Fri 18 Mar 2022

NAWAPOL THAMRONGRATTANA-READ

การอ่านในวัยสามสิบกว่า กับหนังสือที่คอยย้ำเตือนตัวตนของ ‘นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์’

     นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ในวัย 38 ปี กำลังจะมีภาพยนตร์ลำดับที่ 8 เข้าฉายในโรงภาพยนตร์

     Fast & Feel Love เร็วโหด..เหมือนโกรธเธอ คือภาพยนตร์ที่นวพลจำกัดความว่าเป็นหนังแอ็กชั่นในชีวิตประจำวัน เรื่องราวของนักแข่งขันสแต็ก ที่ต้องเรียงแก้วให้เร็วให้ไว แต่ถ้านักแข่งขันคนนั้นอายุมากขึ้น มีเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตให้ต้องจัดการมากขึ้น เขาจะยังรวดเร็วได้เหมือนเดิมอยู่มั้ย จะต่อกรกับคู่ปรับที่อายุน้อยกว่า ว่องไวกว่าได้อย่างไร แล้วเขาจะจัดการเรื่องราวในแต่ละวันได้หรือเปล่า จะต่อใบขับขี่ได้ทันเวลามั้ย จะซ่อมปั๊มน้ำได้หรือเปล่า เราเองก็ไม่รู้เหมือนกัน เพราะตอนเขียนต้นฉบับอยู่นี้ยังไม่ได้ดู แถมยังสงสัยไม่ต่างจากที่หลายคนอาจสงสัยว่ารอบนี้นวพลจะมาไม้ไหน แต่พอสบโอกาสได้เจอกัน เราก็งำความสงสัยนั้นไว้ แล้วคิดว่าไว้หาคำตอบในโรงภาพยนตร์ดีกว่า 

     เพราะไหนๆ ก็เป็นเว็บไซต์ที่ชอบอยากรู้อยากเห็นเรื่องการอ่านของผู้คน เราเลยชวนนวพลในวัยสามสิบกว่าๆ พูดคุยถึงหนังสือที่เขาซื้อหามาอ่านว่าจะมีเล่มไหนที่ชอบจนต้องบูชา เล่มไหนที่อ่านเพราะหลงรักคนเขียน และเล่มไหนที่เขาอ่านเร็วโหด..เหมือนโกรธเธอบ้าง

นวพล ธำรงรัตนรี้ด

     นวพลเป็นคนชอบอ่าน 

     เพียงแต่สิ่งที่เขาอ่านในทุกวันนี้อาจไม่ได้อยู่ในรูปแบบของหนังสือ สิ่งที่ผ่านตาของเขามักจะอยู่ในอินเทอร์เน็ต

     “เรารู้สึกเหมือนอ่านอยู่ตลอดเวลาเลยนะ อ่านเยอะด้วย แต่พอนึกว่าอ่านอะไรไปบ้าง หรือจะหยิบเล่มไหนมาพูดถึง กลับรู้สึกว่าทำไมมันมีไม่กี่เล่ม ก่อนจะพบคำตอบว่า อ๋อ เราฟังพ็อดแคสต์ เราอ่านในอินเทอร์เน็ต เวลาอยากรู้อะไร เช่น ดูหนังจบแล้วอยากอ่านสัมภาษณ์ หรือหนังเรื่องนี้สร้างจากเหตุการณ์บางอย่างก็จะไปหาต่อในอินเทอร์เน็ต อ่านไปเลยยาวๆ ซึ่งเราทำแบบนี้บ่อยมาก จนรู้สึกเหมือนได้อ่านอะไรทุกวัน ชุดข้อมูลที่เราได้รับเลยไม่ได้มาจากหนังสืออย่างเดียว 

