Wed 14 Oct 2020

FROM PAGES TO THE ROAD

เมื่อหน้ากระดาษพาเธอ/เขาลงถนนใน 14 ตุลาคม 2516

ภาพ: NJORVKS

“เมื่อยืนหยัดต่อสู้ผู้กดขี่ ประชาชนย่อมมีชีวิตใหม่

เมื่อท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนย่อมเป็นใหญ่ในแผ่นดิน”

— วิสา คัญทัพ

จากบทกวี สิบสี่ตุลา

     วันเดียวกันนี้เมื่อ 47 ปีที่แล้ว สังคมไทยยังตกอยู่ภายใต้รัฐบาลทหาร นำโดยสามบิ๊กแห่งกองทัพบก พล.อ. ถนอม กิตติขจร, พล.อ. ประภาส จารุเสถียร และ พ.อ. ณรงค์ กิตติขจร ซึ่งสืบทอดอำนาจจากจอมพล สฤษฏิ์ ธนะรัชต์ มาอีกทอดหนึ่ง

     ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ปี 2500-2516 สังคมไทยมีสภาพไม่ต่างจากโลกดิสโทเปียเหมือนในหนังสือ 1984 ของ จอร์จ ออเวลล์ (George Orwell) ซึ่งเต็มไปด้วยการกดขี่เสรีภาพในการคิดและแสดงออก การควบคุมสื่อมวลชน และการกวาดล้างงานของนักคิด นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ในช่วงสมัยก่อนอย่างราบคาบ ราวกับต้องการลบความทรงจำบางส่วนของสังคมไทยให้ว่างเปล่า 

     ขณะที่นอกประเทศไทย บริบทยุค 60s ดำเนินเคียงคู่กันไปกับระเบียบโลกยุคสงครามเย็น ภัยจากคอมมิวนิสต์ถูกใช้เป็นข้ออ้างในการส่งทหารเข้าไปแทรกแซงกิจการในต่างแดน โดยเฉพาะในเวียดนาม ที่สหรัฐฯ มองว่าเป็นโดมิโนชิ้นสุดท้ายที่จะล้มไม่ได้ มิฉะนั้น ภูมิภาคอาเซียนทั้งหมดอาจถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นคอมมิวนิสต์

     ผู้นำรัฐบาลทหารไทยในขณะนั้นก็เลือกชัดเจนว่าจะยืนข้างโลกเสรี เห็นชอบที่จะส่งทหารเข้าร่วมรบสงครามอินโดจีนในดินแดนที่ห่างไกล และยอมให้กองทัพสหรัฐฯ ใช้สนามบินอู่ตะเภาส่งกองบินเหินฟ้าสู่เวียดนาม

     ช่วงปลายยุค 60s หรือตั้งแต่ช่วงปี 2510 กระแสต่อต้านสงครามที่เริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ ได้ไหลรวมกับอุดมการณ์ชาตินิยมของกลุ่มนักศึกษา นำไปสู่การเดินขบวนต่อต้านสหรัฐฯ ปฏิเสธสินค้าจากญี่ปุ่น และขับไล่สามขุนศึก ถนอม-ประภาส-ณรงค์ จนเกิดเป็นเหตุการณ์ที่นำไปสู่วันมหาวิปโยค—14 ตุลาคม 2516

     แต่เบื้องหลังเหตุการณ์ย่อมมีความคิดชี้นำ โดยส่วนหนึ่งก็มาจาก ‘วัฒนธรรมการอ่านและเขียน’ ที่พาสังคมไทยออกจากยุคสมัยรัฐบาลทหารซึ่งสืบเนื่องยาวนานถึง 16 ปี

สังคมศาสตร์ปริทัศน์ 

หอกข้างแคร่ของสงครามเวียดนาม

     หลายคนอาจคุ้นชื่อของ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ในฐานะปัญญาชนฝ่ายอนุรักษนิยมหัวก้าวหน้า ซึ่งมักออกมาพูดเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์สม่ำเสมอ แต่ถ้าเราย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษ 2500 เขาคือบรรณาธิการคนแรกของวารสาร สังคมศาสตร์ปริทัศน์ วารสารที่ตีพิมพ์ทุกสามเดือน และมีอิทธิพลต่อเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ชนิดที่บางคนเปรียบว่า ‘ถ้าไม่มี สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ก็ไม่มี 14 ตุลา’

