BLOOM, EVEN IN MONSOON SEASON
ขอให้ถ้อยคำแบ่งบานกลางใจ พาคุณพ้นผ่านยามพายุร้าย
เรื่อง: สุชานาถ กิตติสุรินทร์
ภาพ: BEGONIA
Begonia หรือบีโกเนีย คือสำนักพิมพ์นิยายน้องใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2020 ปัจจุบันตีพิมพ์หนังสือออกมาแล้ว 3 เล่มคือ Pumpkin Head, ดูแลด้วยใจ และ Dark Tales of London
นอกจากปกหนังสือที่ดึงดูดสายตาตั้งแต่แรกเห็น สิ่งที่เราชอบมากคือสโลแกนของสำนักพิมพ์ที่แค่อ่านก็รู้สึกอบอุ่นหัวใจขึ้นมาทันที
‘สำนักพิมพ์นิยายเล็กจิ๋วแห่งหนึ่ง ตีพิมพ์ตัวอักษรบนกระดาษ ประทับความฝันแนบไว้ในหนังสือ
เมื่อใดที่คุณถือหนังสือของเราไว้ในมือ ขอให้แต่ละหน้าที่คุณพลิกผ่านทำให้คุณยิ้มได้ในวันที่ดี ปลอบประโลมหัวใจในวันที่เลวร้าย เป็นพื้นที่แห่งความหลากหลายและความเป็นไปได้ไม่รู้จบ – แด่คุณ’
แม้ใจจริงเราอยากชวน ‘เม่ย—ญาณิศา ปรักกโมดม’ บรรณาธิการสำนักพิมพ์บีโกเนียมาพูดคุยกันต่อหน้า ได้ลองหยิบจับหนังสือที่เธอสรรสร้างด้วยหัวใจ และแลกเปลี่ยนบทสนทนากันตามประสาคอนิยายและผู้ชื่นชอบสิ่งพิมพ์เหมือนกัน แต่เนื่องด้วยการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เราไม่สามารถไปเจอเธอได้อย่างใจหวัง จึงทำได้เพียงพูดคุยกันผ่านโปรแกรมสนทนาออนไลน์ท่ามกลางอากาศร้อนระอุช่วงปลายเดือนเมษายนแทน
ทำไมถึงสนใจงานด้านสำนักพิมพ์
จริงๆ เราจบฟิล์ม (สาขาวิชาภาพยนตร์และดิจิทัลมีเดีย) จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง แต่ตอนเรียนช่วงประมาณปี 3-4 เริ่มรู้สึกแล้วว่าไม่ค่อยคลิกกับสายงานด้านนี้เท่าไหร่ พอเรียนจบก็มีรุ่นพี่ชวนไปช่วยงานสำนักพิมพ์ จากนั้นก็รับงานบรรณาธิการ งานเขียน งานแปล และงานจัดรูปเล่มหนังสือมาเรื่อยๆ เลยสนใจงานสายนี้และคิดว่าน่าจะเหมาะกับเราค่ะ
ในยุคที่คนบอกกันว่าสิ่งพิมพ์กำลังจะตาย ทำไมคุณถึงยังลุกขึ้นมาเปิดสำนักพิมพ์
สักประมาณ 2-3 ปีก่อนหน้านี้เวลาไปร้านหนังสือจะรู้สึกว่าไม่มีอะไรที่เราอยากอ่านเลย ไม่ใช่ว่าไม่มีหนังสือนะ มันมีหนังสือออกใหม่มาเรื่อยๆ แต่นานๆ ครั้งเราจะเจอเรื่องที่เราชอบหรือสนใจอ่าน คือเราอาจจะแค่มีรสนิยมไม่ตรงกับกระแสหลักก็ได้ ซึ่งเราไม่ได้ภูมิใจในความอินดี้ของตัวเองเลยนะ นี่มันโลกทุนนิยม ใครมันจะอยากให้งานเป็นรสนิยมนิชๆ (niche) อยู่ในมุมเล็กๆ ไม่มีคนไปเจอ แล้วก็ขายไม่ได้ นักเขียนก็ต้องกินข้าวเหมือนกัน
