Wed 17 Mar 2021

WHEN HANNAH MET MARTIN

เมื่อฮันนาห์พบมาร์ติน: ความรักระหว่างนักปรัชญานาซีกับลูกศิษย์สาวชาวยิว

ภาพ: ms.midsummer

     ปกติแล้วคอลัมน์นี้เราจะเขียนถึงตัวละคร หรือเล่าเรื่องของตัวละครที่อยู่ในเรื่องสั้นหรือนวนิยายเท่านั้น แต่มาหนนี้ ผู้เขียนขอละเมิดกติกาเขียนถึงบุคคลที่มีชีวิตและเลือดเนื้อจริงๆ ด้วยเพราะชีวิตรักของสองคนนี้มีเรื่องราวที่เข้มข้นสะเทือนใจไม่น้อยไปกว่าเรื่องแต่ง

     ความสัมพันธ์ระหว่าง มาร์ติน ไฮเดกเกอร์ (Martin Heidegger) กับ ฮันนาห์ อาเรนดท์ (Hannah Arendt) ยังคงอยู่ในความสนใจหรือเป็นที่กล่าวขานกันอยู่ในทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งก็เพราะมันเป็นรักต้องห้าม—ระหว่างอาจารย์กับลูกศิษย์ หญิงสาวกับชายผู้แต่งงานแล้ว และเป็นเรื่องราวความรักของนักปรัชญาสองคน (แม้คนหนึ่งจะเรียกตนเองว่านักทฤษฎีการเมืองก็ตาม) ซึ่งแต่ละคนนั้นถือว่ามีบทบาทสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์ความคิดของศตวรรษที่ผ่านมา

ความสัมพันธ์ของทั้งสองเริ่มต้นเมื่อครั้งที่ไฮเดกเกอร์ยังเป็นอาจารย์สอนวิชาปรัชญาที่มหาวิทยาลัยมาร์บวร์ก (University of Marburg) เขามีอายุ 36 ปี ผมดำขลับ ผิวเข้ม รูปร่างสันทัดสมส่วนจากการเป็นนักเล่นสกีและปีนเขา อีกทั้งเป็นสามีและพ่อของลูกอีกสองคน

     แม้ว่าตอนนั้นไฮเดกเกอร์จะยังไม่ได้ตีพิมพ์ Sein und Zeit ผลงานชิ้นสำคัญที่ตั้งคำถามกับภาวะของการมี/การเป็นในแง่ใหม่ และได้ให้อิทธิพลต่อสำนักคิดทางปรัชญาต่างๆ  อย่างมากมาย ทว่าชื่อเสียงของเขาต้องนับว่าโด่งดังในแวดวงวิชาการ โดยเฉพาะในหมู่นักเรียนนักศึกษาก่อนแล้ว คลาสบรรยายวิชาของไฮเดกเกอร์มักจะเนืองแน่นด้วยผู้เข้าฟังอยู่เสมอ จนอาจพูดว่าเขาเป็นป๊อปสตาร์แห่งวงการปรัชญาก็ว่าได้

     ส่วนอาเรนดท์ในตอนนั้นยังเป็นดรุณีวัย 18 ปี ผู้มีใบหน้าจิ้มลิ้มพริ้มเพรา แม้ภายนอกจะดูเป็นคนขี้อาย ขาดความมั่นใจ แต่ภายในเต็มไปด้วยความมุ่งมั่น ผู้ใดได้พบเห็นมักจะตกหลุมรักเธอง่ายๆ อาเรนดท์เชี่ยวชาญภาษากรีกและละติน เมื่อได้ยินว่าที่มหาวิทยาลัยมาร์บวร์กมีอาจารย์สอนปรัชญานามว่ามาร์ติน ไฮเดกเกอร์ ผู้โด่งดังประจำอยู่ เธอกับเพื่อนๆ จึงตัดสินใจไปเรียนต่อที่นั่น

