NAOKI URASAWA
นักเขียนการ์ตูนผู้หลงใหลในความซับซ้อนของจิตใจมนุษย์
เรื่อง: ทานเกวียน ชูสง่า
ภาพ: NJORVKS
“สำหรับมังงะแล้ว สิ่งที่คุณต้องการจริงๆ มีแค่กระดาษกับปากกาเท่านั้น ไม่มีเครื่องมือชิ้นไหนที่เอื้อให้คุณถ่ายทอดจินตนาการออกมาเป็นภาพได้รวดเร็วเท่ากับมังงะอีกแล้ว มังงะสามารถพาคุณไปยังอีกฝั่งของจักรวาลได้ในชั่วพริบตา พาคุณไปยังอนาคตที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีอันน่าตื่นเต้น หรืออดีตอันไกลโพ้นในยุคที่เต็มไปด้วยไดโนเสาร์ ผมเชื่อจริงๆ ว่าไม่มีเครื่องมือใดที่เอื้อให้คนทำงานสร้างสรรค์สามารถเล่าไอเดียออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากไปกว่ามังงะอีกแล้ว”
นาโอกิ อุราซาว่า (Naoki Urasawa) คือชื่อที่นักอ่านสายมังงะย่อมคุ้นเคยกันดีจากผลงานหลายๆ เรื่องที่มีเนื้อหาเข้มข้นจริงจัง ตีแผ่ให้เห็นถึงหลากหลายแง่มุมอันลึกลับซับซ้อนของความเป็นมนุษย์ และดำเนินเรื่องได้อย่างน่าติดตามจนเข้าขั้นวางไม่ลง
มังงะของอุราซาว่าเต็มไปด้วยรายละเอียด ทั้งตัวละครที่มีมิติทางอารมณ์หลากหลาย และพล็อตเรื่องที่เต็มไปด้วยจุดพลิกผันหักมุม
ตัวอย่างมังงะเรื่องเด่นๆ ที่อาจบ่งบอกได้ถึงสไตล์ของอุราซาว่าก็อย่างเช่น
Monster (1994-2001) มังงะที่มีเนื้อหาสุดมืดหม่นว่าด้วยศัลยแพทย์หนุ่มที่ตัดสินใจช่วยชีวิตเด็กชายคนหนึ่งแทนที่จะช่วยนายกเทศมนตรีตามคำสั่งของผู้อำนวยการโรงพยาบาล แม้เขาจะช่วยชีวิตเด็กชายเอาไว้ได้ ทว่าเมื่อเวลาผ่านไปหลายปี เขากลับพบว่าเด็กคนดังกล่าวเติบโตขึ้นเป็นอาชญากรผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ฆาตกรรมต่อเนื่อง จนทำให้เขาต้องออกตามล่าปีศาจรายนี้ด้วยตัวเอง อุราซาว่าใช้เส้นเรื่องการไล่ล่าฆาตกรเพื่อสำรวจเส้นแบ่งระหว่างความดีความเลว ตีแผ่ปัจจัยที่ทำให้ใครสักคนดำดิ่งไปสู่ความชั่วร้ายดำมืดเกินจะหยั่งถึง รวมถึงตั้งคำถามถึงความเป็นมนุษย์ได้อย่างแหลมคม
20th Century Boys (1999-2007) เล่าถึงเพื่อนกลุ่มหนึ่งที่พยายามหยุดยั้งแผนการของผู้นำลัทธิประหลาดที่พยายามจะครองโลก ด้วยการแกะรอยย้อนอดีตไปยังความทรงจำในวัยเยาว์ เนื่องจากมีเบาะแสที่บ่งชี้ได้ว่าตัวการผู้อยู่เบื้องหลังแผนร้ายที่ว่าอาจเป็นหนึ่งในเพื่อนสมัยประถมของพวกเขาเอง ความเหนือชั้นของอุราซาว่าในเรื่องนี้คือเขาสามารถจัดการกับตัวละครนับสิบตัวและเส้นเรื่องที่มีถึงสามช่วงเวลาตัดสลับกันไปมาได้อย่างสนุกสนาน และคลี่คลายบทสรุปได้อย่างงดงามมากๆ
