Mon 11 Apr 2022

FAST & FEEL LOVE (YOURSELF)

ฉากแอ็กชั่นในชีวิตจริงของ ‘ปริมมี่’ กับการเรียนรู้ที่จะรักตัวเองผ่านกิจกรรมยามเช้า งานศิลปะ และหนังสือ

     ณ วันที่เราเขียนบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ สถิติโลกของ Sport Stacking หรือการแข่งขันเรียงแก้วเป็นรูปทรงพีระมิดในประเภท 3-3-3 อยู่ที่ 1.544 วินาที ประเภท 3-6-3 อยู่ที่ 1.929 และประเภท cycle อยู่ที่ 5.197 

     ในฐานะคนทำสัมภาษณ์ เรานึกไม่ออกเลยว่าจะทำยังไงให้คนอ่านรู้จักบุคคลในบทสัมภาษณ์ภายใน 5 วินาที

     แต่ถ้าต้องทำแบบนั้นจริงๆ เราคงจำกัดความถึง ปริมมี่—วิพาวีร์ พัทธ์ณศิริ นางแบบและนักแสดงผู้รับบท ‘ปอ’ ผู้ดูแลโรงเรียนสอน Sport Stacking และเพื่อนนักบิลด์ที่ช่วยเร่งความเร็วเดือดในชีวิตของ ‘เกา’ พระเอกในภาพยนตร์เรื่อง Fast & Feel Love เร็วโหด..เหมือนโกรธเธอ ด้วยประโยคที่ว่า

     ‘นักแสดงและนางแบบผู้มีประสบการณ์เป็นโรคซึมเศร้า เลือกหันหลังให้กับยา และเยียวยาจิตใจด้วยการรักตัวเอง’

     …

     รู้สึกดีนิดๆ ที่เราไม่ใช่นักกีฬา Sport Stacking ที่ต้องทำความเร็วขนาดนั้น เพราะชีวิตของปริมมี่เข้มข้น เร็ว โหด ไม่ต่างจากที่คนยุคนี้เผชิญกัน ทั้งการทำงานตั้งแต่เด็ก การพุ่งสู่ความสำเร็จให้เร็วที่สุดเฉกเช่นคนร่วมยุคสมัย การเป็นโรคซึมเศร้า รวมถึงการเรียนรู้ที่จะเยียวยาตัวเองด้วยงานศิลปะ นั่งสมาธิ และอ่านหนังสือ

     จริงอยู่ว่าบทสัมภาษณ์ที่เกิดจากการพูดคุย 45 นาที และคุณน่าจะใช้เวลาอ่านสัก 10-15 นาทีชิ้นนี้ ไม่อาจบรรจุเรื่องราวชีวิตที่น่าสนใจของเธอได้ครบถ้วน แต่เราเชื่อว่าบทสนทนากับหนังสือสามเล่มที่เธอเลือกมาแนะนำนี้ จะทำให้คุณรู้จักและอยากติดตามผลงานของเธอมากขึ้น—และอาจพุ่งตัวแบบเร็วโหดไปซื้อตั๋วเข้าชมการแสดงของเธอในหนังเรื่องล่าสุดของเต๋อ—นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์

     มากไปกว่านั้น หนังสือและวิธีคิดของเธออาจทำให้คุณกลับมาสนใจและรักตัวเอง ในยุคสมัยที่ชีวิตของพวกเราเต็มไปด้วยฉากแอ็กชั่นไม่เว้นวัน

