Thu 15 Jul 2021

TOXIC FROM DOPPELGANGER

พิษจากการมีเราอีกคนในซีรีส์สัญชาติไอซ์แลนด์

ภาพ: 24celsiusc

บทความชิ้นนี้มีการเผยแพร่เนื้อหาของซีรีส์และหนังสือ

     อย่างที่หลายคนชอบบ่นๆ กันว่า คงจะดีถ้ามี ‘ตัวเรา’ อีกร่างเกิดขึ้นมาเพื่อช่วยสะสางงานมากมายที่จำเป็นต้องเป็นเราเท่านั้นที่จะทำสำเร็จในเวลาจำกัด แต่นั่นล่ะ แม้จะยังไม่มีทางเกิดขึ้น หากเมื่อพิจารณาถึงหลักความจริง ถ้าจู่ๆ มนุษย์แยกร่างได้ด้วยเทคโนโลยีโคลนนิ่ง ชีวิตเราคงประสบความยุ่งยากมากกว่าจะได้ประโยชน์

     เพราะถึงแม้มนุษย์ที่ถูกทำซ้ำจะมีความสามารถ ความคิด หรือบุคลิกเหมือนเราทุกประการ แต่เราจะวางใจได้จริงๆ หรือ ในเมื่อมีหลายครั้งที่เราต้องมานั่งเซ็งหรือผิดหวังกับการตัดสินใจของตัวเราเอง ไม่ว่าจะเรื่องเล็กอย่างการซื้อหวย ไปจนถึงเรื่องใหญ่กว่าเช่นหน้าที่การงานหรือความสัมพันธ์ 

     นั่นล่ะ นับประสาอะไรกับการตัดสินใจของตัวเราเองอีกคนที่แน่นอนว่ามันจะมีผลย้อนกลับมาที่เรา และยังไม่นับรวมกับความจริงที่ว่า เรายอมรับในการมีอยู่ของตัวเราอีกคน ที่แม้จะเป็นจะคิดเหมือนเราทุกประการ แต่ก็กลับแยกขาดจากตัวตนของเราด้วยทุกประการได้จริงๆ หรือ?  

     Doppelganger เป็นคำศัพท์ในภาษาเยอรมัน (doppel คือ double และ ganger คือ walker) หมายถึง สภาวะการมีตัวตนของเราอีกคนที่ไม่ใช่ฝาแฝดตามธรรมชาติ แต่เป็นตัวเราจริงๆ เหมือนการโคลนนิ่ง หรือแฝดนรกที่จิตเราสร้างขึ้น คำนี้มีรากมาจากตำนานพื้นบ้านของคนเยอรมัน ซึ่งสื่อความไปถึงความลึกลับของโชคชะตา ลางร้าย ไปจนถึงการสะท้อนภาวะสร้างตัวตนใหม่ หรือ alter-ego ในด้านมืดของเราเอง  

     มีวรรณกรรม บทละคร และภาพยนตร์มากมายที่นำพล็อต doppelganger มาใช้เพื่อสร้างบรรยากาศอันเคลือบแคลงชวนติดตามไปพร้อมกับการสำรวจมนุษย์ กระนั้นซีรีส์ไซไฟ-ทริลเลอร์สัญชาติไอซ์แลนด์ที่เราเพิ่งได้ดูมาหมาดๆ ในเน็ตฟลิกซ์อย่าง Katla (2021) ก็ทำให้เราพบอีกหนึ่งมิติของการเล่าเรื่องแฝดปริศนาที่แตกต่างและน่าสนใจ

ความเป็นฝาแฝดใน Katla

     คำว่า คัตลา (Katla) คือชื่อของภูเขาไฟที่อยู่ระหว่างการปะทุในเมืองวิก (Vik) ชุมชนเล็กๆ ที่อยู่ใต้สุดของเกาะไอซ์แลนด์ เมืองแห่งนี้อยู่ริมทะเล ไม่มีต้นไม้สักต้น มีเพียงแผ่นดินอันเวิ้งว้าง หิมะ และเขม่าควันที่พวยพุ่งจากภูเขาไฟ 