     “ข้อมูลในอินเทอร์เน็ตมันสดมากเลยนะ มีอะไรให้อ่านทุกวันจนบางทีก็ทำให้เราอ่านหนังสือเล่มน้อยลงเรื่อยๆ แต่ความยากของการอ่านสิ่งต่างๆ ในอินเทอร์เน็ตก็คืออ่านแล้วลืม เราจะรู้สึกเหมือนว่าได้อ่านแล้ว แต่เป็นการอ่านที่เหมือนจะกึ่งๆ ออกไปเลย จำอะไรได้แค่นิดหน่อย จำไม่ได้ด้วยว่าอ่านจากที่ไหน บางทีกลับไปค้นก็หาไม่เจอ ซึ่งคนอื่นอาจมีวิธีจัดการก็ได้นะ เขาอาจจะเซฟอันที่ชอบเก็บไว้ในโฟลเดอร์นึง แต่เรารู้สึกว่าการเก็บเป็นโฟลเดอร์ก็คล้ายๆ การเก็บรูป มันจำไม่ค่อยได้หรอก นึกไม่ค่อยออกเหมือนเดิม เราเลยรู้สึกว่าการอ่านในอินเทอร์เน็ตทำให้ข้อมูลกระจาย ช่วงนี้เราเลยเห็นคุณค่าของหนังสือมากขึ้น”

     นวพลเล่าให้ฟังต่อว่า ช่วงหนึ่งเขาไป TCDC บ่อยมาก (และนี่ก็เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้เขาไม่ได้มีหนังสือติดตัวมากเท่าไหร่) เพื่อใช้บริการห้องสมุด อยู่อ่านนิตยสารและหนังสือเป็นวันๆ โดยเฉพาะ B Magazine นิตยสารสัญชาติเกาหลีใต้ที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับแบรนด์จากทั่วมุมโลก คือหนึ่งในนิตยสารที่นวพลไล่อ่านจนแทบครบทุกเล่ม ขณะเดียวกันเขาก็ไม่ลืมที่จะเดินเข้าร้านหนังสือเพื่อส่องหาหนังสือหรือเรื่องที่เขาสนใจ

     “เวลาไปร้านหนังสือ ถ้าเจอเรื่องที่สนใจจะซื้อเลย เพราะหลังๆ รู้สึกว่าเวลาอ่านจากหนังสือจะจำได้ง่ายกว่า แต่ก่อนเราไม่ค่อยรู้สึกถึงสิ่งนี้เท่าไหร่ มาเห็นถึงคุณสมบัตินี้ชัดเจนก็ในยุคที่ดาต้ามันกระจาย การได้อ่านข้อมูลที่เรียงกันเป็นระเบียบช่วยให้โฟกัสได้ดีขึ้น จำได้ง่ายขึ้น จำได้นานขึ้น เวลาเข้าใจก็เข้าใจเลย อยู่กับตัวไปเลย เช่น เราอ่าน Happy City (หนังสือของ ชาร์ลส์ มอนต์โกเมอรี (Charles Montgomery) เกี่ยวกับการออกแบบเมืองที่สัมพันธ์กับชีวิต) ก็จะเข้าใจเรื่องการจัดการ urban space จนนำไปใช้ต่อได้ มันจะต่างจากการอ่านในเว็บไซต์ที่เหมือนได้แค่เกร็ดสั้นๆ เวลาจะใช้งานจริงๆ ก็ลืม เพราะคุณไม่ได้อ่านต่อเนื่องสิบบท จนเกิดเป็นก้อนในหัวแบบนี้

     “หลังๆ เราเลยไม่ลังเลเวลาซื้อหนังสือ ยิ่งพวกหนังสือภาษาอังกฤษ ถ้าอยากอ่านจะซื้อเลย แต่ก่อนจะมีอารมณ์แบบเอ๊ะ จะได้อ่านมั้ยนะ จะคุ้มมั้ย แต่เดี๋ยวนี้ซื้อๆ มาเหอะ ได้อ่านแหละ มันเลยมีหนังสือแปลกๆ เต็มบ้านไปหมด”

     แบบนี้แปลว่านวพลเป็นนักดองด้วยหรือเปล่า?

