LISTEN TO MUSIC
เงี่ยหูฟัง ‘เพลง’ เล่าถึงที่มาของเพลง หนังสือ และการเดินทางแบบเป็นตัวเองและกันเองสุดๆ
เรื่อง: ชนัดดา ตันนพรัตน์
เผื่อใครยังไม่รู้จักว่า Plastic Plastic คืออะไร เราขออธิบายคร่าวๆ ให้ฟังสักนิดก่อน เตรียมปากกาจดนะ
จริงๆ แล้ว Plastic ก็คือสารอินทรีย์ที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นเพื่อใช้แทนวัสดุธรรมชาติ ยืดหยุ่น น้ำหนักเบา สามารถเปลี่ยนรูปทร…
คนละ Plastic!
…
Plastic Plastic แบบไม่อ้างวิชาการ ไม่อิงหลักวิทยาศาสตร์ คือวงดนตรีแนวอินดี้ป๊อปของสองพี่น้อง ‘ปกป้อง’ และ ‘ต้องตา จิตดี’ ที่เริ่มขึ้นเมื่อพวกเขาแต่งเพลงส่งเข้าประกวดกับคลื่นวิทยุ 98.5 Good FM (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Goodtime Radio) ในปี 2554 แล้วได้รางวัลชนะเลิศ! จากนั้นก็ถูกชักชวนไปทำเพลงอยู่ภายใต้สังกัด Believe Records ก่อนจะออกมาเดินทางในนามศิลปินอิสระตอนปี 2559 และอยู่บ้านแต่งเพลงจนมีอัลบั้มเต็มอัลบั้มแรกอย่าง Stay at Home
สองปีผ่านไปไวเหมือนโกหก พวกเขาย้ายเข้าบ้านหลังใหม่ชื่อ What The Duck พร้อมเปิดตัวด้วยเพลง Summer Hibernation ซิงเกิลจากอัลบั้ม EP Anything Gones และเมื่อไม่นานนี้พวกเขาก็เพิ่งปล่อยอัลบั้ม EP ห้าบทเพลงรสชาติหวานเปรี้ยวอมขมอย่าง Mojito ให้แฟนๆ หายคิดถึงอีกครั้ง
นอกจากดนตรีที่โดดเด่น และเป็นเอกลักษณ์เมื่อแรกได้ยิน อีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยคอนเฟิร์มว่านี่คือเพลงของทั้งคู่ คงหนีไม่พ้นเนื้อเพลง ซึ่งอารมณ์ดี ฟังง่าย สบาย เหมือนหยิบบันทึกประจำวันมาใส่ไว้ยังไงยังงั้น
ยกตัวอย่างเช่น “ไม่เข้าใจ ฉันหยิบแฮมเป็นแผ่นที่หก” ที่ฟังแล้วอยากลุกไปหยิบแฮมกินบ้าง
“เปิดประตูให้ฉันที ไม่รู้วันนี้กุญแจหล่นไปรึเปล่า” ที่พอจบท่อนปุ๊บเปิดกระเป๋ารื้อหากุญแจด่วน!
หรือ “ดูเธอ ดูทำหน้าตา ดูเธอโกรธเรื่องไหนมา หัวร้อนเหลือเกินนะเธอ” ที่ได้ยินเสียงร้องแล้วรู้สึกเย็นใจขึ้นหนึ่งระดับ
และถ้าเลื่อนดูเครดิตด้านล่างเอ็มวีแต่ละตัว ก็จะพบว่า Lyrics by ระบุชื่อ ‘ต้องตา จิตดี’ ไว้ในฐานะเจ้าของถ้อยคำ และประโยครื่นหูเหล่านั้น
เมื่อเนื้อเพลงดูจะเป็นเหตุสังเกตได้ เราจึงตามไปคุ้ยข้อมูลของเธอต่อ อ้าว เธอเขียนหนังสือ เธอมีเพจท่องเที่ยวชื่อ Sunshine is Over Me อีก แน่ล่ะ เราตามอ่านหนังสือ และเพจของเธอเป็นลำดับต่อมา ปรากฏว่าก็อ่านลื่น เล่าเพลินไม่ต่างไปจากเพลงสักนิด!