     เหตุการณ์ในซีรีส์เกิดขึ้นหนึ่งปีหลังจากที่ภูเขาไฟคัตลาปะทุ ผู้คนพากันย้ายออกไปอยู่ที่อื่น เหลือชาวเมืองไม่ถึงสิบคนยังคงปักหลักอยู่ที่นั่น ซึ่งคนที่เหลือคือตัวละครหลักของซีรีส์เรื่องนี้ 

     ซีรีส์ติดตามชีวิตของ กรีม่า หญิงสาวผู้ทำหน้าที่คล้าย อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) ในเมืองแห่งนี้ พี่สาวของกรีม่าสาบสูญไประหว่างช่วยกันลำเลียงนักท่องเที่ยวออกจากพื้นที่ปะทุของภูเขาไฟเมื่อปีที่แล้ว หญิงสาวอยู่กับสามีที่ทำฟาร์มโคนม เธอมีชีวิตที่ซังกะตาย ซึมเศร้า และยังคงเชื่อลึกๆ ว่าพี่สาวเธอยังไม่ตาย—ความเชื่อที่ยึดให้เธอยังคงใช้ชีวิตในเมืองเถ้าถ่านเมืองนี้ เช่นเดียวกับคนอื่นๆ ในเมืองที่ล้วนมีความทรงจำเฉพาะตอกยึดไม่ให้พวกเขาจากไปไหน

     พลันจู่ๆ ก็มีหญิงสาวปริศนาร่างเปลือยเปล่าหากเลอะไปด้วยดินโคลนและเขม่าเดินกลับมาจากพื้นที่ภูเขาไฟ กรีม่าช่วยเธอไว้ และพบว่าหญิงสาวมีรูปร่างหน้าตา บุคลิก ความทรงจำ และชื่อเดียวกับหญิงสาวอีกคนที่เคยใช้ชีวิตอยู่ที่นี่เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ซึ่งเคยมีความสัมพันธ์ลับกับพ่อของเธอ หากปัจจุบันเจ้าของร่างคนนั้นใช้ชีวิตวัยกลางคนอย่างเป็นปกติอยู่ที่เมืองอื่น

     ในระหว่างที่ชาวเมืองวิกพยายามจับต้นชนปลายเหตุการณ์การปรากฏตัวของหญิงสาวผู้นี้ ภูเขาไฟก็ทยอยคายตัวละครโคลนนิ่งชาวเมืองคนอื่นๆ (และผู้มีความเกี่ยวข้องกับคนในเมือง) ในร่างเปลือยห่อหุ้มด้วยโคลน เดินกลับเข้ามาใช้ชีวิตอย่างปกติในเมือง ด้วยความทรงจำเดียวกับเจ้าของร่าง และด้วยความเข้าใจว่าพวกเขา (ผู้ที่เพิ่งกลับมาจากภูเขาไฟเหล่านี้) คือตัวตนจริงๆ ของร่าง 

     ถึงตรงนี้ด้วยบรรยากาศอันเยียบเย็น ลึกลับ และจับต้นชนปลายไม่ถูก ก็ทำให้เรารู้สึกถึงซีรีส์การเดินทางข้ามเวลาแบบ Dark (2017-2020) กระนั้น Katla ก็กลับมีคาแรกเตอร์ที่เด่นชัดออกไป มันพูดถึงปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติของภูเขาไฟที่ดินโคลนสามารถโคลนนิ่งมนุษย์ได้ ไม่ว่าใครคนนั้นจะเคยอยู่หรือไม่อยู่ที่นี่ และยังมีหรือไร้ชีวิตไปแล้วก็ตาม ที่สำคัญ มันยังสร้างเงื่อนไขใหม่ คือบางครั้งมันโคลนนิ่งตัวเราในอดีตให้ได้มาพบกับเจ้าของร่างเวอร์ชั่นปัจจุบันด้วย…

