SAGEUK—KOREAN HISTORY THROUGH ENTERTAINMENT MEDIA
ซีรีส์เกาหลีแนวประวัติศาสตร์ย้อนยุคที่เป็นมากกว่าสื่อบันเทิง
เรื่อง: กรุณพร เชษฐพยัคฆ์
ภาพ: ms.midsummer
แดจังกึม จอมนางแห่งวังหลวง, หมอโฮจุน คนดีที่โลกรอ, จูมง มหาบุรุษกู้บังลังก์ หรือแม้แต่ Mr. Queen ซีรีส์สุดฮอตที่เพิ่งออนแอร์ตอนจบไปเมื่อสัปดาห์ก่อน
ซีรีส์เหล่านี้ล้วนแต่เป็นซีรีส์เกาหลีพีเรียดย้อนยุคประวัติศาสตร์ที่หลายคนต้องคุ้นชื่อคุ้นหู จนอาจเรียกได้ว่าซีรีส์แนวนี้ คือหนึ่งในหมวดที่ได้รับความนิยมมากๆ ไม่แพ้หมวดอื่นๆ ด้วยเนื้อเรื่องที่คล้ายจะอิงประวัติศาสตร์ ฉากหลังเป็นวังหลวงยุคเก่า ตัวละครใส่ชุดฮันบกหลากสี พร้อมบทพูดราชาศัพท์ มียศถาบรรดาศักดิ์
ซีรีส์แนวนี้มีชื่อเป็นภาษาเกาหลีว่า ‘ซากึก’ (Sageuk) ที่แปลว่า ‘ละครอิงประวัติศาสตร์’ โดยคำว่า ‘ซา’ มาจากคำจีน (사 / 史) แปลว่า ‘ประวัติศาสตร์’ และ ‘กึก’ (극 / 劇) แปลว่า ‘ละคร’ รวมกันแล้วหมายถึงซีรีส์ ภาพยนตร์ หรือสื่อบันเทิงที่สร้างจากเรื่องราวของบุคคลในประวัติศาสตร์ มีการเล่าถึงเหตุการณ์ หรือมีแบ็กกราวนด์ ฉากหลังของเรื่องย้อนยุคไปในเหตุการณ์ที่มีอยู่จริง โดยมักเป็นที่เข้าใจกันว่า เป็นเรื่องที่เล่าถึงประวัติศาสตร์เกาหลียุคเก่า ที่เกิดขึ้นก่อนสิ้นราชวงศ์โชซอนในปี 1897 หรือก่อนยุคจักรวรรดิเกาหลี
ในฐานะแฟนคลับซีรีส์เกาหลีที่ก็ดูซากึกมาอย่างโชกโชน ไม่น้อยไปกว่าใคร เราเห็นการเล่าเรื่องในแต่ละยุคสมัยที่แตกต่างกัน บางเรื่องมีการอ้างอิงถึงตัวละครเดียวกันแต่กลับเล่าประวัติศาสตร์ต่างกัน บางเรื่องมีตัวละครที่เสมือนมีชีวิตและตัวตนอยู่ในอดีตจริงๆ ก็กลับเป็นเพียงเรื่องแต่ง และบางเรื่องก็แฟนตาซีเสียจนไม่น่าจะอิงประวัติศาสตร์ เราจึงอยากพาไปดูนิยามของซากึกแต่ละแบบ รวมไปถึงการเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ผ่านสื่อบันเทิงว่ามีผลต่อการรับรู้ รักชาติ และมองประเทศของตัวเองกันอย่างไรบ้าง ไปดูกัน
ซากึกมีมาแต่ตั้งแต่ยุคไหน มีจุดเริ่มต้นแต่ใดมา?