     “เราซื้อหนังสือง่ายขึ้น แต่ซื้อไม่เยอะ เพราะว่าเราเป็นคนอ่านหนังสือช้า ถ้าเทียบกับคนที่อ่านหนังสือเล่มเดียวกัน บางคนอ่านสามวันจบ เราอ่านเป็นเดือนยังไม่จบเลย บางทีอ่านห้าหน้าก็พอแล้ว แต่ว่าพยายามจะอ่านไปเรื่อยๆ ไม่อยากบีบตัวเองว่าวันนี้มึงต้องพิชิตให้ได้สองบท เพราะกลัวจะเลิกอ่านเสียก่อน ก็เลยอ่านแบบฟรีสไตล์ แล้วก็เราเป็นคนอ่านหนังสือทีละเล่ม เพราะรู้สึกว่าเวลาอ่านเรื่องเดียวติดๆ กันมันเหมือนได้เดเวลอปต่อไปเรื่อยๆ คล้ายกับการเรียนหนังสือนิดหน่อย 

     “หลังๆ เลยชอบอ่านจากหนังสือมากขึ้น ซึ่งไม่เกี่ยวกับการได้สัมผัสกระดาษอะไรเลยนะ มันแค่ให้ความรู้สึกว่าการอ่านจากเล่มจัดการได้ดีกว่า เป็นเหมือนกลไกการจัดการความทรงจำ อ่านแล้วจำได้นานกว่า ซึมซับได้มากกว่า เพราะได้อ่านต่อเนื่อง แถมยังมีเรื่องของเลย์เอาต์ ไม่เป็น fragment ไม่มีอะไรมาคอยคั่นแบบในเฟซบุ๊กที่เรื่องราวของเพจต่างๆ จะถูกแทรกด้วยโพสต์ของเพื่อน โพสต์รายงานข่าว วิดีโอ หรือเพลงออกใหม่”

นวพล ธำรงรัตนลิสต์

     นวพลบอกว่าเขากำลังย้ายบ้าน หนังสือที่มีอยู่กับตัวในเวลานี้เลยไม่ค่อยเยอะเท่าไหร่ ถึงอย่างนั้นเมื่อเราขอให้เขาช่วยเลือกหนังสือที่นวพลในวัยนี้เลือกพกมาเก็บไว้ที่บ้านใหม่ เขาก็แบ่งหนังสือออกเป็นสามหมวดใหญ่ๆ

1
หนังสือที่พูดเรื่องเดียว

     หนังสือหมวดนี้คือหนังสือที่พูดเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ จำพวกพ็อกเก็ตบุ๊กที่เราพบเห็นได้บ่อยๆ ตามร้านหนังสืออย่างเช่น Happy City หรือบุ๊กกาซีนจากต่างประเทศที่อาจเลือกหัวข้อใดหัวข้อหนึ่งมาพูดเน้นๆ 

     ยกตัวอย่างเช่น Studio Culture Now หนังสือว่าด้วยการทำงานของสตูดิโอออกแบบในแต่ละมิติ ทั้งการดีลกับลูกค้า การบาลานซ์ความเป็นตัวตนกับการว่าจ้าง ซึ่งถูกเล่าผ่านบทสัมภาษณ์ของสตูดิโอออกแบบเด่นๆ แห่งยุคสมัย หรือ Dirty Furniture นิตยสารสุดอินดี้จากอังกฤษที่ตั้งใจเล่าเรื่องการเมือง ประวัติศาสตร์ เทคโนโลยี จิตวิทยา ผ่านเฟอร์นิเจอร์ที่เราคุ้นกันดีอย่างโซฟา โต๊ะ ตู้เสื้อผ้า โทรศัพท์ โดยเล่าเรื่องเจาะไปเลยหนึ่งเฟอร์นิเจอร์ต่อหนึ่งเล่ม แถมยังตั้งใจว่าจะทำแค่หกฉบับด้วย

