Fri 01 Dec 2023

15th Unlimited Edition - Seoul Art Book Fair 2023

รวมบูธเด็ดจากงาน ‘15th Unlimited Edition – Seoul Art Book Fair 2023’ คัดสรรโดย ‘แบม-จั๊ก’ ดีไซเนอร์สาวชาวไทย

     ท่ามกลางข้อถกเถียงเกี่ยวกับนโยบายซอฟต์พาวเวอร์สุดร้อนแรงในสังคมไทยตอนนี้ เกาหลีใต้น่าจะเป็นประเทศอันดับต้นๆ ที่ถูกยกมาอ้างอิง จนถ้าเปรียบเป็นคนก็คงจามไปแล้ววันละสิบรอบ เราเองก็เป็นหนึ่งในเหยื่อชาวไทยที่ถูกเกาหลีใต้ทำเสน่ห์ใส่ จนตัดสินใจกดจองตั๋วมาแบบไม่ต้องพึ่งโปรโมชั่นใดๆ

     วงการที่นำพาเรามาครั้งนี้ไม่ใช่เพลง ภาพยนตร์ หรือซีรีส์ตามภาพจำหลักของซอฟต์พาวเวอร์เกาหลีใต้ แต่เป็นวงการศิลปะและการออกแบบ ซึ่งในบรรดานิทรรศการต่างๆ ที่ไปดูมาตลอด 4 วัน ขอยกให้งาน ‘15th Unlimited Edition – Seoul Art Book Fair 2023’ เป็นท็อป 3 ในดวงใจ

     ‘15th Unlimited Edition – Seoul Art Book Fair 2023’ เป็นงานเทศกาลสิ่งพิมพ์อิสระและหนังสือศิลปะประจำปีของกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเริ่มจัดมาตั้งแต่ปี 2009 โดยมีร้านสิ่งพิมพ์อิสระ YourMind เป็นเจ้าภาพ 

     งานรอบนี้จัดที่ Buk-Seoul Museum of Art วันที่ 3-5 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เท่าที่ย้อนดูปีก่อนๆ ก็มีทั้งที่จัดในช่วงเวลาใกล้ๆ กัน และที่จัดในเดือนอื่นไปเลยอย่างกันยายน เผื่อใครเล็งจะมาในปีต่อไป ก็ต้องเช็กล่วงหน้ากันหน่อย

     ก่อนจะเข้าสู่ห้องหลักของเทศกาล ขอลัดเลาะพาชมกิจกรรมที่น่าสนใจรอบๆ ก่อน

     อันแรกที่ประทับใจและสังเกตว่ามีคนแวะเวียนมาใช้บริการไม่ขาดสายคือ ฉากที่ผู้จัดงานเตรียมไว้ให้เหล่าผู้อุปถัมภ์วงการมาถ่ายรูปหนังสือที่ตัวเองซื้อเก็บไว้เป็นที่ระลึก หรือหากเอาไปโพสต์ทางอินสตาแกรมก็อาจได้ลุ้นเป็น 1 ใน 3 ผู้โชคดีที่ได้รับหมวกและกระเป๋าเป็นรางวัล

     บริเวณใกล้กันมีพื้นที่เล็กๆ ให้คนมาวาดภาพหนังสือที่ซื้อมาด้วย รู้สึกว่าเป็นโจทย์ที่แปลกดี เพราะปกติกิจกรรมลักษณะนี้มักให้คนมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบางอย่างมากกว่า อย่างเช่นการติชมงาน 

     อันต่อมาเป็นโซนห้องสมุดชั่วคราวที่จัดโดย whatreallymatters หนึ่งในผู้สนับสนุนหลักของของงานรอบนี้ ซึ่งคัดเลือกหนังสือ 200 เล่มจาก 3,000 เล่มที่องค์กรเก็บสะสมไว้มาให้ผู้เข้าชมงานได้นั่งพักอ่าน โดยแบ่งหนังสือออกเป็น 4 หมวด คือ The Vagrant, The Alchemist, The Child และ The Watchman ซึ่งขอสารภาพว่าเพิ่งอ่านเจอว่ามีการแบ่งหมวดก็ตอนเขียนบทความนี้ เลยไม่ได้ไปนั่งดูละเอียดเท่าไหร่ว่าหนังสือในแต่ละหมวดต่างกันยังไง เสียดายเล็กน้อย 

     อีกประเด็นน่าสนใจที่เพิ่งอ่านเจออีกเช่นกัน คือ whatreallymatters เป็นองค์กรที่ก่อตั้งโดยรัฐบาลเมืองโซล (ในบริบทไทยให้นึกถึง BMA) เพื่อสนับสนุนการรวมตัวทำกิจกรรมเชิงทดลองในแวดวงออกแบบและสิ่งพิมพ์ หายข้องใจเลยว่าทำไมเทศกาลนี้จึงให้เข้าชมฟรี ทั้งที่ดูใช้เงินลงทุนไม่น้อย ลองเข้าไปดูหน้าตาเว็บไซต์แล้วไม่อยากจะเชื่อว่านี่คือผลผลิตของหน่วยงานรัฐ 

     อันสุดท้ายที่ส่วนตัวรู้สึกว่าค่อนข้างตอบโจทย์คือ ชั้นวางประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์จากบูธทั้งหมดในเทศกาล ซึ่งช่วยให้เห็นภาพรวมของงานแบบเร็วๆ และศึกษาความน่าสนใจของแต่ละบูธก่อนเลือกไปแวะดูเฉพาะอันที่สนใจจริงๆ ได้ แก้ปัญหาความอยากรู้แต่ขี้เกียจคุย รวมถึงความเขินอายเวลาต้องยืนดูงานต่อหน้าเจ้าของงานไปได้เยอะ 

