RYUICHI SAKAMOTO’S WATCHLIST
ตาดูหนัง หูฟังเพลงประกอบ กับ 5 เรื่องของ ‘ริวอิจิ ซากาโมโตะ’
เรื่อง: A. Piriyapokanon
ภาพ: NJORVKS
“January 17 1952 – March 28 2023”
2 เมษายนที่ผ่านมา แอ็กเคานต์ทวิตเตอร์ @ryuichisakamoto ได้ทวีตข้อความแจ้งข่าวการจากไปของศิลปิน นักแสดง และนักแต่งเพลงระดับตำนาน ‘ริวอิจิ ซากาโมโตะ’ (Ryuichi Sakamoto) ซึ่งถือเป็นการสูญเสียครั้งสำคัญของวงการภาพยนตร์และวงการเพลงทั่วโลก
ย้อนกลับไป 71 ปีก่อน ซากาโมโตะเกิดที่เมืองนากาโนะ จังหวัดโตเกียว เข้าเรียนปริญญาตรีและโทที่ Tokyo National University of Fine Arts and Music เน้นศึกษาเพลงคลาสสิก อิเล็กทรอนิกส์ และเพลงพื้นเมือง ระหว่างนั้นในปี 1978 เขาก่อตั้ง Yellow Magic Orchestra หรือ YMO วงซินธ์ป๊อปที่เบิกทางให้แนวเพลงอิเล็กทรอนิกส์ญี่ปุ่น ร่วมกับ ‘ฮารุโอมิ โฮโซโนะ’ (Haruomi Hosono) และ ‘ยูกิฮิโระ ทากาฮาชิ’ (Yukihiro Takahashi) ก่อนจะพักกิจกรรมวงและแยกย้ายกันไปทำงานเดี่ยวในปี 1983
เป็นปี 1983 นั้นเองที่ซากาโมโตะก้าวเข้าสู่เส้นทางวงการภาพยนตร์เต็มตัวครั้งแรก กับผลงานการแสดงและแต่งเพลงประกอบให้กับ Merry Christmas, Mr. Lawrence ซึ่งส่งให้เขามีชื่อเสียงในฐานะคนทำสกอร์หนังในเวลาต่อมา และคว้ารางวัลจากเวทีใหญ่ทั้ง BAFTA, Oscars, Golden Globe และ Grammy ไปครอง
นอกจากชีวิตฝั่งศิลปิน ตั้งแต่ปี 1992 ซากาโมโตะเริ่มสนใจด้านการเมืองและเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการต่อต้านนิวเคลียร์และการรักษาป่าอย่างยั่งยืน การเคลื่อนไหวครั้งสุดท้ายของซากาโมโตะเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คือการส่งจดหมายถึงผู้ว่าการกรุงโตเกียวให้ระงับโครงการพัฒนาพื้นที่ ‘จิงกูไกเอ็น’ ซึ่งต้องแลกด้วยการตัดต้นไม้โบราณนับร้อยต้น
ซากาโมโตะตรวจพบโรคมะเร็งลำคอระยะที่สามเมื่อปี 2014 เขาพักงานเพื่อรักษาสุขภาพอยู่ร่วมปีก่อนจะกลับเข้าห้องอัดเสียงอีกครั้งเพื่อทำเพลงประกอบภาพยนตร์ The Revenant และสานต่ออัลบั้มของตัวเองให้ลุล่วง โดยอัลบั้ม 12 เป็นอัลบั้มเดี่ยวชุดสุดท้ายที่ปล่อยออกมาเมื่อวันที่ 17 มกราคม สองเดือนก่อนหน้าที่เขาจะเสียชีวิตหลังต่อสู้กับโรคมะเร็งมานานถึง 9 ปี
เพื่อร่วมระลึกถึงผลงานและแรงบันดาลใจที่ซากาโมโตะฝากไว้ในวงการเพลง วันนี้เราจึงคัด 5 เรื่องเด่น เพลงประกอบโดน ประพันธ์โดยซากาโมโตะมาฝากให้หายคิดถึง ส่วนใครอยากรู้จักซากาโมโตะอย่างใกล้ชิดขึ้นมาอีกนิด สามารถร่วมสำรวจชีวิต ฟังเสียงน้ำฝน และสัมผัสเปียโนที่รอดจากคลื่นสึนามิได้ในสารคดี RYUICHI SAKAMOTO: CODA ทาง Netflix และ Doc Club On Demand
