GEEK MYTHOLOGY
เปิดห้องเรียนตำนานเทพปกรณัม 101 กับ ‘อธิพงษ์ อมรวงศ์ปีติ’
เรื่อง: สุชานาถ กิตติสุรินทร์
หากเสิร์ชคำว่า ‘ช่างเชื่อม’ ในกูเกิล นอกจากความหมายตามพจนานุกรมและบรรดาเว็บไซต์รับสมัครงาน อีกสิ่งที่จะปรากฏขึ้น คือคลิปยูทูบที่มีภาพปกเป็นพิธีกรสองคน พร้อมภาพศิลปะที่เกี่ยวโยงกับตำนานปกรณัมกรีก-โรมัน
พิธีกรคนแรกคือ พี่ฟาโรส ติวเตอร์สอนภาษาอังกฤษผู้ดำเนินรายการ ไกลบ้าน และพอดแคสต์ People You May Know
ส่วนพิธีกรคนที่สองที่มักมาพร้อมความรู้ด้านทวยเทพระดับสารานุกรม สามารถเล่าเรื่องได้อย่างลื่นไหล และเชื่อมไปยังสินค้าของลูกค้าได้อย่างแนบเนียนสมกับชื่อรายการก็คือ ‘พี่พงษ์—อธิพงษ์ อมรวงศ์ปีติ’
นอกจากความสนุกและสาระที่ได้รับจากรายการ ช่างเชื่อม แบบท่วมท้น สิ่งหนึ่งที่ติดอยู่ในใจเราทุกครั้งที่ดูก็คือ พี่พงษ์เป็นใคร ทำไมถึงรู้เยอะขนาดนี้ รู้เยอะไม่พอ ดันจำชื่อตัวละครยาวๆ ได้อีก!
ไม่รอให้ความสงสัยก่อตัวนาน เรารีบทักไปชวนพี่พงษ์มาพูดคุยถึงการอ่านในวัยเด็ก หนังสือเปิดโลกปกรณัมคือเล่มไหน ขอฮาวทูจำชื่อวงศาคณาญาติตัวละครได้มั้ย ไปจนถึงคำถามที่ว่าเวลาผ่านมาเป็นพันปีแล้ว ทำไมเรายังต้องเรียนรู้เรื่องทวยเทพเหล่านี้อีก
นักเรียนทุกคนนั่งประจำที่ จากนี้ไปจะเป็นคาบวิชาปกรณัม 101
ตอนนี้พี่พงษ์ทำอะไรอยู่บ้าง
หลักๆ คือทำงานแปล ไม่ใช่วรรณกรรม แต่เป็นเอกสารองค์กร พวกรายงานประจำปี แล้วก็เป็นอาจารย์พิเศษภาควิชาภาษาอังกฤษ สอนการแปล การออกเสียง และโครงสร้างประโยคอยู่ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สุดท้ายคือโดนลากไปอยู่ใน Farose Universe จากที่เคยอยู่หลังฉาก ก็ออกมานั่งอยู่หน้าฉาก เป็นเซลล์ฝ่ายขายในรายการ ช่างเชื่อม
แล้ววันนี้มาในตำแหน่งอะไร
อุ๊ย ไม่ได้คิดตำแหน่งมาก่อน (หัวเราะ) แล้วมันคิดไม่ทันจริงๆ นะ เพราะใช้ไปเยอะมากแล้ว
ย้อนไปตอนเด็กๆ พี่พงษ์เป็นคนชอบอ่านหนังสือมั้ย
ชอบๆ เพราะแต่ก่อนที่บ้านไม่ค่อยมีเงิน ก็จะไม่มีพวกของเล่น เลยต้องหาสิ่งบันเทิงอื่นๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือหนังสือ เราชอบอ่านพวกนิทานอีสป เกร็ดความรู้ต่างๆ แต่สิ่งที่เปลี่ยนโลกพอสมควรเลยคือการอ่าน แฮร์รี่ พอตเตอร์ ช่วงประถมปลาย มันเป็นประสบการณ์ร่วมของเด็กยุคประมาณเราเนอะ อ่านแล้วรู้สึกเปิดโลกว่าหนังสือก็สนุกได้นะ เรื่องราวมันตื่นตาตื่นใจ เหมือนหลุดไปอีกโลกหนึ่ง เลยมีส่วนให้ชอบอ่านหนังสือมากๆ