เราอยู่ในแวดวงนักเขียนมาตั้งแต่ช่วง ม.ต้น เห็นนักเขียนเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็หายลับไปหลายคน บางคนเขียนงานดีมากๆ แต่เราไม่รู้ว่าเป็นเพราะแพลตฟอร์มหรืออะไรที่ทำให้งานของเขาไปไม่ถึงคนอ่าน ซึ่งเราคิดว่างานของเขามีคุณสมบัติในตัวมากพอที่จะทำให้เป็นที่รักของคนอ่านได้ แต่พอมันไม่ถูกค้นพบ เขาก็ค่อยๆ ถอดใจ คนชอบบอกว่าถ้าเขียนงานดีก็จะมีคอมเมนต์เอง จะถูกเจอเอง จริงๆ มันไม่ใช่เลย มันมีตัวแปรอีกเยอะมาก ทั้งอัลกอริทึมของแพลตฟอร์ม ทั้งระบบ ทั้งจังหวะ ทั้งโอกาส
งานเขียนเหมือนเราลงทุนเขียน 70 เปอร์เซ็นต์ แล้วอีก 30 เปอร์เซ็นต์ เป็นเรื่องของโชคแล้วว่าพระเจ้าจะให้คนอ่านหาเราเจอมั้ย พูดอย่างนี้ฟังดูเชื่อในพระเจ้ามากเลยอะ (หัวเราะ) เราเลยถามตัวเองว่าจะทำยังไงให้งานแบบที่เราชอบถูกพบเห็น มีคนอ่าน มีคนสนับสนุน มันเลยเป็นจุดเริ่มต้นว่า ถ้ามันไม่มีหนังสือแบบที่เราอยากอ่าน ทำไมเราไม่ทำเองล่ะ (หัวเราะ)
ทำไมถึงใช้ชื่อบีโกเนีย
บีโกเนียเป็นชื่อสามัญของต้นไม้หลายชนิดค่ะ มีทั้งไม้พุ่ม ไม้ดอก แต่เราเลือกเป็นเวอร์ชั่นดอกไม้ เพราะตอนนั้นอยากได้ชื่อที่ฟังดูนุ่มนวล แต่คนฟังก็ยังสะดุดหูด้วย ไม่ได้ปล่อยผ่านไปเลย
ชอบสโลแกนของร้านที่บอกว่า ‘ขอให้ถ้อยคำแบ่งบานกลางใจ พาคุณพ้นผ่านยามพายุร้าย’ ทำไมถึงตั้งแบบนี้
เรามีสโลแกนภาษาอังกฤษก่อนคือ ‘bloom, even in monsoon season’ แล้วค่อยถอดมาเป็นภาษาไทย ซึ่งก็ไม่ได้แปลมาจากภาษาอังกฤษซะทีเดียว เบรนสตอร์มมิ่งกับเพื่อน ปรับไปปรับมาเยอะ เราเชื่อว่าถ้อยคำในหนังสือยังคงมีความสำคัญเสมอ และหน้ากระดาษสามารถเป็นพื้นที่แสดงความหลากหลายได้ ไม่ใช่แค่ในแง่ของเนื้อหาหรือทางเพศ แต่คือความหลากหลายในทุกความเป็นไปได้ เป็นพื้นที่ของการแสดงแนวคิด ถ้อยคำในหนังสือมันเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อใจคนอ่าน มันทำให้เราสุข เศร้า หัวเราะ มีความหวัง เรารู้สึกว่าพรุ่งนี้เราจะมีแรงไปทำอย่างอื่น แล้วก็เลือกใช้คอนเซปต์ของสำนักพิมพ์ว่า ด้วยความหวังว่าหนังสือเราจะปลุกปลอบใจ และให้ความหวังจนคนอ่านผ่านพ้นพายุที่เข้ามาไปได้ด้วยดี
ส่วนคำว่าแบ่งบาน อันนี้เป็นเป็นจุดที่คนอ่านหลายๆ คนทักมาเยอะมากว่าพิมพ์สระเอเกินหรือเปล่า จริงๆ ถูกแล้วค่ะคำว่าแบ่งบานมาจากคำว่าแบ่งกลีบบาน เพราะดอกไม้ไม่สามารถทำกริยาเบ่งได้ค่ะ
ในมุมของคนทำ ทางบีโกเนียคิดตั้งแต่ต้นเลยมั้ยว่าจะทำหนังสือ LGBTQ+
