SCARRED HISTORY & IDENTITY CONSTRUCTION OF KOREAN DIASPORA IN ‘PACHINKO’
ย้อนอ่านประวัติศาสตร์บาดแผลของคนเกาหลีท่ามกลางช่วงเวลาของการพลัดถิ่นใน ‘Pachinko’
เรื่อง: วณัฐย์ พุฒนาค
ภาพ: ms.midsummer
ไฮไลต์สำคัญของ Coachella 2022 นอกจากจะมี มิลลิ กินข้าวเหนียวมะม่วงแล้ว ในโชว์เดียวกันของ 88rising ค่ายเพลงที่รวบรวมศิลปินดาวรุ่งเชื้อสายเอเชียสู่เวทีโลก ก็คือการนำ 2NE1 กลับมารวมวงและขึ้นโชว์ได้อีกครั้ง
สำหรับคนวัยสัก 30 ไม่ว่าคุณจะเป็นแฟนเพลงเกาหลีหรือไม่ เชื่อว่าหลายคนเกิดอาการน้ำตาซึม เพราะการกลับมาของ 2NE1 กำลังพาเรากลับไปในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ช่วงเวลาที่เป็นวัยรุ่นและกระแสเคป๊อปกำลังซัดเข้าสู่ชีวิตวัยรุ่นเป็นเวฟแรกๆ เรานึกถึงช่วงชีวิตในมหาวิทยาลัย การไปเดินห้าง ร้องคาราโอเกะที่เริ่มมีเพลงเกาหลีเป็นฉากหลังไกลๆ หรือถ้านับย้อนไปไกลกว่านั้น คือสมัยที่ แดจังกึม ออกฉายในประเทศไทยช่วงปี 2005 เราเองก็ยิ่งรู้สึกทึ่งถึงการค่อยๆ นำเสนอตัวตนหรืออัตลักษณ์ของเกาหลีใต้ที่ปัจจุบันกลายเป็นหนึ่งในตัวตนและวัฒนธรรมที่แข็งแรงที่สุดชาติหนึ่งของโลก
เกาหลีครองโลกได้ด้วยวัฒนธรรมป๊อปภายในเวลาไม่ถึงยี่สิบปี ทั้งที่ถ้ามองย้อนกลับไปอีก เกาหลีถือเป็นหนึ่งในประเทศที่บอบช้ำที่สุดทั้งจากประวัติศาสตร์ยุคก่อนสงครามโลกมาจนถึงหลังสงครามโลก แต่ก็เป็นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นี่แหละที่เกาหลีค่อยๆ ปะติดปะต่อตัวตนจนกลายเป็นราชาวัฒนธรรมป๊อปในทุกๆ ด้านเช่นทุกวันนี้
นอกจากเหตุการณ์บนเวที Coachella ที่ทำให้เราสนใจเกาหลี ช่วงนี้ก็ถือเป็นจังหวะพอดีกับที่ทาง Apple TV+ กำลังฉาย Pachinko ซีรีส์ที่ดัดแปลงจากนวนิยายชื่อเดียวกันของ อี มินจิน (Min Jin Lee) โดยความน่าสนใจของซีรีส์และนวนิยายเรื่องนี้อยู่ที่การเล่าถึงครอบครัวคนเกาหลีพลัดถิ่นที่พลัดจากเกาหลีช่วงก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไปเติบโตในเมืองโอซาก้าและโยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่น
อันที่จริง พอฟังเรื่องย่อคร่าวๆ ก็จะรู้สึกถึงความน่าตื่นเต้น เพราะส่วนใหญ่เราจะรับรู้เรื่องราวของเกาหลีผ่านการเล่าประวัติศาสตร์ในยุคโชซอน ไม่ก็เล่าถึงโซลในปัจจุบันแล้วมองไปยังอนาคต แต่ Pachinko จะเน้นไปที่ประวัติศาสตร์ช่วงรอยต่อ โดยเฉพาะการเล่าถึงอัตลักษณ์เกาหลีในฐานะคนพลัดถิ่น ในช่วงเวลาที่เกาหลีกำลังแหลกสลาย ทั้งจากการตกเป็นอาณานิคมและภัยของสงคราม ช่วงเวลาที่ถือว่าเป็นช่วงแห่งความบอบช้ำทั้งของเกาหลีและญี่ปุ่น
