KNOW YOUR ENDING
ว่าด้วยกระบวนการเขียนสคริปต์เพื่อมุ่งไปสู่ตอนจบสุดคลาสสิกของ ‘SE7EN’
เรื่อง: ทานเกวียน ชูสง่า
ภาพ: ms.midsummer
*บทความนี้ (จำต้อง) เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของ Se7en
1
น้อยคนที่จะลืมตอนจบอันชวนช็อกของ Se7en (1995) ได้ลง เมื่อนักสืบมิลส์ (รับบทโดย แบรด พิตต์) กับนักสืบซอมเมอร์เซต (รับบทโดย มอร์แกน ฟรีแมน) สองตัวละครนำของเรื่อง ค้นพบว่ากล่องพัสดุที่ถูกนำมาส่งในช่วงท้ายนั้นบรรจุอะไรเอาไว้
เล่าเนื้อเรื่องเพื่อทบทวนความทรงจำกันสักเล็กน้อย Se7en เล่าเหตุการณ์ในช่วง 7 วันที่มิลส์และซอมเมอร์เซตต้องตามสืบคดีฆาตกรรมสะเทือนขวัญที่มีเป้าหมายคือการฆ่าคน 7 คน ซึ่งมีพฤติกรรมเชื่อมโยงกับบาปต้น 7 ประการในศาสนาคริสต์ อันประกอบด้วย Lust (ราคะ), Wrath (โมหะ), Envy (ริษยา), Pride (ยโส), Gluttony (ตะกละ), Greed (โลภะ) และ Sloth (เกียจคร้าน)
สองนักสืบวิ่งไล่ตามเบาะแสไปเรื่อยๆ แต่ยิ่งเวลาผ่านไปก็ดูเหมือนไม่มีทีท่าจะจับฆาตกรได้เลย มิหนำซ้ำ เมื่อการฆาตกรรมต่อเนื่องดำเนินไปถึงศพที่ 5 กลับเป็นตัวฆาตกรอย่างจอห์น โด (รับบทโดย เควิน สเปซีย์) ที่เข้ามามอบตัวกับทางตำรวจเสียเอง แลกกับข้อเสนอที่ว่าตัวเขาจะยอมรับสารภาพ หากมิลส์และซอมเมอร์เซตยอมให้เขาเป็นคนพาไปยังสถานที่ซ่อนของสองศพสุดท้าย
มิลส์และซอมเมอร์เซตยอมรับข้อเสนอดังกล่าว ทว่าเมื่อทั้งคู่พาตัวจอห์น โด ไปยังสถานที่ตามคำบอกเล่า กลับกลายเป็นว่าที่แห่งนั้นมีเพียงรถตู้ที่ถูกว่าจ้างให้นำส่งพัสดุกล่องหนึ่งในช่วงเวลาหนึ่งทุ่ม (7.00 P.M.) เท่านั้น และเมื่อซอมเมอร์เซตเปิดกล่องออกมาก็พบว่าภายในบรรจุศีรษะของภรรยามิลส์ (รับบทโดย กวินเนธ พัลโทรว์) ที่ถูกฆ่าอย่างโหดเหี้ยม (เป็นศพที่ 6)
เรื่องราวของ Se7en ปิดฉากด้วยการเฉลยว่าสองบาปสุดท้ายที่เหลืออยู่ก็คือตัวฆาตกรอย่างจอห์น โด ที่เอ่ยปากว่าเขานั้นอิจฉา (Envy) มิลส์มากแค่ไหน ส่วนบาปอีกข้อก็คือตัวมิลส์เองที่กำลังเดือดดาลคลุ้มคลั่ง (Wrath) จนตัดสินใจยิงจอห์น โด ทิ้งในที่สุด (และทำให้ผู้ร้ายรายนี้กลายเป็นศพที่ 7) คดีฆาตกรรมต่อเนื่องรูดม่านปิดฉากลงด้วยความตายของผู้ร้าย ขณะเดียวกันก็เป็นชัยชนะของเขาด้วย
2
หัวที่อยู่ในกล่อง ชัยชนะของผู้ร้าย อาชญากรรมที่สมบูรณ์แบบ
