South Korea—The 5th Market Metaverse
การวางแผนสู่อนาคตของเกาหลีใต้ การสร้างโลกเสมือนจริงให้ไม่ไกลเกินเอื้อม
เรื่อง: กรุณพร เชษฐพยัคฆ์
ภาพ: ms.midsummer
‘โลกเสมือนจริง ใส่แว่นสามมิติเที่ยวเมืองแบบ 3D ปักหมุดเช็กอินกวังยา เจอไอดอลเคป๊อปแบบ virtual’
นี่อาจจะเป็นข้อความโปรโมตการท่องเที่ยวเกาหลีใต้ในอนาคต ประเทศที่ประกาศตัวแล้วว่า “ฉันจะเป็นประเทศยักษ์ใหญ่แห่งเมตาเวิร์สให้ได้เลย!”
ช่วงปีที่ผ่านมา หลายคนคงคุ้นชินกับคำว่า ‘เมตาเวิร์ส’ (Metaverse) กันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการที่บริษัทเฟซบุ๊กประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น ‘Meta’ ไปจนถึงการบูมขึ้นมาของการซื้อขาย NFT และคริปโตเคอร์เรนซี แต่การเข้ามาของโลกเสมือนจริงนี้ ก็ทำให้รัฐบาลและประเทศต่างๆ ต้องปรับตัวเช่นกัน
ขณะที่บางประเทศก็ดูยังจะไม่เข้าใจ และหาช่องทางเก็บภาษีต่างๆ มากขึ้น แต่ประเทศเกาหลีใต้ที่ขึ้นชื่อเรื่องการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีอยู่แล้วนั้น ประกาศออกมาว่า จะผลักดันให้เมืองหลวงอย่างกรุงโซลกลายเป็นเมืองเมตาเวิร์ส และในอีกห้าปีข้างหน้า พวกเขาจะทำให้ประเทศเป็นตลาดเมตาเวิร์สอันดับ 5 ของโลก ซึ่งไม่เพียงแค่ภาครัฐหรือธุรกิจเท่านั้น แต่ในส่วนของวงการบันเทิงอย่างอุตสาหกรรมเคป๊อป ก็เริ่มมีการสร้างจักรวาลเมตาเวิร์สกับไอดอลและเพลงแล้ว
คอลัมน์ (K)ULTURE จึงอยากชวนไปสำรวจว่าเมตาเวิร์สที่รัฐบาลเกาหลีใต้วางแผนกันไว้นั้นหน้าตาแบบไหน เขาตั้งเป้าแล้วจะไปสู่เป้าหมายกันอย่างไร และวงการเคป๊อปเริ่มปรับตัวสู่โลกเมตาเวิร์สอย่างไรแล้วบ้าง
เกาหลีใต้กับรัฐบาลที่วางแผนใหญ่
“เมตาเวิร์สเป็นพื้นที่ดิจิทัลแห่งใหม่ที่มีศักยภาพไร้ขีดจำกัด และทุกคนสามารถบรรลุความฝันได้ด้วยการเล่นเป็นตัวละครหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มันจะเป็นพื้นที่แห่งโอกาสสำหรับคนหนุ่มสาวที่จะท้าทายมากขึ้นและเติบโตขึ้นเพื่อก้าวไปสู่โลกที่กว้างขึ้น” ลิม ฮเยซุก (Lim Hye-sook) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และไอซีทีของเกาหลีใต้กล่าวระหว่างการประกาศแผนสู่การเป็น Top 5 เมตาเวิร์ส
เมื่อข่าวของโลกเมตาเวิร์สมาถึง คนอย่างเราๆ จึงเริ่มศึกษาว่ามันคืออะไร เทรนด์โลกจะเปลี่ยนไปเป็นแบบไหน หรือราชบัณฑิตฯ ของไทยที่เสาะหาคำไทยอย่าง ‘จักรวาลนฤมิต’ มาบัญญัติคำนี้ รัฐบาลเกาหลีใต้ก็เป็นประเทศแรกๆ ที่กางแผนออกมาว่าจะพัฒนาเรื่องนี้ ปรับทั้งเมือง ทั้งประเทศ และประชาชนไปพร้อมๆ กัน
