Tue 17 Oct 2023

SILENT DIALOGUE

ว่าด้วยการเขียนสคริปต์ของหนัง ‘LOST IN TRANSLATION’ เนื่องในวาระครบรอบ 20 ปี ของหนัง

ภาพ: ms.midsummer

     ระหว่างที่ โซเฟีย คอปโปลา (Sofia Coppola) เดินสายโปรโมต The Virgin Suicides (1999) ผลงานกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกของตัวเองที่ญี่ปุ่น มีหลายสิ่งหลายอย่างในเมืองโตเกียวที่สร้างความประหลาดใจให้แก่เธอเป็นอย่างมาก

     เริ่มตั้งแต่องค์ประกอบภายในโรงแรมพาร์ค ไฮแอท โตเกียว (The Park Hyatt Tokyo) ที่เธอพักอยู่ คอปโปลาบอกว่าบาร์แจ๊สตกแต่งเหมือนกับหลุดออกมาจากบาร์ในนิวยอร์ก ส่วนภัตตาคารก็ราวกับถอดแบบมาจากภัตตาคารในปารีส นอกจากนั้น บรรยากาศภายในโรงแรมก็เงียบสงบจนดูเหมือนอยู่คนละโลกกับเมืองที่แสนจะวุ่นวายอย่างโตเกียว 

     ส่วนนอกโรงแรมก็มีสิ่งที่ทำให้เธอประหลาดใจไม่ต่างกัน คอปโปลาได้เห็นวัดตั้งอยู่ในย่านเริงรมย์ที่เต็มไปด้วยป้ายไฟนีออนสว่างไสว เห็นป้ายโฆษณาสินค้าของญี่ปุ่นอยู่ทั่วเมือง แต่ป้ายโฆษณาเหล่านั้นกลับเต็มไปด้วยพรีเซนเตอร์นักแสดงจากฮอลลีวูด (คนที่คอปโปลาเห็นบ่อยสุดคือ แบรด พิตต์) ความคอนทราสต์ของสองสิ่งที่ดูเหมือนจะไม่เข้ากันเลยแต่กลับอยู่ด้วยกันนั้นสร้างความตื่นตาตื่นใจให้แก่เธอเป็นอย่างมาก

     ความจริงแล้วคอปโปลาคุ้นเคยกับญี่ปุ่นดี เธอเคยเดินทางไปโตเกียวหลายต่อหลายครั้งจากการที่เคยเปิดแบรนด์แฟชั่นกับเพื่อนที่นั่น (แบรนด์ชื่อ MilkFed) และโรงแรมที่คอปโปลาเข้าพักเป็นส่วนใหญ่ก็คือพาร์ค ไฮแอทนั่นเอง แต่การไปญี่ปุ่นในครั้งที่ไปโปรโมตหนังต่างหากที่ทำให้เธอสังเกตเห็นองค์ประกอบจากหลายวัฒนธรรมที่แตกต่าง เห็นการผสมผสานกันของหลายๆ สิ่งที่ดูไม่น่าจะอยู่ด้วยกันได้

     ความย้อนแย้งมากมายที่คอปโปลาได้เห็น ทำให้เธอคิดว่าองค์ประกอบเหล่านั้นน่าสนใจพอที่จะอยู่ในหนังเรื่องต่อไปของตัวเอง อีกทั้งโรงแรมพาร์ค ไฮแอทก็เป็นอีกสถานที่ซึ่งคอปโปลาโปรดปรานหลงใหลมาเนิ่นนาน ทำให้เธอคิดว่าไหนๆ หากคิดจะถ่ายหนังในโตเกียวแล้ว ก็ควรเติมเต็มความต้องการ ด้วยการเขียนให้เรื่องราวเกิดขึ้นในโรงแรมแห่งนี้ไปเลย

     “ฉันอยากถ่ายหนังที่โตเกียวมาสักพักแล้ว” คอปโปลาพูดถึงไอเดียตั้งต้นของหนัง “และฉันชอบความรู้สึกของการได้พบเจอคนหน้าเดิมๆ ในโรงแรมครั้งแล้วครั้งเล่า มันเป็นเหมือนมิตรภาพที่ก่อตัวขึ้นบางๆ แม้ว่าแต่ละคนแทบจะไม่ได้พูดคุยหรือทำความรู้จักกันเลยก็ตาม”

