TRUST NO ONE BUT YOURSELF
การปั่นหุ้นในตำนานกับกฎการลงทุนพื้นฐานที่ว่าอย่าเชื่อใครอื่น
เรื่อง: ลงทุนศาสตร์
ภาพ: NJORVKS
คงไม่มีหนังเรื่องไหนตีแผ่ด้านมืดของตลาดหุ้นได้ดีเท่ากับ The Wolf of Wall Street อีกแล้ว
The Wolf of Wall Street เป็นหนังสัญชาติอเมริกันที่ดัดแปลงมาจากหนังสือชื่อเดียวกัน บอกเล่าอัตชีวประวัติของ จอร์แดน เบลฟอร์ต (Jordan Belfort) ชายผู้ผ่านชีวิตด้านมืดในตลาดหุ้นมาอย่างโชกโชน เริ่มต้นจากต่ำสุด ขึ้นไปสูงสุด ก่อนจะลงมาต่ำสุดอีกครั้ง
ผมเชื่อว่าใครหลายคนคงเคยเห็นคลิปในตำนาน ที่มีชายคนหนึ่งบอกว่าจะตัดสินฝีมือนักขายด้วยประโยค “Sell me this pen.” หรือ “ไหนลองขายปากกาด้ามนี้ให้ผมซิ”
นั่นแหละ หมาป่าแห่งวอลล์สตรีทที่ยังมีลมหายใจ
คำถามคือ… ทำไมจอร์แดน เบลฟอร์ต ถึงสำคัญต่อตลาดหุ้นนัก?
คำตอบคือ จริงๆ แล้วจอร์แดน เบลฟอร์ต ไม่ได้สำคัญต่อตลาดหุ้นเลย แต่พฤติกรรมของเขาต่างหากที่แฉความเลวร้ายของตลาดหุ้นออกมาอย่างหมดเปลือก
ผมมักพูดให้ใครต่อใครฟังเสมอว่า หากอยากลงทุน ภาพยนตร์เรื่อง The Wolf Of Wall Street ถือเป็นหนังห้ามพลาด เพราะหนังจะพาเราไปพบแก่นแท้ของความโลภในตัวคนที่ขับเคลื่อนให้ตลาดหุ้นหมุนไป
ใครๆ ก็เข้าตลาดหุ้นเพราะอยากรวยทั้งนั้น แม้แต่ผม แม้แต่คุณ นี่คือสัจธรรมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คำถามคือเราจะจัดการความโลภนี้ยังไงมากกว่า
เบลฟอร์ตเริ่มต้นชีวิตนักค้าหุ้นโดยการทำงานในโบรกเกอร์หุ้นขนาดเล็ก และนั่นก็ทำให้เขาได้รู้จักหุ้นพิงก์ชีต (Pink Sheet Stock) หรือหุ้นที่มีขนาดกิจการเล็ก นิยมซื้อ-ขายกันนอกกระดานหลักของตลาดหุ้น เป็นหุ้นที่รู้กันในหมู่นักลงทุนว่ามีความเสี่ยงสูงมาก ส่วนใหญ่เป็นการเก็งกำไรล้วนๆ
เบลฟอร์ตมีหน้าที่โทรไปหาลูกค้า ใครก็ได้สักคนหนึ่ง พูดด้วยวิธีการใดก็ได้ให้อีกฝ่ายเชื่อและยอมซื้อหุ้นเหล่านี้ และเบลฟอร์ตจะได้กำไรมหาศาล นักค้าหุ้นบางคนอาจจะได้ค่านายหน้าสูงราวครึ่งหนึ่งของราคาซื้อ-ขายทั้งหมด
สิ่งที่เขาทำเรียกว่า ‘การปั่นหุ้น’ หรือการทำให้นักลงทุนเข้าใจผิดเกี่ยวกับสาระสำคัญของหุ้นหรือกิจการต่างๆ นำธุรกิจห่วยๆ บริษัทที่ผลประกอบการย่ำแย่มาใส่ตะกร้าล้างน้ำ แต่งเติมเรื่องราวการเติบโตที่น่าเหลือเชื่อ และเสนอขายแก่นักลงทุน