ตั้งแต่ก่อนเฟซบุ๊กจะเปลี่ยนชื่อบริษัทหรือคำว่าเมตาเวิร์สจะเริ่มเป็นที่แพร่หลาย ในเดือนพฤษภาคม 2021 รัฐบาลเกาหลีใต้ก็เริ่มออกตัวแล้ว โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และไอซีทีได้จัดตั้ง ‘พันธมิตรเมตาเวิร์ส’ ขึ้น หวังทำงานร่วมกับภาคเอกชน เพื่อประสานงานและอำนวยความสะดวกในการพัฒนาแพลตฟอร์มเสมือนจริงและความเป็นจริงเสริม ซึ่งมีบริษัทมากกว่า 500 แห่ง ไม่ว่าจะเป็น Samsung, Hyundai Motor, SK Telecom และ KT ได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรในฐานะส่วนหนึ่งของ Digital New Deal 2.0 ของประธานาธิบดี มุน แจอิน (Moon Jae-in)
พอเปิดปีใหม่ 2022 มา กระทรวงวิทยาศาสตร์และไอซีทีก็มาพร้อมแผนใหญ่ ประกาศว่าจะสร้างผู้เชี่ยวชาญ 40,000 คน และ 220 บริษัทที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเมตาเวิร์สเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต และการบรรลุเป้าหมายในการเป็นประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ในตลาดทั่วโลกภายในปี 2526 หรือก็คือภายในห้าปีนี้
การพัฒนาเมตาเวิร์สประเภทต่างๆ จะนำโดยภาคเอกชน ในขณะที่รัฐบาลจะเน้นไปที่การสนับสนุนนักพัฒนาแต่ละรายและบริษัทเป็นหลัก โดยภายใต้แผนนี้มีการวางว่าจะใช้เทคโนโลยีเมตาเวิร์สในด้านศิลปะ วัฒนธรรม การศึกษา เคป๊อป และการท่องเที่ยว ในขณะที่สำหรับชาวต่างชาติอย่างเราๆ การเรียนภาษาเกาหลีก็อาจจะเปลี่ยนไปด้วย เพราะจะมีการสร้างสถาบันภาษาเกาหลีออนไลน์บนแพลตฟอร์มเมตาเวิร์ส สำหรับชาวต่างชาติโดยเฉพาะ
แน่นอนว่าการประกาศเหล่านี้ไม่ได้มาแค่ตัวเลขลอยๆ เพราะรัฐบาลเตรียมให้การสนับสนุนทางการเงินกว่า 5.5 พันล้านวอน (ประมาณ 150 ล้านบาท) ในการตั้งสถาบันการศึกษาเมตาเวิร์สที่จะให้เยาวรุ่นชาวเกาหลีมาได้เรียนรู้ ช่วยจัดตั้งระบบเพื่อให้นักเรียนแต่ละโรงเรียนเข้าสู่มหาวิทยาลัยได้ต่อเนื่องในช่วงห้าปีข้างหน้า รวมถึงจัดงานแฮ็กกาธอนและการแข่งขันเพื่อพัฒนาเมตาเวิร์ส เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ และปลุกไฟในตัว สำหรับบริษัทและนักศึกษาที่ผสมความชาตินิยม คือให้ใช้โปรแกรมซอฟต์แวร์ในประเทศด้วย
นอกจากนี้รัฐบาลยังจะจัดตั้งศูนย์กลางเมตาเวิร์สใหม่ในปีนี้เพื่อให้พื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวก รองรับการเริ่มต้นเข้าสู่โลกอนาคต สร้างกองทุนเมตาเวิร์ส เพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่บริษัทขนาดเล็กและขนาดกลาง สำหรับข้อกังวลต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับโลกเมตาเวิร์สไม่ว่าจะด้านกฎหมายหรือจริยธรรม รัฐบาลก็เตรียมร่างชุดหลักการทางจริยธรรมสำหรับโลกเสมือนจริงขึ้น และจัดตั้งหน่วยงานภาครัฐเพื่อตรวจสอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องและแก้ไขกฎระเบียบหากจำเป็น
