Wed 08 Mar 2023

SLAM DUNK

ไม่ใช่แค่มังงะกีฬา แต่เป็นไฟจุดประกายความคลั่งไคล้บาสเกตบอลของคนอ่านการ์ตูน

ภาพ: ms.midsummer

     ย้อนกลับไปในยุค 1990s เมื่อครั้งที่อินเทอร์เน็ต 56K ถือว่าเร็วสุดขีด คำว่า Y2K คือเรื่องน่ากลัวของเหล่าวิศวกรคอมพิวเตอร์ เสื้อสายเดี่ยวถูกจับตามองโดยรัฐบาล ตู้ถ่ายรูปสติกเกอร์กำลังมา และกีฬาบาสเกตบอลเป็นกิจกรรมที่วัยรุ่นยุคนั้นจะต้องขอมีส่วนร่วมที่มากกว่าการได้เล่นในคาบพลศึกษา

     แน่นอนว่าเทรนด์บาสเกตบอลที่ฮิตในช่วงยุค 1990s มีผลพวงมาจากความเป็นซูเปอร์สตาร์ของ ไมเคิล จอร์แดน (Michael Jordan) ผู้สร้างปรากฏการณ์พาทีมชิคาโก บูลส์คว้าแชมป์เอ็นบีเอถึงสามครั้งติด ในช่วงปี 1991-1993 กับช่วง 1996-1998 

     แต่เด็กวัยรุ่นอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่เคยอินกีฬาประเภทนี้มาก่อน ก็มาสนใจการยัดห่วงเหมือนกัน ส่วนหนึ่งก็เพราะ Slam Dunk การ์ตูนจากประเทศญี่ปุ่นที่เล่าเรื่องความเร่าร้อนของนักเรียนมัธยมต่อกีฬาชนิดนี้ 

     มังงะเรื่องนี้ไม่ใช่แค่ความบันเทิงสำหรับนักอ่านเท่านั้น แต่มันเป็นมังงะที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนหลากหลายวงการ 

     และต่อจากนี้ คือเรื่องราวจากวันวานที่ส่งผลกังวานนานจนถึงปัจจุบัน

ก่อนซากุระจะเบ่งบาน
บนวิถีแห่งดอกไม้

     ย้อนกลับไปช่วงยุค 1980s ณ ขณะที่ ‘นาระไอ ทาเคฮิโกะ’ (Nariai Takehiko) ยังอยู่ในวัยเรียน เขาเป็นเพียงเด็กหนุ่มที่เริ่มต้นเล่นบาสเกตบอลเพราะคาดหวังให้นักเรียนหญิงมาสนใจเท่านั้น แต่การได้สัมผัสและทำความเข้าใจกีฬาประเภทดังกล่าวในช่วงวัยรุ่น กลับส่งผลต่อชีวิตของเขาในภายหลังเกินกว่าที่คาด

     เมื่อเด็กหนุ่มกลับไปตามฝันในการวาดมังงะ เขาเลือกหยิบชีวิตวัยรุ่นของนักเรียนมัธยมปลายแห่งชมรมบาสเกตบอลมาเล่า ก่อนจะออกมาเป็น Kaede Purple มังงะขนาดสั้นที่เป็นดั่งปฐมบทของ Slam Dunk และคว้ารางวัลชนะเลิศจากเวทีเทสึกะอวอร์ด โดยสำนักพิมพ์ Shuesha ครั้งที่ 35 มาครองได้สำเร็จ

     พอได้เทิร์นโปรเป็นนักวาดมังงะมืออาชีพ ทาเคฮิโกะก็ปรับมาใช้นามปากกาว่า ‘อิโนะอุเอะ ทาเคฮิโกะ’ (Inoue Takehiko) และวาดเรื่องสั้นอีกจำนวนหนึ่ง ก่อนจะเริ่มวาดเรื่องยาวเรื่องแรกลงในนิตยสาร Shonen Jump อย่าง Chameleon Jail เรื่องราวเกี่ยวข้องกับนักสืบเอกชนผู้มีพลังพิเศษสามารถเปลี่ยนรูปลักษณ์ใครก็ได้ 

     ผลงานเรื่องแรกในฐานะมืออาชีพถือว่าไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก แต่ทาเคฮิโกะก็ไม่ยอมแพ้ เขาย้อนกลับไปคิดว่า ควรจะเล่าเรื่องราวอะไรต่อ ก่อนตัดสินใจได้ว่า เขาจะย้อนกลับไปหาสิ่งที่คุ้นเคยในวัยเรียนอย่าง ‘บาสเกตบอล’ 

