Tue 29 Sep 2020

MAY BE

ทำความรู้จักชีวิตเด็กหญิงวัยสิบสี่ที่เขียนนิยายเล่นๆ
และเติบโตมาเป็นนักเขียนนิยายรักอย่างจริงจัง

     ฮะฮะ สวัสดีจ้า ^O^ ฉันชื่อ CONT. ฮั่นแน่ สงสัยใช่มั้ยล่ะว่าทำไมวันนี้ฉันมาแปลก อย่าเพิ่งตกใจกดปิดจอไปก่อนล่ะ -V- จริงๆ ฉันปกติดีมาก! ไม่ได้ลืมกินยาเขย่าขวดด้วย -^- เรื่องของเรื่องคือฉันเพิ่งได้ไปคุยกับนักเขียนนิยายรักวัยรุ่นในความทรงจำใครหลายคนมาแหละ แล้วก็อยากจะมาเล่าให้ฟังกันน่ะ >O<!! 

     นักเขียนคนนั้นก็คืออออออออออ ^U^

     May112 นั่นเอง!

     …

     ขอบคุณทุกคนที่ยังไม่ปิดหน้าจอ และอ่านมาถึงบรรทัดนี้ เพราะไหนๆ ก็จะเล่าถึงนักเขียนนิยายคนนี้แล้ว เราเลยอดไม่ได้ที่จะหยิบองค์ประกอบเล็กๆ อย่างการใส่อีโมติคอนที่พบได้บ่อยในงานของเธอมาลองเขียนดู เผื่อจะมีใครพอคุ้นตาบ้าง

     หากใครเติบโตมากับการอ่านนิยายของสำนักพิมพ์แจ่มใสก็คงพอรู้จักนามปากกา May112 กันบ้างแล้ว ส่วนใครที่ไม่คุ้นหรือไม่รู้จักเลยนั้น เราขอพาย้อนกลับไปเมื่อ 19 ปีที่แล้ว ในวันที่วงการนิยายยังไม่ได้แตกแขนงรูปแบบการเขียนไปอยู่แพลตฟอร์มอื่น และมีเนื้อหาเปิดกว้างเท่าทุกวันนี้ 

     ในปี 2544 สำนักพิมพ์แจ่มใสได้ก่อตั้งและผลิตหนังสือนิยายรักโรแมนติกเพื่อตอบรับกลุ่มนักอ่านผู้หญิง ทั้งนิยายแนวผู้ใหญ่ นิยายแปลจีนโบราณ รวมถึงแนวรักหวานใสวัยเรียนที่ได้รับความนิยมจนกลายเป็นภาพจำของสำนักพิมพ์ ทำให้นักเขียนนิยายรักวัยรุ่นหลายคนแจ้งเกิด มีชื่อเสียง และมีแฟนคลับติดตามเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น ‘แสตมป์เบอร์รี่’ ‘หนุ่มกรุงโซล’ ‘ลูกชุบ’ ‘เจ้าหญิงผู้เลอโฉม’ ‘Hideko_Sunshine’ ‘Mimoza’

     และ May112 

     ผลงานหนังสือเล่มแรกของ May112 คือ รักป่วนๆ ฉบับก๊วนเด็กหอ หรือ ‘เซตเด็กหอ’ ที่ชาวนักอ่านเรียกกัน ถูกตีพิมพ์ในปี 2549 ทั้งที่ตอนนั้นเธอยังเรียนมัธยมปลายอยู่ ซึ่งอาจเพราะการเล่าถึงวีรกรรมแก่นเซี้ยว มิตรภาพ และความรักในวัยเรียน ดันไปตรงจริตของกลุ่มนักอ่านนิยายที่อยู่ในรุ่นราวคราวเดียวกัน ผลงานเรื่องนี้จึงโด่งดังจนทำให้เธอเป็นที่รู้จัก ผลักให้เธอเข้าสู่วงการในฐานะนักเขียนประจำสำนักพิมพ์แจ่มใส หมวด Jamsai Love Series (เรื่องรักสดใสของหนุ่มสาววัยรุ่นที่ทำให้โลกทั้งใบเป็นสีชมพู) 

     นับถึงวันนี้ก็เป็นเวลากว่าสิบสี่ปีแล้ว May112 เขียนนิยายไปทั้งสิ้น 35 เรื่อง และมี 5 เรื่องที่ถูกหยิบไปทำเป็นซีรีส์กับทาง GMMTV อาทิ Perfect Match แฟนฉัน! รับประกันความเพอร์เฟกต์ และ Angel Beside Me รัก (หล่น) จากฟากฟ้า ที่ต่อมาถูกเปลี่ยนเป็นชื่อ Angel Beside Me เทวดาท่าจะรัก จนเป็นที่ชื่นชอบของคอซีรีส์อีกด้วย

     ด้วยระยะเวลากว่าค่อนชีวิตที่เธออยู่กับการขีดๆ เขียนๆ May112 จึงมีแฟนคลับมากหน้าหลายตา และเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่ยังคงอยู่ชัดเจนเช่นเดิมคือการเขียนนิยายโดยชอบทำ (และชอบเธอ >///<) อย่างเมื่อเร็วๆ นี้เธอก็ได้พิสูจน์ความชอบทำด้วยการลงมือปลุกปั้น J-BOY หนังสือเล่มใหม่ที่เธอลงมือทำด้วยตัวเองในทุกกระบวนการ 