LIVE FAST

แนะนำตัวให้คนที่ไม่เคยรู้จักคุณได้รู้จักคุณแบบไวๆ 

     สวัสดีค่า ปริมมี่—วิพาวีร์ พัทธ์ณศิริ เป็นนางแบบและนักแสดง เคยเล่นซีรีส์เรื่อง มาลี เพื่อนรัก..พลังพิสดาร เมื่อ 6-7 ปีที่แล้ว หลังจากนั้นก็บินไปเรียน Fine Art Photography ที่อังกฤษ ระหว่างนั้นก็ได้ทำโปรเจกต์วิดีโออาร์ตส่วนตัว กำกับเอง ถ่ายภาพบ้าง ทีนี้ช่วงโควิด-19 ระลอกแรกๆ เราบินกลับมาไทยพอดี แล้วก็ดันได้โอกาสจากพี่เต๋อให้มาแคสต์ เลยได้รับบทเป็นปอ 

ย้อนกลับไปหน่อยว่าเส้นทางนักแสดงของคุณเป็นมายังไง

     เราเคยประกวด Thai Supermodel ตอนอายุ 15 ตอนนั้นน่าจะได้ Top 50 มั้ง หลังจากนั้นก็ไปประกวด Seventeen Ambassador 2012 ของนิตยสาร Seventeen แล้วชนะ ตอนนั้นน่าจะอายุ 16 เอง ยังไม่เซเว่นทีนเลย (หัวเราะ) แต่ที่ชนะน่าจะเพราะเราเป็นคนทำกิจกรรมไม่เหมือนชาวบ้าน คือมันจะมีพาร์ตที่ให้แต่ละคนได้แสดงความสามารถ ส่วนใหญ่ก็จะร้องเพลง เต้น แต่ของเราเป็นคลิปวิดีโอดำน้ำสกูบากับฉลามในอะควาเรียมที่สยามพารากอน ทุกคนในงานดูคลิปแล้วก็ว้าว การชนะครั้งนั้นก็เป็นจุดเริ่มต้นที่เราได้ไปแคสต์ซีรีส์ มาลีฯ 

อะไรที่ทำให้เด็กวัย 15 สนใจเป็นนางแบบและเข้าร่วมการประกวด

     น่าจะเริ่มตอนอายุ 14 มีคนมาชักชวนเราผ่านคุณแม่ ตอนนั้นก็ไม่อยากไปหรอก อยากเล่นกับเพื่อน แต่แม่ก็บอกให้ลองดู มันเป็นโอกาส เราก็ยอม ช่วงเทรนนิ่งแรกๆ ยากมาก ทั้งฝึกเดิน ฝึกโพสท่าถ่ายแบบ แต่พอทำไปเรื่อยๆ ประสบการณ์ที่ได้มันทำให้เรามีความมั่นใจมากขึ้น บุคลิกก็ดีขึ้น หลายคนให้กำลังใจ บอกว่าเราทำได้ดีนะ เราก็เลยลุยไปเรื่อยๆ 

     จุดเปลี่ยนน่าจะเป็นตอนไปเรียนกับพี่โย ยศวดี (ยศวดี หัสดีวิจิตร) เราเลยได้เรียนรู้ว่าการเป็นนางแบบก็เป็น art form แบบหนึ่ง เราต้อง carry เสื้อผ้า carry personality ของเรา ที่จะทำให้มันโดดเด่นกว่าคนอื่น ก็ถือเป็นการแสดงอีกแบบหนึ่ง 

ยังจำงานเดินแบบครั้งแรกๆ ได้ไหม

     น่าจะเป็นงาน ELLE Fashion Week กับป้าตือ (สมบัษร ถิระสาโรช ออร์แกไนเซอร์แถวหน้าของเมืองไทย) จำได้ว่าเดินที่ Terminal 21 แล้วก็ได้เดินแบบในงานของ Central ได้ถ่ายแบบให้ Playhound by Greyhound อันนี้น่าจะงานใหญ่สุดแล้วในตอนนั้น จำได้ว่าเห็นรูปถ่ายตัวเองใหญ่มาก เจาะหูทั้งหู ถ่ายหน้าตรงแบบพาสปอร์ต แปะอยู่หน้าหอศิลป์

