Thu 21 Oct 2021

BOOK FAIR IS COMING TO TOWN

คุยกับ ‘แหม่ม—ทิพย์สุดา สินชวาลวัฒน์’ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ คนใหม่ถึงความตั้งใจในการสร้างความเปลี่ยนแปลงของวงการการอ่านไทย

     ในแวดวงนักอ่านที่ไปเดินงานสัปดาห์หนังสือฯ หรือติดตามข่าวคราววงการการอ่านไทยอยู่เรื่อยๆ น่าจะคุ้นชื่อกับสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (Publishers and Booksellers Association of Thailand หรือ PUBAT) อยู่บ้าง เนื่องจากเป็นกลุ่มคนหลักๆ ที่รวมตัวทำงานเพื่อขับเคลื่อนด้านนี้อย่างจริงจัง รวมถึงรับหน้าที่จัดงานสัปดาห์หนังสือประจำปีที่มีคนไปร่วมงานแต่ละครั้งเป็นหลักล้านคน

     แต่สำหรับใครที่ไม่รู้จักหรือคุ้นเคยมาก่อน เราก็จะขอเล่าเพิ่มอีกนิดว่าสมาคมนี้ก่อตั้งขึ้นโดยคนทำหนังสือ จุดประสงค์คือต้องการสร้างประโยชน์ในการพัฒนาวงการหนังสือในประเทศให้ก้าวหน้าทัดเทียมกับนานาชาติ ทั้งนี้ยังมีการเปิดรับสำนักพิมพ์เล็กใหญ่เป็นสมาชิก โดยได้รับสิทธิพิเศษเป็นการออกบูทในงานหนังสือ

     ที่ผ่านมา สมาคมฯ ดำเนินงานมาแล้วเป็นเวลากว่าหกสิบปี มีการเปลี่ยนแปลงระบบ คณะกรรมการ รวมถึงกิจกรรมที่ทำมาตลอด จนมาในปีนี้ที่ครบวาระเลือกตั้งคณะกรรมการใหม่อีกหน ซึ่งผลออกมาน่าสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากทีมทำงานรุ่นนี้ล้วนแล้วแต่เป็นคนทำหนังสือที่อายุยังน้อย แถมยังเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ขนาดเล็กเสียส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นสำนักพิมพ์ชี้ดาบ สำนักพิมพ์ Biblio สำนักพิมพ์ Bookscape ที่ประกอบไปด้วยนักเขียน คอลัมนิสต์คนรุ่นใหม่ เรียกว่ามีภาพลักษณ์ที่แตกต่างจากคณะกรรมการชุดก่อนๆ ที่เราเห็นเคยมา

     เราจึงขอใช้โอกาสนี้นัดหมาย ‘แหม่ม—ทิพย์สุดา สินชวาลวัฒน์’ ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์บุ๊คส์เมคเกอร์ ที่เพิ่งรับตำแหน่งนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ คนใหม่มาพูดคุยกันถึงความตั้งใจในการสร้างความเปลี่ยนแปลงของวงการการอ่านไทยหลังจากนี้ รวมถึงงานมหกรรมหนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 26 ที่กำลังมาถึง

รู้สึกยังไงบ้างตอนที่ได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมฯ คนใหม่

     ดีใจ เพราะด้วยความที่เราทำงานกับสมาคมฯ มาตั้งแต่สมัยนายกฯ จรัญ หอมเทียนทอง จนถึงสมัยนายกฯ สุชาดา สหัสกุล และมาถึงสมัยนี้ สิ่งที่แตกต่างมากๆ คือความคิดใหม่ๆ เวลาอยู่ในห้องประชุมจะรู้สึกว่าบางไอเดียเฟรชมาก ไม่เคยได้ยินมาก่อน คิดว่าในระยะเวลาสองปีที่ดำรงตำแหน่งนี้น่าจะทำให้ทุกคนได้เห็นอะไรที่แตกต่างไปจากเดิมบ้าง