Pluto (2003-2009) อุราซาว่าเขียนเรื่องนี้เพื่อทริบิวต์ให้กับปรมาจารย์มังงะอย่าง โอซามุ เทะซึกะ (Osamu Tezuka) โดยหยิบเอา The Greatest Robot on Earth ซึ่งเป็นตอนหนึ่งในผลงานคลาสสิกของโอซามุอย่าง Astro Boy (1952-1968) มาตีความใหม่ให้มีความร่วมสมัยขึ้น โดยจากที่เนื้อเรื่องดั้งเดิมเล่าถึงหุ่นยนต์ตัวหนึ่งที่ถูกสร้างมาเพื่อทำลายล้างหุ่นยนต์ประสิทธิภาพสูงตัวอื่นๆ อีก 7 ตัว รวมถึงอะตอม เจ้าหนูปรมาณูตัวเอกของเรื่อง อุราซาว่าปรับบรรยากาศของมังงะให้มืดหม่นกว่าเดิม เพิ่มเติมรายละเอียดของตัวละครหุ่นยนต์แต่ละตัวให้มีทั้งแบ็กกราวนด์และมิติทางอารมณ์ ส่งผลให้คนอ่านรู้สึกผูกพันซาบซึ้งตามไปด้วยราวกับว่าพวกเขามีชีวิตอยู่จริงๆ
กลับมาที่เรื่องราวของอุราซาว่ากันบ้าง เขาชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก ด้วยเพราะพ่อแม่มักจะยุ่งกับงานจนไม่มีเวลามาดูแลเอาใจใส่ เขาเลยมักจะถูกทิ้งให้อยู่ที่บ้านกับคุณยายเพียงลำพัง อยากจะออกไปเล่นกับเด็กคนอื่นในละแวกบ้านก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ไป
สิ่งที่อุราซาว่าในวัยนั้นพอจะทำได้มีอยู่สองอย่าง
หนึ่ง—เล่นกับเพื่อนในจินตนาการที่ชื่อมิสเตอร์สมิธ ตัวละครในกระจกเงาที่เขาสมมติขึ้นมาว่าเป็นสายลับต่างชาติมือพระกาฬ
สอง—อ่านมังงะที่มีในบ้าน ซึ่งหลายเล่มก็เป็นผลงานของโอซามุ เทะซึกะ นั่นเอง
ความหลงใหลในมังงะของอุราซาว่าก่อตัวขึ้นจากจุดนั้น เขาตะลุยอ่านงานของโอซามุครั้งแล้วครั้งเล่า จนในที่สุดก็เริ่มลงมือวาดเลียนแบบตามลายเส้นในหนังสือบ้าง
“ผมเริ่มเขียนมังงะตอนอายุ 4 หรือ 5 ขวบได้ พออายุเข้า 8 ขวบผมก็เขียนมังงะเรื่องแรกได้จนจบเรื่อง”
อุราซาว่าค้นพบว่าไม่มีอะไรทำให้เขาสนุกเพลิดเพลินได้มากไปกว่ามังงะอีกแล้ว ทว่าแม้ฝีไม้ลายมือการวาดของอุราซาว่าจะได้รับคำชมจากทั้งบรรดาญาติผู้ใหญ่และเพื่อนร่วมชั้นบางคน แต่ตัวอุราซาว่ากลับไม่ได้มีความฝันอยากจะเป็นนักเขียนมังงะมืออาชีพแต่อย่างใด ด้วยเพราะเห็นว่าความสามารถของตัวเองยังห่างชั้นกับงานของระดับปรมาจารย์หลายๆ คน รวมถึงมองว่าหากฝีมือยังไม่ถึงแล้วเข้าไปทำงานในวงการ ก็อาจถูกบีบบังคับให้ต้องผลิตงานที่ตัวเองไม่อยากทำ สำหรับเขาแล้ว การอ่านและเขียนมังงะจึงเป็นเพียงงานอดิเรกเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้เอง