     และหากไม่ดูเป็นการรบกวน เราก็อยากชวนไปทำความรู้จัก May112 กัน ว่าชีวิตเบื้องหลังนามปากกานักเขียนนิยายผู้ฝากเรื่องราวความรักวัยรุ่น ตัวละครสุดป่วนไว้ในความทรงจำใครหลายคนนั้น แท้จริงแล้วเป็นเหมือนนิยายที่เธอเขียนหรือเปล่า

01

เธอทำให้ฉันรู้สึกเหมือนตอน 14 ตอนที่ฉันเขียนนิยายครั้งแรก

     ย้อนกลับไปราวสิบห้าปีที่แล้ว เมย์ หรือ ตังเม—จุฬารัตน์ ทองอร่าม คือเด็กหญิงมัธยมต้นที่ใช้ชีวิตเหมือนเด็กคนอื่นๆ ในวัยเดียวกันที่มีนิยายหรือการ์ตูนเป็นเครื่องชุบชูใจ อาจต่างออกไปหน่อยก็เมื่อเธอได้อ่านนิยายรักของสำนักพิมพ์แจ่มใส แล้วมันไม่ได้จบแค่ความสนุกจากการอ่านเท่านั้น แต่มันทำให้เธออยากลองเขียนดูบ้าง

     เธอไม่รอช้า เริ่มปรุงแต่งเรื่องราว สร้างตัวละครจากจินตนาการของตัวเอง ร้อยเรียงด้วยสำนวนภาษาแบบเด็กๆ และบอกเล่าสิ่งเหล่านั้นบน dek-d เว็บไซต์ซึ่งเปิดพื้นที่ให้เหล่านักอยากเขียนได้นำเสนอเรื่องของตัวเองอย่างเต็มที่ แถมยังมีนักอ่านในรุ่นราวคราวเดียวกันเข้าไปตามอ่านอีกด้วย

     แม้เมย์จะบอกว่าแต่งแบบเพ้อๆ และเรื่องนั้นก็แทบไม่มีคนอ่าน แต่เธอก็ไม่ยอมแพ้ ยังคงแต่งเรื่องตามใจอยากต่อไป จนกระทั่งขึ้น ม.4 ทุกอย่างก็พลิกกลับอีกด้าน เพราะ รักป่วนๆ ฉบับก๊วนเด็กหอ ที่เธอแต่งนั้นสร้างความปั่นป่วนให้กับเว็บไซต์ dek-d ถึงขั้นติดอันดับยอดอ่านสูงสุดของเว็บไซต์ 

     กลายเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ บนเส้นทางอันยาวไกลของนักเขียนนิยายรักวัยรุ่นที่ประสบความสำเร็จคนหนึ่งในปัจจุบัน

ก่อนจะถามถึงผลงาน เราขอถามถึงที่มาของนามปากกาได้มั้ย?

     ตอนนี้รู้สึกอยากเปลี่ยนนามปากกามากเลยนะ เพราะทุกคนจะสงสัยว่า นี่เขาเกี่ยวอะไรกับมาตรากฎหมายไทยมั้ย (หัวเราะ)

     มันมาจากตอนตั้งชื่อในเว็บไซต์ dek-d เราในอายุ 14 ก็คิดแค่ว่าใช้ชื่อเล่น May ไปก็ได้ แต่คนชื่อ May มีเป็นหมื่นเป็นล้าน คงมีคนใช้แล้วก็เลยใส่เลขเพิ่มไปเป็น May111 ก็ยังมีคนใช้ไปแล้วอีก เราเลยพิมพ์ 112 ซึ่งมันดันใช้ได้ ก็เลยเลือกอันนี้ พอสำนักพิมพ์ถามว่าจะใช้นามปากกาอะไร เราเลยใช้ชื่อนี้ เพราะคนรู้จักเราจาก May112 

     ไม่รู้ว่าตอนนี้ May111 จะเป็นยังไง เขาน่าจะดีใจนะที่ทำให้เราได้ใช้ May112 และกลายเป็นเราจนถึงทุกวันนี้

ตอนที่เขียนนิยายลง dek-d เคยคิดมั้ยว่า เรื่องที่เราแต่งจะกลายเป็นหนังสือ

     ตอนเขียนไม่คาดหวังว่าจะได้ออกหนังสือเลยนะ จำได้ว่าพอทางสำนักพิมพ์แจ่มใสถามว่าเราส่งต้นฉบับไปที่ไหนบ้างหรือยัง แล้วก็ขอต้นฉบับพาร์ตแรกที่เราเขียนจบแล้วไปพิจารณาต่อ ตอนนั้นเราตื่นเต้นและไม่รู้เลยว่าต้องทำยังไง ไม่เคยได้รับการติดต่อจากใครมาก่อน เวลาส่งต้นฉบับจะต้องส่งเป็นไฟล์ doc มั้ย ต้องจัดหน้าอีกหรือเปล่า เรารู้สึกว่าตัวเองไม่มีความเป็นมืออาชีพเลย สุดท้ายจำได้ว่าแค่ copy paste แต่ละตอนใส่ microsoft word แล้วส่งไป ง่ายๆ อย่างนั้น (หัวเราะ)  

