Fri 07 Jul 2023

KEEP TURNING THE PAGES

ตาม ‘เน PERSES’ ไปอ่านหนังสือเล่มเก่า ซื้อเล่มใหม่ และเล่มที่อยากแนะนำให้ทุกคนอ่าน

เรื่อง: A. Piriyapokanon

     เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นด้วยแจ้งเตือนจากอินสตาแกรม ว่ามีบัญชี verified พร้อมเครื่องหมายถูกสีฟ้ามากดติดตาม @cont.reading

     สารภาพตามตรงว่าด้วยความที่ไม่ค่อยสนิทสนมกับวงการเพลง T-POP ชื่อ @nay.naranvik จึงไม่คุ้นหูเราเท่าไหร่

     ผลลัพธ์จากการค้นหาในอินเทอร์เน็ตบอกว่าเจ้าของบัญชีปริศนานั้นคือ เน—ณรัณ วิกัยรุ่งโรจน์ หนึ่งในศิลปินวง PERSES บอยกรุ๊ป 5 คนจากค่าย G’NEST อายุ 24 ปี เพิ่งจบการศึกษาจากสาขาวิชาภาพยนตร์และดิจิทัลมีเดีย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

     ส่วนการค้นหาในทวิตเตอร์ การสอดส่องในอินสตาแกรม และจากปากคำของแฟนคลับ บอกกับเราว่าเนชอบอ่านหนังสือ แถมไม่ได้ชอบอ่านธรรมดา แต่ชอบอัพรูปหนังสือป้ายยาคนอื่นด้วย! ร้ายกาจ!

     เราจึงไม่รอช้า ขอนัดพบเขาที่ร้านหนังสือใจกลางเมือง โดยกติกาการพูดคุยครั้งนี้มีอยู่ว่า เราจะให้เนแนะนำหนังสือในลิสต์ ทั้งเล่มที่โปรดปราน เล่มที่อ่านอยู่ และเล่มที่ไม่รู้จะเริ่มอ่านวันไหน แลกกับการให้เนเลือกหนังสือเล่มใหม่ที่อยากได้กลับบ้านไปด้วย

     แต่ก่อนจะรีบเลือกหนังสือรีบแยกย้าย เราขอถือโอกาสนี้พาทุกคนพลิกหน้ากระดาษ อ่านเรื่องราวของเนในฐานะนักเรียนหนัง นักร้อง แฟนมังงะ และคนธรรมดาที่อยากยืนหยัดเพื่อสิทธิพื้นฐานของเพื่อนมนุษย์

PAGE I

     “ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะเรียนอะไร หลงทางมาก”

     เนเล่าถึงช่วงเวลาของการตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิตวัยรุ่นอย่างการเลือกมหาวิทยาลัย 

     ทีแรกเขาตั้งใจจะเลือกคณะสายเกษตรฯ เนื่องจากครอบครัวมีแผนจะทำฟาร์มที่ต่างจังหวัด เขาเลยอาจได้นำความรู้ด้านปลูกผัก ทำสวนมาใช้ต่อยอดธุรกิจได้บ้าง 

     ทว่าเมื่อลองดูหลักสูตรแล้ว เนก็พบว่าเกือบทั้งหมดเป็นองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เน้นๆ ที่เขาเห็นอนาคตเลยว่าตัวเองไม่มีทางรอด

     “มีพี่ที่รู้จักทักว่าทำไมไม่เรียนภาพยนตร์ล่ะ เพราะเห็นเราชอบดูหนังมาตั้งแต่เด็ก ก็เลยลองไปเข้าค่ายติวความถนัดด้านนิเทศศิลป์ของลาดกระบังฯ พอไปก็ชอบบรรยากาศมาก มีความเป็นกันเอง คณะอยู่ในป่า น่าเรียนดี ก็เลยตัดสินใจมาเรียน”