     แต่เดาว่าผู้จัดงานคงไม่ได้ตั้งใจให้นำมาใช้งานแบบนี้หรอกมั้ง เพราะการปฏิสัมพันธ์โดยตรงระหว่างผู้ซื้อกับผู้ผลิตคือจุดขายสำคัญของงานประเภทนี้ อย่างไรก็ตาม มนุษย์หมดพลังง่ายในการปฏิสัมพันธ์กับผู้คนอย่างเราก็แวะดูทุกบูธอยู่ดี เพราะมีหลายบูธที่ไม่ได้เอาของมาจัดแสดงที่ชั้นวางนี้

     อุ่นเครื่องเสร็จแล้ว ก็ถึงเวลาประจันหน้ากองทัพสิ่งพิมพ์กว่า 221 บูธ

     คนมาออกบูธส่วนใหญ่เป็นคนเกาหลีใต้ มีต่างชาติผสมประปราย เช่น ญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน อินโดนีเซีย และประเทศแถบยุโรป งานนี้จึงช่วยฉายภาพหน้าตาวงการออกแบบสิ่งพิมพ์อิสระของเกาหลีใต้ได้ดีเลย ว่าช่วงนี้สไตล์ประมาณไหนกำลังมา 

     ขอออกตัวก่อนว่าจริงๆ สไตล์งานที่เจอค่อนข้างหลากหลาย และส่วนตัวก็ไม่ได้มีคลังคำศัพท์สำหรับนิยามสไตล์ต่างๆ เท่าไหร่ จึงไม่อาจเอื้อมจะมาสรุปเป็นเทรนด์อะไร แต่ถ้าต้องเล่าให้เพื่อนฟังแบบบ้านๆ ภาพจำจากงานนี้คงเป็นอะไรที่น่ารัก สดใส ขี้เล่น เน้นเล่าเรื่องราวธรรมดาสามัญในชีวิตประจำวัน หลายบูธที่เจอให้ความสำคัญกับการทดลองความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการเข้าเล่ม มากกว่าจะโฟกัสที่เนื้อหาด้วยซ้ำ (หรือไม่ก็เพราะเราอ่านภาษาเกาหลีไม่ออก เลยมองข้ามไปโดยปริยาย)

     อีกข้อสังเกตหนึ่งคือคนมาออกบูธส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ไม่แน่ใจว่าปรากฏการณ์นี้เกิดกับประเทศอื่นด้วยมั้ย เคยไปเทศกาลที่สิงคโปร์และไทย ก็มีแนวโน้มว่าจะคล้ายกันแต่ไม่ชัดเจนเท่า ครั้งนี้เลยอุทิศเวลาราว 30 นาทีนับดูซะเลย ผลลัพธ์คือมีบูธหญิงล้วนอยู่ 138 จาก 221 บูธ (62%) รองลงมาเป็นผสม 45 บูธ (20.4%) และชายล้วน 34 บูธ (15.4%) ส่วนอีก 4 บูธไม่มีคนเฝ้าตอนเดินผ่านเลยไม่รู้ (หมายเหตุ: เป็นการระบุเพศโดยดูจากเพศกำเนิด และใช้วิจารณญาณของตัวเองตัดสินล้วนๆ) 

     ในส่วนของรายละเอียดแต่ละบูธ ขอเลือก 3 บูธที่สะดุดตามาเล่าให้ฟัง 

     บอกบริบทก่อนนิดนึง ว่าเราทำงานประจำเกี่ยวกับการออกแบบข้อมูล (Information Design) และค่อนข้างหมกมุ่นกับการเก็บสะสมข้อมูลส่วนตัว เลยถูกดึงดูดด้วยงานลักษณะนี้เป็นพิเศษ 

     บูธแรกเกิดจากความบังเอิญพลิกไปเจอหน้าสารบัญของหนังสือชื่อ Across The Bridge ด้วยความประทับใจที่สารบัญออกแบบเป็นรูปสะพานได้อย่างกำลังดีเลยแอบถ่ายรูปเก็บไว้ แต่พอเดินออกจากบูธมาประมาณ 2-3 ก้าว ก็เกิดความรู้สึกว่าควรชื่นชมและให้กำลังใจเจ้าของงานสักหน่อย เลยเดินกลับไปบอก ทำให้ได้คุยต่อถึงเนื้อหาในเล่ม พอได้รู้ว่าเป็นเรื่องราวบันทึกความคิดของผู้เขียนที่เกิดขึ้นระหว่างเดินบนสะพานข้ามแม่น้ำฮัน จำนวน 23 แห่ง ต่อมความสนใจข้อมูลส่วนตัวผู้อื่นก็ถูกกระตุ้นทันที จึงตัดสินใจซื้อมาอย่างง่ายดาย แม้ผู้เขียน (Kang Mingel) จะถามย้ำอยู่หลายครั้งว่าอ่านภาษาเกาหลีออกเหรอ (ตอบ: ไม่ออก แต่เดี๋ยวใช้ Google Translate เอา) 

