In-between Modern Relationship
คุยกับ ‘จุ๋ม—ปนิธิตา เกียรติ์สุพิมล’ บรรณาธิการบริหาร P.S. Publishing สำนักพิมพ์ที่ยืนหนึ่งเรื่องความสัมพันธ์
เรื่อง: แอน เดือนเพ็ญ
ภาพ: ปั้น มิตรวิจารณ์
‘ความรัก ความสัมพันธ์ และเซ็กซ์แบบร่วมสมัย’ คือองค์ประกอบหลักที่เปรียบเหมือนดีเอ็นเอของ P.S. Publishing สำนักพิมพ์เล็กๆ ที่ก่อตั้งโดย ‘จุ๋ม—ปนิธิตา เกียรติ์สุพิมล’
ปีนี้นับเป็นปีที่ 7 แล้วที่ P.S. ทำหนังสือขนาดกะทัดรัด เนื้อหาสั้นๆ ทว่าหนักแน่น อย่างกับโดนหมัดฮุกพุ่งตรงที่หัวใจ เริ่มต้นจากความตั้งใจแรกที่ปนิธิตาต้องการนำเสนอวรรณกรรมไทยในรูปแบบใหม่ๆ ผ่านน้ำเสียงของผู้หญิงที่เล่าเรื่องร่วมสมัย ก่อนขยายไปสู่ความหลากหลายของความสัมพันธ์และเรื่องเพศ
พูดได้ว่าตัวตนของ P.S. คือปนิธิตาคงไม่ผิดนัก เพราะเธอใช้จริตของตัวเองเป็นหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกงานเขียน เริ่มจากหนังสือเล่มแรก Lucida โดย ชล เจนประภาพันธ์ ก่อนที่สำนักพิมพ์จะดังเปรี้ยงจาก Abstract Bar และเรื่องสั้นอื่นๆ โดย ปอ เปรมสำราญ และเดินทางมาเรื่อยๆ ในถนนสายการทำหนังสือที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ จนตอนนี้มีหนังสือกว่าสี่สิบปกแล้ว
ในบ่ายวันเสาร์ของเดือนแห่งความรัก เราจึงเลือกเดินทางไปพูดคุยกับคนทำหนังสือคลั่งรัก ณ ตึกแถวบริเวณเพชรเกษมซอย 12 ที่ตั้งของออฟฟิศสำนักพิมพ์ P.S. โดยมีด้านล่างเป็น Somewhere bookshop ร้านหนังสืออิสระที่ปนิธิตาก่อตั้งขึ้นเมื่อปีที่แล้ว
ท่ามกลางบรรยากาศที่ไม่ร้อนจนเกินไป ฝุ่นละอองลอยคว้างต้องแสงแดดราวกับดวงดาวในจักรวาล เบียร์ในมือเย็นเฉียบ ตัวอักษรหลังจากนี้คือคำพูดตรงไปตรงมาที่เราได้จากการสนทนากับปนิธิตา
เรารู้ว่านักอ่านรู้จัก P.S. ในฐานะสำนักพิมพ์ที่ยืนหนึ่งเรื่องความสัมพันธ์ แต่ความจริงแล้วมันมีเรื่องอื่นๆ ในนั้นอีกไหม
เราเลือกทำสำนักพิมพ์ในเรื่องที่รู้จริงและอยู่กับมันได้ ซึ่งความรักความสัมพันธ์คือตัวตนของเรามากที่สุด บอกได้เลยว่าในบรรดาสำนักพิมพ์ทุกวันนี้ P.S. คลั่งรักที่สุดแล้ว แต่พอทำงานไปเรื่อยๆ เราค่อยมารู้ชัดเจนว่าเรื่องที่ทำอยู่คือเรื่องของมนุษย์นี่แหละ เป็นส่วนที่ครอบคลุมถึงอารมณ์ ความรู้สึก ตรรกะเหตุผล ความรู้ ความทรงจำ ประวัติศาสตร์ส่วนบุคคล หรือแม้กระทั่งเรื่องเล็กๆ อย่างการร้องไห้ที่สุดท้ายแล้วก็เชื่อมโยงกับสังคม เราเลยมองว่าการทำงานเขียนเรื่องความรักความสัมพันธ์มันคือการพูดถึงมนุษย์ในมิติต่างๆ มันไม่ได้มีแค่มุมความรักความสัมพันธ์อย่างเดียว
