#WHATISHAPPENING
ONTWITTER
บทสนทนาเกิน 280 ตัวอักษร มากกว่า 100 เทรด ว่าด้วยมุมมองความคิดจากการอ่านของอาจารย์วัยสี่สิบ ผู้รับบทเป็นทวิตเตี้ยนมือใหม่
เรื่อง: ชนัดดา ตันนพรัตน์
ภาพ: กรินทร์ มงคลพันธ์
เราเชื่อว่าหลายคนคงพอรู้จัก หรืออาจถึงขั้นเป็นนักสิงทวิตเตอร์กันบ้างแล้ว
แต่ถ้าหากใครไม่เคยย่างกรายเข้าไปในดินแดนนกสีฟ้ามาก่อน เราขอเล่าให้ฟังแบบสั้นกระชับฉับไวในหนึ่งย่อหน้า
ถ้าเปรียบพื้นที่แห่งนี้เป็นเพื่อนสักคน ก็คงเป็นคนที่ไม่ค่อยเนี้ยบ ง่ายๆ สบายๆ เปิดโอกาสให้เราพูดไม่หยุด จะแสดงความเห็น ระบายความในใจก็ว่าไป แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นคนแมสๆ ฟีลเหมือนป้าข้างบ้านที่รู้จักคนและเรื่องไปทั่ว มีเรื่องราวหลากรสมาให้ติดตามนาทีต่อนาที ตั้งแต่อาหาร ที่เที่ยว ละคร ซีรีส์ นักร้อง ดารา ดราม่า อินฟลูเอนเซอร์ รีวิว ขายของ คำคม มีม (โอ๊ย สารพัด!)
รวมถึงประเด็นการเมืองและสังคม ที่เพื่อนคนนี้ได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการกระจายข้อมูล และสร้างกระแสความตื่นตัวบางอย่างขึ้นมา อย่างที่เราเห็นว่ามีแฮชแท็กการเมืองไทยหลายๆ อันติดเทรนด์โลกในปีที่ผ่านมา
แม้ตามรายงานจะบอกว่าพื้นที่ส่วนมากปกคลุมไปด้วยกลุ่มวัยรุ่น แต่เพราะการกระจายข้อมูลที่ล้นหลามจนเป็นกระแสอยู่หลายหน ก็ทำให้ผู้ใหญ่หลายคนสมัครเป็นทวิตเตี้ยนเข้าสู่พื้นที่แห่งนี้ไม่น้อย
หนึ่งในนั้นก็คือ ‘ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล’ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ระหว่างทำโปรเจกต์ #31DAYS31READERS เราเคยไปถามอาจารย์ถึงสิ่งที่อ่านแล้วประทับใจในปี 2020 และสิ่งที่อาจารย์วัยสี่สิบตอนปลายตอบ กลับไม่ใช่หนังสือหรือบทความวิชาการในดวงใจ แต่เป็นเทรนด์ทวิตเตอร์ (!) ที่เธอเพิ่งสมัครเข้าวงการไม่นานมานี้
เป็นตอนนั้นเองที่ฉุกคิดได้ว่ากาลครั้งหนึ่ง CONT. เคยประกาศตัวเป็นราชสำนักที่อยากพาไปสำรวจการอ่านทุกสรรพสิ่งของคน เราเลยนัดแนะพูดคุยกับอาจารย์อีกสักหน เพื่อสำรวจการอ่านทวิตเตอร์ของทวิตเตี้ยนมือใหม่คนนี้ว่าการเข้าถึงสื่อออนไลน์ชนิดนี้เป็นยังไง สนุก ว้าวซ่าในสายตานักวิชาการอย่างเธอขนาดไหน
SIGN-UP
เราสมัครทวิตเตอร์ครั้งแรกปี 2554 ตอนนั้นเราอายุ 15 ว่ากันอย่างไม่เคอะเขิน หลังนั่งงง งมหาวิธีเล่นพักใหญ่ จำได้ว่าใช้ทวิตเตอร์เป็นกระดาษจดความในใจ พิมพ์ไปบ่นไป และฟอลโลว์แอ็กเคานต์คำคม…
ตัดภาพมาที่ปี 2563 อาจารย์กนกรัตน์ในวัย 45 เพิ่งสมัครแอ็กเคานต์ทวิตเตอร์ แม้จะมีอคติเล็กๆ กับแพลตฟอร์มนี้บ้าง แต่เพื่อตามหาคนกลุ่มหนึ่ง เธอจึงยอมพาตัวเองเข้าสู่คอมมิวนิตี้นี้ ก่อนจะได้ขยับวงกว้างอัพเดตเทรนด์ เสพเรื่องราวบนสื่อนี้เป็นประจำทุกเวลาหลังอาหาร เช้า กลางวัน เย็น เพื่อดูว่าวันนี้เกิดอะไรขึ้น