กระแสตอบรับหนังสือเล่มแรกเป็นยังไง

     หนังสือตีพิมพ์ออกมาเป็นเล่มตอนเราอยู่ ม.5 แล้วบังเอิญว่าคนชอบเล่มแรก เราเลยได้รับการติดต่อขอต้นฉบับที่เหลือ เพราะเล่มนี้เราเขียนเรื่องต่อในเว็บไซต์ dek-d กลายเป็นเล่มที่สอง และเล่มพิเศษ จากนั้นเราก็ได้เป็นนักเขียนประจำของสำนักพิมพ์แจ่มใส มีคนรู้จักเพิ่มขึ้น มีนักอ่านเยอะกว่าเดิม 

     แต่เราว่าช่วงที่หนังสือออกแรกๆ กระแสนิยายแนวนี้ยังไม่ค่อยบูมเท่าไหร่นะ มันมาบูมหลังจากนั้น 4-5 ปีตอนเราเรียนมหา’ลัย นิยายเซตเด็กหอของเราก็เลยดังขึ้นไปด้วย ขายดีกว่าเดิม ถือเป็นช่วงบูมที่สุดของเราเลย คือเราไม่ได้คิดว่ามันจะ success ไม่เคยคิดว่านิยายที่เราเขียนตอนว่างๆ แล้วอัพให้คนอ่านในเว็บไซต์จะมีคนสนใจมากขนาดนั้น

หลังจากเดบิวต์เป็นนักเขียนแล้วชีวิตเปลี่ยนไปมั้ย

     หนึ่ง เราได้พิสูจน์ตัวเองกับพ่อแม่ด้วยการนำเงินก้อนแรกจากการเขียนหนังสือไปให้ เพราะก่อนหน้านั้นที่เราเขียนลงเว็บไซต์ พวกเขาไม่ค่อยชอบ เขามองว่าเราทำอะไรที่ดูไม่มีประโยชน์ บอกให้เราเอาเวลาไปทำอย่างอื่น เขาคิดว่ามันไม่ใช่สิ่งที่จะทำเงินได้ เราว่าพ่อแม่มักมองภาพว่าลูกจะต้องมีงานที่ดี มีเงินเดือนสูงๆ มีฐานะการงานมั่นคง เป็นวิศวกร เป็นหมอ ไม่ค่อยเข้าใจการเป็นศิลปิน นักเขียน นักวาด ทั้งที่จริงๆ แล้วในโลกนี้ นักเขียนหรือนักวาดก็สามารถทำเงินได้เหมือนกัน และวันนั้นเราก็ทำให้เขาเห็นว่าสิ่งนี้มันทำเงินได้ เป็นอาชีพหนึ่งได้

     สอง เรารู้สึกว่ามัน success ประมาณหนึ่ง รู้ว่าสิ่งนี้มันทำรายได้พอที่จะเลี้ยงตัวเองได้นี่นา เราเลยตั้งใจตั้งแต่ตอนนั้นว่าจะประกอบอาชีพนักเขียน ตอนเข้ามหาวิทยาลัยเลยตัดสินใจเลือกเรียนต่อในสิ่งที่คิดว่าเรียนง่ายๆ เพราะเรียนจบมาก็คงเป็นนักเขียนอยู่ดี เราเลยเลือกเรียนสาขาวิชาประวัติศาสตร์ ซึ่งแม่งไม่ง่ายอย่างที่คิดไว้เลย ตอนนั้นเราขาดแพสชั่นในการเรียนไปเลยนะ เราทุ่มให้เรียน 40 เขียนนิยาย 60 คิดแค่ว่าเรียนจบด้วยเกรดอะไรก็ได้ เพราะเราจะเป็นนักเขียนต่อไป

     มันคือตัวตน คือทางของเรา การเขียนคือสิ่งที่เรารัก

02

แล้วฉันเลือกอะไรได้ไหม เลือกที่จะไม่เขียนได้หรือเปล่า

     จริงๆ ชีวิต May112 นั้นเลือกได้ และเลือกที่จะไม่เขียนนิยายก็ได้ แต่ด้วยความชอบและรัก หลังเรียนจบเธอก็ได้เป็นนักเขียนโดยอาชีพดังใจอยาก 

     สิ่งที่นอกเหนือไปจากความชื่นชอบที่มีนั้น คือเธอไม่ได้ร่ำเรียนเกี่ยวกับการขีดเขียนเลย ชวนให้เราสงสัยแล้วสิว่าตลอด 14 ปีเธอมีเคล็ดลับวิชาเขียนอย่างไร ถึงเขียนออกมาเป็นรูปเล่มได้มากมายแบบนี้  

     เรามอบการบ้านวิชาการเขียน 101 ให้เธอแล้ว ขอชวนผู้อ่านมาร่วมดูคำตอบจากแบบฝึกหัดนี้ด้วยกัน 

แบบฝึกหัดที่ 1   

จงอธิบายการเขียนนิยายของตัวเองมาพอสังเขป

     ส่วนใหญ่พล็อตของเราจะเริ่มจากรายละเอียดรอบตัวที่เราเจอ เราเห็น หรือเราทำในชีวิตประจำวัน แล้วก็ค่อยๆ แตกแขนงไปเรื่อยๆ โดยพยายามคิดจากสิ่งธรรมดาๆ ให้มันดูไม่ธรรมดา มีจุดแปลกแตกต่างออกไป คอยตั้งคำถามว่า ‘ถ้ามัน…จะเป็นยังไง’

     อย่างเรื่อง Angle Beside Me รัก (หล่น) จากฟากฟ้า ที่พระเอกตกลงมาจากฟ้าทะลุหลังคาบ้านของนางเอก พล็อตนี้เกิดจากตอนเราไปเที่ยวสหรัฐฯ แล้วรู้ข่าวว่าน้องข้างบ้านที่ไทยได้แฟนฝรั่ง ตอนนั้นก็คิดว่าทั้งๆ ที่เราอยู่สหรัฐฯ แต่กลับไม่มีหนุ่มฝรั่งอย่างเขา ก็เลยอยากขอให้หนุ่มฝรั่งตกลงมาหาเราบ้าง! 