     ไฮเดกเกอร์จดจำอาเรนดท์ได้ตั้งแต่คาบแรกที่เธอเข้าฟังบรรยายบทสนทนา Sophist ที่เป็นผลงานในช่วงปลายชีวิตของเพลโต (Plato) ซึ่งว่าด้วยการจำแนกความแตกต่างระหว่าง ‘นักปรัชญา’ ‘นักปกครอง’ กับ ‘โซฟิสต์’ ซึ่งหมายถึงกลุ่มคนที่ถ่ายทอดวิชาความรู้เป็นอาชีพ บทสนทนาของเพลโตชิ้นนี้ได้พัฒนามาเป็น Statesman ที่มีความน่าสนใจอย่างยิ่งตรงที่โสเครติส (Socrates) ตัวละครสำคัญของเพลโตกลับเป็นเพียงตัวละครที่มีบทบาทรอง

     ไฮเดกเกอร์ได้ย้อนระลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าวผ่านบทกวี November 1924 ที่เขียนขึ้นในอีก 25 ปีต่อมา (เหตุที่เขากลับมาเขียนนั้น ผูกพันกับการได้กลับมาพบกันของทั้งสอง หลังจากห่างหายกันไปนานร่วมสองทศวรรษ ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไป)

     จนกระทั่งเดือนกุมภาพันธ์ของปี 1925 ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองจึงได้เริ่มต้นขึ้น เมื่อไฮเดกเกอร์ส่งข้อความ (ที่สมัยก่อนนั้นมักเรียกกันว่า ‘จดหมายน้อย’) ไปหาอาเรนดท์ โดยมีใจความว่า

     “ถึงคุณอาเรนดท์! 

     ผมจำเป็นต้องพบคุณในค่ำวันนี้ และกล่าวความในใจแก่คุณ ทุกสิ่งควรจะเป็นเรื่องเรียบง่าย ชัดแจ้ง และจริงใจระหว่างเรา หากแม้เพียงแต่เราอนุญาตให้เราทั้งสองได้พบปะกัน แน่นอนว่าคุณเป็นลูกศิษย์ และผมเป็นอาจารย์ เพียงแต่นี่เป็นเหตุเฉพาะกาลที่บังเกิดขึ้นระหว่างเรา ผมคงไม่อาจเรียกได้ว่าคุณเป็นของผม แต่นับจากนี้ไป คุณได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตผม และสิ่งนี้จะเติบโตขึ้นไปพร้อมกับคุณ

     เราย่อมไม่อาจล่วงรู้ได้ในสิ่งที่เราจะกลายเป็นสำหรับผู้อื่น ผ่านการมีอยู่และเป็นอยู่ของเรา”

     หลังจากนั้นเพียงสี่วัน ข้อความที่ไฮเดกเกอร์ส่งไปถึงอาเรนดท์ก็แสดงถึงความสัมพันธ์ที่พัฒนาขึ้นจากเดิม ด้วยการเปลี่ยนคำเรียกจาก ‘ถึงคุณอาเรนดท์’ เป็น ‘ฮันนาห์ที่รัก!’ 

     ไฮเดกเกอร์บรรยายถึงความรู้สึกที่เต็มล้นไว้ในจดหมายอีกหลายฉบับหลังจากนั้น เช่น

     “…ระหว่างทางกลับบ้าน ท่ามกลางสายฝนพรำ เธอดูสดสวยยิ่งกว่า งดงามอย่างที่สุด ฉันอยากจะท่องไปกับเธอจนสุดสิ้นรัตติกาล”

     หรือในอีกฉบับหนึ่งที่ว่า 

     “ฮันนาห์ที่รัก!

     ทำไมรักถึงรุ่มรวยเหนือประสบการณ์ทั้งหลายที่เป็นไปได้ของมนุษย์ และยังเป็นภาระอ่อนหวานที่เราต้องการไขว่คว้าให้ได้มา นั่นก็เพราะเราได้กลายเป็นสิ่งที่เรารักและยังคงความเป็นตัวเราเอาไว้ ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องการตอบแทนผู้เป็นที่รัก แต่มักไม่อาจหาสิ่งใดที่เทียบเทียมได้