แต่เดิมอาจารย์เล่นโซเชียลฯ ไหนบ้าง
ถ้าปกติจะมีเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ไลน์ ยูทูบ เพิ่มทวิตเตอร์เข้าไปเมื่อปี 2563 แล้วก็ปีนี้เพิ่งเล่นเรดดิต แต่ก็ยังไม่ได้จริงจัง
เพื่อนรุ่นๆ เดียวกับอาจารย์เล่นทวิตเตอร์กันบ้างไหม
ในหมู่เพื่อนสนิท คนแรกที่เล่นคือ ประจักษ์ ก้องกีรติ พอเขาไปอยู่บนโลกทวิตเตอร์ ก็พยายามมาโน้มน้าวคนอื่น พยายามฮาร์ดเซลว่า เฮ้ย พวกเราเป็นนักวิชาการ เราต้องไปเล่นทวิตเตอร์กันแล้ว โลกของคนรุ่นใหม่อยู่บนนั้นหมด ถ้าไม่เล่นเราจะไม่เข้าใจคนรุ่นนี้เลย เราจะไม่เข้าใจปรากฏการณ์ฟ้ารักพ่อ ซึ่งตอนนั้นก็ไม่มีใครสนใจนะ คิดว่ามันก็เป็นเทรนด์ของคนรุ่นใหม่เฉยๆ
แล้วอะไรทำให้อาจารย์เข้าวงการทวิตเตอร์
เยาวชนในม็อบ เพราะเราต้องทำงานวิจัยเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชน ซึ่งม็อบแรกที่เราเลือกจะไปเก็บข้อมูลคือ ม็อบกาฬสินธ์ุกับสุรินทร์ เราได้ยินมาว่ามันมี #สะเร็นไม่สลิ่ม ก็พอรู้ว่าเป็นของจังหวัดสุรินทร์ (สะเร็น เป็นภาษาถิ่นจังหวัดสุรินทร์ แปลว่า สุรินทร์) ตอนนั้นเสิร์ชในกูเกิลไม่เจอข่าวพูดถึงเลย กับที่ผ่านมาเราจะหาคอนแทกต์คนที่จะสัมภาษณ์ไว้ก่อนแล้วค่อยไปสถานที่จริงด้วย เลยถามผู้ช่วยงานวิจัย เขาก็บอกให้เราลองสมัครทวิตเตอร์ดูไหม สมัยนี้ทุกอย่างมันอยู่ในทวิตเตอร์หมดแหละ หลังจากนั้นเราก็ใช้ทวิตฯ เป็นพื้นที่คุยกับคนรุ่นนี้มากขึ้น ซึ่งมันดูเป็น research method ที่น่าสนใจเหมือนกันนะ
ถ้าไม่มีงานวิจัย ไม่ต้องตามหาคนมาสัมภาษณ์ อาจารย์คิดว่าจะเข้ามาเล่นไหม
คิดว่ายังไงก็ไม่เข้า เราประเมินว่าฟังก์ชั่นของทวิตฯ กับเฟซบุ๊กคงเหมือนกัน และคอมฟอร์ตโซนของเราอยู่ในเฟซบุ๊ก เฟซบุ๊กมีทุกอย่าง ทั้งเพื่อน ความวิชาการ ข่าวการเมือง มันคงไกลเกินกว่าที่เราอยากจะเปลี่ยนแพลตฟอร์มไปแล้ว
ก่อนหน้านี้เรามีมุมมองแง่ลบกับทวิตเตอร์ด้วย ผ่านคำบอกเล่าของเพื่อนรุ่นเดียวกัน เพื่อนนักวิชาการ เพื่อนที่เป็นนักเคลื่อนไหว เขาบอกว่าที่นี่มันไม่เหมาะกับพวกเรา ไม่มีอะไรน่าสนใจ มันสั้น มันฉาบฉวย มันไม่ลึกซึ้ง 280 ตัวอักษร มันจะไปบอกอะไรได้ เราอยู่ในโลกเฟซบุ๊กน่ะดีแล้ว
แต่คนที่พูดแบบนี้กับเราก็คือไม่เคยเล่นทวิตเตอร์นะ (หัวเราะ)
LOGIN
ขณะนี้ให้คุณผู้อ่านจินตนาการวินาทีที่กดล็อกอินเข้าสู่ดินแดนนกสีฟ้า เมื่อเจอหน้า Home พร้อมประโยคถามว่า What’s happening? เพื่อให้คุณพิมพ์อะไรสักอย่างไม่เกิน 280 ตัวอักษร และกด Tweet คุณจะพิมพ์ว่าอะไร?