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าตอนจบสุดมืดหม่นของ Se7en คือปัจจัยสำคัญที่ส่งให้หนังกลายเป็นที่จดจำจนเข้าขั้นเป็นหนังคลาสสิกตลอดกาล ยกระดับหนังที่ทำท่าว่าจะเป็นหนังฆาตกรต่อเนื่องธรรมดาๆ อีกเรื่อง ให้กลายเป็นงานขึ้นหิ้ง จนทำให้แม้เวลาจะผ่านไปมากกว่าสองทศวรรษ แต่ก็ยังมีคนหวนกลับมาพูดถึงหนังอยู่เรื่อยๆ
ยิ่งหากย้อนกลับไปดูสิ่งละอันพันละน้อยที่หนังจงใจหยอดไว้ตามรายทางก่อนจะมาถึงตอนจบ ทั้งการให้จอห์น โด พูดไดอะล็อกซ้ำๆ ว่าตัวเขานั้นชื่นชมนักสืบมิลส์มากแค่ไหน หรือการให้จอห์น โด เข้ามอบตัวในสภาพที่ทั้งตัวชุ่มโชกไปด้วยเลือด ซึ่งหากพิจารณาจากลำดับเหตุการณ์อีกรอบ คนดูก็จะพบว่านั่นคือเลือดจากศพภรรยาของมิลส์นั่นเอง ทุกสิ่งทุกอย่างของ Se7en ถูกร้อยเรียงไว้อย่างดีเพื่อนำไปสู่บทสรุปสุดท้ายของหนัง
สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะ แอนดรูว์ เควิน วอล์กเกอร์ (Andrew Kevin Walker) คนเขียนสคริปต์ของหนังเรื่องนี้มีไอเดียเกี่ยวกับตอนจบไว้ตั้งแต่ตอนที่ร่างเค้าโครงเรื่อง (Outline) แล้ว ทั้งเรื่องหัวที่อยู่ในกล่อง และการที่หนึ่งในตัวเอกได้กลายเป็นหนึ่งในบาปต้น 7 ประการเสียเอง
วอล์กเกอร์เขียนสคริปต์ดราฟต์แรกไปโดยที่รู้อยู่แล้วว่าเรื่องราวจะมุ่งไปสู่อะไร นั่นทำให้แม้ตัวละครภรรยาของมิลส์จะดูเหมือนไม่มีความสำคัญหรือเกี่ยวข้องอะไรกับเรื่องราวนัก แต่วอล์กเกอร์ก็เลือกจะดันตัวละครนี้ขึ้นมาให้มีความโดดเด่น จนเธอแทบจะเป็นแสงสว่างเพียงอย่างเดียวของหนัง เพราะยิ่งเธอมีความหมายกับคนดูมากเท่าไร การตัดสินใจในช่วงท้ายเรื่องก็ยิ่งมีน้ำหนักมากขึ้นเท่านั้น
นอกจากนั้น การรู้บทสรุปของเรื่อง ยังทำให้วอล์กเกอร์สามารถหยอดคำใบ้และความหมายแฝงในซีนต่างๆ ลงไปได้อย่างแนบเนียน ทั้งไดอะล็อกของซอมเมอร์เซตที่ว่า “เรื่องนี้ไม่มีทางจบสวยแน่ๆ” หรือหมายเลขห้องพักเลขที่ 5A ของมิลส์ ที่บ่งบอกว่าเขากำลังจะกลายไปเป็นบาปหมายเลข 5 หรือโมหะ จากลำดับบนกระดานที่เขียนไว้ในสถานีตำรวจ
“กุญแจสำคัญคือคุณต้องรู้ว่าจะมุ่งไปสู่จุดไหน ถ้าไม่รู้ แล้วคุณจะรู้ได้ยังไงว่าแก่นของเรื่องคืออะไร” วอล์กเกอร์พูดถึงกระบวนการเขียนสคริปต์ของเขา
จุดเริ่มต้นของ Se7en มาจากช่วงเวลาที่วอล์กเกอร์ยังใช้ชีวิตอยู่นิวยอร์ก และทำงานในร้านขายแผ่นเสียงอย่างทาวเวอร์ เรคคอร์ดส์ บรรยากาศของนิวยอร์กในช่วงขวบปีนั้น (ปลายยุค 80s) ไม่ใช่สภาพแวดล้อมที่ดีเท่าไร มันมีทั้งการแพร่ระบาดหนักของโคเคน และอาชญากรรมรูปแบบต่างๆ เกิดขึ้นแทบทุกหัวมุมถนน