เห็นว่าคณะกรรมการชุดนี้เป็นคนรุ่นใหม่ค่อนข้างเยอะ อยากทราบว่าไปรวมตัวกันได้ยังไง

     เริ่มมาจากเรารู้จักกับบางคนอยู่แล้ว อย่างเช่นเรารู้จักกับจี (จีระวุฒิ เขียวมณี) แห่งสำนักพิมพ์ Biblio ก็จีบมาร่วมงานกัน เพราะรู้ว่าเขาโดดเด่นในการเป็นบรรณาธิการทำหนังสือที่ค่อนข้างเฉพาะกลุ่ม ทีนี้พอจีมีเพื่อน เรามีทีมที่รู้จักกัน ก็ชักชวนกันมาว่าใครอยากทำงานสมาคมฯ และอยากเห็นวงการหนังสือที่แตกต่างไปบ้าง บางคนที่เราไปจีบ เขาก็พูดมาเลยว่าถ้าทำเหมือนเดิมจะไม่ทำ สมาคมฯ ต้องกล้าเปลี่ยน เราเลยคอมมิตไปว่าถ้าเราได้รับเลือกเลือกตั้งจะกล้าเปลี่ยน สุดท้ายก็ได้คนใหม่ๆ ที่น่าสนใจเข้ามาร่วมงานด้วย

ทำไมหลายคนยื่นคำขอมาว่าสมาคมฯ ต้องเปลี่ยน

     ที่เป็นแบบนั้นเพราะหลายปีที่ผ่านมา ภาพของสมาคมฯ คือมีหน้าที่หลักแค่จัดงานหนังสือเท่านั้น ถ้าไม่ได้จัดงานหนังสืออย่างช่วงโควิด-19 หลายสำนักพิมพ์ก็ไม่มีเหตุจำเป็นในการต่อสมาชิก เราเลยมองถึงสมาคมอื่นๆ ที่เขาจะรวมตัวกันเพื่อช่วยกันแก้ปัญหา ต่อรองกับคนนอกที่ไม่ใช่คนในแวดวง กระทั่งเอาอำนาจไปต่อรองกับภาครัฐ อย่างสมาคมภัตตาคารไทยที่มีผลงานโดดเด่นมากในการให้ความช่วยเหลือกับสมาชิก

     เราจึงตั้งใจอยากเป็น one stop service ที่ไม่ว่าสมาชิกจะมีปัญหาอะไร เช่น เรื่องลิขสิทธิ์ ปัญหาปากท้อง ฯลฯ ก็จะนึกถึงสมาคม มาปรึกษาเราก่อน โดยที่เราจะมีคลังความรู้ในการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้เพื่อนๆ สมาชิกสมาคมต่อไป นี่คือวิสัยทัศน์ของเรา

คิดว่ากรรมการชุดนี้ที่คัดสรรกันมา มีข้อได้เปรียบที่แตกต่างจากกรรมการชุดก่อนๆ ตรงไหนบ้าง

     ข้อดีคือคนทำงานเรามีแต่คนทำสำนักพิมพ์เล็กๆ ดังนั้น ด้วยความที่ทำงานทำการตลาดด้วยตัวเองเกือบทุกขั้นตอน ทุกคนเลยรู้ปัญหาในทุกจุด ยกตัวอย่างปัญหาเรื่องการจัดส่ง-รับสินค้า ซึ่งสำหรับสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ เขาจะไม่ได้ลงไปคลุกคลีกับขั้นตอนการแพ็กของจัดส่งแบบนี้ ทำให้ไม่รู้ดีเทลปัญหาที่เกิดขึ้น แต่สำนักพิมพ์ที่ทำเองทุกอย่างจะรู้ไปถึงวิธีการตั้งค่าในแพลตฟอร์มขายของออนไลน์ ตรงไหนที่เป็นปัญหาบ้าง ทุกคนจะมีจุดร่วมคล้ายๆ กัน ซึ่งเรามองว่ามันจะเป็นการทำงานที่ลงลึกในด้านดีเทลมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันในภาพใหญ่เราก็ยังมีที่ปรึกษาเป็นอดีตนายกสมาคมฯ หรือจากธุรกิจอื่นๆ เพื่อให้วิสัยทัศน์ด้วย

