THANACHART SIRIPATRACHAI
โต๊ะแห่งสมาธิของ ‘ธนชาติ ศิริภัทราชัย’
เรื่อง: ปฏิกาล ภาคกาย
ภาพ: ภาพถ่ายจากทางบ้าน
นอกจากเราจะเชื่อว่าหนังสือที่เลือกอ่านจะแสดงความสนใจในช่วงนั้นๆ ของแต่ละคนได้แล้ว เรายังเชื่ออีกว่าข้าวของบนโต๊ะของแต่ละคน จะนำเสนอตัวตนในช่วงเวลาหนึ่งของคนคนนั้นได้เช่นกัน
นี่เลยเป็นที่มาให้เกิด ‘table of CONTents’ คอลัมน์ที่จะพาไปดูว่าบนโต๊ะของนักเขียน ศิลปิน หรือบุคคลที่น่าสนใจในแต่ละแวดวงนั้นมีอะไรบ้าง ของเหล่านั้นสำคัญกับพวกเขายังไง แล้วของชิ้นไหนที่พวกเขาขาดไม่ได้
เริ่มคนแรกด้วยโต๊ะของ ‘เบนซ์—ธนชาติ ศิริภัทราชัย’ ที่หลายคนอาจรู้จักเขาผ่านผลงานการกำกับโฆษณาและเอ็มวี แต่หลายคนก็อาจคุ้นชินกับหนังสือของเขาที่มีมากมายหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นแนวบันทึกการเดินทางที่มาพร้อมภาพสวยๆ อย่าง New York 1st Time นิวยอร์กตอนแรกๆ…, The Real Alaska, Dear Portland หรือล่าสุดกับแนวเรื่องแต่งอย่าง The Morning Flight to Sad Francisco
ผลงานของธนชาติเต็มไปด้วยความตลก ยียวน และกวนตีน จนเราอยากรู้ว่าเขาสร้างงานในพื้นที่แบบไหน แล้วมีข้าวของชิ้นไหนไหมที่ช่วยให้เขาทำงานสนุกได้ตลอดเวลาแบบนี้
ที่จับเวลา
“ทุกวันนี้เวลาอยู่ในห้อง เราจะพยายามลิมิตว่าถ้าจะดูหนังก็ดูผ่านสมาร์ตทีวี ถ้าจะเล่นโซเชียลฯ ก็เล่นจากมือถือ แล้วถ้าเปิดคอมพ์เมื่อไหร่ก็จะพยายามทำงานอย่างเดียว เข้าไลต์รูม พิมพ์กูเกิลไดรฟ์ก็ว่ากันไป (CONT.: “แล้วทำได้จริงมั้ย”) ไม่ค่อยได้ (หัวเราะ) เรียกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ มีวืด แบบวันนี้ทำงานมาเหนื่อยอยากให้รางวัลตัวเอง กดนู่นกดนี่ก็ยังมีอยู่
“ตั้งแต่ช่วงโควิด-19 เป็นต้นมา เรารู้สึกว่าสมาธิสั้น ส่วนหนึ่งคงเพราะอยู่หน้าคอมพ์ทั้งวัน ทำนู่นทำนี่ได้ตลอด คลิกเข้าเฟซบุ๊กหรือยูทูบไปเรื่อย ถึงจุดหนึ่งก็คิดว่าไม่ได้แล้ว
“เราอ่านเจอว่ามันมีสิ่งที่เรียกว่า Pomodoro Technique เขาบอกว่าให้ทำอะไรอย่างน้อย 25 นาที แล้วพัก 5 นาที ก็เลยไปซื้อเครื่องนี้มาใช้ หมุนไปสักครึ่งชั่วโมง แล้วก็พยายามทำแอ็กทิวิตี้นั้นให้ตลอดรอดฝั่ง ไม่ว่าจะเขียนงาน คิดงาน หรือจะทำนู่นทำนี่
“บางคนอาจไม่ชอบเพราะมันจะมีเสียงติ๊กๆๆๆ แต่สำหรับเรา มันเหมือนเสียงของเวลาดี ดังติ๊กไปเรื่อยๆ ทำให้รู้สึกเหมือนมีสมาธิเฉย”