จริงๆ ไม่ได้เจาะจงจะเป็นหนังสือ LGBTQ+ ในหน้าเพจของบีโกเนียเขียนไว้ว่า ‘เราอยากให้หน้ากระดาษเป็นพื้นที่ของความหลากหลาย และเล่าถึงความเป็นไปได้ไม่รู้จบ’ หนังสือที่อยู่กับเราในตอนนี้ตัวเอกเป็นผู้ชายทั้งหมดก็จริง 2 ใน 3 มี male/male romance อยู่ในเรื่อง แต่เราไม่ได้เจาะจงไปที่ส่วนนั้น
อย่าง Pumpkin Head เป็นนิยายแนว Slice of life กึ่งๆ เหนือธรรมชาติ มีตัวละครหลักคือ ‘เบรนดอล’ เป็นไบ และคุณผี ‘ไคล์’ ที่เป็นเกย์
ดูแลด้วยใจ เป็นแนวคอเมดี้ผสมกับชีวิตคนเมือง โดยทั้ง ‘กุลวัต และ ‘อิทธิ’ เป็นเกย์
ขณะที่ Dark Tales of London เป็นนิยายสืบสวนยุควิคตอเรียน ไม่มีเส้นเรื่องความรักเลย
ดังนั้น สิ่งที่สำนักพิมพ์ต้องการนำเสนอ คือแนวเรื่องและความความหลากหลายของตัวละครในนิยายแนวต่างๆ Sexuality ของตัวละครเป็นหนึ่งในสิ่งที่ประกอบสร้างเป็นตัวตน แต่ข้อมูลส่วนนั้นไม่ได้เป็นใจความหลักของตัวเขา อย่าง ‘อิทธิ’ ใน ดูแลด้วยใจ เป็นทั้งพี่ชายคนโต เป็นเจ้าตองของอาม่า เป็นกราฟิกฯ ฟรีแลนซ์ เป็นเกย์ เป็นคนรักเพื่อน เป็นคนรักครอบครัว เป็นคนคิดมาก เราจึงมองว่าความสัมพันธ์และ love interest ของตัวเอกเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราว แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ไม่ใช่สิ่งที่เรานำมาใช้เป็นเครื่องมือจัดหมวดหมู่นิยาย
เราก็อยากได้งานที่ตัวเอกเป็นผู้หญิงนะ แต่ยังไม่เจอเรื่องที่เข้าตา
ทางบีโกเนียหาต้นฉบับยังไง
ตอนจะเปิดสำนักพิมพ์เราอยากได้เรื่องที่จบแล้วมาก่อน เพราะจะสามารถดีลเรื่องได้ง่ายและไวขึ้น ซึ่ง Pumpkin Head เขียนจบมาตั้งแต่ปี 2016 แล้ว ส่วน ดูแลด้วยใจ ตอนนั้นคุณลูซินยังเขียนไม่จบ แต่เราชอบมาก เลยทักไปถามว่า ‘ถ้าเขียนจบแล้วมาทำงานกับเรามั้ยคะ’ ซึ่งตอนนั้นตลกมาก เพราะเรายังไม่ได้บอกชื่อบอกแซ่ ยังไม่ได้จดทะเบียนสำนักพิมพ์ เตรียมใจไว้แล้วว่าน่าจะไม่ได้ แต่เขาก็สนใจ แล้วก็บอกว่ามาคุยกันเนอะ
ส่วน Dark Tales of London เป็นรวมเรื่องสั้นที่คุณปิยะรักษ์เขียนไว้ตั้งแต่ยุคถนนนักเขียนในพันทิป (พื้นที่ลงนิยายในเว็บไซต์ pantip) เราก็ไปขอให้คุณปิยะรักษ์ช่วยจัดเซตให้ว่าจะลงเรื่องไหนบ้าง ในนี้ก็จะมีทั้งเรื่องเก่าที่เคยลงออนไลน์ไปแล้ว แล้วก็เรื่องใหม่ที่เคยวางพลอตไว้แต่ไม่เคยเขียนค่ะ
คุณเม่ยคิดยังไงกับการที่นักเขียนนิยายหลายคนนิยมตีพิมพ์งานกันเอง