จากนางแบบลุคเท่ๆ ทำไมถึงมาโลดแล่นในซีรีส์ตลกอย่าง มาลีฯ ได้

     จำได้ว่าพี่ที่ GTH (ยุคก่อนจะเปลี่ยนเป็น GDH) สักคนเรียกไปแคสต์ จริงๆ ก่อนนั้นได้ไปแคสต์บทสไปรท์ในซีรีส์ ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น ด้วย แต่เหมือนตอนนั้นเรายังเด็กไป 

     เรามีประสบการณ์การแสดงนิดหน่อยจากตอนเรียนมัธยม ได้เรียนพวก theater acting เป็นคนชอบการแสดงอยู่แล้ว แต่ไม่เคยคิดว่าจะได้โอกาสแสดงจริงๆ ทีนี้ที่เราเรียนมามันเป็นการแสดงแบบ contemporary acting ก็จะเป็นอีกมู้ดหนึ่งเลย แต่ มาลีฯ เป็นซีรีส์ตลกที่ไม่ปกติ (หัวเราะ) มีความเป็นการ์ตูน ต้องเล่นแบบโอเวอร์แอ็กติ้ง แต่พี่ๆ ทุกคนที่ได้ร่วมงานกันใจดีมาก ตอนแรกคิดว่าจะเกร็ง แต่ตอนเวิร์กช็อปก่อนถ่ายจริง ทุกคนเข้ากันได้เร็ว สนุกมาก ช่วยเหลือกันตลอด 

     บทที่เราเล่นตอนนั้นชื่อฟรังก์ ฟรานเชสการ์ เป็นเด็กผู้หญิงที่พูดไทยคำอังกฤษคำ นิสัยไม่ดี ชอบบูลลี่คนอื่น bitchy หน่อยๆ …แต่เราไม่ bitchy นะ (หัวเราะ) คิดว่าตัวเองไม่ได้ใจร้ายขนาดนั้น คือเราเรียนโรงเรียนอินเตอร์มาตลอด พูดภาษาไทยอาจจะไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ วิธีพูดก็เลยคล้ายๆ กับฟรังก์ ส่วนความ bitchy พี่ๆ ทีมงานเขาก็ให้เราลองหาคาแร็กเตอร์อะไรก็ได้มาเป็นต้นแบบ เราเลยเลือกตัวละครจากหนัง Mean Girls 

จากซีรีส์ มาลีฯ จนถึง Fast & Feel Love คุณทิ้งช่วงหายไป 6-7 ปี ได้ไปทำอะไรมาบ้าง

     อย่างที่บอกคือไปเรียนต่อที่อังกฤษ หาเงินเองจากการเป็นนางแบบ แต่จุดเริ่มต้นของการเดินทางไปน่าจะเป็นหลังจากจบซีรีส์ มาลีฯ เราเป็นโรคซึมเศร้า กดดันตัวเอง รู้สึกว่าต้องออกมาจากจุดนั้น ก็เลยบินมาเรียนต่อ 

     ถามว่าตอนนี้เราหายดีหรือยัง มันก็ยังกลับมาหาเราอยู่บ้าง แต่ทุกวันนี้เราเข้าใจแล้วว่าอาการนี้ มันมีแค่ว่าเราจะอยู่กับมันยังไง เราจะจัดการชีวิตกับเคมีในสมองหรือความคิดของเรายังไง ซึ่งเราค้นพบว่าตัวเองบาลานซ์ได้ด้วยการทำกิจกรรมแนว self-love ทั้งเวิร์กช็อป ถ่ายภาพ หรือทำงานศิลปะ 

