Mon 23 Jan 2023

THINGS LEFT UNSAID

ว่าด้วยสิ่งที่ตัวละครพูด (และไม่ได้พูด) ในหนัง ‘Still Walking’ และสไตล์การทำงานของ ‘ฮิโรคาสุ โคเรเอดะ’

ภาพ: ms.midsummer

     “เขาไม่อยากให้เพื่อนบ้านเห็นเขาเดินถือถุงช้อปปิ้ง ถึงจะแก่ปูนนี้แล้ว เขาก็ยังชอบให้คนเรียกว่าเซ็นเซอยู่”

     “ลูกสาวฉันอยากได้ทุกอย่าง แต่พอได้แล้ว เธอก็ไม่สนใจมันอีก ฉันยกกิโมโนสวยๆ ให้ แต่เธอก็ไม่เคยใส่สักครั้ง ฉันสงสัยว่าเธอคงขายมันในอินเทอร์เน็ตไปแล้วมั้ง”

     “เขาบอกว่าจะซ่อมพื้นห้องน้ำ แต่เขาก็กินจนอิ่ม นอนพัก แล้วก็กลับบ้าน เขาเป็นแบบนั้นตลอด เอาแต่พูดแล้วก็ไม่เคยทำอะไร”

     ตัวละครในหนัง Still Walking (2008) ไม่เคยพูดสิ่งที่อยู่ในใจออกมาตรงๆ ให้อีกฝ่ายฟัง แต่เลือกที่จะเก็บไว้พูดลับหลังเมื่อใครคนนั้นเดินพ้นไปจากสายตา 

     แม่พูดถึงพ่อให้ลูกสาวฟัง พูดถึงลูกสาวให้ลูกสะใภ้ฟัง พูดถึงลูกเขยให้ลูกชายฟัง และในขณะเดียวกัน ลูกสาวกับลูกสะใภ้ก็พูดถึงแม่ยายให้สามีฟังอีกที

     ลักษณะนิสัยดังกล่าวเป็นสิ่งที่ผู้กำกับ ‘ฮิโรคาสุ โคเรเอดะ’ (Hirokazu Koreeda) พบเห็นได้ตลอดในสังคมญี่ปุ่นและเลือกหยิบมาใช้ในการเขียนไดอะล็อกให้ตัวละคร โดยเฉพาะตัวละครแม่ (รับบทโดย คิริน กีกิ) ซึ่งอ้างอิงจากแม่ของเขาเองที่เสียชีวิตสองปีก่อนหนังจะเริ่มถ่ายทำ

     “มันเป็นเรื่องปกติที่คุณจะไม่พูดสิ่งที่คุณคิดจริงๆ ให้อีกฝ่ายฟัง นั่นเป็นธรรมชาติของแม่ผม ของผม แล้วก็ของคนส่วนใหญ่รอบตัวผม คุณไม่พูดสิ่งที่คิดออกมาต่อหน้าเขา แต่คุณจะไปหาคนอื่น แล้วค่อยพูดสิ่งเหล่านั้นออกมา

     “ไม่ใช่แค่แม่ของผม แต่มันเป็นเรื่องปกติของคนญี่ปุ่นที่มักจะหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า มันเป็นความฉลาดอย่างหนึ่ง เป็นหนทางที่จะนำพาครอบครัวให้ยังอยู่ต่อไปได้”

     Still Walking เล่าถึงครอบครัวที่กลับมารวมตัวพร้อมหน้ากันอีกครั้งในบ่ายฤดูร้อนวันหนึ่ง ชินามิ ลูกสาวคนเล็กกลับมาพร้อมสามีและลูกๆ ส่วนเรียวตะ ลูกชายคนรองกลับมาพร้อมภรรยาใหม่กับลูกติดอีกหนึ่งคน เพื่อร่วมรำลึกถึงจุนเป ลูกชายคนโตของบ้านที่เสียชีวิตไปเมื่อหลายปีก่อน 

     หนังดำเนินเรื่องอย่างค่อยเป็นค่อยไป ปราศจากการเร้าอารมณ์ด้วยจุดพลิกผันหักเหหรือการทะเลาะเบาะแว้งใหญ่โตดังเช่นหนังครอบครัวเรื่องอื่นๆ พูดถึงครอบครัว ชีวิต หรือกระทั่งความตายด้วยน้ำเสียงเรียบนิ่งและไม่ฟูมฟาย ตัวละครเต็มไปด้วยบาดแผลและการเลือกรับมือกับความสูญเสียด้วยวิธีที่ต่างกันไป นอกจากนี้ หนังยังเล่าเรื่องราวทั้งหมดผ่านเหตุการณ์ในหนึ่งวันเท่านั้น