ด้วยความอึดอัดกับงานประจำที่ทำ รวมถึงสภาพแวดล้อมอันเสื่อมโทรมของเมือง ทำให้วอล์กเกอร์ตั้งใจว่าเขาจะลองเขียนสคริปต์หนังขึ้นมาสักเรื่อง เพื่อพาตัวเองออกไปจากชีวิตที่เป็นอยู่ให้ได้
สภาพแวดล้อมอันเสื่อมโทรมและอาชญากรรมที่พบเห็นได้ทุกหนแห่ง ทำให้วอล์กเกอร์ได้ไอเดียเรื่องบาปต้น 7 ประการขึ้นมา เขาตั้งคำถามเล่นๆ ว่า จะเป็นอย่างไรถ้าหากมีใครสักคนพบเห็นการกระทำบาปเหล่านี้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน และมีความคิดเลยเถิดไปว่าอยากลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง ด้วยวิธีการที่สุดโต่งมากๆ
วิธีการทำงานของวอล์กเกอร์เป็นวิธีการที่มือเขียนบททั่วไปมักทำกัน คือร่างเค้าโครงเรื่องลงบนกระดาษก่อน โดยตีเส้นแบ่งหน้ากระดาษออกเป็นแนวตั้งสามแถว แบ่งพล็อตออกเป็นสามส่วนตามหลักโครงสร้างแบบสามองก์ (Three Act Structure) แล้วเขียนระบุลงไปคร่าวๆ ว่าแต่ละองก์ประกอบไปด้วยซีนอะไรบ้าง เพื่อให้เห็นภาพรวมทั้งหมด
แต่วอล์กเกอร์อาจจะต่างจากคนอื่นตรงที่ว่า เขามักจะคิดตอนจบให้ได้เสียก่อน จากนั้นค่อยลงมือเขียนเอาต์ไลน์ เพราะตอนจบนั่นเองที่จะเป็นตัวบ่งบอกว่าซีนแบบไหนที่จำเป็นกับเรื่องราว และซีนแบบไหนที่ไม่จำเป็นต้องมีก็ได้
“คุณต้องรู้ตอนจบของตัวเองก่อนถึงจะรู้ว่าคุณกำลังเขียนอะไรอยู่ แม้ว่าเขียนไปแล้วตอนจบของคุณอาจจะเปลี่ยนก็เถอะ แต่ผมว่าคุณจะรู้ได้เองว่าทิศทางไหนที่เหมาะสมกับเรื่องราว และทิศทางนั้นแหละจะเป็นตอนจบของคุณ”
3
แม้ตอนจบสุดมืดหม่นจะเป็นองค์ประกอบสำคัญของ Se7en แต่กว่าที่ตอนจบแบบดังกล่าวจะได้ไปอยู่ในหนังก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยเพราะความมืดหม่นของมันนั่นเองที่ทำให้สตูดิโอเป็นกังวล จนวอล์กเกอร์ถูกขอให้เปลี่ยนตอนจบเสียใหม่เพื่อลดโทนความมืดหม่นลงมา
ด้วยความที่ตอนนั้นวอล์กเกอร์ยังเป็นหน้าใหม่ในวงการ เขาจึงยินยอมทำตามคำขอของสตูดิโอ กลับไปเขียนสคริปต์ใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อปรับแก้ตอนจบ (เพราะรายละเอียดมากมายที่วอล์กเกอร์จงใจทิ้งไว้ทำให้ถ้ารื้อตอนจบก็ต้องรื้อทั้งสคริปต์) โดยมีทั้งไอเดียที่เขาคิดเองและไอเดียจากบรรดาผู้บริหารสตูดิโอ เช่น เปลี่ยนให้จอห์น โด จับภรรยาของมิลส์ไปขังไว้อีกที่ แล้วทั้งมิลส์และซอมเมอร์เซตไปช่วยไว้ได้ทันเวลา หรือเปลี่ยนจากหัวคนที่อยู่ในกล่องให้เป็นหัวสุนัข
ดูเหมือนว่ายิ่งเขียนก็ยิ่งออกทะเล ยิ่งแก้ก็ยิ่งพาหนังออกห่างจากความตั้งใจเดิมของเขาไปเรื่อยๆ วอล์กเกอร์อดทนเขียนสคริปต์ไปถึง 13 ดราฟต์ และเริ่มทำใจรับสภาพว่านี่คงไม่ใช่ผลงานที่เขาภาคภูมิใจเท่าไร
