LIBERTÉ, ÉGALITÉ, FRATERNITÉ
บ้างเรียกว่าเขาเป็นนักคิดผู้สับสนย้อนแย้ง บ้างกล่าวว่าเขาคือธารน้ำสายหลักของยุคเรืองปัญญา (Enlightenment Period) และบ้างเปรียบเปรยว่าหนังสือของเขาคือ คัมภีร์ไบเบิลแห่งการปฏิวัติฝรั่งเศส ปี 1789
เรื่อง: สุทธิพัฒน์ กนิษฐกุล
ภาพ: NJORVKS
ถ้าหากนึกถึงหนึ่งในหนังสือที่มีพลังเพียงพอจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับยุคสมัย ชื่อของ ฌอง-ฌากส์ รุสโซ (Jean-Jacques Rousseau) และหนังสือ สัญญาประชาคม (Du Contrat Social) น่าจะเป็นชื่อหนึ่งที่หลายคนยอมรับ
กล่าวในภาพรวม หนังสือ สัญญาประชาคม ของรุสโซทำให้ประชาชนฝรั่งเศสเปลี่ยนแปลงความคิดเกี่ยวกับระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และหันมาตระหนักถึงอำนาจในฐานะประชาชนคนหนึ่ง และแม้ว่า สัญญาประชาคม จะไม่ใช่หนังสือเพียงเล่มเดียวที่นำไปสู่การปฏิวัติฝรั่งเศส ปี 1789 แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลักการ ‘เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ’ กับแนวคิดใน สัญญาประชาคม มีความเกี่ยวโยงกัน อย่างน้อยก็ในฐานะสายธารความคิดหนึ่ง
1
ฌอง-ฌากส์ รุสโซ
พลเมืองแห่งเจนีวา
ฌอง-ฌากส์ รุสโซ เกิดและเติบโตในเมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เมื่อปี 1712 แม่ของเขาเสียชีวิตไม่กี่วันหลังเขาเกิด และเมื่อรุสโซอายุได้ 10 ขวบ พ่อของเขาก็มีเรื่องชกต่อยกับนายทหาร จนเป็นเหตุให้ต้องหนีออกจากเจนีวา ทำให้เขาต้องย้ายไปพักอาศัยกับลุงและป้าตั้งแต่นั้น
เมื่ออายุได้ 16 ปี รุสโซเริ่มออกเดินทางรอนแรมไปทั่วยุโรป ตั้งแต่อิตาลี ฝรั่งเศส กลับมาสวิตเซอร์แลนด์อีกครั้ง และก็ไปอังกฤษ เขาใช้เวลาเรียนรู้ผ่านการอ่านหนังสือด้วยตัวเอง ยังชีพด้วยการรับจ้างเป็นเสมียน ครูสอนหนังสือ และเล่นดนตรี
รุสโซนับว่าหล่อเหลาและมีเสน่ห์ เขาคบหากับผู้หญิงหลายคนตลอดช่วงชีวิต รวมถึงได้รับความสนใจจากเพื่อนนักคิดหลายคนในยุคเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น เดวิด ฮูม (David Hume) นักปรัชญาชาวสกอตแลนด์ หรือ เดอนีส์ ดิเดอโรต์ (Denis Diderot) และกลุ่มเพื่อนนักปรัชญาที่ร่วมกันจัดทำ Encyclopédie สารานุกรมอันทรงอิทธิพลในยุคเรืองปัญญา
