TOXIC FOR RENT
คอลัมน์ที่จะชวนไปมองหาสิ่งที่ไม่น่าอภิรมย์ และเคราะห์ซ้ำกรรมซัดในภาพยนตร์
ว่าด้วยการเป็นเจ้าของชั่วคราวของคนกลุ่มหนึ่ง
เรื่อง: จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์
ภาพ: NJORVKS
บทความชิ้นนี้มีการเผยแพร่เนื้อหาของภาพยนตร์
แม่เรามีธุรกิจให้เช่าบ้านในต่างจังหวัด ไม่ได้ใหญ่โตอะไร ค่าเช่าหลักพัน ทำสัญญาเป็นรายปี, ลูกบ้านบางเจ้าอยู่มาเกินสิบ บางรายก็อยู่แค่ปีเดียว หากแทบทุกครั้งที่มีการย้ายออก แม่ต้องปาดเหงื่อกับสภาพที่หลงเหลือ บางบ้านเยินเสียจนต้องเอาค่าเช่าที่เก็บได้เกือบทั้งหมดไปรีโนเวตให้เหมือนเดิม วัฏจักรวนซ้ำ เหมือนจะเก็บกินสบาย แต่ได้กำไรจริงๆ หรือเปล่า เราไม่แน่ใจ
จากสถานะ (ของครอบครัว) ในการเป็นผู้ให้เขาเช่า ในอีกมุม เราก็เคยมีสถานะของคนเช่าเขาอยู่เช่นกัน—สี่ปีในมหาวิทยาลัย และอีกหลายปีหลังเรียนจบในหอพักหลายต่อหลายแห่ง ความที่อยู่คนเดียวและไม่ได้ร่ำรวย เงื่อนไขของการเช่าคือราคาที่ไม่แพง ห้องปลอดโปร่ง และสะอาด…
ซึ่งหาได้ยากชะมัด จำได้ว่าสมัยเรียนจบใหม่ๆ เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว เคยเช่าห้องอยู่ไม่ไกลจากอนุสาวรีย์ชัยฯ เดือนละห้าพันกว่าบาท—แพงนะสมัยนั้น—ผนังห้องบางเสียจนผัวเมียห้องข้างๆ ทะเลาะกัน ไม่ตั้งใจฟัง หากก็ยังได้ยินประหนึ่งเราเป็นสมาชิกในห้องนั้น และมีอยู่ครั้งที่ฝนตกหนักๆ จนน้ำท่วมทางเข้าตึก ฝูงหนูวิ่งหนีน้ำออกจากท่อขึ้นมาในอาคาร ภัยพิบัติสัตว์ๆ
นึกถึงการเช่าทีไร เรามักนึกถึงคำพูดของอาจารย์ธเนศ วงศ์ยานนาวา ว่าด้วยวิธีการที่ทำให้เราไม่เป็นประสาทแดกทางการเมืองตายไปเสียก่อนในประเทศนี้…
การที่อาจารย์ธเนศตอกย้ำให้เห็นว่า ‘การเช่า’ มีความหมายเดียวกับการ ‘อย่าไปคิดอะไรมาก’ ก็อาจเป็นหนึ่งตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่าสถานะของการเช่า หรือการครอบครองเพียงชั่วคราว มีส่วนในการปิดกั้นการพัฒนา—ทั้งการพัฒนาสถานที่ของผู้ให้เช่า และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้เช่า
แน่นอน การเช่าคือหนึ่งในทางเลือกที่ดีเมื่อพิจารณาถึงประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเช่าคือความเสี่ยงในการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนแปลกหน้า รวมไปถึงการเป็นสัญลักษณ์ของความไม่ยั่งยืน ไปจนถึงความรู้สึกไม่ต้องใส่ใจอะไรมาก เพราะอย่างไรมันก็ไม่ใช่ของเรา
