Tue 05 Jan 2021

31 DAYS 31 READERS

ชวนไปดูบันทึกการอ่านที่ประทับใจ โดยบุคคลที่โดดเด่นประจำปี ว่าในรอบปี 2020 นี้ พวกเขาอ่านอะไรกันบ้าง

เรื่อง: CONT.

ภาพ: NJORVKS

     หลังจากแจกความสดใสให้ทุกคนมาตลอดเดือนธันวาคม เราขอรวบรวมบันทึกการอ่านที่ประทับใจโดยบุคคลที่โดดเด่นประจำปี 2020 ทั้ง 31 คนมาไว้ในที่เดียว ใครลืมอ่านวันไหนไม่ต้องย้อนให้เหนื่อย ตามไปดูกันได้เลยจ้า

DAY 1

     รองขาโต๊ะ เพจรีวิวหนังสือมาแรงที่เพิ่งเปิดเพจเมื่อกลางปี 2020 โดยยึดคติมีตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล และเต็มไปด้วย bias ยิ่งหนังสือเล่มไหนได้คะแนนรีวิวติดลบมากเท่าไหร่ แปลว่าหนังสือเล่มนั้นยิ่งดีถูกใจเขา

     “ปีนี้อ่านหนังสือแนวประวัติศาสตร์-การเมืองเยอะ จำได้ว่าอ่านเล่มนี้ช่วงกันยายน เป็นหนังสือที่ออกมาได้ถูกเวลา ในช่วงที่ประเทศไทยเกิดวิกฤตทางการเมืองอีกครั้ง และผู้คนกลับไปรื้อประวัติศาสตร์กัน ทำให้ ‘คณะราษฎร’ กลับมามีชีวิตอีกรอบ 

     การอ่าน ‘ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี’ เป็นการย้อนกลับไปอ่านการเมืองยุคสงครามเย็น ด้วยหลักฐานใหม่ๆ เป็นหลักฐานที่มาจากหน่วยข่าวกรองของอเมริกา (CIA) เสียเยอะ ถือเป็นการขยับเพดานของการศึกษาการเมืองในอดีต

     การอ่านเล่มนี้ทำให้เราได้มุมมองใหม่ๆ ต่อกลุ่มการเมืองในอดีต เป็นหนังสือที่อ่านเอาสนุกก็สนุก อ่านเอาความรู้ใหม่ๆ ก็ได้ ถือว่าครบรส เป็นเล่มที่ชอบมากที่สุดในปีนี้ครับ”

     หนังสือ: ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี 

     เขียน: ณัฐพล ใจจริง 

     สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน

DAY 2

     เติร์ด—อนุโรจน์ เกตุเลขา นักร้องนำวง Tilly Birds วงดนตรีเจ้าของเพลงฮิตอย่าง ‘ยังคงสวยงาม’, ‘จำเก่ง’ และ ‘คิด(แต่ไม่)ถึง’ ที่เพิ่งคว้าอันดับ 1 เพลงไทยที่มียอดสตรีมสูงสุดในประเทศไทยมาสดๆ ร้อนๆ จากเวที Spotify 2020 Wrapped

     “ปีนี้ไม่ค่อยได้อ่านหนังสือ จริงๆ คือไม่ได้อ่านเลย ฮ่าๆ แต่ได้อ่านเกี่ยวกับการเมืองเยอะมาก เป็น Thread ในทวิตเตอร์บ้าง บทความบ้าง VDO Essay บ้าง แล้วก็พวกข่าว 

     เราชอบอันนึงที่ อ.กนกรัตน์ (ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล) ออกมาพูดเรื่องม็อบเยาวชน เราอ่านเรื่องนี้ช่วงปลายเดือนกันยายน ช่วงที่เริ่มออกมามีมูฟเมนต์กันแล้ว คือผู้ใหญ่อาจจะมองไม่เห็นว่ามีเสียงส่วนมากของเยาวชนอยู่ในโซเชียลฯ ที่เขาไม่ได้เล่น พอเขาไม่รู้เลยออกมาพูดว่ามีคนอยู่เบื้องหลังม็อบ หรือเด็กโดนจ้างมา แต่ไม่ใช่เลย ทุกคนไปอยู่ในทวิตเตอร์กับอินสตาแกรมกันหมด เขาพูดให้ผู้ใหญ่่ได้เข้าใจว่าทำไมวัยรุ่นถึงไม่พอใจแล้วออกมาเรียกร้องกัน”

     บทความ:  ‘เมื่อหนุ่มสาวยืนขึ้นโห่ร้อง’ คุยกับ ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล ถึงขบวนการนักเรียน-นักศึกษา

     เผยแพร่โดย The MATTER 

DAY 3

     MOBtheppitak. เพจอินฟลูเอนเซอร์เจ้าของผลงาน Politicooks. คลิปวิดีโอสอนทำอาหารแบบง่ายๆ ที่แอบจิกกัดประเด็นการเมืองได้แซ่บพอๆ กับรสชาติอาหาร

     “ตอนแรกเลือกไม่ถูกว่าจะแนะนำเล่มไหนระหว่าง ‘ปีแสง’ ของ ‘พี่ดาว—ดุจดาว วัฒนปกรณ์’ หรือจะเป็น ‘คิมจียอง เกิดปี 82’ เขียนโดย ‘โชนัมจู’ เพราะทั้งสองเล่มอ่านง่ายมากสำหรับเรา 

     เล่มแรกเป็นเรื่องที่ personal มากๆ ของพี่ดาว เขาเขียนออกมาให้เราเห็นถึงด้านที่อ่อนแอที่สุดของตัวเอง แต่ถ้าให้เลือกเล่มที่ชอบที่สุดของปีคงยกให้ ‘คิมจียองฯ’ มากกว่าแล้วกัน (อ้าว เผลอแนะนำสองเล่มเฉยเลย ฮา) เราเลือกอ่านเล่มนี้ตอนช่วงที่ภาพยนตร์ซึ่งสร้างขึ้นจากหนังสือเล่มนี้กำลังโปรโมตอยู่ เราอยากรู้เรื่องก่อนไปดูด้วยแหละ พอได้อ่านแค่คำโปรยปกหลังก็ซื้อเลย รู้สึกโชคดีที่ได้อ่าน เพราะเราไม่ได้ชอบการเล่าเรื่องในเวอร์ชั่นหนังขนาดนั้น (รวมถึงวิธีการโปรโมตด้วย)

     ในแง่การอ่าน ความเป็น non-fiction ของมันและความยาวที่ไม่มากไปพยุงให้เราพอจะอ่านไปได้เรื่อยๆ จนจบในไม่กี่วัน (ถือว่าเก่งมากที่ทำให้คนอย่างเราอ่านจบได้) แต่ที่อยากแนะนำเล่มนี้ก็เพราะมันเป็นหนังสือที่ทำให้ทุกคนเข้าใจความ struggle ของการเกิดเป็นผู้หญิงในสังคมชายเป็นใหญ่ที่แข็งแกร่งมากๆ อย่างเกาหลีใต้ และเราเชื่อว่าไม่ใช่แค่ในเกาหลีใต้หรอก สิ่งที่ผู้หญิงถูกกดทับทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็นมันมีความเป็นสากลหมดทั้งโลก การบรรยายความบิดเบี้ยวของระบบการคิดของตัวละครทั้งหญิง (ที่ถูกกดอยู่ในกรอบปิตาธิปไตย) และชายที่ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านเหตุการณ์ต่างๆ แล้วทำให้คนอ่านรู้สึกว่าเหี้ยอะไรเนี่ย

     เราคิดว่าถึงคนอ่านจะยังไม่ตระหนัก ไม่รู้จักคำว่าเฟมินิสต์ หรือไม่รู้จักศัพท์สังคมวิทยาใดๆ เลยก็ตาม หนังสือเล่มนี้น่าจะเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ทำให้คนอ่านคนนั้นมองโลกเปลี่ยนไป และตั้งคำถามถึงความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัว” 

     หนังสือ: คิมจียอง เกิดปี 82

     เขียน: โชนัมจู

     แปล: ตรองสิริ ทองคำใส

     สำนักพิมพ์ เอิร์นเนส พับลิชชิ่ง

DAY 4

     วิเคราะห์บอลจริงจัง เพจที่หยิบเอาเรื่องราวของกีฬาหลากหลายแง่มุมมาเล่าจนถูกใจคนทุกเพศทุกกลุ่ม ถึงขั้นมีคำพูดที่ว่า ไม่เคยดูกีฬาก็อ่านเรื่องจากเพจนี้สนุกได้ ราวเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ‘วิศรุต’ เจ้าของเพจวิเคราะห์บอลจริงจัง ได้ตีพิมพ์ ‘CHAMPION’S WAY’ หนังสือรวบรวมเส้นทางสู่ความสำเร็จของทีมฟุตบอลลิเวอร์พูลในการคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2019-20 ซึ่งเขาเปิดขายด้วยการพรีออเดอร์เพียงอย่างเดียว แต่กลับทำยอดขายไปได้ถึง 6,850 เล่ม!

     “ปีนี้อ่านหนังสือแนวอัตชีวประวัติไปเยอะมาก เล่มล่าสุดคือ ‘El Diego: The Autobiography’ อัตชีวประวัติของ ดีเอโก้ มาราโดน่า คืออ่านในวาระมาราโดน่าอายุครบ 60 ปี แต่อยู่ๆ หลังครบ 60 ไม่กี่วัน มาราโดน่าก็เสียชีวิตเลย กลายเป็นว่าสิ่งที่เราอ่านจบไป มันมีความหมายมากขึ้นกว่าเดิมอีก

     ส่วนเล่มที่ชอบคือ ‘เลี้ยงลูกอย่างไร…ไม่ให้เป็นฆาตกร’ ของ ‘สรจักร ศิริบริรักษ์’ เล่าประวัติฆาตกรต่อเนื่องที่โด่งดังในโลก นี่เป็นหนังสือมาสเตอร์พีซที่สุดอีกเล่มในสายชีวประวัติเลย เรื่องเล่า การใช้คำ ทุกๆ อย่าง สุดยอดมากๆ 

     เราอ่านเล่มนี้ช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2020 เพราะคิดว่าปีนี้ที่ไทยเกิดเหตุฆาตกรรมแบบเหลือเชื่อเยอะเลย ตั้งแต่คดีชิงทองที่ลพบุรี ตามด้วยกราดยิงที่โคราช และปลายเดือนกรกฎาคมก็มีเรื่องคดีของบอส อยู่วิทยา ที่ขับรถชนตำรวจเสียชีวิตอีก เราเลยตั้งคำถามในใจว่า คนที่เป็นฆาตกรเนี่ย เขาอยากจะฆ่าใครตั้งแต่เกิดเลยเหรอ หรือว่ามันมาจากการเลี้ยงดูกันแน่ ซึ่งผู้เขียนเล่มนี้ สรจักร อธิบายว่า เฮ้ย การที่ใครสักคนจะลุกมาฆ่าคนได้ ส่วนใหญ่เกือบ 90 เปอร์เซนต์ต้องมีปมบางอย่างจากสมัยเด็ก ดังนั้นคนที่เป็นพ่อเป็นแม่ ถ้าไม่อยากให้ลูกโตไปแล้วเข้าสู่เส้นทางหายนะ ก็สามารถดูกรณีศึกษาที่หล่อหลอมฆาตกรต่อเนื่องเหล่านี้ได้ และเราจะได้ไม่ไปทำสิ่งนั้นกับลูกหลานของเรา 

     นี่เป็นหนังสือชีวประวัติที่มีประโยชน์มาก เขียนด้วยคำอันสวยงาม และเป็นแรร์ไอเทมเล่มหนึ่ง เพราะคุณสรจักรเสียชีวิตไปแล้ว แต่ก็หาไม่ยากขนาดนั้น มีวางขายทั่วไป ทั้งมือ 1 และมือ 2”

     หนังสือ: เลี้ยงลูกอย่างไร…ไม่ให้เป็นฆาตกร

     เขียน: สรจักร ศิริบริรักษ์

     สำนักพิมพ์มติชน

DAY 5

     แป้งหอม เจ้าของแอคเคานต์ @topazine ที่มีผู้ติดตามกว่า 3 แสนคนในทวิตเตอร์ อดีตเป็นคนเคยแรง ปัจจุบันหันมาเป็นนักรบไซเบอร์ฝั่งประชาธิปไตยเต็มตัว

     “เรามองว่า ‘ปีศาจ’ ใช้วิธีการเล่าแบบยาขมเคลือบน้ำตาล หน้าฉากเป็นเหมือนนิยายรัก แต่สอดแทรกความเหลื่อมล้ำ ความแตกต่างระหว่างชนชั้น การกดขี่ของชนชั้นนำ นายทุน ภาพของเกษตรกรที่แม้จะขยันเท่าไหร่ก็ไม่สามารถมีชีวิตที่ดีขึ้น เพราะถูกผู้มีอำนาจเอาเปรียบ ฯลฯ ทั้งหมดถูกเล่าอย่างลื่นไหล ไม่รู้สึกว่าเป็นการยัดเยียด มีการสอดแทรกสัญลักษณ์ปีศาจลงไปหลายจุด แต่จุดที่สำคัญที่สุดและกลายเป็นภาพจำของนวนิยายเรื่องนี้ก็คือ ปีศาจคือกาลเวลา

