how to grow ‘mints’ (with pictures)
ใส่ปุ๋ยโดยเซียนมวยปล้ำ รดน้ำโดยคนกลัวเวที
สู่วันที่ mints เติบโตเป็นวงดนตรีที่ไม่กลัวอะไรอีกต่อไป
เรื่อง: A. Piriyapokanon
ภาพ: A. Piriyapokanon
ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น—แน่นอน คือซีรีส์ที่ทำให้ใครหลายคนได้รู้จักกับเขาทั้งคู่
เราเห็น อัด—อวัช รัตนปิณฑะ ครั้งแรกกับบท ‘โอ๊ค’ หนุ่มห้าวแก๊งไฝว้ และเห็น ตน—ต้นหน ตันติเวชกุล ในมาดของ ‘เภา’ หนุ่มใสเนิร์ดกีตาร์ จากนั้นทั้งคู่ก็โลดแล่นให้เราเห็นหน้าเห็นตาผ่านซีรีส์อีกหลายเรื่อง รวมไปถึงผลงานชิ้นล่าสุดที่กำลังออนแอร์อย่าง The Rhythm of Life จังหวะชีวิต…ลิขิตฝัน ที่ตนรับบทนำเป็นครั้งแรก และ JMJ : LESSON 25 ผลงานสารคดีชุดที่อัดหลบจากหน้ากล้องมาเป็นผู้กำกับอย่างเต็มตัว
นอกจากเส้นทางการแสดงแล้ว เรายังได้เห็นอัดในมุมของประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวประเด็นการเมือง สิทธิมนุษยชน และสิ่งแวดล้อม ในขณะที่อีกหลายคนจดจำตนในภาพลักษณ์การแต่งตัวแบบ fashion has no gender
อีกบทบาทหนึ่งที่เราเพิ่งได้เห็นจากพวกเขาทั้งคู่ในช่วงหลังมานี้ คือนักดนตรีวงซินท์ป๊อปดูโอ้เจ้าของเพลง เหลือ / fine., ยังไงดี / Should I และมีส่วนร่วมในเพลงติดหูอย่าง 17 นาที
จากนักแสดงที่แตกกิ่งก้านสู่การเป็นนักดนตรี จากความฝันวัยเด็กที่ออกดอกออกผลสู่ตัวเองในเวอร์ชั่นทุกวันนี้ มีอะไรเป็นส่วนคอยหล่อเลี้ยงและชุบชูพวกเขาขึ้นมาบ้าง—เราตั้งคำถาม
เพื่อหาคำตอบที่ว่า วันธรรมดาในเวลาสายๆ ใต้ร่มไม้ของซอยชำนาญอักษรจึงถูกใช้เป็นจุดนัดพบพูดคุย แล้วตนกับอัดก็พาเราย้อนกลับไปในวันที่ทุกอย่างเริ่มต้น
Stage I
Sprout
A root grows, collecting water from the soil, and a shoot pushes up towards the light.
ว่ากันว่าสิ่งที่เราชอบทำมักจะมีเมล็ดพันธุ์มาจากสิ่งที่เราทำได้ดี
แต่คำที่ว่ามานี้อาจใช้ไม่ได้กับตน
เขาเป็นคนชอบอ่านหนังสือก็จริง แต่หากจะย้อนกลับไปดูที่จุดเริ่มต้น เหตุผลนั้นดันเป็นเพราะว่าเขาเคยอ่านหนังสือไม่คล่องมาก่อน
“ผมอ่านภาษาไทยไม่ค่อยเก่ง ครูเลยแนะนำให้หาหนังสืออ่าน แรกๆ เลยอ่านพวกการ์ตูนประวัติศาสตร์ไทยครับ กลายเป็นว่าอ่านแล้วชอบ จากนั้นเลยพัฒนาไปเป็นนิยายแปล”
ว่าแล้วตนก็ยกตัวอย่างหนังสือในวัยเด็กของเขาอย่าง ตำนานแห่งนาร์เนีย (The Chronicles of Narnia) และ เอรากอน (Eragon) รวมไปถึงนิยายแฟนตาซีของนักเขียนไทยอีกหลายเล่มที่เขาก็ชื่นชอบไม่แพ้กัน
เมื่อสิ่งที่เคยไม่ถนัดแปรเปลี่ยนมาเป็นสิ่งที่สนใจ ตนจึงไม่ได้หยุดแค่การอ่านเพียงอย่างเดียว เขาเล่าให้ฟังว่าสมัยยังเด็กตัวเองมีนิสัยแปลกๆ อย่างการดัดแปลงเนื้อหาบางส่วนที่ไม่ถูกใจในนิยาย ใส่สีเติมไข่ให้มันเสียใหม่ในโลกจินตนาการของตัวเอง
“แม่เคยเล่าให้ฟังว่าเมื่อก่อนครูจะชอบถามว่าเราเป็นออทิสติกหรือเปล่า เพราะผมจะมีโหมดนั่งเหม่อ นั่งคิดอะไรคนเดียว เวลาต้องนั่งรอหรือทำอะไรที่มันน่าเบื่อ หรือเวลานอนไม่หลับ ผมจะคิดจินตนาการถึงเรื่องที่ผมอ่าน การ์ตูน นิยายที่ผมชอบ แล้วผมก็จะดัดแปลงมันให้มันตรงกับที่เราอยากให้เป็น”
เดอะ ลาสต์ แฟนตาซี (The Last Fantasy) นิยายไทยแนวแฟนตาซีโดย แสงจันทร์ (Moonlight) คือเรื่องที่ตนพูดถึง ถึงแม้มันจะเป็นหนังสือที่เขาอ่านซ้ำบ่อยและยกไว้ขึ้นหิ้ง ตนก็ยังไม่วายขอเปลี่ยนเส้นเรื่องให้คู่พระเอก-นางเอกต้องแยกจากกัน แล้วพระเอกไปเจอกับผู้หญิงอีกคนที่ชอบมากกว่า
“เปลี่ยนอยู่ในหัวเราเองแค่นั้นเลยเหรอ” เราถาม
“แค่นั้นเลยครับ คิดเอาเอง มีความสุข มันอาจจะแปลกๆ แต่ก็เป็นอะไรที่ผมทำบ่อยๆ ตั้งแต่เด็ก—ที่จริงผมเคยเขียนนิยายด้วยนะ” เขาตอบเหมือนนึกขึ้นได้พอดี
“เขียนที่ไหนคะ”
“เว็บบอร์ดมวยปล้ำครับ”
…เพื่อความชัวร์ ลองถามอีกครั้งดีกว่า…
แล้วก็ได้คำยืนยันว่าเขาเขียนลงในเว็บบอร์ดที่ว่านั้นจริงๆ
ตนชื่นชอบการดูมวยปล้ำตั้งแต่เด็ก เพราะเป็นรายการที่มักถูกเปิดค้างไว้ในโทรทัศน์บ้านคุณยาย และด้วยฝีมือการพากย์ของน้าติง—สุวัฒน์ กลิ่นเกษร เลยทำให้ตนหลงเสน่ห์กีฬาชนิดนี้เข้าอย่างจัง จากที่แค่ดูในโทรทัศน์ก็เริ่มค้นหาข้อมูล อ่านรีวิว ตั้งนาฬิกาปลุกตอนตีสามเพื่อตื่นมาดูแมตช์มวยปล้ำสด จนสุดท้ายก็เข้าไปสิงในเว็บบอร์ดดังกล่าวเป็นประจำ
“ในเว็บมันจะมีหลายฟอรัมครับ ทั้งวิเคราะห์เกม แปะรูป แล้วก็จะมีอยู่หน้านึงที่เรียกว่า เปิดค่ายมวยปล้ำ เข้าไปก็จะเจอกระทู้ว่าค่ายนั้นค่ายนี้เปิดรับสมัครตัวละครนักมวยปล้ำนะ เขาก็จะมีฟอร์มให้กรอกเลย เราชื่ออะไร คาแร็กเตอร์เป็นยังไง ท่าไม้ตาย เพลงเปิดตัว ให้คนสมัครเข้าไปเป็นตัวละครในค่าย”
