juli baker and summer
หนังสือเล่มโปรด นิสัยการอ่าน และร้านหนังสือประจำของ juli baker and summer
เรื่อง: ชนัดดา ตันนพรัตน์
ภาพ: ภาพถ่ายจากทางบ้าน
‘BOOKMARKS’ คอลัมน์ที่จะให้คุณได้มาร์กหนังสือน่าสนใจตามสะดวก ลิสต์ร้านหนังสือที่อยากไปตามสบาย ผ่านการบอกต่อถึงหนังสือและนิสัยการอ่านเล็กๆ น้อยๆ ของผู้คนในแวดวงต่างๆ
ครั้งนี้เป็นคิวของ juli baker and summer หรือ ‘ป่าน—ชนารดี ฉัตรกุล ณ อยุธยา‘ ศิลปินนักวาดอิสระ ซึ่งคุณอาจพบเห็นผลงานสร้างสรรค์อันเป็นเอกลักษณ์และสีสันสดใสของเธอมาบ้างแล้ว ตามกรอบโปรไฟล์เฟซบุ๊ก กระเป๋า เสื้อผ้า ปกอัลบั้มเพลง ปกหนังสือ ไปจนถึงกำแพงในเมืองกรุง หรือไม่ก็คุ้นเคยกับไดอารี่บรรจุลายมือยุกยิกน่ารักพร้อมภาพในคอลัมน์ ‘Nowhere girl’ ที่ป่านเขียนประจำบนเว็บไซต์ a day
ด้วยผลงานลายเส้นไม่เนี้ยบที่มีสีสันสดใสสะดุดตา และการได้เห็นภาพบรรยากาศห้องที่สดใสเหมือนผลงานตามสื่อและอินสตาแกรมบ่อยๆ ก็ทำให้เราอยากรู้ว่าหนังสือที่ป่านอ่านจะสดใสเหมือนเจ้าตัวมั้ย ชั้นหนังสือล่ะ มีวิธีจัดเฉพาะหรือเปล่า มุมโปรดในบ้านอยู่ตรงไหน ไปจนถึงคลังซื้อหนังสือที่อยากแนะนำ ซึ่งต่อให้ป่านจะบอกว่าช่วงนี้เซ็งๆ หดหู่กับสังคมที่คุณก็รู้ว่าเป็นเพราะใคร แต่ป่านก็ยินดีเล่าให้ฟังพร้อมรอยยิ้มกว้างๆ ประจำตัว
เอาล่ะ หมดเวลาลีลา เราส่งปากกาให้เธอจดบันทึกการอ่านของตัวเองไว้ที่ #BOOKMARKS แล้ว พลิกหน้ามาอ่านพร้อมกันได้เลย ??
หนังสือที่ป่านอยากชวนอ่าน
เรารู้จัก เจ้าชายน้อย ครั้งแรกน่าจะช่วงประถม เมื่อก่อนทุกวันศุกร์พ่อจะไปทิ้งเราไว้ที่ร้านหนังสือ เราก็จะมีมุมประจำ ไปเจอ เจ้าชายน้อย (The Little Prince) ซึ่งเป็นหนังสือมาใหม่ขึ้นเบสต์เซลเลอร์ เราก็ไปยืนอ่านจนจบที่ร้านเลย (หัวเราะ) ตอนนั้นอ่านเสร็จแล้วก็รู้สึกแบบอะไรวะ ทำไมได้เบสต์เซลเลอร์ เป็นแค่เรื่องการผจญภัยของเจ้าชายน้อยที่ไม่รู้ว่าเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่คนนึงเอง ตอนนั้นเราก็ไม่ได้อินอะไร
พอโตขึ้นได้ไปเที่ยว ก็ไปเจอหนังสือ เจ้าชายน้อย เวอร์ชั่นที่ภาพประกอบสวย ภาพปกสวย ก็เลยซื้อเก็บไว้ ไม่ได้คิดว่าจะอ่านอีกรอบ แต่มีช่วงว่างๆ ก็เลยหยิบมาอ่าน ปรากฏว่าเราชอบมาก รู้สึกประทับใจ ก่อนจะเว้นไป 3-4 ปี และเพิ่งกลับมาอ่านอีกไม่นานนี้ เรารู้สึกว่าหนังสือมันทำงานกับเวลา และช่วงวัยของผู้อ่าน ด้วยหนังสือที่มีถ้อยคำเดิม แต่ว่าเราที่อ่านในวัยนี้กับอีกวัยนึงมันให้ความรู้สึกแตกต่างกัน