     นอกจากเนื้อหาในหนังสือแล้ว ประวัติของหนังสือเล่มนี้ก็มีความพิเศษ ด้วยเชื่อกันว่า ‘ปีศาจ’ เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่มีอิทธิพลมากต่อนักศึกษาที่เข้าร่วมชุมนุมในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 

     หนังสือเล่มนี้เขียนมาตั้งแต่ปี 2500 แต่ยังทันสมัยอยู่ หรือพูดอีกอย่างก็คือ เรายังไม่หลุดพ้นจากสภาพสังคมเมื่อ 63 ปีที่แล้ว ยังมีความเหลื่อมล้ำ มีความแตกต่างระหว่างชนชั้น การกดขี่จากผู้มีอำนาจ ทุกอย่างยังคงอยู่ แต่กาลเวลาก็ได้สร้างปีศาจตนใหม่ๆ ที่มาพร้อมความคิดใหม่ๆ ที่จะมาหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า ด้วยบริบท เนื้อหา และประวัติของหนังสือ ที่เหมาะกับสถานการณ์ในช่วงเวลานี้เหลือเกิน”

     หนังสือ: ปีศาจ 

     เขียน: เสนีย์ เสาวพงศ์

     สำนักพิมพ์มติชน

DAY6

     นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ผู้กำกับภาพยนตร์ที่ผลงานเรื่องล่าสุดของเขาอย่าง ‘ฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ’ ถูกคัดเลือกให้เป็นตัวแทนภาพยนตร์ไทยส่งเข้าชิงรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 93 สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม

     “เป็นปีที่รู้สึกว่าความรู้หมดแล้ว เราต้องการของใหม่สูงมาก เพราะฉะนั้นวิธีการก็คือ ไปดูอะไรที่ไม่คุ้นเลย เราเลยดูสารคดีเพิ่มขึ้นเยอะมาก แต่ไม่ใช่สารคดีที่จริงจังขนาดนั้น จะเป็นพวกสารคดีที่เป็นเหมือน introduction ของเรื่องใหม่ๆ ที่เราอาจจะสนใจ พวกรายการ explained, Abstract หรือที่ดูเยอะหน่อยก็ Technique Critique เป็นรายการที่เอาผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านมาดูว่าสิ่งที่อยู่ในหนังมันถูกหรือผิด เช่น พานักฟิสิกส์มาดูหนังที่มีฟิสิกส์ พา FBI มาดูหนังที่เกี่ยวกับ FBI แล้วให้พวกเขาบอกว่าอันไหนจริงหรือไม่จริง อันไหนน่าจะเกิดหรือไม่เกิด

     ถ้านึกถึงหนังสือที่ชอบมันจะมีอยู่เล่มเดียวที่ป๊อปอัพขึ้นมาเร็วมากคือ ’21 บทเรียนสำหรับศตวรรษที่ 21’ ของ ‘ยูวัล โนอาห์ แฮรารี’ ซึ่งจริงๆ เซตนี้มีสามเล่ม แต่เล่มนี้บางสุด ผมเลยอ่านเล่มนี้ก่อน คืออย่าง ‘เซเปียนส์’ ก็อยากลองอ่าน แต่คิดว่าเอาเล่มนี้ให้จบก่อน เพราะผมเป็นคนอ่านหนังสือช้าแบบบางทีก็ไปไม่จบ แต่เล่มนี้อ่านจบอย่างไม่น่าเชื่อ อาจเพราะเป็นหัวข้อที่ตัวเองสนใจอยู่แล้ว

     เล่มนี้มันพูดถึงว่า จากเทคโนโลยีที่เป็นอยู่ตอนนี้ อนาคตของมนุษย์จะพัฒนาหรือเป็นยังไงต่อไป แล้วมันจะไปเปลี่ยนสังคมได้ยังไง โดยพื้นฐานเราชอบอะไรพวกนี้อยู่แล้ว ซึ่ง ’21 บทเรียนสำหรับศตวรรษที่ 21′ พูดเรื่องนี้ทั้งเล่ม และทุกครั้งที่พูดถึงเทคโนโลยี เขาก็จะกลับไปที่คนอยู่ดี 

     ผมคิดว่าแซมเปิลเขาดี เหมือนเขาเป็นคนอธิบายแล้วเข้าใจง่าย และผมก็รู้สึกว่าเรื่องที่เขาเล่ามันเกี่ยวข้องกับตัวเรา เพราะทุกครั้งที่เขาพูดถึงเทคโนโลยี เขาก็จะกลับไปพูดเรื่องคนอยู่ดี และอาจเพราะส่วนตัวเป็นคนสนใจเทคโนโลยีในแง่ที่ว่ามันเปลี่ยนชีวิตคนได้ยังไงอยู่แล้วด้วย เพราะหนังที่ทำมาก็เหมือนเป็นเรื่องพวกนี้ตลอดเลย อย่าง ‘มั่นใจว่าคนไทยฯ เกลียดเมธาวี’ ก็ได้ เรื่องนี้เกิดขึ้นไม่ได้เมื่อ 20-30 ปีก่อนแน่ๆ แต่พอมันมีโซเชียลฯ มา พฤติกรรมคนหรือว่าซีนใหม่ๆ situation ใหม่ๆ ก็เกิดขึ้นได้ ซึ่งมันก็มีทั้งแง่ดีและไม่ดี

     เอาจริง มันเป็นหัวข้อที่อยากรู้อยู่แล้วด้วย แต่ไม่รู้ว่าต้องอ่านเล่มไหน เผอิญว่ามาเจอเล่มนี้ก็เลยรู้สึกว่ามันให้ความเข้าใจเกี่ยวกับไอ้โลกทั้งใบที่เป็นอยู่ได้ไม่มากก็น้อย”

     หนังสือ: 21 บทเรียนสำหรับศตวรรษที่ 21 (21 Lessons for the 21st Century)

     เขียน: Yuval Noah Harari

     สำนักพิมพ์ยิปซี

DAY 7

     รัศม์ ชาลีจันทร์ อดีตเอกอัครราชทูตไทย ที่เพิ่งเปิดเพจ ทูตนอกแถว The Alternative Ambassador ไปเมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยนอกจากจะหยิบเอาประสบการณ์ทางการทูตและการต่างประเทศมาเล่า ยังมีการแสดงความเห็นทางการเมืองและสังคมเป็นระยะ

     “ปีนี้ผมอ่านหนังสือน้อย เพราะเอาแต่นั่งเขียนหนังสือของผมเอง ซึ่งก็ยังไม่เสร็จ แต่ก็ทำให้ผมอ่านเรื่องประวัติศาสตร์และศาสนาเยอะหน่อย ด้วยความที่หนังสือที่กำลังเขียนเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ครับ 

     เล่มที่ได้อ่านแล้วเห็นว่าน่าสนใจก็คือ ‘The History of the World in Bite-Sized Chunks’ ของ ‘Emma Marriott’, ‘All the Lives We Never Lived’ ของ ‘Anuradha Roy’, ‘ว่าด้วยเอกเทวนิยม: เส้นทางของพระผู้เป็นเจ้าของจริง’ ของ ‘ธเนศ วงศ์ยานนาวา’, ‘Moby Dick’ ของ ‘Herman Merville’, ‘Fields of Blood: Religion and the History of Violence’ ของ ‘Karen Armstrong’ 

     แต่เล่มที่อยากแนะนำก็คือ ‘ประวัติศาสตร์โลกฉบับไม่ง่วง’ ของ ‘อีริค แสส’ กับ ‘สตีฟ ไวแกนด์’ เป็นหนังสือที่รวบรวมประวัติศาสตร์โลกไว้ค่อนข้างครบครัน ทำให้เห็นภาพรวมประวัติศาสตร์ของทั้งโลกในแง่มุมต่างๆ หลายๆ ด้าน ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ศาสนา ที่สำคัญคืออ่านง่าย สนุก ข้อมูลแน่น ควรมีเก็บไว้เป็นเรฟเฟอเรนซ์ ไปคุยกับใครก็จะดูดีมีความรู้ 420 บาท คุ้มสุดๆ ครับ”

     หนังสือ: ประวัติศาสตร์โลกฉบับไม่ง่วง (The Mental Floss History of the World) 

     เขียน: Erik Sass และ Steve Wiegand

     สำนักพิมพ์ a book

DAY 8

     Readery ร้านหนังสือออนไลน์ที่นอกจากจะทำให้การอ่านเป็นเรื่องเซ็กซี่แล้ว ‘โจ้—อนุรุจน์ วรรณพิณ’ (1) และ ‘เน็ต—นัฏฐกร ปาระชัย’ (2) ยังจัด Readery Podcast รายการพ็อดแคสต์ที่แนะนำหนังสือเป็นประจำทุกสัปดาห์ อีกทั้งยังขยับขยาย เปิดคลาสเกี่ยวกับการเขียนเชิงสร้างสรรค์ในนาม Plot อีกด้วย

     (1)

     “ปีนี้อ่านหนังสือไปร้อยกว่าเล่ม ครึ่งหนึ่งคืออ่านหนังสือที่เป็นกระแสเพราะต้องอัด Readery Podcast และอีกครึ่งหนึ่งเป็นหนังสือ Creative Writing ต่างๆ เช่น ‘Writing Down the Bone: Freeing the Writer Within’ ของ ‘Natalie Goldberg’, ‘Bird by Bird’ ของ ‘Anne Lamott’

     หนังสือแห่งปียังไงก็ต้องยกให้เล่มนี้ ‘ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี’ ของ ‘ณัฐพล ใจจริง’ เพราะอาจารย์ณัฐพลเขียนเรื่องประวัติศาสตร์ให้เข้าใจง่าย สนุกแซ่บ อ่านไปตาสว่างไป สว่างแล้วก็สว่างอีก มันทำให้เราเข้าใจว่า อ๋อ เรามาสู่จุดนี้กันได้อย่างไร และทำไมบางคนยังคงมีมายด์เซตแบบโดนฝังหัวไม่เปลี่ยน หนังสือเล่มนี้คืออาวุธเพื่อคลายมนตร์ดำที่ฝังอยู่ในหัวเราตั้งแต่ยุคสงครามเย็น

     (2)

     “ปีนี้ทำ Readery Podcast ทั้งหมด 33 เอพิโสด ก็ได้หน้าที่การเป็นโฮสต์รายการพ็อดแคสต์นี่แหละที่บังคับให้ตัวเองได้อ่านหนังสือ กับที่อ่านเยอะเลยในปีนี้คือบทความใน Medium เพราะกดติดตาม Publication หลายๆ อันที่สนใจเอาไว้ (และอ่านให้คุ้มค่า subscription) นอกจากนี้แล้วคืออ่านหนังสือ Creative Writing เพื่อเอามาใช้ในคลาสเรียนของโปรเจกต์ Plot ที่เป็น Creative Writing Workshop ที่เพิ่งปั้นกันปีนี้

     เล่มที่ชอบคือ ‘Bird by Bird’ โดย Anne Lamott เพิ่งซื้อฉบับ 25th Anniversary Edition (2019) มา มีอีกเล่มกับตัวเป็นปกดั้งเดิมปี 1994 กระดาษเหลืองกรอบแล้ว มีรอบพับ มีขีดเส้นใต้ เยินประมาณหนึ่งเพราะเป็นเล่มที่หยิบมาอ่านซ้ำบ่อยๆ โดยเฉพาะช่วงเดือนธันวาคม หรือวันไหนก็ได้ที่พยากรณ์อากาศบอกว่าอุณภูมิลดลงจากปกติไปอีก 3 องศา ช่วงอากาศเย็นมีอารมณ์อ่านหนังสือประเภท memoir เสมอ

     Anne Lamott เขียนไว้ช่วงต้นๆ เล่มว่า “ฉันจะเล่าทุกอย่างที่ฉันรู้เกี่ยวกับการเขียน” หนังสือเล่มนี้เลยเป็นเหมือนบันทึกทุกอย่างที่เธอถ่ายทอดในคลาสการเขียนของเธอ ถ้าใครอ่านเล่มนี้แล้วก็จะรู้ว่าชื่อหนังสือมาจากความทรงจำถึงพี่ชายของเธอตอนอายุสิบขวบ ช่วงเวลาปิดเทอมกำลังจะหมดลงแต่ยังไม่ได้เริ่มเขียนการบ้านที่ต้องเขียนรายงานเรื่องนกต่างๆ ตอนที่กำลังสติแตกอยู่นั่นเอง พ่อของเธอ (ซึ่งก็เป็นนักเขียน) ก็โอบไหล่ปลอบลูกชายว่า ค่อยๆ เขียนเรื่องนกไปทีละตัวนะไอ้ลูกชาย ทีละตัว เดี๋ยวก็เสร็จจนได้…

     หนังสือเล่มนี้จึงไม่ได้เป็นแค่การสอนเทคนิคการเขียน แต่เป็นการแชร์ประสบการณ์การใช้ชีวิตแบบนักเขียน อ่านเล่มนี้ครั้งแรกตอนที่เริ่มอยากเขียน อยากเป็นนักเขียน ปลอบใจเราว่าเป็นเรื่องธรรมดานะที่งานชิ้นแรกๆ ของเรามันจะห่วย และการเป็นเพอร์เฟกต์ชั่นนิสต์คืออย่างแรกที่ต้องทิ้งไปหากต้องการเป็นนักเขียน (เพราะมันจะคอยกีดกันไม่ให้เราลงมือเขียน)

     อยากแนะนำให้คนที่ทำงานเขียนทุกคนอ่านเล่มนี้”