อะไรทำให้เธอถ่ายทอดเรื่องราวออกมาได้เข้าใจง่าย แถมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวขนาดนี้ ความอยากรู้ (อยากเห็น) ทวีคูณ ระหว่างทางที่เดินทางมุ่งหน้าไปบ้านเธอย่านสมุทรปราการ เพื่อสานบทสนทนาถึงเรื่องเพลงที่เธอทำ หนังสือที่เขียน และการเดินทางของเธอ เราเลยเปิดเพลงของ Plastic Plastic ฟัง หวังบิลด์อารมณ์สักหน่อย
เพราะงั้นก่อนที่คุณจะไปฟัง ‘เพลง’ เล่าว่าทำอะไร ที่ไหน อย่างไร อนุญาตให้ใส่หูฟัง เปิดเพลงจากอัลบั้ม Mojito บิลด์ไปด้วยก็ได้ เริ่ม!
Playing Now
คุณกำลังฟังเพลงอยู่ขณะนี้
Music: เพลง (3.34)
Lyrics by Tongta Jitdee
Arranged by Chanatda Tannopparat
Produced by CONT.
เพลงเริ่มทำเพลงตั้งแต่ตอนไหน
ด้วยความที่พ่อกับแม่ชอบดนตรี เราเลยได้เรียนเปียโนตั้งแต่เด็กๆ ซึ่งพี่ป้อง (ปกป้อง จิตดี) ก็เล่นดนตรี ทำเพลงเหมือนกัน เท่าที่จำความได้เราลองแต่งเพลงเองตั้งแต่ประถม และไปประกวดร้องเพลงตามเวทีต่างๆ ตอน ม.1 เราแต่งเพลงไว้ ก็ได้พี่ป้องมาช่วยทำเพลง เราก็ส่งไปประกวด (เวที NetDesign Love Songs Contest) ตอนนั้นชื่อเพลงแบบ โทรหากันหน่อย (หัวเราะ) ซึ่งมันก็ดูเป็นเพลงแรกของเราเหมือนกันนะ
พอเข้ามหาวิทยาลัย เราก็เลือกเรียนดนตรีโดยตรงที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาดุริยางคศิลป์ จุฬาฯ ช่วงปี 1 เลยชวนพี่ป้องแต่งเพลงส่งประกวดกับ 98.5 Good FM จนเกิดเป็น Plastic Plastic ตั้งแต่นั้น
พอมาทำเพลงด้วยกัน ทั้งคู่แยกส่วนในการทำงานยังไง
เราจะดูเรื่องเนื้อเพลงกับคอร์ดในเพลง ส่วนพี่ป้องจะคิดเมโลดี้ เรียบเรียง (arrange) และโปรดิวซ์เป็นหลัก แต่ไม่ใช่ว่าเราไปยุ่งส่วนของพี่ป้องไม่ได้ หรือพี่ป้องมายุ่งส่วนของเราไม่ได้ บางทีเราจะเป็นคนเริ่มเนื้อก่อน เขาก็มาช่วยดูด้วย ถ้าพี่ป้องไม่ชอบอันไหนก็จะบอก ก็เปลี่ยน หรือบางทีเราก็คิดเมโลดี้ เราอยากจะเติมตรงไหนในส่วน arrange ก็ทำได้
งั้นถ้าจะแต่งเพลงสักเพลง ต้องเริ่มจากใครก่อน
จริงๆ ก็แล้วแต่คนนะ บางคนเขียนก่อนแล้วค่อยไปใส่เมโลดี้หรือทำนอง อย่างพี่ปอ (กฤษสรัญ จ้องสุวรรณ) Whal & Dolph เขาจะขึ้นมาสองอย่างพร้อมกัน