     บูธต่อมาก็เป็นภาษาเกาหลีล้วนอีกเช่นกัน (อุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของงานนี้คือส่วนใหญ่เป็นภาษาเกาหลี และมีคนขายน้อยรายมากที่พูดภาษาอังกฤษได้) บูธนี้มีหนังสือขายสองเล่มถ้วน เล่มหนึ่งสำรวจข้อมูลห้างสรรพสินค้าในเกาหลีใต้จากอดีตถึงปัจจุบันเพื่อสะท้อนวัฒนธรรมการบริโภคและการพักผ่อนของคนเกาหลีใต้ อีกเล่มสำรวจ Daejeon Expo ’93 ซึ่งเป็นนิทรรศการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จัดในเกาหลีใต้เมื่อปี 1993 ว่ามีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงในวงการออกแบบอย่างไร และวงการออกแบบนำเสนอเรื่องวิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยียุคนั้นอย่างไร นักออกแบบทั้งคู่เป็น Information Designer ที่ทำงานภายใต้ชื่อ archetypes เท่าที่เดินทั้งงาน น่าจะมีบูธนี้บูธเดียวที่เล่าเรื่องด้วยชาร์ต จึงจดจำได้ดีเป็นพิเศษ 

     บูธสุดท้ายขอยกพื้นที่ให้คอลเลกชั่นสะสมหน้าต่างของศิลปิน Yoon Miwon ซึ่งตราตรึงชนะงานประเภท Archive ของบูธอื่นไปเลย ถ้าเล่าให้ฟังว่าหัวข้อที่เจอมีอะไรบ้าง ทุกคนคงสงสัยว่าสะสมหน้าต่างมันพิเศษกว่าตรงไหน ไม่ว่าจะเป็นการสะสมภาพเค้กวันเกิด วัตถุสีขาว ถุงพลาสติก ซูเปอร์มาร์เก็ตในเมืองต่างๆ ของไต้หวัน ข้อความบนเสื้อยืด หรือถังขยะที่เจอระหว่างการเดินทางในยุโรป แต่สาเหตุที่งานนี้ชนะใจก็เพราะเธอสะสมมานานถึง 10 ปี! และเทคนิคในการนำภาพหน้าต่างมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สิ่งพิมพ์ก็ช่างหลากหลายเหลือเกิน โดยเฉพาะชิ้นล่าสุดที่เลือกวิธีการเข้าเล่มได้เรียบง่ายแต่ล้ำมาก ที่สำคัญคือเซอร์ไพรส์กับคำตอบเมื่อถามว่าทำไมต้องเป็นหน้าต่าง โดยเธอเล่าว่าเคยเป็นคนเกลียดหน้าต่างมาก เพราะรู้สึกเหมือนถูกจ้องมอง แต่พอเลือกที่จะเอามาทำเป็นงานเท่านั้นแหละ หายเกลียดทันที เพราะหน้าต่างเหล่านี้ทำให้เธอได้สร้างงาน

     จริงๆ ตอนคิดว่าจะเขียนบทความนี้ก็ลังเลอยู่ว่าควรไปอีกรอบดีมั้ยเพื่อเก็บรายละเอียดเพิ่ม เดี๋ยวคนอ่านจะครหาว่างกจัง ดูมาเป็นร้อย เล่าแค่สามอันเนี่ยนะ โชคดีได้เจอพี่บูม—พร้อมพรรณ ศุขสุเมฆ (Boomtype) เพื่อนนักออกแบบตัวอักษร ที่มาเที่ยวเกาหลีและกำลังจะไปดูงานนี้พอดี เลยชวนมาช่วยกันเล่า อยากรู้เหมือนกันว่าคนที่หมกมุ่นกับตัวอักษรจะสนใจอะไรบ้างในงานนี้ ขอส่งไม้ต่อให้พี่บูมเลยแล้วกัน

     เราเป็นนักออกแบบตัวอักษรอิสระ (Independent Type Designer) งานของเราส่วนมากจะอยู่กับสีขาวดำ นั่งวาด นั่งเก็บรายละเอียดฟอนต์เป็นส่วนใหญ่ มีความ systematic สูงมาก ดังนั้นพอมีเวลาว่าง จุดสนใจของเราเลยมักจะเป็นเรื่องอื่น หรือเป็นขั้วตรงข้ามจากงานของเรา นี่เลยเป็นเหตุผลสำคัญของการเลือกงานมาเล่า ไม่ใช่ว่างานอื่นๆ ไม่ดี แต่อาจจะไม่ใช่งานที่ตรงกับความชอบของเรา 

     มาเริ่มกันเลย!

     สิ่งที่เห็นเยอะมากในงานนี้คือปฏิทิน ไม่แน่ใจว่าเพราะอะไร อาจเพราะเป็นงานที่ทำออกมาแล้วเป็นชิ้นเป็นอัน มีประโยชน์ในการใช้งาน ถ้าบวกเพิ่มงานกราฟิกกับงานอิลลัสเตรชั่นก็อาจเพิ่มความสบายตาในการใช้ ดูจะเป็นสิ่งที่ควบคู่ไปกับงานปรินต์ได้ดี หรืออาจจะเป็นไปได้ว่าวัฒนธรรมในการมีปฏิทินไว้ที่บ้านยังคงเป็นที่นิยมอยู่ อันนี้เราเองก็ได้แต่เดา ไม่มีคำตอบที่จริงจังให้

     จากบูธปฏิทินที่เห็น เราสะดุดตากับบูธ Mizosa ถ้าตามที่เข้าใจและฟังไม่ผิด ปฏิทินของเจ้านี้เป็นลักษณะของการย้อมสีภาพพิมพ์ ซึ่งมันไม่ใช่การย้อมหรือการพิมพ์แบบปกติ ดูแล้วน่าจะมีหลายขั้นตอนมากกว่า แต่เราก็ยังไม่เข้าใจมันได้อย่างแท้จริง สามารถไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก Mizosa น่าจะเห็นภาพได้ชัดว่าเขาทำอะไร หรือถ้าใครอ่านภาษาเกาหลีได้ เข้าใจขั้นตอนของเขามากกว่าหรือเราอธิบายผิดตรงไหนก็แชร์กันได้ 