ตนอธิบายต่อไปว่าอีกส่วนที่สนุกของฟอรัมนี้คือการที่เจ้าของค่ายจะคอยวัดเพอร์ฟอร์แมนซ์ของแต่ละคนว่าจะดันใคร จะให้คนไหนชนะหรือแพ้ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ดูที่การต่อบท
ใช่ ถูกต้อง ‘การต่อบท’
“มันคือการที่เราตั้งกระทู้สร้างสถานการณ์ขึ้นมาว่ากำลังพูดถึงคนนี้นะ เหมือนแต่งนิยายเลย สมมตินายเอตั้งกระทู้ถึงนายบีว่า ฉันว่าแกโง่มาก แล้วนายบีก็จะเข้ามาพิมพ์ตอบ เจ้าของค่ายก็จะมานั่งดูว่าคนไหนสกิลดี คนไหนคาแร็กเตอร์น่าสนใจ แล้วเขาจะเลือกดันใคร เราก็ต้องติดตามผลทุกอาทิตย์ แต่ละค่ายก็จะมีทีมงานเบื้องหลัง 5-6 คน เขาก็จะเอาสิ่งที่ผู้สมัครตั้งกระทู้โต้ตอบกันมาเขียนเป็นแมตช์ บรรยายว่าเกิดอะไรขึ้นบนเวทีบ้าง”
“ก็คือ เหมือนทุกคนมานั่งเขียนนิยายใส่กัน” เราสรุป
“ใช่ครับ สุดปะ คือเป็นวงการที่โคตรเบียวเลย แต่สนุกมากนะ ผมอยู่ในเว็บบอร์ดนั้นหลายปี ทุกวันนี้ก็ยังมีเพื่อนที่เป็นรุ่นพี่อายุห่างกันเป็นสิบปี รู้จักกันจากตรงนั้นแหละ ก็ยังติดต่อกันอยู่”
“งั้นที่บอกว่าเคยเขียนนิยายในบอร์ดนี้ แปลว่าตนเคยเข้าไปสมัครเป็นตัวละครด้วยใช่ไหม”
“ผมเคยเป็นเจ้าของค่ายครับ”
น…เหนือชั้น
แล้วการเขียนแมตช์มวยปล้ำทิพย์นี้ก็กลายเป็นตัวจุดประกายให้เด็กชายต้นหนในวัยมัธยมต้นมีความฝันอยากเป็นนักเขียนขึ้นมา
ในเว็บบอร์ดเดียวกันนั้น เขาเริ่มเปลี่ยนจากการเขียนบรรยายมวยปล้ำไปเขียนนิยายแฟนตาซี โดยเปิดให้คนทางบ้านสมัครเข้ามาเป็นตัวละคร ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับนักเลงญี่ปุ่น เพราะเจ้าตัวกำลังอินกับมังงะอย่าง เรียกเขาว่าอีกา
“เดี๋ยวก่อน แล้วเรื่องดนตรีนี่มันเริ่มตอนไหนนะคะ”
เราถามขึ้น เพราะหลังจากที่นั่งคุยกันมาพักใหญ่ เรื่องราวเกี่ยวกับดนตรีที่ตนทำเป็นอาชีพก็ยังไม่มีท่าทีจะปรากฏตัว ชีวิตวัยเด็กของเขาดูเหมือนจะประกอบขึ้นจากมวยปล้ำและการ์ตูนญี่ปุ่นเสียมากกว่า
แต่คราวนี้คำตอบที่เราได้รับมาถือว่าไม่เหนือความคาดหมาย เพราะครอบครัวของตนก็เป็นเหมือนครอบครัวชาวเอเชียทั่วไป ที่พ่อแม่มักจะส่งลูกไปเรียนพิเศษด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นดนตรี กีฬา วิชาการ หรือคุมอง…
“แต่คุมองนี่ไม่เคยเรียนนะ (หัวเราะ) ผมเรียนว่ายน้ำกับเปียโน แล้วพอดีได้ดูหนังเรื่อง The Pianist อินมาก ก็เลยสนใจด้านดนตรีมากขึ้น ก่อนจะได้จับกีตาร์ครั้งแรกตอน ม.1 เพราะได้ไปเล่นเรื่อง SuckSeed ตรงนั้นเลยทำให้เราเปลี่ยนเวย์ไปเล่นกีตาร์ เป็นชาวร็อกวัยมัธยม อาจเพราะคนเล่นเว็บบอร์ดมวยปล้ำเป็นผู้ชายเยอะด้วย ก็เลยฟังเพลงร็อกกัน แต่ผมก็ยังเล่นเปียโนเรื่อยๆ นะ สอบวัดระดับจริงจังเลย”
เห็นตนพูดถึงผลงานเรื่องแรกในชีวิตอย่าง SuckSeed ห่วยขั้นเทพ เราจึงอดถามถึงความสนใจในด้านการแสดงไม่ได้ ซึ่งเจ้าตัวก็กลับตอบกลับมาแบบยิ้มๆ ว่า “ไม่เคยคิดจะทำแต่แรก”
“แต่ถ้าไปแคสต์ก็ต้องแปลว่าอยากทำหรือเปล่า” เราถามต่อ
“ไม่ใช่ครับ ผมแค่นั่งอยู่ในห้องเรียน แล้วทีมงานก็เดินเข้ามาหา ช่วงนั้นผมเนิร์ดจัด อ่านหนังสือ เล่นเปียโน ไม่มีเพื่อน แล้วปกติเวลามีกิจกรรมอะไรครูเขาก็จะเลือกแต่เด็กเสียงดังๆ เด่นๆ ไอ้ผมก็ไม่ได้อยู่ในสายตาครูอยู่แล้ว แต่ทีมแคสติ้งดันเห็น จิ้มเราออกไปแคสต์ ตอนแรกผมไม่ยอมออกไปด้วย แต่เขากลับมาหาอีกรอบเลยตัดสินใจลองดู
“คือมันไม่ใช่สิ่งที่เราเลือกก็จริง แต่พอมาทำแล้วถามว่าชอบไหม ชอบนะ ชอบมากเลยด้วย—อาจจะเป็นเพราะว่าผมเบียวมั้ง ชอบต่อบท” เขาแวะแซวตัวเองทิ้งท้าย
จากเด็กเก็บตัวที่ไม่สันทัดการอ่าน ตนขยายรากแตกหน่อไปค้นหาความชอบอีกหลายแขนง ทั้งมวยปล้ำ มังงะ นักเขียน นักแสดง แต่ถึงอย่างนั้น ตนก็ยังยืนยันว่าจนแล้วจนรอดอย่างไร แกนกลางลำต้นของเขาก็ยังเป็นดนตรีอยู่วันยังค่ำ
“สิ่งที่เล่ามาทั้งหมดมันดูเหมือนจะเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ในชีวิตนะ แต่จริงๆ มันเป็นเส้นย่อยๆ เล็กๆ แค่นั้นเอง เส้นหลักของผมจริงๆ คือดนตรี เป็นดนตรีมาตั้งแต่ต้น ผมอยากเข้าคณะดนตรีมาตลอด ไม่เคยมีคณะอื่นเลย หรือถ้าจะมีก็คงเป็นคณะอักษรฯ แต่ยังไงก็ไม่เท่าดนตรี ดนตรีนี่ผมโคตรจริงจัง”
Stage II
Seedling
Most at risk from numerous things that could harm the tree from developing;
too little water, too much sun, or being eaten.