ก่อนหน้านี้ ซากึกไม่ใช่เพียงแค่ภาพยนตร์และซีรีส์ แต่ยังหมายถึงการเล่าเรื่องในรูปแบบละครเวที การละเล่น หรือโอเปราเกาหลีแบบดั้งเดิมที่เรียกว่า ‘ชางกึก’ ด้วย โดยแม้ว่าจะเป็นการเล่าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เกาหลี แต่ภาพยนตร์ซากึกเรื่องแรกกลับถูกกำกับโดยคนญี่ปุ่น ในยุคที่เกาหลีตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่น กับภาพยนตร์เรื่อง The Story of Chun-hyang ในปี 1923 ที่สร้างมาจากนิทานพื้นบ้านสมัยโชซอน ซึ่งต่อมาภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกนำไปดัดแปลงอีกหลายครั้ง ทั้งในรูปแบบภาพยนตร์และละคร
หลังหมดยุคอาณานิคมและสงครามเกาหลี ช่วงทศวรรษ 1950s-1980s เกาหลีใต้ได้เริ่มเข้าสู่วงการภาพยนตร์ ทำให้เกิดภาพยนตร์ซากึกมากมายในช่วงนี้ โดยเรียกได้ว่า ช่วง 1960s ถือเป็นช่วงที่ภาพยนตร์ซากึกประสบความสำเร็จมาก เห็นได้จากการแพร่หลายในรูปแบบต่างๆ ทั้งบทวิทยุและหนังสือนิยายด้วย ประกอบกับสถานการณ์การเมืองของเกาหลีใต้ ที่ถูกปกครองด้วยเผด็จการทหาร และมีความอนุรักษนิยม ทำให้ซากึกโดยเฉพาะที่เล่าเรื่องความสัมพันธ์ของกษัตริย์ ขุนนาง และประวัติศาสตร์ ได้รับความนิยมมากขึ้นด้วย
แต่ซากึกที่เราคุ้นเคยกันแบบซีรีส์ มีความยาวหลายๆ ตอน และฉายผ่านทางโทรทัศน์นั้น เพิ่งจะเริ่มมีครั้งแรกในปี 1962 กับซีรีส์เรื่อง Gukto malli (국토만리) ของช่อง KBS (ตอนนั้นเกาหลีใต้มีสถานีโทรทัศน์เพียงช่องเดียว) ที่เล่าประวัติศาสตร์ในยุคโคกูรยอ ซึ่งหลังจากนั้น ยุคของซีรีส์ซากึกเองก็มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนมาถึงยุคปัจจุบัน
ท่ามกลางวันเวลาและกระแสที่เปลี่ยนไป ซากึกเองก็ถูกปรับแต่ง เปลี่ยนรูปแบบ และมีช่วงที่ความนิยมลดลงด้วย เนื่องจากซากึกมักจะฉายภาพประวัติศาสตร์โบราณ หรือดัดแปลงจากเรื่องเล่า นิทานพื้นบ้าน ไม่ค่อยมีการเติมแต่งเนื้อหาที่หวือหวาเข้าไป ทั้งยังมักมีจำนวนตอนที่ยาวมาก ขนาดซีรีส์ปัจจุบันที่บางคนคิดว่ายาวแล้วยังต้องพ่ายแพ้ (ความยาวของซีรีส์ในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 16-20 ตอน) เพราะซากึกแต่ละเรื่องมีความยาวเกือบ 50-100 ตอน และยังมีที่ยาวมากที่สุดคือ Joseonwangjo 500 nyeon (조선왕조500년) ที่อาจแปลชื่อไทยได้ว่า ‘500 ปีของยุคโชซอน’ ที่ฉายยาวนานถึง 8 ปี! ด้วยซีรีส์แยก 11 เรื่อง รวมความยาว 800 ตอน ซึ่งเรื่องนี้ ก็ถูกจัดว่าเป็นไดอารี่เล่าบันทึกประวัติศาสตร์ของยุคนั้นเลยด้วย