     สิ่งที่สะดุดตาเราที่สุดของ Mizosa น่าจะเพราะสีของภาพพิมพ์ การเล่นสีในงานสนุกมาก เป็นการนำสีเข้มๆ มาใช้ร่วมกัน อาจจะด้วยลักษณะการพิมพ์ด้วยสีเหมือนสีย้อมผ้า เลยเป็นไปได้ว่าอาจมีคู่สีจำกัด (ไม่แน่ใจ) แต่ไม่มีการยั้งมือในการคุมธีมใดๆ ซึ่งเสน่ห์ของงานภาพพิมพ์อยู่ตรงที่เราจะเห็นข้อผิดพลาดในงานทำมือของมนุษย์ ที่มีให้เห็นเล็กๆ น้อยๆ ปะปนกันไปในแต่ละชิ้นงานพิมพ์ 

     นอกไปจากงานขายบนโต๊ะ นักออกแบบหรือศิลปินก็มีแฟ้มผลงานเอาออกมากางให้ดูงานพิมพ์ที่ผ่านมา นอกจากความ ‘ว้าว’ ในเรื่องเทคนิคและการใช้สีแล้ว ยังต้อง ‘ว้าว’ ในปริมาณความเยอะหรือภาพพิมพ์ในแฟ้มนั้นด้วย อาจจะด้วยปริมาณงานนั้นดูมีคุณค่าปนไปกับความตั้งใจ ถึงแม้เราที่เป็นคนต่างชาติจะไม่เข้าใจอะไรเลย แต่พอยืนดูตรงนั้น อยู่ๆ ก็อยากได้ปฏิทินใหม่เฉยเลย

     Asian Food Design คือบูธถัดมา เราสะดุดตาจากเสื้อผัดกะเพราและฟอนต์ภาษาไทย ตอนนั้นคิดว่าทำไมเสื้อผัดกะเพรามันเท่จังวะ แล้วก็แอบดีใจนึกว่าจะเจอคนไทยในงาน แต่พอเหลือบมองบอร์ดด้านหลังศิลปินก็พบกับหลายภาษาเหลือเกิน เดายากว่าเป็นชาติอะไร แต่สิ่งที่ชัดเจนแน่ๆ ก็คือธีมที่ยึดโยงทุกอย่างด้วยเรื่องอาหาร

     เราแวะเข้าไปคุยก่อนได้ข้อสรุปว่าศิลปินเป็นชาวญี่ปุ่นที่เวลากินอะไรแล้วชอบก็จะวาดและเขียนเก็บไว้ ตอนแรกเราก็ทักเขาเรื่องผัดกะเพรา ถามว่าชอบกินเหรอ รูปและตัวหนังสือนี่วาดเองเหรอ เพราะเห็นรูปแล้วรู้สึกว่าคนทำตั้งใจวาดตัวหนังสือมาก นึกภาพตามก็คิดว่ามันไม่ง่าย น่าจะใช้เวลาในการดูหน้าตาตัวหนังสือพอควร 

     พอเจอคนไทย เขาเองก็ดูแอบตกใจ พร้อมกับบอกว่า ใช่แล้ว เขาวาดเอง พร้อมถามกลับว่าเขาเขียนผิดตรงไหนหรือเปล่า เพราะนอกจากดูแล้ววาดตาม ก็ใช้ตัวช่วยแปลภาษาอ่านเอาตอนวาด เป็นคำตอบที่แอบอมยิ้มปนชื่นชมว่า ไหนจะต้องวาดอาหาร ไหนจะต้องวาดตัวหนังสือของอาหารนั้นๆ ประกอบอีก 

     ถึงแม้จะเป็นหนังสือและของขาย (merchandise) ที่มองดูเหมือนเป็นการจดบันทึกอาหารส่วนตัวของศิลปิน แต่สำหรับชาวเอเชียที่มักมีมุมมองต่ออาหารว่าเป็นเรื่องใหญ่ ทำให้เราแอบรู้สึกเกี่ยวข้อง (relatable) และเห็นความสำคัญของหัวข้อนี้ไปด้วยเฉยเลย

     งานถัดมาสะดุดตาจากไทโปกราฟีของบูธ Sarok คือเห็นบูธและฉากด้านหลังก็รู้แหละว่าเขาขายหนังสือ แต่ก็อดหยุดดูไม่ได้เพราะเลย์เอาต์และการจัดไทโปกราฟีนั้นดูสนุกเหลือเกิน (จริงๆ แล้ว ถ้าตั้งใจดูก็อาจเห็นว่าเป็นเลย์เอาต์หน้าตาธรรมดา แต่การผสมฟอนต์และภาพประกอบทำให้ทุกอย่างดูสนุกขึ้นมาได้)

     เป็นจังหวะที่อยากอ่านภาษาเกาหลีออก เพราะอยากรู้ว่าเนื้อหาเกี่ยวกับอะไร เป็นบูธที่คนมาคุยกับนักเขียน/นักออกแบบตลอดเวลา ด้วยความที่เราเองก็อ่านไม่ออกแต่ก็ดันอยากเป็นภาระ อยากรู้ว่าเขาเขียนถึงอะไรเลยรอคิวเข้าไปคุยถึงหนังสือหน้าปก QQ อันนี้ 