ส่วนเราขอพิมพ์เรื่องของอาจารย์กนกรัตน์เมื่อได้ล็อกอินเข้าโลกใหม่ที่ไม่คุ้นเคย ซึ่งเธอไปเจอเรื่องราวมากมายจนเราไม่อาจเรียบเรียงคำตอบของเธอให้ไม่เกิน 280 ตัวอักษรได้
ล็อกอินเข้าไปแล้วทำอะไรเป็นอย่างแรก
โอ้โห พระเจ้า เราเสิร์ช #สะเร็นไม่สลิ่ม มีโพสต์ขึ้นมาเยอะมาก แล้วการเข้าไปอยู่ในทวิตฯ ทำให้เรารู้จักคนรุ่นนี้มากกกก (ลากเสียง) ขึ้น แบบที่เราไม่ต้องนั่งนึกเอาเอง คนที่เราอยากรู้จัก เขาไม่ได้อยู่ในโลกของเราแล้ว ในเฟซบุ๊กเราจะไม่เจอพวกเขาเหล่านี้ ที่นี่ต่างหากคือพื้นที่ที่เราจะรู้จักพวกเขา
อาจารย์เริ่มติดต่อกับพวกเขายังไง
ด้วยนิสัยของคนรุ่นเก่า เรา direct message ไปหาคนที่ทวีตเกี่ยวกับ #สะเร็นไม่สลิ่ม ทำนองว่าขอสัมภาษณ์ได้ไหม (หัวเราะ) ส่งไปเกือบร้อยคน มีคนตอบกลับมาแค่ 1-2 คนเอง
มีคนหนึ่งที่เขาคงรู้ว่าเราเป็นใคร เลยบอกกับเราว่าปกติเขาไม่ direct message หากัน คนที่เราทักไปเขาอาจจะกลัวได้ ถ้าอาจารย์จะโพสต์หาใคร อาจารย์ติดแฮชแท็กในข้อความไปเลย เหมือนเป็นวัฒนธรรมของทวิตเตี้ยนที่จะไม่ direct message หากัน ถ้าไปโพสต์พื้นที่สาธารณะเขาจะรู้สึกปลอดภัยมากกว่า แต่ว่าตอนนั้นเราไม่รู้ไง
ซึ่งแอ็กเคานต์เราในทวิตฯ ก็ใช้ชื่อจริงนะ คือมันไม่ปกติเหรอ?
ฮ่าๆๆๆ ปกติค่ะ (เอ๊ะ หรือไม่ปกตินะ) ว่าแต่อาจารย์คิดยังไงตอนเห็นชื่อแอ็กเคานต์คนอื่นในทวิตฯ
เออ แปลกดี มันหมูหมากาไก่อะไรก็ได้เลย เอาจริงๆ ทุกวันนี้เราแทบจะไม่อ่านชื่อคน จำรูปได้มากกว่าด้วยซ้ำ มันเหมือนเป็น nameless society ชื่อไม่สำคัญเลย เราว่าถ้าคอนเทนต์คุณเจ๋งจริง ทวีตคุณก็ไป
หมายความว่าตัวบุคคลไม่สำคัญเท่าเนื้อหาใช่หรือเปล่า
สำหรับเรา ทวิตฯ มันเป็นสื่อที่ยึดเหตุการณ์ ประเด็นที่อยู่ในเทรนด์เป็นเรื่องสำคัญ เราไม่ได้สนใจว่าคนที่ทวีตเป็นใคร โลกทวิตเตอร์ของเราเลยเป็นการฟอลโลว์ประเด็นที่สนใจมากกว่า
หลายครั้งข้อความของคนที่ถูกรีทวีตมาคือใครที่ไหนก็ไม่รู้ แต่ประเด็นแม่งถูกใจ จับประเด็นดี ถ่ายทอดความรู้สึกได้ มันเลยทำให้การติดตามคนในทวิตเตอร์ของเราไม่ได้ยึดติดแค่ว่าใครฉลาดหรือดังที่สุด
ความไม่แสดงตัวตนของคนในทวิตฯ ไม่ส่งผลต่อการอ่านเหรอ
