ไม่มีใครเคยกำหนดไว้ว่าโตแล้วห้ามอ่านหนังสือสำหรับเด็ก แต่ผู้ใหญ่หลายคนเลือกที่จะเดินผ่านหนังสือเหล่านี้ไปโดยอัตโนมัติเมื่อเห็นตัวเลขอายุที่เหมาะสมกำกับไว้ เพียงเพราะกฎหมายบอกไว้ว่าเราบรรลุนิติภาวะงั้นเหรอ หรือเพราะสังคมพร่ำบอกเราอยู่ตลอดเวลาว่าไม่ใช่เด็กๆ แล้วนะ
‘คืนสู่เยาว์’ อยากให้เราทุกคนลองละวางเรื่องของอายุไว้ข้างๆ แล้วเปิดใจให้หนังสือเล่มเก่าที่เราเคยอ่านในวัยเด็กอีกครั้ง ประสบการณ์จากชีวิตที่ผ่านมา อาจช่วยประกอบสร้างมุมมองใหม่ให้เรื่องราวเดิมๆ ที่เคยอ่านมอบความหมายใหม่ได้อย่างไม่น่าเชื่อ
ใครที่เติบโตมากับวรรณกรรมเยาวชนญี่ปุ่นสำนวนแปลอันแสนงามละมุนใจของอาจารย์ผุสดี นาวาวิจิต ผู้ล่วงลับเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา คงไม่มีอะไรจะปลอบประโลมใจได้ดีไปกว่าการหยิบหนังสือเล่มเก่าที่เราอ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่าในวัยเยาว์มาพลิกอ่านอีกครั้ง แต่ถึงแม้วัยเด็กของคุณจะไม่ได้คลุกคลีกับผลงานของเธอ เราก็อยากชวนทำความรู้จักตัวอย่างผลงานชั้นเลิศที่เปรียบเหมือนสะพานวัฒนธรรมที่ทอดยาวข้ามน้ำข้ามทะเลสู่นักอ่านชาวไทยมาอย่างต่อเนื่องยาวนานหลายทศวรรษ
โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง
คุโรยานางิ เท็ตสึโกะ
โต๊ะโตะจังเล่าเรื่องโน้นเรื่องนี้ไปเรื่อย ครูใหญ่หัวเราะไปบ้าง พยักหน้ารับหงึกๆ บ้างถามว่า ‘แล้วไงอีก’ บ้าง ทำให้โต๊ะโตะจังดีใจจนพูดไม่หยุด และในที่สุดก็หมดเรื่องพูด พอโต๊ะโตะจังทำท่าคิด คุณครูใหญ่ก็ถามว่า
“หมดแล้วหรือ”
หนังสือรวบรวมเรื่องราวน่ารักอบอุ่นใจในวัยเด็กของคุโรยานางิ เท็ตสึโกะ นักแสดง นักพากย์ พิธีกรชื่อดังชาวญี่ปุ่นที่มีการนำมาพิมพ์ใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า พาเราย้อนเวลากลับไปช่วงก่อนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 กลับไปยังห้องเรียนตู้รถไฟในโรงเรียนประถมโทโมเอ ซึ่งเต็มไปด้วยกิจกรรมสุดสนุกที่ไม่จำกัดการเรียนรู้ไว้เพียงในห้องเรียน สำนวนแปลที่ลื่นไหลของอาจารย์ผุสดีพาให้เรารู้สึกราวกับได้ก้าวเดินตามโต๊ะโตะจังเข้าโรงเรียน ทักทายคุณครูใหญ่ผู้ใจดีที่สุดในโลก และพบเจอเหตุการณ์ที่ชวนให้ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ไปตลอดทั้งเล่ม
อีกทั้งยังชวนให้เราตั้งคำถามกับระบบการศึกษาในปัจจุบันที่ดูเหมือนจะสนับสนุนให้เด็กคิดนอกกรอบ (แต่ห้ามคิดออกไปไกลเกินจากที่ผู้ใหญ่เห็นชอบเด็ดขาด!?) ช่างพอเหมาะพอเจาะกับช่วงเวลาที่คนรุ่นใหม่ในประเทศไทยลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับกรอบเดิมๆ ที่ยังคงดื้อดึงจะบีบอัดให้เด็กทุกคนยัดเข้าไปในแม่พิมพ์แบบเดียวกันหมด เห็นแบบนี้แล้วการกำหนดให้โต๊ะโตะจังเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาสำหรับเด็กๆ อาจจะยังไม่เพียงพอ คงต้องกำหนดให้เป็นหนังสืออ่านเสริมสำหรับผู้ใหญ่หลายๆ คนด้วย
