทั้งจาน มันจบ มันอิ่ม”
และการจะกินให้ครบโภชนาการ ก็ต้องกินอาหารให้ครบทุกหมู่
เพราะฉะนั้น ต่อให้เป็นหนังสือที่พูดในเรื่องเดียวกัน ก๊อตก็จะพยายามอ่านจากหลายๆ เล่ม เขายกตัวอย่างเรื่องเกี่ยวกับสติปัฏฐาน 4 ที่เจ้าตัวหาอ่านตั้งแต่หนังสือฝั่งทิเบต ฝั่งไทย ฝั่งอินเดีย ไปจนถึงฝั่งที่คนอเมริกันเขียน ซึ่งก๊อตบอกว่าในแต่ละเล่ม ข้อความและใจความอาจจะเหมือนกัน แต่สำเนียงไม่ใช่
“สำเนียงที่ต่างมุมจะเป็นตัวสะกิดให้เราคิดได้ เหมือนเรานั่งทับอะไรสักอย่างอยู่แล้วนั่งไม่สบาย ถ้าเราคิดได้ว่าต้องกระเถิบตัวออก แค่เสี้ยวเดียวก็สบายแล้ว ไอ้เสี้ยวเดียวนั้นแหละที่พลิกชีวิตเรา”
จริงอยู่ที่การได้มาซึ่งความรู้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การอ่าน ความรู้อาจเกิดได้จากการฟัง การเฝ้าสังเกต หรือวิธีอะไรต่างๆ อีกร้อยแปดพันเก้า แต่สำหรับก๊อต การอ่านเป็นอะไรที่เขาให้ความสนใจมากที่สุด และเหตุผลก็มีอยู่ข้อเดียว
เพราะเขาเคยเขียนหนังสือ
“เราเลยรู้ว่ากว่าคนจะเขียนหนังสือได้เล่มนึงไม่ใช่เรื่องง่าย มันต้องผ่านการขบคิดเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ มานานมาก เพราะฉะนั้นงานเขียนทุกเล่มจึงเป็นของประณีต ความตั้งใจ ความจดจ่อในการทำหนังสือออกมาสักเล่มนึง มันคู่ควรกับการนั่งอ่าน”
และด้วยความที่มองว่าหนังสือคือของประณีต ก๊อตจึงไม่เคยนึกเสียดายราคาที่ต้องจ่ายสำหรับการซื้อหนังสือสักเล่มมาครอบครอง
“เรากันเงินไว้สำหรับการซื้อหนังสือโดยเฉพาะเลย ทุกรายได้จะหักห้าเปอร์เซ็นต์แยกบัญชีไว้”
“จริงไหมเนี่ย”
ก๊อตไม่ตอบอะไร แต่เดินไปหยิบสมุดบัญชีที่มีโพสต์-อิทเขียนแปะไว้ว่า การศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติม ขึ้นมาให้ดูเป็นหลักฐาน พร้อมอธิบายว่าเขาเริ่มแบ่งบัญชีสำหรับการเรียนรู้มาตั้งแต่หกปีก่อน ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การซื้อหนังสือ ไปจนถึงเรียนกีตาร์ เรียนเปียโน เรียนมาสเตอร์คลาส และอะไรก็ตามที่เขาสนใจ
แน่นอน วิธีการแบ่งบัญชีเพื่อซื้อหนังสือ ก๊อตก็ได้มาจากการอ่านหนังสืออีกเช่นเดียวกัน
Chapter 4
เพื่อนที่ทำงาน
แม้แต่ในด้านการแสดง นอกเหนือจากคลาสเรียนวิชาแอ็กติ้งแล้ว ก๊อตก็ไม่พ้นต้องมีหนังสือเป็นแหล่งความรู้สำคัญอีกหนึ่งทาง