หากจะพูดถึงความจริงจังในเส้นทางสายดนตรี อัดก็มีความตั้งใจที่แน่วแน่ไม่แพ้กัน
ด้วยความที่บ้านทำกิจการร้านอาหารและลานเบียร์ อัดในวัยเด็กจึงเติบโตมาพร้อมกับแสงสีและดนตรีสด มีบทเพลงของ อัสนี-วสันต์, เบเกอรี่มิวสิค, จอห์น เดนเวอร์ (John Denver) ประกอบกับรายการประกวดร้องเพลงที่กำลังเป็นที่นิยมอยู่ในช่วงนั้นเป็นเสียงพื้นหลัง และจากที่แค่ชอบนั่งดู ก็กลายเป็นว่าอัดอยากขึ้นไปอยู่บนเวที อยากลากกระเป๋าเข้าบ้านอย่างคนอื่นบ้าง
เหมือนโชคชะตาจะเข้าข้าง เพราะในปีที่อัดอายุครบสิบห้าเป็นปีที่รายการประกวดในฝันของเขาปรับลดเกณฑ์อายุผู้เข้าสมัครจากสิบแปดปีเหลือสิบห้าปีพอดี
“เราก็เอาเลย โอกาสของกูมาถึงแล้วหลังจากนั่งดูมาเจ็ดปี เราซ้อม เตรียมทุกอย่าง เตรียมเพลงไทย เพลงสากล เพลงเร็ว เพลงช้า เพลงลูกทุ่ง กะว่าคงได้ร้องสักหน่อย ไปวันแรกก็เลือกเพลงที่มั่นใจที่สุด สรุปร้องได้ไม่ถึงสิบวิฯ ฟ้า ถ้าไม่ส่งมา… เขาบอก ขอบคุณค่ะ”
ถึงจะช็อกกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่เด็กหนุ่มวัยสิบห้ายังไม่ยอมแพ้ง่ายๆ เขาตัดสินใจไปออดิชั่นเวทีเดิมอีกครั้งในวันที่สองและวันที่สาม
“ครั้งที่สองเฟลเหมือนเดิม ครั้งที่สามก็ยังเหมือนเดิม พอเราทำเต็มที่แล้วผลลัพธ์ออกมาชัดเจนว่าไม่เวิร์ก ก็เลยคิดว่าหรือทางนี้มันไม่ใช่ มันกลายเป็นทรอม่า (trauma) เล็กๆ เหมือนกัน เพราะเดิมทีเราเป็นคนมั่นใจมาก พอความมั่นใจถูกทุบ ไม่ได้ทุบครั้งเดียวด้วยนะ ทุบสามครั้ง ตู้ม เราเลยคิดว่าเลิกดีกว่า พอ หยุดความฝันของการเป็นนักร้อง”
จากคนที่เคยมีความมั่นใจเต็มเปี่ยม อัดกลายเป็นคนกลัวการร้องเพลง ถึงแม้ในช่วงที่ภาพยนตร์ SuckSeed กำลังโด่งดังเป็นกระแสจนมีเพื่อนมาชวนอัดทำวงดนตรี เขาก็ยังไม่สามารถเอาชนะความกลัวที่ตามหลอกหลอนได้ สิ่งที่ติดค้างอยู่ในใจของเด็กหนุ่มตลอดมาคือความไม่มั่นใจในเสียงของตัวเอง และความคิดที่ว่าคนโทนเสียงต่ำอย่างเขาคงไม่เหมาะกับการเป็นนักร้อง
อัดจึงเปลี่ยนเป้าหมายใหม่ พุ่งความตั้งใจไปที่การเป็นนักแสดง ใช้เวลาไม่นานเขาก็เริ่มมีผลงานทั้งโฆษณาและซีรีส์ และเป็นเส้นทางการแสดงนี้เองที่ทำให้อัดได้กลับมาจับไมค์ร้องเพลงอีกครั้ง
“ตอนนั้นจีดีเอชกำลังจะมีคอนเสิร์ต (GTH Star Theque ปี 2558) เราเลยได้เจอครูคนนึงที่ดึงความมั่นใจเรากลับมาได้ ทำให้เรารู้ว่าเสียงแบบเรามันก็เป็นนักร้องได้เหมือนกัน”
“เขาทำยังไงคะ”
“เขาบอกว่าเสียงเรามีเอกลักษณ์ดี เราเคยพูดกับครูว่าเรากลัวร้องไฮโน้ตไม่ได้ เขาก็บอกว่าไม่จำเป็น สุดท้ายเราแค่หาสิ่งที่เหมาะกับเรา คีย์ที่มันใช่กับเรา หาสิ่งที่เป็นตัวเราให้เจอ ทุกคนมันต้องมีข้อดีแหละ เพียงแค่ว่าเราเลือกมันถูกไหม เรากำลังเอาเกณฑ์ของคนอื่นมาใส่ตัวเราหรือเปล่า ถ้าเราเจอสิ่งที่เหมาะกับเรา มันก็จะไปได้
“อีกอย่างคือตอนนั้นมีเพลง แตกต่างเหมือนกัน เป็นเพลงปิดซีรีส์ ฮอร์โมนส์ ซีซั่น 3 ซึ่งเราได้ร้องอยู่ท่อนนึง ด้วยเสียงใหญ่ๆ ของเรานี่แหละ แต่คราวนี้มีคนมาบอกว่าเสียงเรามันแตกต่าง ฟังแล้วรู้เลยว่าเราร้อง เลยกลับมาคิดว่า หรือเราร้องเพลงได้วะ แล้วยิ่งได้มาเจอครูคนนี้อีก มันเลยค่อยๆ เติมความมั่นใจกลับมาอีกรอบว่านี่อาจจะเป็นอีกรูปแบบนึงของการเป็นนักร้องก็ได้ เสียงแบบเราก็ทำได้
“เราว่าเสียงจากคนรอบข้างมันมีผลนะ กับการทำให้คนมั่นใจมากขึ้นหรือน้อยลง”
แต่ชีวิตก็ไม่ค่อยให้โอกาสเราได้ดีใจอยู่นานนัก เพราะทันทีที่ความผิดหวังครั้งแรกอย่างการร้องเพลงทำท่าจะทุเลาความเจ็บปวดลงไป ชีวิตก็พร้อมจะพัดพาไปเจอความผิดหวังครั้งใหม่โดยไม่ให้เวลาตั้งตัว