     หลังจากนั้นเราก็อยาก raise awareness เกี่ยวกับอาการป่วยทางจิตใจ เพราะโรคซึมเศร้ายังดูเป็น taboo ในประเทศไทย คนป่วยก็ไม่ค่อยกล้าพูดกับใคร แม้แต่คนในครอบครัว เพราะกลัวว่าเขาจะยังมีความเข้าใจแบบผิดๆ เราก็เริ่มจากการทำวิดีโออาร์ตจากเรื่องราวในครอบครัวของตัวเอง ชื่องานว่า It is always a changing stream of water before we meet the big blue sea และได้ร่วมพูดในงานเสวนากับพี่ดุจดาว วัฒนปกรณ์ (นักบำบัด นักแสดงละครเวที และนักเขียน) ก็หวังว่าจะได้ทำเรื่องเหล่านี้ต่อไป

พอจะเล่าถึงช่วงที่คุณต่อสู้กับโรคซึมเศร้าได้ไหม คุณผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นมาได้ยังไง

     เริ่มจากว่าเราไปหาหมอ การที่มีหมอมารับฟังเรื่องราวจากเรามันก็ดีแหละ แต่ยาที่เขาจ่ายให้เราค่อนข้างแพง แล้วก็มีเอฟเฟกต์แรง ทำเราเป็นซอมบี้ไปเลย วันหนึ่งก็ตัดสินใจกดยาทิ้งลงชักโครก ตั้งใจจะเปลี่ยนตัวเองให้ได้ เริ่มจากออกกำลังกายมากขึ้น เขียนบันทึก นั่งสมาธิ ทำกิจกรรมศิลปะที่เราชอบ ถ่ายภาพ ทำงานอาร์ต 

     เราพยายามดึงตัวเองออกมาจากโลกนั้น มันก็มีบางวันแหละที่ตื่นมาแล้วรู้สึกแย่ ทำไมเราต้องรู้สึกแบบนี้นะ แถมต้องไปเจอนางแบบที่ผอมมากกกก เราเป็นคนเอเชียจะสู้กับเขาได้มั้ย เปรียบเทียบแบบนี้ทุกวัน แต่อาจจะเป็นเพราะเราต้องอยู่คนเดียว 5-6 ปี มันบังคับให้เราต้องสร้าง conversation กับตัวเองตลอด ก็พยายามดึงตัวเองขึ้นมา ฟังพอดแคสต์ อ่านหนังสือ เขียนบันทึกความรู้สึก มันเหมือนได้ออกกำลังกายให้จิตใจเราแข็งแรง

หนังสือที่อยากแนะนำให้ตัวเองตอนเด็กอ่าน ได้อ่านเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี
Tuesdays with Morrie โดย มิตช์ อัลบอม (Mitch Albom)

     “มีเล่มหนึ่งที่อยากพูดถึงก่อน แต่ไม่ได้พกมาด้วยชื่อ The Wisdom of Insecurity: A Message for an Age of Anxiety ของ อลัน วัตส์ (Alan Watts) เป็นหนังสือปรัชญาที่พูดถึงความไม่มั่นใจในตัวเอง เขาบอกว่าทุกอย่างในชีวิตเป็นวัฏจักรหมด ถ้าเรายังทำอะไรแบบเดิม คิดแบบเดิม เราก็จะอยู่แบบนั้น เขาก็แนะนำว่าเราอาจต้องเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างในตอนเช้า เช่น แทนที่จะหยิบมือถือ เราเปลี่ยนเป็นออกกำลังกายมั้ย หรือนั่งสมาธิ สำรวจวิธีการกิน การนอนของเราเป็นยังไง แล้วลองปรับเปลี่ยนดู

