Mon 20 Mar 2023

LIFE OF ‘S’

ส. ธรรมยศ กับ สฤษดิ์ ธนะรัชต์
ความสัมพันธ์แบบคน (เหมือนจะ) บ้านเดียวกัน

ภาพ: NJORVKS

     ส. ธรรมยศ ผู้กำลังจะถูกกล่าวถึงนั้น มีนามจริงว่า แสน ธรรมยศ แต่ถ้าฟังและเชื่อตามคำบอกเล่าของ ลาวัณย์  โชตามระ นักเขียนหญิงรุ่นราวคราวใกล้ๆ กัน ก่อนที่ ส. ธรรมยศ จะออกเดินทางไปสู่ดินแดนอินโดจีน หรือระบุให้ชัดเจนเลยก็คือฮานอย เขาเคยมีนามเดิมว่า สุธรรม แล้วภายหลังจึงเปลี่ยนเสียใหม่

     จะชื่ออะไรก็ตามเถอะ เมื่อแว่วยินการเอ่ยขานนาม ส. ธรรมยศ ภาพนักประพันธ์คนสำคัญแห่งเมืองไทย ผู้ได้รับสมญาว่า ‘ราชสีห์แห่งการเขียน’ ย่อมจะผุดพรายขึ้นมาในความนึกคิดของใครต่อใคร พร้อมๆ กับผลงานที่ค่อยๆ ทยอยตามมา ได้แก่ เสาชิงช้า, เอแลน บาลอง, มาร์เกริต เมืองหยงลิม หรืออาจจะ แมงแดง 

     นั่นอาจเป็นสิ่งที่นักอ่านเรื่องสั้นไทยตัวยงคงพอคุ้นเคยบ้าง ส่วนผู้สนใจหนังสือประวัติศาสตร์ซึ่งนิยมเฉียดกรายเข้าใกล้แผงขายหนังสือเก่าๆ อาจเคยฟังเสียงกระซิบกระซาบจากริมฝีปากพ่อค้าเร่เรียกชวนชมหนังสือบางเล่ม

     “น้องๆ สนใจมั้ย พระเจ้ากรุงสยาม หนังสือต้องห้ามของ ส. ธรรมยศ” 

     นักเขียนผู้นี้ยังมักถูกโยงใยเข้ากับปรัชญา อันเป็นวิชาที่เขาอ้างว่าเคยร่ำเรียนจากมหาวิทยาลัยในฮานอยเมื่อครั้งยังเป็นอาณานิคมฝรั่งเศส

     ส. ธรรมยศ นับเป็นชาวเหนือชาวล้านนาโดยกำเนิด เพราะเขาลืมตาขึ้นมาดูโลกหนแรกสุดที่บ้านปงพระเนตรช้าง ในตัวเมืองลำปาง จากข้อเขียนเรื่อง ประวัตินี้เขียนขึ้นด้วยตัวเขาเอง แสนเล่าว่า เกิดเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พุทธศักราช 2457 บิดาบุญธรรมคือ เจ้าพ่อวงศ์และเจ้าแม่จันทร์เที่ยง คำฝั้นศิริ ส่วนบิดา-มารดาแท้ๆ คือ นายปัญญาและนางเกี๋ยงแก้ว แสนเน้นย้ำว่าแท้แล้วเขาเป็นหนึ่งในสมาชิกตระกูล ณ ลำปาง เช่นกัน

     ณ ลำปางเป็นนามสกุลพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โดยผู้รับพระราชทานคือ เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปางองค์ที่ 13 คนที่ใช้นามสกุลหรืออยู่ในตระกูลนี้ย่อมสืบเชื้อสายมาจากพระยาคำโสม เจ้าผู้ครองนครลำปางองค์ที่ 4 นับเป็นตระกูลใหญ่แห่งหัวเมืองเหนือเลยทีเดียว แม้กระทั่งจอมพลประภาส จารุเสถียร ก็ยังมีมารดา (เจ้าบัวตอง) มาจากตระกูลนี้

