CURRENTLY READING
84, Charing Cross Road ร้านหนังสือเลขที่ 84 ถนนแชริ่งครอสส์ โดย Helene Hanff
เรื่อง: suthasinee sutthaso
ภาพ: NJORVKS
84, Charing Cross Road ร้านหนังสือเลขที่ 84 ถนนแชริ่งครอสส์
Helene Hanff เขียน
รังสิมา ตันสกุล และ ปราบดา หยุ่น แปล
สำนักพิมพ์ Bookmoby Press
ทุกวันนี้เทคโนโลยีช่วยให้การสื่อสารง่ายขึ้น แต่หากนึกย้อนไปสมัยก่อน เรามักจะเห็นภาพของผู้คนส่วนใหญ่นั่งเขียนและอ่านจดหมายเพื่อสื่อสารยามอยู่ห่างไกลกัน ซึ่งจะว่าไปการเขียนจดหมายเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมากๆ เลยนะ โดยเฉพาะช่วงเวลาที่รอคอยการตอบกลับ ความคิดก็ฟุ้งซ่านไปหมดว่าคนทางนั้นจะเขียนเล่าอะไรให้ฟังบ้าง ยิ่งถ้าเป็นคนที่ไม่เคยเห็นหน้ากันก็ยิ่งสนุกตรงที่เราจะได้จินตนาการถึงอีกฝ่ายว่าหน้าตาหรือบุคลิกของเขาจะเป็นอย่างไร
ช่วงโควิด-19 ระบาดแรกๆ เราอยู่แต่บ้านไม่ได้ออกไปไหน ไม่ได้ไปพบปะเพื่อนฝูงหรือผู้คน เราเลยชวนเพื่อนมานั่งเขียนจดหมายส่งหากัน พอเขียนไปสักพักก็เริ่มติดใจเพราะต้องมานั่งลุ้นว่าเมื่อไหร่เพื่อนจะเขียนตอบกลับมานะ และถึงแม้ตอนนี้จะสามารถออกไปข้างนอกได้แล้ว แต่เราก็ยังคงเขียนจดหมายคุยกับเพื่อนอยู่ จนเรานึกขึ้นได้ว่าจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจที่ทำให้หลงใหลเสน่ห์ของการเขียนจดหมายนั้นมาจากการได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่ง ซึ่งกลายเป็นเล่มรักเล่มโปรดมากๆ ของเราในเวลาต่อมา หนังสือเรื่องนี้มีชื่อว่า ร้านหนังสือเลขที่ 84 ถนนแชริ่งครอสส์
เรื่องราวในหนังสือมาจากเรื่องจริงระหว่าง ‘แฟรง โดล’ คนขายหนังสือแห่ง ‘มาร์คส์ แอนด์ โค.’ (Marks and Co.) ร้านหนังสือมือสองเก่าแก่ในลอนดอน และ ‘เฮเลน แฮฟฟ์’ นักเขียนสาวชาวอเมริกันสุดห้าว ซึ่งเขียนจดหมายโต้ตอบกันไปมาเป็นเวลานานกว่า 20 ปี โดยเริ่มต้นจากการที่คุณเฮเลนไปเจอร้านหนังสือแห่งนี้ผ่านทางโฆษณา พร้อมกับข้อความว่า “เน้นขายหนังสือหายากที่ไม่มีการตีพิมพ์ซ้ำ” ด้วยความที่เป็นคนมีรสนิยมชอบหนังสือเก่าแก่ เฮเลนเลยเริ่มเขียนจดหมายร่ายความเป็นเธอลงไป พร้อมลิสต์รายการหนังสือหายากที่อยากได้ เวลาผ่านไปสักพักหนังสือจากร้านมาร์คส์ แอนด์ โค. ก็มาถึงมือเธอด้วยสภาพที่ใหม่เอี่ยมพร้อมเนื้อกระดาษคุณภาพดีอย่างที่หาไม่ได้ในอเมริกา รวมไปถึงจดหมายตอบกลับแสดงความขอบคุณ และแสดงความใส่ใจที่จะหาหนังสือตามลิสต์ของเธอที่เหลือให้อย่างสุภาพๆ ทำให้เฮเลนมุ่งมั่นที่จะสั่งซื้อหนังสือแค่ที่นี่เท่านั้นเพราะเธอติดใจในความเป็นมิตรของร้านหนังสือแห่งนี้