ฟังดูเหมือนสำนักพิมพ์เล็กๆ จะได้รับการใส่ใจมากขึ้น

     ใช่ พอเป็นการรวมตัวกันของสำนักพิมพ์เล็กๆ ก็น่าจะทำให้เกิดการต่อรองมากขึ้น มีการให้พื้นที่กับสำนักพิมพ์ที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก หรือแชร์ปัญหาที่สำนักพิมพ์เล็กๆ เจออย่างเช่นการไม่มีพื้นที่วางขายในร้านหนังสือ การถูกบีบระยะเวลาการวางหนังสือบนชั้น การไม่มีเซลล์ไปทำสงครามแย่งชิงพื้นที่วางขายในร้าน ซึ่งอะไรแบบนี้เป็นสิ่งที่สำนักพิมพ์ใหญ่อาจไม่เคยประสบ ทั้งที่ความจริงแล้วทั้งหมดที่กล่าวมาส่งผลมากต่อสำนักพิมพ์เล็กๆ ซึ่งประเด็นเหล่านี้เราจะมีส่วนช่วยเพื่อนสมาชิกในการคิดนวัตกรรมหรือวิธีการต่อสู้ในน่านน้ำใหญ่ดู

แล้วอย่างช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ภาพรวมสถานการณ์ของหนังสือไทยเป็นยังไงบ้าง

     ภาพรวมของเราเหมือนต่างประเทศเลย นั่นคือสำนักพิมพ์ขายเอง ได้ยอดเพิ่มสูงขึ้น หน้าร้านขายได้น้อยลง เพราะพอสำนักพิมพ์ย้ายมาขายเอง คนที่มีศักยภาพในการซื้อออนไลน์ก็จะย้ายมาซื้อตรงกับสำนักพิมพ์ เพราะลดราคาเยอะกว่า

     ตอนนี้เรากังวลถึงภาระของหน้าร้าน เพราะยุคก่อนเวลาสำนักพิมพ์จะพิมพ์หนังสือ ก็มักทำพรีออร์เดอร์ก่อน พอคนชินกับการพรีออร์เดอร์แล้ว ยอดซื้อของหน้าร้านก็หายไป ทีนี้พอสำนักพิมพ์ขายได้เองมากขึ้น เริ่มมีใจรู้สึกว่าไม่ต้องพึ่งพาหน้าร้านขนาดนั้น ก็อาจมีส่วนทำให้หน้าร้านเกิดการเปลี่ยนแปลงเปอร์เซ็นต์การขาย

     อีกจุดที่น่าสนใจคือก่อนหน้านี้เราทำรีเสิร์ช พบว่ามีคนไทยอ่านอีบุ๊ก 3% แต่ปีนี้มีโควิด-19 คนไทยอ่านอีบุ๊กเพิ่มขึ้นถึง 10% ซึ่งเรารู้สึกว่าก้อนนี้มันก้าวกระโดดขึ้นมาเยอะ แล้วถ้าไปดูรายได้ของบริษัท meb ที่ขายอีบุ๊กจะพบว่าปีที่แล้วก็แตะหลักพันล้าน นอกจากนี้อุปกรณ์ที่ใช้อ่านอีบุ๊กก็ขายได้มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นั่นแปลว่าคนไทยอ่านหนังสือเยอะขึ้นแน่ๆ เพียงแต่เม็ดเงินมันไปถึงสำนักพิมพ์และนักเขียนจริงไหมอะไรแบบนี้มากกว่า