     แสนผ่านการเรียนหนังสือพร้อมๆ กับการชอบเล่นเทเบิลเทนนิสจากหลายสำนักในลำปาง ทั้งโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัยและโรงเรียนเคนเน็ตแม็คเคนซี จากนั้นก็มุ่งหน้าสู่กรุงเทพมหานคร พักพิงละแวกย่านสะพานมัฆวานฯ กับพี่สาว และเรียนต่อมัธยมปลาย ณ โรงเรียนเทพศิรินทร์

     “ลูกเสือเป็นมิตรของคนทุกคน และเป็นพี่น้องกับลูกเสืออื่นทั่วโลก” 

     ระหว่างเป็นสุภาพบุรุษลูกแม่รำเพย (อันเป็นพระนามเดิมของสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระมเหสีพระองค์ที่สองในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4) ลูกเสือหนุ่มชาวลำปางมิได้ทำตนให้ผิดแผกไปจากคำปฏิญาณของลูกเสือข้อสี่ แสนได้รับเลือกเป็นตัวแทนลูกเสือสยามเขียนตอบจดหมายลูกเสืออื่นๆ ทั่วโลก เนื่องจากเขาใช้ภาษาอังกฤษดีเยี่ยม

     ครั้นเรียนจบชั้นมัธยม 8 แสนเดินทางไปศึกษาวิชาปรัชญา ณ มหาวิทยาลัยเอี๋ยง-เจิ้ง-ทั่นแห่งฮานอย ช่วงเวลาภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พุทธศักราช 2475 ประมาณ 2-3 ปี เขาเรียนที่นั่นอยู่ราวๆ หนึ่งปี สำเร็จเพียงอนุปริญญาก็ต้องกลับคืนสู่สยาม เพราะเงินค่าเล่าเรียนไม่เพียงพอ

     อันที่จริง การไปเรียนหนังสือในต่างแดนของ ส. ธรรมยศ ช่างเป็นอะไรที่คลุมเครือ 

     อำพัน ไชยวรศิลป์ เจ้าของนามแฝง อสิธารา เอ่ยถึงเรื่องเล่าที่ว่า แสนสามารถสอบชิงทุนเพื่อไปเรียนต่อด้วยคะแนนดีเยี่ยม หากทางโรงเรียนคัดเลือกลูกท่านหลานเธอเอาไว้แล้ว แสนจึงต้องไปเรียนด้วยทุนส่วนตัวของ พระสารสาสน์พลขันธ์ (ลอง สุนทานนท์) ขณะที่ลาวัณย์ โชตามระ เคยให้สัมภาษณ์ว่า แสนตามไปเป็นคนรถของใครบางคนที่อินโดจีนต่างหาก

     ห้วงยามที่แสนโลดแล่นชีวิตในดินแดนอินโดจีนคงจะน่าตื่นเต้นครามครัน ดังแสนเองก็เขียนเล่าว่า เขาเคยเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ชื่อ La Lutte เป็นอาทิ ไว้สบโอกาสเหมาะสม ผมหวังใจว่าจะได้ตามแกะรอยสืบค้นเรื่องราวทำนอง ‘ส. ธรรมยศในเวียดนาม’ ให้คลี่คลายเพื่อนำมาปรนเปรอสายตาคุณผู้อ่าน โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ La Lutte ซึ่งในช่วงเวลานั้นดูเหมือนจะทำหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์โจมตีรัฐบาลอาณานิคม และรัฐบาลฝรั่งเศสที่กรุงปารีสอย่างรุนแรงแข็งขัน เพราะกองบรรณาธิการสนับสนุนการเคลื่อนไหวจัดตั้งสภาอินโดจีน สำนักงานหนังสือพิมพ์จึงถูกตำรวจเข้าตรวจค้นอยู่เนืองๆ อีกทั้ง เหงียน อัน นินห์ (Nguyen An Ninh) บรรณาธิการคนสำคัญที่เป็นนักชาตินิยมฝ่ายซ้ายก็มักถูกกักตัวบ่อยๆ ถ้าแสนทำงานเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการตามที่อ้างจริงๆ เขาก็น่าจะสนิทสนมกับเหงียน อัน นินห์ มิใช่น้อย