เราคิดว่าการไม่แสดงตัวตน หรือ anonymous ไม่เท่ากับความไม่รับผิดชอบ (irresponsibility) นะ คือมุมผู้ใหญ่จะมองว่าการไม่แสดงตัวตนเป็นเรื่องอันตราย ไร้ความรับผิดชอบ อยากจะด่าใครก็ด่า แต่ประเด็นสำหรับเราก็คือ คุณต้องมองว่าถ้าในสังคมมีความปลอดภัยในการแสดงออกความคิดเห็น ในสังคมที่คิดแบบมีเหตุมีผล ไม่มีใครอยากปกปิดตัวตน ใครๆ ก็อยากมีตัวตน แต่การที่คนเราต้องปกปิดก็เพราะสังคมไม่ปลอดภัย การวิพากษ์วิจารณ์ดูเป็นเรื่องเกรี้ยวกราดในทัศนคติของสังคม ซึ่งในโลกที่ทุกอย่างต้องปรับปรุงพัฒนา จะก้าวหน้าได้ก็ต้องเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ แต่ปัญหาคือเราเปราะบางมาก คิดว่าทุกคนโจมตีเรา ไม่ชอบเรา ซึ่งมันไม่ใช่ สังคมวิพากษ์วิจารณ์กันเพราะมันผิดหลักการ มันเป็นปัญหา เราต้องพยายามยอมรับการถูกวิพากษ์วิจารณ์ให้ได้
การวิพากษ์วิจารณ์โดยไม่แสดงตัวตน มันเป็นปัญหาสำหรับคนที่ไม่ค่อยมีวัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์ แต่สำหรับคนรุ่นคุณ เราคิดว่าทุกคนแม่งก็ไม่แสดงตัวตนหมด (หัวเราะ) อย่างเช่น อีเจี๊ยบเลียบด่วน คือใคร จากไหนก็ไม่รู้ แต่โคตรดังเพราะคอนเทนต์ เพราะฉะนั้นความน่าเชื่อถือ หรือไม่น่าเชื่อ อีกมุมหนึ่งมันก็ขึ้นอยู่กับการมีวัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์แตกต่างกันด้วย
นอกจากเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์และการจับประเด็น มีเรื่องไหนในทวิตฯ ที่ทำให้อาจารย์รู้สึกว้าวอีกไหม
ความเร็ว การตามข่าวว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้น กระแสเป็นยังไง มันเกิดเร็วมากในทวิตเตอร์ ไม่มีทางที่เฟซบุ๊กจะทำงานได้เร็วเท่า ซึ่งความเร็วมันเปลี่ยนโลกการรับรู้ข่าวสารไปเลย ไม่ว่าคุณจะมีเงินขนาดไหนในการเซตทีมลงไปไลฟ์เหตุการณ์ แต่คุณไม่มีวันทันชาวทวิตเตี้ยนแน่นอน คุณไม่สามารถส่งคนไปอยู่ทุกมุมของม็อบได้ คุณไม่มีทางส่งคนไปอยู่ในทุกพื้นที่ของประเทศไทย เพื่อจะรายงานเรื่องโควิด-19 ได้ คุณไม่มีทางที่จะเข้าใจว่าคนในสังคมคิดยังไงกับประเด็นนี้ได้รวดเร็วเท่าทวิตเตอร์
เรื่องไหนบ้างที่ทำให้อาจารย์อ่านแล้วรู้สึกว่ามันมาเร็วมาไวมากๆ
ม็อบ โควิด-19 การเมืองต่างประเทศ และความคิดของคน
นี่เป็นสี่เรื่องที่เราตามในทวิตฯ แล้วรู้สึกว่าเร็วมาก ยกตัวอย่างเรื่องม็อบ เราแทบจะรู้ได้ทันทีว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้นในม็อบจากแฮชแท็กต่างๆ เหมือนตอนที่คุณเอก (ธนกร วงษ์ปัญญา) ผู้สื่อข่าวของ THE STANDARD โดนสะเก็ดระเบิด (#ม็อบ16มกรา) ภายในไม่ถึง 2-3 นาที รูปของคุณเอกก็ถูกโพสต์ลงทวิตฯ และรีทวีตต่อเรียบร้อยแล้ว โดยที่เอกยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่ารูปตัวเองเป็นยังไง
