HELLO STRANGER
บทสนทนาระหว่างคนไม่รู้จัก ‘กันต์’ เป็นการส่วนตัว ที่อยากชวนไปทำความรู้จัก ‘กันต์ ชุณหวัตร’ เป็นการพิเศษ
เรื่อง: ชนัดดา ตันนพรัตน์
ภาพ: ธนพล แก้วแดง
เจอกันต์
เราเจอกันต์แล้วหลายครั้ง…
โทรทัศน์จอนูนยี่ห้อไอว่า 21 นิ้ว คือที่ที่เราเจอ กันต์ ชุณหวัตร ครั้งแรก ในฐานะนักแสดงรับเชิญผู้รับบทเด็กในโรงเรียนประจำจากภาพยนตร์เรื่อง เด็กหอ (2549)
แต่ด้วยความสัตย์จริง ตอนที่เราเปิดแผ่นซีดีหนังเรื่องนี้ดูอีกครั้ง (ใช่ แผ่นซีดีที่ต้องใส่กับเครื่องเล่นซีดีนั่นแหละ) เราแทบจำไม่ได้เลยว่าเด็กคนนั้นจะเป็นคนเดียวกับกันต์ ชุณหวัตร ที่เราได้รู้จักจริงๆ จังๆ ในภายหลังจากบทบาท ‘องุ่น’ น้องชายของเชอร์รี่ใน หนีตามกาลิเลโอ (2552) ‘เต็ม’ หนุ่มขี้เก๊กนักร้องนำวง Arena ใน Suckseed ห่วยขั้นเทพ (2554) และ ‘ต้า’ นักดนตรีสุดเท่แห่งวง See Scape ใน Hormones วัยว้าวุ่น (2556) บทบาทที่ทำให้แสงสปอตไลต์ฉายลงมาที่กันต์อย่างเต็มตัว จนเป็นที่รู้จัก และมีแฟนคลับติดตามมากมาย
วันเวลาผ่าน เราเจอกันต์อีกครั้งตามงานเทศกาลดนตรีนอกกระแสในฐานะพิธีกร และถึงไม่เจอหน้า ก็ยังได้ยินเสียงของเขาในช่วงเวลาเที่ยงคืนถึงตีสอง ทุกวันพฤหัสบดีและศุกร์ ในฐานะดีเจประจำรายการ กันเคิลผจญภัย ทางคลื่นวิทยุออนไลน์ Cat Radio รวมถึงผลงานเพลง ขอพร, ยินดีที่ได้พบ และ ถ้าวันหนึ่ง ในฐานะศิลปินสังกัดค่าย Boxx Music ซึ่งถือเป็นอีกความฝันหนึ่งของเขา—เด็กหนุ่มที่มุ่งเรียนศาสตร์ดนตรีมาตั้งแต่มัธยม จนพยายามสอบเข้าวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดลเพื่อเรียนดนตรีอย่างจริงจัง
ยัง ยังไม่หมด อีกที่ที่เราได้เจอกันต์ก็คือหนังสือ ที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือเมื่อพลิกหน้ากระดาษไปที่หน้าเครดิต เรากลับพบชื่อของกันต์ถึงสี่ตำแหน่ง ได้แก่ ผู้เขียน ถ่ายภาพ บรรณาธิการ และเจ้าของสำนักพิมพ์ ที่สำคัญคือเขาไม่ได้ลองทำเล่นๆ เพียงเล่มเดียว แต่ทำอย่างจริงจังเคียงคู่กับงานในวงการ จนตอนนี้เดินทางมาถึงเล่มที่สาม และอาจลามไปถึงเล่มที่สี่ ห้า หก จิ้งจกยัดไส้ (ไม่ใช่!) ในอนาคต
จากนักแสดงที่มีชื่อเสียง หนุ่มนักดนตรีผู้ทำตามฝัน และดีเจผู้คัดสรรเพลงเพราะๆ มาเริ่มสนใจการเขียนหนังสือได้ยังไง อะไรที่ทำให้เขาอยากมีหนังสือ พร้อมกับเป็นบรรณาธิการ และทำสำนักพิมพ์ด้วยตัวเอง
