Wed 17 Feb 2021

FIRST STEP READING

คุยกับ ‘พี่ไป๋’ บรรณาธิการบริหารกองการ์ตูนความรู้นานมีบุ๊คส์ ตั้งแต่ 15 ปีก่อนที่เริ่มทำเล่มแรก จนถึงวันนี้ที่จำจำนวนเล่มที่ทำไม่ได้แล้ว

     จำได้ดีว่าสมัยเรียนชั้นประถม เรามักจะใช้ช่วงเวลาพักกลางวันและหลังเลิกเรียนไปฝังตัวอยู่ในห้องสมุด 

     เหตุผลหลักๆ น่ะเหรอ ก็เพราะห้องสมุดมีแอร์ยังไงล่ะ!

     …

     จบบทความตั้งแต่ตรงนี้เลยได้มั้ย 

     บ้าจริง ไม่ได้สิ

     เอาใหม่ ก็จริงอยู่ที่ไปบ่อยเพราะมันเย็นดี แต่อีกประเด็นสำคัญก็คือไปหาหนังสืออ่านฆ่าเวลายังไงล่ะ 

     ด้วยความที่ยังเด็ก จะให้อ่านหนังสือที่ตัวอักษรเยอะๆ ก็คงไม่เข้าสมอง เราจึงมักไปป้วนเปี้ยนวนเวียนอยู่โซนหนังสือการ์ตูนเป็นหลัก 

     แต่ก็เพราะเป็นห้องสมุดอีกนั่นแหละ ทำให้การ์ตูนที่อยู่ในโซนนั้นพ่วงคำว่าความรู้มาด้วย

     เราเริ่มอ่านการ์ตูนแนวประวัติศาสตร์เซ็ต ‘บุคคลสำคัญของโลก’ เช่น มารี กูรี, ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล, แอนน์ แฟรงค์, เจ้าหญิงไดอาน่า ฯลฯ ที่มาในรูปแบบปกที่มีภาพวาดอยู่บนพื้นหลังสีขาว เนื้อในพิมพ์ขาวดำ ครั้งแรกก็จากห้องสมุด ก่อนจะขยับไปอ่านแบบที่พิมพ์ 4 สีซึ่งเป็นแนววิทยาศาสตร์ในเซ็ต ‘เอาชีวิตรอด’ เช่น เกาะร้าง, แผ่นดินไหว, ขั้วโลกใต้ ฯลฯ ควบคู่กับเซ็ต ‘ล่าขุมทรัพย์’ ที่พาไปท่องเที่ยวและเรียนรู้วัฒนธรรมจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก

     กล้าท้าให้ไปดูในใบยืมได้เลย ต้องมีชื่อเราเกือบทุกเล่มแน่นอน (ภูมิใจสุดๆ)

     อ้อ แล้วก็นอกจากจะเข้า-ออกห้องสมุดเป็นประจำแล้ว ด้วยราคาที่ตกราวๆ 150 บาทต่อเล่ม ทำให้เราแอบไปอ่านในร้านหนังสือบ่อยๆ (…) เมื่อรู้ว่า CONT. จะทำโปรเจกต์เล่าเรื่องเกี่ยวกับหนังสือเด็กและเยาวชน เราจึงไม่รอช้าที่จะเสนอตัวไปคุยเรื่องการ์ตูนความรู้ เซ็ตหนังสือที่เป็นดั่งใบเบิกทางในการเดินเข้าวงการนักอ่านอย่างทุกวันนี้

     เรานั่งล้อมวงอยู่บนชั้นสองของร้านหนังสือนานมีบุ๊คส์ในซอยสุขุมวิท 31 เพื่อฟัง ‘พี่ไป๋—ไพราษฎร์ สุขสุเมฆ’ บรรณาธิการบริหารกองการ์ตูนความรู้นานมีบุ๊คส์เล่าถึงจุดเริ่มต้น ความยากในการทำให้ผู้ใหญ่เข้าใจ และความสำเร็จของการ์ตูนความรู้ที่มีส่วนช่วยให้เด็กไทยรักการอ่านมากขึ้น 

     เล่าย้อนไปตั้งแต่วันที่เขาเริ่มทำเล่มแรกเมื่อ 15 ปีก่อน จนถึงวันนี้ที่เขาจำจำนวนเล่มที่ทำไม่ได้แล้ว