ผลพวงจากความขัดแย้งยุคสงครามและการเคยเป็นอาณานิคม ทำให้เกาหลีและญี่ปุ่นมีความตึงเครียดกันโดยนัย แต่ถ้าใครเคยไปโอซาก้าก็อาจจะเคยพบชุมชนคนเกาหลีแทรกตัวและปะปนอย่างเงียบเชียบอยู่ในเมืองท่าสำคัญนั้น
Pachinko เล่าถึงช่วงเวลาเหล่านี้ ผ่านผู้หญิงคนหนึ่งที่พลัดจากยองโด พื้นที่ชนบทของเกาหลีไปสู่โอซาก้า หนึ่งในเมืองท่าซึ่งกำลังกลายเป็นเมืองสมัยใหม่และดินแดนอุตสาหกรรมชั้นแนวหน้าของโลก
เธอต้องพลัดไปสู่พื้นที่ทุนนิยมใหม่ในดินแดนที่ถือว่าเป็นปรปักษ์ต่อกัน ในวันที่เกาหลีแทบไม่มีตัวตนในสายตาของใคร โดยเฉพาะในหมู่คนญี่ปุ่นเอง
เรื่องเล่าในครัวเรือนท่ามกลางรอยประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่
ปัจจุบัน เกาหลีและญี่ปุ่นดูจะเป็นเพื่อนบ้านที่เติบโตคู่กัน แต่ในบริบททางประวัติศาสตร์ ทั้งสองประเทศมีความบาดหมางฝังลึกจากบริบทประวัติศาสตร์ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างไม่นานมานี้ก็มีกรณีสำคัญที่ทำให้เกิดกระแสต่อต้านทั้งในเกาหลีรวมถึงจากสื่อญี่ปุ่น จากการที่ ชินโซ อาเบะ (Shinzo Abe) ขณะเป็นนายกรัฐมนตรีเดินทางไปสักการะศาลเจ้ายาสุกุนิในปี 2013 อันเป็นที่สถิตของดวงวิญญาณซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 โดยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นเป็นผู้กระทำทั้งต่อจีนและเกาหลีไว้ค่อนข้างรุนแรง หรือแม้แต่ในช่วงก่อนสงครามโลกอย่างทศวรรษ 1910 ญี่ปุ่นก็ยึดเกาหลีเป็นดินแดนในอาณัติ โดยในช่วงสงคราม นอกจากจะกดขี่ในฐานะอาณานิคมแล้ว ยังมีกรณีฉาวโฉ่คือการใช้หญิงเกาหลีเป็นนางบำเรอให้กับนายทหารญี่ปุ่นที่เรียกว่า comfort woman
ทศวรรษ 1910 ไปจนถึงก่อนปี 2000 จึงถือเป็นช่วงเวลาอันมืดมนของชาติและของคนเกาหลีที่แผ่นดินตนเองกลายเป็นแผ่นดินอื่น ซึ่งในปี 1910 ปีที่เกาหลีถูกล้มล้างระบอบกษัตริย์และลงนามในสนธิสัญญาผนวกดินแดนญี่ปุ่น-เกาหลี พร้อมกับสถาปนาพระจักรพรรดิขึ้นเป็นพระประมุขแห่งเกาหลี ก็เป็นปีที่นวนิยาย Pachinko เริ่มเล่าเรื่องราวของคนเกาหลีที่อยู่ใต้อาณัติญี่ปุ่นก่อนจะผกผันพลัดถิ่นไปสู่ดินแดนของเจ้าอาณานิคม