     เป็นหนังสือที่เต็มไปด้วยคำถามเช่น “How many times did you eat delivery food this year?” ซึ่งเอาเข้าจริงก็เป็นคำถามที่ง่าย แต่บางคำถามก็ทำให้เราต้องนึกคำตอบของตัวเองอยู่นาน 

     เท่าที่จับใจความได้จากนักออกแบบด้วยการสื่อสารผ่านเว็บไซต์แปลภาษาและจังหวะพูดคุยแบบขาดๆ หายๆ เนื่องจากความเป็นที่นิยมไม่ขาดสายของบูธนี้ ก็ได้ใจความมาว่า ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา นักออกแบบได้ตั้งคำถาม ทำเซอร์เวย์ จนได้คำตอบรวบรวมมาเป็นเล่ม (ถ้าหากเราเข้าใจผิดตรงไหนทักทวงได้เลยนะคะ) และฟอนต์ในเล่มถูกทำขึ้นมาสำหรับงานนี้โดยเฉพาะ และนี่ไม่ใช่เล่มแรก เล่มที่เป็นเล่มที่สองแล้วค่ะ! 

     แวะชมงานเพิ่มเติม หรืออ่านรายละเอียดที่ดีกว่าการอธิบายของเราได้ที่เว็บไซต์เจ้าของบูธเลย

     Grafis Nusantara เป็นบูธที่ใครเห็นก็ต้องสะดุด ด้วยกราฟิก ด้วยสี ด้วยคัลเจอร์ที่ซึมอยู่ในงานอย่างแนบเนียน โดยชาวคณะกลุ่มนี้จัดแสดงสติกเกอร์และป้ายของสะสมเก่าในช่วง 1970-1990 ของนักออกแบบชาวอินโดฯ

     Volume 1 – Koleksi Label dan Sticker (Kamengski – Grafis Nusantara Book) อันนี้เราอดไม่ไหว ต้องซื้อกลับมา เป็นหนังสือรวบรวมภาพฉลาก (label) และสติกเกอร์ที่เขาสะสม ซึ่งถูกนำมาแบ่งแยกออกมาเป็นหมวดหมู่ พร้อมข้อมูลด้านหลังกำกับ เช่น หมวดหมู่ของชา การ์ตูน หรือยาสูบ จากนั้นก็นำมารวมเป็นเล่ม จัดใส่อยู่ในกล่องที่ออกแบบมาอย่างสวยงามน่าซื้อเก็บ ไม่ต้องพูดถึงสีแหละมั้งจุดนี้ ดูจากการจัดวางและตัวร้านคือเด่นชัดอยู่แล้ว สีสดดูไม่ใช่ปัญหาในการจัดคู่สี สติกเกอร์เองก็ยังอัดแน่นไปด้วยสีและลูกเล่นของศาสนาและวัฒนธรรมที่เรามองว่าเอามาเป็นเอกลักษณ์ที่เปรี้ยวไม่น้อย 

     ก่อนหน้านี้ เราเคยฟอลโลว์นักออกแบบชาวอินโดฯ อยู่คนนึงชื่อ Kendra Ahimsa หรือ Ardneks เราชอบเรื่องการใช้สีของเขา รู้สึกว่ามันแปลก สะดุดตา มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในเรื่องของสีแสดแบบสดตัดกับสีออกพาสเทลในผลงาน ตอนนั้นเราไม่แน่ใจว่าทำไมถึงชอบ แต่พอมาเห็นคอลเลกชั่นของสะสมของ Grafis Nusantara ก็เหมือนได้เห็นหน้าตาสีสันของคัลเจอร์อินโดฯ ได้ชัดขึ้น ยิ่งทำให้อยากรู้เลยว่าสไตล์ในสังคมกราฟิกของอินโดฯ จะเป็นไปในทิศทางแนวๆ นี้มั้ย หรือมันจะมีเอกลักษณ์ของแต่ละคนอีก 

     แต่เท่าที่เห็นที่บูธนี้ก็ดูสนุก ดูอิ่มตาอิ่มใจกับไทโปกราฟีเหลือเกิน เป็นบูธที่อยู่แล้วจะรู้สึกฉ่ำกับกราฟิก ถือว่าเป็นบูธที่อินสไปเรชั่นมากอีกอัน ถ้าใครอยากลองสัมผัสความรู้สึกที่เราพูดถึง แวะเข้าไปดูเว็บไซด์ของ Grafis Nusantara กันก่อนได้ บอกเลยว่าหนังสือที่ว่าฟินแล้ว เว็บไซต์ยังทำให้รู้สึกฟินได้อีก

     ไปต่อกันยังสำนักพิมพ์ที่น่าจะคุ้นตาในบ้านเรา Sojanggak ที่มีผลงานดังในบ้านเราอย่างเล่มรวมร้านเครื่องเขียนไทย (Thailand Stationery) ซึ่งเป็นการรวบรวมร้านเครื่องเขียนของไทยออกมาเป็นเล่มโดย Mooontreee (เราไม่ทราบชื่อในภาษาเกาหลีของผู้เขียนเลยขอเครดิตเป็นชื่อและลิงก์ในโซเซียลมีเดียแทน) ถือเป็นหนังสือที่ได้รับความนิยมมาก ถึงขั้นเคยมี pop-up store ที่เกาหลีด้วยนะ ได้ข่าวว่าปีหน้าจะออกมาเป็นเวอร์ชั่นภาษาไทยแล้ว เราคนหนึ่งแหละที่รอจับจองเลย