ทำไมนานมีบุ๊คส์ถึงเริ่มทำการ์ตูนความรู้

     นานมีบุ๊คส์ทำต้นฉบับความรู้วิชาต่างๆ ของเด็กอยู่แล้ว แนวๆ สารานุกรม แล้วก็มีการ์ตูนความรู้ที่พิมพ์ 1-2 สี พวกประวัติบุคคลสำคัญ หรือเซ็ตโดเรมอนกับความรู้ต่างๆ เช่น แมลง แสง เสียง ร่างกาย แต่รูปแบบที่เป็น 4 สีเพิ่งเริ่มทำเมื่อปี 2549 โดยคนที่เอาเข้ามาคือคุณสุวดี จงสถิตย์วัฒนา ผู้บริหารนานมีบุ๊คส์ ช่วงนั้นเขาก็คอยติดตามว่าต่างประเทศมีเทรนด์อะไรน่าสนใจบ้าง ประกอบกับมันเป็นเชิงวิทยาศาสตร์ที่ยังไม่มีใครทำในไทย เลยซื้อลิขสิทธิ์จากเกาหลีใต้มาลองแปลดู

ตอนเด็กๆ ไม่รู้เลยว่าแปลมาจากเกาหลี

     รัฐบาลเกาหลีอยากให้เด็กอ่านหนังสือ ซึ่งเด็กก็ชอบการ์ตูน เขาเลยสนับสนุนให้ทำเป็นการ์ตูนแล้วใส่ความรู้ลงไป ที่สำคัญคือเขาเขียนความรู้แทรกเข้าไปได้อย่างน่าอ่าน ไม่เยอะเกินไป อยู่ในส่วนผสมที่กำลังดีระหว่างเรื่องสนุกกับความรู้ 

ช่วงที่ทำแรกๆ ถือว่ายากมั้ย เพราะสังคมไทยดูยังไม่เปิดรับการ์ตูนขนาดนั้น

     ยากเหมือนกัน ครูหรือพ่อแม่ก็ไม่อยากให้เด็กอ่านการ์ตูน เพราะเขามองว่ามันไม่มีสาระ ช่วงแรกๆ จึงใช้เวลาพอสมควรกว่าจะทำให้ผู้ใหญ่เข้าใจว่าการ์ตูนของเรามีความรู้นะ ทางทีมเลยเลือกที่จะเข้าไปทำกิจกรรมถึงที่โรงเรียนเลย เป็นกิจกรรมที่ใช้ความรู้นำ ทำค่ายวิทยาศาสตร์ แข่งตอบปัญหาก็มี แล้วเด็กๆ ที่อ่านพอเขาพูดถึงความรู้อะไรขึ้นมา พ่อแม่ก็จะสังเกตหรือสงสัยว่ารู้ได้ยังไง เด็กก็จะเป็นคนบอกเองว่าเอามาจากการ์ตูน 

     ช่วงที่ทำเล่มแรกๆ เราพยายามเขียนพวกคำนำหรือฝากไปถึงคุณครูและผู้ปกครองด้วยว่า การ์ตูนความรู้เป็นยังไง ต้องไกด์นิดนึงว่าอันนี้อ่านแล้วได้อะไรบ้าง ใช้เวลาประมาณ 2-3 ปีเหมือนกันกว่าจะได้การยอมรับ

เล่มแรกที่ทำคือเล่มไหน

     เอาชีวิตรอดจากเกาะร้าง ครับ 

     ยุคแรกๆ เซ็ต ‘เอาชีวิตรอดฯ’ จะดังมาก เพราะจุดเด่นคือถ้าไปเจอสถานการณ์นั้นๆ เช่น ติดถ้ำ แผ่นดินไหว หลงทางในป่าอะเมซอน ฯลฯ จะเอาชีวิตรอดยังไง เป็นตัวบุกเบิกการ์ตูนความรู้ของนานมีบุ๊คส์เลย ที่สำคัญคือมันเป็นวิทยาศาสตร์ด้วย 