แต่สำหรับเรา การแต่งเพลงมันคือทีละท่อนเลย พี่ป้องจะคิดเมโลดี้มาก่อน แล้วเราจะจับคำใส่เข้าไป เช่น ดื๊อ ดือ ดื๊อ ดื่อ ดือ ดื๊อ ดือ เราก็เติมเนื้อ ฉันหยิบแฮมเป็นแผ่นที่หก ใส่ทีหลัง ซึ่งบางทีในหนึ่งท่อนมีได้แค่สี่คำ เราก็ต้องเลือกใส่แค่สี่คำ ความหมายต้องได้ด้วย ถ้าเราอยากพูดว่า ‘ฉันอยากไปเที่ยว’ แต่เมโลดี้ของพี่ป้องมา ดื๊อ ดือ ดือ ดื่อ เราจะ ฉันอยากไป๊เทียว ก็ไม่ได้ มันก็จะเหน่อเลย (หัวเราะ) เราก็ต้องเปลี่ยนคำในประโยค ไม่ใช้คำว่าเที่ยว แต่หาคำอื่นที่เสียงมันเข้ากว่า เป็น ฉันจะพาไป ก็ได้
เราเขียนเพลงเล่าเรื่องชีวิตประจำวันได้เลยเหรอ
ได้! (หัวเราะ) เนื้อเพลงเราส่วนใหญ่เป็นเรื่องรอบๆ ตัว เพราะเราใช้ชีวิตอยู่บ้าน อยู่กับเพื่อน อยู่กับการเดินทาง อยู่กับเรื่องเหล่านี้มากกว่า เราก็จะเขียนเกี่ยวกับมันเยอะ วันหนึ่งเราหากุญแจบ้านไม่เจอ หรือแค่หยิบแฮมกินก็เอาไปเขียน
เราเป็นคนชอบจดไดอารี่อยู่แล้ว แต่ไม่ได้พกติดตัวหรือเขียนทุกวันนะ วันนั้นมีโมเมนต์อะไรที่ชอบ เราก็จดมันไว้ วันนี้เพื่อนมาทำงานที่บ้านแล้วสนุก ไปดูคอนเสิร์ตแล้วแฮปปี้ หรือไปเที่ยวอังกฤษแล้วเจอเพื่อนก็จดไว้ พอตอนจะเขียนเพลงนอกจากนั่งนึกเราก็จะมาเปิดไดอารี่อ่าน เลยได้หยิบอะไรในนั้นมาใส่ตลอด อย่างเพลง The Trip คือแทบจะเขียนตามสิ่งที่เราจดไว้ในไดอารี่เลย หรือเพลง Last Weekend เราก็เขียนขึ้นจากตอนไปเรียนต่อที่อังกฤษ
เพลงชอบฟังเพลงแนวไหน ส่งผลต่อการทำเพลงด้วยหรือเปล่า
ช่วงก่อนหน้านี้เราชอบอิเล็กทรอนิกส์นะ แต่เริ่มรู้สึกว่าความชอบก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตอนนี้เราชอบเพลงที่ใช้เครื่องดนตรีน้อยๆ หรือใช้เสียงของเครื่องดนตรีจริง มันเพราะด้วยตัวมันเอง ยกตัวอย่างเพลงของ เบนนี ซิง (Benny Sing ศิลปินป๊อปชาวดัตช์ที่นิยมใช้เสียงเปียโนและกีตาร์) เพลงของเขาจะเป็นเสียงเปียโนวินเทจเก่าๆ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจในการทำอัลบั้มใหม่ที่เราอยากให้ใช้เครื่องดนตรีน้อยลงตาม มีแค่เปียโน กลอง เบส จบ ไม่มีอย่างอื่นแล้ว ยิ่งน้อยยิ่งฟินเลยตอนนี้ (หัวเราะ)
อัลบั้มล่าสุดฟินยังไง
เราเขียนเรื่องที่ขมขึ้น ทั้งเนื้อร้องและดนตรี มันไม่ได้หวานไปหมดเหมือนแต่ก่อน ครั้งนี้มีความซู่ซ่า เหมือนเราเติบโตขึ้น ความชอบเราก็เปลี่ยนไปด้วย อย่างที่บอกว่าเราไม่ค่อยแต่งแนวดาร์ก แต่ในอัลบั้มใหม่มันมีไง เพลง กลิ่นดอกไม้ เราแต่งเพลงให้หมาที่ตายไป มันดาร์กมากสำหรับเรา ตอนทำก็คุยกับพี่ป้องว่า มันเศร้าไปเปล่าวะ ฟังแล้วจะร้องไห้ ขนาดพี่ป้องฟังยังซึมเลย