     “ส่วนเล่มที่อยากแนะนำจริงๆ แต่ก็ไม่ได้พกมาเหมือนกัน (หัวเราะ) คือ Tuesdays with Morrie เป็นหนังสือที่อยากให้ทุกคนบนโลกนี้ได้อ่าน (ฉบับแปลไทยชื่อ วันอังคารแห่งความทรงจำกับครูมอร์รี) เป็นเรื่องจริงของผู้เขียนชื่อมิตช์ อัลบอม วันหนึ่งเขาก็ได้รับมอบหมายจากอาจารย์มอร์รีซึ่งใกล้จะเสียชีวิตว่า ขอให้เขาเป็นคนมาพูดไว้อาลัยในวันที่อาจารย์เสียชีวิต เมื่อได้รับมอบหมาย เขาก็ต้องไปเจออาจารย์ทุกวันอังคาร แล้วอาจารย์ก็จะพูดคุยเรื่องชีวิต ความรัก เงิน มุมมองเรื่องต่างๆ แล้วมันเป็นการพูดในมุมมองของคนกำลังจะตาย ร่างกายของเขาค่อยๆ สูญเสียการควบคุมไปเรื่อยๆ 

     “เรื่องที่เขาพูดมันทรงพลังมาก อ่านง่าย อ่านสนุก เราเชื่อว่าคนที่อ่าน โดยเฉพาะคนรุ่นๆ เดียวกับเรา ชาวมิลเลนเนียลส์ที่โฟกัสกับเรื่องว่ามีใครสนใจเราบ้างมั้ย เราจะประสบความสำเร็จเมื่อไหร่ ทำไมไม่รวยสักที หนังสือเล่มนี้จะทำให้เราเข้าใจว่า สิ่งเล็กๆ ในชีวิตที่เราอาจมองข้ามไป มันก็อยู่ใน process หนึ่งของชีวิตนะ และเราอาจจะตายวันพรุ่งนี้ก็ได้ เราจะมามัวแคร์เหรอ ว่ามียอดฟอลโลว์เวอร์ในอินสตาแกรมเท่าไหร่ ทำไมเราไม่เอาเวลานั้นไปทำประโยชน์ ทำให้ชีวิตเราและคนรอบตัวดีขึ้น”

a LIFE in FAST & FEEL LOVE

ตัวละครปอเป็นคนแบบไหน เหมือนหรือต่างจากคุณยังไงบ้าง

     เป็นคนรีบๆ เหมือนกัน มองอนาคต ไม่ค่อยมองปัจจุบัน อนาคตเราจะเป็นยังไง เราจะสำเร็จมั้ย แต่ปอจะมองเงินเป็นเรื่องใหญ่ ส่วนปริมมี่ยังแคร์เรื่องต่างๆ อยู่นะ ปอจะใส่ใจสิ่งเล็กๆ เนี้ยบ ซึ่งการซีเรียสกับชีวิตก็เป็นสิ่งที่ดีนะ แต่ในอีกมุมหนึ่ง ปอซีเรียสไปไหม เข้มงวดมาก มีเดดไลน์เป๊ะๆ คอยกระตุ้นเกาอยู่ตลอดเวลา คนนั้นเขาเก่งขนาดนี้แล้วนะ ทำไมแกยังได้แค่นี้ ชีวิตของปอเลยค่อนข้างไวและซีเรียส ไม่มีความชิลล์เลย 

ที่เต๋อ นวพลพูดหลายๆ ครั้งในช่วงโปรโมตหนังว่า เรื่องนี้คือหนังแอ็กชั่นในชีวิตประจำวัน ในฐานะนักแสดงคุณเห็นด้วยหรือเปล่า

     ใช่ มันคือหนังแอ็กชั่นที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวัน พี่เต๋อเอาเรื่องเล็กๆ ทั่วไปมาดึงขยายให้กลายเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งเราว่ามันก็คือเรื่องใหญ่ในชีวิตจริงๆ นะ อย่างจ่ายค่าไฟไม่ทัน เสื้อผ้ายังไม่ได้ซัก ไม่มีกางเกงในใส่ มันเป็นสิ่งเล็กๆ ในชีวิตประจำวันที่เรามองข้าม แต่ไอ้เรื่องพวกนี้นี่แหละที่ทำให้พวกเราเครียด พี่เต๋อเขาก็เอาไอเดียนี้มาทำเป็นหนังให้คนเข้าใจว่าการใช้ชีวิตในแต่ละวันมันไม่ง่ายเลยนะ มันไม่ใช่แค่การหาเงิน แต่มันคือการทำตามความฝัน ในขณะที่เราต้องควบคุมชีวิตของเราด้วย มันค่อนข้างโหด และเหนื่อยพอสมควร