นวนิยายถูกแบ่งออกเป็นสามช่วง ได้แก่ Hometown เล่าถึงช่วงเริ่มต้นของครอบครัวที่ทำกิจการบ้านพักคนตกปลาเล็กๆ ในยองโด เมืองชนบทในเกาหลี กินเวลาช่วงปี 1910-1933 ช่วงที่สองชื่อว่า Motherland เล่าถึงช่วงชีวิตของซุนจาที่พลัดจากเกาหลีมาคลอดลูกในโอซาก้า กินเวลาช่วงปี 1939-1962 และช่วงสุดท้ายใช้ชื่อว่า Pachinko เล่าถึงรุ่นลูก-หลานที่ย้ายจากโอซาก้าไปโยโกฮาม่า และดูแลกิจการร้านปาจิงโกะ โดยมีช่วงปี 1962-1989 เป็นฉากหลัง
สำหรับแฟนๆ งานเขียนที่เล่าถึงประวัติศาสตร์ครัวเรือน โดยเฉพาะเรื่องของคนพลัดถิ่นคงพอจะคุ้นกับโครงสร้างการเล่าเรื่องของ Pachinko ที่แบ่งเรื่องออกเป็นช่วงเวลา โดยแต่ละช่วงมี ‘รุ่น’ ของคนในครอบครัวเป็นแกนหลัก
Pachinko ทำให้เรานึกถึงงานคลาสสิกอย่าง The Good Earth ของ เพิร์ล เอส. บั๊ก (Pearl S. Buck), The Joy Luck Club ของ เอมี่ ตัน (Amy Tan) ที่เล่าเรื่องราวของผู้หญิงจีนพลัดถิ่นหลายรุ่นในสหรัฐอเมริกา หรือ Wild Swans ของ ยุง จาง (Jung Chang) เรื่องเล่าประวัติศาสตร์ครอบครัวที่ล้อไปกับประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของจีนร่วมสมัย
แน่นอนว่าด้วยการเล่าถึงมหากาพย์การตั้งถิ่นฐานและการเติบโต นวนิยายอิงประวัติศาสตร์จึงมักหนา แต่ทว่าอ่านสนุก อีกทั้งมักเล่าเรื่องโดยมีครัวเรือนและผู้หญิงที่อำนวยชีวิตหรือประวัติศาสตร์ส่วนบุคคลเป็นศูนย์กลางของเรื่อง Pachinko เองก็แบ่งช่วงเล่าผ่านตัวละครหลายรุ่นวัย โดยมีแผ่นดินที่อาศัยในช่วงนั้นๆ เป็นตัวแบ่งช่วงเวลาอย่างคร่าวๆ ซึ่งการเล่าเรื่องด้วยมิติของประวัติศาสตร์ขนาดเล็กนี้เอง ทำให้เรามองเห็นความขัดแย้ง—ทั้งของปัจเจกบุคคลที่อยู่ในสายธารความขัดแย้งที่หมุดลงบนกระแสประวัติศาสตร์ใหญ่ และความขัดแย้งระดับปัจเจกชนในครอบครัวที่ขัดแย้งในตัวเองและระหว่างบุคคลในครอบครัว
ร่องรอยของบาดแผลที่ลอยล่องในอากาศ
ความน่าสนใจของ Pachinko คือความอึมครึม เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นที่หอพักคนตกปลาในยองโด เล่าถึงรุ่นแม่ของซุนจา ตัวเรื่องให้ภาพชีวิตของความยากลำบาก แต่ก็ไม่ได้เลวร้าย คือการบริหารหอพักที่มีคนตกปลาเช่าอยู่ มีการทำงานหนัก แต่ก็ไม่ถึงขนาดอดตาย ทว่าผู้เขียนจะค่อยๆ เผยบริบทบางอย่างที่สัมพันธ์กับบาดแผล—บาดแผลของการตกเป็นอาณานิคมที่ชีวิตของผู้คนยากแค้นขึ้น