     ถึงแม้จะบอกว่าชอบดูหนังมาตั้งแต่เด็ก แต่เนก็สารภาพว่าที่จริงแล้วเขาไม่ใช่คนดูหนังหลากหลายอะไร ส่วนใหญ่จะเป็นภาพยนตร์ที่ทุกคนเรียกกันว่าหนังแมส หนังตลาด และหนังบล็อกบัสเตอร์

     “พอเข้ามาเรียน เราเลยเหมือนได้เปิดโลกการดูหนังด้วยเพื่อนในคณะ แต่ละคนจะมีสไตล์หนังของตัวเอง เพื่อนที่ผมสนิทด้วยเป็นคนดูหนังเยอะมาก พวก อันเดรย์ ทาร์คอฟสกี (Andrei Tarkovsky) เดวิด ลินช์ (David Lynch) แล้วพอเราคุยกับเขาทุกวัน เราก็ค่อยๆ ซึมซับการดูหนังที่หลากหลายมากขึ้น

     “ตอนนี้ผมชอบเรื่อง Decision to Leave ของ ปาร์ก ชานอุก (Park Chan Wook) มาก สมัยเรียนก็ชอบไตรภาคล้างแค้น (Sympathy for Mr. Vengeance, Oldboy และ Lady Vengeance) อยู่แล้ว พอมาดูเรื่องล่าสุดของเขาเลยยิ่งแบบ โห… เขายังโตกว่าเรื่องที่แล้วๆ ได้อีก”

     “เรียนฟิล์มทั้งที เคยอยากทำงานเบื้องหลังบ้างไหม” เราถาม

     “อยากเขียนบทครับ เพราะรู้สึกว่ามีเรื่องที่อยากเล่า มีพล็อตในหัวที่ยังพรั่งพรูอยู่ ถ้ามีโอกาสก็อยากกลับไปทำ”

     น…นี่มันคำตอบเด็กฟิล์มของแท้

     ย้อนกลับไปสมัยเป็นนักศึกษา เนเล่าว่านอกจากงานเบื้องหน้าในฐานะนายแบบแฟชั่น เขาก็ได้ลองงานเบื้องหลังมาแล้วหลายรูปแบบ ทั้งกางขาซีจัดไฟตอนปี 1 ขยับไปทำซาวด์ ถือไมค์บูมตอนอยู่ปี 2 ส่วนปี 3 ลองเขียนบทหนังโฆษณาสั้น

     “พอช่วงปี 4 ที่ทำธีสิส บังเอิญมีคนจากค่าย MBO ทักมาชวนให้ลองไปแคสติ้งเป็นศิลปิน ซึ่งผมไปแล้วไม่ผ่าน (หัวเราะ) หลังจากนั้นก็มีค่ายอื่นติดต่อมาเรื่อยๆ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ร่วมงานกัน 

     “จนกระทั่ง G’NEST ติดต่อมาให้ลองเข้าไปฝึกเป็นเทรนนี ผมก็ไม่ได้คิดอะไรเยอะ แค่คิดว่าน่าสนุกดี ไปก็ไป ก็มาเรื่อยๆ จนออกมาเป็นเนแบบทุกวันนี้ครับ…”

PAGE II

     ถ้าคุณไม่ได้เป็นผู้ติดตามโซเชียลมีเดียของเน ขอเล่าให้เห็นภาพคร่าวๆ ก่อนว่าคอนเทนต์ส่วนใหญ่ที่เขาโพสต์จะแบ่งออกได้เป็นสามประเภท

     หนึ่ง—งานส่วนตัวและวง PERSES

     สอง—บันทึกรักการอ่าน

     และสาม—พื้นที่แสดงออกทางการเมือง

     ห๊าาาา ไหนบอกว่าถ้าดาราวางตัวไม่เป็นกลางจะงานหดงานหาย ค่ายไม่ปลื้ม ลูกค้าไม่รัก ยิ่งเป็นนักร้องหน้าใหม่ยิ่งหนัก ไม่ควรทำอย่างยิ่ง

     เนไม่นับตัวเองว่าเป็นสื่อหรือนักเคลื่อนไหว แต่เป็นเพียงคนธรรมดาที่พอจะมีแสงอยู่บ้าง สามารถช่วยกระจายข้อเรียกร้องออกไปให้คนเห็นได้มากขึ้นอีกหน่อย