เรานั่งนึกต่อไปพลางๆ ระหว่างที่รอเขา—ใช่ เรานัดเขามาต่อบทสนทนาเพื่อทำความรู้จักกันให้มากขึ้น จากวันที่เห็นกันต์ในทีวีจอนูนเครื่องเก่าที่บ้าน สู่การทำความรู้จักกันต์ในวันที่เขาหันมารันวงการสิ่งพิมพ์ ในบ้านปูนสองชั้นสีขาวที่ห้อมล้อมไปด้วยต้นไม้ใจกลางย่านสุขุมวิท
สนทนากันต์
“ผมเพิ่งไปแก้ปัญหาหนังสือเล่มล่าสุดที่โรงพิมพ์ เลยมาช้านิดหนึ่ง”
ชายหนุ่มทรงผมยาวดูแปลกตาจากที่เคยเห็นมาในเสื้อสีดำตัวโคร่ง ถือกระเป๋าแคนวาสใบโตเดินเข้ามาในห้องประชุม พร้อมทักทายด้วยคำข้างต้น
คิดๆ ดูแล้วกันต์อาจเป็นหนึ่งในนักแสดงไม่กี่คนที่ให้เหตุผลกับการมาช้า ด้วยเรื่องว่าเพิ่งไปเจรจากับโรงพิมพ์ในฐานะคนทำหนังสือ
แม้เราจะรู้จักกันต์จากงานแสดง งานเพลง และหนังสือที่เพิ่งมาทำได้ไม่นาน แต่หารู้ไม่ว่าเขาอยากทำสิ่งนี้เป็นสิ่งแรกๆ ตั้งแต่เขายังอ่านหนังสือไม่ออกด้วยซ้ำ
“ผมอยากมีส่วนร่วมกับการทำหนังสือ หรือทำหนังสือเองตั้งแต่ประถมแล้ว รู้สึกชอบการสัมผัสกระดาษ แล้วพอผมกลับไปนั่งคิดว่าจุดเริ่มต้นมันอยู่ตรงไหน ก็เลยรู้ว่าจริงๆ มันเป็นเพราะผมอ่านหนังสือได้ช้ากว่าเด็กคนอื่น
“ตอนนั้นที่บ้านบังคับให้ไปโรงเรียนตั้งแต่เช้าเพื่อไปฝึกอ่านกับครูตัวต่อตัว ถ้าอ่านคำไหนออก ผมก็จะได้รับคำชมจากที่บ้านเสมอ ไม่ว่าจะในหนังสือหรือพวกป้ายข้างทางระหว่างนั่งรถไปเรียน แล้วที่บ้านก็จะซื้อหนังสือให้เยอะมาก นิยาย นิทานเด็ก หนังสือการ์ตูน ทำให้ผมรู้สึกผูกพันกับหนังสือ รู้ตัวอีกทีตอนประถมผมก็ชอบเข้าไปอยู่ในห้องสมุด ทั้งที่เพื่อนๆ วิ่งเล่นกันอยู่ในสนาม กลายเป็นเด็กที่ชอบอยู่ในที่ที่มันมีกระดาษ มีเสียงเปิดกระดาษท่ามกลางความเงียบ”
จากเด็กชายกันต์ที่อ่านหนังสือไม่ออกก็กลายเป็นเด็กที่รักการอ่านการ์ตูน นิทานภาพ หนังสือที่เน้นภาพ และใช้คำศัพท์ง่ายๆ ก่อนจะค่อยๆ ขยับวงหนังสือไปอ่านการ์ตูนญี่ปุ่น เรื่อยมาจนนิยาย วรรณกรรม รวมถึงหนังสือบันทึกการเดินทางที่ทำให้เขาอยากออกไปท่องเที่ยว ออกไปข้างนอก หรือบางทีก็รู้สึกเหมือนมีเพื่อนข้างกาย
เป็นตอนนี้เองที่กันต์เริ่มรู้สึกอยากเขียนหนังสือ อยากเขียนให้คนอ่านแล้วรู้สึกเหมือนที่เขารู้สึกบ้าง