ช่วงหนึ่งซากึกเองก็โด่งดังมากในไทย จากการนำโปรแกรมมาฉายช่วงเย็นวันเสาร์และวันอาทิตย์ทางสถานีไทยทีวีสีช่อง 3 ซึ่งทำให้เราคุ้นเคยกับซีรีส์ซากึกที่มีความยาวแบบนี้ เช่น แดจังกึม (54 ตอน) หรือ หมอโฮจุน (64 ตอน) แต่ระยะหลังเราจะเห็นว่าซากึกที่ยาวเช่นนี้เริ่มหายไป หลังช่วงทศวรรษ 90s ซากึกถูกปรับเปลี่ยนให้ทันสมัย ในรูปแบบผสมผสานใหม่ๆ มากขึ้น ทั้งการเพิ่มพล็อตแฟนตาซี การแต่งบทใหม่ หรือการดัดแปลงเพื่อเล่าในมุมอื่นๆ อย่างคอมเมดี้ซากึก แบบ Mr. Queen ที่เราเห็นในปัจจุบันด้วย
ซากึก และรูปแบบการเล่าที่หลากหลาย
อย่างที่เล่าไปว่า ซากึกล้วนหมายถึงเรื่องราวที่เล่าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์หรือฉากในอดีต ดังนั้นเราจะเห็นทั้งเรื่องที่จริงไม่จริงบ้าง แต่งเพิ่มบ้าง ไปถึงเรื่องที่แต่งบทใหม่ทั้งหมด ซึ่งซากึกเองก็ถูกแบ่งหมวดและประเภทของแต่ละเรื่อง ที่อาจทำให้เราเข้าใจได้ว่า ทำไมแต่ละเรื่องอยู่ในยุคเดียวกัน แต่เล่าไม่เหมือนกัน หรือทำไมในยุคเดียวกันนั้น ตัวละครตัวเดียวกัน ถึงต่างบทบาทกันได้เพียงนี้
ซากึกประเภทแรกคือ ‘Authentic sageuks’ หรืออาจเรียกได้ว่า Docudrama เพราะเป็นซากึกที่อ้างอิงจากบุคคลจริงหรือเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์ แม้ว่าจะสร้างเพื่อความบันเทิง แต่ซากึกประเภทนี้เข้าใกล้ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นมากที่สุด โดยในการนำเสนอนั้น จะมีการค้นคว้าอย่างละเอียด ใช้บันทึกทางประวัติศาสตร์ ในบางเรื่องอาจมีผู้บรรยายข้อมูลเพิ่มเติม มีนักวิจัย และนักประวัติศาสตร์ร่วมในการเขียนบท เช่น ซีรีส์ ชุนชู ยอดบุรุษพิทักษ์แผ่นดิน (2012) ที่เล่าเรื่องสมัยคาบสมุทรเกาหลีแบ่งออกเป็น 3 อาณาจักร โคกูรยอ แพคเจ และชิลลา โดยมีตัวเอกอย่าง คิมชุนชู ซึ่งต่อมาได้ขึ้นสถาปนาเป็นพระเจ้าแทจงมูยอล แห่งอาณาจักรชิลลา เป็นผู้รวบรวม 3 อาณาจักรเข้าเป็นหนึ่งเดียวได้สำเร็จ
แม้ปัจจุบัน จะมีการสร้างซากึกแบบนี้น้อยลง จนคาดการณ์ว่าคนจะดูซากึกแบบนี้น้อยลง แต่ในปี 2014 เมื่อ ชองโดจอน ยอดขุนนางปฐมกษัตริย์ ที่เล่าเรื่องราวของ ชอง โดจอน ผู้มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งและวางรากฐานทางการเมืองให้อาณาจักรโชซอน และกุนซือของพระเจ้าแทโจ กษัตริย์องค์แรกของโชซอนออกฉายทางช่อง KBS กลับทำเรตติ้งได้สูงมาก และกวาดรางวัลทั้งแดซัง (รางวัลใหญ่ที่สุดของงานประกาศรางวัลประจำปีของสถานีโทรทัศน์) ผู้กำกับยอดเยี่ยม ไปถึงบทยอดเยี่ยม และอีกมากมาย ซึ่งทำให้เห็นว่ายังมีแฟนคลับไม่น้อย ที่รอคอยซากึกแท้ๆ แบบนี้อยู่
