Thu 16 Jun 2022

PIXAR ENCYCLOPEDIA IN DATA

สารานุกรมพิกซาร์ ฉบับดาต้า

     Lightyear ผลงานลำดับที่ 26 ของสตูดิโอแอนิเมชั่นที่น่าจะเป็นความทรงจำวัยเด็กของหลายคนอย่าง ‘พิกซาร์’ (Pixar) เพิ่งเข้าฉายในโรงภาพยนตร์สดๆ ร้อนๆ ซึ่งนอกจากจะเป็นเรื่องราวของตัวละครที่คุ้นชินมานานแล้วนั้น กำหนดการเข้าฉายของการ์ตูนเรื่องนี้ยังเป็นช่วงเดือนมิถุนายน ตรงกับ Pride Month พอดี คอลัมน์ DATA JOURNALREAD ประจำเดือนนี้ เลยจะพาไปสำรวจดาต้าทั้งรายได้และความหลากหลายของตัวละครที่ซ่อนอยู่ในผลงาน 25 เรื่อง ตลอด 27 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ผลงานแอนิเมชั่นขนาดยาวเรื่องแรกของสตูดิโอที่พลิกวงการแอนิเมชั่นไปตลอดกาลอย่าง Toy Story ในปี 1995 จนถึงผลงานที่เข้าฉายผ่านระบบสตรีมมิงเมื่อต้นปีอย่าง Turning Red ที่กำกับโดยผู้กำกับหญิงเชื้อสายเอเชีย

     ถ้าพร้อมแล้ว ก็เลื่อนดูภาพถัดไปกันเลย!

     Data Visualization หรือการเล่าเรื่องดาต้าออกมาเป็นภาพในครั้งนี้ ใช้ชาร์ตที่เรียกว่า ‘Radial Histogram’ หรือ ‘แผนภูมิแท่งแบบวงกลม’ ในการอธิบายข้อมูล โดยวิธีการดูนั้น มีสิ่งที่ต้องสังเกตด้วยกัน 3 อย่าง

     1. ตำแหน่งของชาร์ต: ดูจากรัศมีของวงกลม แบ่งออกเป็น 25 ช่อง ตามผลงานแอนิเมชั่นทั้งหมดในปัจจุบันของพิกซาร์ แต่ละแท่งแสดงถึง ‘รายได้ของแอนิเมชั่น’ ยิ่งมีขนาดยาวออกจากจุดศูนย์กลางเท่าไหร่ ก็แสดงว่ายิ่งทำรายได้เยอะ  

     2. สี: แสดงถึงหนังแต่ละเรื่องว่ามีใจความเกี่ยวกับอะไร โดยแบ่งออกเป็น หกประเภท

     สีเหลือง—แอนิเมชั่นเกี่ยวกับมิตรภาพระหว่างเพื่อน 

     สีแดง—แอนิเมชั่นเกี่ยวกับครอบครัว  

     สีน้ำเงิน—แอนิเมชั่นเกี่ยวกับการทำตามความฝัน 

     สีม่วง—แอนิเมชั่นเกี่ยวกับการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ 

     สีฟ้า—แอนิเมชั่นที่แอบแฝงประเด็นทางสังคมเอาไว้

     สีเขียว—แอนิเมชั่นที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม 

     แน่นอนว่าแอนิเมชั่นหนึ่งเรื่องไม่ได้สื่อใจความหลักเพียงเรื่องเดียว จุดสีวงกลมที่ปลายของแต่ละแท่งจึงแสดงถึงใจความอื่นๆ ของภาพยนตร์ด้วย 

     ตัวอย่างเช่น Finding Nemo เนื้อหาหลักเกี่ยวกับการตามหา ‘นีโม่’ ลูกชายปลาการ์ตูนที่หายไป ระหว่างทางก็มีมิตรภาพใหม่เกิดขึ้น ทั้งทางฝั่งพ่ออย่าง ‘มาร์ลิน’ และจากปลาสีน้ำเงินขี้ลืมอย่าง ‘ดอรี่​’ นอกจากนี้ นีโม่ยังได้มิตรภาพใหม่ร่วมชะตากรรมในตู้ปลาที่คลินิกหมอฟันในซิดนีย์  อีกทั้งยังซ่อนประเด็นทางสังคมอย่างการจับสัตว์ทะเลขึ้นมาเป็นสัตว์เลี้ยงในตู้ปลาแบบผิดกฎหมายอีกด้วย 

     3. รูปร่าง: แสดงเพศของตัวละครหลักในเรื่อง ดาวแทนตัวละครเพศชาย หัวใจแทนตัวละครหญิง ส่วนตัวร้ายชายจะแทนด้วยแท่งสี่เหลี่ยม ตัวร้ายหญิงจะแทนด้วยเส้นหยึกหยักสีดำ

     เมื่อเข้าใจวิธีการอ่านในครั้งนี้ ก็ถึงเวลาสู่ความเวิ้งวางอันไกลโพ้นแล้ว! 