     ข้อมูลที่คอปโปลาลิสต์ไว้มีตั้งแต่เรื่องราวสมัยเด็กของตัวเอง ที่เคยเห็นพ่อ (ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา ผู้กำกับ The Godfather, Apocalypse Now) และ อากิระ คุโรซาวา (ผู้กำกับ Rashomon, Seven Samurai) ร่วมกันกำกับหนังโฆษณาให้กับวิสกี้ญี่ปุ่นชื่อซันโทรี่ โดยใช้บ้านของเธอเป็นสถานที่ถ่ายทำ ไปจนถึงประสบการณ์ในช่วงที่เธอเคยไปเที่ยวโตเกียวกับเพื่อนชาวญี่ปุ่น ไปกินซูชิ กินชาบู และไปร้องคาราโอเกะด้วยกัน เธอจำได้ว่าเขาร้องเพลง God Save The Queen ของวง Sex Pistols ด้วยอินเนอร์เต็มเปี่ยม และเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างการได้เห็นกลุ่มคนเต้นแอโรบิกในสระว่ายน้ำของโรงแรม หรือการต้องรับมือกับอาการเจ็ตแล็กที่เกิดขึ้นกลางดึก คอปโปลาลิสต์ไอเดียเหล่านี้ออกมาเป็นข้อๆ รวมถึงจดความรู้สึกที่เธอมีต่อช่วงเวลานั้นๆ เพื่อค้นหาว่าตัวละครของเธอคือใคร และเขาหรือเธอคนนั้นจะมาทำอะไรที่โตเกียว

     กลายเป็นว่าความเหงา ความสับสน และความโดดเดี่ยวอ้างว้าง คือความรู้สึกที่คอปโปลาต้องพบเผชิญมากที่สุดในช่วงเวลานั้น ทั้งการถูกจับจ้องจากการเป็นลูกสาวของผู้กำกับชื่อดังที่เพิ่งหันมาจับงานกำกับเป็นเรื่องแรก ชื่อเสียงในแง่ลบที่ติดตัวมาจากการร่วมแสดงในหนังของพ่อเรื่อง The Godfather Part III (1990) ซึ่งได้รับเสียงวิจารณ์ที่ไม่ค่อยดี และดูเหมือนคำครหาเหล่านั้นจะยังไม่หายไปไหนจนกว่าเธอจะพิสูจน์ตัวเองว่าก้าวพ้นเงาของผู้เป็นพ่อได้สำเร็จ รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างเธอและผู้กำกับ สไปซ์ โจนซ์ (Spike Jonze) ที่เพิ่งแต่งงานกันได้ไม่นาน แต่กลายเป็นว่าความสัมพันธ์หลังแต่งงานไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คิด

     “ฉันเพิ่งจะแต่งงานได้ไม่นาน แต่กลับรู้สึกเหมือนโดดเดี่ยว” คอปโปลาเล่าถึงช่วงเวลานั้น “ฉันอยู่ในช่วงที่ไม่แน่ใจนักว่าตัวเองตัดสินใจถูกต้องไหม แล้วก็ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ทำหลังจากดรอปเรียนและเริ่มต้นชีวิตการเป็นผู้ใหญ่นั้นดีพอหรือยัง”

     เมื่อเอาไอเดียทุกอย่างมาผสมรวมกัน ผลลัพธ์จึงเกิดเป็นหนัง Lost in Translation (2003) ที่ถ่ายทอดความรู้สึกของคอปโปลาในช่วงเวลานั้น ผ่านสองตัวละครอย่าง ชาร์ลอตต์ (รับบทโดย สการ์เลตต์ โจแฮนน์สัน) และ บ๊อบ (รับบทโดย บิลล์ เมอร์รีย์) 

     ชาร์ลอตต์เป็นเสมือนตัวแทนของคอปโปลา เธอเพิ่งแต่งงานและติดสอยห้อยตามสามีที่เป็นช่างภาพมาอยู่ที่โตเกียว ทว่าด้วยหน้าที่การงานอันรัดตัวของอีกฝ่ายทำให้เขาไม่ค่อยมีเวลาให้กับเธอนัก ชาร์ลอตต์ถูกทิ้งให้อยู่กับความโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงาในเมืองที่ไม่คุ้นเคยทั้งภาษาและวัฒนธรรม จนกระทั่งได้พบกับบ๊อบ นักแสดงวัยกลางคนที่อาชีพการงานกำลังอยู่ในช่วงขาลง เขามาโตเกียวเพื่อถ่ายโฆษณาวิสกี้และพักอยู่ที่โรงแรมเดียวกัน ความเหงาคล้ายว่าเป็นตัวกลางที่เชื่อมโยงทั้งคู่เข้าหากัน ความสัมพันธ์ของทั้งคู่เริ่มก่อตัวขึ้นนับแต่นั้น