ก่อนหน้านี้ก็เคยมีการถกเถียงกันในอินเทอร์เน็ตเหมือนกันว่า การที่คนหันมาตีพิมพ์งานกันเองมากขึ้นเป็นการทำลายระบบสำนักพิมพ์หรือเปล่า ส่วนตัวเรามองว่าไม่ใช่เลย มันคือทางเลือกอีกแบบหนึ่งในการเผยแพร่ผลงาน เป็นการสร้างความหลากหลายให้ตลาดหนังสือด้วย เพราะหนังสือบางเรื่องที่สำนักพิมพ์ไม่เอามาตีพิมพ์ไม่ใช่ว่าไม่ดี แต่แนวมันนิชมากๆ อย่างนิยายที่เราเขียน เราก็รู้ว่าส่งสำนักพิมพ์คงไม่เวิร์ก พิมพ์กับสำนักพิมพ์ตัวเองก็ไม่ได้ เพราะเรารู้ว่าคนอ่านน้อย พิมพ์ไม่คุ้ม ต่อให้เป็นสำนักพิมพ์ที่ตัวเองเป็นเจ้าของก็ตาม
แล้วการมีสำนักพิมพ์เข้ามาช่วยเหลือจะแตกต่างกับการตีพิมพ์ผลงานเองอย่างไร
การที่งานผ่านระบบสำนักพิมพ์แปลว่างานเรื่องนั้นจะผ่านกระบวนการบรรณาธิการกิจ คือดูแลความถูกต้อง ความต่อเนื่องของเนื้อหา ช่วยมองหาจุดที่น่าจะปรับปรุงเพื่อให้ชิ้นงานดียิ่งขึ้นไปอีก การปรับแก้คำไม่ให้กำกวม ให้อ่านเข้าใจง่ายขึ้น แล้วก็จะมีคนช่วยอ่าน ช่วยคิดว่าตรงนี้โอเคมั้ย คำบางคำไปกระทบกับความรู้สึกบางคนหรือเปล่า บางครั้งนักเขียนอาจจะไม่เห็นหรือไม่ทราบ การมีบรรณาธิการช่วยก็จะช่วยอุดช่องว่างได้ดีขึ้น แต่นักเขียนที่ตีพิมพ์เองบางท่านก็จ้างเบต้ารีดเดอร์หรือบรรณาธิการเหมือนกันค่ะ
นอกจากนี้ ยังมีการตรวจแก้ความถูกต้องของข้อมูล ดูฟุตโน้ตว่าเราเข้าใจถูกมั้ย เช็กว่ามีจุดไหนที่ข้อมูลหลุดไปหรือเปล่า มีข้อมูลไหนที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงแล้วส่งผลกระทบในด้านที่ไม่ดีกับคนที่เกี่ยวข้องกับข้อมูล เช่น โรคทางจิตเวช ก็ต้องเช็กให้ละเอียดค่ะ
ทางบีโกเนียโฟกัสกับขั้นตอนไหนมากเป็นพิเศษ
หนึ่งคือเรื่องบรรณาธิการกิจ นอกจากเรื่องเนื้อหา เราให้ความสำคัญกับ content warning ด้วย เรามองว่าหนังสือไม่ควรถูกเซนเซอร์ การเซนเซอร์คือเผด็จการ ไม่มีใครควรมาชี้นิ้วสั่งว่าอะไรอ่านได้ อะไรอ่านไม่ได้ สิ่งที่เราควรทำคือเรตติ้ง จัดอายุของกลุ่มคนอ่าน แล้วก็การเตือนว่าในนี้จะมีคอนเทนต์อะไรที่กระทบความรู้สึกของคุณ บางคนมองว่าสิ่งนี้คือการสปอยล์ แต่เรามองว่ามันคือการเซฟคนอ่าน เพราะบางจังหวะเราก็ไม่พร้อม เช่น คอนเทนต์เรื่องปัญหาครอบครัว ในช่วงที่เราดาวน์ เราก็จะไม่อยากอ่าน หรือการฆาตกรรม การชันสูตร บางทีมันอาจไม่ใช่รสนิยมของเขา
ที่สำคัญรองลงมาคือเรื่องปก ทุกคนรู้ว่าเราไม่สามารถตัดสินหนังสือจากปก แต่ส่วนใหญ่คนก็จะสะดุดใจกับปกก่อน เพราะมันคือด่านแรกจริงๆ กับการเห็นหนังสือ ขั้นตอนนี้หลังจากดูภาพรวมของเล่มแล้ว ก็จะติดต่อนักวาดก่อน เพราะอยากให้เขามีเวลาทำงานเยอะๆ เราไม่ชอบงานเร่ง งานเร่งไม่ดีกับนักวาด และไม่ดีกับตัวสำนักพิมพ์ด้วย เพราะรีบมากๆ มันก็จะมีข้อผิดพลาดเสมอ