คีย์บอร์ด
“เรื่องมันมาจากตอนนั้นตั้งสเตตัสเกี่ยวกับต้นกล้าแล้วเมนชั่นชื่อแบรนด์เขาในนั้น ไปกวนตีนเขา แล้วเขาดันเห็น ก็เลยบอกจะส่งให้ใช้ (หัวเราะ)
“เราไม่เคยใช้ mechanical keyboard เลย ตอนแรกก็ไม่เก็ตว่าทำไมต้องใช้ ปกติชอบคีย์บอร์ดของแมคที่มันเรียบๆ เมาส์เองก็ชอบเรียบๆ แต่พอแก่แล้ว เหี้ย แม่งไม่ได้ว่ะ ต้องใช้เมาส์อูมๆ ที่มันไม่สวย แต่มันเวิร์กกว่า หรือคีย์บอร์ด พอลองอันนี้ก็พบว่ามู้ดแม่งดีว่ะ เวลาพิมพ์แล้วรู้สึกว่ามันป๊อกแป๊ก เหมือนพิมพ์คีย์บอร์ดคอมพ์เก่าๆ สมัยที่เราเริ่มเรียนพิมพ์ดีด แล้วไปๆ มาๆ คือกลับไปใช้คีย์บอร์ดแบบเดิมไม่ได้แล้วนะ พิมพ์แล้วแม่งไม่สาแก่ใจ ต้องพิมพ์ป๊อกแป๊กๆ แบบนี้
“แต่มันก็ไม่ได้ส่งผลกับการทำงานเยอะขนาดนั้นหรอกนะ มันช่วยแค่ในด้านมู้ด พิมพ์แล้วเพลินๆ พอว่างๆ ก็เปิดไฟดู เพราะมันมีไฟสายรุ้งอยู่ข้างใต้”
น้ำตาเทียม
“เป็นของที่จำเป็นสัดๆ เอาจริงๆ เราไม่ได้ระคายเคืองจนรู้สึกว่าต้องหยอดหรอก แต่พอหยอดแล้วจะรู้สึกว่ามันดี ถ้าอยู่หน้าคอมพ์นานๆ ตาเราควรจะชุ่ม เราเลยจะหยอดทุกครึ่งชั่วโมง หนึ่งสล็อตใช้ได้หนึ่งวันพอดี ต้องมีติดโต๊ะตลอด ยี่ห้ออะไรก็ได้ ขอให้มีไว้ก่อน
“ถ้าไม่มีน้ำตาเทียมก็ต้องสำนึกรักบุญคุณประเทศ พยายามคิดถึงอะไรสักเรื่อง มันจะได้ซึ้งแล้วร้องไห้เอง…”
ต้นไม้
“รู้สึกว่าต้องมีต้นไม้สักอย่างอยู่บนโต๊ะ แต่นี่คือต้นอะไรก็จำไม่ได้แล้วนะ มังกรอะไรสักอย่าง แม่งทนที่สุดแล้ว ปกติเราเลี้ยงต้นไม้แล้วตายตลอด อันนี้ดันรอด อาจเพราะมันต้องการการดูแลรักษาน้อยสุดด้วยมั้ง คือถามคนขายว่าอันไหนดูแลง่ายสุด เขาบอกอันนี้ มีแสงเข้ามาก็โอเคแล้ว หยอดน้ำบ้างก็โอเคแล้ว
“เราอยากให้บนโต๊ะมีอะไรเขียวๆ อยู่ด้วย อยากให้มันมีสิ่งมีชีวิต ไม่ให้มันแห้งแล้งเกินไป (CONT.: “แต่มันเขียวแค่นี้เองนะ”) เออ น้อยมาก คือแต่ก่อนมันมีใบนะ มันเป็นไม้เลื้อยที่ชอบอยู่ตามกำแพง แต่เราดูแลไม่ได้ดีมาก ใบแม่งร่วง เหลือแต่ก้าน
“แต่เอาจริงๆ ถ้าตัดเรื่องความเขียวไป เราแค่ให้มันมีสิ่งมีชีวิตแหละ จะได้หันไปมองมัน กับส่วนหนึ่งที่ซื้อก็เพราะกระถาง มันน่ารักดี”
ที่อบมือถือ