พี่พงษ์อ่านตั้งแต่ตอนมันออกทีละเล่มเลยมั้ย
อ่านตั้งแต่ออกทีละเล่มเลย สี่เล่มแรกเราอ่านเป็นภาษาไทย แต่พอเล่มห้าทนรอฉบับแปลไม่ไหว เลยไปจองฉบับภาษาอังกฤษในงานหนังสือ เขาจะให้สลิปกระดาษให้ไปรับตัวเล่มที่ศูนย์หนังสือจุฬาฯ ถึงเวลาไปรับก็คือมีคนไปออเต็มทั้งร้าน จากนั้นก็ต้องรีบอ่านก่อนโดนคนสปอยล์
แล้วมาเริ่มสนใจในปกรณัมกรีกและตำนานอื่นๆ ได้ยังไง
ต้องออกตัวก่อนว่าไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านเทพปกรณัมกรีก-โรมัน เพราะไม่ได้เรียนด้านนี้โดยตรง แค่เป็นเนิร์ดคนนึงที่ชอบอ่าน แล้วมาเล่ามาแชร์กัน
ช่วงใกล้ๆ กับตอนอ่าน แฮร์รี่ พอตเตอร์ ที่โรงเรียนจะมีมุมหนังสือเล็กๆ ในห้อง แล้วมีเล่มนึงซึ่งไม่รู้ว่าใครเอามาทิ้งไว้ เป็นเรื่องเทพปกรณัมกรีกโบราณ สัตว์ประหลาดในกรีก-โรมัน อ่านแล้วมันตื่นตาตื่นใจเลเวลเดียวกับ แฮร์รี่ พอตเตอร์ เลย แบบว่ามีผู้หญิงที่เราจ้องตาแล้วกลายเป็นหิน มีสัตว์ประหลากที่มีหัวเป็นสิงโตกับแพะและมีหางเป็นงูด้วย
หลังจากนั้นก็ทิ้งช่วงยาวมาก เพราะไม่มีแหล่งให้อ่าน มาต่ออีกทีน่าจะเป็นช่วงมัธยมปลาย ไปเจอหนังสือที่ศูนย์หนังสือจุฬาฯ เรื่อง ตำนานกรีก-โรมัน ของคุณมาลัย (จุฑารัตน์) เป็นการย่อยเทพปกรณัมแล้วนำมาเล่าให้มันสนุก ปรากฏว่าอ่านแล้วชอบมาก หลังจากนั้นถึงซื้อ Mythology ของ เอดิธ แฮมิลตัน (Edith Hamilton) ฉบับภาษาอังกฤษมาศึกษาต่อ
ก่อนจะมาเริ่มเปิดหูเปิดตาจริงๆ ตอนเรียนวิชาเทพปกรณัมที่อักษรจุฬาฯ ซึ่งอาจารย์ก็สอนจากเล่มของเอดิธ แฮมิลตัน ทำให้ได้เปรียบเพื่อนเล็กน้อย (หัวเราะ) หลังจากนั้นก็รู้สึกว่าเราสนใจเรื่องนี้และเข้าถึงแหล่งอื่นได้มากขึ้น มีห้องสมุดก็หาหนังสือมาอ่านเพิ่ม พอเข้าสู่วัยทำงาน เงินเป็นของฉัน ฉันใช้ได้แล้ว การสั่งหนังสือจากต่างประเทศก็ง่ายขึ้น เลยได้มีแหล่งข้อมูลอื่นอีกและทำให้รู้ว่ามันมีเรื่องราวอีกเยอะมากเลยที่ไม่ได้อยู่ในหนังสือของแฮมิลตัน
วิชาปกรณัมที่จุฬาฯ คือเรียนเพื่ออะไร
ตัววิชาจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับเทพปกรณัมและไบเบิล ซึ่งถามว่าทำไมต้องมีวิชานี้ในภาควิชาภาษาอังกฤษ ก็เพราะมันไปปรากฏในงานวรรณกรรมเยอะมาก ถ้าเกิดเราไม่มีความรู้เลย เวลาไปอ่านงานวรรณกรรม เราอาจจะพลาดรายละเอียดไปหลายอย่าง เช่น ใน Musée des Beaux Arts ของ ดับเบิลยู. เอช. ออเดน (W. H. Auden) ก็มีพูดถึงอิคารัส (มนุษย์ผู้พยายามบินเข้าใกล้ดวงอาทิตย์) ถ้าเราไม่รู้จักอิคารัส ก็อาจจะไม่เข้าใจเนื้อหาของเรื่อง