     อย่างไรก็ตาม ณ ช่วงรอยต่อของยุค 1980s จนถึง 1990s กีฬายัดห่วงในประเทศญี่ปุ่นแทบจะไม่ได้มีความนิยม ระดับที่บรรณาธิการที่ดูแลผลงานยังออกปากว่า “บาสเกตบอลเป็นเรื่องต้องห้าม” 

     แต่ใช่ว่าทาเคฮิโกะจะยอมแพ้ไปดื้อๆ เขาปรับทิศทางผลงานโดยอ้างอิงจากเรื่องสั้นหลายเรื่องที่เคยเขียนไว้ แล้วตั้งต้นให้เนื้อหาหลักของการ์ตูนเรื่องใหม่มีกลิ่นอายคล้ายการ์ตูนวัยรุ่นวุ่นรัก ผสมกับความตลกของชีวิตวัยเรียน แค่มีกีฬาบาสเกตบอลเป็นปมหลักที่นำพาทุกอย่างมารวมกันอย่างลงตัว

     ด้วยเหตุนี้ เขาจึงจับเอาตัวเอกที่เคยสร้างไว้ในเรื่องสั้น Akai Ga Suki ที่เป็นนักเรียนสายเก๋าโจ๋ ผู้ไม่สมหวังกับความรัก มาปรับปรุงเพิ่มเติม ให้ตัวละครดังกล่าว มีความสูงเหมาะสมจะเล่นบาสเกตบอล การเดินทางของตัวเอกคนนี้จึงเหมือนกับ ‘ต้นซากุระ’ ที่กำลังหาเส้นทางและเวลาที่จะเบ่งบานอย่างสมศักดิ์ศรี ทาเคฮิโกะจึงตั้งชื่อพระเอกของเรื่องนี้ว่า ‘ซากุรางิ ฮานามิจิ’

     และปี 1990 Slam Dunk ผลงานขนาดยาวเรื่องที่สองของทาเคฮิโกะจึงได้ตีพิมพ์บนนิตยสาร Shonen Jump 

กระโจนบอลสู่ห่วง
ทะยานสู่ใจนักอ่าน

     ในเมื่อบาสเกตบอลไม่ใช่กีฬาที่เล่นได้ด้วยตัวคนเดียว เราจึงขอกล่าวถึงเนื้อหาโดยรวมของมังงะเรื่องนี้กันสักเล็กน้อย

     ซากุรางิ ฮานามิจิ คือนักเรียนชายสุดเก๋าของโรงเรียนโชโฮคุที่มีกำลังกายเต็มเปี่ยม แต่ไม่มีโชคด้านความรัก จนกระทั่งวันหนึ่งมีเด็กสาวอย่าง ‘อาคางิ ฮารุโกะ’ มาถามว่าเขาชอบกีฬาบาสเกตบอลหรือไม่ แม้ว่าเจ้าตัวจะไม่ได้เข้าใจกีฬาดังกล่าวเลย แต่ก็ตอบรับคำเชิญของหญิงสาวน่ารักไปเข้าชมรมบาสเกตบอลมัธยมปลาย จนทำให้ได้เจอกับ ‘รุคาว่า คาเอเดะ’ หนุ่มหล่อสายนิ่งผู้เป็นอัจฉริยะด้านบาสเกตบอล, ‘อาคางิ ทาเคโนริ’ หรือ ‘กอริ’ กัปตันทีมควบตำแหน่งเซ็นเตอร์สุดแกร่ง, ‘มิยางิ เรียวตะ’ พอยต์การ์ดผิวเข้มที่มาพร้อมกับความเร็วและคล่องตัว, ‘มิตสึอิ ฮิซาชิ’ ชูตติ้งการ์ดที่มีอดีตกับทีม, และ ‘อันไซ มิตสึโยชิ’ โค้ชที่ถูกเรียกขานว่าปีศาจผมขาว แต่ก็ดูชิลล์จนไม่เข้ากับสมญานาม 

     เมื่อทั้งหมดได้มารวมตัวกัน ความหวังว่าโชโฮคุจะเป็นทีมที่แกร่งที่สุดของประเทศจึงส่องประกายขึ้น แต่พวกเขาจะไปถึงฝันนั้นได้หรือไม่ ซึ่งส่วนนี้ขอแนะนำให้ติดตามผลงานเรื่องนี้กันต่อน่าจะเป็นการลุ้นกว่านะ

