SA-ARD
โต๊ะแห่งการร่างภาพ ตัดเส้น และลงสีของ ‘สะอาด’
เรื่อง: ชนัดดา ตันนพรัตน์
ภาพ: ภาพถ่ายจากทางบ้าน
โคมไฟแสงสลัวๆ หนึ่งตัว กองกระดาษเป็นตั้ง เศษขี้ยางลบเป็นกอง และปากกา-ดินสอร้อยกว่าแท่งวางเรียงราย คือภาพที่ชอบคิดเองเออเองเมื่อนึกถึงโต๊ะทำงานของนักวาดการ์ตูน
ด้วยความกลัวว่าจะคิดเองเออเองตลอดไป เลยต้องขอผันตัวมาเป็นยอดนักส่อง แอบเดินย่องเข้าไปดูโต๊ะของนักวาดสักคน และก็เป็นคนใกล้ตัวสักหน่อยอย่าง ‘สะอาด’ หรือ ‘ธนิสร์ วีระศักดิ์วงศ์’ ผู้เป็นเจ้าของ ‘คอมิกค้อนต์’ คอลัมน์ที่หยิบเรื่องราวการอ่านมาวาดเป็นการ์ตูนแก๊กสี่ช่อง นักวาดที่สะท้อนประเด็นสังคมและการเมืองผ่านลายเส้น ซึ่งล่าสุดก็กำลังขีดเขียนการ์ตูนอิงประวัติศาสตร์เรื่อง 2475 Graphic Novel และจัดทำบ็อกซ์เซตรวมการ์ตูน coming of age สุดอบอุ่นใจของเขาทั้งสามเล่ม (ชายผู้ออกเดินทางตามเสียงของตัวเอง, บทกวีชั่วชีวิต, ให้รักเป็นดั่งบทกวีชั่วชีวิต) ในชื่อ Good Old Days ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับซีรีส์ที่ทาง GMMTV ได้แรงบันดาลใจจากการ์ตูนของเขา และจะเข้าฉายวันที่ 10 สิงหาคมที่ Disney+ Hotstar ด้วย
ส่องเสร็จปุ๊บก็พบว่าที่คิดเองเออเองข้างต้นน่ะผิดหมด! ไม่เชื่อก็เข้าไปดูสารพัดของที่อยู่บนโต๊ะของเขาพร้อมเราใน ‘table of CONTents’ คอลัมน์ที่พาไปดูว่าบนโต๊ะของบุคคลที่น่าสนใจในแต่ละแวดวงนั้นมีอะไรบ้าง สำคัญกับพวกเขายังไง กดอ่านได้ในหน้าต่อเลย
ปากกา Maru Pen
“ปากกาจุ่มหมึก ภาษาไทยน่าจะเรียกว่า ปากกาคอแร้ง ส่วนญี่ปุ่นจะเรียกว่าปากกาหัว G-pen ส่วนในรูปจะชื่อ Maru Pen เป็นหัวปากกาที่ให้เส้นเล็กกว่า G-pen ลงมาหน่อย
“เราหัดใช้ตามนักเขียนการ์ตูนญี่ปุ่นแหละ น่าจะประมาณสิบปีก่อน ซึ่งก่อนหน้านี้เราจะใช้ปากกาหัวเคมีที่เรียกว่าพิกม่า มีขนาดหัวปากกาต่างๆ ให้เลือก เราเขียนการ์ตูนมาสักพักถึงจะมาหัดใช้สิ่งนี้จริงจัง เพราะมันเป็นอุปกรณ์ที่ฝึกยาก ใช้ก็โคตรยุ่งยาก 555 ต้องคอยเช็ดหมึกที่หัวตลอด ไม่งั้นหมึกจะตัน หรือบางทีวาดไปแป๊บเดียว หัวปากกาก็อาจจะสึก ทำให้เส้นที่ออกมาหนาขึ้นกว่าเดิม นักเขียนการ์ตูนบางคนเลยต้องเปลี่ยนหัวปากกาบ่อยๆ เพื่อให้คงมาตรฐานของลายเส้นตัวเองไว้