     “จะเป็นอย่างไร ถ้าหากตุ๊กตามีชีวิต” 

     เป็นคำถามตั้งต้นและเป็นแกนหลักของ Toy Story (1995) แอนิเมชั่นที่พลิกวงการด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่เมื่อ 27 ปีที่แล้ว ว่าด้วยเรื่องของเล่นที่มีชีวิตและออกมาใช้ชีวิตเหมือนมนุษย์ตามปกติ และจะทำอย่างไร ถ้าเจ้าของเรามีของเล่นใหม่ ซึ่งอาจจะทำให้เรากลายเป็นตุ๊กตาที่ถูกลืม 

     เรื่องดำเนินไปพร้อมกับการแสดงมิตรภาพระหว่างของเล่นตัวโปรดชิ้นเก่าอย่าง ‘วู้ดดี้’ กับของเล่นตัวโปรดชิ้นใหม่อย่าง ‘บัซ’ และมิตรภาพระหว่างตัวเราเองกับของเล่น ทำให้คนดูสามารถเข้าใจได้ไม่ยาก ทำรายได้ไปมากถึง 365,270,951 ดอลลาร์สหรัฐ

     ในบรรดาแอนิเมชั่นทั้งหมดของพิกซาร์ A Bug’s Life (1998) คือแอนิเมชั่นที่เมื่อดูตอนเด็กกับตอนโตจะให้มุมมองที่แตกต่างกัน เมื่อดูตอนเด็ก A Bug’s Life เป็นมิตรภาพระหว่างมดและแมลงตัวอื่นๆ ช่วยกันกอบกู้อาณาจักรของตัวเองที่ถูกแก๊งตั๊กแตนอันธพาลคอยขูดรีดอาหาร แต่เมื่อดูตอนเป็นผู้ใหญ่ A Bug’s Life กลับเป็นเรื่องราวที่เสียดสีระบบสังคมและระบบทุนนิยม คนตัวใหญ่มักจะขูดรีดและรังแกคนที่ตัวเล็กกว่าเสมอ แต่เมื่อวันหนึ่งคนตัวเล็กๆ อย่างมดทนระบบที่คอยกดทับไม่ไหว จึงรวมพลังเป็นหนึ่งเดียว และสามารถเอาชนะระบบที่คอยกดขี่มดตัวเล็กๆ ได้ในที่สุด

     ขณะที่ Toy Story 2 (1998) สิ่งที่น่าสนใจอยู่ตรงการเพิ่มตัวละครนำผู้หญิงเข้ามาหนึ่งตัว นั่นก็คือ ‘เจสซี่’ (Jessie) ตุ๊กตาคาวเกิร์ลที่ผลิตเซตเดียวกับวู้ดดี้ ทำให้ภาคนี้ มีตัวละครนำเป็นเพื่อนกันสามคน คือวู้ดดี้ บัซ และเจสซี่ 

     การเพิ่มตัวละครหญิงเข้ามาเปลี่ยนการดำเนินเรื่องแบบหนังคู่หูชาย-ชาย เป็นกลุ่มเพื่อนตุ๊กตาสามคน พร้อมกับปูมหลังของเจสซี่ที่ทำให้ทุกคนเสียน้ำตา ต่อยอดความสำเร็จจากภาค 1 ทำให้รายได้ของ Toy Story 2 สูงขึ้นไปถึง 511,358,276 ดอลลาร์สหรัฐ และทำให้พิกซาร์เริ่มพัฒนาบทบาทของตัวละครนำหญิงมากขึ้น 

     ทิศทางแอนิเมชั่นสี่เรื่องแรกของสตูดิโอตั้งแต่ Toy Story, A Bug’s Life, Toy Story 2 และ Monsters, Inc. ว่าด้วย ‘มิตรภาพระหว่างเพื่อน’ ทั้งหมด แต่พิกซาร์ก็ไม่หยุดที่จะทดลองเล่าเรื่องใหม่ๆ โดยการเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับครอบครัวอย่าง Finding Nemo (2003) และ The Incredibles (2004) ซึ่งถ้าคำนวณรายได้ของแอนิเมชั่นด้วยค่าเงินเฟ้อในปัจจุบัน Finding Nemo จะเป็นหนังที่ทำรายได้สูงสุดของสตูดิโออยู่ที่ราวๆ 1,357 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  