     สุลักษณ์ หรือ ส. ศิวรักษ์ เติบโตมาในครอบครัวชนชั้นกลาง เข้าเรียนในระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษาที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ก่อนได้ทุนไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษในสาขาประวัติศาสตร์และปรัชญา 

     ช่วงที่เขากลับมา เป็นเวลาเดียวกับที่สหรัฐฯ กำลังต่อสู้กับภัยคอมมิวนิสต์ในเวียดนามอย่างเข้มข้น และด้วยความหวาดกลัวในทฤษฎีโดมิโน (Domino Theory) ทำให้สหรัฐฯ ทุ่มงบประมาณจำนวนหนึ่งให้แก่สมาคมสังคมศาสตร์ เพื่อนำไปตีพิมพ์วารสารที่เผยแพร่แนวคิดแบบประชาธิปไตย

     ด้วยแรงสนับสนุนจากสหรัฐฯ บวกกับคอนเนกชั่นส่วนตัวกับผู้มีอำนาจในเวลานั้น ทำให้ ส. ศิวรักษ์ ฝ่าฝนและลูกเห็บของการกดทับเสรีภาพสื่อในสมัยจอมพล สฤษฏิ์ ธนะรัชต์ จนกลายเป็นบรรณาธิการผู้คลอดวารสาร สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับปฐมฤกษ์ออกมาในเดือนมิถุนายน ปี 2506

     คุณูปการที่สำคัญของ ส. ศิวรักษ์ อีกประการหนึ่งคือ เขามองเห็นคุณค่าของคนรุ่นใหม่ และชวนให้กลุ่มนักศึกษามาร่วมจัดทำ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับนิสิตนักศึกษา (2509-2514) ซึ่งกลายเป็นเวทีสำคัญที่นักศึกษาใช้เผยแพร่ความคิด และยังขยายกลุ่มผู้อ่านวารสารเข้าไปในรั้วมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ยังทำให้ปัญญาชนและนักศึกษาด้วยกันเอง ได้พบปะแลกเปลี่ยนความคิด รวมถึงโต้เถียง จนเกิดเป็นเครือข่ายโยงใยทางความคิดด้วย 

     เมื่อสุลักษณ์วางมือจากตำแหน่งบรรณาธิการ (ย้ายค่ายไป วิทยาสารปริทัศน์ ตีพิมพ์ฉบับแรกปี 2513) สุชาติ สวัสดิ์ศรี ซึ่งในขณะนั้นอายุเพียง 25 ปี ก็ได้เข้ามากุมบังเหียนวารสารฉบับนี้ การเข้ามาของสุชาติยิ่งทำให้งานเขียนของนักศึกษาและกลุ่มนักเรียนนอกรุ่นราวคราวเดียวกับเขา อาทิ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, สุรพงษ์ ชัยนาม, ชัยอนันต์ สมุทวณิช ตลอดจน ไมตรี อึ๊งภากรณ์ เข้ามามีบทบาทต่อความคิดผู้คนมากขึ้น 

     นอกจากนี้ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ยังส่งออกบรรณาธิการและนักเขียนมีฝีมือหลายคนไปยังสื่อสิ่งพิมพ์อื่นๆ ทั้งในวารสารสายสังคมศาสตร์ อาทิ พิภพ ธงไชย (ปาจารยสาร) หรือสายวรรณกรรมอย่าง พิรุณ ฉัตรวนิชกุล (วรรณกรรมเพื่อชีวิต

     มาถึงตรงนี้ ขอย้อนกลับไปเล่าถึง ส. ศิวรักษ์ และความเปลี่ยนแปลงทางความคิดของเขา ต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และไทย อันทำให้ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ในช่วงหลังปี 2510 เป็นหอกข้างแคร่ของสงครามอินโดจีน รวมไปถึงสหรัฐฯ

     แรกเริ่มเดิมที ส. ศิวรักษ์ ไม่ได้สนใจประเด็นนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ เท่าไหร่ แต่หลังจากที่เขาเดินทางไปร่วมประชุม ‘The United States, Its Problem, Its Image and Its Impact in the World’ และได้พบปะกับปัญญาชนฝั่งตะวันตกหลายคน ความคิดของเขาก็ค่อยๆ ถูกฟูมฟักและพัฒนาไปในทิศทางต่อต้านสงครามมากขึ้น 