     หากมองแค่โครงเรื่องข้างต้น Slam Dunk อาจจะจะดูเป็นการ์ตูนกีฬาเต็มรูปแบบ แต่เหตุผลที่มังงะเรื่องนี้สามารถทุบกำแพงในใจของนักอ่านในยุคดังกล่าวได้ ส่วนหนึ่งก็มาจากแผนการเดินเรื่องของทาเคฮิโกะ โดยเขาใช้เวลาในการเล่าเรื่องชีวิตวัยรุ่นอยู่ระยะหนึ่ง และในส่วนการเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับบาสเกตบอล ก็มีการวาดภาพโดยอ้างอิงจากนักบาสในโลกจริง พร้อมคำอธิบายพื้นฐานเกี่ยวกับกติกาและหลักการเล่นบาสเกตบอลเบื้องต้น เพื่อปูเป็นพื้นฐานสำหรับคนที่มีความรู้ความเข้าใจต่อกีฬานี้เป็นศูนย์

     นอกจากนั้น อาจารย์ทาเคฮิโกะยังเอาประสบการณ์ตรงจากตัวเองเมื่อครั้งยังเป็นนักกีฬามาเสริมด้านเนื้อเรื่อง ทำให้คนอ่านได้รับทราบแบบเข้าใจง่าย ไม่ว่าจะเป็น ความเสียเวลากับการฝึกซ้อมที่ดูน่าเบื่อซ้ำซาก ตัวตนของนักกีฬานอกเวลาการแข่งขัน ความรู้สึกของการอยู่ในสนามของนักกีฬาที่รู้สึกว่าเวลานั้นเนิ่นนานกว่าฝั่งดนดู และความตื้นตันใจของนักกีฬา ไม่ว่าต่อเรื่องเล็กน้อยอย่างการที่มีทักษะเพิ่มขึ้น ไปจนถึงเรื่องใหญ่โตอย่างการเอาชนะคู่แข่งที่เหนือชั้นกว่ามาก

     แค่ปัจจัยข้างต้นนี้ ก็มากพอแล้วที่จะทำให้ Slam Dunk กลายเป็นมังงะที่คนยินดีจะติดตามไปจนจบและเหมือนโชคเข้าข้างทาคาฮิโกะอยู่ชั้นหนึ่ง เพราะจังหวะที่มังงะเรื่องนี้ตีพิมพ์ก็เป็นระยะเวลาไล่เลี่ยกับช่วงที่ไมเคิล จอร์แดน กับทีมชิคาโก บูลส์กำลังเริ่มต้นเส้นทางคว้าแชมป์เอ็นบีเอสามปีติดต่อกันเป็นครั้งแรก บาสเกตบอลจึงกลายเป็นกระแสไปทั่วโลก 

     เมื่อมีกระแสรายล้อมขนาดนี้ ไม่นานนัก Slam Dunk ก็ถูกดัดแปลงเป็นอนิเมะออกฉายในปี 1993 ซึ่งมีส่วนช่วยผลักดันให้คนเอเชียมีความอินในกีฬาบาสเกตบอลมากยิ่งขึ้น และหลายคนก็คาดว่า Slam Dunk จะเป็นมังงะที่ตีพิมพ์เป็นเวลานานไม่แพ้ผลงานการ์ตูนแนวกีฬาเรื่องอื่นใน Shonen Jump อย่าง Captain Tsubasa 

     แต่การเดินทางของ Slam Dunk กลับสิ้นสุดลงในปี 1996 โดยเหตุผลที่เลือกจบผลงานตัวเองนั้น ก็มีข้อมูลหลายทิศทาง อาทิ ความขัดแย้งระหว่างกองบรรณาธิการกับตัวผู้เขียน ที่ฝ่ายหนึ่งมองว่าควรจะเขียนต่อจนทีมโชโฮคุได้แชมป์ แต่อีกฝ่ายหนึ่งกลับไม่เห็นด้วย, ตัวอาจารย์ทาเคฮิโกะอยากจะวาดผลงานเรื่องใหม่ หรืออีกกระแสหนึ่งก็ระบุว่า ตัวอาจารย์ทาเคฮิโกะตัดสินใจจบเรื่องราวลงเนื่องจากเห็นว่า ไม่สามารถวาดเนื้อหาของ Slam Dunk ที่สนุกไปมากกว่าการต่อสู้ระหว่างโชโฮคุกับซังโนแล้ว