แต่ความบังเอิญก็คือ เมื่อสตูดิโอติดต่อให้ เดวิด ฟินเชอร์ (David Fincher) มารับหน้าที่กำกับหนัง พวกเขาไม่ได้ส่งสคริปต์ดราฟต์ที่แก้ไขล่าสุดไปให้ ดันพลาดส่งสคริปต์ดราฟต์แรกไปแทน
และกลายเป็นว่าดราฟต์ที่มีตอนจบแบบดั้งเดิมกลับโดนใจฟินเชอร์มากกว่า
“ฟินเชอร์สนใจกำกับนะ” วอล์กเกอร์เล่าถึงเหตุการณ์ดังกล่าว “แต่พอเขาพูดถึงเรื่องหัวที่อยู่ในกล่องขึ้นมา พวกสตูดิโอก็รีบบอกว่า ‘โอ้ ไม่นะ คุณได้สคริปต์ไปผิดดราฟต์แล้ว’ จากนั้นพวกเขาก็ส่งดราฟต์ที่ผ่านการแก้ไขแล้วไปให้ใหม่ ดราฟต์ที่มีตอนจบอีกแบบ แต่ฟินเชอร์ตอบว่า ไม่ล่ะ ผมไม่อยากทำอันนั้น”
ไม่เพียงแค่ฟินเชอร์ แต่เหล่านักแสดงทั้งพิตต์และฟรีแมนก็สนับสนุนตอนจบแบบดั้งเดิมของวอล์กเกอร์ด้วย พิตต์นั้นถึงขั้นยื่นเงื่อนไขว่าจะรับเล่นหนังเรื่องนี้ก็ต่อเมื่อมีการระบุเงื่อนไขลงไปในสัญญาเลยว่าหัวจะต้องอยู่ในกล่อง นอกจากนั้นแล้วตัวละครนักสืบมิลส์ที่เขาเล่นจะต้องยิงฆาตกรในตอนจบด้วยอารมณ์ล้วนๆ ไม่ใช่ด้วยเหตุผลอื่นใดที่จะทำให้เขากลายเป็นพระเอกผู้ผดุงความยุติธรรม
ถึงอย่างนั้น เหล่าผู้บริหารสตูดิโอก็ยังไม่ยอมง่ายๆ พวกเขาพยายามโน้มน้าวฟินเชอร์ให้เปลี่ยนตอนจบ จนฟินเชอร์ต้องเข้าไปพูดคุยเกลี้ยกล่อมอย่างจริงจัง
“ผมบอกพวกเขาว่า อีกสัก 50-60 ปีจากวันนี้ ซึ่งพวกเราคงจะตายกันไปนานแล้ว จะมีคนหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่งในงานปาร์ตี้ค็อกเทลพูดคุยกันเรื่องหนังที่พวกเขาเพิ่งได้ดูมาเมื่อคืน ไอ้หนังเรื่องที่มีหัวอยู่ในกล่อง ผมบอกว่านี่แหละคือหนังเรื่องนั้น ทุกคนที่ผมได้คุยล้วนจดจำหนังเรื่องนี้ว่าเป็นหนังที่มีหัวอยู่ในกล่อง ดังนั้นคุณจะเอาหัวในกล่องออกไปจากไอ้หนังที่ได้ชื่อว่ามีหัวอยู่ในกล่องไม่ได้”
การโน้มน้าวของฟินเชอร์ได้ผล สตูดิโอยินยอมให้เขาเก็บตอนจบแบบดั้งเดิมที่วอล์กเกอร์เขียนเอาไว้
และเรื่องราวที่เหลือถัดจากนั้นก็คือประวัติศาสตร์
4
“มันไม่ใช่ว่าผมรังเกียจตอนจบแบบแฮปปี้หรอกนะ แต่ตอนจบแบบมืดหม่นของ Se7en นั่นแหละคือสิ่งสำคัญ การเปลี่ยนตอนจบให้เป็นอย่างอื่นก็เหมือนการถอดหัวใจสำคัญของหนังออกไป” วอล์กเกอร์ว่า
การได้ร่วมงานกับฟินเชอร์ไม่ใช่แค่ทำให้วอล์กเกอร์ได้ตอนจบแบบที่ต้องการกลับคืนมา แต่ยังทำให้ในการทำงานหลังจากนั้นเขามีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น หากเขียนสคริปต์ไปแล้วไม่ตรงกับความต้องการของผู้กำกับหรือสตูดิโอ วอล์กเกอร์เลือกที่จะเดินออกจากโปรเจกต์มากกว่าอดทนแก้สคริปต์ไปเรื่อยๆ เพราะการต้องเห็นงานของตัวเองกลายสภาพไปเป็นอย่างอื่นคือสิ่งที่เขาไม่พึงปรารถนาอีกต่อไป