     ทว่าเราสามารถตอบแทนรักได้ด้วยตัวเราเอง ความรักเปลี่ยนความรู้สึกขอบคุณนั้นไปเป็นความจงรักภักดีต่อตัวตนของเราและความศรัทธาอย่างไม่มีเงื่อนไขในตัวอีกคนหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ ความรักจึงเข้มข้นรุนแรงในความลับอย่างที่สุดของมัน (…) เป็นชะตากำหนดของมนุษย์คนหนึ่งที่ส่งมอบต่อให้ชะตากำหนดของมนุษย์อีกคนหนึ่ง และหน้าที่ของความรักอันบริสุทธิ์นั้นก็คือการทำให้การส่งมอบคงมีชีวิตชีวาต่อไปเหมือนเช่นวันแรกที่มันเกิดขึ้น”

     นับจากนั้นมา ความสัมพันธ์ระหว่าง ‘ศิษย์-อาจารย์’ ก็ได้กลายเป็นความสัมพันธ์แบบ ‘คนรัก’ แต่ก็เป็นความรักใน ‘ความลับ’ ที่ภรรยาของไฮเดกเกอร์ และผู้คนในสังคมเล็กๆ ของมาร์บวร์กมิอาจล่วงรู้ได้!

     การพบกันของทั้งสองมักจะเกิดขึ้นในที่ลับตา ไม่ว่าจะเป็นห้องใต้หลังคาของอาเรนดท์ หรือห้องพักอาจารย์ของไฮเดกเกอร์ยามร้างไร้ผู้คน โดยเขามักจะส่งข้อความลงรหัสไปให้เธอ เพื่อนัดหมายเวลาและสถานที่ล่วงหน้าเพียงไม่นาน 

     ในด้านหนึ่ง นี่คือ ‘รักต้องห้าม’ ที่เกิดจากตัณหาและอารมณ์ที่ไม่มีใครควบคุมได้ (หรือถ้าทำได้ก็คงไม่อยากจะควบคุม) หากในอีกทาง ก็เป็นความรักระหว่างนักปรัชญากับผู้หลงใหลในวิชาความรู้

     อาเรนดท์เป็นหนึ่งในลูกศิษย์ไม่กี่คนของไฮเดกเกอร์ที่สามารถติดตามความคิดอันสลับซับซ้อนได้ทัน ทั้งยังสามารถแลกเปลี่ยน สร้างบทสนทนาที่ทำให้ปรัชญาของเขาลึกซึ้งและแยบยลยิ่งขึ้น ขณะที่อาเรนดท์นั้น มองเห็นไฮเดกเกอร์เป็นทั้งชายคนรักและนักปรัชญาที่นำพาความรู้และปัญญามาสู่ตัวเธอ เติบโตและขยับขยายไปพร้อมๆ กับชีวิต เหมือนดังจดหมายฉบับแรกที่เขารจนาไว้

     อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายปี 1925 ไฮเดกเกอร์ได้พบปะและแม้กระทั่งเขียนจดหมายติดต่อกับอาเรนดท์น้อยลงเรื่อยๆ เป็นไปได้ว่า ภรรยาของไฮเดกเกอร์และผู้คนในสังคมเล็กๆ ของมาร์บวร์กเริ่มระแคะระคายในความสัมพันธ์ของทั้งสองบ้างแล้ว ไฮเดกเกอร์จึงตัดสินใจใช้ระยะห่างเป็นเครื่องแก้ปัญหา 

     ความห่างเหินนั้นทำให้ในช่วงเดือนมกราคม 1926 อาเรนดท์ตัดสินใจเขียนจดหมายฉบับหนึ่งเพื่อบอกเลิกความสัมพันธ์

     จดหมายฉบับนั้น (ซึ่งปัจจุบันสูญหายไปแล้ว) ทำให้ไฮเดกเกอร์เสียอกเสียใจเป็นอย่างมาก เขาเขียนตอบกลับไปว่า 

     “ฉันเข้าใจดี แต่นั่นไม่ได้ทำให้ฉันยอมรับมันได้ง่ายๆ และยิ่งไม่ง่ายเลย เมื่อฉันรู้ว่าความรักของฉันนั้นยังเรียกร้องต้องการเธอ”