ในฉากของธรรมชาติและงานหนักกลับมีกลิ่นอายของความตาย สงครามและการดูถูกหยันหยามล่องลอยในความตึงเครียดระหว่างความสัมพันธ์เกาหลี-ญี่ปุ่น เราได้เห็นผลของการตกเป็นอาณานิคม ความยากจน ความป่วยไข้ โดยเฉพาะของเหล่าผู้ชายที่เป็นหัวหน้าครอบครัว การถูกกดขี่ทั้งทางตรงและทางอ้อม
ถ้ามองในแง่เส้นเวลา ช่วงทศวรรษ 1910-1980 ถือเป็นช่วงเวลาอันมืดมนของเกาหลี อย่างในช่วงต้นเรื่องนั้น แม้ว่าคนเกาหลีจะอยู่บนแผ่นดินของตัวเอง บนดินแดนนั้นกลับไร้อนาคต การพลัดไปสู่แผ่นดินที่เราพอจะนิยามได้ว่าเป็นดินแดนปรปักษ์นับเป็นทางเลือกที่เลือกไม่ได้ โดยนับตั้งแต่กลางเรื่องเป็นต้นมา ชีวิตของคนเกาหลีในแผ่นดินญี่ปุ่นเป็นยิ่งกว่าพลเมืองชั้นสอง ไม่มีสิทธิ ไม่มีตัวตน ถูกห้ามกระทั่งการใช้ชื่อเกาหลี ต้องใช้ชีวิตในเขตอันจำเพาะ ไร้เสียง อาจลงเอยในคุกด้วยความผิดอันแสนบางเบา และได้ออกมาในสภาพไม่เหลือความเป็นคน
ความพิเศษของ Pachinko คือการเล่าถึงช่วงที่เกาหลีย้ายไปตั้งรกรากใหม่ในญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นช่วงการก่อตัวของโลกสมัยใหม่ แต่ทว่าเป็นช่วงรอยต่อที่เมืองยังเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ การดูถูกกดขี่ เป็นช่วงที่เกาหลีแทบไม่มีอัตลักษณ์อะไร ไร้ค่าและถูกกีดกัน ทว่าอีกด้านก็ถือเป็นช่วงที่เกาหลีกำลังประกอบอัตลักษณ์ของตัวเองขึ้นใหม่จากชาติและแผ่นดินที่แตกสลาย และกำลังกลับขึ้นเป็นไท พร้อมผงาดขึ้นสู่การเป็นชาติสมัยใหม่บนเวทีการค้าโลก
ในบรรยากาศการใช้ชีวิตและพาครอบครัวเล็กๆ ให้รอดนั้น Pachinko ทำให้เรามองเห็นร่องรอยบาดแผลทางประวัติศาสตร์ขนาดใหญ่ทั้งที่เกาหลีและญี่ปุ่นเคยเผชิญ เราได้รับรู้เรื่องราวของแผ่นดินเกาหลีในไฟสงคราม การก่อตัวและความขัดแย้งทางความคิด การขีดเส้นแบ่งประเทศออกเป็นสอง ผลพวงของไฟสงคราม การหลอกหญิงสาวไปทำงานที่ไม่มีจริงและได้กลับมาเพียงร่างไร้วิญญาณ
บ้านเกิด แผ่นดินแม่ ความเป็นชาติ และภาวะไร้บ้าน
การเล่าถึงภาวะพลัดถิ่น เช่นว่าการโยกย้ายไปใช้ชีวิตในแผ่นดินอื่นนั้น ‘แผ่นดิน’ นับอุปลักษณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งในการ ‘หยั่งราก’ เพื่อให้ตัวตนของการพลัดถิ่นได้ยืนหยัดระบัดใบและสืบทอดลูกหลานต่อไปได้อย่างมั่นคงและแข็งแรง การแบ่งช่วงตอนของ Pachinko จึงเต็มไปด้วยความหมายและชวนให้ขบคิดอย่างยอกย้อน