หลังจากนั้น วอล์กเกอร์ร่วมงานกับฟินเชอร์อีกหลายครั้ง ทั้งช่วยแก้สคริปต์ The Game (1997) และ Fight Club (1999) รวมถึงเขียนสคริปต์ให้กับโครงการหนังอีกหลายเรื่องของฟินเชอร์ที่ไม่ได้ถูกสร้าง ทั้งหนังภาคต่อ The Girl with the Dragon Tattoo และหนังที่ดัดแปลงจากหนังสือเรื่อง 20,000 Leagues Under the Sea ทั้งคู่ยังคงทำงานด้วยกันอยู่เรื่อยๆ รวมถึงหนังเรื่องล่าสุดของฟินเชอร์อย่าง The Killer (2023) ก็เป็นวอล์กเกอร์นี่เองที่เป็นคนเขียนสคริปต์ให้
“เป็นเรื่องยากนะที่จะหาเพื่อนร่วมงานแบบฟินเชอร์” วอล์กเกอร์พูดถึงผู้กำกับคู่ใจของเขา “ทุกวันนี้ผมว่ามันยากมากที่จะแก้สคริปต์ให้ผู้กำกับที่มองเห็นหนังไม่ตรงกันกับผม ช่วงหลังๆ ผมจึงเลือกที่จะถอนตัวออกจากหนัง หรือแม้แต่ยอมโดนไล่ออกไปเลย ถ้าเกิดว่าเห็นไม่ตรงกับผู้กำกับจริงๆ”
หมายเหตุ: นอกจากเขียนบท Se7en วอล์กเกอร์ยังมีบทรับเชิญในหนังด้วย โดยเขาเล่นเป็นศพแรกที่โผล่มาในหนัง (ศพแรกที่ไม่เกี่ยวข้องกับบาป 7 ประการ)
อ้างอิง
• the-talks.com/interview/andrew-kevin-walker/
• hollywoodreporter.com/movies/movie-news/se7en-screenwriter-how-a-mixup-david-fincher-led-gutsy-ending-963957/
• nofilmschool.com/2016/06/watch-dissecting-se7en-screenwriter-andrew-kevin-walker
• uproxx.com/movies/seven-screenwriter-andrew-kevin-walker-looks-back-at-whats-inside-the-box-20-years-later/
• psu.edu/news/alumni/story/qa-alumnus-screenwriter-andrew-kevin-walker/
• bakadesuyo.com/2015/07/how-to-improve-your-writing/
• yahoo.com/entertainment/seven-20-years-on-go-behind-the-scenes-of-that-129105333947.html?guccounter=1&guce_referrer=aHR0cHM6Ly93d3cuZ29vZ2xlLmNvbS8&guce_referrer_sig=AQAAAK2GSVFZad6L2PHtoOqsd2s9YivujtoRE4lRaj1Jy6sSIGbLPTfiTV0krxtrgyKk07dE3znNM4EEN-h0Ky8Ob7u7VkmPAZiYGw8ltWHL2KgXMkvyR_HIdOCusY30IEz_wDoRKOZ8APCDsi99f3TLEacnBEUdJlTPS8xob72dmFbq
• en.m.wikipedia.org/wiki/Seven_(1995_film)
• en.wikipedia.org/wiki/Andrew_Kevin_Walker
• youtube.com/watch?v=jzqnB8PS_A0
• youtube.com/watch?v=DUfZJVnjsRw
• youtube.com/watch?v=rtEpYDwH6sE