มีภาพยนตร์มากมายที่เล่าถึงวิถีชีวิตไปจนถึงพิษจากการครอบครองเพียงชั่วคราวผ่านการเช่าที่อยู่อาศัย The Rental (2020) คือหนึ่งในนั้น ภาพยนตร์ทริลเลอร์กำกับโดย เดฟ ฟรังโก้ (Dave Franco) พูดถึงคู่รักสองคู่ที่ไปพักผ่อนในช่วงวันหยุดด้วยการเช่าบ้านพักตากอากาศริมทะเล—ชาร์ลี คือเจ้าของบริษัทสตาร์ทอัพ มีคนรักคือ มิเชล อีกคู่คือ จอช น้องชายของชาร์ลี มากับ มิน่า หุ้นส่วนที่บริษัทของชาร์ลี
มิน่าไม่ถูกชะตาเทย์เลอร์ คนดูแลบ้านตั้งแต่แรกเห็น เธอเดือดดาลยิ่งขึ้นเมื่อพบว่าเทย์เลอร์ ชายเฒ่ามารยาททราม ผู้ที่มีบุคลิกแบบนักเลงท้องถิ่น เข้า-ออกบ้านหลังนี้โดยไม่ขออนุญาต ระหว่างที่ผู้เช่าพักอยู่
คืนหนึ่งระหว่างที่คู่รักของแต่ละคนเข้านอน ชาร์ลีดันไปมีเซ็กซ์กับมิน่าในห้องน้ำ แต่แทนที่ friend with benefits จะจบลงแค่คืนนั้น ชาร์ลีก็พบว่าบ้านทั้งหลังไม่เว้นกระทั่งในห้องน้ำมีกล้องวงจรปิดติดตั้งอยู่ เขาคิดว่าจะต้องแจ้งความ แต่ก็นึกขึ้นได้ว่ากล้องวงจรปิดบันทึกภาพที่เขาและมิน่าเล่นชู้กันไว้ เงื่อนไขอยู่ตรงนี้
ครึ่งแรกของเรื่องทำได้ดี เย็นเยียบ และเปี่ยมไปด้วยบรรยากาศไม่น่าไว้วางใจ แม้ตัวเรื่องจะเล่าตามแพตเทิร์นที่คล้ายจะเป็นพล็อตสำเร็จรูป ว่าด้วยกลุ่มหนุ่มสาวไปเที่ยวด้วยกันในสถานที่แปลกถิ่นก่อนประสบภัยคุกคามก็ตาม
บทหนังชี้เป้าผู้ต้องสงสัยไปยังบุคคลที่สามอย่างเทย์เลอร์ เขาอาจเป็นฆาตรกร เป็นนกต่อ หรืออาจเป็นแค่ตัวละครหลอกล่อคนดู ปรากฏว่าเมื่อเข้าสู่ครึ่งหลัง เทย์เลอร์มีบทบาทแค่เพียงอย่างหลัง และเขาถูกจอชฆ่าด้วยความเข้าใจผิด ฆาตรกรตัวจริงคือผู้เช่าก่อนหน้าที่เข้ามาติดตั้งกล้องวงจรปิดโดยที่เจ้าของบ้านไม่รู้ เพื่อแอบดูวิถีชีวิตของแขกชุดต่อไป
พล็อตไม่เพียงทวิสต์ หากแต่ทั้งเรื่องก็ทวิสต์ตามไปด้วย จากทริลเลอร์-ดราม่าสู่หนังสยองขวัญแบบ slaughterhouse ที่ฆาตรกรออกมาไล่ฆ่าทุกคนอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย
น่าเสียดายตรงที่งานกำกับเรื่องแรกของเดฟ ฟรังโก้ ไปไม่สุด นักแสดงแบนราบและทำให้เราไม่รู้สึกผูกพัน การปูเรื่องที่เปี่ยมชั้นเชิงในช่วงแรกถูกทำลายด้วยองค์สุดท้ายที่ฆาตรกรออกมาสังหารคนในบ้านตามคำสั่งของผู้กำกับ… เอ้า แอ็กชั่น! ถึงคิวกูล่ะ ออกมาฆ่าให้เรื่องจบๆ ไป