เขาพยายามขีดๆ เขียนๆ เรื่องราวเก็บไว้ แต่ไม่เคยมีอะไรเป็นรูปเป็นร่าง เขียนๆ เลิกๆ อยู่แบบนั้น ยิ่งเมื่อเข้าวงการ มีงาน มีหลายสิ่งให้โฟกัส ก็คงไม่แปลกที่เด็กชายคนนี้จะเผลอทำความฝันที่อยากทำหนังสือหล่นหายไปชั่วขณะ
แต่ด้วยความเป็นคนชอบใช้ความรู้สึกนำทาง อยู่ดีๆ วันหนึ่งความรู้สึกอยากทำหนังสือก็ผุดกลับมาอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย แม้ตอนนั้นกันต์จะไม่รู้อะไรเกี่ยวกับการทำหนังสือเลย แต่ก็อย่างที่เขาบอก ความรู้สึกอยากทำของเขาเดินนำหน้าไปก่อนแล้ว
“ผมรู้สึกว่าถ้าเราอยากทำอะไรก็ควรจะได้ทำ อย่างน้อยก็กระโจนลงไปก่อน พังหรือเปล่าอีกเรื่องหนึ่ง ค่อยว่ากัน
“ตอนนั้นผมก็ไม่รู้หรอกว่าการเขียนหนังสือต้องทำยังไงบ้าง ผมรู้แค่ว่าอยากทำ วันนั้นผมไปจัดรายการที่ Cat Radio เลยชวนไมเคิล (ศิรชัช เจียรถาวร) ว่ามาเขียนหนังสือกันไหม ทำเล่นๆ ก็ได้ แล้วพี่บูม (บรกรณ์ หลงสวาสดิ์ โปรดิวเซอร์ Cat Radio) ก็มาได้ยิน เขาก็เอาเรื่องที่ผมอยากทำไปบอกพี่วิภว์ (วิภว์ บูรพาเดชะ) ซึ่งทำสำนักพิมพ์ happening อยู่ ผมก็เลยได้เอาสิ่งที่ผมอยากทำไปขาย”
“แต่ตอนนั้นคุณมีแค่ความอยากทำไม่ใช่เหรอ แล้ววันนั้นคุณเอาอะไรไปขาย” เราถาม
“มั่วซั่วครับ (หัวเราะ) คือเราก็หงายการ์ดไปตรงๆ เลย พี่ ผมอยากเขียนหนังสือ แต่ว่าผมเขียนไม่เป็น ผมไม่มีอะไรเลย ไม่รู้อะไรเลยนะ แต่ผมจะไปญี่ปุ่นกัน ก็ขายไปแบบนี้ พี่วิภว์ก็เลยให้ลองทำดู ทั้งๆ ที่ตอนนั้นผมก็ยังมีงานส่วนอื่นๆ อยู่นะ แต่เรารู้สึกว่าอยากทำ อยากลอง ก็เลยได้เริ่มเขียนหนังสือครั้งแรก”
ไร้แผน ไร้ข้อมูล ไปแบบไม่รู้อะไรเลย อาจเป็นคำนิยามของการทำ Tokyo Unscripted หนังสือเล่มแรกจากการเดินทางสู่โตเกียวแบบไม่มีสคริปต์ของเขาและไมเคิล
“เป็นยังไงบ้าง”
กันต์ขำนำหน้ามาก่อนจะบอกเราด้วยคำง่ายๆ แต่ความหมายสุดลึกล้ำ…
“เละ” เขาว่าอย่างนั้น
“เป็นหนังสือที่มั่วกันตั้งแต่ตอนไปเที่ยว จนตอนกลับมาเขียนก็แอบมั่วๆ อยู่เลยนะ (หัวเราะ) ต้องขอบคุณพี่วิภว์กับทีม happening มากที่ช่วยให้มันออกมาเป็นรูปเล่มได้ เอาจริงๆ ตอนมันเสร็จ ผมก็ค่อนข้างงงๆ ไม่เชื่อว่ามันเสร็จแล้ว พอเดินไปเห็นหนังสือที่มีชื่อตัวเองอยู่บนชั้นวาง ได้ขึ้นไปวางอยู่ข้างๆ หนังสือของนักเขียนที่เราชอบก็ดีใจแหละครับ แต่ผมก็แอบไปถามพี่วิภว์นะว่าเจ๊งหรือเปล่า เขาก็บอกว่าไม่เจ๊ง ไอ้เราก็โล่งใจ เพราะตอนนั้นผมกลัวอย่างเดียวเลย กลัวทำเขาเจ๊ง กลัวทำเขาขาดทุน มันคือสิ่งที่เรากลัวมากเลย”