     เราพบเจอคุณ Sungil Noh เป็นรอบที่สองแล้ว รอบแรกเราเจอเพราะเขากำลังทำหนังสือที่รวมข้อมูลตัวเขมร ซึ่งเกิดมาจากความสนใจล้วนๆ และปัจจุบันสำนักพิมพ์ก็มีหนังสือที่แชร์ภาพมุมมองเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมอื่นอีกด้วย เช่น Tell me your wish, Shrines of Southeast Asia เป็นหนังสือภาพที่เก็บเกี่ยวภาพของโต๊ะหมู่บูชาเครื่องเซ่นไหว้ที่ Sungil Noh พบเจอระหว่างทริปที่เขาเดินทางเพื่อมาทำวิจัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia) เราเองก็อดซื้อมาไม่ได้ เลยพอจะมีภาพให้ได้ดูเพิ่มเติมกัน

     ครั้งนี้ได้คุยนานหน่อยเพราะเป็นจังหวะคนไม่เยอะ ใครอยากดูรายละเอียดเพิ่มเติม เข้าไปดูได้เลยที่ https://sojanggak.kr/

     Munhwadabang อาจเป็นชื่อภาษาอังกฤษอันเดียวที่หาเจอได้จากเจ้าของหนังสือเล่มนี้ เราเข้าใจว่า Munhwadabang เป็นนักเขียน หนังสือของเธอเกิดจากการตั้งคำถามและตามหาคำตอบจากความสงสัยที่ว่าศิลปินที่ทำงานจากที่บ้าน (work from home) ใช้ชีวิตอย่างไร หรือมีแนวทางการจัดการชีวิตในแต่ละวันทั้งส่วนของการทำงานและครอบครัวอย่างไรบ้าง

     ถึงแม้ว่าเราจะอ่านชื่อหนังสือยังไม่ออก แต่ก็เป็นอีกเล่มที่อยากอ่าน เพราะนักเขียนได้เข้าไปสัมภาษณ์และถ่ายรูปอย่างละเอียด เราชอบที่เนื้อหาดูเริ่มจากคำถามง่ายๆ และชอบเหมือนทุกๆ ครั้งที่ชื่นชอบหนังสือ คือผลลัพธ์หน้าตาของ process ระหว่างทางถูกรวบรวมออกมาเป็นผลลัพธ์ที่จับต้องได้ ทำให้ผู้อ่านอย่างเราได้รู้ประสบการณ์ร่วมกับผู้แต่งไปด้วย 

     ในบูธนี้มีหนังสือวางขายอยู่เล่มเดียว แต่เขาเอาไฮไลต์ในเล่มมาทำเป็นเหมือน book jacket ใส่ครอบปกเอาไว้ ทำให้เห็นความหลากหลายด้านใน ถือว่าเป็นวิธีที่ดีเลย กระตุ้นความสนใจได้ดีมาก เพราะตอนแรกที่เดินเข้าไป เราก็เข้าใจว่าเขาขายหนังสือเป็นซีรีส์ แต่ไม่ใช่ ทั้งหมดคือ book jacket ที่โชว์ความแน่นของเนื้อหาจากหนังสือเล่มเดียว

     ถัดมาเราก็สะดุดอยู่ที่บูธหน้าของ Charade Show ซึ่งเราขอเรียกว่าเป็นบูธน้องแมวการ์ตูน เจ้าของผลงานคือ Jooyeonkoh ซึ่งนอกจากจะทำเป็น Patch หน้าตาสีสันน่ารักแล้ว การนำเสนองานในรูปแบบนี้เลยทำให้เห็นรายละเอียดที่เกิดจากการเย็บเกิดเป็นเหลือบสี เป็นลวดลายที่ดูได้เพลินๆ

     เราชอบความหลากหลายของบรรดาแมวในบูธมาก เพราะมันมีคาแรกเตอร์และมีความแตกต่างกันอยู่สูง ไม่ว่าจะเป็นแมวน้อยน่ารักสีหวาน หรือเป็นแมวโมโหมหาโหด ทุกอย่างมีความเต็มที่ในทุกๆ รายละเอียด ไม่ว่าจะเป็นการวาด หรือการแปรออกมาเป็นรูปแบบของโปรดักต์ 

     ปกติพวก merchandise อย่างแม่เหล็กติดตู้เย็นหรือโปสต์การ์ด ก็จะมีลิมิตในรายละเอียดและความสามารถของมันอยู่ แต่มันก็จะเติมเต็มกันได้ด้วยลูกเล่น หรือความ Playful ของผลงาน เช่น เทคนิคการเปลี่ยนรูปไปมาของวัสดุที่ทำให้เห็นได้สองลายของโปสต์การ์ด (เราไม่แน่ใจว่าวัสดุนี้เรียกว่าอะไร ถ้าใครรู้แจ้งได้นะคะ) ทำให้งานดูมีมิติมากขึ้น ดูเพลิน หรือรายละเอียดของแม่เหล็กติดตู้เย็นที่ถูกห่อมาอย่างเนียน ไม่เห็นแม่เหล็กด้านหลังเลย

     เราแอบไปส่องเจ้าของผลงานมาก็พบว่าเขาเป็นคนที่มีผลงาน commercial มากมาย เราเข้าใจว่า Charade Show น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการปล่อยของ เพราะมันมีอารมณ์อยู่ในนั้น ดูมีความออกนอกขนบของความเนี้ยบ เช่น มีสติกเกอร์จากรูปวาดสเกตช์เล่นๆ เร็วๆ ปะปนกันในบางชิ้นงาน 