     “จริงๆ อย่างเนื้อหาของ Dirty Furniture ก็เหมือนพวกบทความในอินเทอร์เน็ตนะ เพียงแค่ตีพิมพ์เป็นเล่ม แต่ต่อให้บางบทสัมภาษณ์จะสั้นๆ แค่สามหน้า แต่เวลาอ่านเราจะยังรู้สึกว่ามีใจอยากจะทำหนังสืออยู่”

     เผื่อใครอาจลืมไปแล้ว นอกจากเป็นผู้กำกับ นวพลยังเคยเขียนหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กเล่าเรื่องบันทึกการเดินทาง (ที่โรงภาพยนตร์ไกลบ้านคุณ, ฮ่องกงกึ่งสำเร็จรูป), หนังสือว่าด้วยประสบการณ์การเล่นเกมในวัยเยาว์ (จอยสติ๊ก), หนังสือรวมสารพันสิ่งที่น่าสนใจของประเทศไทย (เมดอินไทยแลนด์ เล่ม 1, 2) หรือล่าสุดคือ เวิร์คแอนด์ทราเวล หนังสือเกี่ยวกับประสบการณ์ทำงานในโลกภาพยนตร์ที่นอกจากนวพลจะเขียนเองแล้ว เขายังควบคุมการผลิตทั้งการออกแบบรูปเล่มและตีพิมพ์ด้วยตัวเองด้วย

     “เราไม่ได้ทำหนังสือนานแล้ว แต่ก็ยังอยากทำเหมือนเดิม เพราะฉะนั้นเวลาซื้อหนังสือพวกนี้มา นอกจากอ่านเนื้อหาแล้ว มันยังทำให้เราเห็นว่าหนังสือยังมีรูปแบบอื่นๆ อยู่นะ ความรู้สึกอาจจะไม่ได้เข้มข้นเท่าสมัยก่อนที่จะตื่นเต้นกับสิ่งพิมพ์หรือซีนที่เข้าเล่มแปลกๆ ใช้กระดาษแปลกๆ จัดอาร์ตเวิร์กแปลกๆ คือก็ยังสนใจอยู่ แต่ไม่ได้อะไรกับมันมาก ทุกวันนี้จะรู้สึกเหมือนเป็นการย้ำเตือนกับตัวเองว่าหนังสือแบบอื่นๆ ก็มีอยู่ มึงอย่าลืมว่ามันทำแบบนี้ก็ได้มากกว่า”

     ความทำอะไรก็ได้ของหนังสือส่งผลต่อการทำหนังของนวพลบ้างมั้ย?

     “หนังสือไม่ค่อยส่งผลต่อการทำหนังของเราเท่าไหร่ เรื่องในหนังจะมาจากคนรอบๆ ตัว จากสิ่งที่เราเจอ จากประสบการณ์ มากกว่าจากการอ่านหนังสือแล้วไปทำหนังกัน 

     “แต่ว่าการอ่านก็ช่วยให้มองเห็นสิ่งอื่นๆ ในชีวิตประจำวันได้ดีขึ้นนะ สมมติเรามองห้องห้องหนึ่ง ถ้าไม่เคยอ่านหนังสือเกี่ยวกับสถาปัตย์มาก่อน เราก็คงรู้สึกว่ามันก็คือห้อง แต่ถ้าเคยอ่านเรื่องการจัดการพื้นที่ เวลามองห้องห้องนั้นก็จะเห็นบางอย่างมากขึ้น ซึ่งพวกนี้แหละที่จะเอาไปทำหนังได้ เหมือนการทำหนังของเรามันต้องเห็นจากของจริงนิดนึง แบบเห็นสถานที่จริง เห็นหน้าคน เห็นวิธีการพูด เห็นสตอรีที่เกิดขึ้นว่าคนคนนั้นตัดสินใจอย่างไร มันไม่ได้มาจากหนังสือเสียอย่างเดียว”