กันต์ยังบอกกับเราอีกด้วยว่ารู้สึกเขินๆ—เปล่า เขาไม่ได้หมายถึงการสนทนานี้ แต่เป็นอาการเมื่อต้องกลับไปนั่งอ่านหนังสือเล่มแรกอีกครั้งต่างหาก
อย่างไรก็ตาม ถึงกันต์จะบอกว่าเขินกับการเรียบเรียง การเลือกใช้คำที่เจ้าตัวบอกว่าช่างเละทะ แต่การได้เขียนในวันนั้นก็ปลุกความกล้าในตัวเขาได้ดี และพาให้เขากล้าที่จะเขียนเล่มต่อไปด้วย
“ผมถือว่าการเขียนมันออกมาเป็นสิ่งที่ยากที่สุดเลย ผมเคยเขียนหน้าเดียว ใช้เวลาเป็นอาทิตย์ เขียนแล้วลบอยู่อย่างนั้น เพราะเราคิดว่ายังไม่ดี เลยไม่กล้าไปต่อ เพราะงั้นผมว่าต้องเขียนมันออกมาก่อน เขียนแล้วกล้ายอมรับว่าเราเขียนมันออกมาแล้วเราจะได้ไปต่อ หลังจากนั้นจะแก้ยังไงค่อยว่ากัน”
กันต์สนุกที่ได้ทำตามฝัน หลังจากนั้นเขาทิ้งระยะไป 1-2 ปี และกลับมาขีดเขียนอย่างจริงจังเป็นรูปเล่มอีกครั้ง
แต่ที่พิเศษไปกว่าเดิมก็คือ ครั้งนี้เขาตัดสินใจทำเองทั้งหมด ตั้งแต่เขียนต้นฉบับ เป็นบรรณาธิการดูแลการผลิต ไปจนถึงเปิดสำนักพิมพ์เป็นของตัวเอง
ถึงจะดูทำการใหญ่ไปสักหน่อย แต่เราแอบคิดว่าการได้ลองทำเล่มแรก น่าจะทำให้กันต์ได้เห็นกระบวนการและฝึกฝนวิทยายุทธมาบ้างแล้ว เขาอาจจะทำได้ดี ไม่มีปัญหา ไม่มีอะไรยุ่งยากแน่นอ…
“ก็มั่วอีกแหละครับ (หัวเราะ)”
…เราหยุดความคิดตัวเองแทบไม่ทัน
เป็นอีกครั้งที่กันต์กระโจนลงไปทำสิ่งที่อยากทำ แม้จะไม่รู้อะไรเลยก็ตาม ครั้งนี้เขาเลือกที่จะเขียนต้นฉบับก่อน แล้วค่อยศึกษาหาหนทางว่าการทำสำนักพิมพ์และทำให้ต้นฉบับกลายเป็นหนังสือด้วยตัวเองนั้นต้องทำอะไรบ้าง ด้วยการต่อสายตรงโทรถามคนรอบข้าง รวมถึงพี่วิภว์คนดีคนเดิมเพื่อปรึกษา
“จริงๆ ทำร่วมกับ happening ดีมากนะ แต่ด้วยความที่เราอยากอยู่ในทุกกระบวนการผลิต อยากลองทำเอง 100 เปอร์เซ็นต์ ประกอบกับมันเป็นช่วงที่ผมรู้สึกว่าตัวเองน่าจะยังล้มได้อยู่ ด้วยอายุ ด้วยอะไร รู้สึกว่าถ้ามันจะเจ๊งก็เจ๊งได้ ผมคงไม่พร้อมจะเจ๊งหากอายุเยอะกว่านี้ ผมเลยคิดว่าทำไปก่อน เจ็บไปก่อน แล้วค่อยมาเรียนรู้ว่ามันจะมีทางที่ดีกว่านี้มั้ย เพราะถ้ายั้งไว้ ผมคงไม่ได้ทำมันสักที”