     เราเก็บความรู้สึกตอนนั้นมาคิดต่อ ว่าถ้าเป็นนิยาย เราจะให้มีหนุ่มตกลงมาจากฟ้า ทะลุหลังคามาที่บ้านนางเอก ซึ่งแน่นอนว่าการตกลงมาแบบนั้นต้องไม่ใช่คนธรรมดา เราก็เลยโยงต่อไปว่าเขาต้องเป็นเทวดา 

     เราคิดจากอะไรง่ายๆ แบบนี้ หลังจากนั้นค่อยคิดโครงเรื่องว่าอยากสื่อสารอะไร อยากบอกเล่าอะไรกับนักอ่าน แล้วค่อยแบ่งย่อยอีกว่าแต่ละบทจะเกิดเรื่องราวอะไรขึ้น มีมาเพื่อเล่าอะไร ดูไปจนถึงระดับประโยค และทุกคำที่เราใส่ เพื่อจะได้สื่อสารให้ตรงกับที่คิดไว้

แบบฝึกหัดที่ 2

สิ่งที่อยู่ในงานเขียนเกิดขึ้นจากอะไรได้บ้าง

     การอ่านหนังสือ เราเชื่อว่าถ้าคนเราอ่านได้ ก็จะเขียนได้ด้วย จริงๆ เราก็เริ่มจากชอบอ่านหนังสือก่อนนะ เดิมทีเราไม่คิดว่าจะอ่านหนังสือเล่มหนาๆ เปิดมามีแต่ตัวหนังสืออย่างเดียวได้เลย สิ่งแรกที่เราอ่านเป็นพวกการ์ตูนมังงะทั้งนั้น จนได้ลองอ่าน Harry Potter ของ เจ. เค. โรว์ลิง ปรากฏว่าเราอ่านได้ ทำให้เราเปิดใจลองอ่านหนังสือที่มีตัวหนังสือล้วนๆ และอ่านนิยายแจ่มใสจนอยากเขียนขึ้นมานั่นแหละ

     การได้อ่านอะไรเยอะๆ มันช่วยให้เรามีคลังคำศัพท์ และเกร็ดความรู้ต่างๆ ให้เอาไปใช้ในงานได้ด้วย อย่างถ้าเราอ่านหนังสือแนวประวัติศาสตร์ก็อาจจะหยิบข้อมูลบางอย่างไปใช้ หรือการอ่านข่าวสารบ้านเมืองทั่วไปก็สำคัญ เวลาเราเขียนงานจะได้อัพเดตเนื้อหาให้ทันโลกยิ่งขึ้น รวมถึงการเสพสื่อแบบอื่นๆ เช่น ดูหนังก็อาจจะหยิบองค์ประกอบบางอย่าง บุคลิก หรือคาแรกเตอร์ที่เราชอบมาใส่ในตัวละครเราบ้าง ไปจนถึงความสงสัยว่าทำไมในเรื่องเขาไม่ทำแบบนั้นแบบนี้ ถ้าตัวละครทำอีกแบบหนึ่งเรื่องราวจะเป็นยังไงนะ เราชอบจดโน้ตอะไรพวกนี้ไว้ กระทั่งฟังเพลงแล้วมีท่อนไหนที่เราชอบ ก็จะเอาเนื้อเพลงมาตีความหมายขยายต่อไปใส่เนื้อเรื่องบ้าง 

     เรามีสิ่งที่ไม่เป็นเรื่องเป็นราวอยู่ในหัวเยอะมาก แต่เราก็จะค่อยๆ เอาสิ่งเหล่านั้นมาวางเรียง และเลือกว่าจะเอาอะไรไปใส่ตรงไหน   

แบบฝึกหัดที่ 3

วิธีปฏิบัติเมื่อเกิดความคิด (แต่ไม่) เขียน คิดคิด (แต่ไม่) เขียน

     เมื่อไหร่ก็ตามที่เรารู้สึกหมดไฟ หรือไม่มีอารมณ์อยากเขียน เราจะหยุด ไม่เขียนเลย ทิ้งมันไว้ก่อน เพราะแค่สามบรรทัดก็รู้สึกทรมานแบบ ‘โอ๊ย ฆ่ากูเถอะ!’ แล้ว อย่างเล่มล่าสุดที่เขียนในช่วงโควิด-19 เราหมดไฟมากๆ ใช้เวลาเขียนไปเกือบแปดเดือน

     เราถือคติว่าถ้าไม่มีอารมณ์ก็ไม่ต้องเขียน เว้นแต่ว่ามีค่าบ้าน ค่าไฟ ค่าน้ำมารอ ก็อาจจะมีไฟเขียนได้ฉับพลันทันตาเห็น (หัวเราะ) ซึ่งนอกจากมีค่าใช้จ่ายช่วยเติมไฟให้แล้ว อีกวิธีที่เป็นเชื้อเพลิงเติมไฟได้ดี คือการไปเที่ยว ยิ่งถ้าได้ไปต่างประเทศ ได้เห็นวัฒนธรรมหลายๆ อย่างที่ต่างจากประเทศไทย นอกจากจะได้พักแล้วเราก็มักจะได้อะไรกลับมาเขียนด้วยเสมอ