อันดับต่อมาคือรูปเล่มข้างใน เราอยากให้มันอ่านสบายตา รู้สึกว่าหนังสืออ่านสบายมันทำให้เราอ่านได้ยาวจนจบเล่ม บางเล่มเท็กซ์อัดเยอะๆ อย่างพวกหนังสือเท็กซ์บุ๊กที่เราใช้เรียนปริญญาโท มันอ่านยากมาก ไม่ใช่อ่านยากเพราะเนื้อหาหรือคำศัพท์ แต่อ่านยากเพราะเท็กซ์มันอัดแน่นเต็มหน้า เราก็พยายามทำให้รูปเล่มข้างในอ่านสบายตาที่สุด เราอยากให้หนังสือทุกเล่มที่คนซื้อไปแล้ว ในอนาคตอีก 3-4 ปีมาอ่านอีกรอบแล้วรู้สึกว่ามันเป็นงานที่ประณีต ตั้งใจทำในทุกส่วน
ใช้เวลาทำหนังสือเล่มหนึ่งนานแค่ไหน
ถ้านับตั้งแต่วันที่ปักธงเลยว่าจะทำเล่มนี้ก็ประมาณ 3-4 เดือนค่ะ บางทีเราจะได้อ่านต้นฉบับเวอร์ชั่นที่ยังไม่สมบูรณ์ ถ้าเป็นภาษาหนังเรียกว่า Rough Cut ถ้าเป็นหนังสือก็คือดราฟต์แรกๆ ของนักเขียน เพื่อให้รู้มู้ดแอนด์โทนรวมๆ ของเรื่อง แล้วก็เริ่มทำงานตั้งแต่ตอนนั้นเลย ติดต่อนักวาด เลือกคอนเซปต์ปก รูปแบบในเล่ม พอนักเขียนทำงานของตัวเองเสร็จส่งมาให้บรรณาธิการทำต่อ มันก็รันไปเรื่อยๆ ถ้านับจนถึงขึ้นแท่นพิมพ์ก็ตกประมาณสามเดือน ถ้ามีเวลามากกว่านั้น สี่เดือนก็ดีค่ะ
ด้วยความที่เป็นสำนักพิมพ์เล็กๆ อยากรู้ว่าในทีมมีกันกี่คน
สองคนค่ะ มีเราเป็นคนทำงานหลัก แล้วก็จะมีพี่อีกคนช่วยเรื่องงานบรรณาธิการ ส่วนอะไรที่ใช้ outsource ได้ก็จ้างหมดเลย (หัวเราะ) คือก่อนหน้านี้สัก 4-5 ปีเป็นช่วงที่ภาครัฐผลักดัน SME มาก เพราะงั้นตัวช่วยพวกนี้เลยเยอะ คนก็พัฒนาเรื่อยๆ การที่เรามาเริ่มทำงานตอนนี้ก็เป็นโชคอย่างหนึ่ง อย่างเช่นโปรแกรมบัญชี งานหลังบ้าน ระบบ lnwshop ไปรษณีย์ไทยก็มีแผนกไปรษณีย์ธุรกิจที่ช่วยซัพพอร์ตคนทำธุรกิจและต้องส่งของเป็นประจำ ตอนที่เราเริ่มค้นข้อมูลก่อนจะทำก็ว้าวมาก เขามีระบบซัพพอร์ตพวกนี้ด้วย ซึ่งมันช่วยได้เยอะเลย
กลุ่มคนอ่านของบีโกเนียช่วงอายุประมาณเท่าไหร่
แรกสุดเราวางไว้ว่าน่าจะอยู่ช่วง ม.ปลายไปจนถึงสามสิบต้น แต่พอทำจริงๆ แล้วกลายเป็นว่ากลุ่มคนอ่านขยายกว้างไปกว่านั้น อย่างตอนที่ไปงาน Winter Book Fest เจอคนอ่านที่อายุประมาณ 40-50 ผู้ชายก็ซื้อหนังสือของเรามากกว่าที่คิด ซึ่งเราก็มองว่ามันอาจจะเป็นเรื่องดีที่เราเลือกสื่อสารด้วยการใช้แนวเรื่อง แต่ก็บอกเขานะว่ามันมี male/male romance
โดยรวมก็ดีนะคะที่มีกลุ่มคนอ่านหลากหลายมากขึ้นจากที่เราคาดการณ์ไว้ แปลว่างานของนักเขียนที่เราเลือกมาจะถูกส่งไปหาคนได้เยอะขึ้น มันตรงเป้าที่เราอยากเพิ่มความหลากหลายในตลาดหนังสือ มันเริ่มไปทีละขั้น ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี
ทางสำนักพิมพ์ให้ความสำคัญกับพื้นที่ในการสื่อสารไปยังกลุ่มคนอ่านของตัวเองในช่องทางไหน