แล้วการรันวงการสิ่งพิมพ์ด้วยตัวเองก็เริ่มต้นขึ้น (ใครก็ได้กดบีตให้หน่อย) แต่แทนที่จะเริ่มต้นด้วยความสดใส กลับเริ่มด้วยความหม่นเศร้าเหงาซึมซะอย่างนั้น
“ตอนนั้นชีวิตของผมกำลังพัง พังหลายเรื่อง จนเรารู้สึกว่าเอาไม่อยู่แล้ว ทั้งเรื่องงาน ชีวิตส่วนตัว ยันความรัก เละเทะ ไม่มีอะไรถูกที่ถูกทาง ปัญหาที่เราเจอแม่งเป็นเรื่องใหญ่มากเลยว่ะ ผมอยู่กับความเครียดนานมาก แล้วก็มีใครสักคนมาบอกผมว่า ออกไปพักเหอะ ไปที่ไหนก็ได้ อยู่แบบนี้มันไม่ได้อะไร เออ มันก็น่าจะดีเหมือนกัน”
ในตอนนั้นกันต์มีแพลนต้องไปทำงานที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ แต่ด้วยความที่เจ้ามรสุมชีวิตพัดใส่เขาอย่างจัง ทำให้เขาตัดสินใจออกเดินทางไปที่ฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่นก่อนกำหนดการสิบกว่าวัน เพื่อหลบหนีจากมรสุมสักพัก
“ผมว่าการเดินทางแบบเครียดๆ มันอาจเป็นเชื้อไฟในการเขียนหนังสือเล่มใหม่ก็ได้ เลยตัดสินใจไปเที่ยวด้วยฟีลพังๆ ลองดูว่าถ้าเขียนตอนที่เรารู้สึกแบบนี้จะเป็นยังไง”
ท่ามกลางสายฝน และประชากรบางตาในฟุกุโอกะ สิ่งที่กันต์พอจะทำได้คือการจดบันทึกสิ่งที่อยากเล่าเอาไว้ พยายามสนใจสิ่งที่อยู่ตรงหน้า และไปนั่งคุยกับคนแปลกหน้าที่เขาไม่รู้จัก ซึ่งใครจะไปคิดว่าการเดินทางด้วยจิตใจที่เต็มไปด้วยมวลความเครียด จะทำให้เขารู้สึกดี มีเวลาอยู่กับตัวเอง จนกลายมาเป็นบันทึกการเดินทางเพียงลำพังที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้อย่าง ฉันออกเดินทางในวันที่ไม่มีแดด หนังสือเล่มที่สองในฐานะนักเขียน และเล่มแรกในฐานะบรรณาธิการผู้คอมเมนต์และปรับแก้งานตัวเอง
“สีเทาๆ เข้มๆ คือมวลที่อบอวลอยู่ในเล่มนี้ เพราะเราเขียนมันด้วยความรู้สึกหม่นๆ เหมือนคนกำลังรอวันที่จะมีแสงสว่างส่องเข้ามา”
นั่งฟังหนุ่มตรงหน้าเล่าถึงการปลูกปั้นหนังสือด้วยตัวเองไป เราก็อดตื่นเต้นตามไปด้วยไม่ได้ จนกระทั่งนึกได้ว่านอกจากเขียนและคอมเมนต์งานตัวเองแล้ว ฉันออกเดินทางในวันที่ไม่มีแดด ยังถูกตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ ‘คนแคะ’ สำนักพิมพ์ที่กันต์ก่อร่างสร้างขึ้นมาด้วยความเชื่อว่า หนังสือจะช่วยแคะอะไรบางอย่างออกมาจากคนอ่านได้บ้าง นั่นแปลว่าเขาต้องเป็นผู้ออกเงิน และกลายเป็นคนทำธุรกิจอย่างเต็มตัว
แต่วงการสิ่งพิมพ์กำลังอยู่ในช่วงขาลงไม่ใช่เหรอ (!)