     “มีประเด็นไหนที่เนอยากร่วมขับเคลื่อนเป็นพิเศษบ้างหรือเปล่า” เราถามต่อ     

     “คงเป็นประเด็นสิทธิของการเป็นมนุษย์ เรื่องเฟมินิสต์ หรือเรื่องของกลุ่มคนที่ถูกสังคมกดทับมานาน ผมรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ที่อยากจะยืนหยัดเพื่อการมีชีวิตของตัวเอง” 

     เมื่อได้ยินแบบนี้ เราจึงไม่แปลกใจเท่าไหร่ที่เนเลือกตอบว่า จิตร ภูมิศักดิ์ ในตอนที่เราถามว่าไอดอลของเนคือใคร

     (ล้อเล่น จริงๆ คือแปลกใจมาก)

     “ได้ยินชื่อจิตรมานานแล้ว แต่ไม่ได้อ่านงานเขาจริงๆ จังๆ สักที จนกระทั่งมีโอกาสอ่าน โฉมหน้าศักดินาไทย ตอนนั้นซื้อมาครบเซตเลย มีเล่ม ความเป็นมาของคำสยาม ไทย, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ กับเล่ม สังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยศรีอยุธยา ด้วย

     “ผมประทับใจที่ความคิดเขาล้ำสมัยมาก ล้ำหน้าสังคมยุคนั้นไปอีก แต่สิ่งที่เขาได้รับตอบแทนคือการโยนบก สุดท้ายต้องจบชีวิตลงเพราะสิ่งที่เขาเชื่อ พอไปตามอ่าน ตามฟังประวัติ ก็ทำให้เราประทับใจความยึดมั่นในอุดมการณ์ ประทับใจว่าเขาสามารถสู้เพื่อคนอื่นได้ขนาดนั้น เป็นความกล้าหาญที่ผมรู้สึกยกย่อง แล้วก็อยากกล้าแบบนั้นได้บ้าง”

PAGE III

     ไหนๆ ก็ก้าวเข้าเขตบทสนทนาเรื่องนักเขียนมาแล้ว เราจึงชวนเนคุยเรื่องการอ่านกันบ้าง 

     เริ่มด้วยถามคำถามสุดคลาสสิก

     “เนชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็กเลยหรือเปล่า”

     “ตอนเด็กชอบอ่านการ์ตูนครับ พวก Dragon Ball, Naruto, One Piece

     …คำตอบคลาสสิกยิ่งกว่า

     เนเล่าว่าในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติทุกครั้ง บูธเดียวที่เขาจะพุ่งตัวไปหาคือบูธสำนักพิมพ์ Siam Inter Comics และเลือกซื้อมังงะเรื่องที่ขายแบบครบเซต เพราะขี้เกียจตามเก็บทีละเล่ม

     “แต่ตอนนี้อ่านมังงะน้อยลงมากแล้วนะ ผมตามนักเขียนมากกว่า”

     สิบคะแนนจะเป็นของ PIECES ทันทีถ้าตอบได้ว่านักเขียนคนนั้นคือใคร

     เฉลย!

     “ที่ตามอยู่ตอนนี้คือ ทัตสึกิ ฟุจิโมโตะ (Tatsuki Fujimoto) นักเขียนเรื่อง Chainsaw Man ผมอ่านเรื่องสั้น Goodbye, Eri ของเขาแล้วรู้สึกแปลกใหม่มาก คาดเดาอะไรไม่ได้เลย เซต Fire Punch ก็ซื้อมาแล้วนะ แต่ยังไม่ได้อ่าน ส่วน One Piece นี่สามถึงหกเดือนจะอ่านทีนึง รอให้มาเยอะๆ หน่อยแล้วค่อยอ่านทีเดียว ตอนนี้อ่านถึงจบภาควาโนะคุนิ”