ในปี 1762 หนังสือสองเล่มที่สำคัญที่สุดของเขาก็ได้รับการตีพิมพ์ ได้แก่ สัญญาประชาคม และ เอมีล หรือว่าด้วยการศึกษา (Émile ou De l’éducation) ซึ่งเสนอว่าธรรมชาติเป็นครูที่ดีที่สุด อีกทั้งเด็กควรเรียนรู้และเติบโตขึ้นด้วยประสบการณ์ มากกว่าถูกระบบการศึกษากล่อมเกลาให้โตเป็นผู้ใหญ่แบบเดียวกันหมด และเด็กควรได้รับการศึกษาที่เหมาะสมกับวัย เช่น เด็กอายุ 7 ขวบควรออกไปวิ่งเล่นกลางแสงแดด มากกว่าเรียนภาษาละติน หรืออ่านปกรณัมโบราณเนื้อหาเข้มข้น
จึงอาจพูดได้ว่าแนวคิดทางการศึกษาใน เอมีล หรือว่าด้วยการศึกษา ก็มีความคล้ายคลึงกับระบบการศึกษาในปัจจุบัน ที่มองเด็กเป็นศูนย์กลาง มากกว่าครูผู้สอนอยู่เหมือนกัน
และแม้หนังสือทั้งสองเล่มจะเตะตาสาธารณชนเป็นวงกว้าง แต่อีกด้านหนึ่ง มันกลับไม่เข้าตาผู้มีอำนาจในเวลานั้นเสียเท่าไร
ภายหลังจากหนังสือทั้งสองเล่มได้รับการตีพิมพ์ รุสโซถูกประณามจากทางการปารีสและเจนีวา รวมถึงถูกออกหมายจับข้อหาหมิ่นศาสนาและถูกตราหน้าว่าเป็นคนที่ไม่เชื่อในพระเจ้า เพราะข้อความหนึ่งในหนังสือ สัญญาประชาคม ที่ว่า
“…หัวใจสำคัญของศาสนาคริสต์ที่แท้จริงคือการสอนให้มนุษย์ทุกคนเป็นพี่น้องกันภายใต้พระผู้สร้างองค์เดียวกัน แต่ศาสนาคริสต์ทุกวันนี้กลับสอนถึงแต่เรื่องความศักดิ์สิทธิ์ ความยิ่งใหญ่ของศาสนา…”
หลังจากนั้น ทางการเจนีวาได้ประกาศเผาหนังสือทั้งสองเล่มของเขาทิ้งทั้งหมด และยังยกเลิกความเป็นพลเมืองของรุสโซ ทำให้เขาต้องจำใจออกเดินทางอีกครั้ง
ชีวิตในบั้นปลายของรุสโซน่าอดสู เขาอาศัยอยู่ในกระท่อมหลังน้อยชานเมืองปารีส เพื่อหลบซ่อนจากทางการ หาเลี้ยงปากท้องด้วยการคัดโน้ตเพลงขาย ก่อนเสียชีวิตในปี 1778
2
สละเสรีภาพสูงสุด เพื่อยึดมั่นในเจตจำนงร่วม
สำหรับรุสโซ ในสภาวะธรรมชาติ มนุษย์เกิดมาพร้อมพรจากพระผู้เป็นเจ้าคือ ‘เสรีภาพ’
กล่าวคือ ก่อนที่มนุษย์จะรวมตัวกันเป็นสังคม มนุษย์เป็นอิสระเสรีจากทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีระบบสังคม ไม่มีสถาบันครอบครัว ไม่มีความรัก และธรรมชาติของมนุษย์ตามวิถีแบบนั้นคือ เป็นคนดี ไม่โลภ และรักสงบ แต่ต่อมา ชีวิตมีความท้าทายมากขึ้น มนุษย์ไม่สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้โดยลำพัง พวกเขาจึงสละอำนาจส่วนตน เพื่อมาอาศัยอยู่ร่วมกันในสังคม ก่อนพัฒนาเป็นรัฐในเวลาต่อมา
นำไปสู่คำถามถัดไปว่า จะรับประกันได้อย่างไร ว่ารัฐจะทำให้ทุกคนได้ประโยชน์โดยเท่ากัน?
