Fri 22 Jan 2021

BITTER SYRUP

เรื่องราวชีวิตรสชาติหวานขมที่บอกให้เรารู้ว่าบางครั้งการเสียน้ำตาน่ะ แปลว่าเราให้คุณค่ากับสิ่งนั้นมากๆ ไงล่ะ

ภาพ: erdy

     อันยอง! เราเป็นฟรีแลนซ์จ้า จริงๆ เราเคยทำงานประจำมาแต่ก็รู้สึกว่าไม่ตอบโจทย์ เรายื่นใบลาออกเพราะว่าความเชื่อของบริษัทกับของเราไม่ตรงกัน เรายึดมั่นในอุดมการณ์บางอย่างที่เราให้ความสำคัญมาก เราถูกเรียกเข้าไปคุยแล้วช่วงหนึ่งเขาก็พูดว่า “…หุบปาก ด้วยจริยธรรมของนายจ้างฉันจะบอกอะไรให้นะว่าเธออย่าคิดว่าเธอเก่ง ฉันก็สงสัยความเก่งของเธอเหมือนกัน” ตวาดใส่ในออฟฟิศแล้วก็ไล่เราออก เก็บของวันนั้นเลย 

     แม้เราจะรู้ว่าคำพูดของเขาไม่สามารถมานิยามตัวเราได้หรอก เรารู้ตัวเองดีว่าเราคือใคร แต่สำหรับคนทำงาน first jobber พอเจอแบบนี้มันก็ส่งผลกระทบไม่น้อยเลย ตอนเก็บของเลยแอบน้ำตาตก ถึงตอนนี้จะผ่านมาสักพักแล้ว แต่แผลตรงนี้ก็ไม่ตกสะเก็ดง่ายๆ คิดถึงทีไรก็แอบเจ็บจี๊ดในอก แถมยังแอบแหยๆ ตอนจะสมัครงานประจำใหม่อีก “มันจะเป็นแบบเดิมไหม หรือจริงๆ ในโลกการทำงานฉันยังเก่งไม่พอ” เป็นคำถามที่เกิดขึ้นแวบๆ มาบ้างแต่เราก็กลบด้วยการบอกตัวเองว่าเราเองก็ดีในแบบของเรา เราเรียนรู้และเริ่มใหม่ได้ แต่แบบนี้จะเป็นการหลอกตัวเองไปไหม เราจะผ่านเรื่องแบบนี้ไปยังไงดีล่ะ

bittersyrup

     สวัสดีครับ bittersyrup ผมเชื่อว่าประเด็นนี้น่าจะมีจุดร่วมกับหลายๆ  คน เพราะผมก็เจอเคสลักษณะนี้มาประมาณหนึ่งเลย งั้นผมจะขออนุญาตพูดแบบกว้างๆ ก่อน เพื่อคนที่เจอปัญหาลักษณะนี้อยู่จะได้เชื่อมโยงได้ด้วย

     ปกติแล้ว การเจอเหตุการณ์สะเทือนใจ เช่น การโดนด่า การโดนทำร้าย ใช้ความรุนแรงทางใดก็ตาม มักส่งผลให้เราเกิดความรู้สึกทางลบอยู่แล้ว อันนี้เป็นเรื่องธรรมชาติ  หรือต่อให้เหตุการณ์นั้นจะไม่เกี่ยวกับเราโดยตรง เช่น เห็นคนประสบอุบัติเหตุ เห็นคนอื่นโดนทำร้ายก็ส่งผลกระทบกับอารมณ์ของเราได้เช่นกัน แล้วกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเรา โดยการด่านั้นมุ่งเป้ามาที่เราตรงๆ เต็มๆ ทำไมเราจะไม่รู้สึก

     สำหรับประเด็นแรก ตอนที่โดนด่า เราก็ไม่ได้เชื่อนะว่าตัวเองเป็นอย่างที่เขาด่า เพราะคำด่าของเขาไม่ได้นิยามความเป็นเราเลย แล้วทำไมเราถึงยังรู้สึกเจ็บจี๊ดล่ะ? 

     ก่อนอื่น ผมอยากชวนคุณลองนึกและสำรวจตัวเองดีๆ อีกครั้งว่า จริงๆ แล้วมีเศษเสี้ยวหนึ่งในจิตใจของเรามั้ยที่เชื่อคำพูดของเขา ถ้าสำรวจแล้วพบว่า…เออว่ะ มันก็มีนะ… ผมว่าตรงนี้อาจจะเรียกว่าอาการเสียเซลฟ์ก็ได้ครับ 