ในช่วงที่สอง เมื่อเราเปิดถึงชื่อพาร์ตที่สองของนวนิยายที่ใช้ชื่อตอนว่า ‘แผ่นดินแม่’ ผู้เขียนจะเลือกช่วงการย้ายไปสู่ญี่ปุ่นโดยใช้การมีลูกของซุนจาเป็นหมุดหมายสำคัญ
แน่นอน คำว่าแผ่นดินแม่เป็นคำที่เต็มไปด้วยความหมาย แต่ก็ช่างยอกย้อนกับเหล่าผู้พลัดถิ่น
ในระดับเรื่องราว ซุนจากลายเป็นแม่ แต่ในระดับความหมาย โอซาก้าเป็นแผ่นดินแม่ของเธอไหม เธอเองกลายเป็นแม่และพึงพยายามลงหลักหยั่งรากเพื่อให้ลูกๆ ได้เติบโต คำว่าแผ่นดินแม่ในที่นี้เลยน่าขบคิดว่าหมายถึงญี่ปุ่นเป็นแผ่นดินแม่ของทั้งโนอาและโมซาสึ—ลูกๆ ทั้งสองของเธอหรือเปล่า ทั้งที่พวกเขาเองก็ยังคงสถานะคนนอกอยู่บนแผ่นดินแห่งนี้
การเล่าถึงการหยั่งรากในงานยุคก่อนมักพูดถึงการก่อร่างสร้างครอบครัวลงบนผืนดิน มีการเพาะปลูกและหล่อเลี้ยงด้วยผลผลิตและอาหาร คือเป็นภาพการหยั่งรากเชิงความหมายที่มีการหยั่งและสร้างบ้านขึ้นจริงๆ เราเองก็เห็นความพยายามทำนองเดียวกันใน Pachinko แต่ทว่าต่างวิธีการกัน
การหยั่งรากใน Pachinko คือการหยั่งรากในเมืองใหญ่ มีหลายตอนที่ซุนจาหวนคิดถึงบ้านในยองโดและนิยามที่แห่งนั้นเป็นเหมือนสวนเอเดน ดินแดนที่แม้จะยากลำบากแต่ก็อุดมสมบูรณ์ เป็นผืนดินที่เจริญงอกงามและเลี้ยงดูผู้คนบนแดนดินนั้นได้
ดังนั้นจึงไม่แปลกที่การหยั่งรากในโลกสมัยใหม่บนแผ่นดินอื่นจึงสัมพันธ์กับการสร้างบ้านและการสร้างตัวในครรลองใหม่ เราได้เห็นบ้านที่ราบเป็นหน้ากลองจากระเบิด และเห็นการสร้างบ้านในนามของการสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นใหม่ ทว่าจากต้นจนท้าย ประเด็นเรื่องบ้านก็ยังคงอยู่ในใจของคนที่พลัดถิ่นฐานไป บ้านในฐานะดินแดนที่พวกเขาจากมาดำรงอยู่ในความทรงจำ
สำหรับบางคน บ้านเกิดอย่างเกาหลีในตอนนั้นไม่มีอยู่จริง แผ่นดินเกาหลีในทางกายภาพกำลังแตกเป็นเสี่ยงๆ ด้วยไฟสงครามและการถูกขีดเส้นแบ่งปัน การก่อร่างบ้านและการก่อร่างตัวสำหรับหลายตัวละครจึงหมายถึงความมั่งคั่งและการก้าวไปสู่การเป็นส่วนหนึ่งของโลกสมัยใหม่ ซึ่งถ้าเราย้อนดูช่วงชีวิตของคนทั้งสี่รุ่น ดูเหมือนว่าบ้านของครอบครัวนี้ก็มีความเป็นผู้ประกอบการ พูดเรื่องการบริหารจัดการและการทำมาหากินเพื่อเอาตัวรอดมาตั้งแต่ต้น ดังนั้นแล้วภาคสุดท้ายของเรื่องจึงใช้ชื่อการตั้งรกรากในนามของกิจการ คือปาจิงโกะ
ปาจิงโกะ เกมของโชคชะตาและอุปลักษณ์ทางศาสนา