“ตอนนั้นเราเอนท์ไม่ติดนิเทศฯ” อัดเล่าด้วยสีหน้าเรียบนิ่ง
ถึงจุดนี้ หากจะพูดว่าวัยรุ่นคือวัยแห่งความแตกสลายก็คงจะไม่เกินไปนัก เพราะทั้งที่คำนวณคะแนนสูง-ต่ำมาเป็นอย่างดีว่ายังไงคะแนนที่เขามีก็ต้องมีสิทธิผ่านเข้ารอบสัมภาษณ์ แต่ปรากฏว่าคะแนนนักเรียนที่ยื่นเข้าคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ในปีนั้นดันพุ่งสูงอย่างที่อัดเองก็คาดไม่ถึง รายชื่อของเขาจึงหลุดไปอยู่ในลำดับถัดมาอย่างคณะรัฐศาสตร์
“ตอนนั้นคือจะไม่ยอมเรียนเลยแหละ จะเปลี่ยนไปเข้าเอกชน แต่ที่บ้านก็บอกว่าถ้าติดมหาวิทยาลัยรัฐแล้วจะไปเรียนเอกชนทำไม สุดท้ายเราเลยเข้าไปเรียนอยู่พักนึง เผื่อจะชอบ แต่เข้าไปไม่ถึงครึ่งเทอมก็รู้สึกว่าไม่ใช่ตัวเองเลย”
แล้วอัดก็หยุดเรียน ไม่ลาออก ไม่ดรอป ไม่ถอน แค่ตอนเช้าตื่นมาแล้วเลือกไปกองถ่ายแทนที่จะไปมหาวิทยาลัย—ครั้งนี้ไม่ใช่ฐานะนักแสดง แต่ไปในฐานะเด็กฝึกงานเบื้องหลังกองถ่าย
เขาใช้ชีวิตแบบนั้นอยู่หนึ่งปีเต็มเพื่อรอเวลาแอดมิชชั่นครั้งใหม่ ด้วยความคาดหวังเต็มหัวใจว่าให้ตายยังไงรอบนี้ก็ต้องติดนิเทศฯ
“แต่ก็ไม่ติดอีก” อัดว่า
“เราเลือกอันดับเหมือนเดิม แล้วก็ติดรัฐศาสตร์เหมือนเดิม ก็เลยไปคุยกับที่บ้านอีกรอบว่าขอไปเรียนเอกชนได้ไหม ซึ่งเขาก็ไม่ยอมอยู่ดี สุดท้ายเลยไกล่เกลี่ยกันว่า งั้นก็ได้ ไม่เป็นไร เราเรียน เราเอาบรรทัดฐานเดิมของสังคมว่าการจบจากมหา’ลัยนี้เป็นความภาคภูมิใจของครอบครัว เราก็โอเค แต่หลังจากนี้เราขอใช้ชีวิตของเรานะ แลกกัน”
แล้วอัดก็เข้าเรียนในคณะเดิมเป็นครั้งที่สอง แต่ครั้งนี้เขาพร้อมเปิดใจกับมันมากขึ้น
“ถ้าติดสองครั้งนี่โชคชะตาคงกำหนดอะไรบางอย่างมาแล้วล่ะ” เขาบอกแบบนั้น
และไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม การเรียนด้านรัฐศาสตร์ตลอดสี่ปีก็เข้ามามีผลกับกระบวนการคิด การทำงาน และวิธีการที่อัดใช้มองโลกไปโดยสิ้นเชิง
“เราเข้าใจความเป็นมนุษย์ในมุมที่ลึกซึ้งขึ้นนะ เข้าใจระบบของสังคม เข้าใจมุมมองความคิดของคนที่หลากหลาย มันทำให้เราเปิดกว้างมากๆ กับหลายๆ อย่าง เวลาทำงานหรือคิดอะไรมันจะคิดถึงคนอื่นมากขึ้น ไม่ได้คิดถึงแค่ตัวเอง
“อย่างตอนที่ประเด็นการเมืองร้อนแรง เราเห็นความประหลาดที่มันเกิดขึ้น ด้วยความที่เรามีคนติดตามอยู่ มันก็เป็นทางนึงที่เราสามารถสื่อสารออกไปได้ในฐานะที่เป็นคนเบื้องหน้า เราอยากจะทำอะไรสักอย่างที่พูดเรื่องนี้ อาจจะไม่ใช่สายปะทะ แต่เราเชื่อว่าทุกงานศิลปะมีวิธีการสื่อสารในรูปแบบของมัน แล้วเราที่ทำงานตรงนี้ ถ้าเราสามารถสร้างงานขึ้นมาสักชิ้นนึง แล้วมันสามารถอินฟลูเอนซ์คน สามารถพูดเรื่องอ่อนไหวในสังคมได้ก็คงจะดี”
กลายเป็นว่าความผิดหวังที่อัดอยากจะวิ่งหนีให้ไกลกลับกลายเป็นประตูแห่งความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้กับชีวิต การโดนปฏิเสธบนเวทีร้องเพลงตอนอายุสิบห้านำพาเขาเข้าสู่วงการการแสดง พร้อมๆ กับการพลาดจากคณะในฝันทำให้เขาได้สัมผัสกับมิติสังคมและความเป็นไปของเพื่อนมนุษย์
“พอโตขึ้นเราเลยรู้สึกว่าความผิดหวังทำให้เราไม่ยึดติด สุดท้ายทุกอย่างมีข้อดีของมัน มีหลายอย่างที่เราได้มาโดยไม่ได้คาดคิด ถ้าเราเลือกที่จะมอง เลือกที่จะเปิดตัวเองออกมา มันมีอะไรน่าสนใจอยู่เยอะมาก พอเวลาผ่านไปแล้วเราถึงรู้สึกว่าขอบคุณเหมือนกันนะ เพิ่งจะมารู้สึกขอบคุณตอนโตนี่เอง”
Stage III
Saplings
The tree continues to grow, quickly,
but still unable to reproduce.
ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยรุ่น นอกจากการเป็นนักแสดงที่หลงใหลในเสียงดนตรีเหมือนกันแล้ว อัดและตนต่างเติบโตผ่านประสบการณ์ชีวิตที่เรียกได้ว่าแทบจะคนละสาย ส่วนเรื่องที่ว่าทั้งสองคนโคจรมาเจอกันในฐานะ mints ได้อย่างไร อัดยกให้ตนเป็นคนเล่า
“มันเริ่มจากที่ว่าคนทั้งนาดาวเขารู้กันอยู่แล้วว่าผมมาสายดนตรี พี่อัดก็รู้ พอได้มาเจอกันเวลาไปซ้อมคอนเสิร์ตจีทีเอชเลยได้คุยกันเรื่องเพลงมากขึ้น ปรากฏว่ามันดันมีแนวเพลงที่เราฟังแล้วคาบเกี่ยวกันอยู่ เราชอบศิลปินคล้ายๆ กัน แล้วพี่อัดเขาจะชอบแนะนำศิลปินแบบ The Radio Dept. ซึ่งเป็นวงอินดี้ที่ผมไม่เคยรู้จักมาก่อน เราก็ เชี่ย เท่ดีว่ะ คุยไปคุยมา พี่อัดก็ชวนมาทำวงด้วยกัน”
“ตอนนั้นเป็นช่วงที่เราไม่ค่อยมีงานแสดงด้วย” อัดอธิบายเสริม “พอกลับมาร้องเพลงได้ก็เลยไฟแรง รู้สึกว่าต้องเริ่มทำอะไรสักอย่าง ขี้เกียจรอว่าจะมีงานเข้ามาไหม ก็เลยตั้งวง
“แต่ความกลัวที่เรามีมันไม่เคยหายไปไหน เรายังกลัวการขึ้นไปยืนบนเวทีคนเดียวอยู่ ยังไม่มั่นใจ ยังมีสิ่งที่หลอนอยู่ในหัวตลอดเวลาว่ามึงเป็นนักร้องไม่ได้หรอก เลยรู้สึกว่าถ้าทำกับเพื่อนก็คงจะอุ่นใจกว่า”
ถึงแม้จะบอกว่าการยืนร่วมกับเพื่อนหลายๆ คนจะช่วยบรรเทาความกลัวลงไปได้ แต่หลังจากที่ตามหาสมาชิกมาเติมเต็มช่องว่างในวงอยู่สักพัก ทั้งจากฝั่งเพื่อนของอัด เพื่อนของตน แม้แต่เพื่อนในสังกัดนาดาว ท้ายที่สุดแล้วทั้งคู่ก็กลับมาค้นพบว่าช่องว่างที่ว่านั้นถูกเติมจนเต็มแล้วตั้งแต่แรกด้วยตัวพวกเขาเอง
ปี 2560 mints จึงเปิดตัวในฐานะศิลปินดูโอ้—ไม่มีค่าย ไร้สังกัด ทุกอย่างที่ถูกปล่อยออกมาในนาม mints ในตอนนั้นเรียกได้ว่าเป็นงานทำมือล้วนๆ
“ไม่รู้เลยว่าต้องทำยังไงบ้าง แล้วเรามีกันอยู่สองคน ยังไม่มีบทพิสูจน์อะไรที่จะทำให้ค่ายสักค่ายนึงมาสนใจ แล้วจะทำไงได้ล่ะ ก็ต้องเริ่มจากการทำทุกอย่างเอง สร้างทุกอย่างเองหมดเลย”
อัดไล่เรียงให้ฟังว่าพวกเขาเริ่มตั้งแต่ทำเดโม ออกแบบโลโก้วง ดีไซน์ปกอัลบั้ม ทำเสื้อ ส่งเพลงเข้าสตรีมมิง หาทีมงานทำมิวสิกวิดีโอ ลากยาวไปจนการเดินสายหาเวทีขึ้นเล่น พวกเขาทำเองมาหมดแล้วทุกขั้นตอน
“ที่ฮาคือ ปกติเวลาจะไปหาสื่อเราต้องมีแผ่นซีดีไปให้เขาใช่ไหมครับ แล้วผมแม่ง ต้องนั่งปรินต์ปกเอง ไรต์ลงแผ่น ไปร้านเกมแถวบ้านแล้วก็นั่งทำอยู่นั่นแหละ ไรต์แผ่น ปรินต์ปก ใส่กล่อง เอาไปแจก” ตนเป็นฝ่ายเล่าบ้าง เขาจำกัดความตัวเองช่วงเริ่มทำวงให้เราฟังว่า ไอ้แดงมันเป็นนักสู้
ถึงแม้ mints จะมีรุ่นพี่มากประสบการณ์อย่าง ยิ้ม—ประวิทย์ ฮันสเตน อดีตมือกลองวงสมเกียรติเข้ามาเป็นอีกหนึ่งแรงกายแรงใจในฐานะโปรดิวเซอร์ ส่วนที่อัดและตนต้องแบกรับไว้ก็ยังหนักเกินไปสำหรับช่วงวัยนักศึกษา โดยเฉพาะตนที่เพิ่งเข้าชั้นปีที่หนึ่งในตอนนั้น เรียกได้ว่า…
“ร้องไห้ใส่ทุกคน” อัดเป็นฝ่ายเฉลย ก่อนที่ตนจะเริ่มเล่าต่อ
“จริง ช่วงนั้นผมร้องไห้ตลอดเลย ปรับตัวที่คณะไม่พอ ต้องมาทำงานวงอีก แล้ว mints ช่วงแรกมันไม่ใช่แค่ส่วนของศิลปิน แต่มันต้องทำพีอาร์กันเองด้วย อีกอย่างคือผมเรียนเปียโนอยู่ด้วย กำลังจะต้องสอบเกรดแปดซึ่งเป็นเกรดจบ บวกกับพอเข้าคณะดุริยางคฯ ที่บ้านก็ขออีกว่าไหนๆ ให้เรียนสิ่งที่อยากเรียนแล้ว เขาขอเกียรตินิยมนะ ผมในตอนนั้นเลยต้องเรียนหนังสือแบบบ้าคลั่ง ซ้อมเปียโนแบบบ้าคลั่ง แล้วก็ทำวงอย่างบ้าคลั่งในเวลาเดียวกัน ทั้งหมดนี้ในปีหนึ่งเทอมหนึ่ง คือมันหนักจริงๆ
“จำได้ว่าเคยโทรไปร้องไห้กับพี่อัดด้วย บอกว่าจะไม่ทำวงแล้ว เพราะตอนนั้นพี่อัดเขาพุ่งมากไง ผมก็โทรไปบอกว่า เออ งั้นพี่ไปก่อนเลย”
“ตอนนั้นเราเลยแบบ เออ ได้ กูไปก่อนแล้วกัน—” อัดทำท่าจะเล่าต่ออีกยาว
“ไม่ พี่ยื้อเว้ย” แต่ตนขัดขึ้นก่อนที่เพื่อนร่วมวงรุ่นพี่จะพูดจบ
“พี่ยื้อ แต่พี่ก็ดุ นี่ยังจำภาพได้อยู่เลย พี่พูดว่ามึงต้องจัดการให้ได้ มึงต้องทำให้ได้สิวะ แม่ง กดดันหนักกว่าเดิมอีก (หัวเราะ)”