คุณตั้งใจให้ผลงานเป็นสุ้มเสียงของผู้หญิงเป็นหลักตั้งแต่แรกเลยใช่ไหม
ใช่ ถึงแม้ตอนนี้จะมีนักเขียนที่มีเพศสภาพชายหรือเพศกำเนิดชายแต่เป็นเพศสภาพอื่นด้วยแล้วก็ตาม แต่โดยน้ำเสียงเรายังคิดว่าวรรณกรรมของ P.S. เป็นวรรณกรรมที่มีน้ำเสียงของความเป็นเพศหญิงอยู่
ทำไมถึงอยากเล่าจากฝั่งผู้หญิง
เพราะวรรณกรรมไทยส่วนใหญ่ที่ผู้ชายเขียนมักจะเขียนไปทางว่าตัวเองมีความสามารถเก่งกาจบนเตียง นอกจากต้องแข็งแกร่ง ไม่ร้องไห้แล้วยังต้องถึกทน แต่ของ P.S. ไม่เป็นแบบนั้น ต่อให้นักเขียนเป็นผู้ชาย เสียงที่เล่าออกมาก็จะแทนเสียงของผู้หญิงด้วย อย่างการเจ็บได้ร้องไห้เป็น ไม่อยากเป็นผู้นำครอบครัว หรือกระทั่งจู๋ไม่แข็งก็ยังได้ เราเปิดโอกาสให้ความรู้สึกหรือเฉดของความเป็นมนุษย์เพศชายแสดงออกมาได้หลายๆ แบบ หลายๆ สเปกตรัม
รวมไปถึงผู้ชายที่อาจเพิ่งค้นพบตัวเองว่าชอบเพศเดียวกันได้ ทั้งๆ ที่มีแฟนเป็นผู้หญิงก็ตาม
ถูกต้อง เพราะความสัมพันธ์มันหลากหลายมาก ถ้าคุณเป็นสำนักพิมพ์ที่ยืนหนึ่งเรื่องความสัมพันธ์เมื่อ 30 ปีที่แล้ว คุณทำแค่ชาย-หญิงอย่างเดียวก็ได้ แต่เรากำลังทำเรื่องความสัมพันธ์ ณ ปีนี้ตอนนี้ ซึ่งมันมีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น
การทำ P.S. ทำให้มุมมองความสัมพันธ์ของคุณเปลี่ยนไปบ้างไหม
ก่อนหน้านี้ P.S. ดูเป็นสำนักพิมพ์ที่มีความหยิ่งผยอง ก้าวร้าว เหวี่ยงวีนเก่ง เนื่องจากหนังสือที่ตีพิมพ์ช่วงแรกๆ เซตคาแร็กเตอร์ไว้ประมาณนี้ แต่ระหว่างทางเรามีเพื่อนมากขึ้น รู้จักคนมากขึ้น เห็นความสัมพันธ์มากขึ้น มีนักเขียนที่เข้ามาเติมส่วนผสมบางอย่างของภาวะอารมณ์ให้ไม่สูงปรี๊ดจนเกินไป มันเลยกลมกล่อมมากขึ้น
และจะด้วยอายุหรือการทำงานเขียนเรื่องความสัมพันธ์มาเยอะก็ตาม เราเหมือนเข้าใจและยอมรับมันได้มากขึ้น ครั้งหนึ่งเราอาจเคยเสียใจและไม่ให้อภัยกับเหตุการณ์หนึ่ง แต่พอเป็นวันนี้เราให้อภัยได้ง่ายขึ้นมาก เพราะไม่อย่างนั้นมันจะขัดแย้งกับการที่เราทำสำนักพิมพ์ที่อยากให้คนเข้าใจความสัมพันธ์ ไม่ทนอยู่กับความสัมพันธ์ toxic แต่ตัวเองกลายเป็น toxic ซะเอง พูดง่ายๆ ว่าเราถูกขัดเกลาจากงานที่ตัวเองทำ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเราทำทุกอย่างได้ดีร้อยเปอร์เซ็นต์นะ เพียงแต่เราก็พยายามทำให้ได้อย่างที่บอกคนอ่านผ่านหนังสือ