     ครั้งหนึ่ง ส. ศิวรักษ์ ได้ติดต่อไปยังเพื่อนชาวต่างชาติ เพื่อขอต้นฉบับคำปราศรัยของสมาชิกวุฒิสภา วิลเลียม ฟุลไบรท์ (William Fulbright) ซี่งมีเนื้อหาต่อต้านสงครามในเวียดนาม ก่อนนำมาแปลและเผยแพร่ลง สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับเดือนธันวาคม 2509-กุมภาพันธ์ 2510 พร้อมจั่วหัวว่า Congressional Record เพื่อตอกย้ำความสมจริงของแหล่งที่มา ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากนักอ่านจำนวนมาก

     นอกจากนี้ ส. ศิวรักษ์ ยังได้นำถ้อยคำจากสุนทรพจน์ของเขาในงานประชุมดังกล่าว มาใส่ลงในบทความ สหรัฐฯ กับนโยบายต่างประเทศ ว่า 

     “…ท่านจะยังบัดซบต่อไปในการทุ่มเทกำลังคนและกำลังเงินไปอย่างสาดเสียเทเสียเช่นนี้เรื่อยๆ ละหรือ ไม่ใช่ทุ่มไปเพื่อสงครามเท่านั้น หากยังใช้ไปในการเตรียมสงครามปีละมากๆ เหลือคณานับ”  

     ส. ศิวรักษ์ ยังถือว่ามีอิทธิพลในการผลิตวาทกรรม ‘จักรวรรดินิยมอเมริกา’ ซึ่งถูกใช้ในหมู่ปัญญาชนและนักศึกษา โดยมีข้อความบางตอนที่เขาพูดถึงสหรัฐฯ ว่า 

     “ผู้ที่หาว่าสหรัฐฯ ตั้งจักรวรรดินิยมนั้น ไม่ได้มีแต่ศัตรูเท่านั้น มิตรก็เริ่มกล่าววาจาเช่นนี้กันบ้างแล้ว ทั้งนี้เพราะต่างก็พากันรู้สึกว่าแต่ละประเทศเป็นบริวารของท่าน (สหรัฐฯ) มากกว่าเป็นมิตร”

     วาทกรรมจักรวรรดินิยมอเมริกาถูกใช้ล้อไปกับวาทกรรมจักรวรรดินิยมคอมมิวนิสต์ของรัฐบาลทหารไทยในขณะนั้น ซึ่งถือหางสหรัฐฯ อยู่ ดั่งเช่นที่ ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศในยุคนั้นเคยประณามคอมมิวนิสต์ว่า จักรวรรดินิยมคอมมิวนิสต์เปรียบดั่งเชื้อมะเร็งที่แพร่เข้าไปเพื่อควบคุมประเทศต่างๆ 

     และถึงแม้ ส. ศิวรักษ์ จะลงจากตำแหน่งบรรณาธิการไปแล้ว แต่จนถึงช่วงก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ก็ยังตีพิมพ์เนื้อหาที่ต่อต้านจักรวรรดินิยมสหรัฐฯ โดยเฉพาะสงครามอินโดจีนอย่างสม่ำเสมอ และบทความในวารสารเล่มดังกล่าวยังถูกนำไปอ้างในงานเขียนของนักศึกษามากมาย โดยเฉพาะใน ‘หนังสือเล่มละบาท’

เมื่อไฟลามทุ่ง

จากวัฒนธรรมหนังสือเล่มละบาท

     พูดได้ว่าแรกเริ่ม ‘หนังสือเล่มละบาท’ เกิดขึ้นจากความว่างและอยากหาอะไรทำของนักศึกษาสมัยนั้น มากกว่าความต้องการจะแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นสังคม โดยเนื้อหาที่อยู่ในหนังสือเล่มละบาทบางเล่มมีทั้งบทกวี และความเรียง ที่เข้าทำนองคำว่า ‘สายลมแสงแดด’ หรืออาจแปลได้ว่าเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวอะไรกับประเด็นสังคมเลย

     วัฒนธรรมหนังสือเล่มละบาทแพร่ไปในทุกสถาบันการศึกษา จนเป็นเรื่องชินตาที่จะเห็นนักศึกษาหญิง-ชายตะโกนขายหนังสืออย่างคึกคะนองอยู่บริเวณหน้ามหาวิทยาลัย