     จากความชอบมังงะในสมัยเด็ก เนเริ่มหักเหมาชอบหนังสือวรรณกรรมในช่วงเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เพราะได้อิทธิพลมาจากเพื่อนร่วมภาควิชา

     “ซึ่งก็คือคนเดียวกับที่ทำให้ผมเริ่มหัดดูหนังเยอะๆ นั่นแหละ เขาอ่านหนังสือเยอะด้วย”

     “ขอทราบชื่อเพื่อนคนนั้นได้ไหมคะ”

     “ชื่อบัสครับ ตอนนี้เป็นนักข่าวอยู่ประชาไท”

     …

     “(หัวเราะ) เขาอ่านเยอะ แล้วก็เป็นคนละเมียดละไม ไม่ว่าเขาจะดูหนังเรื่องอะไรหรืออ่านอะไรมา พอได้คุยกันเราจะได้ซึมซับความคิดเขามาด้วย ทำให้เราเริ่มเปิดใจ แรกๆ ผมก็อ่านตามเพื่อน แล้วก็เริ่มไถลไปเองเรื่อยๆ 

     “เท่าที่จำได้ เล่มแรกสุดเหมือนจะเป็นตอนที่เห็นบัสอ่าน ปรัชญาชีวิต ของ คาลิล ยิบราน (Kahlil Gibran) เป็นหนังสือที่ตอนแรกผมอ่านไม่รู้เรื่องด้วยนะ ไม่รู้ว่าเขาพูดถึงอะไร รู้แค่ว่าภาษาสวยมาก ทำไมเขาบรรยายถึงชีวิตได้สวยงามแล้วก็เศร้าโศกได้ขนาดนั้น ก็เลยได้เปิดโลกจากเล่มนี้”

     ดังนั้น ทุกวันนี้เวลาเดินเข้าร้านหนังสือ เนจะเลือกเดินไปที่ชั้นหนังสือฟิกชั่น วรรณกรรมแปล เรื่องสั้น และวรรณกรรมร่วมสมัยก่อนเป็นอันดับแรก ส่วนหนังสือประเภทสารคดีและน็อนฟิกชั่น เขาใช้คำว่า “แล้วแต่อารมณ์” โดยส่วนใหญ่เนจะเลือกอ่านหนังสือประวัติศาสตร์และสังคม ด้วยเหตุผลว่าในช่วงที่ตารางงานยุ่ง ทำให้เขาอ่านอะไรที่เป็นเรื่องราวต่อกันไม่ได้ อยากอ่านเรื่องที่จบเป็นหัวข้อ มากกว่าเรื่องที่ต้องติดตาม

     เดี๋ยวนะ แต่หนังสือประวัติศาสตร์ก็ต้องติดตามเหมือนกันไม่ใช่เหรอ?

     “เออ…ก็ติดตามแหละ” ว่าแล้วเขาก็นิ่งคิด “แต่มันจะยังพอมีประเด็นของย่อหน้านั้นๆ ที่จบได้ในตัว ไม่ต้องใช้ความต่อเนื่องขนาดนั้น ไม่ต้องมีอารมณ์ร่วมอะไร”

     “แล้วตอนอ่าน โฉมหน้าศักดินาไทย มีอารมณ์ร่วมไหม”

     “ถ้าเล่มนั้นก็มีนะ (หัวเราะ) อ่านแล้วต้องพักบ้าง เดี๋ยวเครียดเกิน”

PAGE IV

     “เนยังจำเล่มแรกในชีวิตที่อ่านได้ไหม”

เราถามขึ้นตอนเดินออกจากร้านกาแฟเพื่อไปยังร้านหนังสือ ซึ่งพอไปถึง เนก็เดินตรงดิ่งไปยังโซนวรรณกรรมและเรื่องสั้นอย่างที่เขาบอกไว้จริงๆ