ทำไมวิทยาศาสตร์ถึงสำคัญ

     พี่เรียนจบวิทยาศาสตร์มา แล้วรู้สึกว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องใกล้ตัวมาก บางเรื่องอาจต้องเรียนทฤษฎีจากที่โรงเรียน แต่บางเรื่องถ้าอ่านด้วยความเข้าใจเนื้อหาและสนุกไปกับมัน ก็จะเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น พี่เลยคิดว่าพอวิทยาศาสตร์สนุก เด็กก็จะชอบ

     วิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่อธิบายได้ เพราะฉะนั้นถ้าเขามีคำถาม เขาก็จะคิดว่ามันต้องมีคำตอบ มันต้องมีเหตุผล เช่น ถ้าหาทิศจะใช้ดาวได้ยังไง ก็เพราะว่ามันมีเรื่องของโลกที่หมุนโคจรรอบตัวเอง ต่อให้คุณติดเกาะ หรือหลงทาง แต่ถ้าคุณมีกระบวนการคิดหรือเข้าใจว่าทุกอย่างมีเหตุผล ก็จะช่วยให้เอาชีวิตรอดได้

เท่าที่สังเกต การ์ตูนความรู้ส่วนใหญ่ในแต่ละเซ็ตจะมีแก๊งตัวละครในการดำเนินเรื่อง พี่ไป๋คิดว่าการมีตัวละครช่วยในการเล่าเรื่องอย่างไร

     ถ้าเป็นของเกาหลี พี่ว่าเป็นเพราะตัวละครเหมือนเด็กจริงๆ มันไม่ได้สมบูรณ์แบบ มีจุดที่ซน ดื้อ หรือแกล้งกัน มันเลยไม่ใช่เด็กดีเท่าไหร่ 

เหมือนไม่ใช่การ์ตูนสอนใจขนาดนั้น?

     จริงๆ ก็มีแง่คิดของเขา แต่ด้วยตัวละครที่เขาออกแบบเลยทำให้มู้ดรวมๆ ดูสนุกสนานมากกว่า จะต่างจากการ์ตูนญี่ปุ่นนิดนึงเพราะคนอ่านเป็นผู้ใหญ่ แต่การ์ตูนความรู้คือเขียนให้เด็ก อายุตั้งแต่ 7-14 ปีอ่าน เพราะฉะนั้นทุกเรื่องจะทำมาให้โดนใจเด็ก เขียนให้เด็กชอบ

แล้วจำเป็นต้องปรับเนื้อหาต้นฉบับให้กับเข้ากับเด็กไทยบ้างหรือเปล่า

     ทางกองบรรณาธิการพยายามทำให้ความรู้ถูกต้องที่สุด เราจะมีทีมตรวจสอบข้อมูลและภาษาภายในเรื่องอยู่ตลอด แล้วก็ปรับบริบทให้มันเข้ากับของไทยด้วย อย่างพระเอกเรื่อง ล่าขุมทรัพย์ฯ ที่คุ้นๆ กันว่าชื่อ ฮีโร่ กับ เบ็ค นั้นจริงๆ ก็มีชื่อเกาหลีว่า จีปังยี กับ โดโตรี เพียงแต่ว่าเมื่อสิบกว่าปีก่อน เด็กบ้านเรายังไม่คุ้นกับชื่อเกาหลี แล้วพอเราเปลี่ยนชื่อมาแต่แรกก็เลยใช้มาจนถึงปัจจุบัน หรืออย่างเมื่อก่อนครอบครัวตึ๋งหนืดจะชอบกินแป้งต็อก แต่สมัยก่อนเด็กยังไม่รู้จัก เราก็ปรับเป็นไส้กรอก ซึ่งตอนนี้ก็ไม่ได้ปรับตรงส่วนนี้แล้ว เพราะคนไทยเริ่มรู้จักและเคยชินกับวัฒนธรรมเกาหลีดี

     ส่วนเรื่องปรับข้อมูลก็มีเหมือนกัน เช่น ในเล่มครอบครัวตึ๋งหนืดที่พูดถึงการฝากธนาคาร ซึ่งที่เกาหลีพวกดอกเบี้ย ระบบ สวัสดิการไม่เหมือนของไทย เราเลยต้องขออนุญาตทางเกาหลีปรับข้อมูลให้เข้ากับของไทย 

     จริงๆ พี่ว่าอันนี้ก็เป็นจุดนึงที่ทำให้เข้าถึงเด็กๆ ได้ง่ายในช่วงแรก ทั้งเรื่องบริบทและเรื่องชื่อ

