LONG LIVE THE MAD KINGS
สิ่งที่น่าสนใจในการเล่าเรื่อง ‘กษัตริย์’ ผ่านแง่มุม มิติต่างๆ ที่หนังและซีรีส์แต่ละเรื่องทิ้งเอาไว้
เรื่อง: จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์
ภาพ: NJORVKS
บทความชิ้นนี้มีการเผยแพร่เนื้อหาของซีรีส์และภาพยนตร์
เราดู La Révolution ซีรีส์ใหม่สัญชาติฝรั่งเศสจากเน็ตฟลิกซ์ที่ออกฉายในช่วงกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ด้วยความเข้าใจผิดแต่แรกว่านี่คือซีรีส์บอกเล่าประวัติศาสตร์การปฏิวัติฝรั่งเศส
เปิดเรื่องอย่างดุเดือด เมื่อเด็กสาวในคณะปฏิวัติขี่ม้าตามเข้ามาฟันคอชายที่คาดว่าน่าจะเป็นขุนนางคนหนึ่งอย่างเลือดเย็น แต่หลังจากนั้น สิ่งต่างๆ ดูเหมือนจะถูกไล่เรียงอย่างเอื่อยเฉื่อย ก่อนจะถูกเฉลยในตอนต่อมาว่านี่ไม่ใช่ซีรีส์ที่บอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ทั่วไปอย่างที่เราคิดไว้ และนั่นทำให้เราเข้าใจได้ว่าเหตุใดซีรีส์เรื่องนี้จึงมีทั้งคนรัก คนเกลียด รวมถึงคนที่ดูไม่จบ
La Révolution เซตจุดเริ่มต้นไว้ในปี 1787 หรือสองปีก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศส มีนายแพทย์โจเซฟ-อิญเญซ กิโยติน (Joseph-Ignace Guillotin) เป็นตัวละครหลัก ซึ่งเขาตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์ ชื่อของเขาคือที่มาของกิโยติน—เครื่องประหารชีวิตที่ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในนวัตกรรมของคณะปฏิวัติ โครงไม้สูงราวสี่เมตรทำหน้าที่เป็นคานแขวนใบมีดทรงสี่เหลี่ยมคางหมูขนาดใหญ่ และระบบชักรอกที่ทำให้ใบมีดเล่มเขื่องอันนั้นหล่นลงมาสับคอนักโทษที่อยู่เบื้องล่าง เพียงลงมีดฉับเดียว ใครคนนั้นก็ได้ไปเฝ้าเสด็จพ่อในนรก
แต่โจเซฟ-อิญเญซ กิโยติน หาใช่คนประดิษฐ์กิโยตินขึ้นมา เขาเป็นแค่ผู้เสนอแนวทางการประหารชีวิตนักโทษให้มีมนุษยธรรมมากกว่านี้แก่สภาฐานันดรของฝรั่งเศส เพราะก่อนหน้านี้การที่ฝรั่งเศสจะประหารใครสักคน คือการเอาขวานมาฟันคอ นักโทษบางคนก็อาจโชคร้ายที่บางวันเพชฌฆาตอาจมีแรงไม่มากพอ ต้องลงดาบหลายรอบกว่าจะตาย หากเป็นโทษสถานหนัก ก็อาจจับนักโทษมาขึงไว้กับกงล้อและทรมาน (breaking wheel) หรือการแยกร่างด้วยการเอาอวัยวะไปผูกกับม้าหลายตัว ก่อนจะปล่อยให้ม้าวิ่งไปคนละทิศละทาง (dismemberment) โจเซฟที่เป็นหมอและมีตำแหน่งทางการเมืองในขณะนั้น จึงเสนอแนวคิดการประหารชีวิตนักโทษอย่างเท่าเทียมไม่ว่าจะอยู่ในบรรดาศักดิ์ใด และอย่างทรมานน้อยที่สุด—ด้วยการใช้เครื่องจักรตัดหัว