ส. ธรรมยศ อายุ 20 ปี 
ขณะพำนักอยู่ในดินแดนอินโดจีนฝรั่งเศส

ส. ธรรมยศ สมัยอยู่ฮานอย 
คนแรกสุดนับจากซ้าย

     เมื่อหวนคืนสู่เมืองไทย ส. ธรรมยศ หาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นครูสอนภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสในโรงเรียนหลายแห่ง ยามว่างก็หมั่นเขียนบทความส่งไปเผยแพร่ตามหน้าสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ มุ่งเสนอแนวคิดทางด้านสังคม การศึกษา ปรัชญา วรรณคดี และโบราณคดี ผลงานโดดเด่นในช่วงนี้ก็เช่น ศิลปะแห่งวรรณคดี  ซึ่งเขาอุทิศน้ำพักน้ำแรงในการเขียนแด่อาจารย์อำมาตย์โท พระพิสัณฑพิยาภูณ (โชติ ผลชีวิน) อันเป็น “ผู้บำเพ็ญกรณีย์ในฐานอาจารย์ภาษาไทยที่ประเสริฐยิ่งแด่ศิษย์ตลอดกาล, ตักเตือน, กระตุ้นกำลังใจและสร้างความหวังดีในทุกๆ ด้าน, ซึ่งตลอดชีวิตอันซื่อของศิษย์ ไม่สามารถหาอะไรมาสนองพระคุณได้.”

     นอกจากนั้นแสนอ้างอีกว่า เขาเป็นผู้เสนอให้รัฐบาลเปลี่ยนชื่อ ‘หอสมุดพระนคร’ เป็น ‘หอสมุดแห่งชาติ’ ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2477

     ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ดูเหมือนว่า ส. ธรรมยศ จะเริ่มหันมาสนใจการเขียนเรื่องสั้น เขามักชวนเพื่อนพ้องนักเขียนนักหนังสือพิมพ์มาสุมหัวพูดคุยถกเถียงกัน เพื่อนที่เขาชอบชวนก็เช่น สุภา ศิริมานนท์ และ ศักดิชัย บำรุงพงศ์ เจ้าของนามปากกา เสนีย์ เสาวพงศ์

     ปลายทศวรรษ 2480 และภายหลังสงครามโลกสิ้นสุดลง แสนขะมักเขม้นเขียนทั้งเรื่องสั้นและบทความส่งไปตีพิมพ์ตามหน้านิตยสารต่างๆ เขาขยันผลิตผลงานทรงคุณค่าออกมาไม่น้อยชิ้น ท่ามกลางบรรยากาศครึกครื้นแห่งแวดวงสื่อสิ่งพิมพ์ที่กลับมาเฟื่องฟูอีกหน 

     เรื่องหนึ่งที่แสนเอาจริงเอาจังในการนำเสนอสู่สังคมไทยคือวิชาปรัชญา เขามักจะหาช่องทางและหน้าสื่อสิ่งพิมพ์ในการเผยแพร่เนื้อหาอยู่เนืองๆ มิเว้นกระทั่งในหนังสือพิมพ์ รถไฟ ดังที่ปรากฏในฉบับปีที่ 1 เล่ม 9 ประจำเดือนกันยายน พุทธศักราช 2486 ก็ลงตีพิมพ์บทความเรื่อง อภิปรัชญา โดย ส. ธัมยส (สะกดตามภาษาเขียนยุคสงครามโลกครั้งที่ 2) หรือเขียนหนังสือจัดพิมพ์เป็นเล่มอย่าง บทนำแห่งปรัชญาศาสตร์ ช่วงกลางทศวรรษ 2480

อภิปรัชญา โดย ส. ธัมยส 
ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ รถไฟ ปีที่ 1 เล่ม 9 
ประจำเดือนกันยายน พุทธศักราช 2486

     ต้นทศวรรษ 2490 แสนยังรั้งตำแหน่งบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ โยนก จัดทำโดยสมาคมชาวเหนือในยุคที่หลวงวิลาสวนวิทย์ (เมธ รัตนประสิทธิ์) เป็นนายกสมาคมคนแรกสุด และ ศรียนต์ ศรีสมุทร บุตรชายเจ้าของตลาดสดที่แม่สาย เชียงราย ซึ่งขณะนั้นเพิ่งเข้าเป็นนักศึกษาวิชากฎหมายปีแรก ณ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ทำหน้าที่ผู้ช่วยบรรณาธิการ ดังเสียงเล่าของศรียนต์ที่ว่า “ข้าพเจ้าได้ช่วยงาน ส. ธรรมยศ ในด้านการปรู๊ฟนิตยสารโยนกและข่าวสังคมบ้าง ซึ่งระยะแรกของการร่วมก่อตั้งสมาคมได้มีสำนักงานชั่วคราวที่ร้านไชยณรงค์ มุมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย”