ตอนเริ่มทำคาดหวังมั้ยว่าหนังสือชุดนี้จะทำให้เด็กๆ รักการอ่านมากขึ้น

     ก็คิดนิดนึง (หัวเราะ) แต่ตอนหลังมันไปได้มากกว่าที่เราคิดเยอะเลย มีช่วงหนึ่งที่มันเหมือนจะเปลี่ยนวัฒนธรรมการอ่านของเด็กไทยไปเลย มีช่วงที่บูมมากๆ เด็กหันมาอ่านหนังสือแนวนี้เยอะมาก ซึ่งพออ่านไปสักพัก พวกเขาก็จะก้าวไปสู่พวกวรรณกรรมหรืออ่านแนวอื่นๆ ที่หลากหลายมากขึ้น 

พี่ไป๋คิดว่าการอ่านหนังสือสำคัญกับเด็กมั้ย

     พี่คิดว่าการอ่านยังเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อพัฒนาการของเด็ก จริงๆ การ์ตูนช่วยฝึกการอ่านได้เยอะมาก เพราะเป็นสิ่งที่เขาอยากอ่าน บวกกับว่าพอเป็นการ์ตูนเด็ก ภาษาหรือระดับความรู้ก็จะเหมาะกับเขา มันช่วยลดเวลาที่เด็กจะใช้กับหน้าจอได้น้อยลง พ่อแม่ก็ยังอยากให้เด็กอ่านอยู่ แต่เรื่องสมาร์ตโฟนก็มีผลเยอะเหมือนกัน ครอบครัวตึ๋งหนืดยังต้องเขียนถึงเรื่องยูทูบเลย สอนเด็กๆ เป็นยูทูบเบอร์ หรือเล่นยูทูบอย่างไรให้ปลอดภัย ต้องนำเสนอเนื้อหาแบบไหนไม่ให้ละเมิดลิขสิทธิ์ มันก็ปรับไปตามยุคสมัย

แต่ในขณะเดียวกันมันก็มียูทูบหรือแชนเนลต่างๆ ที่เล่าเรื่องราวความรู้สนุกๆ เหมือนกัน การอ่านหนังสือเป็นเล่มๆ ดีกว่ายังไง

     พี่มองว่าการจะทำหนังสือออกมาสักเล่มมันมีกระบวนการที่ละเอียดมาก ยิ่งพอเป็นหนังสือเกี่ยวกับเด็ก การมีทีมกองบรรณาธิการช่วยสกรีนเนื้อหาว่าตรงนี้โอเคและเหมาะสมกับวัยของเด็กจริงๆ จึงสำคัญ 

     ด้านความถูกต้องและภาษาเราก็ทำให้เป็นมาตรฐานมาตลอด เราดูไปจนถึงฟอนต์กับการจัดหน้าด้วย ไม่ใช่ตรงนี้เท็กซ์แน่นแล้วต้องลดขนาดตัวอักษรให้มันเล็กลง ถ้ามันเล็กบ้างใหญ่บ้าง ก็จะอ่านลำบาก เราพยายามเซ็ตให้เป็นฟอร์แมตเดียวกัน แรกๆ คนก็คิดว่ามันจะดูจริงจังไปมั้ย แต่กลายเป็นว่าฟอนต์แบบนี้ทำให้เข้าถึงครูและผู้ใหญ่ได้ดีกว่า เพราะเราเป็นการ์ตูนความรู้ เลยต้องเอาความรู้มาชูให้ผู้ใหญ่เขายอมรับให้ได้ เขาจะได้อนุญาตให้เด็กอ่าน 

ไม่นานมานี้ การ์ตูนความรู้กลับมาเป็นกระแสในทวิตเตอร์มากๆ เหมือนเด็กทุกคนเคยผ่านช่วงที่อ่านการ์ตูนความรู้กันทั้งนั้น

     เห็นเหมือนกันครับ คือถ้าเป็นเมื่อก่อน เวลาพูดถึงหนังสือเก่าก็จะเป็นเล่มสีขาวพวกแอนน์ แฟรงค์ อะไรงี้ แต่ช่วงหลังๆ เวลาไปงานหนังสือจะมีกลุ่มวัยรุ่นมาชี้ๆ กันว่าเคยอ่าน เอาชีวิตรอดฯ หรือ ล่าขุมทรัพย์ฯ เล่มนั้นเล่มนี้ เลยรู้สึกว่าตอนนี้เล่มที่เราทำมากำลังกลายเป็นของย้อนวัยไปแล้ว (หัวเราะ)