แล้วทัศนคติความรักที่โตขึ้นส่งผลต่อการทำสำนักพิมพ์ไหม
ส่งผล ซึ่งมันกลายเป็นทั้งจุดแข็งกับจุดอ่อน เพราะถ้าเราโตขึ้นทำเรื่องความสัมพันธ์ที่มั่นคงขึ้น แต่คนอ่านที่ยังไม่โตพอที่จะเข้าใจเรื่องนี้ เขาอาจจะไม่เข้าใจว่าถ้าไม่รักกันแล้วก็เลิกกันแยกกันง่ายๆ เป็นยังไง หรือทำไมตัวละครถึงโอเคกับการที่แฟนยังติดต่อกับแฟนเก่า เนื่องจากคนอ่านเขาเพิ่งเริ่มมีความรัก หรืออกหัก หรือมีเซ็กซ์ครั้งแรก ดังนั้น P.S. จะกลายเป็นเหมือนพี่สาว แต่ไม่ได้เป็นเพื่อนเขาอีกต่อไป ซึ่งนี่คือโจทย์ที่เราต้องแก้ในปีที่ 7 ของการทำงาน
เป็นเรื่องยากใช่ไหมที่คุณในวัยที่โตขึ้นจะสื่อสารได้ตรงใจกลุ่มนักอ่าน P.S. ที่ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น
มันเป็นไปโดยปริยาย เราฝืนไม่ได้หรอก นี่จึงทำให้ปีนี้เราคุยและตกลงกับตัวเองแล้วว่าสิ่งที่จะทำให้ P.S. อยู่ต่อไปได้อีกนานคือตัวเราต้องถอยออกมา การที่เราใช้ตัวตนทำสำนักพิมพ์จนแข็งแรง วันหนึ่งมันจะเป็นจุดอ่อน เพราะตัวตนของเราที่แก่ลงเรื่อยๆ จะไม่สามารถสื่อสารกับน้องๆ รุ่นใหม่ได้อีกแล้ว มันเลยเป็นปีที่เราตั้งใจคายตะขาบส่งต่อความรู้ที่มีให้ บ.ก. กราฟิกดีไซเนอร์รุ่นใหม่ และน้องที่ดูแลคอนเทนต์ออนไลน์ ซึ่งเราต้องปล่อยวางและวางใจพวกเขาให้ได้ เนื่องจากมันจะมีความรู้สึกที่เราทำสำนักพิมพ์ของเรามา น้องๆ จะทำไม่ได้หรือทำได้ไม่ดีเท่าเราไหมวะ แต่สุดท้ายพอให้อิสระพวกเขาเต็มที่ มันเวิร์กและให้ผลที่ดีกว่าจริงๆ
การมีทีมงานรุ่นใหม่เข้ามา ทำให้เกณฑ์คัดเลือกต้นฉบับของ P.S.เปลี่ยนไปไหม
ไม่ค่อยนะ เพราะตอนรับน้องมาใหม่ๆ ก็ให้เขาเป็นผู้ช่วย บ.ก.ก่อน โดยเรามีงานที่คัดเลือกไว้แล้ว พอต้นฉบับเสร็จก็ส่งต่อให้น้องได้ทำบรรณาธิการ เขาอาจไม่ทันหนังสือช่วงแรกๆ ของ P.S. แต่เขาจะทันเล่มที่มารับช่วงต่อ และเห็นว่าเรื่องราวความสัมพันธ์แบบไหนที่เราสนใจ
หลักๆ คือต้องเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ที่อ่านแล้วยังสนุกอยู่ ไม่รู้สึกถึงความพยายามที่จะยัดให้ตัวละครพูดหรือทำอะไรสักอย่าง เน้นงานเขียนที่ร่วมสมัย ทะลุกรอบวรรณกรรมไทยไปบ้าง
แต่เวลาคนถามว่าหนังสือของ P.S. เรียกว่าแนวอะไร เราก็ไม่รู้จะตอบยังไงเหมือนกัน เพราะไม่ใช่นิยายในขนบที่เคยมีมา เป็นแค่ fragment สั้นๆ กระจุยกระจาย ไม่ต่อกัน เหมือนโปรยเศษเรื่องขึ้นไปบนอากาศแล้วหล่นลงมา
สังเกตว่าหนังสือของ P.S.เป็นไวรัลในโซเชียลมีเดียบ่อย ในฐานะคนทำสำนักพิมพ์ คุณมองโอกาสนี้ยังไง