     “ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในหนังเรื่องนี้เกิดขึ้นหลังจากบางสิ่งได้จบลงไปแล้ว” โคเรเอดะพูดถึงหนังของเขา “อย่างการสูญเสียใครสักคน การแต่งงาน หรือแม้แต่ความตายของพ่อแม่ที่จะเกิดขึ้นหลังจากหนังจบ ทุกสิ่งที่เป็นจุดพีคโดยทั่วไปของหนัง ผมตัดสินใจจะเอาออกไปให้หมด ดังนั้นมันเลยทำให้หนังเป็นเหมือนกับมหาสมุทรที่ไม่มีระลอกคลื่นเลย แต่ถ้าคุณลองเข้าไปดูใกล้ๆ ที่ผิวน้ำก็จะเห็นการกระเพื่อมของมัน

     “ความตั้งใจของผมคืออยากลองขมวดหลายๆ ช่วงเวลาให้มาเกิดขึ้นภายในหนึ่งวัน ยกตัวอย่าง ตอนที่ตัวละครปู่จับมือของหลานชายแล้วพูดว่า ‘มือของเธอเหมาะที่จะเป็นหมอนะ’ แล้วพอลูกชาย (เรียวตะ) มาเห็นเข้าก็โมโห ทำให้เราเข้าใจว่านี่อาจจะเป็นสิ่งที่เคยเกิดกับเขาตอนเป็นเด็กก็ได้”

     “ได้โปรดอย่าแนะนำอะไรกับเขา ผมไม่ยอมให้เขาเป็นหมอหรอก” 

     นอกจากไดอะล็อกจะบอกเล่าสิ่งที่ตัวละครคิด ไดอะล็อกที่โคเรเอดะเขียนยังแสดงถึงลักษณะนิสัย รวมถึงบอกเล่าสิ่งที่ตัวละครไม่ได้พูดออกมาอีกด้วย เช่น ไดอะล็อกของเรียวตะที่บอกว่าไม่ยอมให้ลูกของตัวเองเป็นหมอ แม้จะฟังเหมือนเป็นการไม่บังคับ แต่การไม่ยอมให้เป็นก็อาจเท่ากับการบังคับในอีกรูปแบบหนึ่งเหมือนกัน 

     ในหนังเรื่องนี้เราได้เห็นเรียวตะหลุดขึ้นเสียงด้วยความโมโหในบางครั้ง รวมถึงปล่อยให้ภรรยาถือของหนักกว่าตอนเดินขึ้นบันได ทำให้ไม่แน่ว่าตัวละครนี้อาจลงเอยด้วยการกลายเป็นเหมือนพ่อของตนเองในที่สุด ซึ่งสอดคล้องกับอีกไดอะล็อกที่น้องสาวของเขาได้พูดเอาไว้ก่อนหน้านี้ (ไม่ได้พูดกับเขาโดยตรง แต่พูดให้แม่กับภรรยาของเขาฟัง) ว่า “เห็นไหม เขาน่ะเหมือนพ่อไม่มีผิด” 

     ไดอะล็อกเป็นเรื่องสำคัญกับโคเรเอดะถึงขนาดว่า มีซีนหนึ่งที่ตัวละครแม่ต้องพูดประโยคยาวๆ ระหว่างเดินจากห้องครัวมายังห้องรับแขก แต่ระยะทางระหว่างสองจุดนี้สั้นเกินกว่าจะพูดทั้งประโยคได้ ทำให้เขาต้องแก้คำพูดให้พอดีกับระยะทาง เพื่อให้ไดอะล็อกนั้นยังคงความหมายเดิมเอาไว้

     “เราทำแบบนั้นกันเยอะมากก่อนถ่ายทำ” โคเรเอดะเล่าถึงสไตล์การทำงานที่แม้จะมีตัวสคริปต์เสร็จสมบูรณ์แล้ว แต่เขาก็ยังต้องมาแก้ไดอะล็อกให้พอดีกับนักแสดงและสถานที่ถ่ายทำอยู่ดี เขาต้องเห็นทุกอย่างหน้างานจริงเสียก่อนจึงจะตัดสินใจได้ว่าซีนนั้นๆ ควรจะออกมาเป็นแบบไหน ซึ่งเป็นสไตล์การทำงานที่เขาได้รับอิทธิพลมาจาก โหว เซี่ยวเสียน (Hou Hsiao-Hsien) ผู้กำกับอีกคนที่เขาชื่นชอบ