วิถีชีวิตของอุราซาว่าจึงไม่มีอะไรแตกต่างจากเด็กคนอื่นๆ แม้แต่ในวิชาศิลปะที่น่าจะเป็นความได้เปรียบ อุราซาว่าก็มักจะเลือกเลียนแบบลายเส้นธรรมดาของเพื่อนคนอื่นๆ เพื่อไม่ให้ตัวเองกลายเป็นจุดสนใจ เพราะความโดดเด่นเกินไปอาจนำมาสู่การโดนบูลลี่จากเด็กคนอื่นได้ นอกจากนั้นเขายังเลือกเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ในระดับมหาวิทยาลัย เพราะคิดว่าน่าจะหางานทำได้ง่ายกว่า เขาวางแผนไว้ว่าเมื่อเรียนจบแล้วก็คงเข้าทำงานในบริษัททั่วไปเหมือนกับคนอื่นๆ
แต่อาจเพราะความหลงใหลในมังงะนี่เองที่ทำให้บริษัทที่อุราซาว่ายื่นใบสมัครงานไม่ใช่บริษัททั่วๆ ไป แต่เป็นสำนักพิมพ์โชงาคุคัง (Shogakukan) ที่ขึ้นชื่อเรื่องการตีพิมพ์นิตยสารมังงะมากมายหลายหัว และถึงแม้ตำแหน่งงานบนใบสมัครของอุราซาว่าจะระบุว่าขอทำงานในฝั่งบริหารธุรกิจ แต่เขาก็พกต้นฉบับมังงะที่ตัวเองได้ซุ่มเขียนไว้ติดมือไปด้วย เพราะอยากฟังความเห็นจากฝั่งกองบรรณาธิการของสำนักพิมพ์
เป็นต้นฉบับชิ้นดังกล่าวนั่นเองที่ไปเข้าตาบรรณาธิการคนหนึ่งเข้าอย่างจัง จนทำให้จากความตั้งใจแรกที่จะเข้าทำงานในสายธุรกิจขององค์กร อุราซาว่ากลับได้งานเป็นหนึ่งในผู้ช่วยนักเขียน ประจำกองบรรณาธิการ Big Comic Spirits นิตยสารมังงะในเครือโชงาคุคัง
อุราซาว่าเริ่มต้นช่วงปีแรกๆ ของการทำงานด้วยการวาดผลงานของนักเขียนคนอื่นๆ ทั้งมังงะขนาดสั้นและยาว จนเวลาผ่านไปก็ได้รับโอกาสให้เขียนเรื่องยาวของตัวเองบ้าง
แรกทีเดียวเขาเสนอพล็อตของ Monster ให้บรรณาธิการพิจารณา ทว่าอีกฝ่ายกลับคิดว่ามันไม่น่าสนใจเท่าไร เขาจึงลองเสนอพล็อตเกี่ยวกับแวดวงกีฬาซึ่งเป็นเนื้อหาที่ได้รับความนิยมในมังงะสมัยนั้นแทน อุราซาว่าพูดแบบทีเล่นทีจริงว่าจะเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับนักยูโดหญิง ทว่าพล็อตเรื่องที่เขาเสนอแบบขำๆ กลับได้รับไฟเขียวจากกองบรรณาธิการเสียอย่างนั้น
ผลงานในช่วงแรกๆ ของอุราซาว่าจึงเป็นงานอย่าง Yawara! (1986-1993) ซึ่งเล่าถึงเด็กสาวที่อยากมีชีวิตธรรมดา แต่ความที่มีปู่เป็นแชมป์ยูโดระดับตำนานทำให้เธอถูกเคี่ยวเข็ญให้ฝึกซ้อมยูโดอย่างหนักเพื่อพิชิตเป้าหมายเหรียญทองโอลิมปิกให้ได้ และ Happy! (1993-1999) เรื่องราวของเด็กสาวที่พยายามหาเงินมาใช้หนี้สินที่พี่ชายก่อไว้ ด้วยการตัดสินใจลงแข่งเทนนิส