     Katla เล่าเรื่องอย่างเนิบช้า ผ่านการถ่ายภาพเมืองอันมอมแมม เวิ้งว้าง แต่งดงามหมดจด เราใช้เวลาอยู่หลายตอนกว่าจะเข้าใจไวยากรณ์ของเรื่อง พล็อตที่เริ่มต้นดูเหมือน ‘อะไรของมันวะ’—ภูเขาไฟนึกจะคายมนุษย์โคลนคนไหนก็คายแบบเอาแต่ใจตัวเองชะมัด แต่เมื่อเรื่องดำเนินไป ฉากเหตุการณ์อันหลากหลายก็ทำให้เราค่อยๆ เข้าใจออร์เดอร์ของปรากฏการณ์นี้ ปรากฏการณ์เหนือจริงของการผลิตซ้ำชีวิต เพื่อย้อนกลับมาเล่าถึงความทับซ้อนของการมีชีวิต และวิธีการทำความเข้าใจกับมันอย่างสมจริง

     เพราะแม้ซีรีส์จะทำให้คนดูเข้าใจว่านี่คือเรื่องของการโคลนนิ่ง หากในมุมมองของตัวละคร มันยากเหลือเกินที่จะยอมรับได้ว่ามีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริง และที่ทำให้มันไปไกลกว่านั้นก็คือ แม้ความทรงจำและประสบการณ์ส่วนตัวจะทำให้มนุษย์รู้จักตัวเราเอง แต่ซีรีส์เรื่องนี้ก็ชวนให้สงสัยว่าเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าการที่เราเข้าใจว่ามีตัวตนของเราเพิ่มขึ้นบนโลกนี้อีกหนึ่งคน จะหมายความว่าเราคนเก่าคือเราตัวจริง

     ความสนุกของ Katla จึงไม่ใช่การนำพาผู้ชมไปสู่ไคลแมกซ์ที่หวือหวาหรือการหักมุมสุดล้ำ แต่เป็นดราม่าเข้มข้นว่าด้วยวิธีการที่ใครสักคนจะต้องรับมือกับการมีอยู่ของร่างโคลนนิ่ง โดยที่ร่างตัวเราคนนั้นก็ไม่ได้มีความต้องการจะคุกคามหรือต้องการอะไรจากตัวเรา นอกจากการได้ใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติเช่นที่คนทั่วไปปรารถนา อีกทั้งมันยังพูดถึงความชอบธรรมของการมาก่อนและหลัง อันนำมาซึ่งการหาทางออกเฉพาะของแต่ละตัวละครอย่างชวนให้ใคร่ครวญ 

Doppelganger ของ The Double

     ดังที่บอกว่าที่ผ่านมามีหนังและวรรณกรรมนับไม่ถ้วนที่นำพล็อต doppelganger มาใช้ กระนั้นในโลกของวรรณกรรมที่เป็นต้นทางส่วนใหญ่ของภาพยนตร์ ก็ยังมีวรรณกรรมแนวนี้ของนักเขียนชื่อดังที่ดันมีชื่อหนังสือเหมือนจะเป็น doppelganger ของกันและกัน นั่นคือ The Double ของ ฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี (Fyodor Dostoevsky, 1821-1881) นักเขียนชาวรัสเซีย และ ฌูเซ่ ซารามากู (Jose Saramago,1922-2010) นักเขียนชาวโปรตุเกส 

     เดิมที ดอสโตเยฟสกีเขียนนิยายขนาดสั้นชื่อว่า Dvoynik (หรือ gatekeeper, คนเฝ้าประตู) ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1846 ก่อนจะมีการแปลเป็นภาษาอังกฤษที่เปลี่ยนชื่อมาเป็น The Double 