“แต่ข้อดีคือ มันสามารถให้น้ำหนักหนัก-เบาในการตวัดเส้นได้ในทีเดียว ซึ่งถ้าฝึกคล่องๆ จะทำให้เราทำงานได้เร็วขึ้น (แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งเหล่านี้ไอแพดก็ทำได้ 555) อีกข้อดีคือพอมันต้องจุ่มหมึก วาด เช็ดหมึก ตอนวาดร่างกายเลยได้เคลื่อนไหวเยอะ อาจจะทำให้เป็นออฟฟิศซิมโดรมยากกว่าวาดผ่านไอแพด หรือเวลาวาดจะมีเสียงแกรกกราก ถ้าคนชอบมันจะให้ความรู้สึกผ่อนคลายพอสมควร เหมือนฟัง ASMR
“ส่วนตัวชอบการทำงานอะไรด้วยมือ ชอบสัมผัสสากๆ ชอบความไม่สมบูรณ์แบบ ความแก้ไขไม่ได้แล้วต้องหาทางถูลู่ถูกังให้งานตอนจบมาออกมาดีให้ได้ เลยมีอุปกรณ์ทั้งในส่วนของการร่างภาพ ตัดเส้น และลงสี แต่ช่วง 1-2 ปีหลัง เราใช้สิ่งเหล่านี้น้อยลงมาก ตั้งแต่ได้ซื้อของชิ้นถัดไป”
ไอแพด
“ได้มาแล้วเหมือนพบกับแสงสว่างในชีวิต เราเป็นคนเดินทางบ่อย หลายครั้งต้องเอางานไปทำ ก่อนหน้านี้จะต้องขนอุปกรณ์วาดรูปพะรุงพะรังพร้อมกับเครื่องสแกนไปด้วย พอมีไอแพด ปัญหานี้ก็ถูกตัดออกไปเยอะมาก
“ไอแพดทำให้เรากลับมาสนุกกับการวาดรูปเล่น และทดลองเทคนิคใหม่ๆ อีกรอบ เพราะมันแก้ได้ ปรับได้ตลอดเวลา ตอนหลังถึงได้รู้ว่าพวกนักเขียนการ์ตูนญี่ปุ่นหันมาวาดด้วยคอมพ์กันน่าจะเกิน 90% แล้ว เพราะได้ภาพคมชัดกว่า ประหยัดต้นทุนกว่า เวลาแก้ไขไฟล์ก็สะดวกกว่า
“แต่ถ้าพูดในแง่ของคนเสพงาน เราจะชอบงานมือมากกว่า เช่น งานของ ‘ยูสึเกะ มุราตะ’ (Yusuke Murata) เขาเป็นคนที่มีมุมมองในการวาดภาพแอ็กชั่นที่สุดยอดแบบหาคนเทียบยาก ซึ่งเราชอบงานภาพของเขาสมัยวาดด้วยมือเป็นหลักอย่างช่วงเรื่อง Eyeshield 21 มากกว่าตอน One Punch Man พอเห็นความดิบ ความขาดๆ เกินๆ ในงานมันจะสัมผัสได้ถึงชีวิตของคนวาด”
โน้ตบุ๊ก
“ไม่มีอะไรพิเศษครับ ใช้ทำงาน เล่นเกม พิมพ์อีเมล หาข้อมูลต่างๆ หรือตกแต่งภาพในโปรแกรมโฟโต้ช็อป (CONT.: “แล้วสติกเกอร์ล่ะ มีอะไรเล่าถึงเป็นพิเศษไหม”) ลำบากนิดหน่อยครับ เวลาไปทำงานร้านกาแฟก็เหมือนประกาศจุดยืนว่าตัวเองเป็นสามกีบ 😌”