สุดท้ายเราก็ทำใจไม่ได้ที่จะปล่อยให้เพลงเราซึม ดาร์ก หรือดำดิ่งลงไปในมหาสมุทรขนาดนั้นได้จริงๆ เราเลยใส่เสียงสตริงไวโอลินหลายๆ ตัวเข้าไป เนื้อหาอาจจะเศร้า แต่เราใช้ดนตรีช่วย เล่นให้เพลงมันสว่างขึ้น
เราว่าสิ่งที่มันเป็น Plastic Plastic คือความอารมณ์ดี ความเรียบง่าย มีกิมมิกบางอย่าง มีความเล่นๆ ไม่จริงจัง ขี้เล่น ถึงจะเป็นเพลงที่ดาร์กที่สุด สุดท้ายก็จะมีลูกเล่นอะไรสักอย่าง
ดูเหมือนจะมีเรื่องของตัวเองอยู่ในเพลงทั้งนั้นเลย แล้วเพลงไหนที่เป็นเพลงที่สุด
เราเป็นตัวเองทุกเพลง (หัวเราะ) ถ้าเอาอัลบั้มล่าสุดน่าจะเป็นเพลง ร้อน เห็นเราแบบนี้ เราก็เป็นคนหัวร้อนเหมือนกัน เพลงนี้มันเกิดจากอาการหัวร้อนเพราะเล่นเกม Mario Kart (เกมแข่งรถจากประเทศญี่ปุ่น) ซึ่งจะแข่งกับคนต่างประเทศด้วย พอเราจะเข้าเส้นชัยเป็นที่หนึ่ง แม่งมีคนปล่อยเต่า (อาวุธในเกมที่จะทำให้รถคู่แข่งช้าลง) ใส่เรา แบบหัวร้อนจริง ตะโกนลั่นบ้าน โว้ยยยยยยยยยย เราด่ายับเลย แม่ก็ด่า
ด่าคนในเกม?
เปล่า ด่าเราเนี่ย ตะโกนโวยวายเสียงดังทำไม (หัวเราะ)
แล้วมีเพลงไหนที่ลดหรือใส่ความเป็นตัวเองน้อยลงกว่าปกติบ้างมั้ย
เรารู้สึกว่าเราไม่ลดเลย (หัวเราะ) แต่ถ้าเราแต่งเพลงโฆษณา คือเขาจะบรีฟมาเลยว่าอยากได้ความหมายแบบนี้ เราก็ต้องตามนั้น หรือแต่งเพลงให้คนอื่น อย่างเพลงของ Scrubb เราต้องนึกถึงพี่เมื่อย (ธวัชพนธ์ วงศ์บุญศิริ) ด้วยว่า เขาร้องออกมาจะเป็นยังไง ถ้าแต่งเพลง หรือเขียนหนังสือของตัวเองเราไม่สนใจเลย เราจะเอาแบบนี้ เราจะเป็นเราแบบนี้
ขอกดพอสเรื่องเพลงสักครู่ เราอยากรู้แล้วว่าจากเขียนเพลง อยู่ๆ ไปเขียนหนังสือได้ยังไง
ลึกๆ แล้วน่าจะเริ่มจากตอนที่เราอ่านหนังสือ I Roam Alone Thai-Siberia issue ของ มิ้นท์ I Roam Alone ซึ่งตอนนั้นเรารู้สึกว่าเขาเป็นคนแรกๆ ที่เริ่มเดินทางด้วยรถไฟทรานส์-ไซบีเรียในช่วงที่ยังไม่มีใครรู้จัก หรือไม่ค่อยมีใครไป เป็นหนึ่งในหนังสือที่ทำให้เราอยากออกเดินทางและเขียนบ้าง