ในฐานะนายกสมาคมฯ คุณมีความตั้งใจจะพาวงการหนังสือไทยไปในทิศทางไหน

     สิ่งหลักๆ ที่ตั้งใจจะทำคือการประสานงานกับหน่วยงานรัฐบาล เพราะที่ผ่านมาเราไม่เคยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเลย อยากให้รัฐมีการส่งเสริมการอ่านมากกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบนักอ่านปลายทางอย่างการสนับสนุนการลดภาษีให้บุคคลธรรมดาเพื่อซื้อหนังสือ หรือจะสนับสนุนสำนักพิมพ์ในการลดภาษีกระดาษ เป็นต้น

     เราอยากให้รัฐตั้งงบประมาณสนับสนุนการอ่านเหมือนกับต่างประเทศที่รัฐเขาซัพพอร์ตเต็มที่ เช่น ถ้ามีห้องสมุดประชาชน 2,000 แห่ง รัฐจะซื้อหนังสือจากสำนักพิมพ์โดยตัดล็อตไปเลยที่ 2,000 เล่ม อย่างน้อยสำนักพิมพ์จะได้มีทุนก้อนนี้ในการพิมพ์หนังสือแล้ว หลังจากนั้นที่ขายก็เป็นกำไรไป สำนักพิมพ์จะอยู่ได้มากขึ้น ทีนี้ลองหันกลับมาดูบ้านเรา สำนักพิมพ์ไทยพิมพ์หนังสือ 3,000 เล่มนี่ถือว่าเยอะแล้วนะ เพราะไม่มีอะไรการันตีเลยว่าจะขายได้กำไรหรือขาดทุน

     อีกอย่างถ้าสำนักพิมพ์มีจำนวนน้อย มันส่งผลต่อปัญหาการอ่านหลากหลายด้วย ช่วงไหนนิยายฮิตก็จะมีแต่นิยายทุกสำนักพิมพ์ ช่วงไหนฮาวทูฮิตก็ฮาวทูกันหมด เรายังอยากให้สังคมไทยมีสำนักพิมพ์ที่ทำงานเน้นประวัติศาสตร์แล้วยังอยู่ได้ มีเงินไปพัฒนาปก พัฒนากิจกรรมส่งเสริมการอ่านให้มีคนสนใจมากขึ้น

ถ้ามีคนสงสัยว่าทำไมรัฐต้องซัพพอร์ตเหล่าสำนักพิมพ์หรือธุรกิจหนังสือ คุณจะตอบเขาว่ายังไง

     การอ่านหนังสือทำให้เราสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ในชีวิตได้ หรือต่อให้ต้องการจะทำอะไรสักอย่าง เราก็อ่านหนังสือเพื่อการเรียนรู้ อย่างที่เมืองนอกถ้าคนอยากเปลี่ยนอาชีพไปเป็นเชฟ รัฐบาลก็จะซัพพอร์ตเงินเดือนให้ เพื่อช่วยให้เขาเปลี่ยนไปเป็นเชฟได้ ซึ่งเวลาแห่งการเรียนรู้ตรงนี้เราไม่เคยมี เพราะประเทศเราตื่นมาต้องทำมาหากิน ทั้งที่ความจริงเราควรได้เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ โดยรัฐบาลต้องมาซัพพอร์ตให้ประชาชนเกิดการอยากเรียนรู้ เราถึงจะมีบุคลากรไปสู้กับต่างประเทศได้

     อีกทางหนึ่งรัฐบาลจะซัพพอร์ตวงการหนังสือผ่านละครก็ได้ อย่างการทำให้มีฉากอ่านหนังสือ เช่นสมมติเวลาตัวละครในหนังต่างประเทศอยากรู้อะไรสักอย่างหรืออยากศึกษาว่าใครเป็นฆาตกร เขาจะวิ่งเข้าห้องสมุด เปิดหนังสือพิมพ์ในอดีต แต่บ้านเราไม่มีเลย อย่างมากก็เสิร์ชกูเกิล ดังนั้น ฉากที่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้จากการอ่านก็ควรมี หรืออาชีพที่เกี่ยวข้องกับการอ่านก็ควรมีให้มากขึ้นเช่นกัน รัฐบาลอาจจะเรียกสมาคมภาพยนตร์หรือละครมาคุยว่าให้เพิ่มฉากเหล่านี้แล้วจะมีส่วนลดหรือช่วยเงินสนับสนุน เป็นต้น