Yawara! ได้รับการตีพิมพ์ไปมากกว่า 30 ล้านเล่ม และได้รับความนิยมถึงขนาดที่ว่าในเวลาต่อมาเมื่อ เรียวโกะ ทามุระ (Ryoko Tamura) นักยูโดอายุ 16 ปีของญี่ปุ่นไปคว้าเหรียญเงินโอลิมปิกเมื่อปี 1992 มาได้ สื่อมวลชนญี่ปุ่นถึงกับเรียกขานเธอว่า “ยาวาระจัง” ส่วน Happy! นั้นได้รับการตีพิมพ์ไปมากกว่า 18 ล้านเล่ม (ในเวลาต่อมา ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ฉายทางโทรทัศน์เมื่อปี 2006)
ความสำเร็จจากมังงะทั้งสองเรื่องเปิดโอกาสให้อุราซาว่าสร้างสรรค์ Monster เป็นผลงานชิ้นต่อมา มังงะที่ใครหลายคนยกให้เป็นผลงานที่ดีที่สุดของเขา บ้างก็ว่าเป็นหนึ่งในมังงะที่ดีที่สุดตลอดกาล
แม้จะถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในนักเขียนมังงะระดับปรมาจารย์ แต่การทำงานของอุราซาว่ายังคงเหมือนเดิม
เขาใช้เวลาวาดมังงะมากกว่าวันละ 10 ชั่วโมง และใช้ปากกาด้ามเดียวเท่านั้นในการวาดลายเส้นหนักเบาทุกรูปแบบ นอกจากนั้น เขามักจะขอความเห็นจากผู้ช่วยและบรรณาธิการแทบทุกขั้นตอน ตั้งแต่เนื้อเรื่องในแต่ละบท ไปจนถึงการวาดสตอรี่บอร์ดก่อนเริ่มทำงานจริง กระทั่งว่าพร้อมจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขชิ้นงานที่เสร็จสิ้นไปแล้วหากยังเหลือเวลาพอ
ครั้งหนึ่งอุราซาว่าวาดต้นฉบับตอนหนึ่งของ Pluto เสร็จแล้ว แต่เมื่อบรรณาธิการทักท้วงว่า แม้ตัวละครหุ่นยนต์ในเรื่องดูเหมือนจะมีความรู้สึกรู้สา แต่ถึงอย่างไรหุ่นยนต์ก็คือหุ่นยนต์ และหุ่นยนต์ก็ไม่น่าจะแสดงความโกรธด้วยการทุบโต๊ะออกมาให้คนอื่นเห็น อุราซาว่าตัดสินใจรื้อต้นฉบับโดยเปลี่ยนให้มือของตัวละครเพียงแค่วางไว้บนโต๊ะเฉยๆ แม้นั่นจะหมายถึงการที่เขาต้องวาดใหม่ในระยะเวลาที่กระชั้นกว่าเดิมก็ตาม
อุราซาว่าบอกว่าสิ่งที่พิสูจน์ความเป็นมืออาชีพของนักเขียนมังงะก็คือเดดไลน์ เพราะการทำงานของนักเขียนมังงะโดยทั่วไปแล้วคือการต้องเขียนงานเพื่อลงตีพิมพ์ให้ได้สัปดาห์ละประมาณ 20 หน้า ซึ่งเป็นงานที่หนักหนาสาหัสมากๆ
แต่ความเทพของอุราซาว่าคือ เขามักจะมีเดดไลน์มากกว่าคนอื่นเท่าตัว
อุราซาว่าเป็นคนวาดรูปเร็วมาก ลำพังการเขียนมังงะสักเรื่องให้ทันเดดไลน์รายปักษ์หรือรายสัปดาห์ก็โหดหินมากพออยู่แล้ว ทว่ามีหลายช่วงเลยที่เขาเขียนมังงะสองเรื่องไปพร้อมๆ กัน