ด้วยความที่ทั้งคู่เป็นมือใหม่ (มาก) ตารางส่วนตัวและเส้นทางของวงก็ยังไม่มีอะไรแน่นอน ไหนจะปัญหาเฉพาะหน้าอีกร้อยแปดพันเก้า สถานการณ์ภายในวง mints ที่เพิ่งจะเริ่มต้นได้ไม่นานจึงเข้าสู่ภาวะคุกรุ่น
“บางทีเราก็จะรู้สึกว่าทำไมกูทำอยู่คนเดียว ทำไมตนไม่ช่วย ทั้งที่จริงๆ มันไม่ได้จะไม่ช่วยนะ มันแค่ไม่เคยทำมาก่อน ยังไม่เข้าใจว่าต้องทำอะไร เราเลยไม่ได้ทะเลาะกันด้วยเหตุผลว่าทำไมมึงถึงไม่ทำ แต่เพราะเราอยากให้วงดีขึ้น เราอยากให้ตนทำได้ คือมันเป็นการแชร์กันมากกว่าว่ารอบหน้าก็แค่ทำให้ดี
“มันดูเหมือนจะทะเลาะกัน แต่จริงๆ มันคือการเรียนรู้เนอะ” อัดหันไปถาม โดยมีตนพยักหน้ารับ
บทเรียนสำคัญในครั้งนี้ที่ทั้งคู่บอกกับเราคือ ทะเลาะกันเร็วเท่าไหร่ ก็เข้าใจกันเร็วเท่านั้น
หลังจากปรับจูนเข้าหากันใหม่ mints จึงได้เวลาออกซิงเกิลแรกอย่าง เหลือ / fine. ในปี 2560 โดยทั้งสองคนบอกว่าหลังจากปล่อยทีเซอร์ ก็มีค่ายเพลงติดต่อเข้ามาชักชวนร่วมสังกัดทันที
“แต่เราไม่ไปครับ” กลับเป็นคำตอบของทั้งคู่
“เรารู้สึกว่ายังไม่ได้ลองทำทั้งหมดด้วยตัวเอง เราอยากเข้าใจกระบวนการทำทั้งหมดว่าถ้าจะทำวงสักวงนึงต้องทำอะไรบ้าง ตอนนั้นเรายังไม่ทันได้เรียนรู้อะไรเลย คือมันได้เรียนรู้แหละ แต่ว่ายังไม่จบคอร์ส จะตอบตกลงกับค่ายไปก็กลัวว่าเราจะข้ามขั้น
“ยิ่งเราเป็นนักแสดงมาก่อน ถ้ายังไม่เข้าใจด้านนี้มากพอจะไปทำ สุดท้ายแล้วมันจะมีคำมาแปะป้าย ช่วงนั้นเราเลยต้องพิสูจน์ตัวเองอยู่ตลอดเวลา ว่าถ้าอยากจะทำ อย่างน้อยกูต้องตะบี้ตะบันนะ ต้องเข้าใจมันจริงๆ ก็คุยกันว่า เอาวะ ลำบากกันหน่อย”
เมื่อตัดสินใจว่าจะ ‘ลำบากกันหน่อย’ อัดและตนจึงต้องทุ่มหมดตัวอีกตั้ง เงินเก็บจากงานแสดงหมดกระเป๋าสตางค์ถูกเอามาเล่นแร่แปรธาตุ จนออกมาเป็นผลงานเพลงใหม่อีกสองซิงเกิล คือ ไม่ง่าย และ ยังไงดี / Should I
อย่างที่พวกเขาบอกว่าลงกันไปหมดกระเป๋า ด่านต่อไปที่ mints ต้องเผชิญหลังจากปล่อยเพลงที่สามจึงไม่ใช่อะไรนอกไปจากหาเงิน
ด้วยความที่ยังอยู่ในระหว่างเรียน งานแสดงก็ไม่ค่อยมีเข้ามา พวกเขาจึงเจอทางตันกันไปชั่วขณะ แต่โชคดีที่ระหว่างกำลังคิดวิธีหาเงินมาลุยกันต่อนั้น ค่าย What The Duck ก็เข้ามารดน้ำต่อชีวิตให้ต้น mints ได้ทันเวลาพอดี
หลังจากมีต้นสังกัดเรียบร้อย mints จึงทยอยออกผลงานใหม่ให้เราได้ฟังอีกหลายเพลง ไม่ว่าจะเป็น พร้อม, lovephobia, ถึงเวลาฟัง และเพลงล่าสุดอย่าง เก็บมันเอาไว้ / kept. ที่เพิ่งปล่อยไปเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2565
แต่ถึงจะมีผลงานในมือ มีค่าย และสามารถเรียกตัวเองว่าเป็นนักดนตรีได้อย่างเต็มปาก ภาพจำของการเป็น ‘ดาราที่ร้องเพลงได้’ ก็ยังคอยเป็นเงาตามติดพวกเขาอยู่ไม่ไปไหน อัดบอกกับเราว่าทุกวันนี้เขาก็ยังโดนถามเกี่ยวกับเรื่องที่ว่าอยู่บ่อยครั้ง
“เรารู้ว่าคำนี้แม่งมาแน่นอน” เขากล่าว
“แล้วปีแรกคือปีที่เรายังใหม่ ยังไม่มั่นใจในตัวเองว่าจะสามารถเอาชนะคำนี้ได้ไหม จะทำยังไงให้คนเชื่อว่าเราเป็นศิลปิน ว่าเราทำได้มากกว่าหนึ่งอาชีพ นั่นคือโจทย์แรก
“พอเริ่มทำวง เราไม่มีความรู้ ไม่ได้เรียนดนตรี ตอนแรกแต่งเพลงไม่เป็นด้วยซ้ำ ทุกอย่างคือความชอบ แพสชั่นล้วนๆ เราทั้งสองคนก็พยายามทำไปเรื่อยๆ ในทางที่เราเป็นและเราเชื่อ ทำทุกทางเพื่อให้มันทะลุกำแพงนั้นไปได้ อาจจะยังเปลี่ยนความคิดคนไม่ได้ในปีสองปีหรอก แต่เราก็ค่อยๆ ไป
“อีกอย่างทุกวันนี้คำว่าศิลปินมันแล้วแต่คนมอง มันคือรสนิยม ถ้าเรามั่นใจว่าเต็มที่แล้ว เราว่ามันก็คืองานศิลปะ ไม่มีถูกไม่มีผิด สำหรับเราตอนนี้เลยไม่ได้สนใจแล้วว่าคนจะมองว่าเราเป็นดารามาร้องเพลงไหม ช่างแม่ง กูรู้ว่ากูทำอะไรบ้าง วันนี้กูแฮปปี้แล้วกับสิ่งที่กูทำ”
Stage IV
Fully Grown
The final stage, bright in color, starts producing fruits and flowers.