“เล่มที่ชอบที่สุดคือ The Art of Acting ของ สเตลล่า แอดเลอร์ (Stella Adler) แล้วก็ Directing Actors กับ The Film Director’s Intuition ของ จูดิธ เวสตัน (Judith Weston) ถ้าของคนไทยคือ แอคชั่น แอนด์ คัท ของอาจารย์นิวัฒน์ ศรีสัมมาชีพ ซึ่งเป็นครูสอนการแสดงของเรา”
ก๊อตตอบแบบยิงยาวรวดเดียวจบเหมือนสนิทสนมคุ้นเคยกับหนังสือพวกนี้มานาน ให้เหตุผลว่าที่ต้องทำแบบนั้น เพราะบางครั้งเวลาเรียนการแสดงก็ไม่ได้แปลว่าจะเข้าใจมันได้ทั้งหมด ฉะนั้นเขาจึงต้องกลับมาอ่านหนังสือต่อ
และนิสัยการอ่านแบบกินอาหารให้ครบทุกหมู่ของก๊อตก็ติดตัวมาถึงตรงนี้
“อย่างสเตลล่า แอดเลอร์ เป็นลูกศิษย์ของ คอนสแตนติน สตานิสลาฟสกี้ (Konstantin Stanislavski) เราก็เลยต้องอ่านของสตานิสลาฟสกี้ด้วย จะได้รู้ว่าเขาคิดยังไง ในขณะเดียวกัน ลูกศิษย์เด่นๆ สามคนของสตานิสลาฟสกี้ ซึ่งมีแซนฟอร์ด ไมส์เนอร์ (Sanford Meisner) ลี สตราสเบิร์ก (Lee Strasberg) กับสเตลล่า แอดเลอร์ เราก็ต้องอ่านของทั้งสามคนว่ามันต่างกันยังไง
“เพราะมันไม่มีวิธีไหนดีที่สุดหรือถูกต้องที่สุด สำหรับเราทฤษฎีเป็นเหมือนอุปกรณ์งานไม้ บางทฤษฎีเป็นสิ่ว บางอันเป็นค้อน บางอันเป็นตะปู”
เขาเปรียบเทียบให้เราเห็นภาพอย่างที่ชอบทำ
“แต่บางงานเราไม่ต้องใช้ตะปู หรือบางงานเราไม่ต้องใช้สิ่วก็ได้นี่ เราเรียนทฤษฎีให้รู้ว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่เรียกว่าอะไร คืออะไร ทำไปทำไม แนวคิดคนนี้ว่าไว้ยังไง คนนั้นว่าไว้ยังไง แล้วเอามาฝึกใช้ สุดท้ายมันคือการลองผิดลองถูก”
ก๊อตพูดคำว่าลองผิดลองถูกอยู่หลายครั้งตอนที่เราคุยกันเรื่องการแสดง เป็นเพราะในหลายหน บทที่ได้รับมานั้นเป็นตัวละครแบบที่เขาไม่เคยรู้จักหรือสัมผัสประสบการณ์มาก่อน เขาจึงต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ และลองผิดลองถูกในการปั้นตัวละครขึ้นมาให้มีชีวิต
“ต้องเข้าใจก่อนว่าตัวละครคือจินตนาการ เพราะฉะนั้นเราจะไม่มีทางรู้เลยว่าตัวละครนี้มันมีนิสัยยังไง มันไม่ได้เดินมาบอกเราว่ามันเป็นคนอย่างนั้นนะ มีแต่เราที่คิดเอาเองว่ามันน่าจะเป็นคนแบบไหน เราต่างหากคือคนกำหนดมัน
“ก๊อต จิรายุจะเป็นคนหาว่าตัวละครนี้เป็นคนยังไง แต่เวลาที่เล่นต้องไม่มีก๊อต จิรายุนะ มันคนละเรื่องกัน แต่ในกระบวนการคิด ตอนหากระดูกสันหลังของตัวละครที่ได้รับมา ก๊อตต้องเป็นคนหา”
“แล้วก๊อต จิรายุคนนี้หาจากอะไร” เราถาม