     เซลฟ์ในที่นี้คือ percieved self-concept หรือการรับรู้/มุมมองของตัวเราเองว่าเราเป็นคนยังไง มุมมองคือความคิดและความเชื่อที่เราสั่งสมมาผ่านประสบการณ์ต่างๆ อย่างเราอาจจะมองว่าตัวเองก็เก่งนะ พอมีดีอยู่นะ แต่พอโดนเจ้านายด่าปุ๊บ ว่าเราไม่ดี ไม่เก่ง มันเลยมีอีกมุมมองหนึ่งเกิดขึ้นมาตีกับความเชื่อเดิมที่เรามีจนแตกกระจาย (จริงๆ อาจจะยังไม่แตก แต่ก็สั่นคลอนเล็กๆ) ทำให้ความเชื่อที่เราเชื่อว่าจริงถูกท้าทาย สั่นคลอน จนเราคิดว่า…หรือที่เราเชื่อว่าจริงมาตลอดมันไม่จริงวะ เราจึงเสีย self-concept ไป

     โดยการเสีย self-concept ก็คือการเสียคุณค่า (value) สิ่งใดสิ่งหนึ่งไป ยิ่งมีเหตุการณ์อะไรมากระทบกับสิ่งที่เราให้ค่า เราก็จะยิ่งรู้สึกเสียเซลฟ์ เสียคุณค่าในสิ่งๆ นั้น คือถ้าเรื่องที่เขาด่าเป็นเรื่องที่เราไม่ได้ให้คุณค่า เราก็จะ ‘อ๋อ แล้วไงอะ’ แต่พอเป็นเรื่องที่เราให้ค่า ก็เลยอาจกระทบไปถึง self-esteem หรือการรับรู้และเห็นคุณค่าในตัวเองได้ด้วย

     ผมขอยกเรื่องของตัวเองเป็นตัวอย่าง ด้วยความที่ผมเป็นคนผิวขาวมากเมื่อเทียบกับสีผิวของคนไทยทั่วไป ยิ่งตอนเด็กๆ คือขาวพุ่ง ผมก็รับรู้ว่าเราเป็นคนผิวขาวนะ แต่ทีนี้มันต่างจากเด็กคนอื่นๆ ไง ผมก็โดนล้อแกมเล่นทุกวัน ไอ้กะทิบ้างแหละ เผือกบ้างแหละ (โอ้โห สามารถเป็นแกงบวดได้ในคนเดียว /ขอช้อนสองคันอยากแบ่งเพื่อนกินด้วยคร้าบบบบ) คือตอนโดนล้อก็รู้สึกไม่ดีนะ แต่พอเวลาผ่านไปพักนึง ผมก็ไม่รู้สึกอะไรแล้ว เพราะผมไม่ได้รู้สึกว่ามันสำคัญอะไร แต่ในกรณีของคุณ bittersyrup ที่เขามาพูดว่า เราทำงานไม่เก่ง ซึ่งอาจเป็นเรื่องที่คุณให้คุณค่ากับมันมาก คำพูดของเขาเลยกระทบกับเราขนาดนี้ แต่ว่าเหตุการณ์นี้ก็ทำให้ผมเห็นสิ่งที่น่าชื่นชมอย่างหนึ่งนะครับว่า คุณเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับการทำงานและศักยภาพตัวเองมากๆ จึงไม่ได้มองมันเป็นเรื่องเล่นๆ

     ทั้งนี้ การที่เราเสีย self-concept ก็มีโอกาสที่จะส่งผลกระทบกับเราในระยะยาว จนพัฒนาไปเป็นอาการต่างๆ ได้นะครับ เช่น อาการซึมเศร้า ความเครียดสะสม หรือภาวะหมดไฟในการทำงาน ฯลฯ ได้อ่านแบบนี้ไม่ต้องตกใจไปนะครับว่า เฮ้ย เราจะป่วยเหรือเปล่า เพราะอันที่จริงแล้ว การเสียเซลฟ์เป็นเรื่องธรรมชาติครับ คือมันเกิดขึ้นได้กับทุกคน ในทุกวันมีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ซึ่งมันก็ไม่ได้แปลว่าจะพัฒนาไปเป็นโรคเสมอไป แต่การจะกู้ self-concept กลับมานั้นก็อาจใช้เวลาสักหน่อย ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลด้วย โดยอาจต้องสร้างความมั่นใจ ทำอะไรที่สามารถสนับสนุน self-concept เรา หรือลองมองมันในมุมอื่น เช่น เราไม่ได้ไม่เก่ง ครั้งนี้เราพลาด และเราสามารถเรียนรู้ได้ เป็นต้น   

     อีกประเด็นคือ ถ้าสำรวจแล้วยังคิดว่า ‘ไม่นะ เราไม่ได้เป็นอย่างที่เขาพูดสักหน่อย’ และเราก็ไม่ได้รู้สึกเสีย self-concept นี่ แล้วทำไมเรายังดาวน์อยู่ดีล่ะ? ก็ต้องลองสำรวจดูอีกนั่นแหละครับ ว่าแล้วอะไรกันล่ะที่ยังทำให้เราดาวน์อยู่