     หลังจากเล่าเรื่องเกี่ยวกับมิตรภาพและครอบครัวไปแล้วในช่วงสิบ ปีแรกของสตูดิโอ พิกซาร์ก็พัฒนาไปอีกขั้นด้วยการผลิตแอนิเมชั่นที่พูดเรื่อง ‘การทำตามความฝัน’ อย่าง Ratatouille (2007) และ Up (2009)

     “จะเป็นอย่างไร ถ้าหากหนูมีความฝันยิ่งใหญ่คือการได้เป็นพ่อครัว” 

     Ratatouille เป็นเรื่องราวการตามหาความฝันระหว่างคนที่ไม่มีพรสวรรค์ในการทำอาหาร แต่สามารถเข้าครัวได้ กับหนูที่มีพรสวรรค์ในการทำอาหาร แต่ไม่สามารถเข้าครัวได้เนื่องจากถูกมองว่าเป็นสิ่งสกปรก ทั้งคู่มีความฝันร่วมกัน ทำให้เกิดมิตรภาพดีๆ และการเรียนรู้ซึ่งกันและกันตลอดทั้งเรื่อง

     “จะเป็นอย่างไร ถ้าความฝันไม่สามารถทำได้อีกต่อไป เพราะคนที่จะทำตามความฝันร่วมกันได้จากไปแล้ว” 

     Up เป็นเรื่องราวการผจญภัยของเพื่อนต่างวัยระหว่างคุณปู่ที่ต้องการทำตามความฝัน หลังจากภรรยาได้เสียไปแล้ว กับลูกเสือที่ต้องการเข็มกลัดช่วยผู้สูงอายุ โดยพวกเขาร่วมผจญภัยผ่านการเอาลูกโป่งหลายหมื่นลูกผูกติดกับบ้านใช้แทนยานพาหนะ (fun fact: ความจริงแล้ว การจะยกบ้านขนาด 1,800 ตารางฟุตจะต้องใช้ลูกโป่งจำนวน 23.5 ล้านลูกด้วยกัน แต่ในการทำแอนิเมชั่นฉากที่บ้านลอย พิกซาร์ใส่ลูกโป่งบนบ้านแค่สองหมื่นลูกเท่านั้น)  

     ในปี 2008 พิกซาร์ปล่อยแอนิเมชั่นเรื่องใหม่ที่มีประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมอย่าง WALL-E (2008) ว่าด้วยเรื่องในศตวรรษที่ 29 มนุษย์ไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่บนโลกได้อีกต่อไปเพราะโลกเต็มไปด้วยขยะ พวกเขาจึงย้ายไปอาศัยอยู่บนยานอวกาศ และสร้าง ‘วอลล์-อี’ หุ่นยนต์ที่ทำหน้าที่กำจัดขยะบนโลก กับ ‘อีฟ’ หุ่นยนต์ที่ได้รับภารกิจให้เดินทางกลับมายังโลกเพื่อตามหาต้นไม้ ก่อนที่ทั้งสองจะโคจรมาเจอกัน แอนิเมชั่นเรื่องที่ 9 กำกับโดย แอนดรูว์ สแตนตัน (Andrew Stanton) ที่เคยกำกับ Finding Nemo มาก่อน

     อย่างไรก็ตาม แอนิเมชั่นทั้ง 13 เรื่องก่อนหน้านี้ล้วนกำกับโดย ‘ผู้กำกับชาย’ แต่สำหรับ Brave (2012) ที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเจ้าหญิงหัวขบถ ผู้ตั้งคำถามเกี่ยวกับธรรมเนียมความเป็นหญิงในอุดมคติแสนโบราณของอาณาจักร และการมีแม่เป็นราชินีที่สมบูรณ์แบบแตกต่างจากสิ่งที่ตนเป็น เรื่องปัญหาครอบครัวระหว่างแม่และลูกสาวถูกถ่ายทอดโดย ‘ผู้กำกับหญิง’ และเป็นครั้งแรกที่พิกซาร์ให้ผู้หญิงเป็นผู้กำกับ

     “จะเป็นอย่างไร ถ้าความรู้สึกในหัวของเรามีชีวิต” 