     ต่อมาราวปี 2510 ควบคู่ไปกับบริบทการเมืองที่ตึงเครียด และอิทธิพลจากวารสารอย่าง สังคมศาสตร์ปริทัศน์ และ วิทยาสารปริทัศน์ นักศึกษาเริ่มต้องการพื้นที่ในการแสดงออกมากขึ้น หนังสือเล่มละบาทจึงกลายเป็นทางออก และเป็นอาวุธที่ทรงพลังในการเผยแพร่ความคิดของนักศึกษาและปัญญาชน

     ความเชื่อมโยงที่เห็นได้ชัดระหว่างวารสารทั้งสองฉบับกับหนังสือเล่มละบาทคือ บทความภายในหนังสือเล่มละบาทมักอ้างถึงงานเขียนจากวารสารทั้งสองฉบับ รวมถึงยังมีการขอบทความที่ลงในวารสารทั้งสองมาลง เพื่อเพิ่มความน่าอ่าน 

     นอกจากนี้ ยังมีหนังสือ ‘ภัยสามสี’ ซึ่งประกอบไปด้วย ภัยเขียว, ภัยขาว และ ภัยเหลือง ที่สะท้อนอิทธิพลจาก สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ทั้งในด้านเนื้อหา และความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างนักศึกษากับกองบรรณาธิการวารสารดังกล่าว

     ฉบับแรกสุดของซีรีส์คือ ภัยขาว จัดพิมพ์โดยกลุ่มนักศึกษาสภาหน้าโดมแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในช่วงต้นปี 2514 อันเป็นช่วงเวลาที่กระแสต่อต้านสหรัฐฯ กำลังเข้มข้น และสังคมไทยกำลังเชิดชูความเป็นชาตินิยมแรงขึ้นเรื่อยๆ  

     เนื้อหาหลักใน ภัยขาว แสดงความไม่เห็นด้วยกับการที่ไทยเข้าไปมีส่วนร่วมในสงครามในอินโดจีน และวิจารณ์ท่าทีของไทยต่อสหรัฐฯ ว่าไม่ต่างจากการถูกกลืนเป็นอาณานิคม ดั่งที่ผู้จัดทำสะท้อนแนวคิดชาตินิยมและต่อต้านสหรัฐฯ ไว้ตั้งแต่หน้าแรกว่า

     “เราไม่ต้องการให้ไทยลดศักดิ์ศรีไปพึ่งชาวต่างชาติ เราตระหนักถึงภัยจากชาวต่างชาติ ทั้งภัยขาวและภัยเหลือง เราไม่ต้องการเห็นชาวต่างชาติเข้ามาตักตวงผลประโยชน์ ทรัพยากร และวัตถุดิบของเรา เราถือว่าความเป็น ‘ไท’ สำคัญกว่าการพัฒนาด้านอื่น”

     หนังสือเล่มดังกล่าวตีพิมพ์ครั้งแรกจำนวน 1,000 เล่ม แต่กลับขายหมดอย่างรวดเร็วภายในวันเดียว จนต้องมีการพิมพ์ซ้ำ สะท้อนความสนใจของสังคมต่อประเด็นสงครามอินโดจีนที่รัฐบาลไทยและสหรัฐฯ อุบอิบปิดเงียบมานาน

     และหลังจากที่สามจอมพล (ถนอม-ประภาส-ณรงค์) ตัดสินใจรัฐประหารยึดอำนาจตัวเองในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 นักศึกษากลุ่มวลัญชทัศน์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็โต้ตอบทันทีด้วยการตีพิมพ์ ภัยเขียว (วลัญชทัศน์ ฉบับภัยเขียว กันยายน-พฤศจิกายน พ.ศ. 2514) ซีรีส์เล่มสองที่วิจารณ์ระบอบสืบทอดอำนาจของเหล่าขุนศึกในกองทัพชนิดที่เรียกว่าเสียหลัก โดย กอบเกื้อ สุวรรณทัต ได้เขียนไว้ในตอนท้ายบทความ อำนาจส่วนเกินของทหาร ว่า