     ไม่ว่าข้อเท็จจริงของการอวสานเรื่องราวจะเป็นอย่างไรก็ตาม ที่เราพอบอกได้ก็คือ มังงะเรื่องนี้จบลงอย่างงดงาม เฉกเช่นเดียวกับต้นซากุระที่ปีหนึ่งจะเบิกบานอยู่ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ก่อนร่วงโรยไป ทำให้แม้ว่าเวลาจะผ่านไปเท่าไหร่ก็ตาม ผู้คนก็ยังอยากกลับมารับชมอีก

ไม้ใหญ่แผ่รากให้ฟากมังงะและการกีฬา

     แม้ว่า Slam Dunk จะจบลงไปนานกว่า 25 ปี แต่นักอ่านมังงะทั่วโลกก็ยังชื่นชมผลงานเรื่องนี้อยู่เสมอ สื่อในหลายประเทศยังคงแนะนำให้ผู้ที่ยังไม่เคยอ่าน ได้ไปลองอ่านเรื่องนี้สักครั้ง 

     ส่วนในฝั่งนิตยสาร Shonen Jump หรือนิตยสารคู่แข่งอื่นๆ หลังจากที่ Slam Dunk ตีพิมพ์จบลง มังงะสายกีฬาก็มีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งในประเภทกีฬาและกลุ่มตัวละครที่เล่นกีฬา (ไม่ว่าเรื่องดังกล่าวจะมีอภินิหารระดับใดก็ตาม) 

     วกกลับไปที่ตัวอาจารย์ทาเคฮิโกะ แม้ว่า Slam Dunk จะจบลงไป แต่ตัวอาจารย์ก็ไม่เคยทิ้งความรักต่อบาสเกตบอลไปเลย เห็นได้จากการที่ยังกลับมาเขียนงานเกี่ยวกับบาสเกตบอลอย่าง Buzzer Beater ในช่วงปี 1996-1998 หรือ Real ที่ตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 1999 ถึงปัจจุบัน 

     ส่วนในฝั่งวงการบาสเกตบอลในประเทศญี่ปุ่น นอกจาก Slam Dunk จะทำให้คนทั่วไปสนใจกีฬาประเภทนี้มากขึ้น จนมีการกรุยทางในการจัดตั้งลีกบาสเกตบอลที่เปิดรับนักกีฬามืออาชีพเข้ามาเล่น ตัวอาจารย์ทาเคฮิโกะก็ได้ร่วมกับสมาคมบาสเกตบอลแห่งประเทศญี่ปุ่นก่อตั้ง ‘กองทุนสแลมดังก์’ เพื่อมอบทุนให้กับนักเรียน ม.ปลายที่มีทักษะในกีฬาดังกล่าว ได้โอกาสไปศึกษาต่อที่อเมริกา และกองทุนนี้ยังคงทำงานอยู่จนถึงปัจจุบัน

     อีกกรณีหนึ่งก็จะมีนักกีฬาบาสเกตบอลอย่าง ‘มิลตัน เฮนเดอร์สัน จูเนียร์’ (Milton Henderson Jr.) ที่เปลี่ยนสัญชาติตนเองมาเป็นสัญชาติญี่ปุ่น ก็ได้เลือกตั้งชื่อ-สกุลตนเองใหม่เป็น ‘เจ. อาร์. ซากุรางิ’ (J. R. Sakuragi) โดยให้เหตุผลว่า นามสกุลนี้หมายถึงต้นซากุระที่แสดงความเป็นญี่ปุ่น และยังเป็นนามสกุลเดียวกันกับตัวละครเอกของ Slam Dunk 

     และต่อให้การ์ตูนจะจบลงไปแล้ว 8 ปี อาจารย์ทาเคฮิโกะก็กลับมาบอกเล่าเรื่องราวในโลก Slam Dunk อีกครั้ง กับการจัดนิทรรศการ Slam Dunk: 10 Days After ที่อดีตโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายมิซากิ เป็นการเล่าเรื่องตัวละครหลายตัวในโลกของ Slam Dunk กับเหตุการณ์ 10 วันหลังจากตอนจบ ก่อนที่จะมีการนำภาพวาดเหล่านั้นมารวมเล่มตีพิมพ์ในภายหลัง

     ก่อนที่อาจารย์ทาเคฮิโกะจะสร้างเซอร์ไพรส์อีกครั้งด้วยข่าวว่าอาจารย์จะทำหน้าที่เป็นผู้กำกับและเขียนบทภาพยนตร์อนิเมชั่น 3DCG ที่จะใช้ชื่อเรื่องว่า The First Slam Dunk โดยตัวภาพยนตร์ดังกล่าวได้ขยับให้ตัวละคร ‘มิยางิ เรียวตะ’ เป็นตัวเอกในการเล่าเรื่องของตัวเขาเอง ตัดสลับกับการแข่งขันระหว่างทีมโชโฮคุกับทีมซังโน