     ด้วยความไปสุดของรายละเอียดและความหลากหลายของแมว ทำให้บูธนี้ ถือเป็นงานที่เราชอบมากที่สุดในปีนี้เลย

     DDBBMM บูธนี้เป็นงานชุดที่ว่าด้วยเรื่องของ Tool and Type โดย Lee Yunho ซึ่งเราก็ขอเอามาพูดถึงสักนิดนึง 

     Tool and Type หรือหากแปลเป็นไทยคือเครื่องมือและตัวหนังสือ ไม่เคยเป็นเรื่องใหม่ เรียกได้ว่าเกือบทุกสถาบันการออกแบบการทดลองเล่นกับตัวหนังสือ มักจะต้องผ่านการลองใช้เครื่องมือแปลกๆ ทั้งนั้น 

     แรกเริ่มเดิมที ที่มาที่ไปของตัวอักษรเกิดมาจากเครื่องมือ ซึ่งถ้าหากอ้างอิงจากทางตะวันตก ก่อนหน้าเครื่องพิมพ์คือการเขียนด้วยหมึกและปากกาขนนก หรือปากกาหัวตัด (Broad Nib) ต่อมาก็ถูกนำไปเป็นต้นแบบของแบบตัวหนังสือบนแท่นพิมพ์ แล้วมันก็ถูกวิวัฒนาการมาเรื่อยๆ และเราก็ยังไม่มีทางเบื่อกับการเล่นกับเครื่องมือ เพื่อนำมาสร้างแบบตัวอักษรอย่างไม่มีที่สิ้นสุด อย่างทุกวันนี้ก็ลามไปถึงในรูปแบบของโค้ด เช่น p5.js อีกด้วย 

     ในหนังสือเล่มนี้เป็นตัวอย่างการใช้เครื่องมือที่นักออกแบบเจอจากสิ่งรอบตัว นำมาเพื่อหวังสร้างให้เกิดลวดลายหรือตัวหนังสือแบบแปลกตาใหม่ๆ ถึงแม้ว่าตัวหนังสือในเล่มอาจจะไม่ใหม่ แต่ลวดลายบางอันก็ทำให้แอบหยุดคิดเหมือนกันว่า เอ๊ะ เครื่องมือนี้คืออะไร 

     เรามองว่าหนังสือเล่มนี้เป็นเหมือนการจดบันทีกการทดลองรูปแบบหนึ่งของนักออกแบบ ซึ่งเรามองว่าเขายังคงสนุกกับการสร้างเครื่องมือ อย่างที่หน้าบูธก็เอาเครื่องมือมาโชว์ มีงานแสตมป์ลวดลายที่เขาสร้างขึ้นมา ผู้ชมสามารถเอาไปปั๊มบนหน้าสมุดโน้ตของตัวเองได้ ถือเป็นกิจกรรมที่มักจะได้รับความนิยมตลอดกาล 

     ถ้าใครสนใจแวะไปส่องเว็บไซต์ของ DDBBMM ได้ ดูแล้วเป็นคนที่สนุกกับตัวอักษรคนหนึ่งเลยทีเดียว

     บูธถัดมาเราสะดุดกับหัวข้อ Woman in Data หรือถ้าแปลเป็นไทยในฉบับที่เราไม่ใช่นักแปลมืออาชีพก็คือ ผู้หญิงในเชิงข้อมูล เป็นงานของ Jaehee Jeong หรือ Owy (o-wa-yeol) 

     Woman in Data เป็นหนังสือ visualization หรือสร้างภาพจากการเก็บข้อมูลที่เกิดจาก digital algorithms และ auto completetion systems ซึ่งแสดงให้เห็นถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศเชิงวัฒนธรรม ซึ่งเป็นการตีกรอบ ตัดสินบทบาทและหน้าที่ให้เพศหญิงอย่างไม่รู้ตัว (unconscious perception) หนังสือเล่มนี้นำข้อมูลเหล่านั้นมาแสดงออกเป็นภาพ เพื่อให้สังคมมองเห็นปัญหา รับรู้ และใส่ใจกับหัวข้อหรือข้อมูลตรงนี้มากขึ้น 

     หาอ่านคำอธิบายเป็นภาษาอังกฤษเพิ่มเติมได้จาก Design by Woman 

     Hansoi Choi เป็นบูธที่อยู่ข้างๆ กัน บอกได้เลยว่าสะดุดตาเพราะความสวยแต่เนี้ยบของชิ้นงานกราฟิก ค้นไปค้นมาก็พบว่าเราเคยเรียนมหา’ลัยเดียวกับเธอตอน ป.โท นั่นคือ The University of Applied Sciences Northwestern Switzerland หรือ FHNW ที่สวิตเซอร์แลนด์แต่คนละโปรแกรม ทำให้ไม่แปลกใจว่าทำไมงานของเธอถึงมีความสวิส หรือความเป๊ะกริดปะปนอยู่สูง โดยเฉพาะในเรื่องของเลย์เอาต์ หรือรายละเอียด ทุกอย่างจัดวางและเก็บข้อมูลอย่างมีระบบ 

     ยกตัวอย่างจาก This is not a plastic bag หนังสือที่เธอบันทึกข้อมูลการใช้ถุงพลาสติกตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2020 จนถึงวันที่ 8 มิถุนายน 2020 ก็จะมีข้อมูลของวันนั้นๆ เช่น ของที่ไปซื้อมา หน้าตาของถุง และบางหน้าก็สร้างคอลลาจจากถุงพลาสติก นับว่าเป็นรูปแบบการเก็บข้อมูลบันทึกประจำวันที่น่าสนใจอีกหนึ่งตัวอย่าง 

