Fri 11 Nov 2022

SENSEI IN MULTIPLE LANGUAGES

สำรวจความหมายลึกซึ้งของคำว่า ‘เซนเซ’ ในหลายประเทศของเอเชีย

ภาพ: ms.midsummer

     ปัจจุบัน เราๆ ท่านๆ คงคุ้นเคยกับภาษาญี่ปุ่นคำว่า ‘เซนเซ’ (先生) กันโดยไม่ได้รู้สึกแปลกแยกอะไร เพราะเท่าที่เคยชมซีรีส์ ภาพยนตร์ หรือการ์ตูนญี่ปุ่น ก็คงจะได้ยินคำนี้กันบ่อยๆ แต่วันนี้ผมจะมาพูดถึงที่มาและความหมายโดยรวมของคำคำนี้กัน

     อักษร ‘เซน’ () หมายถึง ก่อน, มาก่อน, เกิดก่อน 

     อักษร ‘เซ’ () หมายถึง ชีวิต, การเกิด

     อักษร ‘เซนเซ’ (先生) ถ้าแปลตรงตัวจึงแปลว่า ‘ผู้เกิดก่อน’ ซึ่งอันที่จริง เป็นคำที่ชาวจีนโบราณเป็นผู้ประดิษฐ์ขึ้น แต่เนื่องจากอิทธิพลของอารยธรรมจีนโบราณแพร่ไปในหลายประเทศของทวีปเอเชีย จึงมีหลายชาติหลายภาษายืมเอาคำนี้ไปใช้ เพียงแต่จะออกเสียงและใช้ในความหมายที่ต่างกันไปในแต่ละภาษา

Assassination Classroom

จีน

     ในภาษาจีนกลางหรือจีนแมนดารินมาตรฐานในปัจจุบัน ออกเสียงอักษร 先生 ว่า ‘เซียนเชิง’ (xiānshēng) ซึ่งมีความหมายตามปกติว่า Mister จะนิยมใช้เรียกสุภาพบุรุษอย่างให้เกียรติ หมายถึง ‘คุณ…’ เพียงแต่นิยมใช้กับเพศชายเท่านั้น อาจจะเหมือนเป็นการให้เกียรติว่าอีกฝ่ายเป็นผู้เกิดก่อนย่อมมีสถานภาพทางสังคมที่สูงกว่ากระมัง 

     แม้ภาษาจีนโบราณจะมีการใช้คำนี้ในความหมายว่าครู อาจารย์ หมอ แพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญในบางวิชาชีพ แต่ภาษาจีนในปัจจุบันเหลือความหมายหลักคือ Mister เท่านั้น 

เกาหลี

     ในภาษาเกาหลีปัจจุบัน อ่านอักษรเดียวกันนี้ (先生) ว่า ‘ซอนแซง’ (선생: seonsaeng) เพียงแต่ในภาษาเกาหลีจะนิยมเติมคำปัจจัย (Suffix) เพื่อใช้ในการยกย่องคือ ‘…นิม’ (: nim) จึงนิยมเรียกเป็นเซตว่า ‘ซอนแซงนิม’ (선생님: seonsaengnim) ที่แปลว่า ‘ท่านอาจารย์’ ซึ่งเราจะได้ยินคำนี้บ่อยๆ จากซีรีส์เกาหลี 

     โดยในภาษาเกาหลีปัจจุบันยังมีความหมายคล้ายกับจีนโบราณคือใช้เรียกครู อาจารย์ หมอ แพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญในบางวิชาชีพ ไม่ได้มีความหมายว่า Mister เหมือนในภาษาจีนแต่อย่างใด