ซากึกประเภทที่ 2 คือ ‘Fusion sageuks’ หรือเรียกได้ว่าเป็นขั้วตรงข้ามของซากึกประเภทแรก เพราะฟิวชั่นซากึกนั้น ล้วนแต่เป็นเรื่องแต่ง ที่ใช้ฉากหลังทางประวัติศาสตร์ หรือบุคคลในประวัติศาสตร์บอกเล่าเรื่องราว หรือบริบทสมมติเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ลิขิตรักตะวันและจันทรา (Moon Embracing the Sun) หรือ บัณฑิตหน้าใส หัวใจว้าวุ่น (Sungkyunkwan Scandal) ซึ่งซากึกประเภทนี้มักจะมีการเดินทางข้ามเวลา มีพลังเหนือธรรมชาติ สัตว์ประหลาด หรือความแฟนตาซีมากมายมาผสมผสาน
แต่ไม่ใช่แค่แฟนตาซีเท่านั้นที่เป็นฟิวชั่นซากึก เพราะบางเรื่องราวที่ดูเหมือนจริงมาก ก็เป็นซากึกประเภทนี้เช่นกัน อย่าง แดจังกึม จอมนางแห่งวังหลวง หรือ จูมง มหาบุรุษกู้บังลังก์ ล้วนแต่เป็นเรื่องราวที่แต่งขึ้น เพราะตัวละครหลักของเรื่องเหล่านี้ แทบไม่มีปรากฏในบันทึกทางประวัติศาสตร์ หรือมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เรียกได้ว่า 90% ของเรื่อง มาจากการแต่งของผู้เขียนบท และอีก 10% อิงจากประวัติศาสตร์จริง โดยใช้เอกสารทางประวัติศาสตร์ที่มีอยู่เล็กน้อยเท่านั้น
แต่การแบ่งซากึกเป็น 2 ประเภท ก็ถือว่ายังไม่เคลียร์ 100% สำหรับผู้ชมและนักวิจารณ์ที่จะทำให้รับรู้ว่า ตนกำลังเสพประวัติศาสตร์ชนิดไหน จึงมีการแบ่งประเภทของซากึกขึ้นมาอีก คือ ‘Faction Sagueks’ (Fact + Fiction) หรือซากึกที่ผสมผสานทั้งเรื่องแต่งและเรื่องจริงมาเป็นเรื่องราวใหม่ โดยในยุคหลังปี 2000 ซากึกประเภทนี้ได้รับความนิยมมาก เช่นเรื่อง กีซึงนัง จอมนางสองแผ่นดิน (Empress Ki) ซึ่งในประวัติศาสตร์นั้นมีตัวตนจริงของจักรพรรดินีกี แต่เส้นเรื่องหลายอย่างระหว่างซีรีส์กับประวัติศาสตร์นั้นแตกต่างกันไป
หรืออย่าง Mr. Queen เองก็ถูกจัดอยู่ในประเภทนี้เช่นกัน จากตัวละครพระเจ้าชอลจง มเหสีคิม และการแย่งชิงอำนาจของตระกูลคิมและโจ ที่มีจริงในประวัติศาสตร์ แต่เส้นเรื่องต่างๆ นั้นมีการเสริมเติมแต่งเข้าไปจนทำให้พระเจ้าชอลจงตัวจริงในประวัติศาสตร์ ที่ถูกนิยามว่าเป็นหุ่นเชิด ไม่สง่างาม ไม่มีความรู้ เป็นชาวนามาก่อน กลายเป็นกษัตริย์ที่หล่อเท่ เก่งกาจขึ้นมาได้เช่นกัน
เรื่องเดียวกัน เล่าต่างกัน
มุมมองของคนดูต่อซากึกที่เพิ่งสร้าง
หากดูทงอี จอมนางคู่บัลลังก์ ก็จะเห็นว่า สนมซุกบินเป็นคนดี รักความยุติธรรม คอยอยู่เคียงข้างพระมหากษัตริย์ แต่หากดูจาง อ๊กจอง ตำนานรักคู่บัลลังก์ กลับเห็นว่าสนมซุกบินเป็นตัวร้าย และสนมฮีบินเป็นคนที่รักพระราชาสุดใจ จนไม่แน่ใจว่า ประวัติศาสตร์ไหนคือเรื่องจริง และสรุปแล้ว พระเจ้าซุกจงรักสนมคนไหนมากกว่ากัน?