ไม่เพียงแค่ฝั่งรัฐเท่านั้นที่ขยับ แต่เอกชนหลายแห่งก็เริ่มสร้างและพัฒนาระบบเมตาเวิร์สแล้ว อย่าง SK Telecom บริษัทโทรคมนาคมก็สร้างแพลตฟอร์มเมตาเวิร์สของตัวเองที่เรียกว่า ‘ifland’ ที่ผู้ใช้สามารถแชร์เอกสาร PDF และไฟล์ MP4 ได้ ทำให้กลายเป็นแพลตฟอร์มยอดนิยมสำหรับองค์กรในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ปฐมนิเทศ และการฝึกอบรม ซึ่งอุตสาหกรรมการศึกษาและการท่องเที่ยวกำลังขยายการมีส่วนร่วมเสมือนจริงในเมตาเวิร์ส เช่น เป็นเจ้าภาพการปฐมนิเทศนักศึกษา และการจัดแสดงเพื่อเข้าถึงผู้ชมที่กว้างขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วย
ปัจจุบันเกาหลีใต้มีตลาดเมตาเวิร์สที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 12 ของโลก แต่แผนที่เพิ่งประกาศนี้จะเป็นการพาประเทศก้าวกระโดดขึ้นมาในอันดับ 5 ซึ่ง อเล็กซานเดอร์ ซัลนีคอฟ (Alexander Salnikov) หนึ่งในผู้ก่อตั้งและหัวหน้าด้านผลิตภัณฑ์ของ Rarible ตลาดซื้อขาย NFT ชื่อดังให้สัมภาษณ์หลังเห็นแผนของรัฐบาลเกาหลีว่า “ผมเชื่อมั่นมากว่าเกาหลีอยู่ในตำแหน่งที่จะกลายเป็นหนึ่งในผู้เล่นในตลาดเมตาเวิร์สที่ยิ่งใหญ่ที่สุด”
โซล เมืองหลวงของประเทศ
และเมืองหลวงแห่งเมตาเวิร์ส
รัฐบาลกลางทำแล้ว เอกชนทำแล้ว ฝั่งท้องถิ่นเองก็ไม่น้อยหน้าเช่นกัน เพราะเมื่อปลายปี 2021 รัฐบาลกรุงโซลเองก็ประกาศแผน ‘เมตาเวิร์สโซล’ (Metaverse Seoul) หรือการผลักดันให้เมืองหลวงของประเทศกลายเป็นเมืองเมตาเวิร์สแห่งแรกของโลก ภายใต้แนวคิด Future Emotional City ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ‘วิสัยทัศน์โซล 2030’ (Seoul Vision 2030) ซึ่ง โอ เซฮุน (Oh Se-hoon) นายกเทศมนตรีกรุงโซล กล่าวว่า “จะทำให้โซลเป็นเมืองแห่งการอยู่ร่วมกัน เป็นผู้นำระดับโลก เมืองที่ปลอดภัย และเป็นเมืองแห่งอารมณ์ในอนาคต”
โดยการจะสร้างเมตาเวิร์สโซลนี้ รัฐบาลกรุงโซลได้ทุ่มงบประมาณกว่า 3.9 พันล้านวอนหรือราว 120 ล้านบาท โดยหนึ่งในแผนการนั้นจะมีการเปิด ‘Metaverse 120 Center’ (ชื่ออย่างไม่เป็นทางการ) ภายในปี 2023 ซึ่งจะเป็นศูนย์บริการสาธารณะเสมือนจริง ที่เจ้าหน้าที่สาธารณะจะรับบทบาทอวตารในเมตาเวิร์สให้คำปรึกษาผ่านศูนย์ราชการที่ศาลาว่าการกรุงโซล ขณะที่เราก็สวมชุดหูฟัง VR คุยกับเจ้าหน้าที่
รวมไปถึงสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของโซล เช่น จัตุรัสกวางฮวามุน, พระราชวังท็อกซู และตลาดนัมแดมุน จะเปิดตัวผ่าน Virtual Tourist Zone ส่วนทรัพยากรทางประวัติศาสตร์ที่สูญหาย เช่น ประตูทนอึยมุน (หนึ่งในสี่ประตูเมืองเล็กๆ ของเมืองหลวงที่ถูกทำลายลงในปี 1915) ก็จะมีการสร้างใหม่ในพื้นที่เสมือนจริง รวมไปถึงเทศกาลชั้นนำของโซล เช่น เทศกาลโคมไฟ ก็จะไม่ได้จัดขึ้นแค่ในโซล แต่จะจัดขึ้นในเมตาเวิร์ส เพื่อให้คนทั่วโลกสามารถเพลิดเพลินได้ด้วย
นอกจากนี้รัฐบาลกรุงโซลยังจะพัฒนาบริการสำหรับผู้ที่เปราะบางทางสังคม รวมถึงเนื้อหาด้านความปลอดภัยและความสะดวกสำหรับคนพิการโดยใช้ Extended Reality (XR) ในแผนการนี้เช่นกัน
ไปกวังยากันสิคะ
เมื่อเคป๊อปบุกโลกเมตาเวิร์ส
ด้านวงการเคป๊อปเองก็มีการปรับตัวพัฒนาไปสู่เมตาเวิร์สกันมาสักพักแล้ว โดยในเดือนมีนาคม ปี 2021 วงเกิร์ลกรุ๊ปเกาหลีระดับโลกอย่าง BLACKPINK ก็ได้ใช้อวตารเสมือนจริงจัดงานแฟนอีเวนต์ ซึ่งมีแฟนๆ มากถึง 46 ล้านคนที่เข้าร่วม Fansign เพื่อรับลายเซ็นดิจิทัลจากวง ต่อมาในเดือนเมษายนปีเดียวกัน บริษัท SK Telecom ก็เปิดตัว K-pop Metaverse Project บนแอพฯ Augmented Reality Jump ซึ่งเป็น AR ที่ช่วยให้แฟนๆ สามารถสร้างมิวสิกวิดีโอของตนเองตามดนตรีและการเต้นโดยมีเกิร์ลกรุ๊ป บอยกรุ๊ปเสมือนมาเต้นข้างๆ เราตัวต่อตัวเลยกันไปเลย
การเข้าสู่เมตาเวิร์สของเคป๊อปยังก้าวไปสู่โลกของเกมด้วย ไอดอล AleXa ก็เป็นศิลปินอีกคนที่พาวงการก้าวข้าวขีดจำกัด กับการจัดงาน Global Fan Party ในเกมแอ็กชั่นชูตติ้ง Scavengers ให้แฟนๆ หลายพันคนสามารถเข้าร่วมเพื่อเพลิดเพลินกับประสบการณ์ทางดนตรีที่ไม่เหมือนใคร ในขณะที่โต้ตอบกับอวาทาร์ดิจิทัลของ AleXa แบบเรียลไทม์
แต่ถ้าหากจะพูดถึงเมตาเวิร์สในเคป๊อปแล้ว ก็เป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่พูดถึงการเดบิวต์ของสี่สาววง aespa ของค่าย SM Entertainment ตั้งแต่ปลายปี 2020 ด้วยคอนเซปต์วงที่มีทั้งมนุษย์และอวาทาร์ในวงเดียวกัน ทั้งยังมีเมืองทิพย์ในโลกเสมือนจริงที่ชื่อว่า ‘กวังยา’ พร้อมเนื้อเพลงที่เชื่อมระหว่างมนุษย์และอวาทาร์ไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการไปสู้กับตัวร้ายที่ชื่อแบล็กแมมบา หรือนาวิส ผู้ที่มาช่วยเปิดประตู P.O.S. ให้สาวๆ aespa ข้ามไปสู่โลกกวังยาด้วย
ทั้งนี้กวังยาไม่ได้เชื่อมกับวง aespa อย่างเดียว เพราะเริ่มมีชื่อเมืองนี้ปรากฏในเนื้อเพลงของวงอื่นๆ อย่าง NCT ไปถึงว่าค่าย SM Entertainment เองยังเรียกจักรวาลทั้งหมดของค่าย (SM Culture Universe) ว่ากวังยาแล้วด้วย ซึ่งในอนาคตวงอื่นๆ ของค่ายก็อาจจะเริ่มมีเพลง และคอนเซปต์เชื่อมสู่โลกเมตาเวิร์สขึ้นเรื่อยๆ ก็เป็นไปได้ ไม่เพียงเท่านั้นยังมีการรายงานว่า SM Entertainment กำลังพิจารณาใช้ Solana เป็นแพลตฟอร์มบล็อกเชนในการออก NFT ด้วย