การปั่นหุ้นถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เพราะเป็นการจงใจให้คนที่ตัดสินใจซื้อ-ขายหุ้นเข้าใจผิดในสาระสำคัญเพื่อนำมาซึ่งผลประโยชน์ของผู้ปั่นหุ้นเอง เช่น ในกรณีของเบลฟอร์ต ยิ่งเขาหลอกให้คนเชื่อได้มากที่สุดเท่าไหร่ว่าหุ้นที่เขาขายเป็นของดี เขาก็ได้ค่านายหน้ามากขึ้นเท่านั้น การปั่นหุ้นก็ไม่ต่างจากการหลอกขายของห่วยๆ ให้กับลูกค้าสักคน หากถูกจับได้ก็ถูกดำเนินคดี เป็นคดีอาญา อย่างประเทศไทยก็ยังเคยเห็นกรณีที่เศรษฐีชื่อดังต้องติดคุกด้วยความผิดโทษฐานนี้
แต่สิ่งที่กลายเป็นความมหัศจรรย์ของเบลฟอร์ตก็คือการขายและการพูดยังไงให้คนหลงเชื่อ ซึ่งสร้างรายได้ให้เขาร่ำรวยจนก่อตั้งโบรกเกอร์ของตัวเองและหากินกับการปั่นหุ้นจนกลายเป็นมหาเศรษฐี ก่อนถูกทางการจับได้ในที่สุด เขาถูกขังคุกและจะถูกปล่อยตัวในปี 2000 ลงเอยด้วยการหันมาทำมาหากินกับการสอนเทคนิคการขาย
หนังเรื่องนี้ตอกย้ำเราว่า “ให้คิดเสมอว่าคนในตลาดหุ้นต้องการอะไรจากคุณ”
ผมพูดเสมอว่า ที่นี่…ทุกคนอยากรวย ไม่มีใครเข้าตลาดหุ้นมาเพื่อทำการกุศล คำพูดของใครต่อใครล้วนมีผลต่อเงินในกระเป๋าทั้งสิ้น ทั้งของเขาและของคุณเอง
คุณอาจจะถูกหลอกให้ซื้อหุ้น… เขาจะได้ขายหุ้นให้คุณในราคาแพง
คุณอาจจะถูกหลอกให้ขายหุ้น… เขาจะได้ซื้อหุ้นจากคุณในราคาถูก
ในตลาดหุ้นไม่มีพื้นที่ให้เราคิดชั้นเดียว เราจำเป็นต้องคิดสองชั้น สามชั้น สี่ชั้น หรือมากกว่าเสมอ คำพูดในตลาดหุ้นทำงานง่าย อย่างเช่นประโยคทำนองว่าอนาคตบริษัทจะเติบโตมหาศาล งบการเงินไตรมาสนี้จะออกมาดีเยี่ยม หรือกิจการกำลังจะถูกควบรวมในราคาสูงลิบลิ่ว
ประโยคง่ายๆ เหล่านี้ดูสวยงามและหอมหวาน แต่แท้จริงแล้วอันตราย เคลือบยาพิษ และทำคนหมดตัวมานักต่อนัก
หลักการเอาตัวรอดง่ายๆ ในตลาดหุ้นคือเชื่อตัวเอง
ตั้งธงอยู่เสมอว่าข้อมูลจากคนอื่นเชื่อถือไม่ได้ เราจำเป็นต้องพิสูจน์ด้วยตนเอง มีคนบอกว่าหุ้นนี้ดี เราก็ต้องลงไปวิเคราะห์ด้วยตัวเองว่าหุ้นนี้ดีจริงไหม มีคนบอกว่าหุ้นนี้จะโต เราก็ต้องลงไปวิเคราะห์ด้วยตัวเองว่าหุ้นนี้จะโตจริงหรือเปล่า
แน่นอน เราป้องกันการขาดทุนไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์