     (1)

     หนังสือ: ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี 

     เขียน: ณัฐพล ใจจริง 

     สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน

     (2)

     หนังสือ: Bird by Bird  

     เขียน: Anne Lamott

     สำนักพิมพ์ Anchor

DAY 9

     เป๋า—ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ทนายความและผู้จัดการ iLaw (โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน) ผู้เป็นหัวเรือคนสำคัญในการรวบรวมรายชื่อประชาชนกว่าแสนคนเพื่อยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560

     “ปีนี้ไม่ค่อยได้อ่านอะไรเลย อ่านแต่รัฐธรรมนูญ (หัวเราะ) ช่วงที่ผ่านมามีชุมนุมทางการเมืองเยอะ ก็เลยประทับใจกับบทกวีหลายอัน อันหนึ่งก็คือ ‘หมดจิตหมดใจจะใฝ่ฝัน’ แล้วก็ ‘เธอไม่ได้เดียวดายใต้ฟ้ากว้าง’ 

     ผมอ่านช่วงปลายเดือนตุลาคมที่มีการชุมนุมค่อนข้างต่อเนื่อง ผมรู้สึกว่าบทกวีมันแทนความรู้สึกของคนที่อัดอั้น คนที่พยายามต่อสู้กับอะไรสักอย่างแล้วมันไม่ง่ายได้ดี มันแสดงให้เห็นว่าพวกเขาต้องผ่านอุปสรรคขวากหนามเยอะขนาดไหน”

     (1)

     บทกวี: หมดจิตหมดใจจะใฝ่ฝัน

     เขียน: ยังดี วจีจันทร์

     (2)

     บทกวี: เธอไม่ได้เดียวดายใต้ฟ้ากว้าง

     เขียน: ไม่ปรากฏนามผู้เขียน

DAY 10

     ไอติม—พริษฐ์ วัชรสินธุ CEO แห่ง Startdee แอพพลิเคชั่นด้านการศึกษา ผู้เขียนหนังสือ ‘Why So Democracy ประชาธิปไตยมีดีอะไร’ และโฮสต์ประจำรายการพ็อดแคสต์ ‘Pro & Constitution รัฐธรรมนูญไทยดีไซน์ได้’ รายการที่ชวนพวกเราไปดูว่า ‘รัฐธรรมนูญ’ ที่ดีไม่ได้มีเพียงแบบเดียว แต่สามารถออกแบบ และปรับใช้ให้เข้ากับชีวิตผู้คนได้

     “จริงๆ ปีนี้ก็ไม่ได้อ่านหนังสือแนวที่แตกต่างไปจากเดิม ปกติผมจะอ่านอยู่สองแนว หนึ่งคือเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ส่วนอีกประเภทหนึ่งคือประวัติศาสตร์การเมือง ซึ่งพอปีนี้การเมืองในประเทศไทยค่อนข้างร้อนแรง คนจึงหันมาสนใจอ่านหนังสือแนวนี้มากขึ้น ทำให้หนังสือหรือบทความเกี่ยวกับการเมืองก็มากขึ้นตามไปด้วย 

     หนังสือที่ผมอยากแนะนำในปีนี้คือ ‘ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี’ ของคุณณัฐพล ใจจริง ผมว่ามาแรงที่สุดในปีนี้ ท่ามกลางกระแสการเมืองที่ร้อนแรง การย้อนกลับไปพูดถึงประวัติศาสตร์การเมืองอย่างกว้างขวาง การที่คุณณัฐพลปล่อยหนังสือเล่มนี้ออกมา ถือว่าเป็นจังหวะที่ดี ถ้าเป็นภาษาชาวเน็ตก็ต้องเรียกว่า เบิกเนตร ตาสว่าง จากเหตุการณ์บางอย่างที่เราเคยเชื่ออีกแบบหนึ่ง 

     ผมมักจะพูดอยู่เสมอว่า เวลาอ่านหนังสือประวัติศาสตร์การเมือง เราไม่ควรเชื่อทันที จริงๆ ไม่ว่าหนังสือเล่มประเภทไหน เราก็ควรเก็บกลับมาคิด วิเคราะห์ และพยายามนำไปเปรียบเทียบกับชุดข้อมูลอื่น เพียงแต่ว่าชุดข้อมูลที่คุณณัฐพลหยิบยกขึ้นมานั้น มันเป็นข้อมูลที่แตกต่างโดยสิ้นเชิงจากสิ่งที่เราเคยเรียนกันมา นี่จึงชี้ให้เห็นถึงปัญหาของการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ในโรงเรียนไทย ซึ่งเกิดจากการสอนประวัติศาสตร์ด้านเดียว คิดว่าคุณค่าของการเรียนประวัติศาสตร์คือการสอนให้คนรักชาติ ให้เห็นแต่ด้านดี โดยที่ไม่ได้พยายามถอดบทเรียนจากความผิดพลาดในอดีต ทั้งที่จริงๆ เป้าหมายของการเรียนประวัติศาสตร์ก็คือการคิดวิเคราะห์ จากข้อมูลหรือหลักฐานที่ขัดแย้งกัน ซึ่งทักษะการวิเคราะห์เหล่านี้จะกลายเป็นภูมิคุ้มกันในอนาคตต่อปัญหาข่าวปลอม 

     บ้านเราคิดว่าการจะแก้ปัญหาข่าวปลอมได้คือการเซ็นเซอร์ แต่จริงๆ ทางออกที่ยั่งยืนกว่าก็คือการสร้างภูมิคุ้มกัน เพราะต่อให้มีข้อมูลเท็จมากแค่ไหน ผู้คนก็สามารถคิดวิเคราะห์ได้เอง ซึ่งผมคิดว่าหนังสือเล่มนี้คือจุดเริ่มต้นที่ดี ที่ทำให้เราได้รู้ว่า ประวัติศาสตร์ในช่วงนั้นไม่ได้มีข้อมูลเพียงชุดเดียวตามที่เคยเรียนกัน อยากให้ทุกคนอ่าน เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยค่อยว่ากัน เพราะเราเรียนกันมาด้านเดียวตลอด เราควรจะได้รู้อีกด้านหนึ่งด้วย”

     หนังสือ: ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี

     เขียน: ณัฐพล ใจจริง

     สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน

DAY 11

     แรปเตอร์—สิรภพ อัตโตหิ แกนนำกลุ่มเสรีเทยพลัส ผู้อยู่เบื้องหลัง ‘ม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล’

     “ปีนี้อ่านหนังสือเยอะกว่าปีก่อนๆ อ่านช่วงโควิด-19 แหละ เราชอบเล่ม ‘สิทธารถะ’ มาก เป็นเรื่องที่พูดถึงการเดินทางทางจิตวิญญาณ สิทธารถะออกตามหาการดับทุกข์ด้วยตนเอง โดยไม่เดินตามพระพุทธเจ้า ไม่ใช่เพราะปฏิเสธคำสอน แต่ต้องการค้นหาสัจธรรมนั้นด้วยตนเอง สุดท้ายเขาก็ค้นพบการดับทุกข์ในความเรียบง่ายและเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ 

     หนังสือเล่มนี้ทำให้เรารู้สึกว่า ชีวิตมันคือการเดินทางว่ะ เราคาดหวังจากผลลัพธ์และสูตรสำเร็จน้อยลง แล้ว Appreciate กับการเดินทางและเห็นคุณค่าของระหว่างทางมากขึ้น”

     หนังสือ: สิทธารถะ

     เขียน: เฮอร์มานน์ เอสเส

     สำนักพิมพ์ Exlibris

DAY 12

    อินทิรา เจริญปุระ นักแสดงมากความสามารถ ที่ในปีนี้นอกจากจะเป็นโฮสต์รายการพ็อดแคสต์ ‘I’m ทราย, Thank You’ แล้ว ยังมีผลงานหนังสือในชื่อเดียวกันกับสำนักพิมพ์บันบุ๊กส์ และยังเข้าร่วมการเรียกร้องประชาธิปไตยโดยการเป็นท่อน้ำเลี้ยงและกระบอกเสียงให้กับกลุ่มชุมนุมต่างๆ ด้วย

    “เราอ่าน ‘ความรับผิดชอบส่วนบุคคลของมนุษย์ใต้เผด็จการ’ รู้สึกจะอ่านเล่มนี้ช่วงตุลาฯ จริงๆ เป็นหนังสือที่ได้ยินชื่อมานานมากแล้ว แต่ไม่ได้อ่านเพราะไม่มีใครแปลไทย ><

    อ่านแล้วมันใช่มากตามชื่อหนังสือเลย ฮ่าๆๆๆ คิดดูว่าเขียนตั้งแต่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ยังเอามาใช้ได้ โดยเฉพาะเรื่องในไทยตอนนี้ คือถ้าระบบมันเหี้ย คนที่ทำงานให้ระบบเหี้ยๆ แบบ “เห็นใจพี่เหอะ นายพี่สั่งมา” เนี่ย มันคือยังไงวะ จะโทษแต่ระบบเหรอ หรือในฐานะมนุษย์เราต้องยอมแค่ไหนเหรอ

    เราว่ามันคือคำถามสำคัญสำหรับทุกคนในปีนี้ และสำหรับความเป็นมนุษย์เลย”

    หนังสือ: ความรับผิดชอบส่วนบุคคลของมนุษย์ใต้เผด็จการ (Personal Responsibility Under Dictatorship) 

    เขียน: Hannah Arendt

    แปล: เนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล และ วศินี พบูประภาพ

    สำนักนิสิตสามย่าน

DAY 13

     GroundControl เพจที่เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ศิลป์ย่อยง่าย จากทีมผู้จัด Self-Quarantour ซีรีส์ทัวร์ชมงานศิลปะแห่งปีที่เต็มไปด้วยสาระบันเทิงและอรรถรส สู่คอมมูนิตี้ของคนรักศิลปะ และ Collaborative Agency ที่ทำงานเชื่อมโยงเรื่องราวและผู้คนหลากหลายสาขามาเจอกัน ทั้งศิลปะ ธุรกิจ หรือวิทยาศาสตร์ ก่อตั้งโดย ผ้าป่าน—สิริมา ไชยปรีชาวิทย์, คริสซี่—ศิขรินทร์ ลางคุลเสน และ ปอน—อังกูร ไชยปรีชาวิทย์

     “สำหรับทีม GroundControl ปีนี้ค่อนข้างหลากหลาย (เนื่องจากมีกันหลายคน /แท่ม แท๊ม!) ด้วยความที่ทำงานเกี่ยวกับโซเชียลมีเดียและวงการออนไลน์ การเสพข้อมูลช่วงนี้จึงจะกลายเป็นจากเว็บไซต์เสียมากกว่า เพื่อให้ทันท่วงทีกับการนำเสนอข่าวสารและข้อมูล แต่ก็ยังช้อปหนังสือไม่หยุดย่อนเหมือนเดิม ด้วยคุณค่าทางจิตใจ การได้สัมผัสหนังสือจริงๆ ยังเป็นสิ่งที่ทางทีมรักและหวงแหน 

     แต่รวมๆ แล้วที่โดดเด่นเหมือนๆ กัน จะเทมาทางวงการศิลปะ ทั้งประวัติศาสตร์ รวมไปจนถึงป๊อปคัลเจอร์ เพราะนี่คือหัวข้อที่เราสนใจโดยตรง และสามารถปรับมาใช้ในการทำงานได้ด้วย 

     เล่มที่ชอบ ขอยกมาสองเล่มที่ (คิดว่า) น่าจะเป็นตัวแทน GroundControl ได้อย่างดี เล่มแรกคือ ‘The Story of Art’ โดย ‘E. H. Gombrich’ เล่มนี้เหมือนที่พึ่งทางใจ และกระดูกสันหลังของ GroundControl เลย เพราะรวบรวมที่สุดของที่สุดแล้ว หากเราไม่มั่นใจในอะไรก็กลับมาสู่เล่มนี้ ซึ่งจะถูกถ่ายทอดแบบไทม์ไลน์ ทำให้เราเห็นภาพรวมของประวัติศาสตร์ศิลปะได้อย่างชัดเจน ภาษาก็เข้าใจง่าย มีไว้ใกล้ตัวแล้วอุ่นใจ คนเขียนเป็นนักประวัติศาสตร์ศิลปะ เขาไม่ได้แค่อธิบายยุคนั้นๆ ว่าเป็นอย่างไร แต่เสริมความเชื่อมโยงระหว่างยุค อิทธิพลของยุคก่อนที่ส่งผลให้เกิดมูฟเมนต์ใหม่ๆ ขึ้นมา