ตอนปี 2557 เราไปเรียนภาษาที่ EC Brighton ประเทศอังกฤษสี่เดือน ซึ่งทริปนั้นเราประทับใจมาก นอกจากกลับมาแต่งเพลง Last Weekend แล้ว เราก็ยังรู้สึกมูฟออนจากมันไม่ได้ อยากเล่าความประทับใจนั้นต่อ ก็เลยค่อยๆ จด เขียนบรรยายเรื่องราวเหมือนหนังสือบันทึกท่องเที่ยวที่เราเคยอ่านระหว่างเขียนไปเรื่อยๆ แล้วช่วงนั้นพี่คุ่น—ปราบดา หยุ่น มาสัมภาษณ์เราพอดี มีคำถามหนึ่งเขาถามเราว่าเคยนึกอยากทำอย่างอื่นนอกจากดนตรีมั้ย เราก็บอกว่า จริงๆ แอบอยากเขียนหนังสือ ทีนี้เขาก็สนใจ ชวนคุยว่าอยากเขียนอะไร ลองส่งให้เขาดูมั้ย แล้วก็ชวนไปทำหนังสือเลย ทีนี้เป็นฝ่ายเราที่ต้องเขียนให้จบ ไม่ใช่แค่เขียนเล่นแล้ว แถมมีพี่คุ่นเป็น บ.ก.ให้ ซึ่งได้ทีมสำนักพิมพ์ซันเดย์ อาฟเตอร์นูนช่วยดูแลต้นฉบับ จนออกมาเป็นหนังสือเล่มแรกอย่าง Nice to meet me! ประสบการณ์ของเราที่ไบรท์ตัน
หลังจากนั้นเพลงได้ไปต่อกับงานเขียนอีกมั้ย
ไปต่อ ตอนเขียนหนังสือใกล้เสร็จ เราส่งใบสมัครฝึกงาน a team junior พอดี ซึ่งก็ยื่นเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือไปนี่แหละ เพราะอยากพัฒนาการเขียนของตัวเอง แล้วเราก็ผ่านการคัดเลือก เลยได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเขียนเยอะมาก ที่ผ่านมาเราคิดอะไรก็เขียนไปตามนั้น เหมือนไดอารี่ ไม่ได้มีหลักในการเขียนเท่าไหร่ ก็เลยได้รู้ว่า เฮ้ย มันต้องมีเมสเซจ มันไม่ใช่แค่ใส่เรื่องของเรานะ เรื่องของเรามันจะดีกับคนอื่นยังไงด้วย มันลิงก์กับเขายังไง
อีกสองปีต่อมา เราไปเรียนภาษาต่อที่ Southern Lakes English College นิวซีแลนด์อีกห้าเดือน แต่ครั้งนี้เราตั้งใจแต่แรกว่าจะเขียนเป็นหนังสือ ซึ่งในเล่มที่สองอย่าง Once in the Wild เรามีแง่มุมการเขียนที่โตขึ้นจากเล่มแรก จากการฝึกงาน และเราอ่านหนังสือเยอะขึ้น มันก็ช่วยในการเขียนเล่มที่สองของเราด้วย
อย่างเราอ่าน หัวใจนักเขียน ของพี่ม่อน (อุทิศ เหมะมูล) อ่านแล้วก็นึกถึงหนังสือเล่มแรกของตัวเอง รู้สึกเหมือนโดนด่าเลย (หัวเราะ) สิ่งที่เขาเขียนมันเหมือนสอนเราว่า การเขียนที่ดีควรจะเป็นยังไง รวมถึงหนังสือของพี่หนึ่ง (วรพจน์ พันธุ์พงศ์) ซึ่งเราชอบการเขียนของเขามาก จังหวะการเขียนเล่า การเรียบเรียงคำของเขาไม่ปกติ นี่เป็นคำชมนะ คือเขาชอบกลับคำ เอาคำที่เราไม่คิดว่าจะขึ้นต้นได้มาขึ้นต้นก่อน ทำให้เราอ่านไม่เบื่อเลย เขาเล่าชีวิตธรรมดาให้มันน่าค้นหา น่าอ่าน เข้าถึงง่าย และเราก็อยากเล่าแบบนั้นได้บ้าง
เพลงชอบอ่านหนังสือตั้งแต่ตอนไหน