ก่อนหน้านั้นเราอ่านปกรณัมเพื่อความสนุก แต่พอเรียนวิชานี้ก็เห็นภาพมากขึ้นว่าครอบครัวไหนเชื่อมโยงกับตระกูลไหน เห็นแนวคิดและธีมที่ปรากฏซ้ำๆ ในเทพปกรณัม แต่หลายคนก็ไม่ค่อยชอบวิชานี้ เพราะรู้สึกว่าจะจำไปทำไม ข้อสอบยาก เน้นความจำล้วนๆ
เมื่อกี้ที่บอกว่ามีเรื่องราวอีกมากที่ไม่ได้อยู่ในเล่มของเอดิธ แฮมิลตัน พอมันมีหลายเวอร์ชั่น แล้วเวอร์ชั่นไหนที่ใกล้เคียงความจริงที่สุด
จริงๆ มันมีดีเบตเยอะอยู่นะ อย่างหนึ่งที่ต้องเข้าใจก่อนคือปกรณัมอยู่มาเป็นพันๆ ปี มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเป็นเวอร์ชั่นเดียวโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง
ลองนึกสภาพว่าแม้แต่หลักการทางศาสนาหรือ figure บางคน เรื่องราวหรือเรื่องเล่าของเขายังมีการเปลี่ยนแปลง ขนาดเป็นศาสนาที่ควรจะมีความจริงหนึ่งเดียว ยังสามารถแบ่งเป็นนิกายนู่นนี่ได้ ปกรณัมก็คล้ายๆ กัน มันมีการเปลี่ยนแปลง เล่าเสริมเติมแต่ง เราคิดว่าควรมองปกรณัมให้เป็น collective fan fiction คือมีคนอื่นมาช่วยเติมเสริมตลอดเวลา เพราะฉะนั้นเรื่องราวมันจะมีหลายแบบ ดังนั้น ถามว่าจะหาเวอร์ชันหนึ่งเดียวได้ไหม คำตอบคือยาก แต่สิ่งหนึ่งที่ทำได้คือบอกได้ว่าเวอร์ชันนี้มาจากแหล่งไหน สมมติเราได้ยินเรื่องนี้มาห้าเวอร์ชัน สำหรับรายการ ช่างเชื่อม จะพยายามบอกเวอร์ชันนี้มาจากแหล่งอ้างอิงนี้ มากกว่าจะบอกว่ามีเวอร์ชันหนึ่งเดียวที่ถูกต้อง
ยกตัวอย่างเรื่องกษัตริย์ไมดาสที่แตะทุกอย่างแล้วเป็นทอง เวอร์ชั่นหนึ่งที่คนอาจได้ยินมาคือเขาไปแตะตัวลูกสาวแล้วลูกสาวกลายเป็นทอง เหมือนฆ่าลูกสาวโดยไม่ตั้งใจ คนฟังเวอร์ชันนี้ก็จะรู้สึกว่ามันเศร้า คนสมัยก่อนโหดร้ายจัง แต่รายละเอียดนี้เพิ่งมามีในศตวรรษที่ 19 เองนะ อยู่ในงาน Tanglewood Tales (1853) ของ นาธาเนียล ฮอว์ธอร์น (Nathaniel Hawthorne) ซึ่งนำเรื่องเล่าจากสมัยกรีก-โรมันมาเล่าแบบนิทานสำหรับเด็ก ด้วยความที่เรื่องเวอร์ชั่นนี้มันมีอิมแพกต์กับผู้คน เลยกลายเป็นเรื่องที่คนเล่าๆ ต่อกันมา จนหลายคนเข้าใจว่ามันมาตั้งแต่สมัยกรีก
เรื่องแบบนี้ไม่มีผิดมีถูก อีกสิบปี ยี่สิบปี ห้าสิบปี ก็ต้องมีเวอร์ชั่นอื่นเสริมขึ้นมา ถ้าอยากสนุกกับปกรณัม เราคิดว่าไม่ต้องไปหาเวอร์ชั่นที่ถูกที่สุดเพียงหนึ่งเดียวหรอก เพราะถ้าพยายามหาจะเครียดมาก