“ต้องให้สคริปต์เป็นคนบอก อย่าง กระเช้าสีดา อ่านครั้งแรกเราจะอ่านออกเสียง เพื่อที่จะหาว่าอันนี้น่ารักดี อันนี้ตลก หาความประทับใจทั้งหมดไว้ก่อนว่าเราคิดยังไง หรือมีความเห็นยังไงกับบทที่เราได้รับ รอบสองคือหาสายสัมพันธ์ของตัวละครว่ามีความสัมพันธ์ยังไงกับตัวละครตัวอื่น แล้วพออ่านไปๆ ก็จะยิ่งเจอความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งขึ้น เราก็จะเริ่มตั้งได้แล้วว่าคนคนนี้เป็นประมาณไหน”
ในการอ่านแต่ละรอบ ก๊อตจะค่อยๆ กะเทาะความเป็นตัวตนของบทที่ได้รับมาทีละน้อย ความสัมพันธ์ ความคิด จุดประสงค์ของตัวละคร ไปจนถึงอิริยาบถเล็กๆ น้อยๆ ที่จะทำให้ตัวละครของเขามีเอกลักษณ์
เขาเล่าว่าส่วนใหญ่จะอ่านบทอย่างน้อย 12 รอบ เพื่อหารายละเอียดในบทออกมาให้ได้มากที่สุด จะมีที่นอกเหนือจากการอ่านอยู่สักหน่อยคือตอนเล่นภาพยนตร์เรื่อง คืนยุติ-ธรรม ก๊อตเลือกใช้วิธีการขังตัวเองและกินนอนอยู่ในห้องน้ำแคบๆ มาช่วยให้เข้าใจความรู้สึกของตัวละครเสริมอีกทาง
“คือการจะเข็นรถให้เลื่อนไปข้างหน้า มันก็ไม่ได้กำหนดท่าทางว่าต้องดันท่าไหน จุดประสงค์คือรถต้องเคลื่อนตัว ใช่ไหมล่ะ”
เขาทิ้งท้ายยิ้ม ๆ
Chapter 5
เพื่อนที่เติบโตไปด้วยกัน
หลังจากพูดคุยเรื่องหนังสือกันมาได้พักใหญ่ ก๊อตก็คว้าโทรศัพท์พาเราเดินออกจากประตูไปสู่ห้องสมุดขนาดย่อมของเขา
ในตู้ไม้ขนาดใหญ่สองตู้มีหนังสือเรียงราย ตู้ด้านซ้ายบรรจุด้วยหนังสือปรัชญา ธรรมะ และหนังสือการแสดงที่เขาพูดถึงเมื่อครู่ ส่วนอีกตู้ทางด้านขวา ก๊อตบอกว่ายังไม่มีเวลาจัดให้เสร็จ ซึ่งเราเดาเอาเองจากการมองผ่านๆ ว่าน่าจะเป็นพวกหนังสือวรรณกรรมแปลที่เขาบอกว่าชอบ
“เวลาอ่านนิยาย เคยเอาตัวเองใส่ลงไปในตัวละครไหมคะ” เราอดไม่ได้ที่จะถาม
“โอ๊ย ประจำ” เขาตอบแบบไม่ต้องคิด
“เวลาอ่านการ์ตูน เราก็คิดว่าถ้าเป็นเราคงจะฟันดาบแบบนี้ๆ คือเราเล่นเป็นเด็กๆ เลยอะ เล่นแบบ ชุ้งชิ้งๆ”
ว่าแล้วก๊อตก็ทำเสียงเอฟเฟกต์ชุ้งชิ้ง แล้วใช้มือสองข้างเล่นบทชายหนุ่มขี่ม้าหนีผู้ร้าย ซึ่งในตอนท้ายทั้งคู่กระโดดลงมาใส่หมัดกันแบบฝุ่นตลบให้เราดูแบบสดๆ หนึ่งซีน
บอกตามตรงว่าสนุกดีเหมือนกัน
“เราทำงานกับจินตนาการ ไม่ใช้จินตนาการไม่ได้หรอก” ก๊อตว่าหลังจากซีนต่อสู้สิ้นสุดลง
“เพราะงานที่ทำอยู่เป็นเรื่องของจินตนาการ บทก็มาจากจินตนาการ ช็อตก็มาจากจินตนาการ วิธีทุกอย่างมาจากจินตนาการหมด เพราะงั้นจินตนาการเป็นอะไรที่สำคัญมาก”