ตั้งแต่เด็กๆ แล้ว เราเริ่มจากหนังสือที่มีภาพเยอะๆ อย่าง Judy Moody เราชอบมาก ซื้อเป็นคอลเลกชั่นเลย ซึ่งจริงๆ เราก็ชอบกระดาษด้วย ชอบสัมผัส ชอบซื้อหนังสือสวยๆ เห็นปกสวยก็ซื้อแล้ว
เราว่าการอ่านของตัวเองก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ และหลากหลายมากนะ เราไม่ได้ชอบอ่านแนวเดียวแล้วไม่อ่านอย่างอื่น ขณะที่ชอบอ่านหนังสือต่างประเทศ เราก็อ่านนิยายแจ่มใสเป็นบ้าเลย เล่มไหนมี May112 และ ลูกชุบ คือซื้อเลย พอเริ่มโตมาอีกสเตปหนึ่งก็จะเริ่มอ่านพ็อกเก็ตบุ๊ก บันทึกประสบการณ์แนวสำนักพิมพ์ a book ถึงตอนนี้ก็หันมาอ่านเรื่องเกี่ยวกับจิตวิทยา เกี่ยวข้องกับชีวิตมากขึ้น
คิดยังไงกับช่วงวัยที่ส่งผลให้การอ่านของตัวเองเปลี่ยนไปเรื่อยๆ
มันแตกต่างกันก็จริงนะ แต่เรารู้สึกว่ารวมๆ แล้วการอ่านมันทำให้เราอยากเปลี่ยนแปลงตัวเองไปในทางที่ดีขึ้นไม่มากก็น้อย อย่างเราเองก็รู้สึกอยากจะทำอะไรบางอย่าง อยากเขียน อยากออกเดินทาง
พอพูดถึงการเดินทาง เป็นไงมาไงถึงไปทำเพจเกี่ยวกับท่องเที่ยวได้
เพจ Sunshine Is Over Me เกิดจากเราชอบเดินทางอยู่แล้ว และเราชอบถ่ายรูป ซึ่งปกติก็จะลงรูปในเฟซบุ๊กส่วนตัวแหละ แต่พอรูปตอนไปเที่ยวมันมีเยอะมากๆ ก็คิดว่าอยากหาพื้นที่ลงรูป บวกกับมีคนชอบมาถามว่า ที่นั่นคือที่ไหน ขอแพลนเที่ยวหน่อยได้มั้ย จะตามไปบ้าง ซึ่งบางทีเราไม่ได้เขียนไว้ดูเองด้วยนะ เราก็มานั่งนึกนั่งเขียนแพลนให้อีกที ก็เลยคิดว่าทำเพจที่บอกแพลนเที่ยวแต่ละทริป และลงรูปเยอะๆ ตามที่ตั้งใจไว้เลยแล้วกัน
คิดว่าทำไมคนมาขอแพลนเยอะขนาดนั้น
เราเป็นโรคว่า ถ้ามันฮิตเราจะไม่ไปมั้ง (หัวเราะ) เวลาแพลนไปเที่ยวครั้งหนึ่ง เราหาข้อมูลทั้งไกด์บุ๊ก Lonely Planet แม็กกาซีนด้วย เราจะอ่านรีวิวของฝรั่งในเว็บไซต์ต่างๆ อีกอย่างเราอ่านหนังสือ Slow Travel: A Movement ซึ่งจะบอกสถานที่เที่ยวของแต่ละประเทศที่มันไม่แมส พอมาเห็นตามหนังสือพวกนี้แล้วเราจะรู้สึกอยากไปค้นหา
การเดินทางของเพลงหน้าตาประมาณไหน
ส่วนตัวชอบเดินป่า ขึ้นเขาเก็บเห็ด แต่ก็พยายามบาลานซ์กับอย่างอื่น เข้าเมืองบ้าง ไปพวกร้านหนังสือ ร้านเครื่องเขียนด้วย อีกอย่างคือเราชอบใช้ Airbnb Experiences (บริการเข้าร่วมกิจกรรมที่ออกแบบโดยคนท้องถิ่น) ให้คนแถวนั้นพาทัวร์แบบโลคอล