อย่างไรก็ดี ความน่าสนใจของ The Rental คือการนำเสนอนิยามของ ‘การเช่า’ ในภาพยนตร์แนวนี้ได้อย่างแปลกใหม่ หลายคนอาจเคยผ่านตาหนังรุ่นพี่อย่าง Vacancy (2007, Nimród Antal) ที่เล่าถึงคู่รักมาเช่าโมเต็ลอยู่ ก่อนพบว่าโมเต็ลก็มีกล้องวงจรปิดแอบถ่ายพวกเขา และฆาตกรที่เป็นพวกเดียวกับเจ้าของโมเต็ลจะเข้ามาไล่ฆ่าพวกเขาเพื่อเอาภาพเคลื่อนไหวที่บันทึกได้ไปขายเป็น snuff film (หนังแนวเล่นจริง เจ็บจริง และอาจตายจริง!) ในตลาดมืด หรือ Hostel ที่ทำออกมาถึงสามภาค (2005, 2007 และ 2011) พูดถึงการใช้โฮสเทลเป็นสถานที่ลักพาตัวนักท่องเที่ยวเพื่อนำไปเป็นเหยื่อให้สมาคมลับของเหล่าเศรษฐีได้ทรมานและเข่นฆ่า
The Rental กลับคงสถานะที่เกิดเหตุเป็นเพียง ‘สถานที่กลาง’ ที่ทั้งฆาตกรและเหยื่อเป็นผู้เช่า เจ้าของสถานที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ (หนังมาเฉลยในตอนท้ายว่า ฆาตกรก็ทำแบบนี้กับบ้านเช่าและอพาร์ตเมนต์แห่งอื่นๆ ก่อนจะเก็บกล้องวงจรปิดกลับไป) และเมื่อเหตุการณ์จบลง เหยื่อของเรื่องจึงไม่ใช่แค่คนเช่าที่ถูกฆ่า หากยังเป็นเจ้าของสถานที่ที่ต้องมาพบว่ามีแขกมาตายหมู่อยู่ที่บ้าน
Strangers from Hell คือซีรีส์แนวไซโคโลจี-ทริลเลอร์ของเกาหลีที่ออกฉายเมื่อปลายปี 2019 กำกับโดย อี ชางฮี (Lee Chang-hee) ต้นเรื่องมาจากหนังสือการ์ตูนของ คิม ยงกี (Kim Yong-ki) ใน Webtoon เรื่องราวเกี่ยวกับการติดตามชีวิตของ ยุน จงอู ชายหนุ่มต่างจังหวัดที่เพิ่งปลดประจำการทหารเข้ามาทำงานในกรุงโซล แต่เพราะความจน เขาจึงต้องใช้ชีวิตอย่างประหยัดด้วยการเช่าหอพักราคาถูกที่สุดเท่าที่จะหาได้
นั่นทำให้เขาพบหอพักในตึกเก่าคร่ำที่ชื่อว่า Eden ซึ่งมีทั้งป้าเจ้าของและเพื่อนร่วมหอที่แปลกประหลาด ก่อนซีรีส์จะมาเฉลยตอนกลางเรื่องว่าทุกคนในหอล้วนเป็นพวกเดียวกัน และมักจะล่อลวงผู้เช่าใหม่ไปฆ่า เพื่อเอาเนื้อมากิน
นี่เป็นซีรีส์ที่ดูสนุก น่าติดตาม และโหดตามแบบฉบับของซีรีส์สายดาร์กของเกาหลี กระนั้นความอำมหิตยิ่งกว่าที่เราพบ หาใช่การทรมานหรือการฆาตกรรม หากเป็นการที่ตัวละครเอกต้องอดทนใช้ชีวิตอยู่ในห้องเช่าที่มีขนาดเท่าคนนอนเหยียด สกปรก ไม่เป็นส่วนตัว และใช้ชีวิตร่วมกับเพื่อนบ้านที่คล้ายจะทำให้เรากลายเป็นบ้าตามได้ทุกเมื่อ
อาจกล่าวได้ว่าความโหดเหี้ยมที่แท้อาจเป็นความเหลื่อมล้ำที่กำลังหลอกหลอนผู้คนในมหานครของเกาหลี เช่นที่ครอบครัวตระกูลคิมของ คิม กีวู ในเรื่อง Parasite (2019, Bong Joon-ho) ที่ต้องทนอาศัยอยู่ในห้องเช่าอันเหม็นอับของชั้นใต้ดิน ที่ซึ่งเมื่อฝนตกหนัก น้ำก็ท่วมเข้ามาประหนึ่งคลื่นสึนามิ หรือใน Burning (2018, Lee Chang-dong) ที่ตัวละครหญิงอย่าง ชิน แฮมี พยายามทุกวิถีทางเพื่อให้ตัวเองหลุดพ้นจากชีวิตในห้องเช่ารูหนู