     “การที่รัฐบาลทหารเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการเมืองแบบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เกิดจากความปรารถนาที่จะมีอำนาจมากที่สุดและนานที่สุด … ตัวอย่างที่ดีคือ การร่างรัฐธรรมนูญแห่งประเทศไทย (ฉบับ—ผู้เขียน) ซึ่งต้องใช้เวลานานถึง 10 ปี และเมื่อเสร็จก็มิได้เปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเอกสารการปกครองฉบับนี้ หรือลงมติรับปฏิเสธ เพราะบรรดาผู้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้รับมอบหมายจากประชาชนให้ไปทำหน้าที่นี้แทนเขา…”

     ในหนังสือ ภัยเขียว ยังมีการตีพิมพ์เรื่องสั้น โศลกมืดจากภูเขาบรรทัด ที่มีเนื้อหาสะท้อนถึงความย้อนแย้งในเรื่องความดีและคุณธรรมที่กองทัพไทยสร้างภาพขึ้น แถมยังมีเนื้อหาให้ท้ายทหารจากกองทัพคอมมิวนิสต์ด้วยซ้ำ 

     โศลกมืดจากภูเขาบรรทัด เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับทหารกลุ่มหนึ่งที่เดินทางขึ้นมาบนเขา และเข้าไปในกระท่อมเพื่อขอข้าวกินจากครอบครัวหนึ่ง ซึ่งประกอบไปด้วยพ่อ แม่ ลูก แต่เมื่อกินข้าวเสร็จ ทหารในกลุ่มนั้นก็เอ่ยปากถามถึง ‘ผู้ก่อการร้าย’ หรือคนเลวที่สวมใส่เครื่องแบบทหารเหมือนพวกตนซึ่งอาศัยอยู่บนภูเขา ผู้เป็นพ่อตอบว่าเคยเห็น แต่ไม่เชื่อว่าทหารกลุ่มนั้นเป็นคนเลว ท้ายที่สุด ทหารกลุ่มนั้นก็ชักปืนยิงผู้เป็นพ่อของครอบครัวนั้นแล้วมุ่งหน้าขึ้นเขาไป โดยบางส่วนของตอนท้ายเรื่องระบุว่า

     “ฉันเห็นกับตา พวกเขาคนหนึ่งยกปืนขึ้นเล็งแล้วยิงมาที่ร่างของพ่อ พ่อล้มคว่ำลงที่ตีนฉันกับแม่ … แล้วพวกเขาก็เดินผ่านฉันกับแม่ที่ยืนร้องไห้อยู่ไป ฉันเหลือบเห็นสีเขียวที่เขาสวมอยู่เป็นสีแดงของเลือด ในขณะที่ฉันรู้สึกเกลียดชังสีเขียวขึ้นมาอย่างจับใจนั้น พวกเขาทั้งหลายกำลังมุ่งหน้าไปภูเขาสีดำแล้ว”

     ซีรีส์เล่มท้ายสุด ภัยเหลือง จัดทำโดย สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ภายใต้ชื่อ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับภัยเหลือง (เมษายน 2515) ซึ่งโจมตีการครอบงำทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น และวิพากษ์นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยที่ค้าขายขาดดุลกับญี่ปุ่นมานาน 

     ญี่ปุ่นเข้ามามีอิทธิพลทางด้านเศรษฐกิจในไทยอย่างจริงจังด้วยนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศในปี 2505 สมัยจอมพล สฤษดิ์ ทำให้การลงทุน และสินค้าจำนวนมากจากญี่ปุ่น ไม่ว่าเครื่องจักร อะไหล่รถยนต์ หรืออาหารสำเร็จรูป หลั่งไหลเข้ามาในไทย แต่ไทยกลับไม่สามารถส่งออกสินค้าไปญี่ปุ่นได้ เพราะมาตรการและเทคนิคที่รัฐบาลญี่ปุ่นวางไว้ ไทยจึงมีภาวะขาดดุลการค้ากับญี่ปุ่นติดต่อกันหลายปี 

     แต่ที่มาของแนวคิดต่อต้านญี่ปุ่นนั้น แรกเริ่มมาจากฝั่งนักคิดและปัญญาชนชาตินิยมเอง อาทิ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่เขียนบทความตีแผ่อิทธิพลทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในไทย ตลอดจนองค์กรนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ก่อตั้ง ‘ชมรมต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น’ ขึ้นในปี 2513