“ตอนนั้นผมลืมคิดเรื่องนี้ไปเลยครับ (หัวเราะ) ผมไม่ได้คิดเลยว่ามันเป็นช่วงขาลง มานั่งคิดอีกทีก็ตอนที่เขียนเสร็จแล้ว ตอนที่จะเอาไปพิมพ์แล้วมีคนทักว่า มึงจะทำเองจริงๆ เหรอวะ มันซบเซา ขาลงอยู่ไม่ใช่เหรอวะ คนหันไปทำออนไลน์แล้ว อยู่ๆ มึงจะเปิดสำนักพิมพ์ทำไม แล้วทีมงานผมน้อยมากกกก ถ้าให้นับจากที่เคยทำงานร่วมกันมาก็มีประมาณห้าคนได้ ซึ่งตอนนี้จะเหลือแค่ผมกับอีกคนเป็นหลัก งานส่วนอื่นเราจ้างเป็นจ๊อบๆ ไป
“ผมจำได้ว่าตอนใกล้ขายนั้นกดดันมาก ผมเล่นเฟซบุ๊ก อินสตาแกรมไม่ค่อยเก่งเท่าไหร่ ไม่รู้เลยว่าเขาขายของกันยังไง ต้องมีคนคอยช่วยตลอด ตอนจะทำเพจของสำนักพิมพ์ก็ทำไม่เป็น แล้วก็ไม่มีเงินไปจ้างใครด้วย รูปโปรไฟล์เพจตอนแรกยังเป็นไฟล์ภาพแตกๆ อยู่เลย แถมตอนนั้นผมก็อยากมีงานแจกลายเซ็น แต่ก็ยังไม่กล้าเช่าสถานที่ กลัวไม่มีใครมา เพราะเราไม่ได้เป็นนักเขียนที่จะมีใครมาตาม
“สิ่งที่ผมกลัวที่สุดคือผมกลัวเจ๊ง ต่อให้ห้าวมาจากไหนก็อดรู้สึกนอยด์ไม่ได้ ใครทำงานก็อยากจะ success อยากได้ผลตอบรับที่ดี ผลประกอบการดี ถ้าเจ๊งเราก็คงหมดกำลังใจ ถ้าเจ๊งเราก็ไม่มีเงินจะทำต่อไปได้ด้วย”
กันต์คะ อีกครั้งแล้วสินะที่คุณพูดคำว่าเจ๊ง…
ตลอดการพูดคุย กันต์พูดคำว่าเจ๊งไปทั้งหมดเกือบสามสิบครั้ง นั่นทำให้เราเห็นว่าเขาคิดถึงฟีดแบ็ก รายได้ กลุ่มคนอ่าน และเห็นเขาในมุมของคนบริหารสำนักพิมพ์ยิ่งขึ้น เพราะนอกเหนือไปจากการลงมือทำสิ่งที่ชอบ สิ่งที่อยากทำ นี่คือการลงทุนของตัวเอง และการอยู่รอดในเชิงธุรกิจ
แน่ล่ะ เล่มแรกที่เขาตีพิมพ์เองนั้นไม่เจ๊ง (ไม่งั้นเราก็คงไม่ได้มาคุยกับเขาในวันนี้…) ในเวลาไล่เลี่ยกัน เขายังออกหนังสือเล่มที่สองของสำนักพิมพ์คนแคะอย่าง ฮอกไกโดสีขาว หนังสือว่าด้วยการเดินทางท่ามกลางหิมะ ในเมืองทั้ง 7 ของเกาะฮอกไกโด
คงจะเป็นอย่างที่กันต์พูด เขามักชอบใช้ความรู้สึกนำ จากเล่มแรกที่อัดด้วยความรู้สึกเทาๆ สีครึ้มๆ สู่เล่มสองที่ตรงกันข้าม มันไม่ได้เปียกปอนด้วยฝนหรือปกคลุมด้วยความตึงเครียด แต่เป็นหิมะขาวนวลและมวลสุขใจที่เกิดขึ้นระหว่างทางของเขาทั้งสิ้น
“ผมเป็นคนทำงานโดยใช้อารมณ์หรือความรู้สึกในฝั่งลบเป็นส่วนใหญ่ แม้กระทั่งงานเพลงของตัวเองก็จะไม่ได้มีเพลงรักซึ้งๆ ผมไม่เคยทำ ไม่ถนัด แต่กับเล่มนี้ ผมอยากลองเขียนอะไรที่เป็นโทนสว่างบ้าง แล้วการเดินทางครั้งนี้ผมก็รู้สึกฟีลกู๊ดนะ มองอะไรรอบตัวก็มีความสุข เลยอยากลองดูว่าถ้าเอามาเขียนจะทำได้มั้ย แต่กลายเป็นว่าบางครั้งผมก็ร้องไห้เลย”
การเดินทางครั้งนั้นคุณก็มีความสุขไม่ใช่เหรอ—เราถาม