หนึ่งในพิษของการเป็นผู้เช่าแห่งโลกวรรณกรรมที่ประทับอยู่ในความทรงจำเรานานที่สุดเห็นจะเป็นบทละคร The Misunderstanding (Le Malentendu) ที่ อัลแบร์ กามูส์ (Albert Camus) เขียนในปี 1943
มาร์ธาและแม่เปิดเกสต์เฮาส์ในเมืองเล็กๆ เมืองหนึ่งบังหน้า หากธุรกิจเบื้องหลังของครอบครัวนี้คือการฆ่าแขกที่มาเข้าพักเพื่อชิงทรัพย์สินของเหยื่อไปเป็นของตัว ทั้งคู่ฝันว่าวันหนึ่งจะเก็บเงินได้มากพอที่จะออกจากเมืองเมืองนี้ กระทั่งถึงวันที่สองแม่ลูกตกลงกันว่าจะฆ่าคนครั้งสุดท้าย ปรากฏว่าแขกที่มาพักคือ ยาน ลูกชายของครอบครัวนี้ที่จากบ้านไปกว่ายี่สิบปี ยานสะสมเงินก้อนโตมาให้แม่ของเขา หากแม่และมาร์ธากลับจำเขาไม่ได้ แทนที่จะแนะนำตัว ยานเลือกจะเซอร์ไพรส์ด้วยการทำเนียนมาเป็นแขก และสุดท้ายก็เป็นเขาที่เซอร์ไพรส์กว่า เมื่อถูกน้องสาวของตัวเองวางยา และเอาร่างของเขาไปโยนลงแม่น้ำ
เรื่องมาจบเอาตรงที่เมื่อแม่และลูกสาวค้นกระเป๋า และพบหนังสือเดินทางที่ระบุตัวตนที่แท้จริงของยาน…
The Misunderstanding ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยโดย อำพรรณ โอตระกูล ในหนังสือรวมสองบทละคร ความเข้าใจผิดและผู้บริสุทธิ์ พิมพ์โดยสำนักพิมพ์สามัญชน โดยก่อนหน้าในปี 1978 เพิ่มพล เชยอรุณ ก็เคยเอาบทละครเรื่องนี้มาทำเป็นภาพยนตร์ชื่อ เมืองในหมอก นำแสดงโดย สรพงษ์ ชาตรี ถือเป็นภาพยนตร์แบบฟิล์มนัวร์เรื่องแรกๆ ของไทย
ในทางกลับกันก็มีภาพยนตร์ที่เล่าถึงแง่งามของการเป็นผู้เช่าและผู้ให้เช่าอยู่หลายเรื่องมากๆ แต่นั่นล่ะ ความที่คอลัมน์นี้ตั้งธงว่าจะเขียนถึงสิ่งที่ไม่น่าอภิรมย์และเคราะห์ซ้ำกรรมซัดในโลกภาพยนตร์ (Film Fatale) การเป็นเจ้าของชั่วคราวในบทความนี้ จึงเป็นพาหะสู่หายนะดังภาพยนตร์และบทละครที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น
แต่เมื่อมองจากมุมส่วนตัว เราคิดว่าการเช่าเขาอยู่ยังคงเป็นประโยชน์มากกว่าเป็นพิษภัย ตราบใดที่เรารู้ว่าจะเช่าไปเพื่ออะไร และคาดคะเนได้ว่าการเช่าจะสิ้นสุดที่ตรงไหน เช่นเดียวกับคนรุ่นใหม่ในขณะนี้ที่พยายามจะลุกขึ้นมาแสดงพลัง โต้แย้งความคิดเชิงปลดปลงต่อการเมืองของอาจารย์ธเนศ ดังประโยคที่ว่า “คุณอย่าคิดอะไรมาก ประเทศนี้ไม่ใช่ของคุณ อยู่ๆ ไปเถอะ คิดซะว่าเช่าเค้า…”
พวกเขาไม่มีความคิดว่าจะต้องเช่าใครอยู่มาตั้งแต่ต้น
ก็ในเมื่อเราต่างรับรู้ว่าในระบอบประชาธิปไตย ประชาชนคือเจ้าของประเทศ เรื่องอะไรที่เราจะต้องลดตัวมาคิดว่าเราเป็นเพียงผู้เช่ากันด้วย