     ช่วงแรกๆ ที่เพิ่งเริ่มทำหนัง โคเรเอดะเอาหนังเรื่องแรกของตัวเองอย่าง Maborosi (1995) ไปให้โหว เซี่ยวเสียน ดู แต่ปฏิกิริยาของผู้กำกับชาวไต้หวันกลับไม่ใช่อย่างที่โคเรเอดะคาดหวังเอาไว้สักเท่าไร

     “เขาโมโหผม ซึ่งนั่นทำให้ผมช็อก” โคเรเอดะเล่า “ผมอยากเอาหนังที่เพิ่งเสร็จมาให้ผู้กำกับคนโปรดดูเพื่อให้เขาได้ชื่นชมมัน ผมคิดว่าเขาคงจะพูดชมเชยในแบบที่ถนอมน้ำใจหน่อย เพราะผมเพิ่งจะเริ่มทำหนังได้ไม่นาน แต่เขากลับถามผมว่า ‘นายใช้สตอรี่บอร์ดใช่ไหม นายเขียนสตอรี่บอร์ดก่อนจะออกกองใช่หรือเปล่า’ พอผมตอบว่าใช่ เขาก็ถามว่า ‘แล้วนายจะรู้ได้ยังไงว่าจะวางกล้องตรงไหนก่อนที่นายจะได้เห็นนักแสดงในฉาก’ เขาบอก ‘นายไม่รู้หรอกว่าจะวางกล้องตรงไหนจนกว่าจะได้เห็นนักแสดงเข้าฉาก นายเคยทำสารคดีแต่ไม่รู้เรื่องพวกนี้เนี่ยนะ’ นั่นทำให้ผมช็อกมาก จนหลังจากนั้นผมเขียนสตอรี่บอร์ดไม่ได้อีกพักใหญ่เลยเพราะกลัว”

     คำพูดของโหว เซี่ยวเสียน เปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานของโคเรเอดะไปโดยสิ้นเชิง จากที่ถ่ายตามสตอรี่บอร์ดแบบเป๊ะๆ ทุกซีนในหนังเรื่องแรก โคเรเอดะเปิดรับวิธีการทำงานใหม่ๆ มากขึ้น ใน After Life (1998) เขาชวน ยูทากะ ยามาซากิ (Yutaka Yamazaki) ตากล้องที่เคยถ่ายแต่สารคดีทางโทรทัศน์ให้มาลองถ่ายหนังฟิกชั่น ผลคือยามาซากิถ่ายจนฟิล์มที่ทีมงานสต็อกไว้สำหรับถ่ายทำหมดเกลี้ยง จนทำให้งบบานปลาย แม้แต่ซีนที่โคเรเอดะบอกว่าไม่ต้องถ่ายเยอะก็ยังมีฟุตเทจมหาศาล เพราะการถ่ายสารคดีจะเน้นถ่ายเก็บฟุตเทจไปเรื่อยๆ ให้ได้มากที่สุดแล้วค่อยไปเลือกอีกที ซึ่งนั่นขัดกับการทำหนังที่ไม่ได้มีงบประมาณและเวลาขนาดนั้น จนทำให้ทั้งคู่ขัดแย้งกันตอนถ่ายทำ แต่สุดท้ายกลายเป็นว่าฟุตเทจที่ยามาซากิถ่ายเผื่อไว้กลับได้ใช้ในหนังเยอะมากๆ หรือใน Nobody Knows (2004) โคเรเอดะตัดสินใจว่าจะไม่ให้สคริปต์กับนักแสดงเด็ก แต่ใช้การกระซิบบอกเด็กไปทีละซีนว่าต้องทำอะไรบ้าง เพราะรู้สึกว่าทำแบบนั้นแล้วจะได้ความเป็นธรรมชาติมากกว่า รวมถึงตัดสินใจให้ตัวละครเด็กคนหนึ่งใส่รองเท้าแบบที่มีเสียงดังตอนเดิน เพราะเห็นเด็กที่มาแคสต์ใส่รองเท้าแบบนั้นแล้วคิดว่ามันช่วยส่งเสริมความไร้เดียงสาของเด็กมากยิ่งขึ้น

     และใน Still Walking เองก็เช่นกัน โคเรเอดะได้ไดอะล็อกหลายประโยคมาจากนักแสดงในเรื่องที่นั่งคุยกันระหว่างรอเข้าฉาก เช่น วันหนึ่งเขาได้ยินผู้หญิงสองคนคุยกันว่า “หน้าผากเธอสวยดีนะ เธอน่าจะเปิดผมข้างหน้าอีกหน่อย” โคเรเอดะชอบประโยคนี้มาก จึงกลับไปแก้บทให้แม่พูดกับลูกสาวแบบนั้น