     คอปโปลาเริ่มจากสถานที่ถ่ายทำ สิ่งที่อยากจะบอกเล่า แล้วจึงไล่ไปหาตัวละครและนักแสดง 

     เธอชอบดูหนังของเมอร์รีย์ และคิดว่าคงสนุกดีที่ได้เห็นเขาใส่ชุดกิโมโน ซึ่งดูเป็นเรื่องที่ผิดที่ผิดทางและไม่เข้ากับนักแสดงหน้าตายอย่างเขาเอาเสียเลย ส่วนโจแฮนน์สันก็เป็นคนที่เธอเห็นมาตั้งแต่เด็ก คอปโปลาเคยดูหนังเรื่อง Manny & Lo (1996) ที่โจแฮนน์สันเล่นไว้ตอนอายุ 12 ด้วยบุคลิกที่โตเกินวัยและเสียงที่แหบเป็นเอกลักษณ์มาตั้งแต่ตอนนั้น รวมถึงความเก่งกาจเรื่องการใช้สายตาและท่าทางในการสื่อสารถ่ายทอดความรู้สึกภายใน ทำให้เธอคิดว่าโจแฮนน์สันนี่แหละเหมาะกับบทชาร์ลอตต์ที่สุด ทั้งที่ตอนนั้นโจแฮนน์สันเพิ่งอายุ 17 ปีเท่านั้นเอง 

     คอปโปลาจินตนาการภาพของนักแสดงทั้งสองคนเอาไว้ในใจตลอดเวลาที่เขียนสคริปต์ โดยใช้ไอเดียที่เคยลิสต์เอาไว้ก่อนหน้านี้เป็นเสมือนเอาต์ไลน์คร่าวๆ จากนั้นไม่ว่าจะเป็นนักแสดงฮอลลีวูดบนป้ายโฆษณา วิสกี้ซันโทรี่ วัด ป้ายไฟนีออน บาร์ ภัตตาคาร สระว่ายน้ำที่มีคนเต้นแอโรบิก ร้านซูชิ ร้านชาบู ร้านคาราโอเกะ และเพลง God Save the Queen ลิสต์ไอเดียที่คอปโปลาจดเอาไว้มากมายจึงเคลื่อนย้ายที่ทางของมันไปอยู่บนหน้ากระดาษ 

     ทว่าแม้จะเต็มไปด้วยฉากและสถานการณ์ที่คอปโปลาบรรจงใส่เข้าไปในหนัง สคริปต์ของ Lost in Translation กลับมีความยาวเพียงแค่ 75 หน้า

     สาเหตุก็เพราะคอปโปลาไม่ใช่ผู้กำกับที่ให้ความสำคัญกับรายละเอียดในสคริปต์มากนัก พล็อตหรือไดอะล็อกไม่ใช่สิ่งสำคัญมากเท่ากับบรรยากาศและอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร ภาพคือวิธีการที่คอปโปลาเลือกใช้สื่อสารในการถ่ายทอดความเหงาความโดดเดี่ยว เช่น การถ่ายให้เห็นตัวละครนั่งมองทิวทัศน์ยามค่ำคืนจากหน้าต่างของโรงแรมเงียบๆ เพียงลำพัง นอนดูโทรทัศน์ตอนกลางดึกและกดเปลี่ยนช่องอย่างเรื่อยเปื่อยไร้จุดหมาย หรือแวดล้อมพวกเขาด้วยผู้คนที่ไม่รู้จักหรือคุ้นเคย สถานที่ซึ่งผู้คนพลุกพล่าน บาร์หรือร้านอาหารที่เต็มไปด้วยผู้คนที่พูดคุยเฮฮากันอย่างสนุกสนาน 

     กล่าวคือแทนที่จะให้ตัวละครพูดความรู้สึกของตัวเองออกมาตรงๆ คอปโปลาเลือกใช้วิธีอื่นในการถ่ายทอดให้เห็น จัดวางตัวละครให้อยู่ในสภาวะที่แปลกแยกและผิดที่ผิดทาง ให้คนดูจับสังเกตเอาจากสีหน้าท่าทาง ซีนเหล่านี้กินเวลาหลายนาทีในหนัง แต่กินพื้นที่เพียงไม่กี่ย่อหน้าในสคริปต์เท่านั้น 