     ก่อนที่ในเวลาต่อมา ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) จะร่วมกับมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค รณรงค์ต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นทั่วประเทศ โดยมีการติดโปสเตอร์และเปิดอภิปรายถึงปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากอิทธิพลของญี่ปุ่นไปในหลายจังหวัด จนในท้ายที่สุด ศนท.ใช้โอกาสนี้ ยื่น 10 ข้อเสนอสำหรับแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้แก่รัฐบาล ซึ่งใจหนึ่งก็เพื่อหวังแก้ปัญหา แต่อีกใจหนึ่งคือต้องการประณามรัฐบาลถึงความล้มเหลวในด้านเศรษฐกิจ

     อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีเพียงซีรีส์ภัยสามสีเท่านั้นที่เป็นไฮไลต์ของวัฒนธรรมหนังสือเล่มละบาท ยังมีคัมภีร์และอื่นๆ อีกมาก ที่ถูกผลิตขึ้นจากแวดวงนักศึกษาในเวลาดังกล่าว ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางความคิด และเป็นปัจจัยหลักที่นำไปสู่เหตุการณ์ในช่วงบ่ายวันที่ 14 ตุลาคม 2516

จากข่าวหน้าหนึ่ง ถึงบันทึกลับจากทุ่งใหญ่

     นับตั้งแต่การประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 17 เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2501 ซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตรวจดูข้อมูลก่อนเผยแพร่ รวมถึงมีสิทธิระงับข้อมูลข่าวสารจากสื่อมวลชน การเซนเซอร์จากอำนาจรัฐบาลทหารทำให้หนังสือพิมพ์หลายหัวถูกปิด นักหนังสือพิมพ์ นักเขียน และปัญญาชนฝ่ายซ้ายจำนวนมาก ไม่ว่า จิตร ภูมิศักดิ์, อิศรา อมันตกุล, หรือแม้แต่ อุทธรณ์ พลกุล (นายกสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยเวลานั้น) ถูกยัดข้อหาคอมมิวนิสต์ และถูกส่งเข้าคุก ยัดใส่ตะราง

     บ้างก็ห่วงสุขภาพและชีวิต จึงเลือกหยุดทำงานเผยแพร่ความคิด เช่น เสนีย์ เสาวพงษ์ (ปีศาจ) ลาว คำหอม (ฟ้าบ่กั้น) และบ้างก็เลือกตัดสินใจลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ เช่น ศรีบูรพา หรือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ (ข้างหลังภาพ

     โดยนับตั้งแต่ปี 2501-2516 มีสื่อสิ่งพิมพ์ที่ถูกห้ามและสั่งปิดกิจการอย่างเป็นทางการทั้งหมด 350 รายการ และที่ยังเหลืออยู่ส่วนใหญ่ก็หันหน้าเข้าหาเผด็จการ ละทิ้งอุดมการณ์ยืนข้างประชาชน ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะความความเกรงกลัวต่ออำนาจจากกลไกรัฐ 

     ประเวทย์ บูรณะกิจ นักหนังสือพิมพ์สำนัก บางกอกเดลิเมล์ ของ อิศรา อมันตกุล เล่าไว้ว่า ครั้งหนึ่งที่เขากลับจากเดินทางไปดูงานที่ประเทศจีนกับคณะส่งเสริมวัฒนธรรมไทย คนที่มารอพวกเขาอยู่ที่สนามบิน ไม่ใช่ญาติ หากเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่มายัดข้อหาคอมมิวนิสต์ พร้อมจับเขาและนักหนังสือพิมพ์ที่เดินทางไปด้วยกันเข้าเรือนจำลาดยาวนานกว่าสองปี

     ประเวทย์เล่าต่ออีกว่า ในสมัยนั้น หนังสือพิมพ์หัวไหนที่ไม่เข้าข้างรัฐบาลทหาร จะถูกชายฉกรรจ์บุกเข้าไปทุบทำลายแท่นพิมพ์ ตลอดจนมีการล่ามโซ่ทั้งในทางกายภาพและความคิด กล่าวคือ มีการล่ามโซ่แท่นพิมพ์จริงๆ และมีบางฉบับที่ถูกรัฐบาลเซนเซอร์