2
หนังสือเรียน

     เปล่า นวพลไม่ได้หมายถึงหนังสือสอนคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือสังคมศึกษา หากเป็นหนังสือประเภท กพอ. หรือการงานพื้นฐานอาชีพของผู้คนที่เขาสนใจ ไม่ว่าจะเป็นผู้กำกับ ตากล้อง นักออกแบบ หรือศิลปินในแวดวงอื่น ขอเพียงแค่เขาเหล่านั้นออกผลงานเป็นเล่ม มีบทสัมภาษณ์หรืองานเขียนที่แสดงถึงแนวคิดในการทำงาน นวพลก็พร้อมที่จะควักเงินจ่ายให้ทันที

     “สมมติเราอยากอ่านเรื่องของ มิแรนด้า จูลาย (Miranda July ผู้กำกับ นักเขียน และศิลปินชาวอเมริกัน เจ้าของผลงานภาพยนตร์ Me and You and Everyone We Know) ถ้าเสิร์ชในอินเทอร์เน็ตก็อาจจะเจอบทสัมภาษณ์ แต่มันก็ไม่ได้ยาวมาก หรือเป็นบทสัมภาษณ์ที่เราไม่ได้รู้โพรเซสการทำงานของเขาเท่าไหร่ มันน่าเสียดายที่เราชอบงานคนคนหนึ่งแล้วเราไม่มีโอกาสรู้เลยว่าเขาคิดอะไร เราได้แต่บอกว่างานของเขาสวย สนุก แต่เราไม่รู้ที่มาที่ไปของงานนั้นเลย แล้วถ้าจะได้แรงบันดาลใจ เราก็จะได้แค่สไตล์ มันไม่ได้วิธีคิดของเขามาด้วย เราเลยอยากรู้วิธีคิดของคนที่เราชอบ เพราะถ้าเรารู้วิธีคิดของเขา เราก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ โดยที่ทำแล้วไม่ได้รู้สึกว่าไปก๊อปเขามา เพราะเรารู้วิธีคิดของเขาแล้ว รู้แล้วว่าเขามองโลกแบบไหน ถ่ายงานด้วยความคิดแบบใด ซึ่งเราคงไม่ได้ทำแบบเขาหรอก แต่การได้รู้ก็เป็นการช่วยให้เรารู้ว่ามันมองโลกแบบนี้ได้ด้วย

     “หลังๆ ถ้าคนไหนที่เราชอบออกหนังสือประเภทนี้ พวกเล่มเดียวพูดถึงครบทุกงานก็จะซื้อเลย เพราะส่วนใหญ่ที่เคยอ่านก็จะเป็นสัมภาษณ์ขึ้นมาใหม่หมด ซึ่งมันไม่มีในอินเทอร์เน็ตแน่ๆ พอเป็นหนังสือแล้วจะละเอียดกว่า ได้เห็นวิธีคิด เข้าใจเรื่องของเขาตั้งแต่ต้นทางจนปลาย เห็นพวก material ตอนที่เขากำลังสร้างงานชิ้นนั้นชิ้นนี้ มันจะให้ความรู้สึกเหมือนเรียนหนังสือนิดนึง”

     อย่างไรก็ตาม บรรดาหนังสือในกองนี้ที่นวพลติดตัวมาก็มีเล่มนึงที่เป็นโฟโต้บุ๊ก ซึ่งนวพลเล่าว่าเป็นหนังสือประเภทที่เขาซื้อน้อยหน่อย เพราะส่วนตัวก็ยังอยากอ่านข้อความมากกว่านิด แต่สำหรับ A Ghost Story: Photograph หนังสือรวมภาพถ่ายเบื้องหลังจากภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวนั้นเป็นข้อยกเว้น

     “เล่มนี้ซื้อเพราะเป็นแฟนคลับ แบบอยากอุดหนุนเขาหน่อย อารมณ์แบบอยากช่วยคนทำหนัง ก็เลยซื้อหนังสือแล้วกัน เพราะหนังเขาก็ไม่ได้เข้าฉายบ้านเรา คือก็จะมีบางเล่มแหละที่ซื้อด้วยจุดประสงค์อะไรแบบนี้”