อุราซาว่าเริ่มเขียน Happy! ในช่วงไล่เลี่ยกับ Monster พอเรื่องแรกจบ เขาก็เริ่มเขียนอีกเรื่องอย่าง 20th Century Boys จากนั้นพอ Monster ถึงตอนจบ เขาก็เริ่มเขียน Pluto ควบคู่ไป จนในที่สุดด้วยการทำงานหนักโดยแทบไม่ได้หยุดพัก ทำให้ปลายทางของอุราซาว่าไม่ต่างไปจากนักเขียนมังงะคนอื่นๆ เขาต้องเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลพักใหญ่ๆ จากการหักโหมทำงานหนักมากเกินไป เคสของอุราซาว่าคือไหล่หลุด หมอบอกเขาว่านี่เป็นอาการที่จะเกิดกับนักกีฬาที่ใช้พละกำลังอย่างหนักหน่วงเท่านั้น แต่มันกลับมาเกิดขึ้นกับเขาที่เป็นนักเขียน
นอกจากพล็อตเรื่องและตัวละครอันสลับซับซ้อน มังงะของอุราซาว่าถูกยกย่องว่ามีลายเส้นที่สมจริงสมจัง รวมถึงมีการวาดสีหน้าของตัวละครที่เต็มไปด้วยอารมณ์และความรู้สึกที่ละเอียดอ่อน
อุราซาว่าไม่ชอบให้ตัวละครแสดงสีหน้าที่สื่อสารถึงความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่งออกมาให้เห็นแบบเด่นชัด เขาบอกว่ามนุษย์มีความซับซ้อนและหลากหลายกว่านั้น ตัวละครของเขาจึงมักแสดงสีหน้าที่มีอารมณ์ปะปนกันไป โดยวิธีที่เขามักใช้ในการวาดสีหน้าของตัวละครคือการมองใบหน้าของตัวเองในกระจกเงา จากนั้นก็จินตนาการเอาว่าตัวละครควรจะรู้สึกอย่างไรในฉากนั้นๆ และวาดตามสิ่งที่ตัวเองเห็นในกระจก (อันเป็นสาเหตุว่าทำไมตัวละครของเขาจึงมักจะหันมาสบตากับคนอ่านอยู่บ่อยครั้ง)
นักอ่านหลายคนบอกว่าการอ่านมังงะของอุราซาว่าเหมือนกับการได้ดูหนังดีๆ สักเรื่อง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าไม่ผิดเสียทีเดียว บ่อยครั้งที่อุราซาว่าใช้เทคนิค Match Cut ซึ่งเป็นลูกเล่นอย่างหนึ่งที่มือตัดต่อมักใช้กันในการเชื่อมต่อฉากสองฉากที่เป็นคนละช่วงเวลาเข้าด้วยกัน โดยใช้องค์ประกอบภาพแบบเดียวกันในตำแหน่งเดียวกันเพื่อความลื่นไหล เช่น การซูมอินเข้าไปหาดวงตาของตัวละครตัวหนึ่ง ก่อนจะซูมเอาต์ออกมาเป็นดวงตาของตัวละครอีกตัว ไม่เพียงเท่านั้น เขายังมักจะเล่าสองถึงสามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันแบบตัดสลับกันไปมา ซึ่งเป็นเทคนิคอีกแบบที่ในวงการภาพยนตร์เรียกว่า Parallel Editing
สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะนอกจากมังงะแล้ว ภาพยนตร์ยังเป็นอีกสิ่งที่อุราซาว่าในวัยเด็กชื่นชอบหลงใหล เขาเติบโตมากับการดูหนังอย่าง Le Trou (1960) ของ ฌาคส์ เบ็คเกอร์ (Jacques Becker) และ Seven Samurai (1954) ของ อากิระ คุโรซาว่า (Akira Kurosawa) ซึ่งคนหลังนี้ถือว่ามีอิทธิพลในการเล่าเรื่องของเขามาก