“ตอนโควิด-19 ระบาดเยอะๆ ช่วงที่เริ่มมีสายพันธุ์เดลต้า เราพารานอยด์มาก เลยซื้อเครื่องนี้เอาไว้อบมือถือ มันเป็นเครื่องอบยูวีที่ฆ่าเชื้อได้ แล้วมันอบได้เยอะเว้ย อบแบงก์ อบนาฬิกา อบได้หมดเลย แต่ส่วนมากเราจะใส่มือถือกับแบงก์ เพราะเป็นสิ่งที่หยิบจับบ่อยแล้วก็ผ่านมาหลายคน เราอบแบบนี้ทุกวันจนตอนนี้บ้าอบแล้ว กลับบ้านปุ๊บ จัดไปเลยครึ่งชั่วโมง ก็เลยให้มันอยู่บนโต๊ะมาจนตอนนี้
“เครื่องนี้ดีตรงที่พออบมือถือปุ๊บ เราจะไม่ได้เล่นมือถือครึ่งชั่วโมง ระหว่างนั้นก็จะได้ไปทำอย่างอื่น ซึ่งจริงๆ มันแง้มเอาออกมาใช้ได้แหละ แต่เราก็พบว่าตอนที่อบมือถือ ชีวิตกูแม่งมีความสุขนี่หว่า อาจเพราะว่าพอเล่นแล้วเห็นนู่นเห็นนี่ก็ทริกเกอร์ สมาธิสั้นอีก กลายเป็นว่าตอนนี้ไม่ใช่อบเพื่อฆ่าเชื้อ แต่อบเพื่อให้มันเป็นที่ที่เทคอะเวย์มือถือ กลายเป็นเครื่องทำสมาธิไปอีกอย่าง
“จริงๆ เรายังมีของที่ไม่ได้อยู่บนโต๊ะ แต่เป็นเครื่องที่เกี่ยวกับสมาธิอีก คือเป็นปลอกหัว คล้ายๆ ฟิตบิต แต่เป็นฟิตบิตสำหรับสมาธิ พอเราสวมปุ๊บ เชื่อมต่อกับแอพ ก็จะมีเสียงธรรมชาติ มีเสียงไกด์ดังขึ้น บอกให้เราผ่อนลมหายใจเข้า-ออก แล้วก็นั่งสมาธิกันไป ปรับเวลาได้ว่าจะ 5-10 นาทีหรือจะครึ่งชั่วโมง ระหว่างนั้นเครื่องก็จะจับคลื่นประสาทสมอง จับฮาร์ตเรตว่าเราสงบแค่ไหน มีให้คะแนนว่า อุ๊ย คุณทำสมาธิได้ดีมากเลยน้า
“เราชอบอะไรพวกนี้ ชอบการเห็นค่าเป็นตัวเลข ชอบให้มันมีความเป็นเกมนิดๆ คือให้นั่งสมาธิอย่างเดียวก็คงได้แหละ มันก็ไม่ได้เสียเงิน แต่พอมีการวัดผลแบบเห็นได้ก็รู้สึกว่าเออ ดีว่ะ”
โฟโต้บุ๊ก
“เราจะกองโฟโต้บุ๊กไว้บนโต๊ะเสมอ บางคนอาจรู้สึกว่าหนังสือประเภทนี้เปิดดูรูปแป๊บเดียวก็จบแล้ว แต่เรากลับรู้สึกว่าโฟโต้บุ๊กช่วยปรับมู้ด เพราะจะให้ไปอ่านหนังสือหรืออ่านเทกซ์ บางทีเราอาจไม่ได้อยากรับคอนเทนต์ที่เป็นตัวอักษร แต่ว่าอันนี้มันทำให้เราเปิดไปเรื่อยๆ เหมือนเห็นภาพสวยๆ แล้วมันช่วยมู้ดของเรา
“เรามีโฟโต้บุ๊กหลายแบบ สายสนุก สายละมุน สายคอนเซปชวล ก็ขึ้นอยู่กับว่างานวันนั้นอยากได้อะไร สมมติอยากเขียนเรื่องสั้นที่ละเมียดละไมกับความรู้สึกก็จะเปิดโฟโต้บุ๊กที่เป็นสายนั้น บางคนอาจชอบเปิดเพลงไปด้วย บิลด์ตัวเอง แต่เราจะเปิดโฟโต้บุ๊ก เพราะรู้สึกว่าเป็นคนที่สร้างบรรยากาศจากการเห็นวิชวล
“ข้อดีอย่างหนึ่งของโฟโต้บุ๊กคือดูได้ไม่เบื่อ อย่างงานของ ‘ริงโกะ คาวาอุจิ’ (Rinko Kawauchi) เราอ่านไปไม่รู้กี่ร้อยรอบ แต่เวลาเปิดอ่านกี่ทีก็ไม่เคยรู้สึกว่าเห็นรูปนี้ไปแล้ว ไม่เอาแล้วเลย เปิดดูทีไรมันก็ได้อะไรใหม่เรื่อยๆ”