“แล้วมีเล่มไหนที่อ่านแล้วรู้สึกว่า อยากเล่นโว้ย! บ้างไหม”
“เยอะแยะเลย โป้วอั้งเสาะ บุรุษขาเป๋ที่ดาบไวที่สุดในปฐพีของโกวเล้งก็อยากเล่น ในหนังสือ (จอมดาบหิมะแดง) บอกว่า ‘ยังมิทันปรายตา ปลายดาบก็จ่อที่คอหอยเสียแล้ว’ แล้วเราเห็นเป็นภาพแบบ ชวิ้งงงงงงง”
อีกหนึ่งซาวนด์เอฟเฟกต์ เชื่อแล้วว่าเล่นเป็นเด็กจริงๆ
“คุณดูจะชอบนิยายจีนๆ กำลังภายในเป็นพิเศษ”
“ก็โตมากับอะไรแบบนี้ไง” เขายอมรับ
ความหลงใหลวรรณกรรมต่อสู้สไตล์จีนยังคงฝังรากลึกอยู่ในรสนิยม พอๆ กับที่นิสัยการเลือกหนังสือของก๊อตเองก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนไปสักเท่าไหร่จากการบอกเล่าของเจ้าตัว
“ก็ยังคงอยู่ในคอนเซปต์ของสิ่งที่ชอบอยู่นะ เน้นอ่านเล่มที่จะเป็นประโยชน์ บางวันอ่านเรื่องการผสมพันธุ์ของยีราฟ บางวันอ่านเรื่องโครงสร้างใต้ดิน เรื่องการแชร์อาหารของรากต้นไม้”
ร…แรนด้อม
“เออ บางทีเราก็งงว่ากูอ่านทำไมวะเนี่ย (หัวเราะ) อ้อ! ถ้าจะมีอีกอย่างที่เปลี่ยนไปก็คือทำ audiobook”
คุณอ่านไม่ผิด เขา ‘ทำ’ audiobook
ก๊อตบอกเราว่าเขาใช้เงินจากบัญชีที่แบ่งเอาไว้สำหรับซื้อหนังสือนี่แหละในการจ้างทำหนังสือเสียง เท่ากับว่าหนังสือเกือบทุกเล่มที่เขามีอยู่ในตู้ จะมีแบบเสียงพร้อมฟังเก็บไว้ด้วย
“เพราะช่วงหลังๆ มานี้เราจดจ่ออยู่กับงานหลายตัว พอกลับบ้านมาก็เลยอยากพักมากกว่า แล้วการฟังมันเป็นอะไรที่ง่ายที่สุด เสียบหูฟัง ตอนไหนอยากอ่านเราก็เสียบฟังเลย ซึ่งไม่ได้เอาไปเผยแพร่ที่ไหนนะ ฟังตอนปั่นจักรยาน ตอนเข้าห้องน้ำ ฟังได้ตลอด”
นอกจากรูปแบบการรับสารผ่านหนังสือของเขาจะถูกดัดแปลงให้เข้ากับลักษณะการใช้ชีวิตแล้ว ยังมีอีกอย่างเกี่ยวกับตัวเขาที่เปลี่ยนไป
นั่นคือทัศนคติและมุมมองที่มีในฐานะนักแสดง
“ตอนแรกเราเป็นพวกครูพักลักจำ ความรู้ที่ได้ก็จะค่อนข้างสะเปะสะปะ จนมาเริ่มเรียนทฤษฎี เราก็เป็นแบบ ต้องทำอย่างนี้นะ ขั้นตอนต้องตามนี้ แต่สุดท้ายเราก็มาพบว่าแต่ละคนมีวิธีปรับใช้ไม่เหมือนกัน
“ตอนนี้เลยเป็นเด็ก ไม่รู้เหมือนกันว่าคืออะไร แต่พยายามทำให้การทำงานมันง่ายและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด มันก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ แหละ ก็โตขึ้นเรื่อยๆ”
เปลี่ยนไปเรื่อยๆ
ทั้งด้านการเสพความรู้ผ่านการอ่านที่เปลี่ยนผ่านมาเป็นการฟัง และความรู้ความเข้าใจที่เปลี่ยนไปในสาขาวิชาชีพ