3
หนังสือที่เป็นเหมือนหลวงพ่อ

     สำหรับหนังสือหมวดสุดท้าย นวพลพูดขำๆ ว่าเป็นเหมือนการซื้อเครื่องราง เพราะนอกจากจะเป็นประเภทที่หยิบมาเปิดอ่านบ่อยๆ ยังเป็นหนังสือที่นวพลใช้ยึดเหนี่ยวจิตใจว่าตัวเองรักและชอบในอะไรด้วย

     “หนังสือในหมวดนี้จะเป็นความชอบแบบแกนกลางของเรา เป็นหนังสือที่ดูแล้วจำได้ว่าตัวเองชอบอะไร” เขาพูดพร้อมหยิบ Lufthansa + Graphic Design หนังสือที่รวบรวมการออกแบบในแทบทุกส่วนของสายการบินจากเยอรมนีเอาไว้ “เวลางงว่าจะดีไซน์อะไรเราจะนึกถึงเล่มนี้ตลอด เพราะเราชอบงานดีไซน์ประมาณนี้ เวลามาเปิดก็จะอ๋อว่าเราอยากทำอะไร อยากทำแบบไหน

     “เล่ม Universe for Rent ก็ใช้ตอนทำ ฮาวทูทิ้งฯ เยอะมาก หรือเวลาต้องดีไซน์ห้องตัวละครก็หยิบมาเปิดดูบ่อยๆ”

     เราเอ่ยถามว่า เล่มนี้ซื้อมาตอนทำ ฮาวทูทิ้งฯ หรือเปล่า?

     “เปล่า เราซื้อมาตั้งแต่ปี 2012 ตอนไปญี่ปุ่นครั้งแรก เป็นเล่มที่ชอบมาก มีทุกอย่างที่เราชอบ เขาพาไปดูห้องเช่าของคนญี่ปุ่น สัมภาษณ์ว่าคนนั้นเป็นใคร ทำอาชีพอะไร ที่พักเป็นแบบไหน มันเป็นหนังสือที่ทำให้ได้เห็นสเปซจริง ได้เห็นชีวิตของคนคนนั้น แต่มันเป็นเล่มที่อ่านแล้วก็ลืมนะ ซึ่งก็เป็นข้อดี เพราะทำให้กลับมาอ่านได้เรื่อยๆ แบบอ่านกี่ครั้งก็ยังสนุก หรืออย่างโฟโต้บุ๊กของ คริสโตเฟอร์ ดอยล์ (Christopher Doyle ผู้กำกับภาพชาวออสเตรเลียที่เคยร่วมงานกับ หว่อง การ์-ไว มาแล้วหลายเรื่อง) ผมก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่แค่โฟโต้บุ๊ก มันมีสปิริตอย่างอื่นด้วย มีการตัดเย็บแบบแปลกๆ มีความต้องกรีดออกดู กระดาษก็ใช้หลายแบบ มันเป็นเล่มที่ทำให้เห็นว่าเราสามารถใช้กระดาษหลายประเภทในการทำหนังสือเล่มเดียวได้ เราสามารถจัดเลย์เอาต์แบบอื่นก็ได้ ถือเป็นหนังสือที่เอกซ์ตรีม มีหลายรูปแบบในเล่มเดียว

     “หนังสือพวกนี้เลยเป็นพวกเล่มที่เอาไว้เตือนว่าเราชอบอะไร ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่คอนเทนต์นะ แต่หมายถึงความชอบโดยรวมเลย ยิ่งในยุคนี้มีอะไรเต็มไปหมด เวลาทำงานไปเรื่อยๆ มีสิทธิแกว่งได้ง่ายมากเหมือนกันนะ แบบอันนี้เขาทำแล้วดูฮิต เราควรทำเปล่าวะ ซึ่งบางทีเราก็ลืมไปว่าตัวเองอาจไม่ได้ชอบหรือลืมไปว่าตัวเองชอบอะไร เลยเหมือนเราต้องตั้งสติให้ดีๆ ว่ามึงจะเอาอะไรกันแน่ มึงใช่สิ่งนั้นหรือเปล่า ถ้าไม่ใช่อย่าไปทำ เพราะว่าแม่งไม่เวิร์กหรอก มันเวิร์กเมื่อคนอื่นเขาทำ และดูฮิตก็เมื่อคนนั้นเขาทำ ถ้าเราทำก็อาจไม่ได้ผลอย่างนั้น แต่บางทีแสงสีก็ล่อตาเหลือเกิน (หัวเราะ)”