     ความเจ็บปวดจากความรักที่ไม่มีสิ่งใดเยียวยาได้นอกจากความรัก ทำให้ไฮเดกเกอร์แนะนำให้อาเรนดท์ไปศึกษาต่อกับ คาร์ล แยสเปอร์ (Karl Jasper) เพื่อนสนิทของเขา ผู้เป็นทั้งนักปรัชญาและนักจิตวิทยาชื่อดังชาวสวิสที่ประจำอยู่มหาวิทยาลัยไฮเดิลแบร์ก (Heidelberg University)

     อาเรนดท์รู้สึกว่านี่เป็นการผลักไสเธอให้พ้นไปจากเขากลายๆ การบอกเลิกอาจไม่ได้แปลว่า เธอไม่รักเขา หรือไม่เจ็บปวดหากจะไม่ได้พบกันอีก

     ในท่ามกลางลังเลละล้าละลัง ว่าจะรักจะเลิก ทั้งคู่ยังคงมีความสัมพันธ์ลับๆ ต่อไป! 

     กรกฎาคม 1926 ไฮเดกเกอร์เดินทางไปสวิตเซอร์แลนด์ เขาตั้งใจนัดพบกับอาเรนดท์ที่สถานีรถไฟในเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งระหว่างจุดหยุดพัก เพียงแต่นัดดังกล่าวก็เป็นเพียงการพบกันนานๆ ครั้ง จนกล่าวสามารถได้ว่า การติดต่อพบเจอกันระหว่างทั้งสองค่อยๆ ห่างหาย และจืดจางลง จนอาเรนดท์ตระหนักรับรู้ได้ว่า ไฮเดกเกอร์นั้นเริ่มจะหมดรักในตัวเธอแล้ว 

     ถึงจะรู้เช่นนั้น จดหมายที่เธอส่งไปหาเขาในห้วงเวลาที่ไฟปรารถนามอดดับก็ยังคงแสดงให้เห็นถึงความอ่อนหวานในความรักที่ไม่มีวันเสื่อมคลาย ดังเช่นจดหมายที่เธอเขียนถึงเขาตอนกลางเดือนเมษายน 1928 หรือภายหลังจากทราบว่าเขาเข้ารับตำแหน่งประจำภาควิชาปรัชญาที่มหาวิทยาลัยฟรายบวร์ก (University of Freiburg) จากการสนับสนุนของอาจารย์และเพื่อนนักปรัชญาชาวยิวคนสำคัญ เอ็ดมุนด์ ฮุสเซิร์ล (Edmund Husserl) เนื้อความในจดหมายมีว่า 

     “…เธอไม่สามารถมาเจอฉันในตอนนี้ได้—ฉันคิดว่าฉันเข้าใจดี

     ฉันรักเธอ (ตั้งแต่) ในวันแรก เธอรู้ และฉันก็รู้ความจริงนี้เสมอมา… และหากเป็นพระประสงค์ของพระเจ้า ฉันจะรักเธอมากได้ยิ่งกว่าเมื่อสิ้นลมหายใจไปแล้ว”

     ช่วงระหว่างปี 1932-33 อาเรนดท์เขียนจดหมายไปหาไฮเดกเกอร์ เพื่อไต่ถามความจริงในเรื่องที่หลายคนร่ำลือกันว่าเขากำลังกลายเป็นพวกต่อต้านยิว (Anti-Semitic) ซึ่งนั่นเป็นจดหมายฉบับท้ายๆ ก่อนที่โชคชะตาจะพัดพาให้เขาและเธอดำเนินชีวิตไปคนละเส้นทาง

     ไฮเดกเกอร์ตอบเธอด้วยท่าทีแบบไม่ยอมรับหรือปฏิเสธ ว่าเขาถูกกล่าวหาในเรื่องนี้มาตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นอาจารย์ที่มาร์บวร์ก ก่อนจะยืนยันในตอนท้ายจดหมายว่า ไม่ว่าอย่างไร ย่อมไม่มีอะไรกระทบความสัมพันธ์ระหว่างเขากับเธอ