เด็กหญิงอีดะ
มัตสุทานิ มิโยโกะ
“ไม่มี ไม่มี ไม่มีที่ไหนเลย”
เสียงของเก้าอี้ในบ้านร้างหลังหนึ่งในเมืองฮานาอุระที่กำลังตามหา ‘อีดะ’ หลานสาวของคุณตาผู้สร้างเก้าอี้ตัวนั้นขึ้นมา ความประหลาดใจดึงให้นาโอกิ เด็กชายวัยประถมสี่ที่มาพักอยู่กับคุณตาคุณยายในเมืองนั้นซึ่งอยู่ไม่ไกลจากฮิโรชิม่า สนใจใคร่รู้และตามหาร่องรอยที่ยังหลงเหลืออยู่ของเด็กหญิงอีดะไปพร้อมกับค้นพบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ฮิโรชิม่าใน วันที่ 6 สิงหาคม 1945
หนังสือค่อยๆ พาผู้อ่านเผชิญหน้ากับโศกนาฏกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของโลกไปพร้อมกับนาโอกิ ด้วยกลวิธีการเล่าที่เผยเรื่องราวทีละเล็กทีละน้อยผ่านวัตถุพยานที่ยังหลงเหลืออยู่ อาจารย์ผุสดีถ่ายทอดความไร้เดียงสาของเด็กๆ ออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติ ขณะเดียวกันฉากบรรยายวินาทีที่ระเบิดปรมาณูดิ่งลงมาสู่เมืองฮิโรชิม่าก็ถ่ายทอดความสยดสยองอันน่าเจ็บปวดให้เห็นจนหมดเปลือก หนังสือสบตากับประวัติศาสตร์บาดแผลโดยตรง เพื่อส่งต่อบทเรียนที่คนรุ่นก่อนได้รับไปยังคนรุ่นใหม่ ดังที่ผู้เขียนเคยกล่าวไว้ว่า “ฉันเอาชีวิตรอดจากสงครามมาได้ จึงเข้าใจดีว่าสันติภาพสำคัญแค่ไหน”
เด็กหญิงน็อนจัง
มัตสุทานิ มิโยโกะ
ขนมปังเป็นสีเหลืองทอง
มองดูเหมือนหางของค็อง
แต่หางนั้นกินไม่ได้
ฉันกินขนมปังดีกว่า
ขนมปังอร่อยกว่าเอย
เรื่องราวของ น็อนจัง เด็กหญิงชั้นประถมต้น และพ่อเพิ่งย้ายบ้านจากโตเกียวมาอยู่ในชนบท วันหนึ่งน็อนจังได้พบกับค็อง ลูกหมาจิ้งจอกกำพร้าซึ่งกลายมาเป็นเพื่อนกัน สานสัมพันธ์ท่ามกลางทุ่งโอ้ละเห่ และพบเจอกับเหตุการณ์น่าตื่นเต้นระหว่างการไปร่วมเทศกาลดาเคคัมบะที่ค็องใฝ่ฝัน
ในหมายเหตุผู้แปล อาจารย์ผุสดีเขียนไว้ว่า หนังสือเล่มนี้อ่านได้ 3 ระดับ ตั้งแต่อ่านเพื่อความสนุกเพลิดเพลิน อ่านเพื่อหาแง่คิด และอ่านเพื่อตีความปรัชญาจากสัญลักษณ์ที่แทรกไว้อย่างน่าสนใจ เราอาจมองเห็นเรื่องราวของมิตรภาพของวัยเด็กที่บริสุทธิ์ หรืออาจจะมองเห็นการปรับตัวเข้ากับสังคมชนบทของน็อนจัง ที่ได้เรียนรู้ผ่านพิธีกรรม ความเชื่อพื้นถิ่นที่เต็มไปด้วยเรื่องราวเหนือธรรมชาติ สะท้อนถึงวิถีชีวิต การมองโลกของชาวญี่ปุ่นที่ผูกพันกันกับธรรมชาติรอบตัวอย่างเหนียวแน่นก็ได้
เปลือกหอยจากนางเงือก
นางาซากิ เก็นโนะสุเกะ