นอกจากค่าย SM Entertainment แล้ว ค่ายเพลงใหญ่ๆ ของเกาหลีใต้ ก็เริ่มมีแผนสำหรับการเข้าสู่โลกเมตาเวิร์สกันแล้ว ไม่ว่าจะเป็น HYBE ค่ายเพลงของศิลปิน BTS, JYP Entertainment ค่ายเพลงของเกิร์ลกรุ๊ป Twice หรือ Cube Entertainment ค่ายของ (G)I-DLE เอง ต่างก็มีแผนร่วมมือกับบริษัทคริปโต เพื่อเปิดแพลตฟอร์ม ช่องทางการขาย NFT ต่างๆ ของศิลปิน และเชื่อมสู่เมตาเวิร์สเช่นกัน
แต่ถ้าจะเอาให้เมตาเวิร์สกันสุดๆ และล้ำไปกว่านี้ บริษัทเกม Netmarble ได้ร่วมมือกับ Kakao Entertainment บริษัทในเครือยักษ์ใหญ่ด้านการสื่อสาร ก่อตั้งบริษัท Metaverse Entertainment Inc. และจะใช้เทคโนโลยี MetaHuman เข้ามาขับเคลื่อนวงการอุตสาหกรรมเคป๊อป สร้างไอดอลเสมือนจริงขึ้นมา โดยได้เริ่มสร้างเกิร์ลกรุ๊ปเสมือนจริงพร้อมชื่อวงว่า ‘Mave’ เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งศิลปินในค่ายนี้จะเป็นอวตารในพื้นที่เสมือนจริง ทำงานร่วมกับ AI และ CG ทางค่ายเชื่อว่า meta-idol เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของภารกิจเจาะตลาดความบันเทิงระดับโลกเลยด้วย
อะไรที่ไม่เคยเห็นก็จะได้เห็น หน้าตาของโลกเมตาเวิร์สกับไอดอล การวางแผนพัฒนาเมืองไปจนถึงประเทศนั้นจะทำให้เกาหลีใต้สร้างเงิน สร้างงาน อาชีพ และเศรษฐกิจของประเทศไปได้มากแค่ไหน เกาหลีใต้น่าจะเป็นหนึ่งในต้นแบบการพัฒนาเมตาเวิร์สให้เราได้เห็นกันเร็วๆ นี้
อ้างอิง
• euronews.com/next/2021/11/10/seoul-to-become-the-first-city-to-enter-the-metaverse-what-will-it-look-like
• blockworks.co/south-korea-could-take-over-the-metaverse-through-gaming-industry-players-say
• english.seoul.go.kr/announcement-of-seoul-vision-2030-by-mayor-oh-se-hoon-to-restore-the-hierarchical-mobility-ladder-and-citys-competitiveness/
• koreaherald.com/view.php?ud=20220120000709
• cryptoslate.com/south-korea-explores-metaverse-plans-aims-to-become-the-5th-biggest-metaverse-market-by-2026/
• thediplomat.com/2021/11/south-koreas-approach-to-the-metaverse
• scmp.com/lifestyle/k-pop/article/3154968/k-pop-labels-embrace-virtual-stars-and-pursue-metaverses-extend
• hypebae.com/2021/11/alexa-k-pop-metaverse-fan-experience-global-event-virtual-reality-schedule-info
• forkast.news/headlines/sm-entertainment-k-pop-fans-metaverse-nfts