     แน่นอนว่า สิ่งที่ไฮเดกเกอร์บอกกล่าวในจดหมายนั้นไกลห่างจากสิ่งที่เขากระทำ เพราะหลังจากนั้นไม่นาน ไฮเดกเกอร์ก็สมัครเข้าพรรคนาซีในปี 1933 ก่อนก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งอธิการบดี (Rektor) ที่มหาวิทยาลัยฟรายบวร์ก และเริ่มปรับเปลี่ยนโครงสร้างมหาวิทยาลัยไปตามดำริของท่านผู้นำ (Führer) 

     การบรรยายหรือปาฐกถาของเขาในต่างกรรมต่างวาระ ไฮเดกเกอร์มักจะลงท้ายด้วย “Heil Hitler!” หรือ “Seig Heil!” อยู่เสมอๆ เขาทำหน้าที่เป็นฟันเฟือง หรือฝีจักรให้กับพรรคเป็นอย่างดี เช่น หลังจากรับตำแหน่งอธิการบดีได้ไม่นาน เขาก็สั่งยกเลิกภาควิชายิวศึกษา เขาใช้อำนาจบริหารในการกีดกันนักศึกษา หรือกระทั่งปลดอาจารย์ที่มีเชื้อสายยิวออกจากตำแหน่ง

     กรณีอื้อฉาวที่สุดก็คือ ไฮเดกเกอร์ลบชื่อของฮุสเซิร์ลออกจากคำอุทิศในหนังสือ Sein und Zeit ไม่เพียงเท่านั้นเขายังสั่งถอดถอนฮุสเซิร์ล (ผู้ผลักดันให้เขาได้ประจำภาควิชาปรัชญาที่ฟรายบวร์ก) ออกจากตำแหน่งศาสตราจารย์กิตติคุณ ซึ่งฮุสเซิร์ลคงไม่รู้สึกอะไรเลย หากคำสั่งนั้นมาจากใครก็ได้ภายใต้ระบอบเผด็จการนาซี แต่เมื่อได้เห็นลายเซ็นเป็นชื่อของไฮเดกเกอร์แล้ว มันแทบจะเทียบเท่าได้กับกระสุนที่ยิงตรงเข้าไปยังขั้วหัวใจ

     คาร์ล แยสเปอร์ เป็นมิตรสหายใกล้ชิดของเขาอีกคนที่สุดท้ายต้องแตกหักกับไฮเดกเกอร์ หรือถูกตัดขาดความสัมพันธ์เพียงเพราะภรรยาของเขาเป็นยิว

     ความเป็นนาซีของไฮเดกเกอร์นั้นเป็นที่ประจักษ์ชัดเจนจากการกระทำหลายอย่าง จนแม้เมื่อสิ้นสุดสงครามไปแล้วก็ยังไม่เคยมีสักครั้งเดียวที่เขาจะแสดงความเสียใจ หรือรู้สึกสำนึกผิดกับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น

     ไฮเดกเกอร์ลาออกจากตำแหน่งอธิการบดีภายหลังจากดำรงตำแหน่งได้เพียงไม่กี่ปี แต่เขาไม่เคยลาออกจากสมาชิกพรรคนาซี และยังคงเป็นสมาชิกไปจนกระทั่งปี 1945 หรือเมื่อสงครามสิ้นสุดลง นั่นอาจเป็นเหตุผลที่เขาไม่ได้ไปร่วมพิธีศพของฮุสเซิร์ลในปี 1938

     ผู้ศึกษาประวัติชีวิตและผลงานของไฮเดกเกอร์หลายคนเชื่อด้วยซ้ำว่า ไฮเดกเกอร์มีความคิดแบบนาซีตั้งแต่ก่อนสมัครเข้าพรรคนาซี และลึกๆ แล้วเขาอาจมีความคิดว่าเขาเป็นนาซีได้ยิ่งกว่าสิ่งที่นาซีประพฤติปฏิบัติกันอยู่ด้วยซ้ำ

     ตรงกันข้ามกับชะตาชีวิตที่เหมือนจะรุ่งโรจน์ของไฮเดกเกอร์ อาเรนดท์ต้องอพยพไปพำนักอยู่ในประเทศฝรั่งเศสตั้งแต่ปี 1932 ชะตาชีวิตอันไม่แน่นอนและเสี่ยงอันตรายในฐานะของชาวยิวนั้นทำให้เธอได้พบรักกับสามีคนแรก ไฮน์ริช บลือเชอร์ (Heinrich Blücher) นักกิจกรรมฝ่ายซ้ายชาวเยอรมัน 