เรามีโซเชียลมีเดียสองทาง คือทวิตเตอร์กับเพจเฟซบุ๊กค่ะ เราให้ความสำคัญเท่าๆ กัน แต่การสื่อสารของทวิตเตอร์ไปไวกว่า เหมาะกับการอัพเดตข่าวสั้นๆ ส่วนเฟซบุ๊ก เราคิดว่ามันสะดวกสำหรับคนอ่านที่จะกลับมาย้อนดูข้อมูล เช่น วันเปิด-ปิดพรีออร์เดอร์ เพราะย้อนโพสต์ได้ง่ายกว่า แต่เฟซบุ๊กก็มีปัญหาเรื่องอัลกอริทึมการแสดงผลโพสต์ เงื่อนไขการบูสท์โพสต์ หรือเรื่องของขนาดภาพ มันเปลี่ยนทุก 2-3 เดือนเลย อะไรของคุณวะเนี่ย มาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก (หัวเราะ)
ผลตอบรับของสามเล่มแรกเป็นไงบ้างคะ
ถ้าพิจารณาจากสถานการณ์ต่างๆ แล้วก็ถือว่าดีค่ะ แม้จะไม่เท่าที่หวัง แต่ก็อยู่ในเกณฑ์ที่รับได้
โควิด-19 กระทบกับสำนักพิมพ์บ้างไหม
ตอนทำ Pumpkin Head เราเจอโควิด-19 เวฟสองพอดี แต่ตอนนั้นโชคดีที่มันเป็นช่วงท้ายงาน Winter Book Fest แล้ว เลยไม่ค่อยกระทบเรามาก แต่รอบนี้หนักอยู่เพราะว่าไม่ได้ออกบูทงานหนังสือ
ตอนแรกคิดว่าบีโกเนียเน้นขายออนไลน์มากกว่าจะไปออกบูท
อันนี้เราพูดถึงทั้งบีโกเนียและสำนักพิมพ์พี่น้องที่เราติดต่อพูดคุยกันบ่อยๆ ยอดขายของงานออนไลน์ไม่มีทางเทียบได้กับงานหนังสือ ต่อให้เป็นงานจัดที่อิมแพ็คที่ทุกคนบ่นว่าคนน้อย ไปยาก ยอดตก ขายออนไลน์ยอดตกกว่าค่ะ
ก่อนหน้านี้เราก็เป็นเด็กเชียร์ในบูทของสำนักพิมพ์อื่นมาหลายปี เราเจอคนอ่านเยอะ จะมีคนประเภทว่าชอบงานของนักเขียนคนนี้ อยากได้แนวแบบนี้ มีเล่มไหนมั้ย เราก็สามารถขายเล่มอื่นๆ ไปกับเขาได้ เดิมทีเขากำงบสำหรับสองเล่มบวกอื่นๆ เขาก็จะได้สองเล่มบวกอื่นๆ ไปจริงๆ ในขณะที่ถ้าเรากำเงินไว้แล้วไถเว็บไซต์ไทยบุ๊กแฟร์ คิดว่าจะเอาแน่ๆ แล้วสองเล่ม ไถไปไถมา ไม่มีคนแนะนำ แถมเราไม่รู้อะไรเลยนอกจากปก เรื่องย่อ และคำอธิบายหนังสือที่ลงในเว็บ บางทีเราก็ได้แค่สองเล่มจริงๆ นะ
แล้ว visibility ของการลงเว็บกับการอยู่ในบูทก็ไม่เหมือนกัน พฤติกรรมการบริโภคของการจับเล่มจริงๆ กับการดูหน้าปกในจอมันต่างกัน
ขายออนไลน์ยังไงก็ไม่สู้งานออนไซต์ แต่เราเข้าใจว่าสถานการณ์ตอนนี้ โควิด-19 มันระบาดน่ากลัวมาก วัคซีนไม่มี การจัดการก็แย่ มันก็ทำอะไรไม่ได้จริงๆ นอกจากประคองตัวเองให้รอดไปได้อีกเวฟนึง
ด้านคุณเม่ยมีวิธีการรับมือกับโควิด-19 มั้ยคะ