นอกจากสี่เรื่องนี้อาจารย์อ่านหรือรีทวีตฯ อะไรอีกบ้าง พวกแมว หมา มีม…เอ่อ…อาจารย์รู้จักมีมใช่ไหม
ฉันรู้จักคำว่ามีมย่ะ (หัวเราะ) แต่พื้นที่ในทวิตฯ ของเราไม่มีคนที่ชอบเสพวัฒนธรรมแง่มุมแบบนั้นเลย เพราะคนที่ไปกดฟอลโลว์ไว้มีแต่เรื่องการเมืองทั้งนั้น ไม่มีอย่างอื่น
…เขาทวีตเรื่องแมวกันด้วยเหรอ
มีค่ะ อย่างคนที่เราติดตามก็จะมีรีทวีตภาพหมา มีม โควตตลกๆ ตัดพ้อชีวิตการทำงานสลับกับการเมืองบ้าง
อ๋อ นี่เป็นสิ่งที่อยู่ในทวิตฯ ใช่มั้ย
จริงๆ เราว่าจุดเริ่มต้นของทวิตฯ มันมาจากการเป็นพื้นที่ระบายความเครียด แสดงออกถึงความเบื่อ อึดอัด ความคับข้องใจ หรือไม่พอใจต่อโลกแห่งความเป็นจริงที่กำลังเผชิญอยู่ ทั้งดาร์กไซด์ของชีวิต ทั้งความต้องการมีเสียงต่อข่าวในสังคม แค่บังเอิญว่าตอนนี้เรื่องการเมืองมันกินพื้นที่มากกว่า
แล้วเวลาอ่านทวิตฯ มากๆ อาจารย์รู้สึกเครียดไหม
คุณอ่านไลน์กรุ๊ปก็เครียดได้ มันไม่ใช่ปัญหาของสื่อ แต่เป็นปัญหาของโลกที่มีข่าวเต็มไปหมด ซึ่งเรามองว่าแต่ละคนจะค่อยๆ เรียนรู้และปรับตัวในโลกที่ข่าวสารมันถาโถมได้มากขึ้นว่า เออ กูไม่ได้อยากรับข่าวมหาศาลขนาดนั้น ร่างกายจะปรับตัวเสพน้อยลง คุณต้องเชื่อว่ามนุษย์มีวิวัฒนาการ ไม่ได้เกิดมาเพื่อทำร้ายตัวเอง เดี๋ยวมันก็จะค่อยปรับตัวไป นี่อาจจะเป็นคำตอบที่ไม่ค่อยมีเหตุผลเท่าไหร่นะ (หัวเราะ)
EXPLORE
ถ้าคุณเคยตามแฮชแท็กข่าวหรือดราม่าสักเรื่องในทวิตฯ แล้วพบว่าตัวเองวนอยู่ในโซนนี้ไปค่อนวัน #เราคือเพื่อนกัน เพราะความสนุกของโซนนี้คือการที่เราได้รู้ว่า ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจกับอะไร ทวิตเตี้ยนในไทยกำลังปั่น หรือแหกเรื่องไหนอยู่ แถมบางเรื่องที่เรารู้ ทวิตเตี้ยนรู้ สื่อหลักไม่ได้เผยแพร่ด้วย
อาจารย์กนกรัตน์เองก็สนุกไปกับการอ่านเทรนด์ประจำวัน จนกลายเป็นกิจวัตรประจำวันที่ต้องหมั่นเช็กตลอด
ว่าแล้วก็ขอชวนทุกคนไปดูว่า Trend for Kanokrat มีเรื่องอะไรบ้าง #ผายมือ
ถ้าต้องเลือก TOP 3 เรื่องที่อ่านแล้วประทับใจ มีเรื่องอะไรบ้าง
อันแรกที่ประทับใจมากคือเรื่อง เทย์เลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift) ซึ่งเป็นพาร์ตบันเทิงแรกๆ ที่เราสนใจว่า เฮ้ย มันเกี่ยวกับการเมืองยังไงวะ ก็เลยไปค้นหาข้อมูลต่อ ทำให้เรารู้ว่าการเมืองสำหรับคนรุ่นนี้มันยังกระทบพวกเขาในมิติที่ผู้ใหญ่ไม่เข้าใจด้วย (เหตุการณ์ที่ว่าคือการยกเลิกคอนเสิร์ตเทย์เลอร์ สวิฟต์ จากการรัฐประหารปี 2557—CONT.) ถ้าผู้ใหญ่เห็นก็คงบอกว่า มึงบ้าหรือเปล่า แค่ไม่ได้ดูคอนเสิร์ตจะเป็นจะตายอะไร แต่จริงๆ พวกเขาเชื่อมโยงความชอบในชีวิตไปกับปัญหาโครงสร้างทางการเมือง ขนาดคอนเสิร์ตกูยังไม่ได้ดูเลย นับประสาอะไรกับปัญหาโครงสร้างอื่นๆ ในสังคม ซึ่งทุกองค์ประกอบในชีวิตของเขามันสำคัญหมด