     นิยายตามติดชีวิตของเจ้าหน้าที่รัฐชั้นผู้น้อย—ลูเซอร์ ที่มักถูกมองข้ามจากเจ้านายและเพื่อนร่วมงานในเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก วันหนึ่งเขาได้พบบุคคลที่มีรูปร่างหน้าตาและบุคลิกเหมือนตัวเอง ซึ่งเข้ามาทำงานที่เดียวกับเขา หากชายผู้มาทีหลัง กลับเป็นคนที่มีเสน่ห์และน่าจดจำมากกว่า โดยภายหลังชายผู้นั้นก็ค่อยๆ แย่งชีวิตของตัวละครเอกผู้มาก่อน จนเขาแทบจะสูญหายไปจากความทรงจำของทุกคน 

     ดอสโตเยสกีเขียนนิยายขนาดสั้นชิ้นนี้ด้วยอารมณ์ขันร้ายเพื่อสะท้อนแง่มุมของปัจเจกภายใต้โครงสร้างอันตึงเครียดของสังคมรัสเซีย (ซึ่งให้อารมณ์เดียวกับที่ นิโคไล โกโกล (Nikolai Gogol) เขียนเรื่อง The Overcoat (1842) ที่พยายามยั่วล้อสังคมรัสเซียผ่านความรันทดของเจ้าหน้าที่รัฐชั้นผู้น้อย) โดยต่อมา The Double ยังถูกพัฒนาเป็นภาพยนตร์อังกฤษในชื่อเดียวกัน กำกับโดย ริชาร์ด อโยอาดี (Richard Ayoade, ผู้กำกับ Submarine) ออกฉายในปี 2013 แต่เปลี่ยนบริบทจากรัสเซียมาอยู่ในเมืองสมมติอันหมองหม่น ภายใต้เงื่อนไขที่ตัวละครหลักต้องหาทางออกให้กับชีวิตที่กำลังจะพังพินาศจากการมีอยู่ของตัวเขาอีกคน

     ขณะที่ The Double ของซารามากู เขียนขึ้นในปี 2002 เขาไม่ตั้งใจจะใช้ชื่อนี้แต่แรก เพราะต้นฉบับภาษาโปรตุกีสมีชื่อว่า O Homem Duplicado ซึ่งมีความหมายในภาษาอังกฤษว่า The Duplicated Man หรือ ‘ชายที่ถูกทำสำเนา’ แต่เมื่อต้นฉบับของซารามากูถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษ มันกลับมีชื่อว่า The Double ชื่อเดียวกับนิยายเวอร์ชั่นอังกฤษของดอสโตเยฟสกีเสียอย่างนั้น ซึ่งธีมเรื่องก็ดันมีความคล้ายคลึงกัน เพราะมันพูดถึงครูสอนประวัติศาสตร์นาม อัลฟองโซ ที่อยู่มาวันหนึ่งเขาเช่าวิดีโอมาดู และพบว่าหนึ่งในนักแสดงของเรื่องมีรูปร่างหน้าตาเหมือนเขาทุกกระเบียด และนั่นทำให้อัลฟองโซสืบค้นตัวตนของนักแสดงผู้นี้ จนนำมาสู่การพบกัน การสลับบทบาท และเรื่องยุ่งยากในความสัมพันธ์ของคนทั้งคู่ 

     ทั้งนี้ The Double เรื่องหลัง ก็เป็นอีกเรื่องที่ได้ทำเป็นภาพยนตร์ และออกฉายในปี 2013 เหมือนกัน ในชื่อ Enemy กำกับโดย เดอนีส์ วิลล์เนิฟ (Denis Villeneuve) นำแสดงโดย เจค จิลเลนฮาล (Jake Gyllenhaal) ที่แม้จะมีโครงเรื่องและตัวละครคล้ายกัน แต่บทสรุปก็ต่างกันมาก โดยเวอร์ชั่นหนังเปิดให้คนดูตีความในมิติที่หลากหลาย ไปจนถึงขั้นชวนเหวอ ขณะที่เวอร์ชั่นนิยายกลับสร้างตอนจบที่ทำให้เราคาดเดาในความพิศวงไม่จบไม่สิ้นของมันได้ กระนั้นทั้งสองเวอร์ชั่นก็มีความน่าติดตาม และดู (อ่าน) สนุกในทิศทางของตัวเอง  

