Fri 29 Jan 2021

2564

คอลัมน์ที่จะพูดสิ่งพิมพ์ต่างๆ ที่เราเห็นดีเห็นงาม นิยมชมชอบ จนต้องขอเอามารีวิวแบ่งปันกัน

ภาพ: NJORVKS

     เมื่อสัปดาห์ก่อนมีพัสดุส่งมาถึงพวกเรา แกะกล่องออกดูก็ต๊กกะใจ เพราะภาพแรกที่เห็นคือคนหน้าคุ้นในชุดซานตาคลอสสีแดงสด ขี่น้อง…เอ่อ…เหมือนจะเป็นน้องควายไบซัน แต่มีเขาเหมือนกวางเรนเดียร์ มองลึกลงไปกว่านั้น แบ็กกราวนด์ที่ซ้อนอยู่ด้านหลังรูปซานตู่ เอ้ย! ซานตาคลอส คือตัวเลขสี่ตัว ‘2564’ พร้อมกับประโยคว่า ‘ปีที่คนเท่ากัน’ ในลักษณะเป็นฟอนต์ stencil 

     มองจนถี่ถ้วนแล้วก็ต้องร้อง อ๋อ นี่มันปฏิทินจาก Headache Stencil x PrachathipaType ที่เราเพิ่งไปสัมภาษณ์กันมานี่นา (ไหนๆ ก็ไหนๆ ขอขายบทสัมภาษณ์พ่วงไปด้วยเลยแล้วกัน)

     จริงๆ แล้วทั้งสองคนส่งมาให้เป็นของขวัญปีใหม่เฉยๆ แต่เราพลิกดูปฏิทิน 12 เดือนแล้ว เห็นรายละเอียดน่าสนใจ เลยขอนำมาเป็นไอเทมประเดิมคอลัมน์ ‘พิมพ์นิยม’ ที่จะพูดถึงสิ่งพิมพ์ต่างๆ ที่เราเห็นดีเห็นงาม นิยมชมชอบ จนต้องขอเอามารีวิวแบ่งปันกัน

     หมายเหตุ: เห็นว่ามีสต็อกเหลืออีกไม่มาก หากสนใจสามารถสั่งซื้อได้ทางอินบ็อกซ์ของเพจ PrachathipaType

     เริ่มด้วยสเปกของปฏิทินชุดนี้กันก่อน ขนาดอยู่ที่ 6 x 8 นิ้ว เป็นแบบปฏิทินตั้งโต๊ะ ร้อยห่วงกระดูกงู 4 ข้อ 2 ช่วง ตัวแผ่นปฏิทินคาดว่าใช้กระดาษอาร์ตการ์ด ส่วนตัวฐานใช้กระดาษอาร์ตการ์ด จั่วปังหุ้มด้วยกระดาษสีดำ (ถ้าคลาดเคลื่อนก็ช่วยบอกพวกเราทีนะ อิอิ)

     และถ้าพลิกแผ่นหน้าปกปุ๊บ คุณก็จะพบกับรูปนี้ รอต้อนรับคุณแบบแซ่บๆ พร้อมข้อความว่า ‘ยกเลิกเกณฑ์ทหาร’

     ถ้าบอกแค่วันที่และวันหยุดแบบปฏิทินทั่วไปก็คงจะไม่ใช่ผลผลิตจาก Headache Stencil และ PrachathipaType เพราะทั้งคู่เลือกที่จะหยิบวันสำคัญ (ซึ่งอาจจะไม่ใช่วันสำคัญในสายตาของผู้มีอำนาจ) ที่มีประเด็นทางการเมืองเกี่ยวข้องอยู่ประจำเดือนนั้นๆ มานำเสนอบริเวณช่วงบนของหน้าปฏิทิน 

     อย่างเช่นในเดือนมกราคม พวกเขาก็เลือกวันที่ 18 มกราคม ซึ่งเป็นวันกองทัพไทย ส่วนพวกเขาจะเขียนถึงว่าอย่างไร ก็ลองซูมรูปดูกันเอาเอง 

     ที่เราชอบอีกจุดหนึ่งก็คือ เมื่อพลิกดูอีกด้านหนึ่งของปฏิทิน ก็จะเห็นเป็นภาพเรื่องราวเกี่ยวข้องกับวันสำคัญที่พวกเขาเลือกมานำเสนออีกด้านแบบเต็มหน้ากระดาษ อย่างน้อยๆ เมื่อเดือนนั้นผ่านไปแล้ว จะตัดแล้วเอามาแปะโต๊ะ หรือผนังห้องก็เท่ไม่เบา ให้อารมณ์เหมือนคุณ Headache Stencil มาสร้างผลงานบนผนังให้แบบส่วนตัว

     ปฏิทิน ‘2564: ปีที่คนเท่ากัน’ จึงเป็นสิ่งพิมพ์ที่เรานิยม เพราะมันได้ก้าวข้ามฟังก์ชั่นของปฏิทินที่จะมีอายุเพียงหนึ่งปี ให้กลายเป็นสิ่งของที่สามารถสะสม และเตือนใจให้เราไม่ลืม ‘วันสำคัญ’ ที่ไม่มีอยู่บนปฏิทินไทยทั่วไปได้เป็นอย่างดี