รุสโซกล่าวถึงปัญหานี้ว่า ถ้าทุกคนไม่หวงแหนหรือยกอำนาจให้ใครเป็นพิเศษ แต่เลือกมอบให้แก่ส่วนรวม จะนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า ‘เจตจำนงร่วม’ ซึ่งจะเป็นเข็มทิศนำสังคมไปสู่ทิศทางที่ทุกคนได้ประโยชน์อย่างแท้จริงและเท่าเทียม เป็นสัญญาประชาคมอันสมบูรณ์ในความคิดของเขา
ดังที่เขากล่าวว่า “เราแต่ละคนนำตัวเองและพลังทั้งหมดของตน มารวมกันไว้ภายใต้ทิศทางสูงสุดแห่งเจตจำนงร่วมกัน และในฐานะที่เป็นองค์คณะ เราต้อนรับสมาชิกแต่ละคนในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งอันแบ่งแยกไม่ได้ของส่วนทั้งหมด”
3
กฎหมายต้องถูกรับรองด้วยเจตจำนงร่วม
ในสภาวะธรรมชาติ ความยุติธรรมเป็นของพระผู้เป็นเจ้า แต่ในระบบสังคมย่อมต่างออกไป จึงต้องมีกฎหมายที่เป็นธรรมและเป็นกลาง เพื่อสร้างความยุติธรรมในสังคม
แต่คำถามตามมาย่อมไม่พ้นว่า แล้วกฎหมายจะเป็นธรรมได้อย่างไร?
รุสโซมองว่ากฏหมายที่เป็นธรรมในสังคมหนึ่งจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อได้รับการยินยอมจากเจตนำนงร่วมเท่านั้น
เขาไม่ได้หมายความว่า ทุกคนในสังคมต้องมาจับเข่าคุยและร่วมกันเขียนกฎหมาย ตรงกันข้าม เพราะรุสโซมองว่า ผู้ที่จะร่างกฎหมายควรเป็นอัจฉริยะ หรือผู้เที่ยงธรรมอันเหนือกว่าเสียด้วยซ้ำ เหมือนที่เขากล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า
“ภายในรัฐ ผู้บัญญัติกฎหมายต้องเป็นคนไม่ธรรมดาในทุกด้าน ถ้าเขาเป็นเช่นนี้ด้วยความเป็นอัจฉริยะ เขาก็ต้องเป็นเช่นนี้ด้วยการทำหน้าที่ไม่น้อยกว่ากัน หน้าที่ของเขาไม่ใช่การบริหารราชการ และไม่ใช่การใช้อำนาจอธิปไตย ภาระหน้าที่ในการสร้างสาธารณรัฐนี้ไม่ได้อยู่ในโครงสร้างสาธารณรัฐเลย นี่คือหน้าที่เฉพาะและสูงส่งซึ่งไม่มีสิ่งใดเสมอในอาณาจักรมนุษย์”
แต่ไม่ว่าใครจะเป็นสถาปนิกผู้ออกแบบกฎหมาย รุสโซเสนอว่า ควรต้องผ่านการลงมติอย่างเสรีของคนในรัฐเสียก่อน เพื่อรับประกันถึงความเท่าเทียม เป็นธรรม และไม่ริดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน
เขากล่าวว่า “ผู้ร่างกฎหมายจึงไม่มีหรือต้องไม่มีสิทธิใดๆ ในการบัญญัติกฎหมาย และประชาชนเองก็ไม่สามารถลิดรอนสิทธิอันถ่ายโอนไม่ได้ของตนนี้ แม้จะยินดียกให้ก็ตาม เพราะโดยพื้นฐานแล้ว มีแต่เจตจำนงร่วมเท่านั้นที่ผูกมัดบุคคลได้ และเราไม่เคยแน่ใจว่าเจตจำนงร่วมจะสอดคล้องกับเจตจำนงเฉพาะ จนกว่าจะได้ผ่านการลงมติอย่างเสรีโดยประชาชน”