เรียกได้ว่า เพราะประวัติศาสตร์จากซีรีส์ หากไม่ใช่ ‘Authentic sageuks’ แล้ว ก็มักจะมีการดัดแปลง เสริมแต่งเพื่อความบันเทิง มากกว่าการอิงเรื่องราวจริง ทั้งยังขึ้นอยู่กับคนเขียนบท ผู้กำกับ ตัวละครที่เลือกจะถ่ายทอด และการเลือกหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกันมาขยายมุมมอง ทำให้หลายครั้ง เราเห็นความแตกต่างของเรื่องเล่าจากประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้างนี้หลายชุด ซึ่งประเด็นการแต่งเรื่องบ้าง ผสมอิงประวัติศาสตร์จริงบ้างนี้ ก็เคยเป็นประเด็นดราม่าในวงการเกาหลีเช่นกัน
เรื่องที่เป็นประเด็นถกเถียงมาก คงไม่พ้น กีซึงนัง จอมนางสองแผ่นดิน ซีรีส์ Faction ในปี 2013 ที่ในเรื่องฉายภาพจักรพรรดินีที่ถูกบังคับให้จากบ้านในโกกูรยอมาเป็นสนมในราชวงศ์หยวนของจีน พร้อมสร้างภาพลักษณ์ให้เธอเป็นผู้เสียสละและนักรบ ผสมผสานกับเรื่องราวความรักของเธอ ซึ่งการเล่าเรื่องมุมนี้ ก็เกิดดราม่าขึ้น เมื่อชาวเน็ตบางส่วน และ ยูน ซอกจิน (Yoon Suk Jin) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยชุงนัม มองว่าซีรีส์เรื่องนี้ สร้างภาพนักรบหญิงที่กล้าหาญให้เธอ และหากมีการเล่าแบบนี้ต่อไป อาจทำให้คนจดจำเธอในภาพลักษณ์ที่ดี รวมถึงสร้างความสับสนให้กับผู้ชม
เพราะในประวัติศาสตร์จริง เธอถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์จีนว่า มีส่วนทำให้ราชวงศ์หยวนล่มสลายจากการคอรัปชั่น ขณะที่แม้แต่ในทางเกาหลีเอง ก็บันทึกว่าเธอเป็นผู้ทรยศ และรุกรานบ้านเกิดของตัวเอง ซึ่งนักแสดงของเรื่องก็ออกมาโต้ตอบว่า นี่ไม่ใช่สารคดี แต่เป็นละครทีวี ทำให้บางครั้งการดูซีรีส์ซากึกเหล่านี้ เรามักจะเห็นคำเตือน ‘ซีรีส์เรื่องนี้เป็นเหตุการณ์สมมติ ตัวละคร และเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ไม่มีอยู่จริง’ เป็นการแก้ปัญหาการถกเถียงต่างๆ แทน
แน่นอนว่า กีซึงนัง จอมนางสองแผ่นดิน ไม่ใช่ซากึกเรื่องแรกและเรื่องเดียวที่มีดราม่าแนวนี้ แม้ว่าจะมีการถกเถียงเรื่องความถูกต้องของประวัติศาสตร์กับการถ่ายทอดของสื่อบันเทิง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทั้งหนังและซีรีส์แนวซากึกนั้น เป็นที่นิยมมากในหมู่ชาวเกาหลีใต้ ทำรายได้มหาศาลใน Box office ของประเทศ และทำเรตติ้งสูงในช่องทีวี
นอกจากนี้ ซากึกยังมีส่วนในการผลักดันชาตินิยมและปลุกความรักชาติไม่มากก็น้อยด้วย ซึ่งประวัติศาสตร์บางอย่างก็สามารถเชื่อมโยงได้ในยุคปัจจุบัน โดยเรียกได้ว่า มีการนำประวัติศาสตร์บุคคลสำคัญตั้งแต่เริ่มเป็นรัฐชาติมาทำเป็นซีรีส์เกาหลีแล้วทุกพระองค์