Pachinko เป็นนวนิยายที่อ่านสนุก ขณะเดียวกันก็มีบริบทและมีประเด็นซับซ้อนที่ค่อยๆ เผยออกมา เช่น มิติทางประวัติศาสตร์และบาดแผลของความรุนแรง ประเด็นเรื่องอัตลักษณ์และการเป็นคนพลัดถิ่น นอกจากนี้ ยังมีหนึ่งในวิธีการเล่าเรื่องหลักคือการอ้างอิงทางศาสนา ซึ่งน่าจะเกี่ยวข้องกับบริบทที่คนเกาหลีใช้ศรัทธาและศาสนาในการนำชีวิตผ่านวิกฤตใหญ่หลวงทั้งหลาย
แม้ด้านหนึ่งคริสต์ศาสนาจะเป็นชนวนความขัดแย้งและวิกฤตทางอัตลักษณ์ในหลายๆ ด้านของความเป็นเกาหลีร่วมสมัย เช่น การไม่ยอมเคารพศาลชินโตในบริบทสังคมญี่ปุ่น หรือความเชื่อบางอย่างที่ขัดกับความเป็นไปในทางโลก แต่การอ้างอิงพระคัมภีร์ก็ถือเป็นแกนของ Pachinko ดูจากการตั้งชื่อตัวละครที่ตัวละครหลักเกือบทั้งหมดเป็นชื่อบุคคลในพระคัมภีร์ โดยเฉพาะลูกชายทั้งสอง—โนอาและโมซาสึ ที่มาจากโนอาห์และโมเสส
การอ้างอิงพระคัมภีร์และอุปลักษณ์ทางคริสต์ศาสนา ทำให้ตัวเรื่องมีความซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงกลางเรื่องที่ผู้เขียนเริ่มอ้างอิงประเด็นการอพยพเข้ากับมิติเรื่องเล่าทางศาสนา ซึ่งนอกจากบริบทผู้อพยพเกาหลีแล้ว ยังอาจสะท้อนถึงบรรยากาศและปัญหาของผู้อพยพในปัจจุบัน (หนังสือตีพิมพ์ในปี 2017)
ในพระคัมภีร์ เรื่องราวของทั้งโนอาห์และโมเสสล้วนเป็นผู้ที่พาให้เกิดการอพยพ ด้านหนึ่งคือการพาให้ผู้คนรอดโดยการลี้จากดินแดนเดิมไปสู่ดินแดนใหม่ ซึ่งในช่วงกลางๆ เรื่องของ Pachinko เราจะเริ่มเห็นการอ้างและกลับไปตีความพระคัมภีร์ใหม่ เพื่อนิยามและย้อนอคติที่เกี่ยวข้องกับคนนอกหรือผู้อพยพจากดินแดนอื่น อันเป็นการย้อนความเชื่อและทัศนคติญี่ปุ่นที่มีต่อคนนอก ซึ่งก็อาจจะย้อนความคิดของเราในบริบทร่วมสมัย ไม่ว่าจะการอพยพใดๆ รวมไปถึงการกีดกันทางชาติพันธุ์ที่แบ่งแยกผู้คนไปจนถึงการขบคิดเรื่องชาติ เรื่องเขตแดน และเรื่องคนอื่น (the other)
นอกจากนี้ ในช่วงดังกล่าว ตัวเอกอย่างซุนจาที่แม้ว่าจะมีศรัทธาในพระเจ้าและเส้นทางของคริสเตียน ก็ถูกท้าทายและต้องขบคิดในศรัทธาของตน ในช่วงนั้นเองเป็นช่วงที่เราเริ่มสงสัยว่า ชะตาชีวิตของผู้คนแห่งศรัทธาแต่ทว่าย่ำแย่ยิ่งนั้น ไหนเลยคือการช่วยให้รอดของพระผู้ไถ่ และไหนเลยคือการรอดพ้นของผู้ศรัทธาบนหนทางของความทุกข์ทน