ฝาแฝดในคนอื่น

     นอกจากสอง The Double จากสองนักเขียนที่เล่าไปยังมี Double Lover (2017) ที่ ฟรองซัวส์ โอซง (Francois Ozon) ผู้กำกับชาวฝรั่งเศส นำแรงบันดาลใจมาจากนิยาย Lives of the Twin (1987) ของ จอยซ์ แคโรล โอตส์ (Joyce Carol Oates) นักเขียนชาวอเมริกัน ซึ่งมีความแตกต่างจากเหล่า doppelganger รุ่นพี่ที่เล่าไปคือ ตัวนางเอกที่เป็นคนนำเรื่องหาใช่บุคคลที่มีแฝดนรก เธอเพียงแต่ประสบอาการปวดท้องอย่างไม่ทราบสาเหตุ หาหมอคนไหนก็ไม่หาย จนไปหาจิตแพทย์หนุ่มและเกิดความสัมพันธ์เกินเลย ซึ่งนั่นทำให้เธอหายปวดท้อง อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาเธอกลับพบว่าจิตแพทย์มีฝาแฝดอีกคน ซึ่งมีบุคลิกหยาบกร้านคนละขั้ว แม้รู้ทั้งรู้ว่าเป็นคนละคน แต่เธอก็ดันไปมีความสัมพันธ์ด้วย ก่อนที่เธอจะกลับมาประสบภาวะปวดท้องที่หนักขึ้นกว่าเดิมอย่างไม่ทราบเหตุผล

     Double Lover เป็นภาพยนตร์ทริลเลอร์-ดราม่าแนวจิตวิเคราะห์ โปรดักชั่นสวยสะเด็ดตามแบบฉบับของโอซง แน่นอนว่ามีฉากโป๊หลายฉาก แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่เรายกเรื่องนี้มา หากเพราะมันเล่าแง่มุมของการเป็นบุคคลที่สาม ซึ่งเข้ามาดีลความสัมพันธ์กับแฝดปริศนาจนทวีความซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ และยากจะหาทางออกต่างหาก

     ปิดท้ายที่ Us (2019) หนังสยองขวัญเรื่องล่าสุดของ จอร์แดน พีล (Jordan Peele) ที่พูดถึงครอบครัวคนดำในอเมริกาที่อยู่มาวันหนึ่งเหล่าสมาชิกในบ้านถูกบุกรุกโดยบุคคลที่มีรูปร่างหน้าตาแบบเดียวกับพวกเขาเอง ก่อนจะพบในตอนท้ายว่าเราทุกคนต่างมีแฝดในโลกคู่ขนานซึ่งถูกคุมขังอย่างบอดใบ้ในอุโมงค์ใต้ดินของเมือง ที่ซึ่งแฝดของพวกเราเหล่านั้นกำลังจะรวมตัวกันลุกขึ้นมาปฏิวัติมนุษย์บนดิน… 

     นี่เป็นภาพยนตร์อีกเรื่องที่ใช้ doppelganger ได้ไกลกว่าการสำรวจตัวตนเชิงปัจเจก แต่เป็นการวิพากษ์ชนชั้นที่มองไม่เห็นในสังคมยุคใหม่ของสหรัฐฯ อย่างเจ็บแสบ

     เหล่านี้เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของโลก doppelganger ในภาพยนตร์และวรรณกรรมที่สะกิดใจเรา ผลงานชั้นเยี่ยมที่ไม่เพียงชวนให้คิดถึงความยุ่งยากไม่สิ้นสุดในการมีตัวตนของเราอีกคนบนโลก ที่ทำให้เรากลับมาย้อนคิด 

     กับคนบางคน ลำพังการมีอยู่แค่คนคนเดียวตามปกติ—หรือกระทั่งครึ่งคน—ก็ยังส่งผลฉิบหายวายปวงต่อคนอื่นๆ ไม่รู้ตั้งเท่าไหน เปิดข่าวดูทุกวัน ไม่ต้องไปหาไกลเลยว่าคนเหล่านั้นคือใคร