     ความสัมพันธ์ระหว่าง ส. ธรรมยศ กับเด็กหนุ่มผู้ช่วยบรรณาธิการช่างแน่นแฟ้น ศรียนต์ย้อนรำลึกความหลังว่า“ข้าพเจ้าได้ตามคุณแสนไปที่วัดสามปลื้ม และต่อมาวัดมหาธาตุ ที่คุณแสนพักอยู่ ไปที่โรงพิมพ์กรมรถไฟ เพื่อดูงานนิตยสารโยนก และเดินตามไปที่ร้านปั๊มน้ำมันทางน้ำหลังวังศุโขทัย ซึ่งคุณแสนทำงานช่วยอยู่ วันหนึ่งคุณแสนไปที่ร้านขายหนังสือเก่าหลังกระทรวงกลาโหม และซื้อหนังสือที่เขียนโดยคุณแสนมาเล่มหนึ่ง ชื่อ บทนำแห่งปรัชญาศาสตร์ เสร็จแล้วยื่นหนังสือนั้นให้ข้าพเจ้า”

     แสนสนุกสนานกับการค้นคว้าและออกเดินทางลงพื้นที่เก็บข้อมูลจนอาจทำให้มิค่อยได้พักผ่อน ปัญหาโรคปอดจึงมายึดครองร่างกายเขา กระนั้นแสนก็จัดทำหนังสือพิมพ์ โยนก ได้เพียงสองเล่ม เพราะสมาคมชาวเหนือขาดเงินทุน แล้วในปีพุทธศักราช 2492 แสนป่วยหนักจนต้องขอลาออกจากตำแหน่งบรรณาธิการ ล่วงเข้าปีถัดมา ร่างกายยิ่งทรุดโทรมย่ำแย่ เขาไอโขลกตลอดเวลา จนถึงขั้นยามนั่งต้องมีหมอนรองทั้งหน้าอกและแผ่นหลัง 

     ราชสีห์แห่งการเขียนนอนซมแซ่วอยู่ที่เมืองลำปาง ขณะมัจจุราชเริ่มมาลาดตระเวนอยู่รายรอบตัว แต่กระนั้น เขายังคงทำงานค้นคว้าและเขียนหนังสือตลอดเวลา

     ปีพุทธศักราช 2494 ส. ธรรมยศ กลายเป็นคนไข้ของโรงพยาบาลกลางนนทบุรี อาการป่วยค่อนข้างหนัก หากสำหรับเขานั้นเป็นไปไม่ได้เลยที่จะวางเฉยต่อการเขียนหนังสือ ตรงเตียงในห้องผู้ป่วย จิตวิญญาณนักคิดนักเขียนยังคงแจ่มจรัส หนังสือหลายเล่มเกิดขึ้นด้วยเรี่ยวแรงประพันธ์ที่นั่น โดยเฉพาะงานเขียนที่ต่อมาสร้างกระแสลือลั่นอย่าง พระเจ้ากรุงสยาม

     ระหว่างแสนนอนป่วยโดยมีมิตรสหายช่วยเหลือเรื่องการเงินคือ สุกิจ นิมมานเหมินท์ และ บุญเรียบ ศรีอ่อน เป็นช่วงเวลาที่ทางสมาคมชาวเหนือเชิญนายทหารยศพลโทผู้หนึ่งให้มาเป็นประธานสมาคม นายพลผู้นั้นมีนามว่า สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 โดยกรรมการสมาคมคนที่ไปเชิญมาคือ พงษ์สวัสดิ์ สุริโยทัย ห้วงยามนี้เอง หนังสือพิมพ์ โยนก ได้กลับมาตีพิมพ์อีกหน เพราะมีเงินทุนสนับสนุนจากบริษัทสหไม้ขีดไฟที่ บรรเจิด ชลวิจารณ์ กรรมการคนหนึ่งของสมาคมครองตำแหน่งผู้จัดการอยู่ โดยมอบหน้าที่บรรณาธิการให้กับ นิคม จันทรวิทุร และมีนักเขียนสำคัญอย่าง บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ มาช่วยจัดทำอีกแรง