     เราสงสัยว่าแล้วหนังสือเหล่านี้เคยถูกสับเปลี่ยนหรือมีเล่มไหนที่เคยถูกโละทิ้งบ้างมั้ย

     “น้อยมาก หนังสือพวกนี้คืออยู่ตลอดมา ความสนใจเราเปลี่ยนแหละ แต่แกนกลางไม่เปลี่ยน สไตล์ของเรายังเหมือนเดิม บางทีก็จะรู้สึกนะว่าเอ๊ะ กูต้องเปลี่ยนสไตล์หรือเปล่า แต่จริงๆ มันไม่จำเป็น หนังสือพวกนี้แหละที่จะคอยเตือนเรา”

     ด้วยความอยากรู้ เราเลยขอแฉลบไปเรื่อง Fast & Feel Love ว่าแล้วภาพยนตร์เรื่องนี้ยังเป็นสไตล์ของนวพลหรือเปล่า

     “ถ้าคนที่รู้จักเราตั้งแต่ตอนทำหนังสั้นโฆษณาจะไม่รู้สึกว่ามันแปลกมาก มันคือเราในตอนนั้นแหละ แค่คราวนี้เรามาเต็มสูบ แต่ถ้าใครรู้จักเราตอนทำหนังยาวก็อาจรู้สึกว่านี่มันเหี้ยอะไรกันครับ (หัวเราะ) 

     “เราคิดว่าหลายคนคงจะงงแหละว่านี่มันอะไร แต่ที่เราทำทีเซอร์แบบนั้นเพราะอยากบอกทุกคนว่ารอบนี้เรามาอย่างนี้ ขอให้เตรียมตัวกันด้วย เราเลยพยายามจัดการการรับรู้ อย่างน้อยจูนกันก่อนว่ารอบนี้ไม่ใช่ ฮาวทูทิ้งฯ แล้ว รอบนี้เป็นอย่างนี้นะครับ เพราะเราก็ไม่อยากให้เขารู้สึกว่าถูกหลอกหรือผิดไปจากที่เขาคิด เราเลยปล่อยทีเซอร์ไปก่อนโดยที่ยังไม่มีเนื้อเรื่อง เป็นเหมือนการกึ่งๆ คัดกรองประชากรว่าถ้าคุณผ่านด่านหนึ่งได้แล้ว ขอเรียนเชิญเข้าด่านสอง ซึ่งเอาจริงๆ มันก็คือ element เดิมๆ ที่เราเคยใช้ในหนังเรื่องอื่นๆ แหละ เพียงแต่ตอนนั้นอาจจะมาแค่บางฉาก และรอบนี้เราพลิก element พวกนั้นมาเป็นทั้งเรื่องเลย”

     แล้วจริงๆ เรื่องนี้เกี่ยวกับอะไรกันแน่?

     “รวมๆ คือหนังเล่าเรื่องของนักคัพสแต็กที่นอกจากจะอายุมากขึ้น ยังมีเรื่องรอบตัวให้ต้องจัดการเต็มไปหมด เป็นเรื่องของคนในวัย 30 ที่จะทำตามความฝัน แต่ต้องเสียเวลาทั้งวันไปต่อทะเบียนรถก่อน คือเป็นเรื่องของความเร็วที่เกิดขึ้นในช่วงอายุที่คุณจะช้าแล้ว ตัวเอกเลยมีภารกิจที่ต้องแข่งขันและต้องจัดการกับชีวิตที่เปลี่ยนไปจากช่วงอายุ อย่างความสัมพันธ์กับแฟนก็จะไม่เด็กอีกแล้ว มันมีเงื่อนไขเต็มไปหมดที่อาจเคยเจอกันในชีวิตจริง มันไม่โรแมนติก ไม่วัยรุ่น ไม่ฉันรักเธอ เธอรักฉัน เราไม่ต้องรู้ว่าคบกันแบบไหนอีกแล้ว มันเป็นเรื่องในชีวิตประจำวันมากๆ เราเลยเรียกว่าแอ็กชั่นในชีวิตประจำวัน เพราะในหนังก็จะเล่าแบบเดือดเหี้ยๆ แต่เหตุการณ์แม่งคือไปซื้อของแล้วหาของไม่เจอ”