สองคือ Anti One China มันทำให้เรารู้จักสิ่งที่เรียกว่า เทรด (Thread) แล้วก็พบว่า เฮ้ย ทวิตฯ ก็มีเนื้อหาลึกๆ ได้เว้ย ซึ่งเราเคยคุยกับคนที่ทำเทรดอธิบายเรื่อง Anti One China เลยได้รู้ว่าวิธีการจัดทำข้อมูลของคนรุ่นนี้คือไปนั่งแปลเอกสารวิชาการ ไปตามข่าวต่างๆ ที่เกี่ยวกับการกดขี่ของรัฐบาลจีนมาทำเป็นเทรด สร้างแฮชแท็ก #MilkTeaAllience (พันธมิตรชานม) เพื่อสนับสนุนการเรียกร้องประชาธิปไตยในไทย ฮ่องกง ไต้หวันด้วย
สุดท้ายคือ Save Myanmar คนรุ่นใหม่เมื่อเข้าสู่โลกโซเชียลมีเดียมักจะกลายเป็น global citizen และเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกที่ทำให้รู้สึกว่า คนรุ่นนี้มีความสากลนิยม ขณะที่พม่าเกิดการรัฐประหาร เราเกิดกระบวนการเซฟความเป็นมนุษยชน ซึ่งเป็นความคิดว่า คนที่ถูกกดขี่ในระบอบเผด็จการคือเพื่อนเราทั้งหมด
การอ่านเรื่องในเทรนด์ทำให้เรามักจะเห็นความคิดของกลุ่มคนที่มีความสนใจแบบเดียวกัน มันจะ Echo Chamber ไหม อาจารย์มองเรื่องนี้อย่างไร
พื้นที่ข่าวการเมืองไทยในทวิตฯ ปัจจุบัน ยังไงก็มีแต่คนรุ่นใหม่ มันไม่ได้เป็นพื้นที่ของรอยัลลิสต์ คนที่ชอบรัฐบาลเผด็จการ ในแง่นึงเราว่าก็ echo chamber (พื้นที่ที่เรารับความคิดที่ตรงกับความเชื่อมั่นของตัวเอง โดยเหตุผลที่เห็นต่างจะไม่ถูกนำมาพิจารณา) แต่ปัญหาคือเราไม่มีพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงความเห็น นี่ก็เลยเป็นพื้นที่ปลอดภัยของกลุ่มคนที่คิดเห็นเหมือนกันทางการเมือง ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก มันเป็นเซฟโซนของเขา เป็นพื้นที่ที่เขาจะได้แสดงออกความคิดและเจอคนที่คิดเหมือนกันบ้าง แต่เขาก็ต้องตระหนักว่า นี่มันไม่ใช่โลกทั้งใบของการเมืองไทย ยังมีคนจำนวนมากโดยเฉพาะคนที่มีอำนาจในการตัดสินใจประเทศนี้ ไม่ได้อยู่ในทวิตฯ