     ในการประชุมของสมาคมชาวเหนือครั้งหนึ่ง ศรียนต์ ศรีสมุทร ยกเอาเรื่องราวความป่วยไข้ของอดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ โยนก เข้าสู่งวงสนทนา

     “ข้าพเจ้าได้พบว่าคุณแสนมีสุขภาพทรุดโทรมมาก จึงได้นำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการสมาคมชาวเหนือขอให้พิจารณาช่วยเหลือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ให้เงิน 2,000 บาท”

     ยุคนั้นเงินจำนวน 2,000 บาทถือว่ามากโข ครั้นเมื่อ ส. ธรรมยศ ล่วงรู้ว่าผู้อนุมัติเงินช่วยเหลือคือ ส. ธนะรัชต์ เขามิอาจเก็บอาการของตน 

     ศรียนต์เล่าไว้ว่า

     “เมื่อไปบอกคุณแสน ท่านจับหัวเตียงเอาหน้าซุกหมอนสะอื้นลึก ถามว่าจอมพลสฤษดิ์เป็นคนจังหวัดไหน”

     นายทหารชื่อสฤษดิ์มิได้เป็นชาวเหนือชาวล้านนาเลย เขาเกิดที่ปากคลองตลาด ย่านพาหุรัด กรุงเทพมหานคร เพียงแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เคยรับราชการอยู่ทางภาคเหนือ เป็นนายพันตรี ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกองทัพทหารราบที่ 33 จังหวัดเชียงใหม่ พอช่วงปลายสงครามก็เลื่อนยศเป็นนายพันเอก ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการจังหวัดทหารบกลำปาง 

     ด้วยบุคลิกแบบลูกผู้ชายใจนักเลง นอกเหนือไปจากการมีเพื่อนพ้องเป็นชาวเหนือ เขายังมีภรรยาเป็นสาวเมืองเหนือหลายคน ตอนเป็นนายพันตรีก็แต่งงานกับสาวเมืองแพร่ชื่อสินี พอเป็นนายพันเอกก็แต่งงานกับพยาบาลสาวชาวลำปางชื่อนวลจันทร์ 

     หากการตัดสินใจของสฤษดิ์ในฐานะผู้ได้รับเชิญให้มาเป็นประธานสมาคมชาวเหนือคราวนั้น แสดงถึงน้ำใจอารีกว้างขวาง กระทั่งนักประพันธ์ชาวลำปางยังเอ่ยปากถาม 

     ท้ายสุด ส. ธรรมยศ ทนคำเชื้อเชิญของมัจจุราชต่อไปไม่ไหว ลมหายใจของเขาหมดสิ้นลงเมื่อเข็มสั้นนาฬิกาชี้เลขหนึ่งในราตรีของวันศุกร์ที่ 16 พฤษภาคม พุทธศักราช 2495 อายุเพียง 38 ปี มีการฌาปนกิจศพ ณ วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร

     แสนอำลาโลกไปก่อนจะทันได้เห็นนายทหารพลโทที่ตนเคย ‘จับหัวเตียงเอาหน้าซุกหมอนสะอื้นลึก’ ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ผู้มีภาพลักษณ์ที่นักคิด นักเขียน นักประพันธ์ทั้งหลายไม่ค่อยพึงใจนัก เพราะสฤษดิ์เป็นผู้ทำลายสิทธิเสรีภาพของประชาชน กวาดล้างและจับกุมคุมขังนักคิด นักเขียน และนักหนังสือพิมพ์จำนวนมากรายที่หาญกล้าวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล

สฤษดิ์ ธนะรัชต์

     จึงชวนให้ครุ่นคิดว่า หาก ส. ธรรมยศ ยังมีชีวิตอยู่ช่วงทศวรรษ 2500 นักคิดนักเขียนคนสำคัญเยี่ยงเขา ซึ่งเคยใช้คมปากกาวิพากษ์วิจารณ์ระบอบอำนาจนิยมมาอย่างหนักหน่วง จะมีความรู้สึกอย่างไรกับอดีตนายทหารพลโทประธานสมาคมชาวเหนือผู้กลายมาเป็นจอมพลเผด็จการ