     นอกจากนั้น เรายังชอบสีและดีเทลของงานเธอมาก มันมีความ add-on สไตล์ของเธอทั้งภาพและสีร่วมเข้าไปด้วย ยกตัวอย่างให้เห็นภาพเลยก็น่าจะเป็นโปสเตอร์ชิ้นนี้ที่พิมพ์บนกระดาษสีเงินแวววาว ยิ่งดูก็ยิ่งเพลินในรายละเอียด เราว่ามันมีเสน่ห์ที่ยิ่งดูก็ยิ่งเห็นความผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมที่ซ่อนอยู่ในงานออกแบบ สามารถเข้าไปดูงานของเธอได้ที่ hanxolchoi.kr/

     สุดท้ายของการรีวิวบูธ เป็นสิ่งที่ไม่คิดว่าอาร์ตบุ๊กแฟร์จะมีก็คือการตั้งบูธของ Type Foundry หรือการขายฟอนต์ในงาน จากการเดินสำรวจเราเจอ Type foundry ทั้งหมด 3 เจ้า ซึ่งดูแล้วเข้าใจว่าเหมือนเป็นการร่วมตัวของกลุ่ม collective type designers มากกว่าที่จะเรียกว่าบริษัท 

     แต่ไม่ว่าจะเป็นบูธไหนก็ฮอตหมด คนเยอะจนเราแทบจะไม่สามรถเข้าไปถามรายละเอียดได้เลย ทุกบูธจะมีโชว์จอให้ลองพิมพ์ ให้ข้อมูลในการไปซื้อ และที่ขาดไม่ได้ของ Type Foundry ก็คือ Type Specimen หรืออธิบายให้เข้าใจง่าย คืองานพิมพ์ที่เอาไว้โชว์ฟอนต์ในคลังของตัวเองนั่นเอง 

     เนื่องจากรายละเอียดในจุดนี้เรามีน้อยเพราะได้คุยเร็วๆ เป็นระยะเวลาสั้นๆ และทุกบูธคนเยอะมากๆ เราเลยได้แต่รูปภาพมา ขอมาแชร์ไว้พร้อมกับเว็บไซต์และลิงก์ของแต่ละ foundry 

     K Town Type Foundry โดย Heejae Yang 

     website: ktowntypeclass.me

     Onul Font

     ลักษณะคาดว่าน่าจะเป็น Collective Type Designers

     Orange Slice

     จากการเดินดูทั้งงาน สิ่งที่เราเห็นชัดเจนและประทับใจคือ ทุกบูธมีหัวข้อที่ตัวเองสนใจและไปจนสุดทางกับหัวข้อนั้นๆ (ซึ่งอาจไม่ใช่หัวข้อของงานก็ได้) โดยการ ‘ไปสุด’ ในที่นี้หมายถึง การทำงานในหัวข้อที่สนใจออกมาเยอะๆ เยอะพอให้เห็นภาพ โดยแทบจะไม่ต้องอธิบายว่าอันนี้สนใจเกี่ยวกับเรื่องอะไร 

     การที่เราได้มาเขียนเล่าว่างานที่เห็นเป็นยังไงก็น่าประทับใจแล้ว แต่ยิ่งมีโอกาสได้มาหาข้อมูลเพื่อเขียนเพิ่มเติมเกี่ยวกับตัวศิลปินหรือนักออกแบบก็ทำให้พบว่าที่เราเห็นเป็นแค่ส่วนหนึ่งจากงานทั้งหมดของพวกเขา 

     ถ้าถามว่าสิ่งที่ได้กลับมาจากงานนี้คืออะไร เราบอกเลยว่าคือแพสชั่น เพราะสิ่งที่เราเห็นคือแพสชั่นของเหล่าศิลปิน และการเล่นสนุกในงานของพวกเขาที่ทำให้อยากกลับมาเติมไฟให้ตัวเองได้บ้าง ไม่มากก็น้อย 

     ขอบคุณพี่บูมที่มาร่วมแจม และไหนๆ ก่อนจากเราก็ขอขมวดเล็กน้อย

     มาย้อนคิดดูก็จำไม่ได้เหมือนกันว่าตั้งแต่เมื่อไหร่ที่เราเริ่มมองเห็นงานออกแบบของเกาหลีใต้ในสมการ เคียงคู่ประเทศแถบตะวันตกหรือญี่ปุ่น นึกไม่ออกเลยว่ามันเกิดจากเหตุการณ์หรือหมุดหมายอะไรเป็นพิเศษ คงเป็นการซึมซับจากสื่อหลายประเภทประกอบกันมาเรื่อยๆ จนรู้ตัวอีกทีก็มีภาพจำไปแล้วว่าประเทศนี้มีรสนิยมด้านศิลปะและการออกแบบที่น่าสนใจ และหลังใช้เวลากว่าหกชั่วโมงในเทศกาลนี้ รวมถึงอีกยี่สิบกว่าชั่วโมงในนิทรรศการอื่นๆ ก็ขอพูดให้รัฐบาลเกาหลีดีใจได้เลยว่าภาพจำนี้แข็งแกร่งขึ้นอีกหลายเท่าตัว ไม่ว่าจะถูกบรรจุอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ที่วางไว้หรือไม่ก็ตาม