ยิ่งตอนนี้มันมี Clubhouse สิ่งนี้มันโคตร echo chamber หรือจะบอกว่าเป็นการเลือกด้วยตัวเอง (self selected) ก็ได้ เราเลือกสิ่งที่เราอยากฟัง ต้องการฟังได้เลย แถมมีมุมน่าสนใจหลายมิติด้วย อย่างประเด็นแหลมคม เรื่องที่พูดไม่ได้ก็พูดได้มากขึ้น สร้างความเป็นผู้นำในคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่เฉพาะคนดังเท่านั้นที่เปิดห้องได้ ใครๆ ก็เป็นสปีกเกอร์ได้ ช่วยสร้างพลังให้เขารู้สึกว่า คนที่คิดเหมือนเรามันโคตรเยอะเลยว่ะ
NOTIFICATIONS
พื้นที่ส่วนนี้ในทวิตเตอร์คือ การแจ้งเตือนว่าใครกดรีทวีต ใครกดชื่นชอบ ใครเอ่ยถึงเรา ไปจนถึงทวีตที่น่าสนใจ
ดังนั้น เราขออนุญาตเมนชั่นแอ็กเคานต์อาจารย์ พิมพ์ข้อความถามถึงเรื่องการอ่านทวิตเตอร์ที่ผ่านมานั้นแจ้งเตือนเรื่องอะไรให้เธอบ้าง
หลังเข้าวงการทวิตฯ อาจารย์มองภาพมันเปลี่ยนไปแค่ไหน
ทวิตฯ กลายเป็นเครื่องมือที่มีส่วนร่วมทางการเมืองของคนที่ไม่มีอำนาจ และไม่มีพื้นที่แสดงออก นอกจากม็อบบนถนนที่มีต้นทุนสูง การมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนรุ่นนี้เกิดในทวิตฯ ได้ มันสะท้อนว่าพวกเขาไม่มีพื้นที่ทางการเมืองจริงๆ ไม่มีเครื่องมือที่จะทำให้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในม็อบ เพราะสื่อกระแสหลักไม่ให้ความสนใจ ข่าวก็ยังไม่เป็นข่าว ต้องปั่นทวิตฯ ถึงจะได้เป็นข่าวในกระแสหลัก
ถ้าเรามัวแต่อยู่ในเฟซบุ๊ก ไลน์กลุ่ม คงไม่รู้ว่าโลกนี้เกิดอะไรขึ้น เพราะมันไม่มีจริงๆ ก็เหมือนเด็กในม็อบที่เราไปสัมภาษณ์ เขาก็บอกว่า จะไม่ให้โกรธได้ยังไง โลกในทวิตฯ เดือดมาก จะสองล้านทวีตแล้ว สื่ออื่นไม่มีพูดถึงเลย เงียบ ทุกวันนี้ทุกคนเหมือนอยู่กันแบบ live happily ever after มีความสุขตลอดไป เรื่องทุกอย่างเงียบสงบ ไม่มีข่าวอะไรเลย
อย่างนี้ถือว่าทวิตฯ ทำหน้าที่ได้ดีกว่าสื่อกระแสหลักหรือเปล่า
ทวิตฯ ประเทศไทยตอนนี้คือสื่อพลเมือง ที่ให้คนทั่วไปทำข่าวในท้องถิ่นที่สื่อมวลชนไปไม่ถึง ทุกคนรายงานข่าวได้ แต่ถามว่ามันจะมาแทนที่สื่อหลักไหม เราว่ายังไม่ได้ ยังแทนที่ความเป็นสื่อเชิงสืบสวนสอบสวนที่ต้องทำข่าวเชิงลึกต่อเนื่อง ลงทุนสูงไม่ได้
อาจารย์คิดเห็นอย่างไรกับการสวมบทเป็นกึ่งๆ นักข่าวของชาวทวิตเตี้ยน
คนรุ่นใหม่ใช้ทวิตฯ สร้างสกิลสองอย่างที่คนรุ่นเก่าไม่มี
หนึ่งคือทักษะในการสรุป รวบยอดประเด็นความคิดต่างๆ ให้สั้นที่สุด เหมือนอ่านหนังสือหนึ่งเล่มแล้วสรุปภายในสองบรรทัด คนรุ่นเก่าหลายคนไม่ถนัด แต่คนรุ่นนี้ทำได้ แล้วจะต้องอธิบายให้คนอื่นเข้าใจอย่างง่ายที่สุดด้วย