     “ผมเป็นคนเขียนสคริปต์ ผมเขียนทุกไดอะล็อก ไม่มีการด้นสดในหนัง แต่ผมก็ไม่สามารถพูดได้หรอกว่าทุกสิ่งที่เขียนเป็นไอเดียของผม เพราะสิ่งที่ผมทำคือฟังนักแสดงคุยกันข้างหลังฉาก แล้วก็เขียนสิ่งที่พวกเขาพูดกัน บางวันผมกลับไปเขียนลงในสคริปต์แล้วก็เอามาให้พวกเขาในวันถัดไป”

     อีกซีนก็คือซีนที่แม่ของเรียวตะมอบกิโมโนให้กับภรรยาของเขา แล้วเอ่ยปากชมเธอว่า “เธอมีลักยิ้มตอนที่หัวเราะด้วย น่ารักจัง” ไดอะล็อกนี้เกิดจากการที่โคเรเอดะถาม ยูอิ นัตสึคาวะ นักแสดงที่รับบทเป็นภรรยาของเรียวตะว่าคำพูดแบบไหนที่ทำให้เธอรู้สึกไม่สบายใจที่สุด เพราะตัวละครของเธอจะต้องรู้สึกแบบนั้นเมื่ออยู่ในบ้านหลังนี้

     “เธอบอกว่าเป็นเรื่องทางกายภาพ เช่น เวลาที่มีคนพูดถึงลักยิ้มของเธอ ผมก็จดสิ่งที่เธอเล่า แล้วพอวันต่อมามันก็ไปอยู่ในสคริปต์”

     ความจริงแล้วโคเรเอดะยังคงเขียนสตอรี่บอร์ดอยู่ แต่เขียนคร่าวๆ เพื่อให้เห็นทิศทางและภาพรวมของหนัง จากนั้นก็โยนทิ้งไปแล้วค่อยไปค้นหาว่าหนังจะเป็นยังไงในกองถ่ายเอา เพราะหนังเรื่องหนึ่งมีองค์ประกอบหลายอย่าง ทั้งนักแสดง ทีมงาน สภาพแวดล้อมในกองถ่าย รวมถึงปัจจัยอื่นๆ อีกมากมายที่ไม่อาจคาดเดาได้ ทุกอย่างหลอมรวมกันกลายเป็นหนังเรื่องหนึ่ง ซึ่งสิ่งที่ค้นพบในระหว่างถ่ายทำอาจดีกว่าสิ่งที่คิดไว้ในสตอรี่บอร์ดก็ได้

     “ผมยังวาดสตอรี่บอร์ดอยู่” โคเรเอดะบอก “แต่ผมรู้ว่าเดี๋ยวก็ต้องเปลี่ยน พูดอีกอย่างก็คือ มันสำคัญที่ต้องยืดหยุ่นและจัดลำดับความสำคัญถึงสิ่งที่คุณรู้สึกได้ว่าน่าสนใจขณะทำงานกับนักแสดง แทนที่จะยึดติดอยู่กับสิ่งที่คุณคิดไว้ตอนแรก

     “ตอนนี้ผมเขียนมันเพื่อเป็นไกด์คร่าวๆ แล้วก็โยนมันทิ้งไป แต่ผมก็ดีใจที่เขา (โหว เซี่ยวเสียน) โมโหผมวันนั้นนะ ผมซาบซึ้งจริงๆ”

อ้างอิง

youtube.com/watch?v=dqVj7x1gMYk
youtube.com/watch?v=Q4nFlFIzRRc
therumpus.net/2009/06/11/the-rumpus-interview-with-hirokazu-koreeda/
jstor.org/stable/44019322#metadata_info_tab_contents
highonfilms.com/still-walking-elegiac-masterpiece/
filmmakermagazine.com/4737-hirokazu-kore-edas-still-walking-by-damon-smith/#.Y44xkHZBzIU
flavorwire.com/36314/exclusive-an-interview-with-still-walkings-hirokazu-kore-eda
medium.com/%E6%97%A5%E6%9C%AC%E8%AA%9E%E3%81%A7%E8%AA%AD%E3%82%80-%E6%98%A0%E7%94%BB-%E3%83%9E%E3%83%8B%E3%82%A2/hirokazu-kore-eda-bong-joon-ho-f44c10c8bd00
easternkicks.com/features/hirokazu-kore-eda-interview/
medium.com/@Film4/hirokazu-kore-eda-on-like-father-like-son-455c0c14c4c3
• imdb.com/title/tt0408664/trivia/
• facebook.com/nottaponb/posts/pfbid0SK4dZcMUXiY7znS5buUL3HVQgtJF1BS3giuK99ZHK9VqnmmJ4geetd3CwnHhPe5xl