อย่างทริปที่ไปเที่ยวฟินแลนด์ เราจองทริปให้คนท้องถิ่นพาเดินขึ้นเขาเก็บเห็ดที่ชานเมืองใกล้ๆ กับเฮลซิงกิ นอกจากเขาจะพาไปที่แมสๆ ด้วยแล้ว มันก็ทำให้เรารู้จักโซนโลคอลของเขา ว่าคนที่นี่เขาทำอะไร ซึ่งคนที่นำทัวร์เรา เขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีงานอดิเรกเก็บเห็ดมา 30 ปี เขาพาเราเดินขึ้นเขาลัดเลาะไปเรื่อยๆ สอนวิธีดูเห็ด ต้องแหวกตรงนี้ดู เห็ดที่กินได้ก็เก็บใส่ตระกร้าไป พอเดินขึ้นไปถึงจุดสูงสุดของภูเขา ก็มีเตาให้ปิ้งอยู่ข้างบน ก็ไปช่วยกันเก็บฟืน หั่นฟืน แล้วก็จุดไฟปิ้งเห็ดกินกันตรงนั้น
ระหว่างการเขียนหนังสือ การเขียนเพลง และการเขียนเพจมีอะไรต่างกันมั้ย
ต่างกันเยอะเลย ถ้าเขียนเพจ เราจะทำเร็วมาก เพราะเราแค่บอกว่า ไปทำอะไร ที่ไหน ที่นี่ดียังไง แต่ถ้าเขียนหนังสือเราต้องตกผลึกเยอะ ต้องการสมาธิ ต้องคิดธีมเรื่อง คำที่เขียนแต่ละประโยค เราต้องคิดมากทุกประโยค ทั้งในแง่สละสลวยและการตีความหมายด้วย ถ้าเป็นเพลงมันยากอีกแบบ มันมีเมโลดี้มาเกี่ยวข้อง ต้องใช้คำที่เข้ากับเมโลดี้ เข้าปากเรา และในขณะเดียวกันมันต้องฟังรู้เรื่องด้วย ฟังแล้วเข้าใจว่าเพลงนี้จะพูดอะไร
แต่เราว่าระหว่างทางมันก็สนุกหมดเลย เราชอบความรู้สึกเวลาที่มันออกมาแล้ว เหมือนว่าคิดมาตั้งนาน คิดมาเป็นชั่วโมงอยู่ๆ ก็คิดออกได้ เราจะแบบ เอ้ย มันมาแล้วว่ะ แต่ถ้าใกล้เดดไลน์ก็จะไม่ค่อยสนุกเท่าไหร่นะ (หัวเราะ)
ทั้งหมดแล้วอะไรที่ชัดเจนในงาน ‘เขียน’ ของเรา
เราว่ามันคืองานที่เราได้รวมทุกอย่างเข้าด้วยกัน ทั้งการเดินทาง การเขียนและดนตรี ซึ่งเราว่าซีน Sunshine is over me ที่เราทำกับ Spacebar Design Studio ตอบความเป็นเราได้ชัดเจนที่สุด เพราะนอกจากจะรวมประสบการณ์การท่องเที่ยวหลายๆ ที่ไว้ เรายังแต่งเพลงเพื่อสื่อถึงความรู้สึกของแต่ละทริปด้วย
ขอลอกคำถามพี่คุ่นมารีรัน ตอนนี้นึกอยากลองทำอย่างอื่นอีกมั้ย
โห ตอนนี้เหรอ ถ้านับทั้งหมดที่เราทำอยู่ ช่วยงานแม่ที่โรงเรียนอนุบาลเทพารักษ์ ทำคอนเทนต์มาร์เกตติ้ง ทำเพจตัวเอง ร้องเพลงประกอบโฆษณา ทำเพลงตัวเอง และแบ็กอัพวงอื่น ตอนนี้อยากลดมากกว่า ไม่อยากทำอะไรเพิ่มเท่าไหร่ (หัวเราะ)
เหมือนเป็นช่วงที่เราต้องเลือกว่าจะตัดอะไรออก เราอยากลดอะไรบางอย่างเพื่อทำอีกอย่างให้ดียิ่งขึ้น
หมายเหตุ: หากต้องการฟังเพลงอีกครั้ง สามารถเลื่อนขึ้นเพื่อ play (read) again