      อย่างไรก็ดี เหตุการณ์หนึ่งที่ต้องยอมรับในความกล้าหาญของสื่อมวลชนเวลานั้นคือ การทำข่าวคดีทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นฟางเส้นสุดท้าย ก่อนที่การเดินขบวนนักศึกษาและประชาชนในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 จะเริ่มขึ้น

     ในหนังสือ ปฏิวัติแมลงวัน ของ สุมิตร เหมสถล อดีตนักหนังสือพิมพ์จาก บางกอกโพสต์ ได้เล่าถึงครั้งที่เขาเข้าไปในพื้นที่ทุ่งใหญ่นเศวร (ก่อนจะกลายมาเป็นอุทยานแห่งชาติในปี 2517) ในเวลานั้นไว้ว่า เขาได้ทราบจากแหล่งข่าวว่าจะมี ‘คณะพรานบรรดาศักดิ์’ เข้าไปล่าสัตว์ป่าในพื้นที่ดังกล่าว เขาจึงชวนเพื่อนนักข่าวจาก สยามรัฐ และช่างกล้องอีกสองคน เดินทางเข้าป่าไปด้วยกันพร้อมเจ้าหน้าที่ป่าไม้

     ภาพที่เขาเห็นคือ เสียงเครื่องปั่นไฟดังลั่นในป่า เฮลิคอปเตอร์สีเขียวขี้ม้าทะเบียน ทบ.6102 ศพกวางตัวผู้ขนาดโตเต็มวัย และความผิดหวังของบรรดาเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ที่ไม่สามารถหยุดยั้งเหล่าพรานบรรดาศักดิ์ได้เลย

     แต่เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นในเช้าวันต่อมา

     29 เมษายน 2516 เกิดเหตุเฮลิคอปเตอร์ลำหนึ่งตกบริเวณอำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ความรุนแรงจากการกระแทกทำให้มีผู้เสียชีวิตหกคน และซากสัตว์กระจัดกระจายรอบที่เกิดเหตุ 

     อย่างไรก็ดี อุบัติเหตุไม่ได้ทำให้ส่วนปลายท้ายของเฮลิคอปเตอร์ถูกทำลาย และเลขทะเบียนที่ถูกสลักอยู่ก็บ่งบอกว่าเป็นลำเดียวกับที่สุมิตรเจอในพื้นที่ทุ่งใหญ่นเรศวร

      เมื่อตรวจสอบความถูกต้อง และประชุมทีมบรรณาธิการแล้ว หนังสือพิมพ์ บางกอก เวิลด์ และ สยามรัฐ ก็พร้อมใจกันพาดหัวด้วยใจความว่า เฮลิคอปเตอร์ลำที่ตก เป็นลำเดียวกับที่พวกพรานบรรดาศักดิ์ใช้ล่าสัตว์ในทุ่งใหญ่นเรศวร

      สื่อมวลชนสำนักอื่นๆ ก็รับลูกกันอย่างดี เกิดการขุดคุ้ยเบื้องลึกข่าวดังกล่าวอย่างปรุโปร่ง นำไปสู่ความเชื่อมโยงกับนายทหารระดับสูงในรัฐบาลอย่าง พ.อ. ณรงค์ กิตติขจร และ พ.ท. สุภัทร สารสิน ตลอดจนนักธุรกิจและนายทหารชั้นผู้ใหญ่กว่าหกสิบคน 

     อย่างไรก็ตาม รัฐบาลของจอมพล ถนอม กลับอ้างว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ใช่การล่าสัตว์ แต่เป็นการปฏิบัติภารกิจลับเพื่อคุ้มครองนายทหารระดับสูงของพม่า และกดดันให้สื่อมวลชนยุติบทบาทการสืบหาความจริง รวมถึงมีการจัดตั้งคณะกรรมการสืบหาความจริงปลอมๆ ซึ่งได้ข้อสรุปในท้ายสุดว่า ไม่ใช่การล่าสัตว์ แต่เป็นปฏิบัติการลับจริงจริ๊ง

     แต่ดูเหมือนจะช้าไปเสียแล้ว

     ศนท.รับไม้ต่อจากสื่อมวลชน จัดอภิปรายเรื่องดังกล่าวในหอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากประชาชนเรือนหมื่น และในช่วงเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน ศนท.ยังได้ตีพิมพ์หนังสือ บันทึกลับจากทุ่งใหญ่ ออกมาทั้งหมดกว่า 250,000 เล่ม และขายหมดในเวลาไม่ถึงเดือน