บางครั้งคนที่ตั้งใจเข้ามาหลอกเราก็แสนเหนือชั้นและแนบเนียน แต่หากเราคิดแล้วคิดอีก คิดอย่างรอบคอบที่สุด โอกาสขาดทุนก็จะน้อยลงตามไปด้วย
ผมเคยมีโอกาสเข้าใกล้หุ้นปั่นอยู่มากที่สุดครั้งหนึ่ง
ตอนนั้นผมยังเข้าตลาดหุ้นได้ไม่นานนัก ไม่น่าจะถึงสามเดือน เรียกว่ายังเป็นเม่ามือใหม่ ใครบอกอะไรก็เชื่อ ใครพูดอะไรก็ฟัง ผมเข้าไปอยู่ในกลุ่มเฟซบุ๊กของอาจารย์สอนหุ้นคนหนึ่ง อาจารย์แนะนำหุ้นอสังหาริมทรัพย์ตัวหนึ่งบ่อยมาก แนะนำทุกวัน แล้วหุ้นก็วิ่งขึ้นทุกวัน วิ่งมาตั้งแต่ราคาไม่ถึงบาทจนไปถึงจุดสูงสุดแถวสามบาทกว่า
ผมเข้าซื้อตอน 2.8 บาท มีกำไรให้เห็นให้อุ่นใจแค่ไม่กี่วัน หลังจากนั้นก็ร่วงระนาว ลงไม่หยุด อาจารย์ก็ยังย้ำว่าหุ้นดี เชียร์ให้ซื้อเพิ่ม แต่ตอนนั้นผมเริ่มคิดว่าไม่ใช่แล้ว ผมยอมขายหุ้นทิ้งทั้งหมดที่ราคา 2.5 บาท ขาดทุนมากพอสมควร แต่หลังจากนั้นหุ้นก็ถล่มลงไม่หยุด ลงไปต่ำกว่า 1 บาท แล้วอาจารย์คนนั้นก็ไม่พูดถึงหุ้นนี้อีก แต่ไปเชียร์หุ้นตัวอื่นแทน
ผมเพิ่งรู้ตอนนั้นเองว่าผมถูก ‘หลอก’
นี่คือหุ้นปั่น และสิ่งที่อาจารย์คนนั้นทำคือการปั่นหุ้น หากเทียบเรื่องจริยธรรมด้านการลงทุนของเขาก็คงต้องเรียกว่าเลวร้าย แต่ความสามารถในการขายของเขานั้นเหลือเชื่อ
ผมโชคดีที่สุดที่เล่นหุ้นปั่นอยู่ครั้งเดียวแล้วขาดทุนเละเทะ นั่นทำให้ผมแขยงและไม่เคยคิดจะกลับไปเล่นอีก ผมว่านั่นคือประสบการณ์ที่ดีมาก เพราะว่าถ้าผมเล่นหุ้นปั่นครั้งแรกแล้วรวย ผมอาจเสพติดและไม่สามารถเลิกเล่นได้อีกเลย
ประสบการณ์ครั้งนั้นกับหนังเรื่องนี้สอนผมในสิ่งเดียวกัน
นั่นคือเวลามีใครบอกอะไรกับเราในตลาดหุ้น …อย่าเชื่อ แต่จงพิสูจน์ ทุกคำ ทุกวลี ทุกประโยค มีราคาในตัวเองเสมอ ท่องไว้เสมอว่าต้องคิดสองชั้น คิดตลอดว่าคนอื่นกำลังต้องการอะไรจากเรา กำลังจะควบคุมเราไปในทางไหน และกำลังจะหลอกเอาเงินในกระเป๋าเราไปหรือเปล่า
บางทีการอยู่ในตลาดหุ้นก็ต้องหัดมองโลกในแง่ร้าย
เพราะถัดออกไปมีแต่คมเขี้ยว ห่างอีกคืบหนึ่งก็หมาป่า ห่างอีกศอกหนึ่งก็หมาป่า มีคนรอคอยจะเอาเงินจากพอร์ตของคุณอยู่ตลอดเวลา
…ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะฉลาดมากพอที่จะไม่โดนหลอกหรือเปล่า เท่านั้นเอง