นอกจากจะหลายเวอร์ชั่นแล้ว ในปกรณัมยังมีตัวละครเยอะมาก พี่พงษ์จำได้ยังไง
อันนี้ต้องแก้ไขความเข้าใจผิดก่อน คือไม่ได้จำได้หมดทุกอย่าง แต่พออยู่ในรายการมันเหมือนจำได้เยอะเนอะ (หัวเราะ) เวลาจะไปถ่ายแต่ละเทป เราก็เตรียมตัวไปก่อน เพื่อให้สามารถเล่าได้อย่างลื่นไหล ไม่ใช่แบบแอเรียล What’s that word again? ตลอดเวลา แต่ไม่ถึงกับจำได้ทั้งหมด สมมติมาถามว่าพ่อคนนี้ชื่ออะไร อาจจะต้องใช้เวลานึกก่อนแป๊บนึง
ส่วนหนึ่งที่อาจจะจำได้เยอะเพราะหลายๆ องค์ประกอบในชื่อเป็นคำกรีก-โรมันที่เราเจอในภาษาอังกฤษ ทำให้เราเชื่อมโยงได้ ถ้าเป็นชื่อสี่ห้าพยางค์ที่ไม่มีความหมายกับเราเลย แน่นอนว่ามันจำยาก ตัวอย่างเช่น มีตัวละครเล็กๆ ชื่อ ‘คริซิปปัส’ (Chrysippus) แต่ถ้าเรารู้ว่าคำข้างในมันคือ คริสโซส (khrysos) ที่แปลว่าทอง บวกกับฮิปโปส (hippos) ที่แปลว่าม้า ก็คือม้าทอง ทำให้เราจำได้มากขึ้น
อ้อ อีกอย่างที่ทำให้จำได้เยอะคือที่เล่าว่าแต่ก่อนที่บ้านไม่ค่อยมีเงิน เลยต้องอ่านหนังสือซ้ำไปซ้ำมา ชื่อเลยเข้าหัวไปโดยปริยาย
แต่ชื่อเทพก็มีฉบับกรีกกับโรมันอีก
คนทั่วไปจะบอกว่ามีสองชื่อ กรีกชื่อนึง โรมันอีกชื่อนึง
ต้องเล่าว่ากรีกเกิดก่อน โรมันตามมาทีหลัง แต่มีช่วงที่ทับซ้อนกัน แล้วโรมันก็มีเทพท้องถิ่นที่เขานับถืออยู่แล้ว พอไปเห็นของกรีก ก็รู้สึกว่าเทพของกรีกกับของตัวเองเหมือนกันเลยเนอะ อาจจะเป็นเทพองค์เดียวกัน เลยเอาเทพสององค์มารวมกันเป็นองค์เดียวเสียเลย กระบวนการนี้เรียกว่า syncretism นอกจากเทพองค์หลักๆ ที่เรารู้จักกันอย่างเทพโอลิมเปียน 12 องค์ จริงๆ เทพอื่นๆ ที่เป็นเทพองค์เล็กองค์น้อยก็มีทั้งชื่อกรีกและโรมันด้วย
เช่น เทพีที่โยนแอปเปิลทองคำเข้าไปในงานแต่งงานของพีเลียส ถือเป็นคนจุดชนวนสงครามกรุงทรอย คนนี้ในกรีกชื่ออีริส (Eris) ในโรมันที่ใช้ภาษาละตินชื่อดิสคอร์เดีย (Discordia)
ในบรรดาตำนานเรื่องเล่าต่างๆ พี่พงษ์ชอบเรื่องไหนที่สุด เพราะอะไร และพอจะเล่าให้ฟังได้มั้ย
เป็นเรื่องยากมากเพราะไม่เคยคิดมาก่อน แต่ถ้าให้ตอบตอนนี้คงเลือกเป็น The Iliad (มหากาพย์อิเลียด) ซึ่งก็จะทำหน้าที่เซลล์ด้วยการบอกให้ไปฟังในรายการ People You May Know เพราะรายละเอียดมันเยอะมาก (หัวเราะ)
เหตุผลแรกที่ชอบเพราะมันเป็นมหากาพย์ มีเรื่องราวเกิดขึ้นเยอะมาก