     เล่มที่สองคือ ‘Stranger Things: Worlds Turn Upside Down’ โดย ‘Gina McIntyre’ ใครเห็นเป็นต้องใจอ่อนแพ้ทางให้เล่มนี้ (โดยเฉพาะคนรักซีรีส์ Stranger Things อย่างพวกเรา) เพราะมันเตะตามากๆ ตั้งแต่รูปเล่ม ปก การออกแบบเนื้อใน ที่ทุกอย่างถูกคุมธีมแบบย้อนยุค ลอกเลียนหนังสือเก่าแบบเหมือนเป๊ะๆ จนแวบแรกนึกว่าหนังสือมือสอง เห็นแล้วเรียกว่ากวนสุดๆ จนมือสั่นขอจับจองอย่างไว ส่วนเนื้อหาในเล่มคือสุดยอดการรวมรวมข้อมูลจักรวาล Stranger Things ที่ไม่ได้พูดถึงแค่ตัวซีรีส์อย่างเดียว แต่ให้เราได้ไปตามเรื่องที่เป็นแรงบันดาลใจที่ซ่อนเป็น Easter Egg อยู่ในซีรีส์ด้วย ดังนั้นนอกเหนือจากจะได้ข้อมูล behind the scene คนอ่านยังได้ลิสต์หนัง/หนังสือไปตำเพิ่มอีกต่างหาก และภาพที่นำเสนอในเล่มก็สวยงามมากๆ คือคุ้มค่าการครอบครองสุดๆ การได้อ่านเล่มนี้แล้วมันก็เหมือนกับการย้ำเตือนตัวเองเหมือนกัน ว่าความสนุกสนานที่ซ่อนอยู่ในภาพยนตร์ ซีรีส์ หรืองานศิลปะ ข้อมูลยิบย่อยเหล่านี้มันเอนเตอร์เทนมากๆ แล้วยังคงสร้างความว้าวได้ตลอด มันสร้างมูลค่าและความผูกพันให้กับงานนั้นๆ มากขึ้น ในฐานะ content creator เราว่าจุดนี้ต้องระลึกถึงและอยู่กับตัวเราเสมอ”

     (1)

     หนังสือ: The Story of Art ว่าด้วยเรื่องศิลปะ

     เขียน: E. H. Gombrich

     สำนักพิมพ์เดอะเกรทไฟน์อาร์ท

     (2)

     หนังสือ: Stranger Things: Worlds Turn Upside Down 

     เขียน: Gina McIntyre 

     สำนักพิมพ์ Random House

DAY 14

     จีระวุฒิ เขียวมณี บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ Biblio สำนักพิมพ์น้องใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา แต่มีผลงานหนังสือหลายเล่มที่โดดเด่นและยึดใจนักอ่านได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ‘ขนมปังของพรุ่งนี้ แกงกะหรี่ของเมื่อวาน’, ‘จดหมายรักฉบับสุดท้าย’, ‘ที่จริงแล้ว ฉันเป็นคนเก็บตัว’ และ ‘ผู้พิทักษ์ต้นการบูร’

     “ปีนี้อ่านหลายเล่มมากๆ แต่อ่านแทบไม่จบสักเล่มครับ สาเหตุเพราะสนใจหลายอย่างพร้อมๆ กัน เลยแบ่งวันอ่านแต่ละเล่ม แต่ละประเภท ซึ่งก็มีทั้งที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลวไปตามจังหวะเวลาชีวิต แต่ก็มีบางเล่มที่อ่านได้มากกว่าเล่มอื่น ขอยกตัวอย่างมาสักสามเล่มแล้วกัน

     ‘ความลี้ลับของเวลา’ (The Order of Time เขียนโดย Carlo Rovelli) ชอบเพราะเล่มนี้คล้ายกับการเบิกเนตรความกว้างใหญ่ของกรอบความเข้าใจเรื่องเวลา ว่าสิ่งที่เวลากระทำกับเรานั้น ไม่ใช่แค่การตื่นมาเช้ายันค่ำ แต่เวลายังอยู่กระทั่งในความคิด การยึดโยงตัวเราเองกับเวลาก็เป็นสิ่งที่อธิบายได้ว่าเวลานั้นทรงพลังและลี้ลับมากสมชื่อหนังสือจริงๆ 

     ‘สถาน ณ กาล ไม่ปกติ’ (a day Issue 241 กันยายน 2020) สมัยก่อนจะมีช่วงหนึ่งที่สำนักพิมพ์มักนิยมทำหนังสือรวมเรื่องสั้นจากนักเขียนดังในเวลานั้น เลยชอบที่ a day โดยบรรณาธิการอย่าง จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์ พาย้อนกลับไปหาความรู้สึกแบบนั้นอีกครั้ง ด้วยคอนเซปต์ที่เหมาะเจาะกับช่วงเวลาสำคัญของปี นั่นคือการระบาดของโควิด-19 หนังสือเล่มนี้จึงเป็นเสมือนจดหมายเหตุที่นักเขียนร่วมสมัยช่วยกันบันทึกเอาไว้ถึงความไม่ปกติหลายๆ อย่างของสถานการณ์เหล่านี้ แต่ก็มีอยู่หลายสิ่งที่ทำให้เรารู้ว่าสิ่งที่ไม่ปกติมากกว่า ก็คือผู้คนและอำนาจของรัฐที่ครอบงำสังคมโดยอ้างว่ากำลังปกป้องประชาชน 

     อีกเล่มเป็นเล่มที่ชอบมากๆ คือ ‘นวลน้องและโนมเนื้อ’ คือไม่คิดมาก่อนว่าลุงโรอัลด์ ดาห์ล คนเขียน ‘Charlie and the Chocolate Factory’ วรรณกรรมเยาวชนระดับโลก จะมีฝีไม้ลายมืออีกด้านที่เก่งกาจจริงๆ โดยเล่มนี้พูดถึงเรื่องราวการผจญภัยพร้อมแผนการสุดทะลึ่ง อีโรติก ร้อนผ่าว แซ่บซ่าน ในแบบที่เราอาจเคยเห็นจากงานของคุณ ’รงษ์ วงษ์สวรรค์ แต่เรื่องนี้บันเทิงกว่าตรงที่หยิบยกเอาเรื่องเพศมาล้อเลียนไปกับอัจฉริยะหรือบรรดากษัตริย์ในยุคก่อนที่มีตัวตนอยู่จริงได้อย่างชวนหัวเราะไปตลอดทาง เป็นการนำประวัติศาสตร์มายั่วล้อได้อย่างเถิดเทิงเอามากๆ  อ่านจบแล้วถึงได้ตระหนักว่าคนที่เขียนเก่งนั้น จะเล่าเรื่องอะไรมันก็น่าฟังไปหมดจริงๆ 

     ในชีวิตการทำงานบรรณาธิการสำนักพิมพ์มา สิ่งหนึ่งที่เรามักจะถูกคนถามเสมอคือ “อยากเขียนหนังสือจัง แต่ไม่รู้จะเริ่มยังไงดี” ซึ่งเราคิดว่า ‘นวลน้องและโนมเนื้อ’ เป็นเล่มที่เหมาะมากสำหรับผู้เริ่มต้นอยากเขียน เพราะนิยายเล่มนี้มีทั้งพลอตเรื่องที่แข็งแรง พรรณาโวหารที่จับใจ มองเห็นภาพตาม อารมณ์ขันอันร้ายกาจ ตัวละครที่ทั้งรักทั้งเกลียดแต่ก็อยากเอาใจช่วย เกร็ดประวัติศาสตร์ยุโรปในมุมที่เราไม่เคยรู้  สิ่งเหล่านี้เราว่ามันเป็นพื้นฐานที่ดีมากสำหรับคนที่อยากหาตัวอย่างเทียบเคียงว่าหากจะเขียนเรื่องราวสักอย่างให้คนอ่านสนใจ คุณจะต้องมีอะไรในมือบ้าง”

     หนังสือ: นวลน้องและโนมเนื้อ (My Uncle Oswald) 

     เขียน: Roald Dahl

     สำนักพิมพ์ Merry-Go-Round

DAY 15 

     เรไรรายวัน เพจที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตประจำวันของน้องต้นหลิว—เรไร สุวีรานนท์ เด็กหญิงที่จดบันทึกไดอารี่ของตัวเองด้วยลายมือน่ารัก ตัวบรรจง เต็มบรรทัดลงหน้ากระดาษตั้งแต่ปี 2558 และเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน แม้จะเป็นเรื่องราวแสนเรียบง่าย ธรรมดา แต่นั่นกลับเป็นสิ่งชุบใจของเหล่าผู้ติดตามสองแสนกว่าคนให้ได้อมยิ้มน้อยๆ เลยล่ะ : )

     “ต้องบอกก่อนว่าปีนี้หนูอ่านหนังสือน้อยมาก​ ทั้ง​ๆ​ ที่วิกฤตโควิด-19 ​ทำให้มีเวลาว่างเยอะ​ เพราะไม่ค่อยได้ออกไปไหนอยู่แต่ในบ้านตั้งหลายเดือน​ แต่นั่นก็น่าจะเป็นเพราะน้อง​ๆ​ ชวนเล่นนู่นเล่นนี่ด้วยทั้งวัน ถ้านับหนังสือเล่มที่อ่านจบในปีนี้มีแค่สามเล่มเอง​ และ ‘ในสวนลับ’ ของ ‘ฟรานเซส​ ฮอดจ์สัน​ เบอร์เน็ตต์’​ ก็เป็นหนึ่งในนั้น 

     หนูชอบอ่านแนวดราม่า-แฟนตาซีอยู่แล้ว​ ซึ่งนิยายเล่มนี้ก็เปิดเรื่องมาแบบอึน​ๆ​ หม่น​ๆ​ บางช่วงเดินเรื่องค่อนข้างช้า อ่านแล้วต้องมีหยุดพักบ้าง อย่างหนูใช้เวลาอ่านปลายเดือนสิงหาคมถึงปลายเดือนกันยายนเลย แต่พอถึงจุดหนึ่งที่อ่านไปเรื่อย​ๆ​ แสงสว่างและความสดใสในโลกแห่งจินตนาการก็เริ่มออกมา​เพิ่มความสนุกจนพาให้อ่านแบบวางไม่ลงเลย​ค่ะ​

     นอกจากความสนุกที่อ่านแล้วเหมือนได้ผจญภัยในสวนลับไปพร้อมกับมารีและคอลลิน ​ตัวละครในเรื่องแล้ว สิ่งที่เราได้จากหนังสือเล่มนี้อีกคือ​ ความคิดที่ว่าคนเราต้องรู้จักปรับตัว​ เติบโต​ และใช้ชีวิต​”

     หนังสือ: ในสวนลับ (The​ Secret ​Garden)

     เขียน: Frances Hodgson Burnett

     แปล: เนื่องน้อย ศรัทธา

     แพรวสำนักพิมพ์

DAY 16

     พงษ์สรวง ชุบ ผู้ก่อตั้ง Dudesweet ปาร์ตี้ที่อยู่คู่กับคอดนตรีมาตั้งแต่ปี 2002 และในปีนี้ แม้เหตุการณ์โควิด-19 จะระบาด พงษ์สรวงก็ยังมีกิจกรรมใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำหนังสือทำมือ Dudesweet Chapbook Coronavirus Edition 01 หรือการจัดบาร์แบบป๊อปอัพในย่ายอารีย์ภายใต้ชื่อ Mischa Cheap

     “ปีนี้อ่านหนังสือไปประมาณ 10-12 เล่ม ซึ่งปกติจะชอบอ่านนิยายและพวกบันทึกความคิด แต่ปีนี้พวกหนังสือการเมือง 2475 หาอ่านง่ายและเขาฮิตอ่านกันเราก็ต้องอ่านบ้าง เลยทำให้ปีนี้หมวดนี้จะเยอะหน่อย เพราะพออ่านอีกฝั่งก็ต้องหาของอีกฝ่ายมาอ่านด้วย แต่ส่วนใหญ่เนื้อหาจะวนๆ เพราะมันก็เหตุการณ์เดียวกัน ถ้าจะให้แนะนำแบบเล่มเดียวจบ ไม่ต้องไปตามอ่านอันอีกก็ต้อง ‘การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475’ โดย ‘นครินทร์ เมฆไตรรัตน์’ (สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน)

     ส่วนเล่มที่อ่านปีนี้แล้วชอบคือ ‘The Philosophy of Andy Warhol: From A to B and Back Again’ เป็นหนังสือที่ ‘แอนดี้ วอร์ฮอล’ เขาเขียนตอนที่ชีวิตเริ่มสงบแล้ว คือผ่านช่วงพีคของการเป็นศิลปินที่ดังที่สุดในโลก ผ่านชีวิตสุดเหวี่ยงกับสังคมสุดเริ่ดมาหมดแล้ว หรือผ่านเรื่องปางตายอย่างการโดนยิงมาแล้ว ตอนวอร์ฮอลเขียนเล่มนี้คงเป็นวัยอยากถ่ายทอดเรื่องราวชีวิต แต่จริงๆ ก็แค่บทแรกที่เขาเล่าประวัติชีวิตตัวเอง เพราะที่เหลือเป็นมุมมองชีวิตไม่ว่าจะเรื่องเพื่อน ความรัก ชื่อเสียง ปาร์ตี้ และสังคมของเขาที่ยุคนั้นใครก็อยากเข้าไปอยู่ในวงวารวอร์ฮอล เราเพิ่งรู้ว่าเขาเป็นคนเขียนหนังสือสนุกมาก มีความกะเทยจิกๆ และตลกหน้าตาย เป็นหนังสือที่ต้องอ่านไปกูเกิลไปว่าใครเป็นใคร เพราะเขาพูดถึงคนเริ่ดๆ ในยุคป๊อปอาร์ตของเขาเยอะแยะไปหมด