แบบฝึกหัดที่ 4

จงบอกความรู้สึกของคุณในวัย 30 เมื่อกลับไปอ่านหนังสือเล่มแรกของตัวเอง

     เราคงอีดิตมันเยอะมาก ด้วยความที่ตอนนั้นเรายังไม่มีประสบการณ์ในการเขียนแบบจริงๆ จังๆ มันก็จะมีแต่สำนวนบ้านๆ คำบรรยายง่ายๆ อีกเรื่องใหญ่เลยคือ อีโมติคอน เราจำได้ว่าตอนที่ออกหนังสือแรกๆ มีนักอ่านที่โตกว่าบอกว่า นิยายบ้าอะไรใส่อีโมติคอนเยอะขนาดนี้ เราเถียงสุดตัวอยู่ในใจเลยว่า รกตรงไหน ออกจะน่ารัก ซึ่งพอเราโตขึ้นก็พบว่า เรานี่แหละที่กลายเป็นคนนั้น เดี๋ยวนี้เราเห็นไม่ได้เลย TT-TT เห็นมั้ย ใส่แบบนี้แล้วมันรกจริงๆ ด้วยว่ะ (หัวเราะ) 

     สำหรับเราแล้ว นิยายตอนอายุ 14-15 ไม่ว่าจะเขียนหรืออ่าน มันก็เหมือนนิทานตอนเด็กที่เราเคยตื่นเต้นเวลาได้ฟังได้อ่าน แต่เมื่อโตขึ้นเราอาจไม่ได้ตื่นเต้นหรือสนุกกับมันเหมือนเดิมแล้ว ถึงอย่างนั้นมันก็ทำให้เราได้เห็นพัฒนาการงานเขียนของตัวเองเยอะมากนะ เรื่องมีโครงชัดขึ้น การใช้คำดูลึกซึ้งขึ้นกว่าเดิม และอีโมติคอนน้อยลง (-_-;;) 

แบบฝึกหัดที่ 5

อธิบายถึงผลงานเล่มล่าสุดพอสังเขป 

     J-BOY คือหนึ่งในเซตนิยายหนุ่มต่างประเทศ เป็นเซตที่เราชอบเขียนหลังกลับจากไปเที่ยว ตอนนี้มีทั้งหมด 5 ประเทศ โดยเล่มนี้เป็นเรื่องราวของสาวไทยไปญี่ปุ่นเพื่อหาแรงบันดาลใจในการทำทีสิส แต่มีเหตุสุดวิสัยให้ต้องไปเป็นพี่เลี้ยงหนุ่มญี่ปุ่นสุดอัจฉริยะ 

     นี่เป็นครั้งแรกและเล่มแรกที่เราตัดสินใจมาทำเอง เพราะสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ร้านหนังสือถูกปิด และหลายๆ อย่างที่เอาแน่เอานอนไม่ได้นั้นค่อนข้างกระทบกับการทำงานของสำนักพิมพ์พอสมควร

     การทำเล่มนี้ทำให้เราได้เรียนรู้อะไรเยอะมาก เพราะต้องทำทุกกระบวนการด้วยตัวเอง ตั้งแต่เลือกชนิดกระดาษ การทำ Pin-up (ภาพหน้าปกแบบสี่สี พับและสอดไว้เนื้อในหนังสือ) หาคนจัดเลย์เอาต์ ข้อดีคือตอนทำกับสำนักพิมพ์ เขาก็จะมีแพตเทิร์นหนังสือตายตัว พอทำเองเราเลยได้ทำทุกอย่างที่เคยอยากทำ ทั้งลูกเล่นต่างๆ หรือเทคนิคปั๊มฟอยล์ตรงนั้นตรงนี้ก็ทำได้ เพราะจ่ายเอง

     ส่วนกระแสตอบรับ ตอนแรกคิดว่าไม่รอดแล้วแน่ๆ เราไม่มีผลงานมาปีกว่า ไหนจะสถานการณ์โควิด-19 อีก แต่หลังเปิดพรีออร์เดอร์ก็ทำให้รู้ว่ายังมีแฟนๆ รออ่านอยู่นะ มันดีกว่าที่คิดไว้เยอะมาก

03

ขออภัยอยู่ในช่วงปรับตัว

     “ก็ยังไม่ดีพร้อม แค่พร้อมจะพยายามเพื่อให้เธอเห็น” 

     นอกจากเนื้อเพลง อยู่ในช่วงปรับปรุง ของ K-OTIC ท่อนนี้จะสื่อถึงการอยากเป็นคนที่ดีพอในความสัมพันธ์แล้ว หากหยิบมาพูดกับงานเขียนของ May112 ความหมายก็คงไม่ต่างนัก

     แม้จะมีผลงานเป็นรูปเล่มจับต้องได้ออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่ในวันที่เทคโนโลยีค่อยๆ เติบโต มีแพลตฟอร์ม และคอนเทนต์มากมาย วงการนิยายเองก็มีรูปแบบและเนื้อหาที่หลากหลายมากขึ้น ประกอบกับกระแสสังคมที่ผู้คนให้ความสนใจ เช่น วัฒนกรรมการข่มขืน (rape culture) การคุกคามทางเพศ (sexual harassment) ทำให้ May112 ต้องปรับตัว และพยายามพัฒนาผลงานให้ดีตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการตอบรับกลุ่มนักอ่านให้ทั่วถึงทุกสารทิศ ทั้งชาวอีบุ๊กผู้ไม่อยากพกหนังสือ ชาวคอซีรีส์นักจิ้น และชาวเกมออนไลน์ ไปจนถึงการพัฒนางานเขียนผ่านบทเรียนที่ได้รับจากกระแสสังคมด้วย