สองคือมันเป็นภาพสะท้อนความคิดความเชื่อของสังคมสมัยนั้น เช่น อคิลลีสที่ยอมมีชีวิตสั้น แต่มีชื่อเสียงเกรียงไกรด้วยการไปออกรบในสงครามกรุงทรอย ทำให้เราเข้าใจคนสมัยนั้นว่าเขาให้ความสำคัญกับอะไร แม้จะต่างจากเราเหลือเกิน แต่ด้วยความเป็นมนุษย์เหมือนกันเลยยังพอเข้าใจได้ เกิดมาแล้วตายรอบเดียว ขอมีชื่อเสียงดีกว่า
สามคือมันมีฟังก์ชั่นทางสังคม เพราะ The Iliad เคยถูกใช้เป็นเท็กซ์สอนภาษากรีกของคนในสมัยโรมัน (ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ The Iliad ไม่สูญหายไปตามกาลเวลา ยังอยู่มาถึงทุกวันนี้) นอกจากนั้นยังเป็นงานที่ชนชั้นนำโบราณเอาไว้สร้างบารมีให้วงศ์ตระกูล โดยอ้างว่าบรรพบุรุษตัวเองคือตัวละครนั้นนี้ที่ไปรบในสงครามเมืองทรอยมา
และสุดท้ายคือทำให้เราเข้าใจเนเจอร์ของ myth ที่มีการเล่าเสริมเติมแต่งได้ จริงๆ The Iliad นั้นสั้นนิดเดียว เริ่มต้นตอนอคิลลีสโกรธ จบตอนที่เฮกเตอร์ตายแล้วจัดพิธีศพ แต่เวลาไปได้ยินคนเล่าเรื่องนี้ จะเห็นว่ามันมีเรื่องอื่นงอกมาเต็มไปหมด มีก่อนหน้านั้น มีหลังจากนั้น มันทำให้เห็นเนเจอร์ความเป็นแฟนฟิกฯ ของ myth ว่ามันไม่ใช่มีเวอร์ชั่นถูกต้องหนึ่งเดียวแล้วจบ
แล้วเนื้อหาของ The Iliad ในปัจจุบันยังคงเหมือนต้นฉบับอยู่มั้ย
เป็นคำถามที่วิชาการมาก (หัวเราะ) เนื่องจากว่าตัวต้นฉบับเป็นเท็กซ์โบราณ เข้าใจว่าต้นฉบับ The Iliad ไม่ได้มีเวอร์ชั่นเดียว เพราะมันดังมาก มีการชำระ มีการบันทึก จนถึงสมัยเรเนอซองส์ The Iliad ก็ยังอยู่ แต่ทั้งนี้แต่ละเวอร์ชั่นน่าจะต่างกันไม่เยอะ ต่างกันเป็นคำๆ สำหรับปุถุชนมักเกิ้ลคนธรรมดาแบบเรา มันก็ถือว่าค่อนข้างนิ่งแล้ว
นอกจากเรื่องราว อยากรู้เรื่องตัวละครโปรดด้วย
อันนี้ก็ยาก แต่ขอมาลงเอยที่อะพอลโล ความหล่อก็มีส่วน แต่เรื่องราวทั้งหมดเพราะความรักคุด เป็น underdog
อะพอลโลจะเป็นเทพที่เท่มากๆ ก็ได้ แต่พอดูเรื่องราวแล้วจะรู้สึกเอ็นดู เอาใจช่วย ไปรักกับนางแดฟนี เขาก็วิ่งหนี หรือบทจะมีคนรักก็ยังมิวายมีโศกนาฏกรรม คืออะพอลโลไปชอบเด็กผู้ชายชื่อไฮยาซินทัส ซึ่งเป็นเด็กหนุ่มที่ป๊อปจนมีเซฟไฟรัส เทพแห่งลมตะวันตกมาชอบด้วย ระหว่างที่อะพอลโลกับไฮยาซินทัสเล่นขว้างจักรกัน เซฟไฟรัสก็หึง เลยบันดาลให้ลมพัดจักรที่ขว้างไปกระแทกหัวไฮยาซินทัสจนตาย
เรื่องเล่าในปกรณัมเกิดขึ้นมาเป็นพันปีเพื่ออธิบายเหตุการณ์ทางธรรมชาติต่างๆ แต่ปัจจุบันวิทยาศาสตร์สามารถหาคำตอบได้หมดแล้ว ทำไมเรายังต้องเรียนรู้เรื่องเหล่านั้น มันยังจำเป็นอยู่มั้ย