Merry Christmas, Mr. Lawrence
อย่างที่เราได้บอกไปก่อนหน้าว่า ‘Merry Christmas, Mr. Lawrence’ คือผลงานการแสดงภาพยนตร์เรื่องแรกของซากาโมโตะ
ทั้งหมดเริ่มต้นเมื่อวง YMO โด่งดังจากผลงานเพลง ทำให้ผู้กำกับ ‘นางิสะ โอชิมะ’ (Nagisa Ōshima) ติดต่อมาหาซากาโมโตะ (ซึ่งไม่เคยมีผลงานการแสดงมาก่อน) เพื่อขอให้เขารับบท ‘ผู้กองโยโนอิ’ ทว่าซากาโมโตะยังไม่ยอมตกลงทันที เขาเสนอข้อแม้ว่าถ้าหากอยากให้แสดง เขาจะต้องได้เป็นผู้แต่งเพลงประกอบหนังด้วยตัวเองเท่านั้น (ซ…ซึ่งก็ไม่เคยแต่งเพลงประกอบมาก่อนเช่นกัน)
ถึงอย่างนั้นโอชิมะก็ตอบตกลง แถมยังให้อิสระซากาโมโตะในการทำเพลงอย่างเต็มที่ โดยมีโปรดิวเซอร์ ‘เจเรมี โธมัส’ (Jeremy Thomas) คอยแนะแนวทางอยู่ห่างๆ ทำให้ในที่สุดเพลงธีมหลักอย่าง Merry Christmas, Mr. Lawrence คว้ารางวัล Best Score for a Film จากเวที BAFTA ครั้งที่ 37 ได้สำเร็จ
ภาพยนตร์ปี 1983 เรื่องนี้ดัดแปลงมาจากวรรณกรรมเรื่อง The Seed and the Sower ของ ‘ลอเรนส์ ฟาน เดอ โพสต์’ (Laurens van der Post) โดยอิงจากประสบการณ์ส่วนตัวสมัยอยู่ในค่ายเชลยของญี่ปุ่นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เล่าความสัมพันธ์ที่ตั้งอยู่บนความแตกต่างสุดขั้วของสองวัฒนธรรมและความคิด ระหว่าง ‘ผู้กองโยโนอิ’ ผู้บัญชาการค่ายเชลยสงคราม และ ‘แจ็ก เซลเลียร์ส’ (รับบทโดย เดวิด โบวี) นาวาอากาศตรีชาวอังกฤษที่ถูกจับเป็นเชลย
The Last Emperor
หลัง Merry Christmas, Mr. Lawrence ประสบความสำเร็จจนได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลปาล์มทองคำในเทศกาลหนังเมืองคานส์ โอชิมะก็แนะนำซากาโมโตะให้รู้จักกับผู้กำกับ ‘แบร์นาโด แบร์โตลุชชี’ (Bernardo Bertolucci) ในงานฉลองของเทศกาลปีนั้น ผ่านไปไม่นาน เจเรมี โธมัส เจ้าเก่า ซึ่งขณะนั้นรับหน้าที่โปรดิวเซอร์ให้กับแบร์โตลุชชี ก็ติดต่อมาหาซากาโมโตะเพื่อขอให้เขารับบทนายทหารจักรวรรดิญี่ปุ่นใน The Last Emperor
ซากาโมโตะเล่าว่าระหว่างการถ่ายทำที่เมืองฉางชุน จู่ๆ ทีมงานกองถ่ายก็ขอให้เขาแต่งเพลงเพื่อใช้ประกอบฉากงานเลี้ยงซึ่งจะถ่ายทำในอีกสองวัน ซากาโมโตะที่ถูกจ้างมาเป็นนักแสดงจึงต้องแต่งเพลงเฉพาะกิจขึ้นด้วยเปียโนหลังเก่าและหานักดนตรีในพื้นที่มาอัดเสียง
แต่ยังไม่จบเท่านั้น เพราะหลังถ่ายทำเสร็จสิ้น โธมัสยกหูหาซากาโมโตะอีกครั้งเพื่อขอให้แต่งเพลงประกอบภาพยนตร์ทั้งเรื่องโดยมีระยะเวลาเพียงสัปดาห์เดียว พร้อมคำท้าจากแบร์โตลุชชีว่า ‘เอนนิโอ มอร์ริโคเน’ (Ennio Morricone นักประพันธ์เพลงประกอบภาพยนตร์ชาวอิตาลี) ยังทำได้เลย!