โดยเฉพาะช่วงโชซอน ที่รุ่งเรืองมากในประวัติศาสตร์ของเกาหลี มีซีรีส์ที่เล่าเรื่องตั้งแต่ยุคล่มสลายของอาณาจักรโครยอ มาถึงการสร้างอาณาจักรโชซอน หรือในยุคของพระเจ้าซอนโจ กษัตริย์องค์ที่ 14 แห่งราชวงศ์โชซอน (ปี 1567-1608) ซึ่งเป็นช่วงหนึ่งที่มักถูกนำมาเล่า มีเหตุการณ์สำคัญอย่างในช่วงที่ถูกญี่ปุ่นรุกราน มีการนำไปสร้างเรื่องราวต่อได้มากมาย ถึงวีรบุรุษในประวัติศาสตร์ เช่น เรื่องราวของแม่ทัพ อี ซุนชิน ที่นำกองทัพเกาหลีต่อสู้กับญี่ปุ่น จนเอาชนะได้แม้มีกองกำลังน้อยกว่า เป็นการฉายซ้ำถึงภาพความเป็นผู้นำของแม่ทัพลีที่มักจะถูกพูดถึงและยกย่องอยู่เสมอ หรือในยุคพระเจ้าเซจงมหาราช กษัตริย์องค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์โชซอน (ปี 1397-1450) ผู้ประดิษฐ์ตัวอักษรฮันกึล
ไม่เพียงปลุกใจให้รักชาติ ซีรีส์ซากึกยังกลายเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ดึงดูดให้ผู้ชมที่ไม่ใช่ชาวเกาหลีใต้ หันมาสนใจการท่องเที่ยว ไปถึงศึกษาเรื่องราวประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมโบราณเชิงลึกของเกาหลีที่มากกว่าปรากฏในซีรีส์ ทั้งจากงบประมาณที่ทุ่มทุนสร้างจำนวนมาก ฉาก คอสตูม ที่มีการศึกษารายละเอียด แม้เป็นซากึกแบบ Fusion และ Faction รวมไปถึงการแสดงของเหล่าดาราเกาหลีใต้ ที่การันตีความสมจริงจากการเข้าถึงบทบาท การแต่งหน้าตา สำเนียงการพูด ยิ่งเป็นปัจจัยให้เราอินกับเรื่องราว และตัวละครได้ง่ายๆ
อีกทั้งความโด่งดังของซากึกที่ขยายออกไปนอกประเทศ สู่ระดับโลก ยังได้สร้างความภาคภูมิใจให้ชาวเกาหลีใต้ ว่าประเทศของตนมีประวัติศาสตร์ที่รุ่งเรืองและยาวนาน จนสามารถนำมาถ่ายทอดวัฒนธรรม และขายความบันเทิงให้ชาวโลกได้เห็นผ่านสื่อเหล่านี้ด้วย
อ้างอิง:
• koreanhistoricaldramas.com/introduction-to-sageuks/
• kdramasinpjamas.wordpress.com/2019/02/22/an-introduction-to-korean-historical-dramas-sageuks/
• hellokpop.com/editorial/sageuk-korean-historical-dramas/
• foreignpolicy.com/2014/09/19/the-admirals-revenge/
• campustimes.org/2019/11/10/patriotism-can-be-dangerous-but-south-korea-shows-its-necessary/
• koreatimes.co.kr/www/news/culture/2015/09/148_145578.html
• historyofroyalwomen.com/the-royal-women/ki-the-tarnished-image-of-the-last-mongolian-empress/
• kdramastars.com/articles/11805/20131106/empress-ki-reigns-but-not-without-controversy.html