“ก็ใช่ครับ แต่เคยมั้ย พอได้มองย้อนกลับไปตอนที่มีความสุขกับอะไรมากๆ แล้วนึกอยากร้องไห้ อาจเป็นเพราะตอนเขียนเรารู้สึกว่ากำลังจะได้เล่าสิ่งที่ผ่านมาซึ่งมันดีมากๆ ให้คนอื่นฟัง”
จากความสุขในเล่มแรกสู่เล่มสอง ที่ความกล้าพุ่งทวีคูณ
“คนเราพอมั่นใจว่าทำอะไรเป็น ทำแล้วรอดก็มีความกล้าขึ้นเนอะ เหมือนตอนรู้สึกว่าตัวเองขับรถแข็งแล้วก็เริ่มขับออกถนนใหญ่ หนังสือเล่มนี้ก็เป็นแบบนั้น ทีแรกผมคิดว่าจะง่ายขึ้น แต่มันก็ยังมีอะไรที่ผมไม่รู้อีกมาก ตอนทำเล่มนี้ผมก็เลยขับชนอะไรเต็มไปหมด ทั้งในเรื่องกระบวนการทำสำนักพิมพ์ การจัดทำรูปเล่ม จนเล่มล่าสุดที่ผมคิดว่าตัวเองเก๋าแล้ว ผมก็ยังพลาดอยู่ดีนะ อย่างที่บอกไปว่าเมื่อเช้าผมเพิ่งไปแก้ปัญหาที่โรงพิมพ์มาครับ”
เล่มล่าสุดที่เขาพูดถึงคือ I WILL BE BACK แล้วจะกลับไปทำงาน ผลงานเดี่ยวเล่มที่สามของเขา—ผลงานที่บอกพวกเราทางอ้อมว่าเล่มที่สองของเขาก็ไม่เจ๊ง! (คนเขียนคะ อีกครั้งแล้วสินะที่เธอเขียนคำว่าเจ๊ง)
“เพราะผมชอบเชียร์ให้คนออกเดินทาง” เขาเปิดประโยคก่อนเราจะได้ถามถึงที่มาที่ไปของเล่มล่าสุด
และไอ้ความชอบเชียร์นี้แหละ ทำให้เขาเริ่มรู้สึกอยากเขียนหนังสือบันทึกการเดินทางแบบสั้นกระชับที่ไปง่ายจ่ายคล่องท่องเที่ยวไม่นานดูบ้าง
“เล่มก่อนๆ ผมจะใช้เวลาเดินทางกว่าสิบวันทั้งหมดเลย ซึ่งมันอาจจะยากสำหรับบางคนที่มีงานต้องรับผิดชอบ แต่เราเชื่อว่าการไปแค่ 3-4 วันก็สนุกได้ ไปเห็นสิ่งที่เปลี่ยนมุมมองเราได้เหมือนกัน ผมเลยอยากบิลด์คนอ่านด้วยแหละว่า เวลาแค่ 3-4 วันก็ไปเที่ยวได้เหมือนกัน
“ผมไม่เชียร์ให้คนเรานั่งทำงานอยู่กับที่นานๆ ถึงจุดหนึ่งคนเราต้องขยับตัวออกไปที่อื่นบ้าง เราจะอยู่ที่เดิมซ้ำๆ ซึ่งมันไม่ดี เราจะไม่แฮปปี้กับตัวเอง จริงอยู่ว่าการไปแต่ละที่มันก็อาจจะเจออะไรที่ไม่ดีเหมือนกัน แต่ผมว่ามันก็คือประสบการณ์”
กันต์จึงรวบการเดินทางระยะใกล้ 4 ประเทศ 5 เมือง—บาหลี โอกิโนวา ดานัง-ฮอยอัน และสิงคโปร์ มาไว้ในเล่มเดียวกัน
“มีสีสัน สีแสบ สีสดใส ให้รสชาติและมวลความรู้สึกต่างกันออกไป ตามสถานที่และผู้คนที่ร่วมเดินทาง เพราะมันมีบรรยากาศของผู้คนมากกว่าเล่มอื่นๆ ที่ผมมักไปคนเดียว อาจแทนเล่มนี้ด้วยภาพวัยรุ่นหน่อย มีเพื่อน และการผจญภัยจากการย้ายเมืองไปเรื่อยๆ
“ผมอยากให้ทุกคนวางงาน และออกไปเที่ยวบ้าง” นี่เป็นประโยคที่กันต์ตั้งใจและใส่ไว้ในเล่มนี้เช่นกัน
แล้วพบกันต์ใหม่
นักอ่าน นักเขียน ช่างภาพ บรรณาธิการ และเจ้าของสำนักพิมพ์