ดังนั้น สำหรับรุสโซ กฎหมายที่ออกโดยบุคคล หรือคณะใดคณะเดียว โดยไม่ได้รับการยอมรับจากเจตจำนงร่วม จึงไม่ใช่กฎหมาย และไม่มีอำนาจบังคับคนในสังคมให้ต้องยึดปฏิบัติตาม
4
รัฐบาลเป็นลูกจ้าง หาใช่เจ้านาย
รุสโซให้ความเห็นถึงอำนาจบริหาร หรือที่เขาใช้คำว่า ‘รัฐบาล’ ไว้ว่า เป็นอำนาจที่ประชาชนในรัฐมอบหมายให้แก่บุคคลหรือคณะใดคณะหนึ่ง เพื่อให้พวกเขาตอบสนองผลประโยชน์ของเจตจำนงร่วม
และเมื่อแต่ละคนมาอยู่ในรัฐด้วยความสมัครใจ ไม่ใช่เพราะเป็นแต่เกิด ถูกบังคับ หรือความเมตตา ทุกคนจึงมีสิทธิชอบธรรมในการมอบและริบคืนอำนาจอยู่เสมอ
หรือกล่าวได้ว่า เมื่อรัฐบาลไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ หรือตอบสนองผลประโยชน์ส่วนตนมากเกินกว่าส่วนรวม ประชาชนย่อมมีความชอบธรรมที่จะริบอำนาจคืนมา เหมือนที่รุสโซเขียนเอาไว้ว่า
“ผู้ที่ยืนยันว่าลักษณะที่ประชาชนศิโรราบต่อเหล่าผู้นำนั้นไม่ใช่สัญญา พูดถูกอย่างยิ่ง เพราะมันเป็นเพียงการมอบหน้าที่ เป็นแค่การจ้างงานเท่านั้น ผู้ปกครองเป็นแค่เจ้าหน้าที่ที่บริหารอำนาจของรัฏฐาธิปัตย์ เป็นอำนาจที่รัฏฐาธิปัตย์ฝากไว้ ซึ่งสามารถถูกกำจัด ปรับเปลี่ยน หรือเอาคืนเมื่อไรก็ได้ที่รัฏฐาธิปัตย์ไม่พอใจ”
หรือถ้าพูดให้ร่วมสมัยอาจกล่าวได้ว่า ประชาชนคือเจ้าของประเทศ หาใช่บุคคลใดบุคคลหนึ่งอย่างที่พูดกัน
5
หากยอมรักสบายมากกว่าเสรีภาพ
รุสโซชี้ไว้ในบทหนึ่งของ สัญญาประชาคม ว่า ธรรมชาติของรัฐบาลหรือผู้ปกครองมักจะพยายามยื้อรั้งอำนาจที่ตนได้รับไว้ให้นานที่สุด ฉะนั้น ประชาชนต้องตระหนักและรู้เท่าทันอยู่เสมอ และหมั่นตั้งคำถามกับตัวเองสองข้อ ดังนี้
ข้อหนึ่ง พอใจกับผู้มีอำนาจปกครองปัจจุบันหรือไม่
ข้อสอง พึงใจกับรูปแบบของรัฐบาลปัจจุบันหรือไม่
หากไม่พอใจ รุสโซมองว่าประชาชนย่อมมีสิทธิที่จะทำการชุมนุม เพื่อหาคำตอบในสองคำถามข้างต้นได้อยู่เสมอและโดยชอบธรรม เพราะอย่างที่เราย้ำเสมอว่า ประชาชนมาอยู่ภายใต้รัฐโดยสมัครใจ ยอมสละอำนาจของตนให้แก่เจตจำนงร่วมของสังคม ดังนั้น มันอธิบายในตัวเองแล้วว่า เราทุกคนมีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะกำหนดความเป็นไปต่างๆ ของรัฐและประเทศ
แต่รุสโซไม่ลืมเตือนพวกเราว่า ด้วยความหวาดเกรงอำนาจสูงสุดที่แท้จริง เหล่าผู้มีอำนาจจะพยายามสกัดกั้นทุกวิถี และทำลายความชอบธรรมของการชุมนุมทุกกระบวนท่า เช่นนั้น หากประชาชนสู้ไม่พอ หรือหวาดเกรง ยุติการชุมนุมไปก่อน ก็คงกลายเป็นเช่นที่รุสโซกล่าวไว้ว่า
“ถ้าประชาชนโลภ คร้านขลาด รักความสบายมากกว่าเสรีภาพ พวกเขาก็ไม่อาจยืนหยัดต้านแรงกดดันจากรัฐบาลได้นาน แรงต้านยิ่งทวีขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดอำนาจอธิปไตยก็สูญสลาย และเมืองส่วนใหญ่ก็ล่วงสู่การแตกดับก่อนกาล”