การบรรจบกันของอุปลักษณ์ใน Pachinko คือการอ้างอิงพระคัมภีร์ที่มีตลอดเรื่องดูจะสัมพันธ์กับการเกิดขึ้นของกิจการปาจิงโกะ ชีวิตสมัยใหม่ในด้านหนึ่งอาจสัมพันธ์ทั้งกับการใช้ชีวิตไปตามชะตาและเงื่อนไขที่แตกต่างกัน คำพูดสำคัญเช่น “God works in mysterious way.” ก็คล้ายกับภาพของการเคาะหมุดเครื่องปาจิงโกะที่เจ้าของเครื่องแอบกำกับเส้นทางหรือโชคของผู้คนเอาไว้
ในระดับปรัชญา นอกจากประเด็นเรื่องอัตลักษณ์ การค่อยๆ สร้างตัวตนและรากเหง้าขึ้นในแผ่นดินอื่น ประเด็นโชคชะตาและการถูกลิขิต รวมถึงการไถ่บาปและช่วยให้รอด จึงเป็นหนึ่งแกนหลักที่น่าคิดคำนึง
บางครั้งชีวิตของเราอาจเป็นไปโดยมีเส้นทางของชะตาที่เป็นอิสระ แต่เราเองก็อาจจะกำกับเส้นทางบางอย่างไว้ ไม่ว่าจะเป็นแผนของพระเจ้า หรือการตอกหมุดของปาจิงโกะที่อาจจะไม่ได้เป็นธรรม—เช่นเดียวกับการเป็นคนพลัดถิ่นจากดินแดนที่ถูกเหยียดหยามชิงชัง
ที่สุดแล้ว Pachinko ถือเป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ช่วงรอยต่อสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยสีสัน เมื่ออ่านไปแล้ว นอกจากความรู้สึกเจ็บปวดและการหวังให้ชีวิตที่ถูกกดขี่ได้ลืมตาอ้าปาก พร้อมมีโชคดีเข้ามาในชีวิตได้สักที ผู้เขียนยังแทรกความรู้และกลเม็ดในการย้อนประเด็นอันยอกย้อนผ่านการอ้างอิงตัวบทอื่นๆ เช่น นวนิยายที่สัมพันธ์กับยุควิกตอเรียน เรื่องเล่าในไบเบิล ไปจนถึงการอ้างอิงตัวบทวิชาการสำคัญ เช่น ชุมชนจินตกรรม (Imagined Communities) ของ เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน (Benedict Anderson) ที่ทำให้เรายอกใจ พร้อมคิดทบทวนเรื่องชาติและประเด็นซับซ้อนทางอัตลักษณ์อื่นๆ ที่ยังคงสดใหม่อยู่ในปัจจุบัน
Pachinko จึงนับเป็นอีกหนึ่งงานเขียนชั้นดี
ทั้งสำหรับบ้านเราที่หมกมุ่นกับคำว่าซอฟต์พาวเวอร์ที่จะย้อนดูการต่อสู้และประเด็นทางอัตลักษณ์ในห้วงเวลาที่เกาหลีแทบจะไม่มีอัตลักษณ์และไม่มีบ้าน ไม่มีแผ่นดินในสายตาคนอื่น
ทั้งยังสัมพันธ์กับห้วงเวลาที่บางส่วนของโลกประสบกับปัญหาของผู้อพยพ การอพยพจากซีเรียหรือตะวันออกกลางอื่นๆ กำลังเกิดการผลัดขึ้นพร้อมๆ กับชาวยูเครนที่กำลังลี้ภัยสงคราม ซึ่งเราเองก็เคยมีความคิดอันเผ็ดร้อนต่อการอพยพใกล้ตัวอย่างโรฮิงญา และในด้านหนึ่ง ในหลายภาคส่วน หลายอุตสาหกรรมของเราเองก็กำลังขับเคลื่อนด้วยคนแปลกหน้าจากแผ่นดินอื่น ซึ่งหลายครั้งเราก็กระทำต่อคนเหล่านั้นไม่ต่างกับที่คนเกาหลีเคยถูกกระทำในช่วงก่อนปี 2000