“หนังของคุโรซาว่ามีความสำคัญกับผมมาก เขาทิ้งผลงานมาสเตอร์พีซไว้มากมาย แต่ในบรรดาผลงานเหล่านั้น เรื่องที่ดีที่สุดก็คือ Seven Samurai”
นอกจากนั้นยังมีซีรีส์ The Fugitive (1963-1967) ที่อุราซาว่าได้รับอิทธิพลจนเกิดเป็นตัวละครหมอที่ตามล่าฆาตกรตัวจริง และตำรวจที่ตามไล่ล่าหมอคนนั้นอีกทีอย่างไม่ลดละใน Monster
อุราซาว่าบอกว่าเขามักจะเริ่มทำงานด้วยการจินตนาการภาพตัวอย่างหนัง (trailer) ของมังงะเรื่องนั้นๆ ขึ้นมาก่อน เพื่อค้นหาว่าความน่าสนใจอันจะดึงดูดชักจูงให้คนอ่านสามารถติดตามไปด้วยความอยากรู้อยากเห็นจนจบนั้นคืออะไร จากนั้นก็ค้นหาว่าควรเริ่มเรื่องจากตรงไหน และลงมือเขียนบทแรก และเมื่อได้บทแรกแล้ว สิ่งที่เหลือก็จะตามมา
“พอกระบวนการนี้เริ่มต้นขึ้น เรื่องราวจะบอกผมเองว่ามันควรเล่าอะไรถัดจากนั้น ผมคิดว่าถ้าพยายามวางพล็อตเรื่องทุกอย่างตั้งแต่จุดเริ่มต้น หรือพยายามเล่าเรื่องที่ทุกอย่างเป็นไปตามพล็อตที่วางเอาไว้ มันไม่มีทางเลยที่ผมจะเขียนเรื่องเหล่านั้นได้ตลอดรอดฝั่งไปได้นานถึง 5 หรือ 7 ปี
“ผมประหลาดใจทุกครั้งที่เรื่องราวพาผมไปยังทิศทางที่ไม่ได้คาดคิดเอาไว้ เพราะถ้าเรื่องราวมันไม่สามารถทำให้ผมประหลาดใจได้อีก ผมก็คงไม่สามารถเขียนเรื่องนั้นต่อไปได้เช่นเดียวกัน”
อุราซาว่าไม่เคยคิดว่าคนอ่านจะรู้สึกอย่างไร หรือมีปฏิกิริยาอย่างไรกับมังงะที่เขาเขียน เขาเพียงแต่พยายามเล่าเรื่องราวที่ตัวเองสนใจ เพราะถ้าตัวเขาเองยังรู้สึกสนุกกับสิ่งที่เขียน เขาเชื่อว่าปฏิกิริยาของคนอ่านก็จะต้องเป็นแบบเดียวกัน
ปัจจุบันอุราซาว่าอายุ 63 แล้ว แต่ยังคงมีไฟในการทำงานล้นเหลือ เขาเปิดช่องในยูทูบสอนวิธีการวาดแบบต่างๆ รวมถึงเล่าเบื้องหลังการทำงาน นอกจากนั้นยังมีผลงานใหม่ออกมาอยู่เรื่อยๆ โดยมังงะเรื่องล่าสุดของเขาอย่าง Asadora! (2018-ปัจจุบัน) ก็ยังคงเต็มไปด้วยพล็อตเรื่องและตัวละครอันสลับซับซ้อนเช่นเดิม
ดูเหมือนว่าเจ้าตัวยังไม่ยอมเกษียณง่ายๆ
“ปาฏิหาริย์แท้ๆ ที่ยังมีคนมอบโอกาสให้ผมเขียน ดังนั้นสิ่งที่ผมพอจะทำได้คือการทำงานหนักเข้าไว้ เพื่อให้มั่นใจว่าพวกเขาจะยังมอบโอกาสนั้นให้กับผมต่อไป ความจริงแล้วโอกาสที่พวกเขามอบให้เหมือนเป็นสิ่งที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้เลยด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นถ้าผมไม่เคร่งครัดกับตารางการทำงานของตัวเอง ผมรู้ว่าความขี้เกียจที่แอบแฝงอยู่ในตัวมานานจะออกมาครอบงำผมแน่”
อ้างอิง