เรื่องเล่าของคุณเริ่มเดินทางสู่ชาวอีบุ๊กได้ยังไง

     เราว่าอีบุ๊กใช้งานง่ายและสะดวก พกเครื่องเดียวก็เหมือนพกหนังสือ 20-30 เล่ม พอเราออกหนังสือเรื่อยๆ ก็คิดว่าคงมีนักอ่านที่อยากอ่านแบบอีบุ๊กบ้าง ประมาณสองปีที่แล้วเลยตัดสินใจลองทำ เอานิยายเล่มเก่าๆ ของตัวเองที่น่าจะหาซื้อไม่ได้แล้วมาทำก่อน โดยคงเนื้อหาเดิมไว้เหมือนกับในเล่ม เพราะมันก็ต้องแฟร์กับนักอ่านทั้งสองรูปแบบ จริงๆ พวกอีบุ๊กนี้จะทำกับทางสำนักพิมพ์ก็ได้ แต่เราที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เห็นว่ามันเป็นสิ่งที่สามารถทำเองได้ ไม่ได้มีค่าใช้จ่าย หรือกระบวนการทำอะไรมาก แค่ทำไฟล์ อัพลงเว็บไซต์ และทำหน้าปกใหม่ เลยเลือกที่จะทำเองดีกว่า

     อย่างก่อนที่จะตีพิมพ์ J-BOY เราลองทำแบบฟอร์มสำรวจความคิดเห็นผ่านเพจเฟซบุ๊กก่อนด้วย ว่านักอ่านคิดเห็นอย่างไร อยากซื้อเป็นรูปเล่มหรืออีบุ๊ก ผลปรากฏว่าถ้ามีหนังสือเขาก็ซื้อ แต่ถ้าไม่มีก็สามารถซื้ออีบุ๊กได้ เราว่านักอ่านทุกวันนี้มีความยืดหยุ่นเรื่องแพลตฟอร์มมากขึ้น และหนังสือมันก็ไม่ได้กำลังจะตายเสียทีเดียว เราแค่ต้องเสิร์ฟให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่กว้างขึ้นเท่านั้นเอง 

หลังปล่อยเรื่องราวโลดแล่นสู่ชาวอีบุ๊กแล้ว ตัวละครของคุณยังถูกปลุกให้มีชีวิตในซีรีส์โทรทัศน์ด้วย ตอนนั้นรู้สึกอย่างไร

      Perfect Match แฟนฉัน! รับประกันความเพอร์เฟกต์ คือเล่มแรกที่ถูกนำไปทำเป็นซีรีส์กับทาง GMMTV ในปี 2558 เรารู้สึกเหมือนเป็น new chapter ในชีวิต ได้นั่งดูนิยายตัวเองในรูปแบบที่มีชีวิตชีวาขึ้น แต่ว่าเราไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการทำบทนะ เขาจะหยิบแค่โครงเรื่องไป และปรับเปลี่ยนบ้างตามที่ทีมเห็นสมควร เนื้อหาในซีรีส์จึงไม่ได้เหมือนในเล่ม 100 เปอร์เซ็นต์

แล้วผลตอบรับเป็นยังไง

     เรารู้สึกว่าการทำซีรีส์ก็เพื่อเสิร์ฟคนที่ดูซีรีส์อยู่แล้ว ส่วนนักอ่านเป็นอีกกลุ่มเป้าหมายหนึ่ง เราว่าในมุมนักอ่านก็คงมีความคาดหวังอยากจะเห็นเรื่องราวหรือบางฉากที่เขาชอบจากหนังสืออยู่ในซีรีส์เหมือนกัน ซีรีส์จึงอาจไม่ตอบโจทย์ความคาดหวังของเขาได้สมบูรณ์ ส่วนถ้าคนที่ชอบดูซีรีส์เป็นทุนเดิม ไม่ได้อ่านหนังสือมาก่อน เราว่าเขาก็น่าจะเอ็นจอยและแฮปปี้ไปกับมันนะ

เห็นว่าได้ไปร่วมแต่งบทนิยายในเกม Call Me Master เรียกฉันว่านายท่าน (แอพพลิเคชั่น เกมจีบหนุ่มนิยายรัก โดยผู้เล่นจะได้รับการสวมบทเป็นนางเอกและดำเนินเรื่องตามตัวเลือก) ด้วย เล่าให้ฟังหน่อยสิ

     ตอนที่ทีมติดต่อมา เรากำลังอยากลองทำอะไรใหม่ๆ พอดีก็เลยลองดู ความยากของบทนิยายที่ถูกนำไปทำเป็นเกมคือ รูปแบบการเขียนที่ต้องเพิ่มส่วนของคำถามและตัวเลือกในแต่ละบทสำหรับผู้เล่น ซึ่งผู้เล่นก็จะมีความคิดหลากหลายมากๆ เช่น มีทั้งผู้หญิงที่กล้าไปจีบและไม่จีบหนุ่ม ทั้งเลือกตอบจุ๊บกับไม่จุ๊บ มันทำให้เราต้องคิดคาแรกเตอร์ของหลายๆ ตัวละคร และพยายามขมวดให้มันเป็นเรื่องเดียวกันกับพล็อตด้วย เอาจริงๆ ก็ไม่ค่อยถนัดนะ (หัวเราะ)