Hospital Playlist

เวียดนาม

     สมัยโบราณ เวียดนามก็ได้รับอิทธิพลจากภาษาและอารยธรรมจีน ภาษาเวียดนามโบราณจึงใช้อักษรจีนและมีการใช้คำศัพท์ร่วมกับภาษาจีนอยู่มาก เพียงแต่ในปัจจุบันเปลี่ยนไปใช้อักษรโรมันตามแบบฉบับฝรั่งเศสในการเขียนภาษาเวียดนามเท่านั้น แต่สมัยโบราณเวียดนามก็ใช้อักษร 先生 เช่นกัน โดยเวียดนามออกเสียงว่า ‘เตียน ซิง’ (tiên sinh) โดยมีความหมายคล้ายกับที่ภาษาจีนปัจจุบันใช้คือหมายถึง Mister แต่ในปัจจุบันภาษาเวียดนามไม่ได้ใช้คำนี้กันแพร่หลายแล้ว เหมือนเป็นภาษาในวรรณกรรมจีนโบราณที่อ่านกันในเวียดนามเสียมากกว่า

ไทย

     แม้ว่าไทยจะไม่ได้รับอักษรจีนเข้ามาผสมในระบบภาษาไทยโดยตรง แต่เนื่องจากอารยธรรมจีนโพ้นทะเลในไทยนั้นหยั่งรากลึกพอสมควร โดยอักษร 先生 ในไทยเรียกว่า ‘ซินแส’ 

     ผมเชื่อว่าทุกคนคงจะทราบทันทีว่าหมายถึงอะไรกัน ซึ่งเรานิยมใช้ในความหมายเดียวกับจีนโบราณและความหมายเดียวกับที่เกาหลีใช้ คือใช้เรียกครู อาจารย์ หมอ แพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญในบางวิชาชีพ

ญี่ปุ่น

     คำนี้เราจะได้ยินบ่อยสุดจากภาษาญี่ปุ่น ซึ่งก็ได้จั่วหัวบทความด้วยเสียงญี่ปุ่นเลยว่า ‘เซนเซ’ (先生: Sensei) เลยจะขอเขียนขยายความของฝั่งญี่ปุ่นมากเป็นพิเศษ 

     ญี่ปุ่นจะใช้อักษร 先生 ในความหมายคล้ายกับที่เกาหลีใช้คือ ใช้เรียกครู อาจารย์ หมอ แพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญในบางวิชาชีพ เพียงแต่ ‘ผู้เชี่ยวชาญในบางวิชาชีพ’ ของญี่ปุ่นจะต่างกับเกาหลีอยู่บ้างในรายละเอียด โดยญี่ปุ่นนั้นนอกจากจะใช้เรียกครู อาจารย์ หมอ แพทย์แล้วยังใช้เรียกนักการเมืองอีกด้วย 

     อีกทั้งยังมีเกณฑ์การเรียกที่ชัดเจนว่าจะใช้เรียกผู้เชี่ยวชาญในวิชาชีพใดๆ ก็ตามที่ลงท้ายด้วยคำปัจจัย (Suffix) ในภาษาญี่ปุ่นว่า นัก… ( ออกเสียงว่า ‘ชิ’) เรียกรวมว่า ‘วิชาชีพที่ลงท้ายด้วยคำว่านัก’ (士業) เช่น นักกฎหมาย (弁護士: เบงโกะชิ) ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (公認会計士: โคนิงไคเคชิ) ผู้ตรวจสอบธุรกิจเอสเอ็มอี (中小企業診断士: ชูโชคิเงียวชินดันชิ) เป็นต้น

     อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้อ่านชาวไทยหลายท่านที่คุ้นเคยกับการ์ตูนญี่ปุ่นมานานนับทศวรรษอาจจะได้ยินชาวญี่ปุ่นจำนวนมากเรียกนักเขียนการ์ตูนว่าเซนเซเช่นกัน ซึ่งการเรียกนักเขียนการ์ตูนว่าเซนเซนั้นก็มีชาวญี่ปุ่นแบ่งออกเป็นสองฝ่าย คือเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย 