นอกจากต่อรองกับภาครัฐแล้ว คุณยังมีนโยบายอะไรอีกไหม

     เราอยากเพิ่มพูนความรู้ของเหล่าสำนักพิมพ์ โดยเฉพาะการที่ทุกคนต้องอยู่ในยุคออนไลน์แบบนี้ เพราะสมาชิกสมาคมเราครึ่งหนึ่งที่ไม่ได้ออนไลน์ ตอนที่เราเปิดให้ทุกสำนักพิมพ์มาขายในเว็บไซต์ thaibookfair.com ช่วงมหกรรมหนังสือ หลายสำนักพิมพ์มีทั้งที่มีช่องทางของตัวเองอยู่แล้วและหลายสำนักพิมพ์ก็ทำไม่เป็น ทั้งที่เราจัดอบรมให้ความรู้ทุกปีแต่หลายสำนักพิมพ์ก็ตามไม่ทัน เราต้องเข้าไปสอนโดยตรงเลยก็เยอะ เลยคิดว่าอาจจะต้องทำคอร์สแยกย่อยเล็กๆ เพื่อสอนแบบที่เอาให้เป็นให้ได้ ส่วนใครที่เก่งแล้ว รู้วิธีการลงระบบออนไลน์หมด เราก็จะไปดีลคอร์สที่แอดวานซ์ขึ้นจากผู้เชี่ยวชาญของแพลตฟอร์มอย่าง shopee หรือ lazada เป็นต้น

     นอกจากนี้ เราก็มีแผนทำแคตตาล็อกรวมหนังสือใหม่ของทุกสำนักพิมพ์ เพื่อส่งไปยังห้องสมุดทั่วประเทศ รวมถึงห้องสมุดประชาชน ห้องสมุดโรงเรียน ห้องสมุดเอกชนด้วย ผู้ดูแลห้องสมุดจะได้รู้จักสมาชิกในสมาคมอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ใช่แค่สำนักพิมพ์ไหนมีแรงทำมีเซลล์วิ่งเข้าก็ได้เปรียบ เราพยายามทำสิ่งนี้เพื่อซัพพอร์ตสำนักพิมพ์เล็กมากขึ้น ทุกคนจะได้อยู่ได้

     และถ้าทุกคนทุกสำนักพิมพ์ทำออนไลน์แข็งแล้ว เราก็อยากทำให้เป็นไฮบริด คือเชื่อมทั้งออนไลน์-ออฟไลน์เข้าด้วยกัน เป็นแบบซื้อออนไลน์แล้วไปรับออฟไลน์ก็ได้ หรือซื้อออฟไลน์แล้วส่งหนังสือไปที่บ้านก็ได้ หรือกระทั่งนำคูปองหรือส่วนลดที่ใช้ได้ทั้งสองช่องทางก็ได้ ทุกภาคส่วนจะได้มีส่วนร่วมและช่วยกัน

คอนเซปต์เหมือนงานมหกรรมหนังสือครั้งนี้เลยใช่ไหม

     ใช่ อย่างที่เราบอกไปว่าถ้าร้านหนังสืออยู่ไม่ได้ก็ไม่ดี เราเริ่มเป็นห่วงร้านมาก เนื่องจากสำนักพิมพ์เริ่มแข็งแกร่ง สามารถอยู่ได้เองในช่วงโควิด-19 จากการขายออนไลน์ แต่ร้านหนังสือจะทำยังไงในเมื่อส่วนลดเขาก็ลดไม่ได้เท่าสำนักพิมพ์ ทางสมาคมเลยซัพพอร์ตเป็นของพรีเมียมเข้าไปจัดกิจกรรมในร้านหนังสือแทน เพื่อชดเชยส่วนลดที่อาจจะน้อยกว่า และดึงดูดให้คนไปดื่มด่ำไปซื้อหนังสือจากหน้าร้านเหมือนเดิม เพื่อสนับสนุนให้ร้านยังอยู่ได้