     “จำได้ว่าสมัยอยู่อนุบาล พี่ชายผมเรียนชั้นประถม เขาจะมีแบบเรียน มานะ มานี ปิติ ชูใจ ผมก็ไปหยิบมาอ่าน เพราะมีการ์ตูนให้ดูด้วย อ่านด้วยความมั่นใจว่าพอเราเข้า ป.1 ไป เราจะฉลาดกว่าเพื่อนแน่นอน เพราะอ่านของพี่มาหมดแล้ว 

     “แต่สรุปพอผมขึ้นประถมไป เขาเปลี่ยนหลักสูตร ยกเลิกหนังสือเล่มนั้นไปเลย”

     ช็อตฟีลหนัก

     พูดถึงหนังสือสำหรับเด็ก เนให้ข้อสังเกตว่าแบบเรียนในปัจจุบันเปลี่ยนไปจากหนังสือชุดตามารถไฟที่เขาเคยเรียน 

     ยกตัวอย่างเช่นการเล่าเรื่องความยากจนให้ดูดีเกินความเป็นจริง

     “ที่ในหนังสือชอบพูดคือเงินไม่ใช่ความสุขของชีวิต หรือบอกว่าไข่ต้มก็มีสารอาหารเหมือนกัน ผมว่ามันทำให้เด็กขาดความตระหนักรู้ในฐานะประชาชนไป สิ่งที่ยิ่งเซอร์เรียลมากคือเราสามารถเขียนเนื้อหาแบบนี้ออกมาได้อย่างโจ่งแจ้งในหนังสือแบบเรียนที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน 

     จากหนังสือเล่มแรกที่เคยอ่าน แบบเรียนนอกเวลาภาษาไทยกลายเป็นหนังสือที่เขาไม่อยากสมาทานด้วยสักเท่าไหร่ เราจึงเปลี่ยนไปถามถึงเล่มที่เนชื่นชอบ ย้อนกลับไปอ่านซ้ำได้เรื่อยๆ บ้าง

     “ปีศาจ ของเสนีย์ เสาวพงศ์ อ่านบ่อยเพราะประทับใจในตัวละคร สาย สีมา ที่เกิดในครอบครัวยากจน แต่ก็พยายามต่อสู้เพื่อคนอื่นอีก 99%”

     99% อีกหนึ่งเล่มที่เนบอกว่าหยิบมาอ่านอยู่บ่อยๆ คือ Feminism for the 99%: A Manifesto ถ้อยแถลงเพื่อเรา 99%

     “อ่านรอบแรกก็ไม่เข้าใจหรอกว่าเขาพูดถึงอะไรบ้าง แต่ก็พยายามทำความเข้าใจสิ่งที่เขาเขียนมา เล่มนี้เปิดโลกเรื่องการเรียกร้องสิทธิสตรีอยู่เหมือนกัน เขาจะเล่าว่าเฟมินิสต์มีหลายขบวนการ ซึ่งไม่ได้เรียกร้องแค่เพื่อผู้หญิง แต่เป็นการเรียกร้องเพื่อคนอีก 99% ที่ยังต้องต่อสู้เพื่อจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี”

     อีกเรื่องที่เนอ่านซ้ำคือ Frankenstein; or, The Modern Prometheus แฟรงเกนสไตน์ หรือ โพรมีธีอัสยุคใหม่ ของ แมรี เชลลีย์ (Mary Shelley) เพราะการบรรยายความรู้สึกตัวละครที่ลุ่มลึกละเมียดละไม

     “แล้วตอนนี้เนกำลังอ่านเล่มไหนอยู่”

     “One Hundred Years of Solitude หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ของ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ (Gabriel García Márquez) ครับ เล่มนี้มีแฟนคลับซื้อมาให้”

     เขาเล่าด้วยรอยยิ้ม แถมมีอวดเพิ่มเติมว่าอีกเล่มที่แฟนคลับเคยซื้อให้อ่านแล้วชอบมากคือ จนกว่าเราจะพบกันอีก ของศรีบูรพา

     หลังจากเดินสำรวจชั้นฟิกชั่นจนพอใจ เนก็หันมาบอกว่าเขามีหนังสือเล่มที่หมายตามาจากบ้านแล้วว่าวันนี้จะต้องรับตัวกลับไปให้ได้ ว่าแล้วเนก็เดินไปบอกชื่อเรื่องกับพนักงาน รอไม่นานเล่มที่ว่าก็มาอยู่ในมือ