หนุ่มญี่ปุ่นเขาฆ่าได้หยามไม่ได้ตัวจริง เพราะในระยะเวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์ที่ได้รับมา ซากาโมโตะแต่งเพลงประกอบไปถึง 45 เพลง แถมยังกวาดรางวัลเพลงประกอบยอดเยี่ยมจากทั้งเวทีออสการ์ครั้งที่ 60 เวทีโกลเดนโกลบ ครั้งที่ 45 และเวทีแกรมมี อวอร์ดส์ ครั้งที่ 31 ไปได้อีกด้วย
The Last Emperor เป็นภาพยนตร์ปี 1987 เล่าชีวประวัติของ ‘จักรพรรดิผู่อี๋’ (รับบทโดย จอห์น โลน) จักรพรรดิพระองค์สุดท้ายของจีน ตั้งแต่ยุคขึ้นครองราชย์จนถึงบั้นปลายชีวิตที่ต้องอยู่เยี่ยงนักโทษการเมือง ดัดแปลงมาจากหนังสืออัตชีวประวัติชื่อ From Emperor to Citizen เขียนขึ้นโดยผู่อี๋เอง ฉบับแปลไทยจัดทำโดยสำนักพิมพ์แสงดาว ในชื่อ จากจักรพรรดิสู่สามัญชน
Tony Takitani
ผลงานปี 2004 โดยผู้กำกับ ‘จุน อิชิคาวา’ (Jun Ichikawa) สร้างจากเรื่องสั้นชื่อเดียวกันของ ‘ฮารูกิ มูราคามิ’ (Haruki Murakami) ที่เขียนขึ้นในปี 1983
เรื่องราวความเหงาจับใจของชายหนุ่มนักออกแบบผู้มีชื่อแปลกประหลาด ‘โทนี่ ทาคิทานิ’ (รับบทโดย อิสเซย์ โอกาตะ) ที่ไปพบรักกับ ‘เออิโกะ โคนูมะ’ (รับบทโดย ริเอะ มิยาซาวะ) สาวนักช้อปเสื้อผ้าแฟชั่น แต่แล้วความสัมพันธ์ของทั้งคู่ก็ล่มสลายพร้อมการจากไปของเออิโกะ ถึงแม้โทนี่จะจ้างผู้ช่วยสาวมาช่วยงานด้วยกฎว่าเธอต้องใส่เสื้อผ้าของภรรยาผู้จากไป แต่ก็ไม่สามารถเติมเต็มช่องว่างในจิตใจของเขาได้ ก่อนที่คลื่นแห่งความสูญเสียลูกใหม่จะซัดเข้ามาทำให้เขาต้องอยู่อย่างเดียวดายอีกครั้ง
ในเรื่องนี้ ซากาโมโตะสลัดเครื่องดนตรีซิมโฟนีออก หันมาใช้เพลงเปียโนโซโล่เปลือยเปล่าในการขับส่งความเหงาให้งานภาพของอิชิคาวา ทำให้ภาพยนตร์คว้าถึง 3 รางวัล Special Jury Prize, Youth Jury Second Prize และ FIPRESCI Prize จากเทศกาล Locarno Film Festival ครั้งที่ 57 และได้รับการยอมรับจากผู้ชมว่าเป็นหนึ่งในผลงานดัดแปลงจากมูราคามิที่ดีที่สุด
สำหรับเรื่องสั้น โทนี่ ทาคิทานิ ฉบับภาษาไทย สามารถหาอ่านได้จากเล่มรวมเรื่องสั้น Lexington Ghosts ปีศาจที่เล็กซิงตัน โดยสำนักพิมพ์กำมะหยี่
The Revenant
“ผมยังจำความรู้สึกตอนฟังเพลงของซากาโมโตะครั้งแรกได้ชัดเจน ผมอยู่ในรถกับเพื่อน ท่ามกลางรถติดในเม็กซิโกซิตี้ เราเปิดเทปเถื่อนเพลงญี่ปุ่นฟังกัน ผมได้ยินเสียงโน้ตเปียโน แล้วก็รู้สึกเหมือนนิ้วที่บรรเลงเพลงอยู่นั้นชอนไชเข้ามาในสมอง บีบนวดเส้นประสาทของผม มันคือเพลง Merry Christmas, Mr. Lawrence”