ยอดขายปัจจุบันกับแต่ก่อนต่างกันเยอะมั้ย

     ปกติยอดส่วนใหญ่จะมาจากพวกร้านหนังสือ พอร้านหนังสือปิด พื้นที่ขายน้อยลงก็กระทบกันหมด แต่พอมาเจอโควิด-19 สิ่งที่มาได้คือออนไลน์ มันแย่แต่ก็ช่วยได้อยู่

     ถ้าตัวท็อปๆ เช่น ครอบครัวตึ๋งหนืด ก็ลดลงไปไม่เยอะ เพียงแต่ว่ามันลงไปเกือบทุกเล่ม ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะเด็กรุ่นใหม่ๆ ไม่ค่อยรู้จักกันหรือเปล่า แต่นั่นหมายถึงว่าเทรนด์เปลี่ยนไปด้วยนะครับ ชุดที่เมื่อก่อนดังอย่าง เอาชีวิตรอดฯ หรือ ล่าขุมทรัพย์ฯ ตอนนี้ก็ไม่ดังเท่าแต่ก่อนแล้ว แต่ก็มีชุดใหม่ที่ฮิตขึ้นมาแทน

ตอนนี้เขาฮิตอะไรกัน

     จะมี คุกกี้รันฯ เป็นอันดับหนึ่ง เด็กๆ รู้จักจากเกม พอมาเป็นการ์ตูนก็เลยเข้าถึงง่าย เขาชอบเพราะคาแรกเตอร์เยอะ แต่ละตัวก็มีนิสัยต่างกัน แล้วก็มี เรื่องผีๆ รอบโลก ส่วนเทรนด์ตอนนี้จะเป็นเรี่องอินเทอร์เน็ต ยูทูบ ไอดอล 

การ์ตูนราคาร้อยกว่าบาทเกือบสองร้อย ผู้ปกครองเขามองว่าแพงเกินไปมั้ย

     เขาก็มองว่าแพงแหละ การ์ตูนเล่มนึง 165 บาท แต่จริงๆ ปัจจุบันก็ยังราคาเดิมอยู่ แทบไม่ได้ขึ้นราคาเลย แรกๆ อาจจะดูแพง แต่หลังๆ พอเขานิยมกันมาก เราก็ไม่อยากจะขึ้นราคา อีกอย่างคือมันเป็นหนังสือเด็กด้วย ซึ่งเอาจริงๆ เด็กก็ไม่ได้มีเงินมากพอจะซื้อ ถ้าเขาเห็นว่าแพง ความอยากซื้อก็จะลดลง 

     เด็กที่อ่านส่วนใหญ่เป็นเด็กในเมือง เราเลยพยายามทำราคาพิเศษกระจายออกไปให้ทั่วๆ เพื่อให้เด็กต่างจังหวัดเข้าถึงได้ จะมีช่วงนึงที่ทำกับเซเว่นฯ เป็นการ์ตูนราคาพิเศษ อย่างเล่ม ครอบครัวตึ๋งหนืด ราคา 79 บาท ก็จะทำให้เด็กที่อาจไม่เคยเข้าร้านหนังสือในเมืองมีโอกาสอ่านด้วย 

ทางนานมีบุ๊คส์มีการทำงานร่วมกับกระทรวงหรือภาคเอกชนอื่นๆ เหมือนอย่างที่รัฐบาลเกาหลีสนับสนุนหนังสือการ์ตูนความรู้บ้างมั้ย

     มีบ้างครับ จะเป็นกลุ่มหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์หรือหน่วยงานทางการศึกษา เช่น สพฐ. (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) หรืออาจารย์จากสาขาวิชาต่างๆ มาช่วยตรวจสอบข้อมูล