หนังสือที่อยากให้ ‘ปอ’ ได้อ่าน
Convenience Store Woman โดย ซายากะ มุราตะ (Sayaka Murata)

     “ตัวละครผู้หญิงในหนังสือไม่เชิงว่าคล้ายปอ เธอเป็นพนักงานในร้านสะดวกซื้อ จริงจังกับการจัดของในร้าน เต็มที่กับงาน ไม่สนใจอย่างอื่นเลย ไม่เอาเวลาไปคุยกับใคร ทุกอย่างขึ้นอยู่กับร้านสะดวกซื้อร้านนี้

     “มันอ่านง่ายเลย คิดว่าน่าจะคลายเครียดให้ปอได้ด้วยมั้ง แต่มุมหนึ่ง ตัวละครพนักงานร้านสะดวกซื้อกับปอก็เหมือนกัน ตรงที่เป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่ทำงานอย่างเดียว ทำแต่งาน ไม่สนเรื่องอื่น ไม่อยากมีแฟน ไม่อยากมีเพื่อน ตื่นเช้าไปทำงาน เลิกงานกลับบ้าน แต่พอวันหนึ่งงานหายไป จบเลย ก็เลยอยากให้ปอลองคิดว่า ถ้าวันหนึ่งโรงเรียนแห่งนี้มันล่มไป ปอจะทำยังไงกับชีวิต หรือแม้แต่เกา ถ้าวันหนึ่งโรงเรียนหายไป เขาจะทำอะไร เขาจะสอนใคร ทั้งคู่ควรจะเอาเวลาไปโฟกัสด้านอื่นๆ ในชีวิต หรือความสุขความภูมิใจด้านอื่นๆ บ้างมั้ย หรือจะเลือกเป็นเหมือนผู้หญิงคนนี้ที่ทุ่มชีวิตให้กับร้านสะดวกซื้อ”

LIVE & LOVE YOURSELF

แล้วในชีวิตจริงของคุณ เรื่องไหนถือเป็นฉากแอ็กชั่น

     จริงๆ ก็มีอะไรที่ต้องทำหลายอย่างอยู่นะ ตอนนี้เราออกมาอยู่คนเดียว มันก็ไม่ได้สบายเหมือนอยู่ที่บ้าน ตื่นมาแล้วอาจจะรีบจนลืมกินข้าว หรือด้วยอีกบทบาทหนึ่งคือเราทำหนังสั้นของตัวเอง ก็ต้องจัดการยื่นเอกสารส่งประกวดกับผู้จัดเทศกาลด้วยตัวเอง ตอนมาเล่นหนังก็ต้องอ่านบท งานนางแบบก็ต้องเตรียมตัว ไปซ้อม เราต้องทำทั้งหมดพร้อมๆ กับซักผ้า จ่ายบิล กับข้าวก็ทำกินเอง 

     การเล่นหนังเรื่องนี้ยิ่งทำให้คิดถึงตอนอยู่อังกฤษ มันวุ่นวายมาก เรียนหนังสือ ถ่ายแบบ จัดการเอกสาร-ภาษีอะไรเองหมด ทำความสะอาดบ้าน ทำอาหารกินเอง เพราะร้านอาหารที่นู่นแพงมาก ต้องออกไปซื้อของสดมาทำ เรียนหนังสือก็หนัก เราเรียนศิลปะ มันก็มีโปรเจกต์ที่ต้องทำส่ง มีอยู่ช่วงหนึ่งนอนในห้องสมุดเลย ทำงานเสร็จ 6 โมงเย็น เข้าห้องสมุดเพื่อเขียน essay ส่ง ถามเพื่อนว่านอนนี่เลยปะ เพราะที่นั่นเปิด 24 ชั่วโมง ตื่นมาอีกที 6 โมงเช้า ไปเรียนต่อ 8 โมง มันเหนื่อยแต่ก็สนุก 