เป็นเพราะว่าแรกเริ่มสำนักพิมพ์เราดีดตัวขึ้นมาได้จากการใช้มีมสเตตัส ‘ผมอ่านมาร์เกซ’ เราเรียนรู้ว่าคนอ่านอยู่ในแพลตฟอร์มต่างๆ นี่แหละ เลยอาศัยช่องทางนี้เข้าหากลุ่มคนอ่านของเรา โดยใช้ทั้งเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ คลับเฮาส์ จนมาถึง TikTok เมื่อปลายเดือนตุลาคมปีที่แล้ว
โพสต์แรกของเราคือไปถ่ายร้านกาแฟ ทำท่านั่งเปิดหนังสือของ P.S. ใส่เพลง คนดูยังไม่เยอะหรอก แต่พอทำอย่างสม่ำเสมอด้วยความเชื่อที่ว่ามันจะดังเพราะหนังสือเราดี บวกกับเริ่มจับทางคนใน TikTok ได้แล้ว วันหนึ่งก็มีคนดูโพสต์เราเป็นหมื่นเป็นแสน คนอ่านหน้าใหม่ๆ ที่ไม่เคยอ่านหนังสือของ P.S. หรืออ่านวรรณกรรมด้วยซ้ำมาเจอเนื้อหาที่โดนใจก็ไปตามซื้อแล้วรีวิวต่อจนกลายเป็นกระแส อย่างเล่ม BLUE ท้องฟ้ามีน้ำตาเป็นส่วนมาก ตีพิมพ์เมื่อปี 2561 จู่ๆ ก็ขายหมดเกลี้ยง เพราะมีคนเอาไปรีวิว
เราคิดว่าการตลาดมันเปลี่ยนไปแล้วจริงๆ ในยุคที่มีแพลตฟอร์มออนไลน์มากมาย แต่สำนักพิมพ์กลับไม่ปรับตัวตรงนี้เลย ทำการตลาดเหมือนเดิม แถมพูดภาษาที่ฟังยาก ปิดประตูใส่คนอ่าน เราว่าคนทำหนังสือต้องค่อยๆ เปิดประตูรับคนเข้ามาด้วยภาษาและการสื่อสารง่ายๆ ต้องคุยภาษาเดียวกับพวกเขาก่อน แล้วหลังจากนั้นค่อยให้ข้อมูลที่ยากขึ้น
คุณคลุกคลีอยู่กับวรรณกรรมไทยมานาน คิดเห็นอย่างไรกับวรรณกรรมไทยยุคนี้
เราคิดว่าถ้าวรรณกรรมไทยยังติดกรอบกับความสร้างสรรค์ นักเขียนคิดว่าต้องเขียนให้ซีเรียส เขียนให้ได้รางวัลแต่อ่านไม่สนุก สุดท้ายจะเหลือคนอ่านงานคุณ ได้แก่ กรรมการรางวัลซีไรต์ บรรณารักษ์ห้องสมุด และนักวิจารณ์ที่ต้องอ่านเพื่อเขียนลงสื่อ ต่อให้หนังสือเข้าห้องสมุดแต่นักเรียนหรือนักอ่านจะเจอหนังสือของคุณไหม หรือต่อให้เจอจะอ่านไหมด้วยซ้ำ เนื่องจากชื่อหนังสือที่คุณตั้ง เพราะจะตั้งชื่อแหกขนบมากไปก็กลัวไม่ได้รางวัล จะเขียนเรื่องที่เมามันมากไปก็เดี๋ยวไม่ถูกใจกรรมการ
เราพูดตรงๆ ว่าถ้านักเขียนคนไหนที่ตั้งใจเขียนหนังสือเพื่อส่งซีไรต์ ถ้าขายไม่ได้ก็อย่ามาโวยวายว่าทำไมขายไม่ดี ทำไมคนไม่อ่านวรรณกรรมจริงจัง ทำไมคนในแวดวงไม่สนับสนุนกัน ส่วนตัวเรามองว่าถึงจะสนับสนุนกันเองไป แต่สุดท้ายคุณจะเอาแค่นี้เหรอ ทำไมไม่ให้คนอื่นเขาได้อ่านด้วย เราเห็นนักเขียนไทยชอบตัดพ้อว่างานเขาไม่มีคนอ่าน เพราะเขียนยากเขียนจริงจังเกินไป เด็กรุ่นใหม่เลยไม่สนใจ แต่ความจริงแล้วคุณกำลังโทษคนอื่นอยู่หรือเปล่า คุณอยู่ที่เดิม เขียนหนังสือจริงจังแบบเดิมๆ คุณเอาอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยทั้งอนุสาวรีย์ หรือเอาป่าทั้งป่าเข้าไปอยู่ในหนังสือไม่ได้แล้ว ใครจะอยากอ่าน หรือถ้าคุณอยากเขียนก็เขียนไป ไม่มีใครว่า แต่อย่าโอดครวญว่ามันขายไม่ดี ไม่มีคนสนับสนุน เพราะมันจะไม่มีทางไปไหน