พอพูดถึง myth ฟังก์ชั่นหนึ่งคือมันเคยใช้อธิบายปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เรียกว่าตำนานบอกเหตุ (aetiological myth) บางอันก็เป็นตำนานที่ใช้สร้างความชอบธรรมให้พิธีกรรมบางอย่าง (charter myth)
ถามว่าในยุคปัจจุบัน ฟังก์ชั่นเหล่านี้ยังมีมั้ย คิดว่าการบอกเหตุก็คงใช้ไม่ได้เท่าไหร่ ส่วนเรื่องพิธีกรรมก็ไม่ได้มีอะไรสืบทอดจากสมัยนั้นมาถึงปัจจุบัน
แต่เราว่า myth ยังมีฟังก์ชั่นในแง่ที่ว่าเป็นแหล่งบันทึก consciousness ของมนุษย์ วิธีการคิดหรือสำนึกของมนุษย์ บอกเล่าวิวัฒนาการของเราตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เราเคยผ่านช่วงที่มองว่าปรากฏการณ์ธรรมชาติเป็นแบบนี้
นอกจากนั้น myth บางเรื่อง เราอาจจะไม่ได้มองแค่เนื้อเรื่องที่เกิดขึ้น ไม่ได้ identify ในระดับพล็อตว่ามันสนุก แต่เรารู้สึกว่ามันมองเป็นภาพเปรียบกับชีวิตหรือสะท้อนแบบแผนความคิดของมนุษย์ได้
ยกตัวอย่างเช่นเรื่องอิคารัส เรื่องนี้เกี่ยวกับการ “flying too close to the sun” แม้ทุกวันนี้เรารู้แล้วว่าดวงอาทิตย์อยู่นอกโลก ห่างออกไปไกลมาก ไม่มีการบินเข้าใกล้พระอาทิตย์เกินไปหรอก แต่ “flying too close to the sun” ก็ยังทรงพลังกับมนุษย์ บอกเล่าถึงความทะเยอทะยานมากเกินไปจะทำให้เป็นภัย เลยรู้สึกว่า myth เป็นส่วนหนึ่งของแบบแผนความคิดของมนุษย์
แล้วพอเนื้อเรื่องเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง มันก็ยังมีประโยชน์อีกอย่างคือใช้สื่อใจความได้เยอะๆ ด้วยคำสั้นๆ ในภาษาอังกฤษมีการเอาชื่อตัวละครในปกรณัมมาใช้ เช่น Adonis เป็นผู้ชายที่หล่อเหลามากในตำนานกรีก คำนี้ก็มาอยู่ในภาษาอังกฤษ ใช้เรียกผู้ชายหล่อ คล้ายๆ ภาษาไทยที่เอาคำว่าสิบแปดมงกุฏ หรือว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเองมาใช้
แต่ถามว่าปกรณัมจะมีประโยชน์ในเชิงนำไปสู่นวัตกรรม ทำให้เกิดจรวดแบบใหม่มั้ย ก็คงทำไม่ได้
อยากรู้กระบวนการทำงานใน ช่างเชื่อม เมื่อได้โจทย์จากลูกค้ามาแล้ว พี่พงษ์เลือกเรื่องที่จะมาเล่ายังไง
วิธีการทำงานของ ช่างเชื่อม คือลูกค้าจะติดต่อมาทางเออี ซึ่งเรามีเออีมือทองชื่อพี่แพทพราวด์ พอดีลเสร็จ ลูกค้าจะส่งบรีฟมาให้ว่าเขาต้องการพูดถึงสิ่งนี้ มีประเด็นหนึ่งสองสามสี่ห้า จากนั้นข้อมูลทั้งหมดจะถูกส่งมาให้เราเป็นคนคิดคอนเทนต์