แล้วทำไมถึงเป็นมหกรรมหนังสือนออนไลน์กับธีมอ่านออกเถียงได้

     เนื่องจากเรามีเวลาค่อนข้างน้อย ประมาณเดือนหนึ่งในการจัดงานหนังสือ ตอนที่มารับตำแหน่ง มียอดคนติดโควิด-19 สองหมื่นกว่าคน คิดว่าปลายเดือนตุลาคมก็ไม่น่าจัดงานหนังสือได้ เลยตัดสินใจเลือกเป็นงานออนไลน์แทน และมาคุยกันว่าในยุคสมัยนี้ธีมอะไรที่จะโดนใจทุกคน แบบที่ไม่แรงเกินไปแต่ก็ทัชใจ ซึ่งจากการอ่านทำให้เราใช้เหตุผลในการคุยกัน ใช้ความคิด ไม่ต้องใช้ความรุนแรงก็เลยกลายเป็นธีมอ่านออกเถียงได้ ที่เลียนแบบมาจากอ่านออกเขียนได้ เพราะนอกจากเขียนได้เราก็เถียงได้ด้วย

มีกิจกรรมอะไรที่เพิ่มมาเป็นพิเศษไหม

     งานหนังสือครั้งนี้เราร่วมกับหลายแพลตฟอร์ม เช่น shopee lazada และ JD Central ทั้งสามแพลตฟอร์มก็ซัพพอร์ตส่วนลดค่าขนส่งให้ เพื่อดึงคนเข้าไปซื้อกับช่องทางเขา ดังนั้นเราเลยอยากช่วยร้านหนังสือด้วย ซึ่งนอกจากงานเสวนาออนไลน์แล้ว เรายังมีกิจกรรมที่เกี่ยวกับหน้าร้านคือประกวดร้านสวยงาม โดยให้ร้านถ่ายรูปมาแล้วให้คนในแฟนเพจมหกรรมหนังสือช่วยกันโหวตว่าร้านไหนสวยถูกใจ เพื่อมอบรางวัลเป็นกำลังใจให้ร้านนั้นๆ หรืออย่างน้อยใครที่ไม่เคยเห็นร้านนี้มาก่อน พอเข้ามาดูแล้วเกิดชอบ อาจจะเกิดความรู้สึกว่าถ้าได้ไปจังหวัดนี้จะแวะไป ถือเป็นการโปรโมตร้านให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น

คาดหวังกับงานมหกรรมหนังสือปีนี้ไว้ยังไงบ้าง

     คิดว่าน่าจะมีคนเข้ามาเยอะ แต่น่าจะไปที่ช่องทางมาร์เกตเพลสมากที่สุด เพราะเขาโปรโมตและแจกคูปองเยอะ ซึ่งสำนักพิมพ์ส่วนใหญ่ก็ขายดีในช่องทางเหล่านั้นมากกว่า โดยเราจะนับนักอ่านในช่องทางนั้นว่าเป็นนักอ่านขาจร ทำนองว่าเห็นลดราคา ซื้อหนังสือดีกว่า แต่คนที่เข้ามาในเว็บไซต์มหกรรมหนังสือ จะเป็นนักอ่านพันธุ์แท้ที่ชอบไปเดินงานหนังสือ ดูทุกๆ สำนักพิมพ์

สุดท้ายอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรมากที่สุดในวงการหนังสือ

     การสนับสนุนจากรัฐบาล ประชากรไทยจะก้าวหน้าไม่ได้ถ้าเราไม่อ่านหนังสือ