     บันทึกลับจากทุ่งใหญ่ เปิดโปงการลักลอบล่าสัตว์ที่มีมาตลอดสมัยรัฐบาลทหารเรืองอำนาจ ภาพถ่ายความสมบูรณ์ของทุ่งใหญ่นเรศวรกว่าสามสิบภาพ และบทความ บันทึกการสำรวจป่าทุ่งใหญ่ โดย สมพงษ์ จิรบันดาลสุข ที่มีข้อความตอนหนึ่งเป็นบทสนทนาระหว่างเขากับพรานบรรดาศักดิ์ว่า

     “…พลเรือนทราบบ้างหรือไม่ว่า ทหารนั้นต้องเป็นผู้เสียสละตลอดมา เมื่อมีโอกาสก็ต้องพักผ่อนบ้าง ท่านบอกว่า ท่านรู้ดีว่าการล่าสัตว์นั้นเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่กฎหมายก็ร่างมาจากคนที่เขียนอยู่บนโต๊ะ ไม่เคยเห็นสภาพที่แท้จริงของป่า ซึ่งความจริงแล้ว การล่าสัตว์จะล่าทั้งปีก็ไม่มีหมด และการที่ท่านทำเช่นนี้ ก็เพราะต้องการความสนุก เป็นการผ่อนคลายอารมณ์”

     เหตุการณ์ทุ่งใหญ่นเรศวร และความหน้าด้านช่างแถของรัฐบาลทหาร ยิ่งตอกย้ำความไม่พอใจลงไปในจิตใจของประชาชน ทำให้ตาสว่างกระจ่างถึงฐานะอภิสิทธิ์ชนในสังคมที่มีอยู่จริง 

     ความไม่พอใจที่เริ่มสุมมากขึ้น บวกกับกรณีที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงไล่นักศึกษาเก้าคนพ้นจากสภาพนักศึกษาจากกรณีทำหนังสือเสียดสีเหตุการณ์ดังกล่าวอย่าง มหาวิทยาลัยที่ยังไม่มีคำตอบ ตลอดจนการจับกุมผู้ออกมารณรงค์เรียกร้องให้มีการร่างรัฐธรรมนูญในช่วงต้นเดือนตุลาคม ก็ได้นำไปสู่จุดจบของยุครัฐบาลทหารไทยในช่วงบ่ายวันที่ 14 ตุลาคม 2516

     ไม่ว่าบทสรุปของวันฟ้าสีทองผ่องอำไพ หรือ 14 ตุลาคม 2516 จะเรียกว่าเป็นชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ของขบวนการประชาธิปไตย หรือแค่พักเบรกกินน้ำของคณะรัฐบาลทหารก็ตามที แต่สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ จิตวิญญาณของ 14 ตุลายังไม่หายไปไหน และคงลุกโชนอยู่ในสังคมไทย 

     แต่จะถาโถมรุนแรงแค่ไหน… 

     คำตอบอยู่ในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 นี้

อ้างอิง

ประจักษ์ ก้องกีรติ. (2556). และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ. กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน.

อัจฉราพร แสนอาทิตย์. (2556). อุดมการณ์ชาตินิยมของนักศึกษาไทยกับการต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น พ.ศ.2515.

มติชน. (2561). อ่านอีกครั้ง! “บันทึกลับจากทุ่งใหญ่” ชนวนสำคัญ ไล่ “จอมพลถนอม กิตติขจร”.

กลุ่มวลัญชทัศน์. วลัญชทัศน์ ฉบับภัยเขียว กันยายน – พฤศจิกายน 2514.

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย. (2558). คือ…คนหนังสือพิมพ์.

กิตตินันท์ นาคทอง. (2561). เปิด “บันทึกจากทุ่งใหญ่” อดีตนักข่าว “บางกอกโพสต์” สังเกตการณ์ “พรานบรรดาศักดิ์” เมื่อ 45 ปีก่อน.

ไทยทริบูน. (2561). ย้อนคดีสะเทือนป่าถึงเมืองจุดชนวนชุมนุม 14 ตุลามหาวิปโยค จากคดีล่าสัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ปี 2516 ถึงปี 2561.