ตลอดการเดินทางของกันต์ในวงการสิ่งพิมพ์ เขาสนุกไปกับการบิดเรื่องราวเหมือนผู้กำกับ สนุกกับการเล่าเรื่องของตัวเอง สิ่งหนึ่งที่ทำให้ชายหนุ่มตรงหน้าชอบการเขียนคือการได้รับรู้ว่างานของเขาเข้าไปอยู่ในความทรงจำหรือชีวิตใครสักคนหนึ่ง เป็นความสนุก ความสุข และเป็นเพื่อนให้คนอื่นได้
“ผมชอบเล่าเรื่อง ยิ่งพอมาทำหนังสือ ผมก็อยากหาอะไรมาเล่าต่อเรื่อยๆ และผมคิดว่าจริงๆ คนเรามีเรื่องราวในแต่ละวันไม่เหมือนกันอยู่แล้ว ไม่ว่าเราจะอยู่ที่เดิมก็ตาม ความรู้สึกก็ไม่เหมือนกันสักวัน เราต่างมีเรื่องราวอะไรมาเติมเต็มตลอด ผมว่าวัตถุดิบเป็นสิ่งที่ทุกคนมี เพราะเราผ่านอะไรมาไม่เหมือนกัน เรื่องของเรามันอาจจะเป็นเรื่องที่โคตรว้าวสำหรับอีกคนหนึ่งก็ได้
“แต่ผมก็ไม่กล้าบอกหรอกครับ ว่าหนังสือผมจะมีสรรพคุณถึงขั้นทำให้เขาเปลี่ยนแปลงชีวิต หรือเปลี่ยนมุมมอง ผมก็แค่หวังว่าถ้าเขาอ่านแล้วจะสนุก มีความสุขไปกับโมเมนต์ต่างๆ ที่เจอในหนังสือเรา อย่างเคยมีคนอ่านมาบอกว่าตอนนั้นเขา lost มาก พอได้อ่านหนังสือก็รู้สึกว่ามีคนที่เป็นเหมือนเขาด้วย เขารู้สึกมีเพื่อน แล้วเพื่อนคนนั้นกำลังเล่าเรื่องให้ฟังผ่านหนังสือ แค่นี้ผมก็มีความสุขแล้ว”
“แบบนี้เรียกประสบความสำเร็จในการเขียนได้มั้ย”
“คำว่าประสบความสำเร็จมันกว้างไป จริงๆ ยิ่งทำอะไรไปเรื่อยๆ คำว่าประสบความสำเร็จอาจจะไม่ต้องมีจริงก็ได้ ผมขอแค่ทำไปแล้วสนุก มีความสุขก็พอ”
GUNN WILL BE BACK แล้วกันต์จะกลับไปทำงาน
นี่ไม่ใช่ชื่อหนังสือเล่มที่สี่
แต่ระหว่างการสนทนาทำความรู้จักกันต์มาชั่วโมงนิดๆ คงได้เวลาที่กันต์จะต้องกลับไปทำงานแล้ว (รวมถึงเราด้วย) ว่าแต่งานนั้นจะเป็นอะไรล่ะ
พิธีกร งานแสดง ดีเจ นักดนตรี หรือนักเขียน?
“จริงๆ ในทุกตำแหน่งก็มีช่วงเวลาที่ดีหมด บางอันเหนื่อยมาก แต่ก็มีโมเมนต์ที่ดี ซึ่งผมสนุกทุกอันนะ ถ้าไม่สนุกผมจะเลิกทำ
“ถ้าเลือกได้เอาจริงๆ ขอไม่ทำอะไรแล้วมีเงินใช้ดีกว่า”
ใช่ เราก็อยากขอแบบนั้นเหมือนกัน (เดี๋ยวๆ ไหนว่าจะกลับไปทำงาน!)
หลังจากพูดคุยกัน เราเชื่อเหลือเกินว่าองุ่น เต็ม ต้า ในวันที่เราเจอผ่านหน้าจอโทรทัศน์เครื่องเก่าคงเป็นคนไม่มีความฝันอะไรอีกแล้ว เพราะไม่ว่ากันต์จะอยากทำ อยากเป็นอะไร เขาจะ ‘กระโจน’ เข้าไปหาและทำมันเสมอ
จากที่ไม่เคยรู้จักกันต์เป็นการส่วนตัว วันนี้เราพอได้รู้จักกันต์มากขึ้น และเห็นทีคงถึงเวลาที่ต้องบอกลากันต์แล้วสิ แต่ก่อนจะเดินออกจากห้องไป กันต์ก็เอ่ยถามเราขึ้นมา
“เอ้ย คุยมาตั้งนาน คุณชื่ออะไรนะ”
“เราชื่อ…”
(ดีเจเปิดท่อนฮุกเพลง ยินดีที่ไม่รู้จัก ของ 25 hours)