     ควรกล่าวด้วยว่า แม้ตลอดช่วงทศวรรษ 2490 สฤษดิ์จะเป็นนายทหารผู้มีบทบาททางการเมืองโดยเข้าร่วมกับฝ่ายคณะรัฐประหารและเป็นขุนพลคู่ใจของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนักคิด นักเขียน และนักหนังสือพิมพ์ในฐานะผู้นำเผด็จการ แต่ภาพลักษณ์ของสฤษดิ์กลับมิได้ดูเลวร้ายในสายตาผู้ทำงานแวดวงสื่อสิ่งพิมพ์เท่าใดนัก 

     มิหนำซ้ำ สฤษดิ์ยังแสดงท่าทีเป็นมิตรและทำตัวคลุกคลีเป็นกันเองกับพวกนักหนังสือพิมพ์ จนทำให้แวดวงสื่อมองเห็นเขาเป็นพวก ‘นายทหารประชาธิปไตย’ ไม่ใช่พวกถืออำนาจนิยมมารังแกประชาชนแบบพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ กระทั่งตอนที่สฤษดิ์ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อวันจันทร์ที่ 16 กันยายน พุทธศักราช 2500 กลุ่มนักคิด นักเขียน และนักหนังสือพิมพ์จำนวนไม่น้อยรายก็ยังสนับสนุนและมีความคาดหวังกับสฤษดิ์ว่าจะเป็นผู้นำประชาธิปไตยมาสู่ประชาชน 

     แต่แล้วสฤษดิ์กลับกลายเป็นผู้นำเผด็จการที่ใช้อำนาจกดขี่ประชาชนยิ่งกว่า จอมพล ป.

     เราทุกคนมีหลากหลายแง่มุมความเป็นมนุษย์อันมิอาจคาดเดา ใครบางคนอาจมีภาพลักษณ์แสนเลวร้ายในสายตาคนทั้งมวล ทว่าบางทีก็อาจมีสักครั้งที่ใครคนนั้นเคยกระทำสิ่งอันนำมาความซาบซึ้งในหัวใจบอบช้ำของใครอีกคน

     ที่ผมร่ายเรียงมาคือ เรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ ในห้วงเวลาหนึ่งระหว่าง ส. ทั้งสอง

     ส. ธรรมยศ และ ส. ธนะรัชต์ 

อ้างอิง

• จักรวาล ชาญนุวงศ์. ยอดขุนพลผู้ยิ่งใหญ่ในแผ่นดิน เล่ม 2. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ: สมาคมวิชาชีพหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, 2534
• ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. “ผลงานในชีวิตและชีวิตในผลงาน: ประวัติศาสตร์นิพนธ์ ส.ธรรมยศ.” วารสารมนุษยศาสตร์. ปีที่ 22 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2558). หน้า 92-114
• ลาวัณย์ โชตามระ. “เล่าถึงราชสีห์แห่งการเขียน ส.ธรรมยศ.” โลกหนังสือ. ปีที่ 1 ฉบับที่ 7 (เมษายน 2521).
• ส. ธรรมยศ. บทนำแห่งปรัชญาศาสตร์. กรุงเทพฯ: ม.ป.ท.: ม.ป.พ., 2553 
• ส. ธรรมยศ. พระเจ้ากรุงสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: โฆษิต, 2551 
• ส. ธรรมยศ. ศิลปะแห่งวรรณคดี. พิมพ์ครั้งที่ 2. พระนคร : โรงพิมพ์ศรีสุเทพ, 2480 
• ส. ธรรมยศ. เสาชิงช้า เอแลน บาลอง รวมเรื่องสั้นที่สรรแล้ว. กรุงเทพฯ:โฆษิต, 2553 
• ส. ธัมยส. “อภิปรัชญา.” รถไฟ. ปีที่ 1 เล่มที่ 9 (กันยายน 2486). หน้า 4-16 
• อสิธารา. งานและชีวิตของ ส.ธรรมยศ. กรุงเทพฯ: ริชพับลิชชิ่ง, 2551
• Van, Ngo.In the Crossfire: Adventures of a Vietnamese Revolutionary.  Oakland, CA: AK Press, 2010