โตขึ้นเรื่อยๆ
จากเด็กที่เคยขยาดการอ่านจนเข้าขั้นเกลียด กลายเป็นคนที่ต้องมีหนังสือติดตัวไว้อ่านและฟังเกือบตลอดเวลา
เราก็เลยอยากให้ก๊อตฝากคำแนะนำให้คนที่อยากจะเริ่มต้นอ่านหนังสือ คนที่ไม่รู้จะอ่านอะไร และคนที่อยากจะลองสร้างความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ด้วยการอ่านบ้าง
“ชอบอะไรล่ะ” ก๊อตตอบขึ้นก่อนที่เราจะทันพูดจบประโยคคำถาม “ชอบอะไรก็ไปหาอ่านที่ชอบเลย ให้มองว่าการอ่านเป็นสิ่งที่เพิ่มเติมความรู้ จะได้—เออ—นั่นแหละ ไม่อ่านที่ชอบจะไปอ่านอะไร”
สำหรับก๊อต แก่นของการอ่านก็มีแค่นั้น
ก็แค่ชอบ
เมื่อก๊อตบอกแบบนั้น เราเลยขอให้เขาลองแนะนำเพื่อนดีๆ ที่เขา ชอบ เป็นตัวอย่างสักสามสี่คน
แน่นอนว่าก๊อตต้องแนะนำเพื่อนสนิทคนพิเศษ The Laws of Success ที่พูดถึงหลักปรัชญาแห่งความสำเร็จทั้ง 17 ข้อเป็นเล่มแรก
“แต่สำหรับเด็กน่าจะค่อนข้างอ่านยาก…”
ว่าแล้วก๊อตจึงหันมาแนะนำหนังสือหมวดวรรณกรรมแทน โดยเล่มที่เขาเลือก คือนวนิยายผจญภัยอย่าง ขุมทรัพย์สุดปลายฝัน (The Alchemist) ผลงานชิ้นเอกของเปาโล คูเอลญู ว่าด้วยการเดินทางตามหาขุมทรัพย์ในพีระมิดที่แดนอียิปต์ของเด็กหนุ่มเลี้ยงแกะ
และเล่มสุดท้าย ก๊อตแนะนำวรรณกรรมคลาสสิกอย่าง โจนาธาน ลิฟวิงสตัน นางนวล (Jonathan Livingston Seagull) ของ ริชาร์ด บาค (Richard Bach) เล่าเรื่องราวของโจนาธาน นกแหกคอกที่มองว่าชีวิตไม่ได้มีแค่บินไปมาและรอกินปลาจากเรือประมง
ซึ่งจากสีหน้าท่าทางแล้ว ก๊อตดูจะอยากแนะนำเพื่อนเล่มหลังสุดนี้เป็นพิเศษ โดยเฉพาะกับนักอ่านวัยเยาว์ ที่เขาให้คำนิยมสั้นๆ ไว้ว่า “ถ้าอ่านเล่มนี้นะ ความคิดคงจะแบบ โอ้มายก้อด
“อย่างที่บอกว่าหนังสือมันจะสะกิด บางครั้งไม่ได้สะกิดให้เกิดปัญญาทันที แต่สะกิดให้เราคิดต่อ แล้วถ้าเราให้หนังสือเป็นเพื่อน เราก็จะโดนสะกิดอยู่ตลอด
“ถึงจุดหนึ่ง ตัวเราจะดึงดูดหนังสือที่เหมาะสมกับเราเข้ามาเองนั่นแหละ”
ก๊อตทิ้งเป็นประโยคสุดท้ายก่อนที่เราจะบอกลา
เวลาบ่ายสองกว่าๆ เราพับหน้าจอคอมพิวเตอร์ลง ยืดตัวตรงคลายความเมื่อยจากบทสนทนาที่อัดแน่น ตั้งใจว่าจะไปหาชาดื่มสักถ้วย ระหว่างทางอาจจะแวะชั้นหนังสือของตัวเอง แล้วหยิบเล่มที่ชอบขึ้นมาปัดฝุ่นอ่านใหม่อีกสักครั้งดูบ้าง
ก็อย่างที่ก๊อตบอก
ถ้าไม่อ่านสิ่งที่ชอบ แล้วจะให้ไปอ่านอะไร