     เราถามนวพลว่าอย่างนี้เขาบาลานซ์ความเป็นตัวเองกับสตูดิโออย่างจีดีเอชบ้างมั้ย

     “ไม่บาลานซ์เลย รู้สึกว่าต้องเป็นแบบนี้แหละ แต่อาจจะด้วยความที่ลองมาบ่อย เราเลยรู้ว่าจะลองยังไงในงานถัดไป สมมติคุณชอบกระโดดท่าแปลกๆ ถ้ากระโดดบ่อยๆ คุณก็จะรู้ว่าต้องล้มยังไม่ให้เจ็บตัว เหมือนพอจะหาทางหนีทีไล่ให้กับมันได้

     “หลายๆ ครั้งการลองของเราก็เวิร์กนะ มันเวิร์กสำหรับใครบ้างนี่ไม่แน่ใจเหมือนกัน แต่สำหรับเราคือเวิร์กมากแล้ว การทำแบบนี้ออกมาเรื่อยๆ แล้วมีคนดูก็แปลว่ามีคนที่ชอบอะไรแบบนี้ประมาณนึง ซึ่งส่วนหนึ่งที่ทำให้มั่นใจก็มาจากการซื้อหนังสือพวกนี้ด้วยนะ (นวพลกวาดมือไปที่หนังสือทั้งสามหมวด) มันให้ความรู้สึกว่าสิ่งที่เราทำก็ต้องมีคนซื้อเหมือนกัน คนซื้ออยู่ไหนไม่รู้ จะน้อยจะมากก็อีกเรื่อง แต่มันมีคนซื้อแน่ๆ แหละ แค่อย่าเป๋ 

     “เหมือนพออายุมากขึ้น เราโฟกัสที่ขั้นตอนการทำงานมากกว่าผล การทำหนังหนึ่งเรื่องใช้เวลาเป็นปี มันดูดพลังชีวิตไปมหาศาล คุณจะแก่ขึ้นทันทีในหนังเรื่องเดียว แล้วช่วงที่เราทำหนังมันจะยาวนานกว่าช่วงฉายเสมอ เราเลยพยายามทำงานที่เอ็นจอยกับมันให้ได้มากที่สุด และต้องมั่นใจว่าสิ่งที่เราทำมันไม่แย่หรอก หนังของเราอาจไม่ได้ร้อยล้าน แต่ก็มีคนดูอยู่นะ แล้วไปๆ มาๆ เราก็อยู่มาได้สิบปี แม้จะไม่ได้อู้ฟู่อะไร แต่อยู่มาได้ขนาดนี้ก็โอเคแล้ว มึงจำวันที่ทำเรื่องแรกแล้วไม่รู้ว่าจะอยู่ถึงกี่ปีได้หรือเปล่า มึงทำหนังที่มี 36 ช็อตจะอยู่รอดเหรอ (หัวเราะ)

     “เราเลยรู้สึกว่าบางทีต้องไม่ลืมสิ่งที่เราชอบ ยกเว้นถ้าวันหนึ่งมันจะเปลี่ยนไปตามธรรมชาติก็อีกเรื่อง พรุ่งนี้จะลืมก็ค่อยว่ากัน แต่วันนี้ตอนมองหนังสือบนโต๊ะแล้วคิดว่าจะหยิบเล่มไหนที่แทนตัวเราได้ หนังสือพวกนี้ก็ยังใช่อยู่”