And the life cycle can begin all over again.
mints ในปัจจุบันกำลังผลิใบใหม่ก้าวเข้าสู่ปีที่ห้าในฐานะศิลปินคู่ กับคนสองคนที่อยู่ด้วยกันมานาน ผ่านอะไรด้วยกันมาก็มากขนาดนี้ เหตุผลก็คงจะเป็นเพราะพวกเขาเข้าอกเข้าใจกันเป็นอย่างดี แชร์ความชอบในอะไรหลายๆ อย่างร่วมกัน…
“ความชอบเราไม่เหมือนกันเลยครับ”
อ้าว!
อัดและตนอธิบายให้ฟังว่าพวกเขาเป็นเพื่อนสนิทกันก็จริง แต่ไม่ใช่เพื่อนสนิทแบบที่ออกไปเดินเที่ยวสังสรรค์ในวันหยุด ด้วยไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างตั้งแต่เรื่องเล็กๆ อย่างกาแฟ ร้านเหล้าที่ถูกใจ ไปจนถึงแนวภาพยนตร์ที่ชื่นชอบ ทั้งคู่ถึงขนาดลงความเห็นว่าถ้าหากจะต้องไปเที่ยวต่างประเทศด้วยกัน คงจะต้องแยกกันไปคนละทางแล้วค่อยกลับมาเจอกันอีกครั้งตอนเย็น
แม้กระทั่งเรื่องรสนิยมการอ่าน อัดที่สนใจประเด็นการเมืองเป็นทุนเดิมเลือกให้ ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี กับบรรดาหนังสือต้องห้ามเป็นงานที่เขาอ่านอยู่บ่อยครั้ง รวมไปถึงวรรณกรรมภาษาอังกฤษที่แวะอ่านบ้างตามโอกาส ในขณะที่ตนซึ่งมีน้องสาว นอกจากมังงะแล้ว เขาสนุกสนานกับการอ่าน ลา ฟลอร่า โรงเรียนป่วนก๊วนเจ้าหญิง, หนังสือพัฒนาตัวเองชุด ไม่ยากถ้าอยาก… ไปจนถึงนิยายคลาสสิกอย่าง โลลิต้า (Lolita) และ เชอร์ล็อก โฮล์มส์ (Sherlock Holmes)
“ตอนนี้เรื่องเพลงก็เริ่มต่างแล้วนะ” อัดชี้ประเด็น
“พอเราเริ่มโต เหมือนต่างคนต่างก็เจอทางของตัวเองที่ลึกขึ้น คือแกนกลางเรายังเหมือนเดิมแหละ 50 เปอร์เซ็นต์ยังซ้อนทับกันอยู่ แม้ว่าอาจจะเคยถึง 80 เปอร์เซ็นต์ก็ตาม ซึ่งในมุมนึงมันดีนะ เพราะเราจะมีอะไรใหม่ๆ มาแชร์กัน อย่างบางทีตนฟังเพลงร็อก เพลงพังก์ แล้วครีเอตอะไรที่เราคิดว่าคงไม่เข้ากับเราแน่ แต่พอได้ลองจริงๆ มันดันเกิดสิ่งใหม่ที่ดีขึ้นมาแบบไม่เคยคิดมาก่อน
“ความต่างตรงนี้เลยกลายเป็นความเคารพซึ่งกันและกัน บางครั้งเราอาจจะคิดไม่ถูกต้องเท่าคนที่อายุน้อยกว่าก็ได้ ต่อให้เขาเด็กกว่าเราสามปี แต่เขาอาจจะเห็นอะไรที่เราไม่เห็น มันเลยเหมือนยิ่งโตขึ้น ความไม่เข้ากันแม่งดันเวิร์ก”
“ผมภูมิใจนะที่วงเราพูดเรื่องนี้ได้อย่างเต็มปาก” ตนพูดขึ้นบ้าง
“ถ้าเป็นคนอื่นเขาอาจจะแบบวงเราต้องไม่ทะเลาะกัน ต้องเหมือนกัน ไปในทิศทางเดียวกัน แต่อย่าง mints มันคือคนละทางเลย ซึ่งช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็พิสูจน์แล้วว่าเราอยู่ด้วยกันได้”
จากที่พวกเขาเล่ามา การได้เป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่คือสิ่งที่ทั้งคู่นับว่าเป็นกำไรจากการทำวง mints ไม่ว่าจะอยากแต่งตัวแบบไหนหรืออยากทำอะไร พวกเขาสามารถเลือกตามใจได้ทั้งหมดแบบไม่ต้องมีห่วงหรือกรอบใดๆ มาปิดกั้น
อัดและตนบอกกับเราว่า วันนี้พวกเขาคือตัวเองในเวอร์ชั่นที่ดีที่สุด
และถึงแม้ตลอดห้าปีที่ผ่านมา mints จะมีผลงานเพลงเพียงแค่สิบเพลง ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนที่ไม่มากมายอะไร แต่ทั้งสองคนยืนยันว่านั่นคือสิบเพลงที่พวกเขาอยากพูดจริงๆ เป็นสิบเพลงที่เปรียบเสมือนไดอารี่และหลักกิโลฯ ของชีวิตตลอดช่วงหลายปีที่พวกเขาเดินทางมาด้วยกัน
ตนยังแอบกระซิบบอกอีกว่าหลังจากนี้ mints จะปล่อยเพลงถี่ขึ้น เพื่อเป็นการพิสูจน์และย้ำภาพความเป็นนักดนตรีให้ชัดเจนยิ่งขึ้น พวกเขาจะเริ่มต้นเดินทางใหม่ในแบบที่รู้ว่าจุดบอดของตัวเองคืออะไร ลองจริงจังกันอีกสักครั้งเพื่อหาคำตอบว่า mints จะไปได้ไกลแค่ไหน
“แต่แบบนี้จะไม่กดดันตัวเองเหรอคะ” เราตั้งคำถาม