6
ศาสดาของจาโคแบง
หากจะเอ่ยถึงรุสโซและการปฏิวัติฝรั่งเศสแล้ว กลุ่มการเมืองกลุ่มหนึ่งที่ไม่เอ่ยถึงไม่ได้เลยคือ ‘กลุ่มจาโคแบง’ (Jacobin)
จาโคแบงเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองหัวรุนแรง ที่มุ่งโค่นล้มราชวงศ์บูร์บงที่ปกครองฝรั่งเศสตั้งแต่ ค.ศ.1589-1792 (การปฏิวัติฝรั่งเศส) นำโดย มักซิมิเลียน ฟรังซัวส์ มารี อิซาดอเร เดอ โรเบสปิแอร์ (Maximilien François Marie Isidore de Robespierre) นักกฎหมายหนุ่มอนาคตไกล และผู้เลื่อมใสในหลักการแนวคิดของ วอลแตร์ (Voltaire) มองแตสกิเออร์ (Montesquieu) และรุสโซ ที่โรเบสปิแอร์ยกให้บุคคลเหล่านี้เป็น ‘ผู้เหนือโลก’ (Divine)
พวกเขาเป็นผู้นำในการปล้นคุกบาสตีล์ (Prise de la Bastille) ในเดือนกรกฎาคม ปี 1789 ก่อนจะจัดตั้งคณะผู้ปกครองในชื่อว่า สมัชชาแห่งชาติ และประกาศคำขวัญอันลือลั่นว่า ‘เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ’ ในเดือนถัดมา ก่อนนำไปสู่การหักโค่นสถาบันกษัตริย์ในที่สุด
ภายหลังราชวงศ์ถูกโค่นล้ม อิทธิพลของรุสโซลอยฟุ้งคลุ้งมากขึ้นในสังคมฝรั่งเศส โดย อีริก ธอมป์สัน (Eric Thompson) กล่าวไว้ในหนังสือ Popular Sovereignty and the French Constituent Assembly (1789-1791) ว่า “มัน (วาทกรรมเจตจำนงร่วม) ถูกผลิตซ้ำอย่างไม่รู้จบ ทั้งในสื่อสิ่งพิมพ์ชนิดต่างๆ การโต้เถียงในสมัชชาแห่งชาติ ถูกอ้างอย่างสม่ำเสมอในที่ประชุมกลุ่มจาโคแบง และกระจายต่อๆ กันไปอีกมากจนทั่วประเทศ”
เรายังเห็นได้อีกว่า ในคำประกาศของสมัชชาแห่งชาติ ซึ่งถูกแต่งตั้งขึ้นหลังการปฏิวัติมีการอ้างถึงแนวคิดของรุสโซไว้ว่า “ตัวแทนและผู้มีสิทธิตีความเจตจำนงร่วม ต้องอยู่ในมือสมัชชาแห่งชาติเท่านั้น” นอกจากนี้ ยังถูกนำมาบรรจุไว้ในคำประกาศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและพลเมือง (Declaration of the Rights of Man and of the Citizen) ว่า “กฎหมายฉบับนี้เป็นตัวแทนของเจตจำนงร่วม” เช่นกัน
และอาจไม่เกี่ยวนัก แต่อยากขอแวะเล่าเสียหน่อย เพราะมีเรื่องเล่ากันว่า ภายหลังที่คมมีดของกิโยตินถูกปล่อยลงมาบั่นพระเศียรของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 มวลชนซึ่งมารอชมการประหารชีวิตก็ได้โห่ร้องคำว่า “Vive la République! (สาธารณรัฐจงเจริญ)” พร้อมๆ กับที่เลือดของอดีตพระเจ้าแผ่นดินหลั่งไหลลงสู่ผืนดิน กลางปลาซ เดอ ลา เรโวลูซิยง (Place de la Révolution) ลานเดียวกับที่ใช้สังหารพระนางมารี อ็องตัวเน็ตต์ (Marie Antoinette) และโรแบสปิแอร์ในภายหลัง