     เล่มนั้นคือ ไตรภาคแก่งคอย โดย อุทิศ เหมะมูล

     “ที่จริงไม่เคยอ่านของอุทิศเลย แต่เห็นข่าวว่า เป็นเอก รัตนเรือง จะเอา ลับแล, แก่งคอย ไปทำภาพยนตร์ปีหน้า แล้วมาเจอว่าสำนักพิมพ์เพิ่งเอามาตีพิมพ์ใหม่เป็นเซตพอดีด้วย ก็เลยสนใจอยากลองอ่านดู”

     เห็นเขาเลือกหนังสือซีรีส์ขนาดยาวกลับบ้าน เล่มที่กำลังอ่านอยู่ก็นับว่ายาว แถมตารางงานก็คงยุ่งมากจนแทบไม่มีเวลาอ่าน เราจึงอดสงสัยไม่ได้

     เนมีกองดองบ้างไหม…

     “ต้องเล่าก่อนว่าผมสมัครสมาชิกตลอดชีพของสำนักพิมพ์สมมติไว้ ก็เลยจะได้รับหนังสือทุกเล่มที่เคยตีพิมพ์มาแล้ว และเล่มที่กำลังจะตีพิมพ์ในอนาคต ซึ่งกองดองของผมก็คือกองนั้นนั่นแหละ (หัวเราะ) มีทั้งน็อนฟิกชั่น ฟิกชั่น แล้วก็พวกเรื่องสั้นของนักเขียนไทยร่วมสมัย”

     อีกเล่มที่เขาบอกว่าเข้าๆ ออกๆ กองดองอยู่นาน อ่านหลายรอบแล้วไม่จบสักที คือ Crime and Punishment อาชญากรรมกับการลงทัณฑ์ ของ ฟิโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี (Fyodor Dostoyevsky) 

     “มันหนามาก แล้วดอสโตเยฟสกีเขาบรรยายความรู้สึกของตัวละครได้ดำดิ่งจนเราอ่านแล้วดิ่งไปด้วย ทำให้อ่านไม่จบสักที ไม่ไหว”

     เนหยุดดูอีกหลายชั้น หยิบขึ้นมาพลิกดูปกหลังอยู่หลายเล่ม ก่อนจะเจออีกเรื่องที่เขาตัดสินใจซื้อ นั่นคือ CONVERSATIONS WITH FRIENDS แค่เพื่อนคุย โดย แซลลี รูนีย์ (Sally Rooney)

     “ผมเคยอ่าน NORMAL PEOPLE ปกติคือไม่รัก แล้วชอบมาก มันคือเรื่องราวของคนแตกสลายทั้งนั้นเลย แล้วแต่ละคนก็จะมีการตอบสนองต่อความแตกสลายนั้นๆ ต่างกันไป ทำให้เรารู้สึกเชื่อมโยงกับความแปลกแยกที่ตัวละครรู้สึกไปด้วย”

     ทันทีที่เล่าจบ เนก็หันไปเจอกับอีกหนึ่งความเหงา เศร้า หน่วงหัวใจอย่าง Abandoning a Cat: What I Talk About When I Talk About My Father ทิ้งแมว: เรื่องราวของพ่อ และผม โดย ฮารูกิ มูราคามิ (Haruki Murakami)

     “ผมชอบความธรรมดาสามัญในเรื่องของมูราคามิ เป็นความง่ายๆ แต่ก็โรแมนติกในทางของมัน แล้วผมก็รู้สึกเชื่อมโยง อีกแล้ว (หัวเราะ) กับความแปลกแยกจากตัวละครของมูราคามิ เขาจะชอบเล่าเรื่องความสัมพันธ์ของคนที่แตกสลายมาเจอกัน แล้วก็เกิดเรื่องราวขึ้นมา”