ในฐานะคนทำชอบเซ็ตไหนเป็นพิเศษบ้าง

     ถ้ายุคก่อนๆ จะชอบ ล่าขุมทรัพย์ฯ เพราะทำให้ได้รู้จักประเทศต่างๆ แต่ไม่ใช่ว่านำเสนอประเทศนี้ในมุมเดียว อย่างเล่มที่ไปสวิตเซอร์แลนด์จะมีเรื่องนีโอนาซีที่เกลียดชาวต่างชาติ ซึ่งสุดท้ายมีเรื่องประทับใจว่าเรื่องของชาติก็ไม่สำคัญเท่าความเป็นมนุษย์ ในทุกๆ เล่มจะมีแง่มุมที่ทำให้เราได้คิดเสมอ

     อีกชุดที่ชอบก็คือ แก๊งซ่าท้าทดลอง เซ็ตนี้เป็นการ์ตูนวิทยาศาสตร์ เรื่องราวของกลุ่มเด็กๆ สี่คนในชมรมทดลองวิทยาศาสตร์ พระเอกจะไม่ค่อยเก่ง ในขณะที่พระรองจะหล่อมากและเก่งมาก แต่ละเล่มจะมีคอนเซปต์แตกต่างกันไป เช่น ความร้อน สารเคมี น้ำ เหมือนเอาซีรีส์เกาหลีกับการทดลองทางวิทยาศาสตร์มารวมกัน 

มีเซ็ตไหนที่อยากแนะนำให้ผู้ปกครองหรือน้องๆ บ้างหรือเปล่า

     ถ้าแนะนำผู้ปกครองต้องเป็น WHY ตอนนี้ออกมา 57 เล่มแล้ว เซ็ตนี้เหมือนเอาสารานุกรมที่อ่านเมื่อก่อนมาทำเป็นการ์ตูน อ่านเข้าใจง่ายมาก เพราะมีทั้งภาพการ์ตูนประกอบกับภาพจริง เขาจะรวมสิ่งสำคัญในแต่ละเรื่องไว้ในเล่มเดียว ซึ่งครอบคลุมมาก อ่านหมดเล่มนึงก็เข้าใจแล้ว 

     แต่ถ้าแนะนำเด็กๆ ที่เพิ่งเริ่มอ่านการ์ตูนก็ต้องเป็น คุกกี้รันฯ เพราะชุดนี้อ่านง่าย เนื้อเรื่องไม่ยาก เหมาะกับเด็กที่อยากฝึกอ่านหนังสือ มีทั้งที่เป็นประเทศต่างๆ แล้วก็แนววิทยาศาสตร์

พี่ไป๋จบวิทยาศาสตร์ทำไมถึงมาสนใจงานหนังสือ

     ตอนเด็กๆ พี่ชอบอ่านสารานุกรมมาก เลยตัดสินใจไปเรียนวิทยาศาสตร์ แต่พอไปเรียนแล้วมันเป็นความรู้ที่ลึกมาก พี่คิดว่ามันน่าจะมีวิธีการถ่ายทอดออกมาให้เข้าใจได้ง่ายๆ ก็เลยมาทำหนังสือ

พอมาทำแล้วชอบมั้ย

     เป็นงานที่รู้สึกว่าทำเพื่อโลกใบนี้ (หัวเราะ) เด็กได้ผ่อนคลาย สนุกไปกับเนื้อหาการ์ตูน ในขณะเดียวกันก็ได้ซึมซับความรู้ไปด้วย บางคนสามารถเอาความรู้ตรงนี้ไปใช้ในการเรียนที่โรงเรียนได้จริงๆ พี่มองว่าการ์ตูนความรู้เป็นบันไดขั้นหนึ่งของการอ่านที่น่าจะช่วยส่งเสริมให้เด็กรักการอ่านมากขึ้น แล้วก็คงเป็นเพียงช่วงเวลาหนึ่งของชีวิตที่พวกเขาจะได้อ่านหนังสือพวกนี้

     คนทำหนังสือก็อยากให้ขายดี แต่อย่างน้อยอ่านแล้วได้ความรู้ก็โอเคแล้ว จริงๆ แค่เขาอ่านหนังสือเล่มนึงแล้วรู้ว่าถ้าเกิดแผ่นดินไหว ฉันต้องไปหลบที่ไหน มันก็มีประโยชน์มากแล้วครับ

คำถามสุดท้าย ตั้งแต่วันแรกจนถึงปัจจุบัน จำได้มั้ยว่าทำไปกี่เล่มแล้ว

     โห เอาจริงๆ นะ จำไม่ได้แล้ว (หัวเราะ)