ผลงานของคุณ ไม่ว่าจะหนังสือ อีบุ๊ก ซีรีส์ หรือเกม ต่างเป็นนิยายรักๆ วัยใสทั้งนั้น มีแพลนเขียนแนวอื่นบ้างมั้ย

     เราพยายามจะอัพเกรดการเขียนนิยายให้มีความเป็นผู้ใหญ่ ตอนนี้ก็กำลังเขียนเรื่องใหม่โดยใช้นามปากกาใหม่ว่า Melisa (เมลิษา) เพื่อขยายฐานแฟนนิยายให้กว้างกว่าเดิม ให้คนได้รู้จักผลงานเรามากขึ้น และโดนด่ามากขึ้น (หัวเราะ) เราถือว่านี่เป็นอีก chapter ใหม่เหมือนกัน การต้องไปลงสนามของนิยายผู้ใหญ่ ก้าวออกไปในโลกที่ไม่ใช่ของตัวเอง เราก็จะได้กลับไปเป็นเด็กใหม่คนหนึ่งที่ไม่มีใครรู้จัก ถือเป็นก้าวต่อไปที่เราลองพยายามเพื่อเติบโตขึ้น

     จริงๆ ตอนนี้เรากำลังสนใจการวาดรูป อยากลองทำการ์ตูนแก๊กสี่ช่องเล็กๆ บนสื่อออนไลน์เพื่อเล่าเรื่องดูบ้าง เผื่อว่าจะขยายงานเขียนของเราให้คนอ่านไม่ต้องรอผลงานจากหนังสือเล่มเพียงอย่างเดียวด้วย

กระแสนิยายในรูปแบบแชตก็มาแรงเหมือนกันนะ ไม่อยากลองเขียนบ้างเหรอ

     จริงๆ เราเคยลองอ่านแล้วแต่อ่านไม่ค่อยรู้เรื่อง อาจเพราะเราชินกับการที่นิยายต้องมีบทบรรยายความรู้สึกมากกว่า อย่างนิยายแชตจะไม่มีบทบรรยาย ซึ่งเราว่ามันคงไม่เข้ากับเราเท่าไหร่ เราเลยไม่ฝึนทำอะไรที่ไม่ถนัด เชื่อว่าทำสิ่งที่เราถนัด มันน่าจะเวิร์กที่สุดแล้ว

แล้วกับนิยายวายล่ะ สนใจไหม

     อันนี้ก็ขอเสพอย่างเดียวดีกว่า เพราะว่า หนึ่ง เราไม่ได้อยู่ในแวดล้อมที่มีข้อมูลจะนำมาเขียนหรือสื่อสารเรื่องแนวนี้ได้มากพอ เราว่าการเขียนสิ่งที่เราไม่รู้นี่มันยากนะ สอง การเขียนถึงเรื่องเพศสมัยนี้ต้องจริงจังมาก 

ทำไมถึงมองว่าการเขียนเรื่องเพศต้องจริงจัง

     เราเริ่มเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้นตอนที่เขียนนิยายเกม บทที่เราเขียนเคยโดนวิจารณ์ว่ามันคุกคามทางเพศ การพูดหรือการใช้คำที่ทำให้รู้สึกโดนคุกคามมันไม่โอเค ซึ่งเราเองยังไม่ได้ศึกษาสิ่งนี้มากพอ หรืออย่างปีก่อนเราก็เคยโดนว่าเรื่องเนื้อหามีความกดขี่ผู้หญิงในหนังสือที่เขียนไปเมื่อสิบปีก่อน ซึ่งสมัยนั้นก็ไม่ได้มีคนมาบอกเราว่าการเขียนแบบนี้คือการกดขี่ทางเพศนะ มันเขียนไม่ได้นะ เรามีแต่จินตนาการ บางเรื่องเราก็ยังไม่รู้

     เราว่าการเขียนทุกวันนี้ต้องนึกถึงสังคมตลอด และไม่ใช่แค่เรื่องเพศเท่านั้น ไม่ว่าเรื่องอะไรเราก็รู้สึกว่าต้องมีการศึกษาข้อมูลก่อน ตรงนี้ไม่ได้ ตรงนี้ไม่ถูกต้อง ไม่ใช่เอาสนุกเราอย่างเดียว เพราะว่าพองานเผยแพร่ไป มันก็พร้อมมีกระแสตีกลับเสมอ

04

ถ้าบอกว่านิยายนี้ แต่งให้เธอ เธอจะเชื่อไหม

     ไม่ว่าเราจะชวนคุยไปกี่คำถาม ถามไถ่ไปกี่เรื่องราว สิ่งหนึ่งที่ May112 มักหยิบมาพูดถึงและย้ำกับเราบ่อยๆ คือ เหตุผลที่เธอยังคงเขียนนิยายมาตลอด 14 ปี ไม่ทิ้งหรือหายหน้าหายตาไปจากการเขียนนานๆ เป็นเพราะเธอรู้ว่ามีนักอ่านรออ่านงานของเธออยู่ 

     นั่นทำให้เราไม่แปลกใจเลยที่เธอจะให้ความสำคัญ และนึกถึงเพื่อนนักอ่านของเธออยู่ในทุกบรรทัด