     ตัวอย่างเช่น จากประสบการณ์ที่เกิดกับตัวผมเองและฟังจากคนรอบข้าง หลายครั้งผมพบว่าเราไม่ได้ดาวน์กับสิ่งที่เขาพูด แต่เราดาวน์กับตัวบุคคล หรือผิดหวังในตัวเขามากกว่า เราไม่คิดว่าเขาจะเป็นคนแบบนี้ ปฏิบัติกับเราแบบนี้ หรือเป็นที่วิธีการพูดของเขา ถ้าเขาพูดกับเราด้วยน้ำเสียงและการใช้คำที่ดีกว่านี้ เราอาจจะไม่ได้รู้สึกแบบนี้ก็ได้ รวมถึงเราอาจมีปัญหาอื่นๆ มารุมเร้าอยู่หลายเรื่อง เลยมาผสมปนกันจนทำให้ก้อนความดาวน์มันใหญ่ขึ้น แต่เพราะเหตุการณ์ที่เด่นชัดคือการถูกเจ้านายว่า เลยทำให้เรารู้สึกว่าไอ้ก้อนความดาวน์ใหญ่ทั้งก้อนเนี่ยมันมาจากเรื่องนี้ ทั้งที่จริงๆ ก็อาจมีเรื่องอื่นปนอยู่ด้วยก็ได้ 

     ทั้งนี้ทั้งนั้น ตัวอย่างข้างต้นอาจจะไม่ตรงกับของคุณก็ได้ แต่ที่ผมพูดขึ้นมาก็เพราะผมเจอว่าหลายๆ ครั้งเวลาที่คนมาคุยกับผม มักมาด้วยเรื่องหนึ่ง แต่พอคุยๆ ไปสาเหตุดันเป็นอีกเรื่อง เลยอยากให้คุณค่อยๆ สำรวจทบทวนดูดีๆ ว่าไอ้ที่ดาวน์อยู่จริงๆ แล้วมันมีสาเหตุมาจากอะไร 

     ประเด็นสุดท้าย จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ดูเหมือนมันจะทำให้คุณ bittersyrup แหยงๆ หรือเป็นกังวลจนถึงขั้นกลัวนะครับ ว่างานใหม่จะต้องเจอกับเหตุการณ์แบบนี้อีกมั้ย 

     นั่นสิครับ มันจะเป็นแบบเดิมมั้ย มีใครรู้บ้าง 

     เหตุผลที่เรายังกลัวบางสิ่งบางอย่างกันอยู่ นั่นเพราะเราไม่รู้ครับ และความรู้สึกตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ไม่ใช่เรื่องแปลก 

     มนุษย์มักยึดเอาประสบการณ์ของตัวเองเป็นตัวตัดสินและทำนายอนาคต ดังนั้นความกลัวที่เกิดขึ้นจึงมักมาจากการคิดถึงอนาคตที่ไม่แน่นอนของตัวเอง… 

     ถามว่าแล้วใครจะรู้ว่ามันจะเกิดขึ้นอีกมั้ย เกิดขึ้นอย่างไร 

     ก็ไม่มีใช่มั้ยครับ เพราะเป็นเรื่องในอนาคต : ) 

     ดังนั้น ผมจึงอยากชวนให้เราเดินกลับมาอยู่กับปัจจุบันกันเถอะ หรือไม่ก็ลองถามตัวเองว่า ‘เราทำอะไรได้บ้างเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก’ ‘แล้วถ้ามันเกิดขึ้นอีกจริงๆ จะรับมือยังไงดี?’ ‘worst case คืออะไร’ ผมเชื่อว่าคำตอบที่ดีที่สุด จะมาจากตัวเราเอง เพราะว่าเรารู้จักตัวเราเองดีที่สุดแล้ว

     ผมอยากให้คุณ bittersyrup ลองให้เวลากับตัวเองในแต่ละวัน หาเวลาว่างนั่งทบทวนเหตุการณ์และความรู้สึกของตัวเองครับ ลองนั่งคิดและเขียนมันออกมา ตั้งคำถามกับตัวเองไปเรื่อยๆ ด้วยคำถามด้านบน เรื่องไหนได้คำตอบ เขียนเอาไว้ เรื่องไหนยังไม่มีคำตอบ ก็ไม่เป็นไร เขียนเอาไว้ว่าไม่มีคำตอบ ลองให้เวลากับตัวเองเพื่อทำงานกับตัวเอง ไม่ก็หาคนที่เราไว้ใจสักคน นักจิตวิทยา นักจิตบำบัดเพื่อพูดคุยปรึกษาหรือระบาย หรือจะไปพัฒนาตัวเองเพิ่มทักษะในด้านต่างๆ เพื่อเสริมความมั่นใจก็ได้ 

     สุดท้ายเราอาจจะพบวิธีจัดการรับมือกับความรู้สึกนั้นได้ดีขึ้น และได้คำตอบว่าอะไรกันแน่ที่ทำให้เรายังรู้สึกไม่ดี