     ปริมคิดว่านี่มันคือแก่นของชีวิต เราต้องลองหามุมสนุกๆ ในการใช้ชีวิตธรรมดาๆ ของเรา เหมือนกับผู้หญิงในหนังสือ Convenience Store Woman เหมือนตัวละครปอ ที่คนภายนอกอาจจะมองว่าสองคนนี้มันจริงจัง เครียดกับงาน แต่จริงๆ แล้วเขาทั้งสองคนอาจจะมีความสุขกับสิ่งนี้ แต่ถึงอย่างนั้นพวกเขาเองก็ควรจะหามุมอื่นๆ ในชีวิตบ้าง เผื่อวันที่งานของพวกเขาไม่มีอยู่อีกต่อไป 

ถ้าต้องแนะนำคนรุ่นเดียวกัน หรือน้องๆ วัยเรียนที่ถูกกดดันให้ใช้ชีวิตเร็ว ประสบความสำเร็จเร็ว คุณอยากจะบอกอะไร

     ทุกคนมี process ต่างกัน ไม่ได้มีโอกาสเหมือนๆ กัน บางคนอาจจะโชคดีมีแต้มต่อ เริ่มได้เร็วกว่าคนอื่น แต่ก็ไม่ได้แปลว่าคนที่เริ่มช้ากว่าจะไม่ประสบความสำเร็จ บางคนโตช้า บางคนโตเร็ว แต่เมื่อโมเมนต์ของเรามาถึงมันก็จะมาถึง 

     เราต้องฝึก self-love ให้มากๆ การที่เรารักตัวเองมากๆ เดี๋ยวจักรวาลก็จะพาสิ่งที่ต้องการมาให้ คนรุ่นนี้หรือแม้แต่ตัวเราเองก็รีบร้อน อยากได้นั่นได้นี่ตลอดเวลา แต่เราก็จะเตือนตัวเองอยู่เสมอว่า ทุกอย่างมันคือ process แม้ว่า process นั้นจะหดหู่แค่ไหน จะไม่มีงาน เรตติ้งคอนเทนต์ในยูทูบไม่ดีเลย แต่มันคือ process มันคือการเดินทางที่เราต้องผ่านไปให้ได้ เพื่อจะไปถึงจุดหมายที่เราหวัง เส้นทางนั้นอาจจะยาวนานหน่อย แต่สุดท้ายพอเราไปถึง เมื่อหันหลังกลับไปมองก็จะเข้าใจเองว่าทำไมเราต้องผ่านสิ่งนั้น และอย่าเปรียบเทียบกับคนอื่น เพราะไม่มีใครเหมือนกัน เราต้องเชื่อมั่น 

     Believe in your process. Believe in your journey. 

     ถ้าเราไม่เชื่อ ก็ไม่มีใครมาเชื่อแทนเราได้ 

หนังสือที่ปลอบประโลมจิตใจ
ในยุคที่โลกหมุนแบบเร็วโหดเหมือนโกรธกัน
The End of Loneliness โดย เบเนดิกต์ เวลส์ (Benedict Wells)
และ The Miracle Morning: The 6 Habits That Will Transform Your Life Before 8 AM โดย ฮาล เอลร็อด (Hal Elrod) 