นอกจากนี้ เรื่องราวดำเนินอยู่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพิ่งจบลงใหม่ๆ ทำให้ได้เห็นบรรยากาศในช่วงนั้น ผู้คนได้รับผลกระทบกับปัญหาความอดยากกันถ้วนหน้า โดยเฉพาะประเทศอังกฤษที่ต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำอย่างหนัก ชาวเมืองตกอยู่ท่ามกลางความทุกข์จากความสูญเสียจนทำให้หมดศรัทธาในชีวิตด้วยกันเอง ถึงอย่างนั้นเล่มนี้ก็ยังบอกเราว่าโลกไม่ได้ใจร้ายเสมอไปหรอกนะ เรายังได้เห็นความรัก ความเห็นอกเห็นใจระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ทำให้ความหวังและความเชื่อในมนุษย์ยังคงมีอยู่ ซึ่งมันจะยิ่งเบิกบานเป็นรอยยิ้มขึ้นเรื่อยๆ ผ่านจดหมายของเฮเลน และการส่งอาหารให้กับเหล่าพนักงานร้านหนังสือมาร์คส์ แอนด์ โค. ส่วนบรรดาพนักงานก็หาหนังสือมือสองดีๆ พร้อมประทับลายเซ็นของพวกเขาลงในหน้าหนังสือมอบให้เฮเลนเป็นของขวัญจากลอนดอนเช่นกัน
สำหรับใครที่หลงรักในเรื่องราวที่ข้องเกี่ยวกับหนังสือหรือร้านหนังสือ บอกเลยว่าเล่มนี้จะทำให้คุณหลงใหลในสิ่งเหล่านั้นมากยิ่งกว่าเดิม ตลอดทั้งเล่มเราจะได้เห็นลีลาการเขียนจดหมายที่เต็มไปด้วยความขี้เล่น ขี้แซะ ล้วนแต่เป็นอารมณ์ขันของนักเขียนสาวที่จะมาทำให้เราตกหลุมรักจนหยุดอ่านไม่ได้
“ถ้าเธอมีโอกาสผ่านไปที่เลขที่ 84 ถนนแชริงครอสส์ ช่วยประทับรอยจูบไว้ที่ร้านแทนฉันด้วยได้ไหม ฉันเป็นหนี้สถานที่แห่งนั้นมากเหลือเกินด้วย” เหมือนอย่างที่เฮเลนว่าไว้ เราเองเป็นหนี้สถานที่แห่งนี้เหมือนกัน เพราะพออ่านจบก็พบว่าตัวเองยิ้มไม่หยุด เหมือนได้เพื่อนใหม่ทางจดหมายเข้ามาทำให้วันธรรมดาของเรากลายเป็นวันที่สดใสอีกครั้ง
และนี่คงจะเป็นเสน่ห์ของจดหมายสินะ ไม่ว่ากาลเวลาจะผ่านไปนานเท่าไหร่ จดหมายก็ยังคงทำหน้าที่เป็นหลักฐานของความทรงจำให้ผู้คนเสมอ ถึงแม้ว่าวันนี้ร้านหนังสือได้ปิดลงไปแล้ว แต่เราก็ดีใจมากๆ ที่หนังสือทำให้ความทรงจำดีๆ ในร้านหนังสือไม่เลือนหายไป ต้องขอบคุณเฮเลนจริงๆ ที่รวบรวมจดหมายให้พวกเราได้มีโอกาสเข้าไปรับรู้เรื่องราวแสนน่ารักระหว่างพวกเขากับร้านหนังสือ มาร์คส์ แอนด์ โค. แห่งนี้
ป.ล. หนังสือเล่มนี้ถูกนำไปทำเป็นหนังด้วยนะ ซึ่งก็ทำออกมาได้ดีไม่แพ้กันเลย รวมถึงยังมี ดัชเชสแห่งถนนบลูมสบรี เรื่องราวของเฮเลนกับการไปเยือนลอนดอนที่เธอรอคอยมานานกว่า 20 ปี ให้ผู้อ่านได้ติดตามต่อด้วย