ถึงแม้จะมีหลายฝ่ายมองว่า แนวคิดของรุสโซไม่ได้ถูกนำมาปฏิบัติจริง หากกลุ่มผู้ยึดอำนาจเพียงอ้างถึงแนวคิดของรุสโซเพื่อสร้างฐานอำนาจของตนเท่านั้น แต่เราก็ปฏิเสธจากหลักฐานมากมายไม่ได้ว่า แนวคิดของรุสโซปลุกความฮึกเหิมในฐานะประชาชน และปัจเจกชน จนนำไปสู่การปฏิวัติโค่นล้มราชบัลลังก์ฝรั่งเศส
7
ผลไม้สุกงอม ย่อมพร้อมถูกเด็ดจากต้น
อีกปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การปฏิวัติฝรั่งเศสคือ ตัวสถาบันเองที่เสื่อมถอย ไม่มีการปรับตัว และใช้อำนาจในมืออย่างล้นเกิน
ฝรั่งเศสภายใต้การปกครองของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 พระนางมารี อ็องตัวเน็ตต์ และเหล่าสภาสูง ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มนักบวช และขุนนางนั้น มีอำนาจกำหนดทิศทางของประเทศเหนือกว่าชนชั้นอื่น แต่กลับหาประโยชน์เข้าแต่พวกตน ใช้เงินมือเติบ จนทำให้สภาพเศรษฐกิจของฝรั่งเศสใกล้ล่มสลาย โดยเฉพาะราชสำนักที่ขาดดุลต่อเนื่องหลายปี เพราะหนี้ตกทอดจากผู้ปกครองคนก่อน บวกกับค่าใช้จ่ายส่วนตัวพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เอง ซึ่งว่ากันว่าตัวเขามีทหารรับใช้ถึง 9,050 นาย นักบวชในอุปถัมภ์ 75 คน นักดนตรีอีก 28 คน และข้าราชบริพารสำหรับแต่งพระองค์อีก 195 คน
และทั้งที่รู้ว่าสภาพเศรษฐกิจในประเทศใกล้พังมิพังแหล่ แต่เหล่าคณะผู้ปกครองกลับตัดสินใจประกาศเก็บภาษีจากประชาชนเพิ่มขึ้น เมินเฉยคำแนะนำของขุนคลัง ที่เสนอให้มีการปฏิรูประบบภาษี ลดค่าใช้จ่ายของพระราชสำนัก และเก็บเงินจากองค์กรศาสนากับเหล่าขุนนางให้มากขึ้น
อีกด้านหนึ่ง ความโกรธแค้นก็ถูกเปลี่ยนเป็นงานศิลปะเพื่อท้าทายผู้มีอำนาจ โดยในระหว่างปี 1787-1792 หนังสือที่มีเนื้อหาประณามพฤติกรรมทางเพศชนชั้นสูงจำนวนมากก็ถูกเผยแพร่ในสังคม โดยมีองค์ราชินีเป็นเป้าหลักที่ถูกล้อเลียนมากที่สุด
ในบางเล่ม มีการวาดภาพพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ถอดกางเกงมากองกับพื้น และรูดซิปโชว์พวงองุ่น แต่ราชินีกลับเบือนหน้าหนี พร้อมข้อความอธิบายว่า “ไม่ใหญ่กว่าหลอด อ่อนและคอหักเสมอ มันแทงอะไรไม่ได้ทั้งนั้น ยกเว้นกางเกงตัวเอง และแทนที่มันจะคุมเขา กลับโดนเขาคุมซะเอง” (“no bigger than a straw / always limp and always curved / he has no prick, except in his pocket / instead