ก่อนหน้านี้ด้วยความว่าช่วงตอนปลายปีเราไม่ได้ออกหนังสือชนงานใหญ่ ประกาศพรีออร์เดอร์เล่มแรกวันฮาโลวีน แล้วก็ไปจบต้นเดือนธันวาคม ตอนออกเล่มแรกเหมือนมันจบในตัวจนพี่ที่สนิทกันถามว่านี่ทำสำนักพิมพ์หรือเป็นเอเจนซี่หนังสือทำมือ พอมารอบนี้เราเลยฝากร้านออนไลน์มากขึ้น เช่น กลิ่นหนังสือ, ปุกปุย, Lunaspace รู้สึกว่าการกระจายหนังสือก็ทำให้ไปถึงกลุ่มคนอ่านที่หลากหลาย น่าจะเป็นตัวช่วยอย่างหนึ่งแหละ
ในอนาคตตั้งใจว่าจะเข้าระบบสายส่งมั้ย
ตอนนี้เน้นการติดต่อกับร้านหนังสือมากกว่า แต่ถ้าในอนาคตสำนักพิมพ์ขยายตัวมากกว่านี้ เราก็รอเรื่องการลงร้านจริงๆ มากขึ้น เพราะตอนนี้ส่วนใหญ่เราจะเป็นร้านออนไลน์ เราก็อยากให้หนังสือไปอยู่ในร้านที่มีหน้าร้าน เพื่อให้กลุ่มคนอ่านที่อาจจะไม่ได้อยู่ในออนไลน์หรือแค่ผ่านมาเห็น จะมีโอกาสเจอหนังสือของเรามากขึ้น
พอได้มาทำงานในวงการหนังสืออย่างจริงจัง คิดยังไงกับคำว่า ‘หนังสือแพง’
แตกประเด็นได้หลายเรื่องนะอันนี้ มันเป็นปัญหาแบบงูกินหาง ถามว่าแพงมั้ยถ้าเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ทำงานหนึ่งวันยังไม่ได้หนังสือสักเล่มเลย หรือซื้อหนังสือได้แต่ไม่มีเงินกินข้าว มันแพงแหละเมื่อเทียบกับค่าครองชีพ แต่ในวงการนี้คนที่ทำงานก็ได้เงินไม่สมกับงานเหมือนกัน
ที่สำคัญคือวัฒนธรรมการอ่านของประเทศเราและระบบร้านหนังสือไม่เข้มแข็ง ทำให้วงการหนังสืออยู่ในสภาพที่ต่างคนต่างดิ้นรนด้วยตัวเอง แต่ไม่ใช่ทุกเรื่องที่จะเริ่มแก้ได้จากเราไง สำนักพิมพ์ก็เป็นเฟืองนึงในสังคม การจะบอกว่ามันเริ่มจากตัวเรา มันเริ่มไม่ได้ มันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง
เราติดตามข่าววงการหนังสือต่างประเทศแล้วอิจฉาเขามากเลย ยกตัวอย่างไต้หวัน นอกจากจะมีทุนสนับสนุนระบบในประเทศแล้ว เขาจะมีทุนให้สำนักพิมพ์ต่างประเทศเอางานเขาไปแปล เพื่อให้งานของไต้หวันไปไกลมากขึ้น แล้วก็มีทุนให้สำนักพิมพ์ไต้หวันซื้องานจากต่างประเทศมาแปลเป็นภาษาของเขา เพื่อให้คนไต้หวันได้เข้าถึงงานที่หลากหลายมากขึ้น ระบบเขาดีมาก หนังสือไม่ใช่แค่หนังสือ เขามองไปถึงแผนภาพใหญ่มากๆ ว่าหนังสือคือส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ตลอดชีวิต เขาไปถึงขั้นนั้นแล้ว
กลับไปที่เรื่องราคาหนังสือ ถ้าเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำ หนังสือบ้านเราถือว่ามีราคาสูง แต่เราก็คิดว่าถ้ารัฐเข้ามา subsidize เราก็อาจจะมีหนังสือที่ราคาต่ำลงกว่าตอนนี้ คนจะเข้าถึงหนังสือได้มากขึ้น ขณะเดียวกันคนทำงานก็ต้องอยู่ได้ด้วย หรืออีกแบบหนึ่งก็คือทำให้เศรษฐกิจมันดี คนลืมตาอ้าปากเลี้ยงปากท้องตัวเองได้ จนมีเวลามาสนใจสิ่งอื่นที่ไม่ใช่การเอาชีวิตรอด ตอนนี้พวกเรากำลัง surviving ไม่ได้มีชีวิตอยู่ ทุกคนพยายามดิ้นรนให้มีชีวิตรอด ถ้าปากท้องเราไม่อิ่ม คนไม่สนใจศิลปะ การเรียนรู้ หรือหนังสือหรอก