     เล่มนี้อ่านตอนเดือนกุมภาฯ อ่านเพราะพี่คุ่น (ปราบดา หยุ่น) แนะนำมา เขาบอกว่า “โน้ตต้องอ่าน เหมาะกับโน้ต” ซึ่งพอเขาพูดแบบนี้ทีไรมันก็จะถูกทุกครั้ง จะชอบมากทุกครั้ง นี่เป็นเล่มที่สามใน 15 ปีที่พี่คุ่นแนะนำว่า ‘เหมาะกับโน้ต’ อีกสองเล่มคือ ‘Are You Experienced?’ (William Sutcliffe) และ ‘Dogwalker’ (Arthur Bradford) การมีเพื่อนที่เดาทางเรื่องการอ่านของเราถูกนี่ก็ลดความเสี่ยงเรื่องการเสียเวลาอ่านหนังสือเห่ยๆ ได้ดีเหมือนกัน”

     หนังสือ: The Philosophy of Andy Warhol: From A to B and Back Again

     เขียน: Andy Warhol

     สำนักพิมพ์ Mariner Books

DAY 17

     มอร์—วสุพล เกรียงประภากิจ นักร้องนำวง TenToTwelve ผู้กำกับโฆษณา หนังสั้น และมีออฟฟิศชื่อ TenderFilm เมื่อกลางปีเขาออกเพลงในฐานะศิลปินเดี่ยว MORVASU เปิดด้วยเพลงสุดเขินอย่าง ‘Melbourne’ ก่อนจะตามมาด้วยเพลงสุดแซด แสนเหงาในจังหวะสนุกอย่าง ‘เทาเทา’ 

     “ปีนี้เราสมัครสมาชิก The New York Times เพราะชอบอ่านพวกบทความ การอัพเดตข่าวของเขา แต่ว่าก็ยังอ่านหนังสือเล่มมากที่สุด เราค่อนข้างอ่านหลายแนว และใจง่ายกับหนังสือมากๆ ถ้าเดินเข้าไปในร้านหนังสือ เห็นเล่มไหนถูกชะตาก็สามารถซื้อได้เลย 

     จริงๆ หลายคนน่าจะเลือกเล่มนี้เยอะ แต่ว่าไม่เป็นไรครับ แนะนำเยอะๆ เพราะมันดีมาก เล่มนี้ผมอ่านช่วง 2-3 เดือนก่อน ว่าด้วยการพยายามจัดวางประเทศไทยลงในบริบทช่วงสงครามเย็น ซึ่งเป็นช่วงที่มีการแผ่อิทธิพลของสหรัฐอเมริกา และความที่หนังสือเป็นทีสิสมาก่อน เลยอาจจะดูวิชาการ ทำให้อรรถรสในเชิงวรรณศิลป์อาจไม่ค่อยบันเทิง แต่ด้วยชุดข้อมูลมันทำให้เราตื่นเต้นมาก

     เป็นหนังสือที่ทำให้ความสงสัยกลายเป็นความตาสว่าง เพราะเป็นประวัติศาสตร์ที่เราไม่เคยได้เรียนตอนเด็ก หรือแม้แต่เติบโตมาก็ยังไม่เคยได้รู้มาก่อนจนกระทั่งได้อ่านเล่มนี้ ข้อมูลหลายๆ อย่างมันเลยทำให้เราว้าวอยู่ตลอดเล่ม ส่วนมันจะเป็นอะไรนั้น อย่าลืมไปลองอ่านกันนะครับ”

     หนังสือ: ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี 

     เขียน: ณัฐพล ใจจริง 

     สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน

DAY 18

     MILLI แรปเปอร์สุดจี๊ดจากค่าย YUPP! เป็นที่รู้จักจากรายการ The Rapper Thailand Season 2 ก่อนจะแจ้งเกิดด้วยเพลง ‘พักก่อน’ ซิงเกิลที่ติดหูและติดปากใครหลายคน ตามมาด้วยเพลง ‘สุดปัง’ และการร่วมแจมทำเพลงกับศิลปินอีกมากมาย รวมถึงเมื่อเร็วๆ นี้ เธอก็เพิ่งได้รับรางวัล Best New Asian​ Artist​​ Thailand​ จากงาน 2020 Mnet Asian Music Awards ด้วย สุดปังปังปังปะรังปังปรี้ไปเลยค่ะพส!

     “ส่วนใหญ่ปีนี้หนูอ่านแต่การ์ตูนใน webtoon แนวสยองขวัญ แอ็กชั่น ปริศนา ฆาตกรรม ลึกลับ หนูติดมาก อ่านหลายเรื่องเลย แต่เรื่องที่ชอบในปีนี้และเสียเงินซื้ออ่านล่วงหน้าบ่อยคือ ‘นรกคือคนอื่น’

    เป็นเรื่องของชายคนหนึ่งที่ต้องเข้าไปทำงานในเมือง ด้วยความที่เขาไม่ได้รวยมาก ก็ไปเช่าแมนชั่นราคาถูก ซึ่งห้องแคบ มีรูมองลอดเข้ามาได้ มันเป็นแมนชั่นที่โคตรหลอนเลย มีเพื่อนบ้านที่ประหลาด ทั้งชอบทำเสียงแปลกๆ อีกคนก็พูดไม่ค่อยรู้เรื่อง ชอบถุยน้ำลายใส่ จากที่เขาเคยเป็นคนอารมณ์ดี ใช้ชีวิตปกติ กลายเป็นว่าสังคมนั้นมันทำให้เขาเหมือนตกอยู่ในนรก จนชีวิตเริ่มแย่ขึ้นเรื่อยๆ และพบความจริงที่น่าสะพรึง ช่วงท้ายเรื่องมันหลอนมาก เข้มข้นสุดๆ หนูลุ้นมาก เรื่องนี้เอาไปทำเป็นซีรีส์ด้วยนะ

    อีกอย่างหนูชอบการเล่าเรื่องมาก ทำให้เราต้องตีความ และปะติดปะต่อเรื่องราวตลอดเวลา ซึ่งปกติหนูจะชอบการ์ตูนที่มันเล่าเรื่องคล้ายๆ หนัง อ่านแล้วต้องคิดตามอยู่แล้ว เพราะมันทำให้หนูรู้สึกว่าเรากำลังเจอสิ่งที่ตัวละครกำลังเจอ กำลังโตไปพร้อมกับตัวละครด้วย”

    เรื่อง: นรกคือคนอื่น (Strangers from Hell)

    เขียน: kimyongki 

    เผยแพร่โดย webtoon

DAY 19

     TangBadVoice หรือ ตั้ง—ตะวันวาด วนวิทย์ ผู้กำกับภาพ ‘แปลรักฉันด้วยใจเธอ’ และช่างภาพสตรีทอาร์ต ที่ลุกมาเป็นแร็ปเปอร์ทำเพลงแหวกขนบ ทั้งปูด้วยเรื่องสั้นและชงตบด้วยมุกตลก จนติดหูคนฟังทั่วบ้านทั่วเมือง มียอดฟังเกินล้านเกือบทุกเพลง ตั้งแต่ปล่อย ‘เปรตป่ะ’ เมื่อปีที่แล้ว ก่อนตามด้วย ‘U Sick Achoo’, ‘หมากแพง’ และล่าสุด ‘ลิ้นติดไฟ’

     “สิ่งที่อ่านในปีนี้และคิดว่าชอบมากๆ เป็นหนังสือภาพทั้งนั้นเลย ยิ่งเล่ม ‘The Coast’ ของ Sohrab Hura ซึ่งเล่าเรื่องที่เหมือนจะเป็นตำนานของชายฝั่งริมหาดอินเดีย ผ่านภาพในสไตล์ที่รุนแรง เรื่องเซ็กซ์และความต้องการทางเพศ เรื่องศาสนาและความเชื่อ ที่น่าสนใจคือวิธีเขียนของเขา ซึ่งใช้วิธีเขียนเรื่องซํ้าๆ เป็นบทความเดิมแต่เปลี่ยนคำไปทีละนิด จนเราไม่รู้ว่าอันไหนเรื่องจริง อันไหนไม่จริง เหมือนดูหนังสั้นสไตล์ราโชมอนประมาณนั้นเลย 

     ที่เราชอบพวกบทความภาพถ่าย กับหนังสือภาพมากๆ เพราะมันไม่มีถูก ไม่มีผิด เราในฐานะคนอ่านตีความได้ บางทีที่เราอ่านหนังสือแล้วเราไม่เก็ต เราจะรู้สึกไม่ค่อยฉลาด แต่พอได้อ่านหนังสือพวกนี้กับดูภาพประกอบเรากลับรู้สึกว่าได้ใช้จินตนาการเยอะดี มันเป็นเหมือนเซฟโซนของเรามากๆ

     นอกจากนี้ เราชอบเว็บไซต์ PHmuseum มากๆ และชอบมากขึ้นไปอีกเมื่องานของน้องปูนปั้น (กมลลักษณ์ สุขชัย) แห่ง Arctribe ได้ไปขึ้นหิ้งบนเว็บนี้ มันเป็นที่ที่รวมงานถ่ายภาพร่วมสมัยเอาไว้ พร้อมคำอธิบายบทความของคนถ่ายที่เข้าใจง่ายและสนุก แนะนำมากๆ เลยครับ งานในนี้น่าสนใจหมดเลย เช่น บางบทความก็ทำเรื่องหมู่บ้านที่คนเชื่อว่าเป็นจุดชมเอเลี่ยน เขาก็ไปถ่ายมาพร้อมตีความอีกที บางคนทำเรื่องความสวยคืออะไร ก็ไปตามคลินิกศัลยกรรมแล้วก็ให้หมอวาดบนหน้าเขาว่ามันควรเป็นยังไงหลายๆ ที่ เต็มไปด้วยงานหลากหลาย และงานสนุก”

     (1)

     หนังสือ: The Coast 

     เขียน: Sohrab Hura 

     สำนักพิมพ์ Ugly Dog-self

     (2)

     เว็บไซต์: phmuseum.com

DAY 20

     นัตตี้—นันทนัท ฐกัดกุล หนึ่งในแก๊งเพื่อนสาวสุดปังแห่งปีอย่าง ‘GoyNattyDream’ เจ้าของรายการ ‘ถ้าหนูรับพี่จะรักป่ะ’ ที่จะชวนหนุ่มๆ ขึ้นรถและเต๊าะออกอากาศอย่างออกรส และ ‘ยังไงไหนเล่า’ ช่วงเมาท์มอยแบบผู้หญิงถึงผู้หญิง ด้วยความน่ารักสดใสและเข้าขากันสุดๆ ของสามสาวทำให้มีผู้ติดตามช่องยูทปกว่าหกแสนคนภายในระยะเวลาเพียงห้าเดือน

     “ปีนี้ไม่ได้อ่านอะไรเลย (หัวเราะ) แต่ช่วงประมาณกลางๆ ปีได้อ่านบทซีรีส์ ‘แปลรักฉันด้วยใจเธอ’ เพราะเราเป็นแคสติ้งกับแอ็กติ้งโค้ชช่วงเวิร์กช็อปให้กับนักแสดง 

     ปกติแล้ว สูตรสำเร็จของซีรีส์รักคือตัวเอกเจอกัน มีอุปสรรค แล้วสุดท้ายก็ได้รักกัน แต่พอเรื่องนี้เป็นเรื่องของเด็กผู้ชายสองคน เลยมีเรื่องกรอบของสังคมมาเป็นคอนฟลิกต์ใหญ่ มันมีสายตาของคนอื่นมองมาที่ความรักของเรา จนตัวเอกเกิดคอนฟลิกต์ขึ้นในใจว่า ตกลงแล้วเรารักคนคนนี้ได้จริงมั้ย

     เราชอบที่บทมันละเอียดมาก เราได้เห็นความคิดของตัวละคร เห็นพัฒนาการ เห็นการตัดสินใจและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น พอในบทค่อนข้างละเอียดกับความรู้สึกของตัวละครมากๆ เลยทำให้เรามองตัวละครสองตัวนี้แล้วรู้สึกว่ามันจริง มันมีความเป็นมนุษย์ เหมือนดูดให้เราเข้าไปในชีวิตของพวกเขาเลย

     เวลาอ่านบท เราก็จะมีจินตนาการของเรา คิดว่าภาพจะออกมาแบบนี้ๆ แต่พอเป็นเวอร์ชันซีรีส์มันก็จะขึ้นอยู่กับวิธีการที่ผู้กำกับเลือกแล้ว ถามว่ามันเหมือนกับตอนที่เราอ่านบทมั้ย ก็ไม่เหมือน 100 เปอร์เซนต์อยู่แล้ว เพราะมันเป็นคนละภาพกัน แต่ก็ถือว่าชอบทั้งสองแบบ”

     บทซีรีส์: แปลรักฉันด้วยใจเธอ

     รับชมได้ทาง LineTV

DAY 21

     โฟกัส จีระกุล หรือเด็กหญิงน้อยหน่า เจ้าของวลี ‘เจี๊ยบตัดยางเราทำไม’ จากภาพยนตร์ ‘แฟนฉัน’ และเป็นหนึ่งในนักแสดงที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างจริงจัง เธอชอบเล่นเกม และแคสต์เกมอยู่บ่อยๆ จนล่าสุดได้รับเลือกเป็นที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการศึกษาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมและอีสปอร์ต สภาผู้แทนราษฎร เพื่อร่วมผลักดันและขับเคลื่อนวงการเกมและอุตสาหกรรมเกมของประเทศไทยด้วย