เราว่าเขา (อองตวน เดอ แซงเตก–ซูเปรี, Antoine de Saint-Exupéry) เขียนเก่ง เขาเล่าทุกอย่างให้มันไม่ realistic เลย เหมือนเจ้าชายมาจากดาวอีกดวง และมาเจอผู้ชายที่เป็นผู้ใหญ่บนโลก แล้วก็พูดถึงชีวิตปกติที่เขาเจอมา ซึ่งไม่มีอะไร realistic เลย แต่ว่าทั้งหมดกลับเมคเซนส์มากกว่าโลกที่เราอยู่ในปัจจุบันนี้ ซึ่งมีหลายเรื่องไม่เมคเซนส์ ค่านิยมที่เรายิ่งโตมาและทำมันจนเป็นเรื่องปกติ เคยชิน พอเรามานั่งคิดในมุมของเด็กชายที่ไม่เคยเผชิญอะไรบนโลกในหนังสือก็เลยรู้สึกว่า ที่เราทำกันในทุกวันนี้มันเมคเซนส์มั้ย หรือสิ่งที่เราให้ความสำคัญมันสำคัญจริงหรือเปล่า
มันเหมาะมากๆ สำหรับช่วงเวลาที่โลกภายนอกหดหู่ เจ้าชายน้อย เหมือนเข้ามาคอมฟอร์ตให้เรารู้สึกว่า จริงๆ แล้วอะไรที่มันสำคัญหรือเมคเซนส์จริงๆ โลกเราให้ค่ากับอะไร ในหนังสือไม่ได้มีแค่แง่ของความเป็นผู้ใหญ่กับความเป็นเด็ก ยังมีเรื่องของความสัมพันธ์ ความแซะนายทุนเล็กๆ ความแซะผู้ที่ยึดถืออำนาจเล็กๆ มีตัวละครที่มันเป็นซิมโบลิก ซึ่งใครอ่านก็สามารถแทนค่าสิ่งที่ตัวเองประสงค์ได้ว่า สิ่งนี้คืออันนี้ในชีวิตกู เราว่าสนุกดี อ่านง่าย เป็นหนังสือที่คุยกับเรา ทำให้เราคุยกับตัวเองอีกรอบนึง
ป่านอ่านหนังสือช่วงไหน
อ่านหลังกินข้าวเช้า และกวาดบ้านเสร็จแล้ว เราจะได้พัก ก็ทำกาแฟมากิน และอ่านหนังสือ ประมาณ 1-2 ชั่วโมง แล้วก็เริ่มทำงาน ช่วงนี้ที่อยู่บ้านทุกวัน เราก็อ่านจนเกือบจะเป็นรูทีนเหมือนกัน
มุมอ่านหนังสือสุดโปรด
ที่นั่งริมหน้าต่าง เพิ่งเคยได้ลองทำ เราจะเปิดหน้าต่างนั่งอ่าน ชิลล์มาก และเรารู้สึกว่ามันทำให้เราอ่านหนังสือได้มากขึ้น อีกที่สำหรับอ่านหนังสือก็ต้องเป็นที่ที่มีที่พิง เพราะเริ่มแก่ นั่งแบบไม่ถูกท่าไม่ได้ มานอนอ่านบนเตียงไม่ได้แล้ว ปวดหลังมาก
ป่านจัดชั้นหนังสือแบบไหน
ไม่มีจัดระบบอะไรทั้งนั้น ไม่เรียงอะไรเลย คือยัดๆ เข้าตู้ แต่ว่าจะมีโต๊ะนึงที่เอาไว้สำหรับวางหนังสือสวยๆ หนังสือภาพ เราจะได้หยิบอ่านง่ายๆ คุ้มราคา
ใช้ที่คั่นหนังสือมั้ย
ไม่คั่น เป็นคนพับหน้าหนังสือ และยังขีดเส้นใต้ วาดรูปด้วย ไม่ได้ value มันด้วยความเนี้ยบเรียบร้อย แล้วเราก็ชอบอ่านหนังสือที่คนอ่านแล้วทิ้งร่องรอยไว้ เรารู้สึกประทับใจ อย่างเวลาอ่านหนังสือที่ยืมพ่อมา พ่อก็เป็นคนแบบเราคือขีดเส้น เหมือนเราได้รู้จักเจ้าของหนังสือเก่าผ่านหนังสือที่เขาเคยอ่านด้วย แล้วเราอยู่ในกรุ๊ปปล่อยหนังสือมือสองอะไรแบบนี้ด้วยนะ ทุกคนจะจริงจังกับเรื่องนี้มาก เราไม่กล้าเอาหนังสือตัวเองไปปล่อยเลย ขายไม่ได้แน่ (หัวเราะ)