กิโยตินถูกประดิษฐ์โดย อองตวน หลุยส์ (Antoine Louis) นายแพทย์ประจำตัวกษัตริย์และเลขาธิการสมาคมศัลยแพทย์ ซึ่งออกแบบร่วมกับ โทเบียส ชมิดซ์ (Tobias Schmidt) วิศวกรชาวเยอรมัน เล่ากันว่าหลังจากมันถูกประดิษฐ์ และถูกเรียกชื่อตามนามสกุลของผู้เสนอแนวคิดเบื้องต้น โจเซฟก็เปลี่ยนนามสกุล เพราะไม่อยากเกี่ยวข้องด้วย
ทั้งนี้ ในช่วงต้นของการปฏิวัติ เครื่องจักรสังหารตัวใหม่ล่าสุดก็ได้สับคอนักโทษไปเกือบ 20,000 ราย สองในนั้นยังรวมถึงพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 (Louis XVI) และ มารี อ็องตัวเน็ตต์ (Marie Antoinette) ด้วย
นี่เป็นประวัติศาสตร์ที่หลายคนได้ยินมา—ประเทศกำลังล่มจม ประชาชนไม่มีเงินซื้อขนมปัง กษัตริย์ล้มเหลวในการบริหารจัดการ ข้าราชบริพารทำงานไปวันๆ ชนชั้นสูงเมินเฉย สุดท้ายประชาชนจึงรวมตัวกันเป็นสมัชชาแห่งชาติ ทำลายคุกบาสตีย์ โค่นล้มอภิสิทธิ์ชน ก่อตั้งสาธารณรัฐ และเมื่อตระหนักว่าอดีตพระราชาของพวกเขาพยายามขอความช่วยเหลือจากต่างแดนเพื่อยึดอำนาจกลับคืนจากประชาชน ประชาชนจึงจับกษัตริย์มากุดหัวด้วยเครื่องกิโยติน
ยังออกมาแค่ซีซั่นเดียว แต่เราคิดว่าซีรีส์ La Révolution น่าจะเล่าถึงไทม์ไลน์ดังกล่าว อย่างไรก็ดี ความแตกต่างคือพล็อตเรื่องที่แฟนตาซีและบันเทิงกว่านั้น พล็อตที่ทำให้เราคิดถึงภาพยนตร์อย่าง Abraham Lincoln: Vampire Hunter (2012) ที่เล่าถึงสงครามกลางเมืองอเมริกาเสียใหม่ด้วยการสวมบทบาทให้ อับราฮัม ลินคอล์น อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐฯ กลายเป็นนักล่าแวมไพร์ โดย La Révolution โฟกัสไปที่การระบาดของไวรัสเลือดสีน้ำเงินในหมู่ชนชั้นสูงของฝรั่งเศส—ไวรัสที่ทำให้ผู้ติดเชื้อมีพละกำลังเหนือมนุษย์และเป็นอมตะ หากก็ต้องแลกมาด้วยความหิวกระหายในระดับที่ต้องกินมนุษย์ด้วยกันเป็นอาหาร ประหนึ่งซอมบี้
เรื่องเริ่มต้นที่ข้าหลวงของเมืองแห่งหนึ่งติดเชื้อเลือดสีน้ำเงิน โดยเขาให้ผู้บังคับการตำรวจของเมืองแอบจับชาวบ้านมาขังไว้เพื่อเป็นเสบียงแก่ผู้เป็นนาย โจเซฟ กิโยติน ซึ่งทำงานเป็นนายแพทย์ประจำเรือนจำ ค้นพบไวรัสตัวนี้เข้า ก่อนทราบทีหลังว่า การจะกำจัดผู้ติดเชื้อมีได้วิธีเดียวคือการตัดคอ