     “ขอแนะนำสองเล่มแล้วกัน The End of Loneliness คือหนังสือเล่มโปรดที่สุดในชีวิตของเรา อ่านบ่อยมาก ทั้งพับ ทั้งพกไปทุกที่จนปกมันเปื่อย ซึ่งมันก็มีบางส่วนเชื่อมโยงกับหนังเรื่องนี้ได้ด้วยนะ แต่บอกไม่ได้ เดี๋ยวสปอยล์ มันเกี่ยวกับพี่น้องสามคนที่พ่อแม่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์เมื่อครั้งที่ทุกคนยังเด็ก การสูญเสียครั้งนั้นทำให้พี่น้องแต่ละคนเติบโตไปในเส้นทางของตัวเอง แยกย้ายกันไป เพราะไม่มีครอบครัวเหนี่ยวรั้งทุกคนเอาไว้ ทุกคนก็ไปเผชิญหน้ากับ trauma ของตัวเอง 

     “เรื่องมันก็ดำเนินเรื่อยๆ บนความหดหู่ของตัวละครแต่ละคน ก่อนจะพาไปให้เห็นว่าพวกเขาผ่านมันไปได้ยังไง ยอมรับได้ยังไง แล้วตอนสุดท้ายทุกคนก็กลับมาเจอกัน ความเป็นครอบครัวดึงพวกเขากลับมาอยู่ด้วยกัน ซัพพอร์ตกัน 

     “วิธีที่เขาเขียนมันสวยงามมาก มันทำให้ปริมนึกถึงพี่ชาย นึกถึงประสบการณ์ที่เราพาพ่อกับแม่เผชิญกับ mental health แล้วเราก็ยังสามารถกลับมาหาพวกเขา และกลับมาหาตัวเองได้อีกครั้ง ก็เลยอยากให้ทุกคนลองอ่านดู อาจจะทำให้เข้าใจครอบครัว เข้าใจตัวเอง เข้าใจ trauma ของตัวเองที่ต้องผ่านไปให้ได้”

     “อีกเล่มคือ The Miracle Morning: The 6 Habits That Will Transform Your Life Before 8 AM มันเป็นหนังสือที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับกิจกรรมที่เราควรจะทำในตอนเช้า 

     “เดี๋ยวนี้สิ่งแรกที่เราทำหลังตื่นนอนคือเล่นโทรศัพท์ แต่สำหรับคนที่ทำหลายอย่างในหนึ่งวัน กิจกรรมในตอนเช้าเป็นสิ่งสำคัญมากๆ ในเล่มนี้เขาบอกให้เราตื่นตั้งแต่ตี 4 แต่เราไม่ต้องขนาดนั้นหรอก (หัวเราะ) ตื่นตอนไหนก็จัดสรรเวลา อย่างเราจะนั่งสมาธิ 10 นาทีหลังตื่น แต่ถ้าลืมหรือรีบก็จะหาเวลาระหว่างวันนั่งให้ได้ 10 นาที นั่งสมาธิเสร็จก็ชงกาแฟ อ่านหนังสือ หรือไม่ก็เขียนบันทึก เขียนความรู้สึกของตัวเอง

     “เวลาทำกิจกรรมเหล่านี้แล้ว เรารู้สึกว่าได้รีเฟรชสมอง พอมันเคลียร์แล้ว เราก็ค่อยมาลิสต์ว่าวันนี้ต้องทำอะไรบ้าง ความเครียดก็ลดลง ไม่ต้องกังวลว่าจะลืมอะไร เวลาจะพอให้ทำทุกอย่างครบมั้ย พอเรานิ่ง ไม่เครียด ก็พร้อมไปลุยฉากแอ็กชั่นในชีวิตประจำวัน เราเองก็ทำไม่ได้ทุกอย่างที่เขาบอกในเล่มหรอกนะ ก็เลือกทำในสิ่งที่คิดว่าเข้ากับตัวเอง คนอื่นๆ ก็อาจจะลองหากิจกรรมยามเช้าแตกต่างกันไป ลองไปเรื่อยๆ ไม่จำเป็นต้องทำเหมือนๆ กันก็ได้ แต่สำหรับเรา สิ่งที่ทำอยู่มันทำให้เข้าใจตัวเองมากขึ้น”