ปัญหานี้เจอกันทุกที่จริงๆ
เรารู้สึกว่าหลายที่เขาลดจำนวนพิมพ์ลงจากเมื่อก่อนนะ แล้วก็ดันราคาต่อเล่มขึ้นเพื่อให้คุ้มทุน ซึ่งก็ไม่ผิดเพราะสำนักพิมพ์เป็นธุรกิจ ไม่ใช่มูลนิธิการกุศล เขาต้องเลี้ยงคนทำงานให้อยู่รอด เพราะคนทำงานต้องกินข้าวเหมือนกัน สรุปแล้ว นี่ก็เป็นเรื่องงูกินหางจากปัญหาเชิงโครงสร้างอยู่ดี
เรื่องของแถมที่เป็นไพ่ทาโรต์ อันนั้นมีคอนเซปต์อะไรหรือเปล่า
ได้มาจากการเบรนสตอร์มตอนทำ Pumpkin Head เราไม่อยากทำโปสต์การ์ดเพราะจะซ้ำกับรูปในปก เพราะงั้นนอกจากที่คั่นหนังสือ เราจะทำอะไรกันดี คุยกันเยอะมาก สุดท้ายมาจบที่ทำไพ่ Death แล้วกัน เพราะมันเป็นสิ่งที่สรุปคอนเซปต์หนังสือทั้งเล่มได้สั้นๆ ในอันเดียว แล้วไพ่ทาโรต์มันพูดได้หลายอย่าง ทำขาวดำแล้วสวยด้วย พอทำเสร็จเลยคิดว่าน่าจะให้ไพ่ทาโรต์เป็นกิมมิกประจำของทุกเล่ม
หลังจากนั้นแต่ละเล่มก็จะเลือกตัวละคร 1 คนมาขึ้นบนหน้าไพ่ โดยเลือกไพ่จาก Major Acana ที่สื่อสารกับเล่มมากที่สุด เช่น ดูแลด้วยใจ ก็เลือกตัวละคร กุลวัฒน์ เป็นไพ่ The Temperance ส่วน Dark Tales of London เลือกคุณหมอฟอล์กเนอร์มาเป็น The Hermit ก็คิดว่าน่าจะมีอะไรชวนให้ไปคุยกันต่อด้วย
เราว่ามันเป็นกิมมิกที่เราชอบ หวังว่าจะมีวันที่ได้ทำไพ่ครบสำรับ อย่างน้อยก็สำรับใหญ่ ตั้งใจว่าจะให้เป็นของแถมทุกคนทุกรอบ ทุกการสั่งซื้อได้เหมือนกันหมด ตัวเราเองไม่ชอบการแย่งชิงตอนพรีออร์เดอร์ อยากให้คนอ่านได้ซื้อหนังสือในวันที่เขาพร้อม เอาไว้การเงินสะดวกค่อยซื้อ เพราะของแถมคือของแถม
อยากจะเห็นบีโกเนียเติบโตไปในทิศทางไหน
การที่หนังสือมีคนอ่านเป็นเรื่องดีเสมอ ไม่ใช่แค่ดีต่อสำนักพิมพ์ในฐานะธุรกิจ แต่ดีกับนักเขียนด้วย เรารู้สึกว่าการทำสำนักพิมพ์คือการแบกความฝันของเราครึ่งนึง ของนักเขียนอีกครึ่งนึง เราอยากให้งานของนักเขียนที่เราเลือกมามันไปได้ไกลที่สุดเท่าที่เราจะช่วยได้ การที่งานถูกอ่านเยอะๆ ก็เป็นเรื่องดี เราอยากเห็นบีโกเนียได้เสนอความหลากหลายไปได้เรื่อยๆ เติบโต และมีความพร้อมที่จะส่งไปสู่ร้านที่มีหน้าร้านจริงๆ
แล้วตัวเราเองอยากจะพาหนังสือไปต่างประเทศ เรารู้สึกว่านิยายไทยที่ได้รับการแปลเป็นภาษาอื่นยังมีจำนวนน้อยอยู่ แต่สถานการณ์ตอนนี้ก็พูดยากเหมือนกัน เราก็ตั้งเป็น goal ไว้ก่อนแล้วกันค่ะ จะได้มีเป้าหมายให้พุ่งชน (หัวเราะ)