ตลอด 14 ปีที่ผ่านมา นักอ่านที่ติดตาม May112 เป็นใครกันบ้าง

     หากย้อนไปตอนออกหนังสือแรกๆ นักอ่านของเราคงเป็นวัยมัธยม รุ่นราวคราวเดียวกันกับเราในตอนนั้นแหละ แต่พอเวลาผ่านไป นอกจากเราที่โตขึ้น นักอ่านของเราก็โตไปพร้อมกันด้วย นักอ่านส่วนใหญ่ตอนนี้เลยอยู่ในช่วงอายุ 22-30 ปี แต่ก็พอจะมีเด็กวัยมัธยมรุ่นใหม่ๆ อยู่บ้าง

ความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับนักอ่านเป็นแบบไหน

     ช่วงยุคแรกๆ เราว่ามันมีช่องว่าง หรือระยะห่างระหว่างนักอ่านและนักเขียนประมาณหนึ่ง นักอ่านยังไม่ค่อยกล้าพูดคุยกับเรา เลยไม่ค่อยมีฟีดแบ็กเท่าไหร่ แต่เดี๋ยวนี้ด้วยช่องทางการสื่อสารที่กว้างขึ้น ช่องว่างตรงนั้นมันลดลงเรื่อยๆ นักอ่านมีปฏิสัมพันธ์กับเรามากขึ้น ทั้งส่งกำลังใจ ส่งฟีดแบ็กทั้งดีและไม่ดี ถ้าชอบไม่ชอบอะไรก็บอกนักเขียนผ่านช่องทางต่างๆ กลายเป็นว่านักเขียนคือคนที่คุยด้วยได้ ด่าได้ ทำให้เรารู้สึกใกล้ชิดกันมากขึ้น และทำให้เรารู้ตัวว่าอะไรที่ควรปรับปรุง

แปลว่าฟีดแบ็กจากนักอ่านส่งผลต่อการเขียนของเราด้วยใช่มั้ย

     สำหรับเรา การอยู่ในวงการนักเขียนมันมากกว่าแค่การเขียนงาน เราต้องคอยสำรวจนักอ่านของเราเสมอๆ ต้องรู้ว่าเขาคิดยังไงกับงานของเรา เขาชอบอะไร เขาอยากอ่านอะไร ต้องการแบบไหน แล้วก็นำตรงนั้นมาปรับปรุงพัฒนางานตัวเอง แต่นอกจากฟีดแบ็กงานของตัวเองแล้ว เรายังชอบไปตามอ่านคอมเมนต์ที่เกี่ยวกับการทำหนังสือของคนอื่นๆ เพื่อมาปรับใช้ด้วย อันไหนที่เราเห็นว่าเขาทำแล้วไม่เวิร์กก็ไม่ทำ แล้วเราก็แชร์ฟีดแบ็กจากนักเขียนด้วยกันเอง พยายามเก็บฟีดแบ็กจากหลายๆ แบบเพื่อพัฒนางาน ลดดราม่าให้น้อยที่สุด เราจะตั้งธงไว้เสมอว่าอยากให้นักอ่านรู้สึกคุ้มค่าที่เลือกสนับสนุนงานเรา

เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คุณเลือกลงเนื้อหานิยายบางส่วนให้อ่านฟรีในเว็บไซต์ dek-d ด้วยหรือเปล่า

     ใช่ แต่ว่าเราก็ไม่ได้ลงทุกเล่มนะ ก็มีทั้งเล่มที่ตีพิมพ์ไปนานแล้ว และเล่มที่เพิ่งตีพิมพ์ไปไม่กี่ปี ลงให้อ่านเฉพาะบางส่วน หรืออย่างเล่มล่าสุดเราลงให้อ่านก่อนเกือบทั้งเล่ม เพราะเราอยากให้คนอ่านเนื้อเรื่องก่อนสัก 60 เปอร์เซ็นต์ เขาจะได้พอตัดสินใจหรือรับรู้ได้ว่าเรื่องนี้มันน่าจะสนุกหรือไม่สนุก อยากสนับสนุนหรือไม่สนับสนุน ให้เขาอ่านให้เต็มที่เลย จากนั้นค่อยตัดสินใจว่าจะจ่ายเงินซื้อในเว็บไซต์ dek-d เพื่ออ่านต่อ ซื้ออีบุ๊ก หรือจะซื้อหนังสือเล่มนั้นมั้ย

คิดว่านักอ่านชอบอะไรในงานเขียนของ May112 

     อีโมติคอน (หัวเราะ) เอาจริงๆ คงเป็นการเล่าเรื่องที่มันย่อยง่าย และใกล้เคียงกับชีวิตของเขา เพราะเราชอบเขียนจากเรื่องราวทั่วไปในชีวิตประจำวัน เรื่องใกล้ตัว และสำนวนที่อ่านไม่ยาก แถมมีมุกตลกแฝงๆ ไปด้วยบ้าง

พูดได้มั้ยว่าตอนนี้ประสบความสำเร็จแล้ว

     เรามีแฟนคลับที่พร้อมจะสนับสนุน มีนักอ่านคอยส่งฟีดแบ็ก มีผู้คนที่คอยติดตาม เรามีคอนเทนต์ให้เขาอ่าน ทำให้เขามีความสุขได้ ถ้าในแง่ของนักเขียนคนหนึ่ง เราว่ามันก็ประสบความสำเร็จแล้วแหละ