ตอนจบของซีซั่น 1 เฉลยให้เราได้ทราบว่าที่มาของไวรัสเลือดสีน้ำเงินนี้มาจากพระประสงค์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ซึ่งตั้งใจจะให้ตัวเขาและลูกน้องอยู่ยงเป็นอมตะ ซีซั่นนี้จึงดูเหมือนเป็นเพียงปฐมบทที่ชี้นำให้เราเห็นว่าในขณะที่นายแพทย์กิโยตินเข้าร่วมกลุ่มภราดรภาพเพื่อปลดแอกประชาชน แนวคิดเรื่องการประดิษฐ์กิโยติน (ในซีรีส์) ก็น่าจะมาจากการที่นายแพทย์จำต้องหาวิธีกำจัดผู้ติดเชื้อเลือดสีน้ำเงิน
La Révolution อาจทำให้คนที่ตั้งใจจะดูซีรีส์ประวัติศาสตร์ในแง่ของความเป็นบทบันทึกประวัติศาสตร์ต้องผิดหวัง หรืออาจเลิกดูไปเลย แต่ในทางกลับกัน หากคุณอดทนกับความเอื่อยเฉื่อยในช่วงแรกๆ คุณอาจพบว่านี่เป็นซีรีส์แอ็กชั่นกึ่งสืบสวนสอบสวนที่น่าติดตาม ดุเดือดเลือดพล่าน และสนุก ซึ่งเราคิดว่ามันอาจจะดีเสียอีกที่เน็ตฟลิกซ์เลือกลงทุนทำซีรีส์แบบนี้ แทนที่จะเป็นซีรีส์เล่าประวัติศาสตร์อย่างตรงไปตรงมาแบบหลายเรื่องก่อนหน้า ซึ่งโดยมาก เราพบว่านอกจากทำได้อย่างจืดชืดแล้ว มันกลับเปลี่ยนให้โปรดักชั่นที่ลงทุนไปมากมายให้กลายเป็นฉากลิเกแห่งการรบเสียมากกว่า
พล็อตที่เล่าเรื่องผู้ปกครองพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้ตัวเองเป็นอมตะหาใช่สิ่งใหม่ในโลกภาพยนตร์และวรรณกรรม คนวัยสามสิบขึ้นไปอย่างเราๆ เติบโตมากับนิยายจีนกำลังภายในอิงประวัติศาสตร์หลายต่อหลายเรื่องที่มีตัวเอกได้รับภารกิจออกตามหายาอายุวัฒนะให้แก่ฮ่องเต้ และในพล็อตลักษณะนี้ การอ้างอิงประวัติศาสตร์ยุคจิ๋นซีฮ่องเต้เมื่อ 2,200 กว่าปีที่แล้ว ดูจะมีสีสันและได้รับความนิยมมากที่สุด
เล่ากันว่าจิ๋นซีได้สั่งไพร่พลนับร้อยนับพันออกเดินทางไปทั่วแคว้นเพื่อตามหายาอายุวัฒนะมาให้เขา หากก็ไม่มีประชาชนคนใดได้พบ หรือแม้กระทั่งได้กลับมาอีกเลย ความกระหายอยากเป็นอมตะของจิ๋นซีถูกทำซ้ำหลายเวอร์ชั่น กระทั่งทีมผู้สร้างภาพยนตร์จากฮอลลีวูดก็เคยนำแรงบันดาลใจในเรื่องนี้มาพัฒนาเป็นบท The Mummy: Tomb of the Dragon Emperor (2008) หรือภาพยนตร์เดอะมัมมี่ ภาค 3 ที่เล่าถึงฮ่องเต้จอมโหดผู้สร้างกำแพงเมืองจีน ปรารถนาจะเป็นอมตะ แต่ดันถูกสาปเป็นหิน ก่อนจะฟื้นคืนชีพมาในยุคสมัยใหม่ เป็นต้น
Kingdom (2019) คือซีรีส์จากเน็ตฟลิกซ์อีกเรื่องที่พูดถึงความกระหายใคร่อยากมีชีวิตเป็นอมตะของกษัตริย์ พร้อมไปกับการสร้างความเดือดร้อนแก่ชาวบ้านไปทั่วทุกหัวระแหง