     Inside Out (2015) เล่าเรื่องเกี่ยวกับการเรียนรู้ความรู้สึกของตัวเองจากวัยเด็กไปสู่วัยรุ่นของ ‘ไรลีย์’ (Riley) ตัวละครหลักผู้หญิงที่อยู่ในช่วงตรงกลางระหว่างเด็กและวัยรุ่น ผู้ที่ต้องปรับตัวเข้ากับสังคมใหม่และการตระหนักรู้ถึงความรู้สึกตัวเอง เป็นแอนิเมชั่นที่พิสูจน์ว่า ผลงานของพิกซาร์ไม่ได้สร้างขึ้นมาสำหรับเด็กเพียงอย่างเดียว แต่เมื่อผู้ใหญ่เปิดใจดูก็สามารถได้ข้อคิดดีๆ ย้อนกลับมามองตัวเองได้เช่นกัน

     ข้ามมาที่ปี 2016-2018 สิ่งที่น่าสนใจในช่วงนี้คือพิกซาร์มุ่งผลิตแอนิเมชั่นแนวครอบครัวออกมาทุกปี

     ปี 2016 Finding Dory ภาคต่อของ Finding Nemo ที่ปลาความจำสั้นและขี้ลืมอย่างดอรี่ อยู่ๆ วันหนึ่ง ความทรงจำของครอบครัวในอดีตก็ย้อนกลับมา เธอจึงต้องตามหาครอบครัวที่ครั้งหนึ่งเธอเชื่อว่ายังมีอยู่

     ปี 2017 Coco เด็กหนุ่มผู้อยากทำตามความฝันในการเป็นนักดนตรีที่ยิ่งใหญ่เหมือนคุณปู่ทวด แต่ครอบครัวไม่เห็นด้วย เด็กหนุ่มคนนี้จะเลือกอะไร ระหว่างการเดินตามความฝันหรือครอบครัวที่ไม่เคยเข้าใจ 

     ขณะที่ปี 2018 ในช่วงที่หนังซูเปอร์ฮีโร่จากค่ายต่างๆ เข้าฉายในโรงภาพยนตร์และประสบความสำเร็จต่อเนื่องทุกปี พิกซาร์เลือกผลิต Incredibles 2 (2018) ภาคต่อของ The Incredibles ที่ถึงแม้จะต้องรอนานถึง 16 ปี แต่ก็เป็นการรอคอยที่คุ้มค่า 

     นอกจากประเด็นเรื่องครอบครัวแล้ว Incredibles 2 ยังแฝงไปด้วยประเด็นบทบาทหน้าที่ของผู้หญิงในยุคปัจจุบัน ด้วยการตั้งคำถามว่า “ผู้หญิงสามารถขึ้นมาเป็นหัวหน้าครอบครัวและผู้ชายสามารถทำหน้าที่พ่อบ้านได้หรือเปล่า​” โดยเล่าเรื่องผ่าน ‘อีลาสติเกิร์ล’ ที่ต้องออกไปปฏิบัติหน้าที่ซูเปอร์ฮีโร่ และปล่อยให้ ‘มิสเตอร์อินเครดิเบิล’ คอยดูแลและจัดการปัญหาภายในบ้านทั้งหมด ตั้งแต่เป็นที่ปรึกษาปัญหาหัวใจให้กับลูกสาวคนโตที่กำลังเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น สอนการบ้านคณิตศาสตร์ให้ลูกชายคนกลาง และเล่านิทานก่อนเข้านอนให้ลูกชายวัยทารก ซึ่งแต่เดิมทั้งหมดนี้เป็นหน้าที่ของแม่  

     การผลิตแอนิเมชั่นที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับบทบาทของผู้หญิงในสังคมปัจจุบัน ทำให้ Incredibles 2 กลายมาเป็นหนังทำเงินอันดับ 1 ของค่าย ที่ 1,242,805,359 ดอลลาร์สหรัฐ

     หลังจากนั้น ก็เป็นการการกลับมาของ Toy Story 4 (2019) ซึ่งครั้งนี้ไม่ได้มีตัวละครหลักเพียงแค่สามตัว แต่ยังเพิ่มตัวละครหน้าเก่าอย่าง ‘โบปี๊ป’ (Bopeep) จากตุ๊กตาเด็กต้อนแกะตัวประกอบเล็กๆ ในภาค 1-3 ให้กลายมาเป็นผู้หญิงที่สามารถต่อสู้และออกไปผจญภัยได้ เปลี่ยนการแต่งกายจากกระโปรงยาวสีขาวลายโพกาดอตสีชมพูอ่อน มาเป็นกางเกงที่พร้อมผจญภัยช่วยวู้ดดี้ เป็นแบบอย่างให้เด็กผู้หญิงรุ่นใหม่ได้รับรู้ว่า ผู้หญิงก็สามารถทำทุกอย่างได้เหมือนเด็กผู้ชาย 