     เนื่องจากอักษรจีนในภาษาญี่ปุ่นนั้นมีหลายพันตัว (ปัจจุบันมีการบัญญัติอักษรคันจิหรืออักษรจีนในภาษาญี่ปุ่นที่ใช้ในชีวิตประจำวันทั้งสิ้น 2,136 ตัว แต่ชีวิตจริงใช้มากกว่านั้นอีก) ทำให้แต่ไหนแต่ไรมาก่อนจะมีเครื่องคอมพิวเตอร์นั้น นักเขียนของญี่ปุ่นต้องเป็นผู้มีการศึกษาและเคี่ยวกรำตัวเองให้รู้คำศัพท์และอักษรจีนจำนวนมาก สังคมญี่ปุ่นแต่โบราณจึงมีแนวโน้มจะยกย่องนักเขียนว่าเป็นวิชาชีพเซนเซประเภทหนึ่ง ภายหลังพอธุรกิจการ์ตูนเริ่มวางรากฐานจนกลายเป็นธุรกิจสร้างรายได้ จึงมีการแข่งขันสูงมาก และมีระบบลูกมือหรือลูกศิษย์ก้นกุฏิ ทำให้ลูกมือหรือลูกศิษย์ก้นกุฏิเหล่านั้นยกย่องนักเขียน (ซึ่งเปรียบเสมือนหัวหน้า) ของตัวเองว่าเป็นเซนเซ คือจัดเป็นนักเขียนประเภทหนึ่งเช่นกัน

     ฝ่ายที่เห็นด้วยกับการเรียกนักเขียนการ์ตูนว่าเซนเซจึงมีธรรมเนียมเรียกนักเขียนการ์ตูนว่าเซนเซมานานนับทศวรรษแล้ว คือยกย่องอาชีพนักเขียนการ์ตูนว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในวิชาชีพเฉพาะทางประเภทหนึ่ง จึงควรให้เกียรติเรียกว่าเซนเซ แต่ในความเป็นจริงก็ยังมีชาวญี่ปุ่นอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่เห็นด้วยกับการเรียกนักเขียนการ์ตูนว่าเซนเซ เพราะเห็นว่ายังเป็นเพียงวิชาชีพที่ให้ความบันเทิง ไม่ควรได้รับเกียรติมากเท่าวิชาชีพครู อาจารย์ หมอ แพทย์ นักการเมือง และวิชาชีพที่ขึ้นด้วยคำว่า ‘นัก…’ () อื่น ๆ ดังกล่าวไปแล้ว

     ในปัจจุบันยังไม่มีเกณฑ์ที่ชัดเจนว่าเมื่อไรที่จะเริ่มเรียกนักเขียนการ์ตูนคนนั้น ๆ ว่าเซนเซ แต่เกณฑ์ที่พอจะเดาได้คือ ‘ความโด่งดัง’ ของนักเขียนการ์ตูนคนนั้น ถ้าเขียนรายสัปดาห์แล้วโดนตัดจบเลย ก็มักจะจบชีวิตในวงการลงโดยไม่ค่อยมีใครเรียกว่าเซนเซเท่าไร แต่ถ้าผลงานติดตลาดได้รวมเล่ม จนถึงขั้นกลายเป็นอนิเมะทางโทรทัศน์ ก็หมายความว่าโด่งดังพอตัว ถึงจุดนี้จะเริ่มมีลูกศิษย์ลูกหามาสมัครงานและเรียนรู้ฝีมือ ก็จะเริ่มมีลูกศิษย์เรียกว่าเซนเซมากขึ้น ทางสำนักพิมพ์ก็จะให้เกียรติเรียกเซนเซกันมากขึ้นๆ เรียกว่าเป็นไปตามกลไกความดังและกลไกตลาดนั่นเอง

     นับเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากว่าบางประเทศในเอเชียก็ไม่ถูกกัน หรือเคยรบกันและทะเลาะกันมามากมาย แต่สุดท้ายก็มีอะไรที่เชื่อมโยงกันมาแต่โบราณ จนกระทั่งปัจจุบันก็ยังสามารถค้นหาความเชื่อมโยงนั้นได้อยู่ อย่างเช่นอักษรคำว่า 先生 ซึ่งจัดว่าเป็นอารยธรรมข้ามชาติและข้ามศตวรรษที่ยังมีอิทธิพลสูงมากในเอเชียก็ว่าได้