     ด้านที่มีที่มาที่ไปของภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ร้อนแรงไม่ต่างกับมังงะต้นฉบับ เพราะแผนงานสร้างภาพยนตร์ถูกนำเสนอมาตั้งแต่ช่วงต้นยุค 2000s แต่กว่าจะได้มาเป็นภาพยนตร์ตัวสุดท้าย ก็มีการทำตัวต้นแบบอยู่หลายเวอร์ชั่น ตั้งแต่การสร้างผลงานแบบสองมิติ ก่อนจะพัฒนางานมาเป็นแนว 3DCG และใช้เทคโนโลยีโมชั่นแคปเจอร์เพื่อให้การเคลื่อนไหวของตัวละครในเรื่องมีความสมจริงยิ่งขึ้น อย่างที่เห็นในภาพยนตร์ฉบับที่ออกฉายจริง

     ส่วนการเปลี่ยนตัวเอกของภาพยนตร์จากซากุรางิ ฮานามิจิ มาเป็นมิยางิ เรียวตะ ก็มาจากเจตจำนงของอาจารย์ทาเคฮิโกะ โดยเขาให้เหตุผลว่า ถ้ากลับมาสร้าง Slam Dunk อีกครั้ง ก็อยากจะเปลี่ยนมุมมองของเรื่องบ้าง และในเมื่ออาจารย์เป็นคนที่รู้จักตัวละครต่างๆ ดีที่สุด การเปลี่ยนแปลงนี้จึงไม่น่าใช่แนวคิดที่ผิดแต่อย่างใด

     ก่อนที่ The First Slam Dunk จะเข้าฉาย มีหลายคนมองว่าแอนิเมชั่นเรื่องนี้ จะดึงดูดใจคนดูที่เป็นวัยรุ่นยุค 90s เท่านั้น แต่เมื่อหนังเรื่องดังกล่าวเปิดตัวในประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2022 ปรากฏว่าคนที่ไปรับชมไม่ได้มีแต่วัยรุ่นยุค 90s แต่ยังมีคนดูรุ่นอื่นๆจำนวนมาก จนทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ติดอยู่ในอันดับ 1 ของ Box Office ประเทศญี่ปุ่นต่อเนื่องถึง 8 สัปดาห์

     สำหรับแฟน Slam Dunk ต้นฉบับ ภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถถ่ายทอดทั้งอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร และจังหวะในการแข่งขันที่เร้าใจจากหน้ากระดาษมาเป็นภาพเคลื่อนไหวได้อย่างดีเยี่ยม ส่วนผู้ชมที่เกิดไม่ทันต่างก็ชื่นชมกับฉากแอ็กชั่นและมุมดราม่าของตัวละครที่ไม่ค่อยได้เห็นในการ์ตูนกีฬา

     แต่ไม่ว่าผู้ชมจะเป็นยุคไหนวัยไหน จะเป็นคนเคยสะสมมังงะฉบับพิมพ์ครั้งก่อนๆ เอาไว้แล้ว หรือคนที่ยังไม่เคยอ่านมาก่อนเลย ต่างก็ออกไปหาซื้อมังงะ Slam Dunk ฉบับพิมพ์ใหม่หลังจากได้รับชมฉากทรงพลังในภาพยนตร์

     จากจุดนี้จึงทำให้เราเชื่อว่า Slam Dunk จะเป็นจุดสร้างแรงบันดาลใจ ไม่ใช่แค่สำหรับคนยุคใดยุคหนึ่ง ไม่ใช่แค่กับคนที่สนใจบาสเกตบอล แต่จะเป็นหมุดหมายให้คอการ์ตูนทุกเพศทุกวัยไปอีกยาวนาน

อ้างอิง:

crunchyroll.com/anime-news/2021/05/30-1/slam-dunk-scholarship-special-movie-aired-at-bleague-finals-game-on-sunday
fiba.basketball/basketballworldcup/2019/asian-qualifiers/news/why-basketball-is-a-slam-dunk-in-japan
comipress.com/article/2006/12/15/1160.html
animenewsnetwork.com/news/2010-06-09/japan-basketball-association-awards-slam-dunk-inoue
animenewsnetwork.com/interview/2007-11-21/takehiko-inoue-at-kinoku
comipress.com/article/2006/12/15/1160.html
koreatimes.co.kr/www/art/2023/02/398_342963.html
latimes.com/archives/la-xpm-2008-jan-21-sp-crowe21-story.html