ถ้าอยู่ๆ หนังสือที่อ่านไม่สนุกแล้ว ป่านจะไปต่อหรือพอแค่นี้
แล้วแต่เล่ม บางเล่มถ้าไม่สนุกแล้วก็ไม่อ่านต่อเลย หรือบางเล่มที่เราอยากรู้ว่าเขาจะเขียนยังไงต่อ จะมีเรื่องราวที่น่าสนใจกว่านี้มั้ย แต่ว่าไม่อยากตั้งใจอ่านแล้วก็จะใช้วิธีสกรีนๆ พอ
ร้านหนังสือที่ป่านอยากแนะนำ
ร้านขายหนังสือเก่าอยู่ที่หน้าห้างพันธ์ุทิพย์ฯ ตรงราชเทวี (ปัจจุบันชื่อ AEC TRADE CENTER – PANTIP WHOLESALE DESTINATION) เป็นร้านที่เรากับพ่อไปซื้อหนังสือภาพมาหลายเล่ม ร้านจะเอาหนังสือที่ถูกโละสต็อกมาขาย ซึ่งหนังสือพวกนั้นจะถูกทำลาย กรีดหน้าบางหน้า หรือว่าฉีกปกออก เพื่อที่จะทำให้มันหมดมูลค่าก่อนจะเอาไปทิ้ง ร้านนี้ก็จะเอาหนังสือพวกนั้นแหละมาแปะสกอตเทป ขายต่อในราคาที่ถูก
เรารู้สึกว่าในฐานะที่เป็นคนชอบอ่านหนังสือ และเคยเขียนหนังสือเล่มนึง (NOWHERE GIRL บันทึกลายมือและภาพถ่ายการใช้ชีวิตและประสบการณ์การฝึกงานที่เยอรมนี) การที่เขาฉีก หรือกรีดหน้ากระดาษในโลกปัจจุบันก็คงคิดว่ามันเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว ขายไม่ได้ โละทิ้งซะ แต่สำหรับเรารู้สึกว่าเป็นการกระทำที่ไม่น่ายอมรับเท่าไหร่ เป็นวิธีคิดที่ไม่น่ารัก คือถ้าเจ้าชายน้อยมาเห็นก็คงบอกว่า ‘มันไม่สมเหตุสมผลเอาซะเลย‘ เพราะหนังสือก็มีคุณค่าในตัวของมัน ไม่ใช่ว่าขายไม่ได้ก็ลดมูลค่า เอาไปทิ้งเพื่อจะได้ไปเอาอย่างอื่นมาขายแทน คนอื่นครอบครองมันไม่ได้ เพราะว่าหมดราคาแล้ว
บนโลกนี้ยังมีคนอีกเยอะมากที่เข้าถึงหนังสือดีๆ ได้ยาก อย่างหนังสือราคา 600 บาท เป็นอะไรที่เกินเอื้อม หรือเป็นของที่ฟุ่มเฟือยสำหรับเขา แต่ว่าร้านหนังสือที่ควรจะ appreciate สิ่งที่ตัวเองขายมากที่สุด กลับเลือกที่จะทำลายหนังสือ ให้มันหมดมูลค่าแล้วทิ้ง การได้ไปซื้อหนังสือร้านนี้เราเลยรู้สึกว่าได้ช่วยชีวิตมันประมาณนึง ในโลกของคนที่คลั่งไคล้เงินตรา ก็อาจจะรู้สึกว่าละเมิดลิขสิทธิ์คนเขียนหรือเปล่า แต่สำหรับเรารู้สึกว่าเซนส์ในการเห็นคุณค่าของมนุษย์ก็ถูกสอนด้วยความไม่สมเหตุสมผลในบางกรณีเหมือนกัน และเราไม่ได้เห็นด้วยกับเรื่องนี้ที่เขาทำ
ไม่แน่ใจว่าร้านจะยังอยู่มั้ย เพราะเป็นแผงลอย ไหนจะเจอโควิด-19 อีก เราไม่ได้ไปนานแล้ว แต่เจ้าของร้านเซอร์ๆ มีคาแรกเตอร์มาก ถ้าคุยแล้วเขาไม่ชอบลูกค้าคนนี้ก็จะไม่ขายให้ (หัวเราะ) ประทับใจ