สิ่งที่ทำคือเอาข้อมูลจากบรีฟมากองก่อน ถ้านึก myth เรื่องไหนออกที่โยงเข้าได้ตรงๆ อันนี้ง่ายเลย แต่สำหรับลูกค้าบางราย ถ้านึกเรื่องที่เชื่อมตรงๆ ไม่ออก ก็อาจจะก็ต้องนั่งคิด วิธีนั่งคิดคือเอาหัวเชื้อของเขามาแตกย่อย
เกณฑ์นึงที่ใช้ในการเลือกเรื่องคือเรื่องมีเนื้อมีหนังพอสมควรมั้ย บางเรื่องมีนิดเดียว เล่าไม่สนุก ถ้าสมมติไม่มีเรื่องสนุกเลย ก็อาจจะคิดเชื่อมโยงไปจากนั้นอีก เช่น อาหารเสริมบำรุงสายตา มาถึงปุ๊บตอนแรกก็ต้องเป็นเรื่องตา แต่จะเล่าเรื่องที่ควักตาไม่ได้ มัน negative ไป งั้นลองดูผลิตภัณฑ์อีกทีว่ามีมุมอื่นไหม โอเค ผลิตภัณฑ์นี้เป็นเรื่องการปกป้องสายตา ก็อาจเชื่อมไปออกเรื่องการปกป้อง ออกมาเป็นเรื่องของเจสันกับการฝ่าด่านไปชิงขนแกะทองคำที่มีการใช้สีผึ้งวิเศษเพื่อปกป้องเจสันจากไฟ เสน่ห์ของรายการ ช่างเชื่อม คือบางอันมันก็แถ (หัวเราะ)
ในรายการพี่พงษ์มักจะเชื่อมโยงคำศัพท์กับชื่อตัวละครหรือตำนานใดๆ ทำไมมันถึงเกี่ยวข้องกัน
อันนี้ต้องแยกระหว่างปกรณัมกับภาษากรีกและภาษาละติน ถ้าพูดถึงตัวละครที่ไปอยู่ในภาษาอังกฤษก็จะคล้ายๆ กับที่พูดไปเมื่อกี้
ส่วนภาษากรีกกับภาษาละตินที่มาอยู่ในภาษาอังกฤษ อันนี้เป็นเรื่องประวัติศาสตร์ภาษาอังกฤษละ ซึ่งภาษากรีกกับละตินก็มีทั้งยืมโดยตรงหรือยืมผ่านภาษาอื่น ประวัติภาษาอังกฤษมันยาวนานมาก มีช่วงที่อังกฤษถูกปกครองโดยราชวงศ์ฝรั่งเศส ด้วยความที่ฝรั่งเศสเป็นสายโรแมนซ์ คือมีรากฐานมาจากภาษาละติน ภาษาอังกฤษก็เลยได้รับผ่านเข้ามาด้วย
แล้วพอมาช่วงเรเนอซองส์ก็ยิ่งมีศัพท์จากภาษากรีก-ละตินมีมากขึ้น ยิ่งในยุค enlightenment มันก็มีการคิดคำใหม่ๆ เพื่อใช้พูดถึงวิทยาการ เลยเป็นสาเหตุให้ในภาษาอังกฤษมีองค์ประกอบของภาษากรีก-ละตินอยู่
พี่ฟาโรสมักจะพูดบ่อยๆ ว่าเรื่องที่พูดอาจจะจริงหรือไม่จริง อย่าเพิ่งเชื่อ พี่พงษ์ทำการบ้านกับเรื่องนี้ยังไง มีเกณฑ์การเลือกมั้ยว่าตำนานเวอร์ชั่นนี้แหละ น่าเชื่อถือที่สุด
อันนี้ต้องขอบคุณฟี่ฟาที่บอกว่าอย่าเชื่อทุกอย่าง เราทำงานละเอียดขนาดไหนก็ผิดพลาดได้ แล้วเราไม่มีทางเป็นผู้รู้หรือผู้เชี่ยวชาญทุกอย่าง และเราไม่ได้อยากจะเป็นด้วย
การพูดแบบนี้เหมือนบอกให้คนดูรู้ว่าเราแค่มาจุดประกายให้ หน้าที่ขอคนดูคือเราพูดขาดตรงไหน เสริมได้ เราพูดผิดตรงไหน มาบอกด้วย