of fucking, he is fucked.”) ขณะที่อีกเล่มเป็นภาพของราชินีตื้นตันใจในองคชาติอันโต ซึ่งนายพลคนหนึ่งควบมาแทนม้า อีกภาพจำลองฉากในห้องลับซึ่งนิ้วพี่เขยกำลังไต่ไปในกระโปรงฟูฟ่องของราชินี และอีกหลายฉบับก็มีการวาดให้ราชินีเป็นเลสเบี้ยน เช่น ภาพที่ราชินีและพระสหาย ดัชเชสแห่งเพกิญญี (Duches of Pequigny) กำลังถอดเสื้อนัวเนียกันอยู่บนเตียง
ยุคที่ศาสนายังมีอิทธิพลสูงในสังคม ภาพเหล่านี้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง ที่ดึงชนชั้นสูงลงมากเกลือกกลิ้งกับสิ่งชั่วร้าย เพื่อสร้างภาพจำที่เลวร้ายให้เกิดขึ้นทั้งในสังคม ตลอดจนชนชั้นสูงด้วยกันเอง อย่างที่มีเรื่องเล่ากันว่าเด็กหนุ่มคนหนึ่งยืนตะโกนขายหนังสือเล่มเด็ดใต้หน้าต่างห้องบรรทมของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16
ความยากแค้นของประชาชนจากปรากฏการณ์ภัยแล้งในปี 1788 ร่วมกับความโกรธที่สะสม ขับเคลื่อนด้วยสายธารความคิดของรุสโซและนักคิดยุคเรืองปัญญาคนอื่น นำไปสู่การปล้นคุกบาสตีล์ เปิดประตูสู่ยุคแห่งความหวาดกลัว (Reign of Terror) และการใช้กิโยตินสังหารสมาชิกราชวงศ์บูร์บง และผู้มีความเห็นต่างจากกลุ่มปฏิวัติจำนวนมาก
และถึงแม้ต้องใช้เวลาอีกกว่าสองร้อยปี ระบบประชาธิปไตยถึงจะลงหลักปักฐานอย่างมั่นคงในสังคมฝรั่งเศส แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าธารความคิดใน สัญญาประชาคม ของฌอง-ฌากส์ รุสโซ สะท้อนอยู่ในคำขวัญปฏิวัติ ‘เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ’ อันกลายเป็นหลักการพื้นฐานของสังคมและเสรีชนที่นิยมประชาธิปไตยทั่วโลกมาถึงมาถึงปัจจุบัน
อ้างอิง:
ฌอง-ฌากส์ รุสโซ เขียน, วิภาดา กิตติโกวิท แปล, 2555, สัญญาประชาคม หลักแห่งสิทธิทางการเมือง, พิมพ์ครั้งที่ 2
อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ. ฌอง ฌากส์ รุสโซ : ตัวบทต้นธารคนสำคัญแห่งประชาธิปไตย
ศักดา ปรางค์ประทานพร. ความคิดทางการศึกษาของฌอง ฌาคส์ รุสโซ
เอกสารประกอบวิชาปรัชญาการศึกษาเบื้องต้น (EF234) มหาวิทยาลัยรามคำแหง. old-book.ru.ac.th
Richard M. Ebeling. (2016). Economic Ideas: Inflation, Price Controls and Collectivism During the French Revolution
History.com Editors. (2020). French Revolution: Timeline, Causes & Summary – HISTORY
David Lay Williams. (2012). Rousseau and Revolution
Paul Sorene. (2015). La Porn Revolution: The Filthy Sex Propaganda That Destroyed Marie Antoinette