     ว่าแล้วเขาก็หยิบขึ้นมาใส่ตะกร้า ด้วยเหตุผลว่า

     “เล่มนี้มีแมว”

     โอเค…

     ก่อนจะจากกันไป เราขอให้เนเลือกหนังสือที่เขาอยากแนะนำให้ทุกคนได้อ่าน รวมถึงปักหมุดร้านหนังสือที่เขาไปเยี่ยมเยียนอยู่บ่อยๆ แล้วอยากให้ทุกคนลองไปเดินสักครั้งบ้างเป็นการทิ้งท้าย

NAY’S READCOMMEND

ON TRUTH ว่าด้วยความจริง
คงกฤช ไตรยวงศ์ บรรณาธิการ
สำนักพิมพ์ Illuminations Editions

     เป็นรวมบทความของนักวิชาการไทยที่แปลบทความของต่างประเทศมาอีกที จะมีบทความของ อแลง บาดิยู (Alain Badiou), มาร์ค ฟิชเชอร์ (Mark Fisher) และอีกหลายคน ซึ่งทั้งหมดจะพูดถึงการตั้งคำถามกับความเป็นจริง

     เล่มนี้ทำให้ผมรู้จักคำว่าสัจนิยมแบบทุน (Capitalist Realism) ฟิชเชอร์พูดไว้ว่า “การนึกถึงโลกแตกนั้นง่ายกว่าการนึกถึงจุดสิ้นสุดของโลกทุนนิยมเสียอีก” อ่านแล้วทำให้ผมรู้สึกว่าถ้าโลกทุนนิยมมันกดทับคนกลุ่มหนึ่งอยู่ ทำไมเราถึงไม่สามารถจินตนาการถึงความเป็นจริงอีกรูปแบบหนึ่ง ที่จะทำให้คนทุกกลุ่มสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ล่ะ

ความรักของวัลยา
เสนีย์ เสาวพงศ์ เขียน
สำนักพิมพ์มติชน

     อยากแนะนำฟิกชั่นสักเล่ม ลังเลระหว่าง ปีศาจ กับเล่มนี้ แต่คนน่าจะพูดถึง ปีศาจ กันเยอะแล้ว ขอฉีกแล้วกัน

BOOKSHOP NAYVIGATOR

House of Commons – Book Cafe & Space (HOC)

📍 1038/4 ถนนเจริญกรุง แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร
🕒 เปิดทุกวัน 09:00-18:00 น.
🚇 MRT สถานีหัวลำโพง

     ร้านนี้อยู่ที่เจริญกรุง ใกล้ๆ MRT หัวลำโพง บรรยากาศดี มีกาแฟ แล้วแถวนั้นก็มีที่ให้เดินเล่นด้วย

A BOOK with NO NAME

📍 721, 723 ซอยสามเสน 17 แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
🕒 เปิดทุกวัน 12:00–19:00 น. ปิดวันจันทร์
🚇 BTS สถานีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
🚇 รถโดยสารประจำทางสาย 3, 9, 14, 16, 30, 32, 33, 49, 64, 65, 66 และ 524

     เป็นร้านคาเฟ่กึ่งๆ ร้านหนังสือ มีแมวด้วย เล่นกับแมวได้ แมวน่ารักมาก

Fathom Bookspace

📍 572/3 ซอยสาทร 3 แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพมหานคร
🕒 เปิดทุกวัน 10:00–18:30 น. ปิดวันพุธ
🚇 BTS สถานีช่องนนทรี
🚇 MRT สถานีลุมพินี

     เคยไปงานเปิดตัวหนังสือ โอลก้า ของ แบร์นฮาร์ด ชลิงค์ (Bernhard Schlink) มีสัมมนาพูดคุยกัน รู้สึกว่าเป็นร้านที่น่ารักดี มีสองชั้น ขึ้นไปนั่งอ่านที่ชั้นสองได้

ขอขอบคุณ ร้าน Kinokuniya สาขาเซ็นทรัลเวิลด์ สำหรับการเอื้อเฟื้อสถานที่