     จะเป็นอย่างไร เมื่อแอนิเมชั่นสตูดิโออันดับ 1 ของโลกก็ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด 

     ตั้งแต่ Onward (2020) จนถึง Turning Red (2022) กำไรของสตูดิโอหายไปสิบเท่า ทำให้ถึงแม้ว่าทุกปีทางสตูดิโอจะมีแอนิเมชั่นออกมาตลอด แต่ก็ต้องฉายด้วยระบบสตรีมมิ่งของ Disney+ แทน

     และในที่สุด หนึ่งทศวรรษต่อมา พิกซาร์ก็มีผู้กำกับหญิงอีกครั้ง โดยฝากผลงานกำกับไว้ใน Turning Red (2022) ซึ่งถ้า Toy Story คือผลงานเรื่องแรกของสตูดิโอที่เหมือนไกด์บุ๊กหลักสูตรความสำเร็จของแอนิเมชั่นในยุค 90s Turning Red ก็เป็นแอนิเมชั่นที่เล่าเรื่องโดยฝืนกฎเกือบจะทั้งหมด ตั้งแต่ตัวละครหลักเป็นเด็กผู้หญิงและเพื่อนอีกสามคน มีหลากหลายเชื้อชาติ ไม่มีวายร้ายประจำเรื่อง และกำกับโดยผู้กำกับและทีมงานผู้หญิง แต่ก็ยังมีความเป็นพิกซาร์แบบเดิม เช่น เรื่องเวทมนตร์ เรื่องครอบครัว เรื่องราวมิตรภาพระหว่างเพื่อน และการก้าวข้ามจากวัยเด็กเป็นวัยรุ่น  

     ถึงแม้ว่ารายได้ของ Turning Red จะไม่ค่อยดีนัก เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถฉายในโรงภาพยนตร์ได้ แต่ก็เป็นเรื่องที่ได้รับคำวิจารณ์ระดับดีเยี่ยม เพราะหนังพูดถึงประเด็นใหม่ๆ ที่เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น

     ผลงานทั้ง 25 เรื่องของพิกซาร์บอกเล่าเรื่องราวผ่านแอนิเมชั่นที่เด็กสามารถดูและได้รับความสนุกสนาน
ส่วนเมื่อมองในมุมผู้ใหญ่ก็จะได้ข้อคิดในการใช้ชีวิตกลับไป โดยเฉพาะผลงานในช่วงหลังที่มีใจความเกี่ยวกับ ‘ชีวิต’ ทั้งการรู้จักและภูมิใจในตัวเอง หรือการตั้งคำถามกับบทบาททางสังคม แต่ก็ยังคงแกนหลักของสตูดิโออย่างเรื่องของมิตรภาพไว้ตลอด 27 ปี และรู้ตัวอีกทีตัวเองก็เป็นเพื่อนที่เติบโตไปพร้อมกับพิกซาร์เช่นกัน 

     หวังว่าในอนาคตจะได้เห็นความหลากหลายของตัวละคร แง่มุมที่หลากหลายมากขึ้นของผู้กำกับ และประเด็นสดใหม่ที่หมุนไปพร้อมกับโลก

     เราเองจะมาไม่ถึงจุดจุดนี้แน่นอน ถ้าไม่ได้กำลังใจและข้อคิดดีๆ จากพิกซาร์

     จะคอยสนับสนุนเพื่อนคนนี้ตลอดไป!   

อ้างอิง

pixar.com/feature-films-launch
pocket-lint.com/tv/news/disney/147842-pixar-theory-timeline-best-pixar-movie-viewing-order
insider.com/pixar-turning-red-all-female-leadership-team-2022-1
the-numbers.com/movies/production-company/Pixar
boxofficemojo.com/title/tt8097030
variety.com/2022/film/box-office/disney-pixar-turning-red-disney-plus-subscribers-1235149836
screenrant.com/turning-red-encanto-pixar-disney-movies-no-villains
rateyourmusic.com/list/fervent36/twenty-pixar-movies-adjusted-for-inflation
wired.com/2009/06/more-on-the-movie-up-or-upper/#:~:text=The%20dude%20would%20need%209.4,balloons%20from%20the%20floating%20sequences