     “ฉันคิดว่ามันน่าสนใจกว่าถ้าให้คนดูตีความกันเอาเอง” คอปโปลาบอก “และฉันคิดว่าคนส่วนใหญ่ไม่ได้พูดความรู้สึกของตัวเองออกมาตรงๆ แบบในหนังหรอก ดังนั้นฉันจึงหาวิธีที่จะถ่ายทอดความรู้สึกของตัวละครออกมาผ่านสิ่งที่พวกเขาไม่ได้พูด ทั้งจากการกระทำและจากภาษากายของพวกเขา”

     มีหลายไดอะล็อกที่คอปโปลาเขียนไว้ในสคริปต์แต่ไม่ถูกใช้ในหนัง ทั้งตอนที่ชาร์ลอตต์กับบ๊อบนั่งข้างกันหน้าห้องคาราโอเกะ ทีแรกคอปโปลาเขียนให้ชาร์ลอตต์เอ่ยทักบ็อบเรื่องนิสัยชอบกัดเล็บของเขา แต่พอถึงตอนถ่ายทำ เธอกลับรู้สึกว่าการให้ทั้งคู่นั่งเงียบๆ และชาร์ลอตต์เอียงศีรษะไปซบที่ไหล่ของบ๊อบดูจะลงตัวกับซีนนี้มากกว่า

     เช่นเดียวกับตอนจบที่ทั้งคู่ร่ำลากัน ทีแรกคอปโปลาเขียนในสคริปต์ให้ชาร์ลอตต์พูดว่า “I’ll miss you” และบ๊อบตอบว่า “I’m going to miss you, too.” แต่สุดท้ายแล้วเธอรู้สึกว่ามันยังไม่ใช่ประโยคที่เข้าท่าเท่าไร คอปโปลาตัดสินใจให้เมอร์รีย์ด้นสดเอาเองว่าอยากพูดอะไร ผลลัพธ์ที่ได้คือเมอร์รีย์โน้มตัวโจแฮนน์สันมากระซิบบางอย่างใกล้ๆ จนคนดูแทบจะไม่ได้ยินว่าเขาพูดอะไร

     ทีแรกคอปโปลาคิดว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวค่อยไปคิดไดอะล็อกให้เมอร์รีย์มาลงเสียงทีหลังก็ได้ แต่ในเวลาต่อมา เธอกลับค้นพบว่าการที่คนดูไม่ได้ยินถ้อยคำเหล่านั้นคือทางเลือกที่ดีกว่าของหนัง การเว้นที่ว่างให้คนดูได้คิดหรือตีความประโยคนั้นเอาเองเปิดช่องว่างของความเป็นไปได้ในความสัมพันธ์ระหว่างบ๊อบกับชาร์ลอตต์ได้มากกว่าประโยคที่เธอคิดไว้ในทีแรก

     เพราะแม้ไดอะล็อกจะเป็นส่วนสำคัญในการบอกเล่าเรื่องราว แต่ในอีกแง่ การมีอยู่ของไดอะล็อกก็เป็นเสมือนกรอบที่กำหนดตายตัวว่าตัวละครคิดและรู้สึกอย่างไรมากเกินไป

     “คนมักจะถามฉันว่าบิลล์กระซิบว่าอะไร” คอปโปลาพูดถึงไดอะล็อกที่เป็นปริศนามาตลอด “แต่ฉันชอบคำตอบของบิลล์นะที่บอกว่ามันเป็นเรื่องระหว่างคนสองคน ดังนั้นฉันจึงคิดว่าปล่อยเอาไว้แบบนั้นแหละดีแล้ว”

อ้างอิง

lwlies.com/articles/sofia-coppola-lost-in-translation-interview/
cinephiliabeyond.org/lost-translation-sofia-coppolas-poetic-exhibition-love-humor-understanding/
indiewire.com/features/general/decade-sofia-coppola-on-lost-in-translation-55612/
thedailybeast.com/sofia-coppola-discusses-lost-in-translation-on-its-10th-anniversary
creativescreenwriting.com/honouring-the-little-moments-lost-in-translation/
filmmakermagazine.com/archives/issues/fall2003/features/tokyo_story.php
youtube.com/watch?v=3s5j96NAVJw&t=784s
youtube.com/watch?v=Hur7uwKZEVw
faroutmagazine.co.uk/akira-kurosawa-francis-ford-coppola-whiskey-adverts/
en.m.wikipedia.org/wiki/Lost_in_Translation_(film)
en.wikipedia.org/wiki/Sofia_Coppola