เซตอัพขึ้นมาในยุคราชวงศ์โชซอนของเกาหลี ซีรีส์พูดถึงองค์รัชทายาทที่ค้นพบว่าบิดาของตัวเองป่วยหนักด้วยสาเหตุที่ไม่อาจทราบ การป่วยของกษัตริย์เชื่อมโยงไปกับการระบาดของเชื้อไวรัสที่ทำให้ประชาชนทั่วอาณาจักรกลายเป็นซอมบี้ไล่กินคน และเรื่องมาเฉลยเอาทีหลังว่าจุดเริ่มต้นของการระบาดก็มาจากการที่กษัตริย์ผู้นั้นต้องการจะหายาอายุวัฒนะ แต่ดันไปกินยาอื่นที่เปลี่ยนร่างให้กลายเป็นซอมบี้เข้าไปแทน นี่เป็นซีรีส์อีกเรื่องที่ลุ้นระทึกและดูสนุก ทั้งยังสะท้อนให้เห็นลักษณะร่วมอย่างเป็นนิจของการเมือง ว่าด้วยความพยายามของเหล่าขุนนางที่ใช้กษัตริย์เป็นเครื่องมือในการรักษาอำนาจของตัวเองไว้ โดยไม่สนว่ากษัตริย์จะวิกลจริต หรือสูญสิ้นความเป็นมนุษย์ไปแค่ไหน
แม้จะไม่ใช่หนังแฟนตาซีอิงประวัติศาสตร์ หาก Caligula (1979) ภาพยนตร์อีโรติกของผู้กำกับชาวอิตาเลียน ตินโต บราสส์ (Tinto Brass) ก็เน้นย้ำสีสันอันอื้อฉาวของบุคคลจริงในประวัติศาสตร์ของอาณาจักรโรมันได้เกือบๆ จะเป็นภาพยนตร์แฟนตาซีด้วยซ้ำ
คาลิกูลาคือจักรพรรดิองค์ที่ 3 ของจักรวรรดิโรมัน พงศาวดารบอกว่าเขาเป็นกษัตริย์วิปลาสที่ปกครองอาณาจักรด้วยการกดขี่และสร้างความหวาดกลัว เขาฆ่าคนไม่เลือกหน้าไม่ว่าจะเป็นเชลยหรือกระทั่งประชาชนของตัวเอง โปรดการร่วมเพศหมู่ จับน้องสาวตัวเองมาเป็นภรรยา กระทั่งประดับยศแก่ม้าที่ตัวเองโปรดปรานให้มีตำแหน่งสูงกว่าข้าราชบริพารก็เคยมาแล้ว คาลิกูลาโปรดให้สร้างอนุสาวรีย์รูปตัวเองประดับไว้ทั่วกรุงโรม ด้วยเชื่อว่านี่เป็นสัญลักษณ์ของความอยู่ยงของตนเอง หากในความเป็นจริงเขาครองราชย์ได้แค่สี่ปี เหล่าขุนนางก็ทนไม่ไหวและรวมหัวกันลอบสังหารเขา
ในภาพยนตร์ Caligula ฉายช่วงชีวิตอันแสนสั้นก่อนที่คาลิกูล่าจะได้ขึ้นครองราชย์—ระหว่างเป็นจักรพรรดิ และตอนที่เขาถูกฆ่า นั่นเป็นช่วงชีวิตสั้นๆ ที่ไม่สะท้อนเรื่องราวในประวัติศาสตร์อะไรไปมากกว่าความหรรษาของกษัตริย์บ้าที่ได้ฆ่าและทารุณคนอื่น และฉากเซ็กซ์แบบโจ่งแจ้งที่มีมากมายเต็มไปหมด จนภาพยนตร์ติดเรต X และถูกแบนในหลายประเทศ
ว่าไปแล้วมันก็เป็นเพียงหนังโป๊เรื่องหนึ่งที่แค่หยิบชีวิตของทรราชคนหนึ่งในประวัติศาสตร์มาทำ แต่เมื่อดูรายชื่อนักแสดงก็อาจต้องใช้คำว่าแม่งไม่ธรรมดาเลย ไม่ว่าจะเป็นตัวคาลิกูลาที่รับบทโดย มัลคอล์ม แมคโดเวลล์ (Malcolm McDowell) ซึ่งก่อนหน้านี้เขารับบทนำใน A Clockwork Orange (1971) ของ สแตนลีย์ คูบริก (Stanley Kubrick) หรือดาวค้างฟ้าอย่าง เฮเลน มิร์เรน (Helen Mirren) ในตอนสาวๆ ก็เปลื้องผ้าหนักมากในหนังเรื่องนี้ นอกจากนี้ยังมี จอห์น เกลกุด (John Gielgud) ผู้กำกับละครเวทีชื่อดังของอังกฤษ และ ปีเตอร์ โอ’ทูล (Peter O’Toole) ที่สร้างชื่อจาก Lawrence of Arabia (1962) เป็นต้น ซึ่งก็คงไม่เกินเลยอะไรที่จะบอกว่านี่คือหนังอีโรติกที่รวมดาราคุณภาพในยุคนั้นไว้มากที่สุด และจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกอะไรที่แม้ว่ามันจะถูกวิจารณ์ในความเสื่อมทรามหรือฉากวิตถารมากแค่ไหน แต่มันก็ทำรายได้ไปถึง 23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นหนังอีโรติกที่ทำรายได้เกือบจะมากที่สุดในยุคนั้น และตัวหนังก็ถูกยกให้เป็น cult classic movie ในเวลาต่อมา เรียกได้ว่าต่อให้พระราชาในเรื่องจะเสื่อมแค่ไหน หากคนดูจะรัก พวกเขาก็รัก
ยังมีเรื่องราวในโลกภาพยนตร์และซีรีส์อีกมากมายที่สะท้อนให้เห็นว่าไม่ว่าจะดีหรือเลว หรือต่อให้เจือความแฟนตาซีอย่างไร กษัตริย์ก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง หาได้เป็นผู้วิเศษมาจากไหน และเพราะถูกยกให้มีอำนาจเหลือล้นถึงเพียงนั้น ไม่ว่ากษัตริย์จะทำอะไร มันย่อมส่งผลกระทบต่อประชาชนด้วยกันทั้งสิ้น หรือหากไม่ใช่ประเด็นของการใช้อำนาจ แต่ก็อย่าลืมว่าสิ่งที่ทำให้วงศาคณาญาติของกษัตริย์ส่วนใหญ่ในประเทศยังคงมีชีวิตอยู่ได้ ล้วนมาจากเงินภาษีของประชาชน
ซึ่งนี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผู้คนในยุคต่อๆ มาต่างตระหนักว่า การมอบทั้งเงินและอำนาจต่อคนคนเดียวอย่างมากมายและอย่างไม่อาจทัดทานได้เช่นนั้นมันไม่เวิร์ก จนนำมาสู่ความพยายามหาทางออกร่วมกัน ซึ่งอาจจะออกมาในรูปแบบ แลนด์ออฟคอมโพรไมซ์ จริงๆ อย่างที่เราเห็นได้จากซีรีส์ The Crown (2016) ของอังกฤษ ทางออกอันเปลี่ยวเหงาและเศร้าๆ ของราชวงศ์ชิงใน The Last Emperor (1987) ของ แบร์นาโด แบร์โตลุชชี่ (Bernardo Bertolucci) หรือการจบลงที่ไม่น่าอภิรมย์เท่าไหร่ของครอบครัวโรมานอฟในซีรีส์ The Last Czars (2019) เป็นอาทิ
น่าสนใจเหมือนกันว่า หากเมื่อเวลาผ่านไป และมีผู้กำกับรุ่นใหม่ๆ ในบ้านเราคิดจะหยิบวัตถุดิบซึ่งสะท้อนมิติที่หลากหลาย และอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ว่าแซ่บที่สุดอย่าง ‘สถาบันกษัตริย์ไทย’ ในปัจจุบันมาพัฒนาบทเป็นภาพยนตร์หรือซีรีส์บ้าง พวกเขาจะมองเข้าไปหรือทำออกมา ด้วยสายตาแบบไหน?