“ระหว่างซาจิโกะกับงาน อะไรสำคัญกว่าคะ” ซาจิโกะเคยถามแม่เช่นนี้
แม่ไม่ตอบ แต่มองดูซาจิโกะด้วยสายตาเศร้าๆ
ซาจิโกะร้องไห้อยู่ครู่หนึ่ง แล้วเงยหน้าขึ้นพูดอย่างตัดสินใจแล้วว่า
“ซาจิโกะจะไปคนเดียว”
“จะไปคนเดียวหรอจ๊ะ” แม่ทำตาโต “กิวชิวอยู่ไกลนะจ๊ะ”
“ไกลก็ไม่เป็นไร ซาจิโกะไปเองได้”
หลังจากที่ซาจิโกะสูญเสียพ่อไป แม่ก็ต้องทำงานหนักขึ้นจนไม่มีเวลาให้เหมือนเคย ช่วงปิดเทอมฤดูร้อนซาจิโกะจึงตัดสินใจไปอยู่กับคุณยายที่เมืองริมทะเล ที่นั่นซาจิโกะได้ใช้เวลาดีๆ ร่วมกับเพื่อนหลายคน โดยมีเปลือกหอยจากนางเงือกสีชมพูนำโชคถูกส่งต่อกันในหมู่เพื่อน
หนังสือเล่าเรื่องด้วยการผสมผสานความสมจริงเข้ากับจินตนาการเหนือจริงซึ่งมีเพียงเด็กๆ เท่านั้นที่มองเห็น ช่วงเวลาที่หนังสือตีพิมพ์ครั้งแรกสะท้อนให้เห็นภาพเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่เฟื่องฟูรุ่งเรืองถึงขีดสุดในยุค 80s ผ่านการที่แม่ของซาจิโกะแทบไม่ได้หยุดพักผ่อน ความเรียบง่ายของธรรมชาติที่เด็กๆ ได้สัมผัสจึงเปรียบเหมือนการสะกิดเตือนให้ผู้ใหญ่กลับมาทบทวนว่าอะไรคือสิ่งที่มีค่าสำหรับชีวิตกันแน่
สมุดพกคุณครู
มิยาคาวะ ฮิโร
โกโร่หยิบสมุดจดงานออกมาฉีกกระดาษแผ่นหนึ่ง เขียนจดหมายสั้นๆ ถึงคุณครูฟุรุยะว่า ครูไม่ชอบแคร็อทใช่ไหม ผมเห็นนะ แต่จะไม่บอกใครหรอกครับ ครูต้องระวังอย่าให้ใครเห็นนะครับ เช้าวันรุ่งขึ้น มีจดหมายตอบจากคุณครูรออยู่ในโต๊ะเรียนของโกโร่ เขารีบขึ้นไปบนดาดฟ้าของอาคารเรียน และเปิดจดหมายออกอ่าน
ปิดท้ายด้วยเรื่องราวน่ารักๆ ของนักเรียนห้อง ป.3 ก ที่สร้างเสริมความเข้าใจระหว่างครูกับลูกศิษย์ว่าไม่มีใครสมบูรณ์แบบไปทุกอย่าง ไม่จำเป็นต้องสร้างความน่าเกรงขามเป็นพระคุณที่สามงดงามแจ่มใสก็เป็นคุณครูที่ดีสำหรับนักเรียนได้เหมือนกัน
การใช้ชื่อหนังสือว่า ‘สมุดพกคุณครู’ เป็นการเปิดหน้าท้าทายค่านิยมพื้นฐานในสังคม ทำให้เห็นว่าเด็กๆ เองก็จับตาดูคุณครูและผู้ใหญ่ทั้งหลายอยู่เช่นเดียวกัน หากคุณครูท่านใดได้มาอ่าน น่าจะได้แอบอมยิ้มและถอนหายใจอย่างโล่งอก ว่าไม่จำเป็นต้องเก๊กขรึมให้นักเรียนกลัวอีกต่อไป แต่สามารถทำอย่างคุณครูฟุรุยะที่เปิดให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการออกแบบวิธีการแก้ปัญหา และหาทางออกไปพร้อมกันก็ได้
นอกจาก 5 เล่มนี้ยังมีวรรณกรรมแปลภาษาญี่ปุ่น และภาษาอังกฤษซึ่งเป็นผลงานของอาจารย์ผุสดีผู้ล่วงลับอีกหลายเล่ม หากผ่านตาพบเจอชื่อผู้แปลท่านนี้ก็มั่นใจได้เลยว่าทั้งคำและความที่ปรากฏนั้นเต็มไปด้วยความตั้งใจเต็มเปี่ยม ของมนุษย์คนหนึ่งที่สร้างนักอ่านนับร้อยนับพันให้งอกงามเติบโตต่อไปอย่างไม่รู้จบ