ในส่วนของการทำงาน แน่นอนว่าเราอยากให้มันผิดพลาดน้อยที่สุด ปกติถ้าคิดออกแล้วว่าจะเล่าเรื่องนี้นะ ก็จะไปนั่งอ่านหลายๆ แหล่ง แล้วค่อยเลือกมาเล่า แต่บางครั้งก็ไม่ได้เล่าทั้งหมด ด้วยสาเหตุหนึ่งคือลืมพูด เพราะถ่ายสดจริงๆ แล้วหน้าม้าในสตูฯ คือเฮฮามาก หรือสองคือเลือกแล้วว่าถ้าเล่าเวอร์ชั่นนี้มันจะเป็นเรื่องเดียวกัน ฟังแล้วสนุก ถ้าสมมติต้องแวะข้างทางทุกอัน มันเสียอรรถรส เหมือนอ่านอะไรแล้วมีฟุตโน้ตทุกอย่าง ซึ่งอาจารย์วรรณคดีจะบอกว่าฟุตโน้ตเหมือนคนกำลังมีเซ็กซ์กัน แล้วมีคนมากดกริ่งหน้าบ้าน
แต่ที่สำคัญที่สุดคือต้องเลือกเวอร์ชั่นที่เล่าแล้วไปเชื่อมกับของลูกค้า เพราะต้องขายของ (หัวเราะ)
หลังจากจบคาบปกรณัม 101 เราขอให้พี่พงษ์ช่วยแนะนำหนังสือสำหรับผู้ที่สนใจด้านนี้สัก 4 เล่ม โดยพี่พงษ์ออกตัวก่อนว่าจริงๆ ก็อยากแนะนำให้อ่าน primary source ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายถึงให้ไปอ่านต้นฉบับภาษากรีก แต่หมายถึงให้อ่านตัวงานวรรณกรรมต้นฉบับที่แปลมาเป็นภาษาที่เราอ่านเข้าใจ เช่น The Iliad หรือ Jason and The Golden Fleece ไม่ใช่งานที่คนอื่นไปย่อยสรุปมาแล้ว เพราะข้อดีคือจะได้เห็นรายละเอียดจริงๆ และมี interaction กับต้นฉบับได้ แต่ถ้ายากเกินไป ก็จะแนะนำระดับ secondary ดังนี้
Mythology โดย เอดิธ แฮมิลตัน (Edith Hamilton)
แนะนำให้อ่านของคุณป้าก่อน เพราะจริงๆ ก็ค่อนข้างครอบคลุม และมีข้อดีตรงที่บอกด้วยว่าเอาข้อมูลมาจากแหล่งไหนบ้าง มีตัดตัวบทจาก primary source มาใส่ให้เล็กๆ น้อยๆ ก็รู้สึกว่าเป็นอินโทรที่ดี ซึ่งถ้าใครอ่านฉบับภาษาอังกฤษไม่ไหว มีเวอร์ชั่นภาษาไทยชื่อ ปกรณัมปรัมปรา แปลโดยอาจารย์นพมาส แววหงส์ และแปลได้สวยงามระยิบระยับมาก
The Penguin Book of Classical Myths โดย เจนนี มาร์ช (Jenny March)
ถ้าใครรู้สึกว่าของเอดิธ แฮมิลตัน เบาไป ขอแนะนำเล่มนี้ มีรายละเอียดบางอย่างที่เล่มแรกไม่มี แต่อาจต้องปรับตัวนิดนึง เพราะชื่อตัวละครจะเขียนแบบกรีกเลย อย่างเช่น Cyclops ต้นฉบับกรีกก็เป็น Kyklops
The Routledge Handbook of Greek Mythology โดย โรบิน ฮาร์ด (Robin Hard)
เล่มนี้คือสายฮาร์ดคอร์ ละเอียดมากๆ ถ้าเอาละเอียดกว่านี้คือต้องอ่านงานวิชาการละ
D’Aulaires’ Book of Greek Myths โดย อิงกริ และเอ็ดการ์ ปาแรง ดอแลร์ (Ingri and Edgar Parin D’Aulaire)
อันนี้เหมาะกับเด็กๆ ไม่ถึงกับเป็นนิทาน คือมีภาพประกอบ เล่าเรื่องคลาสสิกเลย แต่เป็นมิตรกับเด็กนะ อ่านจบแล้วไม่ฝันร้าย