สองคือการหาคีย์เวิร์ด เวลาคุณทำอะไรก็คิดด้วยว่าจะใช้แฮชแท็กอะไรดี ให้คนที่อยู่ในคอมมิวนิตี้เดียวกันรู้ คุณอาจจะรู้สึกว่าก็ปกตินี่หว่า แต่คนรุ่นเก่าอย่างเรา เขาคิดไม่ออกนะว่าจะไปเริ่มต้นเสิร์ชยังไง ซึ่งคุณต้องสรุปรวบยอดเก่งมาก ทำยังไงให้ความอึดอัดทั้งหมดในความคิดกลายเป็นหนึ่งคำหนึ่งประโยค
เพราะการใช้คำ ภาษา หรือการเขียนของคนรุ่นใหม่หรือเปล่าที่ทำให้คนรุ่นเก่าเข้าไม่ถึง
ผู้ใหญ่อาจมองว่าทำไมใช้คำไม่สุภาพ อ่านแล้วรับไม่ได้ จริงๆ ผู้ใหญ่อาจต้องยอมรับก่อนว่า สำหรับคนรุ่นใหม่ ทวิตฯ เป็นพื้นที่ในการแสดงออกความคิดเห็นของเขา ซึ่งมันแสดงออกถึงอารมณ์ ขยายความความรู้สึก สำหรับผู้ใหญ่มันอาจจะดูเกรี้ยวกราด แต่ในขณะเดียวกัน ผู้ใหญ่ก็เหมือนเป็นเอเลี่ยนที่กำลังเอาทัศนคติเรื่องภาษาซึ่งอยู่นอกจักรวาลนั้นไปตัดสินเขาว่า คุณพูดคำนี้คือผิด คำเหล่านี้ไม่ควรพูด
เราว่าเหตุผลของคนรุ่นใหม่ที่ไปอยู่ในทวิตฯ คือ เขาไม่มีพื้นที่อื่นในการแสดงออกด้วยรูปแบบของตัวเอง ส่วนการใช้คำหยาบ หรือการโจมตีอย่างรุนแรงในมิติที่หลากหลายมาก จนอาจดูเหมือนว่ากูวิจารณ์ทุกอย่างในโลกนี้ เรามองว่ามันเป็น expressive langage เป็นภาษาแห่งการแสดงออกถึงอารมณ์ ความรู้สึก ความคิดของชาวทวิตเตี้ยนนะ แต่ในปีที่ผ่านมา เราก็ชวนคนอายุมากให้หันมาเล่นทวิตฯ กัน
แล้วเขาเล่นไหม
เขาลองแล้วรู้สึกว่าไม่สบายใจ นี่มันไม่ใช่โลกของเขา มันเป็นคนละ political culture จริงๆ เพราะอย่างที่บอก กว่าจะมีเทรนด์ประจำวันที่เป็นของฝ่ายอนุรักษนิยมขึ้นมาสักอัน IO ปั่นกันแทบตาย
อีกอย่างที่ยากที่สุดคือ การเปลี่ยนแปลงนิสัยการเสพข่าวในโลกที่เปลี่ยนแปลงช้าอย่างคนรุ่นเก่า ต้องเข้าใจว่าเขาเสพสื่อแบบหนึ่งแทบจะตลอดชีวิต ตรรกะในการคิด วิธีการเสพ การเข้าถึง มันกลายเป็นกิจวัตรไปแล้ว
แบบนี้เรื่องที่เราสื่อสารกันมันจะอิมแพกต์กับสื่อ หรือคนที่เป็นผู้ใหญ่ได้ยังไง
นั่นแหละปัญหา ถ้าคนที่ไม่เชียร์ฝ่ายประชาธิปไตยก็ด่าอยู่แล้ว แต่กลุ่มคนที่ยังลังเลหรือกำลังคิดอยู่ พอเขาเจอภาษาปุ๊บ เขาถอยเลย ทำไมใช้คำหยาบ ทำไมชอบวิพากษ์วิจารณ์ ทำไมไม่พูดกันดีๆ นี่คือกำแพงอันแรกเลยที่ทำให้สื่อกระแสหลัก หรือผู้ใหญ่เชื่อมกับโลกทวิตฯ ไม่ได้
จริงๆ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าคนในทวิตฯ จะพูดเพราะหรือไม่เพราะ จะใช้ภาษาเดียวกับผู้ใหญ่หรือไม่ มันเป็นเพราะสังคมนี้มีปัญหาโครงสร้างทางการเมือง ระบบราชการที่ไม่มีประสิทธิภาพ
ปัญหานี้มันใหญ่กว่าภาษามาก มากกว่าที่เราจะมาบังคับให้คนที่อยู่ในทวิตฯ เปลี่ยนภาษาให้ผู้ใหญ่เข้าใจเขามากขึ้น