     “นี่เป็นหนังสือเกี่ยวกับการเมืองเล่มแรกที่กัสอ่าน นอกจากจะมีชีวประวัติ ชีวิตนักเขียนแล้ว ยังมีการวิเคราะห์เกี่ยวกับประเทศไทยด้วย สิ่งที่กัสชอบคือช่วงที่เล่าถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เพราะเป็นการเล่าและวิเคราะห์ว่าเหตุการณ์ในช่วงนั้นเกิดอะไรขึ้นจากมุมมองของบุคคลที่สามซึ่งเป็นนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องนี้จริงจัง 

     ส่วนใหญ่กัสชอบอ่านหนังสือที่คนต่างชาติเขียนถึงประเทศไทยอยู่แล้วด้วย รู้สึกว่าเจ๋งดี ได้รู้มุมมองของคนประเทศอื่นที่มองเข้ามาประเทศเราด้วยว่ามันเป็นยังไง แต่ด้วยการใช้ภาษาที่ค่อนข้างเป็นทางการมากๆ จนแอบเข้าใจยาก กัสเลยใช้เวลาอ่านนานนิดหนึ่ง 

     ตอนจะซื้อหนังสือ กัสเห็นคนในเฟซบุ๊กแนะนำกันว่า ‘หนังสือที่เด็กยุคนี้ควรอ่าน’ ก็เลยเลือกซื้อเล่มนี้ และเล่มอื่นๆ ด้วยรวมแล้วเกือบสิบเล่ม เป็นหนังสือที่เด็กรุ่นใหม่อ่านเอง และก็มาแนะนำกันเอง ซึ่งกัสว่าเด็กรุ่นใหม่ในยุคนี้ควรได้อ่านจริงๆ”

     หนังสือ: บ้านเมืองของเราลงแดง 

     เขียน: Benedict Anderson 

     แปล: ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ และเกษียร เตชะพีระ

     สำนักพิมพ์มติชน

DAY 22

     ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน สำนักพิมพ์ที่ผลิตหนังสือวิชาการเรื่องประวัติศาสตร์การเมืองไทยมายาวนานหลายปี เมื่อผนวกกับบรรยากาศการเมืองที่ร้อนแรง และความรู้สึกโหยหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองไทยนอกกระแสหลักในปีนี้ จึงกลายเป็นสำนักพิมพ์ที่มาแรงที่สุด โดยเฉพาะเมื่อหนังสือ ‘ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี’ โดย ณัฐพล ใจจริง วางขาย

     “ปกติก็อ่านหนังสือเศรษฐกิจ สังคม การเมือง โดยเฉพาะต้นฉบับของฟ้าเดียวกัน ส่วนหนังสือของสำนักพิมพ์อื่นๆ สารภาพว่าได้อ่านน้อยลง 

หนังสือที่อยากแนะนำคือ ‘ประวัติศาสตร์อยุธยา ห้าศตวรรษสู่โลกใหม่’ ของอาจารย์คริส เบเคอร์ และ อาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร ซึ่งแปลมาจากหนังสือภาษาอังกฤษของทั้งสองท่านเอง น่าจะเปิดโลกและเปิดมุมมองการศึกษาประวัติศาสตร์ไทย ไม่เพียงแต่ยุคนั้น แต่วิธีการศึกษาของอาจารย์ทั้งสอง น่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการแสวงหาความรู้อื่นๆ ต่อไป 

     ผมคิดว่าเสน่ห์ของการเขียนประวัติศาสตร์โดยนักประวัติศาสตร์ชั้นนำ ซึ่งทั้งสองท่านก็ควรได้รับเกียรตินี้ ทำให้ไม่ว่าเราจะอ่านหนังสือในช่วงเวลาใด ก็สามารถนำกลับมาคิดทบทวนชีวิตในปัจจุบันได้”

     หนังสือ: ประวัติศาสตร์อยุธยา ห้าศตวรรษสู่โลกใหม่

     เขียน: Chris Baker, ผาสุก พงษ์ไพจิตร

     แปล: ทัศนีย์ นาควัชระ

     สำนักพิมพ์: มติชน

DAY 23

     นักรบ มูลมานัส ศิลปินคอลลาจ นักเขียนและนักคุ้ยของเก่าผู้เล่าเรื่องผ่านภาพประกอบ ผู้ออกแบบปกหนังสือ ‘พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ’ ‘พิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสา’ ซีรีส์ปกหนังสือชุด ‘Little Histories’ ‘ทะเลสาบน้ำตา’ ‘ปีศาจ’ และล่าสุด ‘เมรัยพิฆาต’ ปัจจุบันพำนักและทำงานศิลปะอยู่ที่กรุงปารีส

     “รู้สึกว่ายิ่งอายุมากขึ้น สมาธิในการอ่านหนังสือยิ่งสั้นลงๆ (อาจเพราะสิ่งยั่วยุเยอะด้วย 55) สมัยเรียนมัธยมได้รางวัลรักการอ่านทุกปีเลย เพราะยืมหนังสือจากห้องสมุดเยอะสุดในโรงเรียน (เนิร์ด) สมัยนี้คงต้องขออนุญาตคืนรางวัล แต่ก็ไปเน้นอ่านบทความออนไลน์ ในหัวข้อที่กว้างขวางมากขึ้น สมัยก่อนอ่านแค่หัวข้อที่ชอบที่สนใจ เดี๋ยวนี้รู้สึกว่าเรื่องที่ไม่สนใจก็ควรจะอ่านให้รู้ๆ มากขึ้น (แต่ถ้าอ่านไปสองย่อหน้าแล้วไม่ถูกจริตก็ปิดเฉย) อีกอย่างนึงคืออ่านสเตตัสเพื่อนในเฟซบุ๊ก เเล้วบางทีก็มานั่งคิดว่าทำไมนางๆ ถึงเขียนแบบนี้ (วะ) ประสาทแดกกันไป แต่ยังดีที่การงานก็ยังทำให้ต้องอ่านหนังสืออยู่บ้าง ถึงเป็นภาคบังคับแต่ทำให้เรากลับไปมีโมเมนต์ดีๆ กับหนังสือบ้าง สรุปหลักๆ ที่อ่านในปีนี้ก็คือ หนังสือที่เราต้องออกแบบปก

     ช่างโชคดีที่ปีนี้ได้รับความไว้วางใจให้ออกแบบปกนิยายคลาสสิกของ ‘เอมิล โซลา’ เรื่อง ‘เมรัยพิฆาต’ แปลมาจากภาษาฝรั่งเศสชื่อ L’Assommior คือได้ยินชื่อนักเขียนคนนี้มาเนิ่นนาน เเต่ยังไม่เคยอ่าน เลยเป็นโอกาสดีมากๆ ที่ได้อ่าน อ่านไปก็ขนลุกขนพองบีบคั้นหัวจิตหัวใจมากกับภาษาและชะตากรรมในเรื่อง การอ่านนิยายห้าร้อยกว่าหน้าจบในช่วงชีวิตนี้ของเราแอบเป็นโมเมนต์ที่พิเศษไปแล้ว แล้วเล่มนี้เป็นห้าร้อยหน้าแห่งความขึ้นสุดลงสุด ทำให้เราอดลุ้นเอาใจช่วยตัวละครในเรื่องไม่ได้ อ่านเล่มนี้แล้วนึกถึง ‘คำพิพากษา’ ของคุณชาติ กอบจิตติ มากๆ เลยได้กลับไปหยิบมาอ่านอีกรอบ ซึ่งอ่านกี่ครั้งก็อินหนักเหมือนเดิม ทั้งสองเล่มนี้ทำให้เรานึกถึงสิ่งเดียวกัน ความตรอมตรมและภาวะจนตรอกของความเป็นมนุษย์ที่ไม่ได้มีทางเลือกมากนักในสังคมประสาทแดก

     ตอนที่อ่านเป็นช่วงที่มีโอกาสมาทำงานที่ปารีส ซึ่งเป็นฉากของเล่มนี้พอดี ความอินเลยคูณสิบ แต่ปารีสในเล่มนี้ไม่ได้เป็นปารีสแบบเอมิลี่! ลืมความแวร์ซายส์ หอไอเฟลไปก่อน นี่คือปารีสยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่ไม่มีภาพความสวยงามแฟนตาซีปรากฏอยู่เลย นางเอกเป็นผู้หญิงจนๆ รับจ้างซักผ้าในย่านชุมชนฟอนเฟะ เหมือนเป็นการถลกอีกด้านหนึ่งของปารีสมาตีแผ่ให้คนอ่านอึ้ง จะว่าจริงก็ยิ่งกว่าจริง จะว่าไม่จริงก็คิดว่ายิ่งกว่าไม่จริงเช่นกัน (พูดเองก็งงเอง) 

     พออ่านจบก็เข้าใจเลยว่าทำไมเล่มนี้ขึ้นแท่นคลาสสิก ที่ผู้คนสรรเสริญเล่มนี้กันหนักหนาเพราะความดราม่าของเล่มนี้ช่างเรียลและเซอร์เรียลยิ่งนัก จริงๆ ตอนอ่านจบก็มานั่งตีกับตัวเองเหมือนกัน ว่าตกลงฉันชอบเรื่องนี้ไหมวะ ยุคสมัยนี้แล้วคนจะยังอินกับวงเวียนชีวิตแบบนี้หรือเปล่า (ฟูมฟายไปมั้ยแก) ตอนจบแบบนี้มันตามสูตรไปไหม (ถ้าทำ adaptation ในบริบทร่วมสมัยมันควรจะถูกเล่าอย่างไรหรือต้องเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างไหม) แต่ที่บอกได้และอยากพูดถึงเล่มนี้ก็เพราะว่าระหว่างที่อ่านไปหัวใจทำงานเยอะมาก”

     หนังสือ: เมรัยพิฆาต (L’Assommoir)

     เขียน: Emile Zola

     แปล: ทัศนีย์ นาควัชระ

     สำนักพิมพ์: อ่าน๑๐๑ สำนักพิมพ์

DAY 24

     เบนซ์—ธนชาติ ศิริภัทราชัย นักเขียน และผู้กำกับประจำโปรดักชั่นเฮ้าส์ @Salmonhouse ชายผู้เป็นเจ้าของเรื่องเล่ายียวน กวนบ้าง เศร้าบ้าง จิกกัดสังคมบ้าง ไม่นานมานี้เขาเพิ่งออกหนังสือเล่มล่าสุดอย่าง ‘THE MORNING FLIGHT TO SAD FRANCISCO’ รวมถึงผลงานกำกับล่าสุดในโปรเจกต์ #SalmonHouseSkit ด้วย

     “เราเห็นรูปน้อนจากเพจเปรียบเทียบ ‘สิ่งที่ลูกค้าบรีฟ’ กับ ‘สิ่งที่เกิดขึ้นจริง’ ตอนแรกก็ขำๆ แหละ พญานาคอะไรก็ไม่รู้ จนสองเดือนต่อมาเราเห็นโพสต์นี้ใหม่ก็ไปนั่งอ่านต่อ ซึ่งเขาเขียนถึง Naïve Art (ศิลปะที่สร้างขึ้นโดยคนที่ไม่ได้เรียนศิลปะ) ศิลปะซื่อๆ บ้านๆ เหมือนเป็นงานพาร์ตไทม์ที่ชาวบ้านมาทำกันเอง เพราะพวกเขาไม่ใช่ช่างหลวงที่จะปั้นผลงานสวยๆ ชมดชม้อย เรารู้สึกว่ามันเจ๋ง มันเท่มากเว้ย แล้วฝรั่งเขาก็มีผลงานแบบนี้ จำได้ว่าตอนไปเรียนนิวยอร์กก็เจอ หรืออย่างบางผลงานของ แอนดี้ วอร์ฮอล เองก็เป็นนาอีฟอาร์ตเหมือนกัน

     เราอ่านจนรู้ว่าพญานาคในภาพมันอยู่ใกล้บ้านที่อุบลฯ ก็ขับรถไปดู เออ น่ารักดี ก็ถ่ายรูป และไปคุยกับเจ้าอาวาสที่วัดด้วย เขาก็บอกว่าคนมาเยอะมากเลย เราเลยรู้สึกว่านี่มันเป็นการสร้าง value ให้กับผลงานนาอีฟอาร์ตจากชาวบ้าน ซึ่งส่วนมากอยู่ภาคอีสาน สิ่งที่เสมอมาไม่ค่อยได้รับความสนใจ หรือให้ค่ามากนัก ครั้งนี้กลายเป็นว่าพวกนาอีฟอาร์ต พญานาค น้อนนนน วัดโปเกม่อนต่างๆ กลายเป็นมีแฟนอาร์ต มีคนมาปั้นขาย ทำเป็น 3 มิติ ทำเป็นอนิเมชั่น ทำนู่นทำนี่ออกมา

     เราว่ามันบอกถึงโมเมนตัมของยุคสมัยเหมือนกันนะ สิ่งที่คุณเคยเห็นอยู่ตามวัดกรุงเทพฯ ชั้นใน อยู่ในเมืองที่มันสวยงามวิจิตรมากๆ คนเริ่มเบื่อ เด็กรุ่นใหม่ไม่ได้รู้สึกชอบเท่าพญานาค เสือ ราชสีห์หน้าบิดๆ เบี้ยวๆ ซื่อๆ เด๋อๆ มันสะท้อนให้เห็นว่าศิลปะที่ไม่ได้ดูขลังต่างหากที่ทัชกับคนรุ่นนี้ แล้วเขาก็นำไปต่อยอดได้ แถมชวนคนให้เข้าวัดด้วย เรื่องนี้เป็นมูฟเมนต์ที่น่าสนใจดี จากเรื่องสนุกๆ ไปน่ารัก จนเริ่มมีการวิเคราะห์ให้อ่านเรื่อยๆ” 

     แนะนำ:

     อัลบั้ม: น้อน!!