‘อาเลฆันโดร กอนซาเลซ อิญญาร์ริตู’ (Alejandro González Iñárritu) ผู้กำกับเจ้าของรางวัลออสการ์เล่าถึงซากาโมโตะ ทั้งคู่พบกันครั้งแรกในปี 2006 ผ่านสายโทรศัพท์ เนื่องจากอิญญาร์ริตูต้องการขอใช้เพลง Bibo no Aozora จากอัลบั้ม 1996 ของซากาโมโตะเป็นเพลงจบสำหรับภาพยนตร์เรื่อง BABEL
หลังจากนั้นในปี 2015 อิญญาร์ริตูก็ติดต่อซากาโมโตะอีกครั้งเพื่อขอให้เขาแต่งเพลงประกอบให้ The Revenant ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดที่เขากำลังทำ ซึ่งเป็นช่วงประจวบเหมาะที่ซากาโมโตะเริ่มฟื้นตัวจากโรคมะเร็งลำคอพอดี เขากลับมานั่งหลังเปียโนและเริ่มกระบวนการแต่งเพลงตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2015 แต่ด้วยอาการอ่อนเพลียจากโรคที่ยังไม่หายสนิท ทำให้ซากาโมโตะใช้เวลาแต่งเพลงนานกว่าปกติ ถึงอย่างนั้น เขาก็ยังเข้าชิงรางวัลด้านเพลงประกอบยอดเยี่ยมจากสามเวทีใหญ่อย่าง BAFTA, Golden Globe และ Grammy
The Revenant สร้างจากนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ The Revenant: A Novel of Revenge โดย ‘ไมเคิล พังก์’ (Michael Punke) เล่าเหตุการณ์จริงในปี 1823 ของ ‘ฮิวจ์ กลาส’ (รับบทโดย ลีโอนาร์โด ดิแคพรีโอ) นักล่าสัตว์ในชายแดนอเมริกาตะวันตก ผู้ถูกไล่ล่า หักหลัง และต้องเอาตัวรอดในสถานการณ์ที่อันตรายถึงชีวิต
Monster
Monster ผลงานชิ้นล่าสุดของผู้กำกับชาวญี่ปุ่นขวัญใจเมืองคานส์ ‘ฮิโรคาสุ โคเรเอดะ’ (Hirokazu Koreeda) เป็นภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายที่ซากาโมโตะฝากไว้ในฐานะผู้ประพันธ์เพลงประกอบ
ข้อมูลเรื่องย่อยังคงไม่มีการเปิดเผย แต่ทางค่ายจัดจำหน่าย Gaga Corporation ได้เปิดชื่อทีมนักแสดงนำอย่าง ‘ซากุระ อันโดะ’ (Sakura Ando), ‘เอตะ นากายามะ’ (Eita Nagayama) และ ‘ยูโกะ ทานากะ’ (Yuko Tanaka)
ขณะนี้ภาพยนตร์อยู่ในขั้นตอนการทำ Post-production มีกำหนดฉายรอบปฐมทัศน์ในเทศกาลหนังเมืองคานส์ ครั้งที่ 76 ซึ่งจะจัดขึ้นวันที่ 16-27 พฤษภาคม 2023 และกำหนดฉายในโรงภายนตร์ประเทศญี่ปุ่นในวันที่ 2 มิถุนายน 2023