     และด้วยความโชคดีในความโชคร้ายทำให้อาเรนดท์เป็นหนึ่งในชาวยิวจำนวนน้อยนิดที่ได้อพยพไปสหรัฐฯ

     ภายหลังจากความพ่ายแพ้ของเยอรมนีและกองกำลังฝ่ายอักษะ อาเรนดท์กลายเป็นนักทฤษฎีการเมืองผู้โด่งดังในสหรัฐฯ ผลงาน The Origins of Totalitarianism (1951) ที่ศึกษาและวิพากษ์สังคมเผด็จการได้สร้างชื่อเสียงให้กับเธออย่างมากมาย ส่วนไฮเดกเกอร์ซึ่งได้รับผลกระทบจากการถอดรื้อความเป็นนาซี (Denazification) ก็ถูกจำกัดและควบคุมกิจกรรมการสอน เขาใช้ชีวิตอยู่ในท่ามกลางธรรมชาติของป่าแบล็คฟอรเรสต์ (Todtnauberg)

     ทั้งสองได้พบกันอีกครั้งในปี 1949 เมื่อครั้งที่อาเรนดท์เดินทางมายังยุโรป ทั้งคู่เขียนจดหมายโต้ตอบอีกครั้ง (เหตุการณ์นี้กลายเป็นที่มาของบทกวี November 1924)  ทว่าหลังจากปี 1953 ทั้งไฮเดกเกอร์และอาเรนดท์ก็ไม่ได้ติดต่อหรือได้มีโอกาสพบกันอีกเลย

     ในบั้นปลายของชีวิต อาเรนดท์ได้เขียนข้อความหนึ่ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความคิดคำนึงที่มีต่อชายผู้เคยเป็นรักของเธอ ซึ่งอาจยังคงอยู่เช่นนั้นในใจเรื่อยมา 

     “การให้อภัยและความสัมพันธ์ที่มันสร้างขึ้นนั้นเป็นเรื่องส่วนตัวที่ยิ่งใหญ่เสมอ (ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องของปัจเจก หรือเอกชน) เป็นความผูกพันซึ่ง ‘อะไร’ ที่ถูกกระทำไปแล้วได้รับการให้อภัยเพื่อ ‘ใคร’ ที่เป็นผู้ทำ…สำหรับความรัก แม้ว่าจะเป็นสิ่งหนึ่งที่เกิดได้ไม่บ่อยนักในชีวิตของมนุษย์…ก็อาจทำให้มองข้ามไปจนสู่จุดที่แทบแลไม่เห็นโดยสมบูรณ์ใน ‘อะไร’ ที่คนที่เรารักอาจจะเป็น ไม่ว่าจะเป็นคุณสมบัติ และความบกพร่อง… ความสำเร็จ ความล้มเหลว และการละเมิดกฎเกณฑ์ต่างๆ”

     ข้อความนี้บ่งชี้ว่า ไม่ว่าในสายตาของคนทั้งโลกจะเป็นอย่างไร ไฮเดกเกอร์ในมุมมองของอาเรนดท์ก็ยังเป็นคนที่เธอพร้อมอภัยให้ได้เสมอ

     อาเรนดท์อำลาจากโลกนี้ไปด้วยวัยเพียง 69 ปี ข่าวการเสียชีวิตของเธอเดินทางไปถึงไฮเดกเกอร์ ซึ่งหลังจากนั้นไม่กี่เดือนก็เสียชีวิตตามไปด้วยวัย 86 ปี 

อ้างอิง: 

• Letters, 1925-1975 / Hannah Arendt and Martin Heidegger, edited by Ursula Ludz, translated by Andrew Shields, (Orlando: Harcourt, 2004).

• Daniel Maier-Katkin and Birgit Maier-Katkin. “Love and Reconciliation: The Case of Hannah Arendt and Martin Heidegger.” Harvard Review, no. 32 (2007): 34-48. Accessed February 11, 2021. http://www.jstor.org/stable/27569287.