“ถ้าเป็นเรื่องว่าอยากทำให้ออกมาดี มันมีความกดดันอยู่แล้วครับ เมื่อก่อนอาจจะกดดันกว่านี้ว่าทำไมเราสู้คนอื่นไม่ได้ แต่ทุกวันนี้ผมเฉยๆ นะ เพราะเรามาไกลฉิบหายแล้วจากวันแรก อย่างที่เห็นว่าอุตสาหกรรมมันใหญ่ แล้ววงที่ดังอยู่นี่เขาคือท็อปหนึ่งเปอร์เซ็นต์ มันยังมีวงอยู่ข้างล่างภูเขาน้ำแข็งอีกเยอะมาก ซึ่งเราก็คงเป็นหนึ่งในนั้น
“เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราคาดหวังคืออยากให้มันเป็นอาชีพได้จริงๆ มากกว่า ที่ทำอยู่เรามีความสุขแหละ ผมว่าทุกคนก็คงอยากทำสิ่งที่เรามีความสุขเป็นอาชีพ ทุกวันนี้ mints ไม่ได้เป็นอาชีพหลักของเราขนาดนั้น เพราะรายได้อาจไม่ได้เยอะ ที่เราคาดหวังอยากให้วงดัง ก็เพราะเราอยากมีงานเล่น อยากมีคนรู้จัก เราจะได้เอาเงินตรงนี้ไปลุยกันต่อ เอาไปให้นักดนตรีแบ็กอัพที่อยู่กับเรามาตั้งแต่วันแรก เรื่องนี้มากกว่าที่ทำให้เราอยากไปให้ไกลกว่าเดิม”
นั่นคือสิ่งที่ตนบอกกับเรา โดยมีอัดเสริมต่อว่าสิ่งที่พวกเขากำลังแข่งด้วยไม่ใช่คนอื่นหรือวงไหนๆ แต่เป็นการแข่งกับตัวเองในวันแรกที่ตัดสินใจฟอร์มวง
“มองย้อนกลับไปแล้วเราภูมิใจนะ รู้สึกว่า โห มึงเก่งว่ะ ต่อให้อีกสองปีเลิกทำวง เราก็ยังจะภูมิใจว่าอย่างน้อยได้ทำมันจริงๆ ต่อให้ไม่ได้สำเร็จเท่าคนอื่น แต่จุดที่เรามาถึงตรงนี้ เราภูมิใจกับมันมาก
“มันไม่ใช่ว่าศิลปินทุกคนจะประสบความสำเร็จในห้าปี บางคนแม่งสิบปี สิบห้าปี หรือบางทีเราอาจจะเลิกทำวงแล้วเพลงเพิ่งดังก็ได้ เพราะฉะนั้นมันเลยกลับมาที่ตัวเอง แฮปปี้ไหม แฮปปี้ก็จบ หาเลี้ยงชีพได้แค่ไหนค่อยว่ากัน อยากทำต่อไหม ถ้าอยากทำต่อแต่หาเลี้ยงชีพไม่ได้ ทำอย่างอื่นไปด้วยได้หรือเปล่า มันแค่ต้องยอมรับความจริงว่าอุตสาหกรรมอาชีพนี้มันเป็นแบบนี้ ที่เหลือเราก็แค่ทำต่อไปในแบบที่เราเชื่อ”
เข้าใจความเป็นไปของอุตสาหกรรม ตั้งใจกับสิ่งที่ทำในทุกขั้นตอน และสุดท้ายยอมรับตัวเองให้ได้แบบไม่โกหก คือแก่นสำคัญที่อัดและตนใช้เป็นเครื่องยึดให้ตัวเองยืนต้น พวกเขาสองคนมีความสุขไปกับการเฝ้ามองพัฒนาการของ mints ต้นนี้ ไม่ว่าสุดท้ายแล้วมันจะเจริญงอกงามเป็นต้นไม้ใหญ่หรือไม่ อัดชี้ว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือการที่เขาทั้งคู่ได้ลงมือทำทุกอย่างด้วยตัวเอง
“ตอนที่เป็นนักแสดง มันคือโอกาสที่คนอื่นหยิบยื่นมาให้ ซีรีส์แม่งดัง กลายเป็นที่รู้จัก แต่มันไม่ได้เกิดจากการที่เราลุกขึ้นมาทำอะไรด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้น mints สำหรับเราจึงเป็นการเริ่มจากศูนย์ เราไปหยิบเมล็ดมาด้วยตัวเอง ค่อยๆ ปลูกมัน เห็นการเติบโตของมัน ทุกการเติบโตเราเป็นคนรดน้ำเอง เราเลยภูมิใจกับแต่ละก้าว เพราะทุกก้าวเกิดจากความคิดและความตั้งใจ ไม่ว่าจะผิดพลาดหรือจะสำเร็จ มันคือสิ่งที่เราเลือกเอง
“การเป็นนักแสดงบางทีผลลัพธ์มันไม่ได้อยู่แค่เรา มันมีอีกหลายปัจจัยที่เกิดขึ้น แต่พอมาทำวงแล้วเราลงไปอยู่กับมัน เดินทางมาด้วยกันแบบทุกรายละเอียด ไม่มีจุดไหนเลยที่เราพลาดไป ไม่มีจุดไหนที่เราไม่ได้เห็น ช่วงไหนที่ mints ไม่โต เราก็รู้ว่ามันไม่โตเพราะอะไร ทุกอย่างมันเคลียร์ ถ้าเราผิด ถ้าเราล้ม ถ้าเราทำพลาด แม่งก็คือเราไง และเราก็ได้เรียนรู้จากมันในทุกๆ วัน”
“แล้วถ้าให้เขียนตัวละครแทน mints ขึ้นมาตอนนี้เลย คิดว่าเขาจะเป็นคนแบบไหนคะ”
อัดและตนผลัดกันแชร์ความคิดเห็น สำหรับพวกเขา mints ในวันนี้อาจเป็นได้ทั้งคนที่มีความมั่นใจ คนที่ไม่กลัวจะผิดพลาด คนที่ต่อให้จะโดนไล่ออกจากงานก็จะหาทางไปอื่นๆ คนที่พร้อมจะลองทำอะไรใหม่ๆ คนที่รู้สึกว่าผ่านมาในชีวิตยังไม่ได้เอาจริงขนาดนั้น ไปจนถึงคนที่เชื่อมั่นเต็มที่ในสิ่งตัวเองทำอยู่
แต่ท่ามกลางคำตอบและความเป็นไปได้มากมายนั้น “คนที่เชื่อว่ามันจะไม่ตาย” คือคำตอบสุดท้ายของ mints