     เผยแพร่โดย เพจเฟซบุ๊ก พุทธศาสนาและปรัชญา

DAY 25

     ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลกลุ่มเยาวชนตามม็อบ เพื่อวิเคราะห์ และทำความเข้าใจถึงมุมมองความคิดของกลุ่มคนรุ่นใหม่ในการแสดงออกทางการเมือง เมื่อต้นปีอาจารย์ฝากผลงานการเขียนหนังสือไว้ในชื่อ ‘จากมือตบถึงนกหวีด’ 

     “สิ่งที่กระชากความคิดในการอ่านของเราในปีนี้มากๆ คือ ‘เทรนด์ทวิตเตอร์’ ซึ่งสำหรับเด็กรุ่นใหม่อาจมองว่ามันไม่ได้แปลก แต่สำหรับเราที่เพิ่งเริ่มต้นใช้ทวิตเตอร์เมื่อเดือนกรกฎาฯ มันเปลี่ยนวิธีการอ่านข่าวสังคมและการเมืองไปเลย

     เราได้เห็น 3 มิติจากการอ่านเทรนด์ มิติแรกคือความเรียลไทม์ รู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้างในความเร็วที่ไม่เคยเห็นในการรายงานข่าวปกติ มิติที่ 2 คือการกำหนดประเด็นข่าวที่มาจากบุคคลทั่วไป เราเคยคิดว่าข่าวจะดังได้ก็ต่อเมื่อนักข่าว สำนักข่าว นักการเมือง นักวิชาการ คนสำคัญในสังคมออกมาพูด แต่นี่คือคนทุกคนในทวิตเตอร์เป็นคนกำหนดว่านี่จะเป็นข่าวดังของวันนี้ ส่วนมิติที่ 3 เป็นสื่อที่ทำให้ข่าวที่ไม่เป็นข่าว หรือถูกทำให้ไม่มีพื้นที่ กลายเป็นข่าวขึ้นมาได้ 

     ส่วนตัวเราคิดว่าแฮชแท็กม็อบแต่ละวันมันสุดยอด มีประโยชน์มากๆ เหมือนเป็นหนังสือพิมพ์รายวันที่คอยรายงานข่าว ถึงวันนั้นจะมีม็อบหรือไม่มี แต่พอไปเสิร์ชจะเจอข่าวการเมือง ข่าวสังคมวันนั้นเลยว่ามีอะไรบ้าง หรืออย่าง #WHATHAPPENINGINTHAILAND #หยุดคุกคามประชาชน ที่เราก็เข้าไปอ่าน ติดแฮชแท็กเองบ้างบ่อยๆ รวมถึงอันที่ทำให้อึ้งอย่าง #นางงามสมิหลา ที่พอกดเข้าไปอ่านก็เจอเรื่อง moral และการพยายาม democratize ในเวทีนางงาม ซึ่งคนเข้าไปแสดงความคิดเห็นกันหลากหลาย สนุกมาก นอกจากยอดรีทวีตจะทำให้เห็นว่ามีคนสนใจเรื่องนี้แค่ไหนแล้ว ยังแสดงออกได้ว่าผู้คนจำนวนมากเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองผ่านแฮชแท็กเหล่านั้น และมันยิ่งกระตุ้นให้คนรับรู้ในวงกว้างขึ้นด้วย

     การอ่านเทรนด์ทวิตฯ กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราไปแล้ว บางข่าวเดือดมากในทวิตฯ แต่ไม่เป็นข่าวเลยในชีวิตจริง มันเลยเป็นสิ่งที่ทำให้เราต้องดูทั้งสื่อหลักและในเทรนด์ตลอด เพราะมันกลายเป็นโลกคู่ขนานกันและกัน”

     แนะนำ:

     #ม็อบXX (วัน/เดือน)

     #WHATHAPPENINGINTHAILAND

     #หยุดคุกคามประชาชน

     #นางงามสมิหลา

     เผยแพร่โดย ทวิตเตอร์

DAY 26

     อัด—อวัช รัตนปิณฑะ เด็กชายผมสกินเฮด เสื้อนักเรียน กางเกงน้ำเงินจากซีรีส์ ‘Hormones วัยว้าวุ่น’ ตลอด 8 ปีมานี้เขาฝากผลงานไว้ในซีรีส์มากมาย ทำวงดนตรีในนาม mints รวมถึงเป็นผู้กำกับโปรเจกต์ซีรีส์ และมิวสิกวิดีโอเพลงของตัวเอง นอกจากงานแสดงและเพลง อีกงานหนึ่งที่เขาทำอย่างจริงจังคือการออกมาแสดงจุดยืน และเรียกร้องประชาธิปไตยในฐานะราษฎรคนหนึ่ง

     “จริงๆ ปีนี้เป็นปีที่อ่านหนังสือเล่มน้อยมาก แต่ซื้อมากองไว้เยอะมาก คิดว่าช่วงปีใหม่จะพยายามทยอยอ่านไปเรื่อยๆ ซึ่งสิ่งที่อ่านมากในปีนี้คือบทความออนไลน์หรือข่าวเป็นส่วนใหญ่ครับ เพราะบางทีมันสะดวกจากการอ่านในมือถือเลย

     หนังสือเล่มนี้เป็นเล่มที่ผมอ่านในปีนี้แล้วชอบที่สุดครับ ซึ่งผมบังเอิญไปได้มาจากตอนที่ไปร่วมชุมนุม เดินๆ อยู่แล้วก็เห็นน้องสองคนยืนขายหนังสืออยู่เลยช่วยอุดหนุน ซึ่งน้องๆ ก็แนะนำเล่มนี้มาให้ ด้วยความที่หนังสือไม่หนา มีแค่ 6 บทจึงใช้เวลาอ่านไม่นาน แต่กลับเป็น 6 บทที่น่าสนใจมากๆ บางเรื่องที่เหมือนจะเข้าใจยากแต่อ่านแล้วเข้าใจได้ง่ายขึ้น และทำให้เราเข้าใจการต่อสู้แบบสันติวิธีมากยิ่งขึ้น แนะนำครับ”

     หนังสือ: จงมีใจที่แกร่งและหัวใจที่อ่อนโยน (A Tough Mind and a Tender Heart)

     เขียน: Martin Luther King Jr.

     แปล: เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

     สำนักนิสิตสามย่าน

DAY 27

     จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์ บรรณาธิการบริหารนิตยสาร a day นิตยสารที่หยิบเอาวัตถุดิบรอบตัวมาร้อยเรียงเป็นเรื่องราวสนุกๆ และตีพิมพ์บนหน้ากระดาษมาแล้ว 20 ปี โดยในปีนี้มีเล่มเด็ดๆ อย่าง Wish, 20 ปี แฮร์รี่ พอตเตอร์ ฉบับภาษาไทย, รวมเรื่องสั้น ‘สถาน ณ กาล ไม่ปกติ’ และ News

     “แปลกดีปีนี้เป็นปีที่ซื้อและอ่านหนังสือน้อยกว่าปีที่ผ่านๆ มาทั้งที่เหมือนจะมีเวลาอ่านมากกว่าปีอื่นๆ เพราะช่วงโควิด-19 ต้องอยู่แต่บ้าน ส่วนใหญ่หนังสือที่อ่านจะเป็นหนังสือเก่าๆ ที่ซื้อมานานแต่อ่านไม่จบหรือไม่เคยหยิบมาอ่าน

     หนึ่งในเล่มที่อ่านจบเมื่อช่วงต้นปีก่อนโควิด-19 ระบาดแล้วชอบมากคือ ‘ลิตเติ้ลทรี’ วรรณกรรมเยาวชนเผ่าเชโรกี ของ ‘ฟอร์เรสต์ คาร์เตอร์’ แปลโดย ‘กรรณิการ์ พรมเสาร์’ ที่ได้มาจากร้านหนังสือมือสองในงานสัปดาห์หนังสือช่วงปลายปี 2019

     ปกติเป็นคนชอบอ่านวรรณกรรมเยาวชนอยู่แล้ว เพราะรู้สึกว่าวรรณกรรมเยาวชนส่วนใหญ่จะยิ่งทำงานกับผู้อ่านได้ดีเมื่อผ่านวันเวลาในชีวิตมามาก หลายๆ เรื่องอ่านตอนเด็กรู้สึกสนุก ตื่นเต้น แต่พออ่านในวัยผู้ใหญ่กลับเศร้าและสะเทือนใจอย่างมาก ซึ่ง ‘ลิตเติ้ลทรี’ ก็เป็นเช่นนั้น 

     ‘ลิตเติ้ลทรี’ เล่าวิถีชีวิตที่แนบแน่นกับธรรมชาติและชะตากรรมการถูกกดขี่ของชนเผ่าเชโรกี ชนกลุ่มน้อยในอเมริกา แม้วรรณกรรมเยาวชนเรื่องนี้จะเขียนตั้งแต่ปี 1976 แต่ก็ยังพูดถึงสิ่งที่เรารู้สึกเชื่อมโยงได้ อาจเพราะเรื่องราวเหล่านั้นล้วนเป็นเรื่องใหญ่ในชีวิตที่ไม่ว่ายุคสมัยใดก็ยังคงความสำคัญไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นจิตวิญญาณ การอยู่ร่วมกับธรรมชาติ การปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ หรือความหมายที่แท้ของชีวิต ระหว่างอ่านไปถึงบางสถานการณ์น้ำตาก็ไหลไม่รู้ตัว เป็นวรรณกรรมเยาวชนอีกเล่มที่รู้สึกว่าทำงานกับผู้ใหญ่ได้อย่างทรงพลัง”

     หนังสือ: ลิตเติ้ลทรี (The Education of Little Tree)

     เขียน: Forrest Carter

     แปล: กรรณิการ์ พรมเสาร์

     สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง

DAY 28

     ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน บรรณาธิการบริหารเว็บไซต์ SPACETH.CO เว็บคอนเทนต์ที่ทำให้วิทยาศาสตร์และอวกาศกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น โดยในปีนี้ณัฐนนท์ได้ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยมีภาพจำในฐานะผู้ยื่นโบว์ขาวให้กลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจในม็อบช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา 

     “ปีนี้เป็นปีที่ว่าง แต่กลับไม่ได้อ่านหนังสือมากเท่าที่คิด อาจเพราะว่ายิ่งว่างเราก็ยิ่งใช้ความคิดอยู่กับตัวเองมากขึ้น จากที่ปีก่อนอ่านประมาณ 20 เล่ม ปีนี้รู้สึกว่าอ่านจบไปแค่ประมาณ 10 เล่มเอง แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เราเอาหนังสือเล่มเก่าๆ มาเปิดพลิกดูนู่นนี่เยอะขึ้น 

     เล่มที่ชอบเป็นพิเศษในปีนี้จริงๆ เป็นหนังสือนิยายเรื่อง ‘Contact’ ของ ‘คาร์ล ซาแกน’ ซึ่งเคยถูกนำมาทำเป็นหนังเมื่อปี 1997—หนึ่งปีหลังจากที่ซาแกนเสียชีวิตพอดี ตอนแรกเราก็รู้แหละว่ามีเล่มนี้อยู่ แต่ไม่สนใจจะหยิบมาอ่าน เพราะคิดว่าเนื้อหาจะเหมือนในหนัง (เราชอบ Contact ฉบับหนังมาก) ซึ่งพอได้มาอ่านต้นฉบับที่เป็นนิยายก็พบว่าซาแกนใส่อารมณ์ ความรู้สึกและความรักที่เขามีต่อวิทยาศาสตร์ไว้ในเนื้อเรื่องและตัวละครเอลลีเยอะมากๆ เราเลยรู้สึกบาปทันที เพราะเราเป็นแฟนหนังสือซาแกน แต่ดันมองข้ามงานชั้นครูเล่มนี้ไปได้ 

     ‘Contact’ เป็นนวนิยายวิทยาศาสตร์ที่เล่าเรื่องราวของเอลลี เธอมีความชอบในการไขปริศนาของจักรวาล จนสุดท้ายเธอได้พบว่ามีเผ่าพันธุ์ที่ทรงภูมิคอยเฝ้าดูมนุษย์มาโดยตลอด แต่มันไม่ได้มาในรูปแบบของความกลัวแบบหนังเอเลี่ยนเรื่องอื่นนำเสนอ แต่เป็นความรัก ความเอ็นดู และอยากถ่ายทอดความรู้แนวคิดอะไรบางอย่างให้ 

     สิ่งที่เราชอบเกี่ยวกับ Contact ฉบับนิยายคือพออ่านแล้วเรารู้สึกถึงสิ่งที่เอลลีต้องเผชิญ ตั้งแต่การเป็นเด็กช่างสงสัยในวัยเด็ก การเถียงครู การโดนมองข้ามความสำคัญของความขี้สงสัย ไปจนถึงสิ่งที่เธอพยายามมองหาคือความเข้าใจ Contact สอนให้เราโดดเดี่ยวอย่างอบอุ่นและมองหาความรักในตัวเอง เหมือนกับเผ่าพันธุ์มนุษย์ที่อยู่อย่างโดดเดี่ยว อ้างว้างในจักรวาลที่กว้างใหญ่ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราอินมาก

     เราว่าการเขียนนิยายเป็นสิ่งที่เปิดอิสระทางความคิดให้กับซาแกน นอกเหนือจากเหตุและผลทางวิทยาศาสตร์ ซาแกนใช้ความงี่เง่า ความกลัว และความรัก ที่ถ่ายทอดลงมาผ่านตัวเองแสดงให้เห็นว่าแม้วิทยาศาสตร์จะพาเราไปไกลแค่ไหน แต่ความต้องการของมนุษย์นั้นไม่เคยเปลี่ยนไปเลย เป็นสิ่งที่เตือนใจให้เรารู้สึกว่าเราต้องใช้ความรู้ความสามารถที่เรามีทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น”

     หนังสือ: Contact

     เขียน: Carl Sagan

     สำนักพิมพ์ Simon and Schuster

DAY 29

     ครูใหญ่—อรรถพล บัวพัฒน์ ที่ไม่ได้เป็นครูใหญ่ของโรงเรียนไหน แต่เป็นติวเตอร์วิชาภาษาไทยและสังคม ที่มีอีกบทบาทคือสมาชิกกลุ่ม ‘ขอนแก่นพอกันที’ ผู้พกพาคารม อารมณ์ขัน และบทสวดขึ้นพูดเรียกร้องบนเวทีม็อบในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา จนใครๆ ก็ต้องยกตำแหน่ง ‘ดาวปราศรัย’ ให้กับเขา

     “ผมไม่ใช่นักอ่าน และมักเป็นผู้เหนื่อยล้าจากการอ่านก็ว่าได้ ส่วนมากความรู้หรือแนวคิดของผมมักได้จากการรับฟัง สนทนา ถกเถียง แลกเปลี่ยนกับผู้คนที่หลากหลาย (บ่อยครั้งที่ผมหาหนังสือที่น่าสนใจ แล้วเอาไปล่อลวงให้คนอื่นอ่าน หลังจากนั้นค่อยไปเค้นเอาความรู้และแนวคิดที่ได้จากการอ่านของเขาแทน) ผมมักใช้เวลาเพื่อไปสู่สถานที่ เหตุการณ์ หรือผู้คน ที่คาดว่าจะทำให้ผมมีความรู้เพิ่มและยกระดับปัญญาขึ้นได้ หากไม่ใช่หนังสือเรียนหรือหนังสือที่ต้องใช้เตรียมเนื้อหาการสอน ในปีหนึ่งๆ  ก็แทบจะไม่อ่านหนังสือเลยด้วยซ้ำ หากจะหยิบขึ้นมาอ่านบ้างก็อาจจะเป็นแนวปรัชญา ซึ่งผมให้ความสำคัญพอๆ กัน ทั้งปรัชญาตะวันตกและปรัชญาตะวันออก

     ในหนึ่งปีที่ผ่านมา ด้วยความที่ไม่ใช่นักอ่าน บวกกับภารกิจการงานอาชีพและการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เข้มข้น จึงทำให้ผมไม่ได้อ่านหนังสือเลยแม้แต่เล่มเดียว แต่ถ้าจะให้แนะนำหนังสือน่าอ่านสักเล่ม ผมขอแนะนำหนังสือ ‘สิทธารถะ’ เขียนโดย ‘เฮอร์มานน์ เฮสเส’ ซึ่งมีการแปลเป็นภาษาไทยไว้หลายสำนวน หนังสือเล่มนี้ไม่สั้นจนรู้สึกว่าเนื้อหาขาดวิ่น และไม่ยาวจนยืดเยื้อ เป็นหนังสือที่สะท้อนถึงการค้นหาตัวเองที่ไม่มีวันสิ้นสุด การค้นพบเส้นทางที่หลากหลาย การโต้เถียงขัดแย้งทางอุดมการณ์ ความคิด และเส้นทาง รวมไปถึงการค้นหาว่าสิ่งใดคือคุณค่าแท้จริงสูงสุดของชีวิต และสุดท้ายหนังสือเล่มนี้ก็ไม่ได้ให้ข้อสรุปอะไร

     อารมณ์ความรู้สึกหลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้คือ ‘ความกระจ่างที่เต็มไปด้วยความสับสน’ ผมไม่สามารถหาข้อสรุปอะไรได้เลยจากหนังสือเล่มนี้ แต่ในการที่ไม่สามารถสรุปอะไรได้นั้น มันกลับมีข้อสรุปมากมายจนเราไม่อาจสรุปอะไรได้เลยจริงๆ”

     หนังสือ: สิทธารถะ (Siddhartha)

     เขียน: เฮอร์มานน์ เอสเส

     สำนักพิมพ์ Exlibris

DAY 30

     สรกล อดุลยานนท์ หรือ หนุ่มเมืองจันท์ คอลัมนิสต์ นักเขียนเจ้าของผลงานมากมาย อาทิ ‘เพราะเราก้าวเดินจึงเกิดทาง’, ‘โลกนี้ไม่ได้มีคำตอบเดียว’ และพิธีกรรายการพ็อดแคสต์การเมือง ‘THE POWER GAME’ ที่เข้มข้นและสนุกติดท็อปชาร์ตเป็นอันดับต้นๆ ในปี 2020

     “เล่มที่ผมจะแนะนำเป็นเล่มที่เคยอ่านเมื่อนานมาแล้ว คือหนังสือชุด ‘คุยกับประภาส’ ของ ‘พี่จิก—ประภาส ชลศรานนท์’ สมัยที่ผมยังเป็นบรรณาธิการบริหารของมติชนรายวัน จะมีเซกชั่นหนึ่งที่หน้า 14 ชื่อว่า ‘มติซน’ เป็นพื้นที่ที่ผมจะชวนพี่ๆ อย่างพี่จุ้ย—ศุ บุญเลี้ยง พี่บินหลา สันการาคีรี และพี่จิก ประภาส มาเขียน ซึ่งพี่จิกใช้ชื่อคอลัมน์ของตัวเองว่า ‘คุยกับประภาส’ พอครบปีก็รวบรวมมาทำเป็นหนังสือ ได้หลายเล่มเลย ล่าสุดพี่จิกเอาหนังสือชุดนี้ไปตีพิมพ์ใหม่กับทางนานมีบุ๊คส์ โดยจัดหมวดหมู่ให้หนังสือแข็งแรงขึ้น สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ พออ่านใหม่อีกครั้งเมื่อเวลาผ่านไป โตขึ้น ผมพบว่าหนังสือ ‘คุยกับประภาส’ ในเวอร์ชั่นจัดหมวดหมู่ใหม่นั้น ให้มุมมองใหม่ ไม่ว่าจะเป็น เล่ม ‘ดวงดาวในกระป๋อง’ หรือ ‘ประกายไฟในกระเป๋า’

     แล้วบังเอิญว่าเมื่อ 3-4 เดือนก่อน ผมได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า ‘ทำไมรถไฟเหาะของ USJ ถึงวิ่งถอยหลัง’ เล่มนี้เขียนโดย ‘โมริโอกะ สึโยชิ’ เขาทำงานที่ Universal Studio Japan ซึ่งวันที่เขาเข้าไปทำงาน เป็นช่วงที่ตัวเลขคนเข้าชมน้อยลงเรื่อยๆ ในขณะที่เพิ่งลงทุนทำปราสาทแฮร์รี่ พอตเตอร์ ด้วยเงินมหาศาล อีกสามเดือนกว่าจะเสร็จ เขาจึงต้องสร้างนวัตกรรมบางอย่างที่จะดึงคนให้เข้ามา ด้วยงบประมาณจำกัด วันหนึ่งเขายืนดูรถไฟเหาะตีลังกา ซึ่งเป็นเครื่องเล่นที่นิยมกันมากอยู่แล้ว ก่อนจะกลับไปนอนคิดว่า ถ้าคนนั่งมองไม่เห็นทางข้างหน้าล่ะจะเป็นยังไง ก็เลยกลายเป็นรถไฟเหาะวิ่งถอยหลัง คือวิ่งไปข้างหน้าเราก็เสียวแล้ว แต่พอมันวิ่งถอยหลัง เรามองไม่เห็นอนาคต ก็เลยยิ่งตื่นเต้น

     ทั้งสองเล่มนี้ผมเอามารวมกัน เกิดเป็นความคิดว่า นวัตกรรมไม่จำเป็นต้องไปข้างหน้าเสมอ ถอยหลังบ้างก็ได้ เช่นเดียวกับการอ่านหนังสือที่เคยอ่านแล้ว มันอาจจะเกิดเป็นมุมมองใหม่ๆ ขึ้นมา รถไฟเหาะขบวนนี้ทำให้ผมเข้าใจความรู้สึกที่ได้กลับไปอ่านหนังสือของพี่จิก ประภาสอีกครั้ง”

     (1)

     หนังสือ: ชุด คุยกับประภาส

     เขียน: ประภาส ชลศรานนท์

     สำนักพิมพ์ นานมีบุ๊คส์

     (2)

     หนังสือ: ทำไมรถไฟเหาะของ USJ ถึงวิ่งถอยหลัง

     เขียน: Morioka Tsuyoshi

     แปล: ภัทรวรรณ ศรประพันธ์

     สำนักพิมพ์วีเลิร์น

DAY 31 

     วีรพร นิติประภา นักเขียนซีไรต์ขวัญใจวัยรุ่นและนักอ่านชาวไทย เจ้าของผลงานนวนิยาย ‘ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต’ และ ‘พุทธศักราชอัสดงในทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ’ โดยในปีนี้มีผลงานหนังสือถึงสองเล่มด้วยกัน ได้แก่ ‘ทะเลสาบน้ำตา’ และ ‘โปรดโอบกอดมนุษย์ลูก’ 

     “คนไม่ค่อยให้ความสนใจหนังสือเด็กเท่าไหร่ ทั้งๆ ที่มันสำคัญมาก บางเล่มคือรักแรกที่ทำให้คนเติบโตขึ้นเป็นนักอ่านที่เข้มข้นและนักคิดที่เข้มแข็ง เลยถือโอกาสนี้เลือกหนังสือเด็กนะคะปีนี้

     ‘แม่จ๋าอย่าโมโห’ ชัดเจนว่าเป็นหนังสือเด็กเล็ก แต่เล่าเรื่องที่สำคัญมากๆ …ความสัมพันธ์ แม่กวิ้นเจ้าอารมณ์ที่ตวาดลูกกวิ้นจนหลุดเป็นชิ้นๆ ตลกและเรียกเสียงหัวเราะได้พอๆ กับน้ำตา มันทำให้แม่ๆ ที่ต้องเป็นคนอ่านให้ลูกฟังรู้สึกผิด แต่พอลูกหัวเราะ แม่ก็จะรู้สึกดีขึ้น พอๆ กับที่ลูกจะเข้าใจว่าไม่ควรทำแม่โมโห และในตอนจบไม่ว่าอย่างไร แม่ก็รักและตามเก็บชิ้นส่วนลูกมาเย็บกลับคืน พร้อมกับพูดขอโทษ อันเป็นมนต์วิเศษที่ใช้ซ่อมแซมทุกความสัมพันธ์ เป็นหนังสือที่ดีและน่ารักมาก แม้จะไม่ใจดีนัก

     ‘พระราชาผู้สั่งห้ามความมืด’ เล่มนี้เพิ่งออก สำหรับเด็กโตขึ้นมาหน่อย แต่คือเก่งชะมัดที่เล่าเรื่องยากๆ ให้สนุกและเข้าใจง่าย พระราชากลัวความมืดและโน้มน้าวประชาชนให้ให้เปิดไฟสว่างตลอดเวลาทั้งเมือง จนในที่สุดประชากรก็ไม่เป็นอันได้หลับนอนพักผ่อน ที่สำคัญอดเห็นความสวยงามของพลุงานฉลอง มีทั้งมิติทางการเมือง และปรัชญาในตัว ฉลาด สนุก แถมยังวาดสวยมากด้วย เลย์เอาต์ก็ดีมาก

     ‘ผีเสื้อของตั๋วตั่ว’ เป็นเรื่องของเด็กที่ถูกคุกคามทางเพศ การคุยและสมมติเป็นคนอื่นที่จะช่วยให้เด็กๆ สามารถเล่าเรื่องที่ไม่กล้าเล่า เล่มนี้ก็ดีมาก แต่ที่ดีกว่านั้นคือมีคู่มือการใช้เล่มเล็กๆ สำหรับผู้ใหญ่แนบมาด้วย ซึ่งมีประโยชน์มากสำหรับพ่อแม่ ครู และผู้ซึ่งทำงานกับเด็ก

     ทั้งสามเล่มขนาดแก่แล้วยังอ่านสนุกและได้ความคิดกับความรู้สึกดีๆ กลับมา”

     (1)

     หนังสือ: แม่จ๋าอย่าโมโห (Schreimutter)

     เขียน: Jutta Bauer 

     แปล: วิภาศิริ กิจสุบรรณ

     สำนักพิมพ์ SandClock Books

     (2)

     หนังสือ: พระราชาผู้สั่งห้ามความมืด (The King Who Banned The Dark)

     เขียน: Emily Haworth-Booth

     แปล: อริยา ไพฑูรย์

     สำนักพิมพ์ SandClock Books

     (3)

     หนังสือ: ผีเสื้อของตั๋วตั่ว

     ผู้เขียน: ซิ่งเจียฮุ่ย

     แปล: พัณณ์ชิตา ธนวีร์กิตติโชติ, อนุรักษ์ กิจไพบูลทวี

     สำนักพิมพ์แมงมุม