อีกอย่างถ้าคุณเขียนหนังสือที่ยืนยันในความเท่าเทียมและความเป็นมนุษย์ แต่ยังสนใจว่าต้องได้รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ ที่วัตถุประสงค์ของมันคือให้แก่นักเขียนหัวกบฏเพื่อดึงเข้ามาเป็นพวกเดียวกับรัฐ คุณจะยังอยากได้รางวัลนี้อีกทำไม ทั้งๆ ที่คุณเขียนวิพากษ์วิจารณ์ระบบสังคมที่ยึดโยงไปถึงโครงสร้าง ทำให้คนอ่านเห็นเพดานที่มีอยู่ แล้วทำไมยังส่งประกวดรางวัลนี้อีก คุณต้องออกมาจากกรอบทำงานเพื่อหวังส่งรางวัลนี้ได้แล้ว ลองไปหากลุ่มคนอ่านกับวิธีขายของตัวเอง เราเชื่อว่าหนังสือทุกเล่มมีกลุ่มคนอ่านอยู่แล้วเพียงแต่คุณต้องหาให้เจอ
ทำไมทำสำนักพิมพ์แล้ว คุณยังทำร้านหนังสืออีก
เพราะว่าพอทำสำนักพิมพ์แล้วมันเกิดความรู้สึกว่าเราสามารถต่อยอดหรือขยายสิ่งที่สนใจอื่นๆ ได้อีก ปีที่แล้วเราเลยทำสองอย่างเพิ่มขึ้นพร้อมกันคือ ร้านหนังสือ Somewhere bookshop ที่เกิดจากการขยายพื้นที่สำนักพิมพ์จากเดิมคือที่บ้านมาเป็นตึกแถว ก็เลยทำชั้นล่างให้เป็นร้านหนังสือเพื่อส่งต่อพลังงานดีๆ ให้คนทำงาน นักเขียน และคนที่มาเยือน โดยไม่ได้ขายเฉพาะหนังสือของ P.S. แต่ยังรวมถึงหนังสือของสำนักพิมพ์อื่นๆ และนักเขียนอิสระที่มีดีเอ็นเอคล้ายๆ เรา
ส่วนสิ่งที่เราทำอีกอันคือ Step โปรเจกต์ที่ P.S. รับจ้างทำหนังสือให้คนที่อยากมีหนังสือเป็นของตัวเองหรือนักเขียนหน้าใหม่ พูดง่ายๆ ว่าเราเป็นเหมือนพี่เลี้ยง ช่วยคิด ทำ บ.ก. ปรู๊ฟ ออกแบบรูปเล่ม ทำการตลาด ดีลสายส่ง รวมถึงจัดจำหน่ายให้ หรือต้นฉบับไหนที่ P.S.เห็นว่าดี ก็อาจจะร่วมธุรกิจกัน เราช่วยพิมพ์ นักเขียนรอรับค่าต้นฉบับ เป็นต้น คิดว่าในปีนี้โปรเจกต์นี้จะจริงจังขึ้น
สุดท้ายนี้คุณตั้งใจจะทำสำนักพิมพ์ไปอีกนานแค่ไหน
เราจะทำไปเรื่อยๆ ในฐานะผู้ก่อตั้ง แต่ไม่ใช่ในฐานะ บ.ก.ที่กุมสำนักพิมพ์ไว้ตลอดเวลา จะพยายามสร้างคนใหม่ๆ เข้ามารับช่วงต่อ รวมถึงขยับไปทำงานอีเวนต์หนังสือ เพราะต้องการทำในสิ่งที่เราเชื่อว่าจะสร้างกระแสให้คนอ่านหนังสือได้ เราอยากทำให้การอ่านเป็นไลฟ์สไตล์ปกติ ไม่จำเป็นต้องผูกไว้กับภาพคนคงแก่เรียน