HIGH KNOWLEDGE HIGH RETURN
คุยกับสำนักพิมพ์ FP Edition และ NSIX กับการทำหนังสือที่ไม่ได้ช่วยให้รวยเร็วขึ้น แต่ทำให้ชีวิตการลงทุนดีขึ้น
เรื่อง: วิชญ์พล พลพิทักษ์ชัย
ภาพ: ภาพถ่ายจากทางบ้าน
ช่วงปีที่ผ่านมา เรื่องการลงทุนไม่ว่าจะในตลาดหุ้นหรือคริปโตฯ คือหนึ่งในประเด็นที่หลายคนหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกันอย่างออกรส จะขาดทุน ติดดอย กำไรหลายเด้ง ก็เป็นเรื่องที่ได้ยินกันทั่วไป หรือแม้แต่การเปิดดูพอร์ตลงทุนในมือถือก็กลายเรื่องปกติของผู้คนในยุคนี้ไปแล้ว
กระแสของการลงทุนที่มาแรง มาพร้อมกับแหล่งความรู้อย่างหนังสือหุ้นหรือหนังสือลงทุน ที่ได้รับความสนใจไม่แพ้กัน หนังสือขายดีที่เรียงรายอยู่เต็มชั้นกระทั่งเว็บไซต์ขาย eBook ก็ยังมีหนังสือหมวดหุ้นและการลงทุนติดอันดับอยู่ด้วยเสมอ
และอันที่จริง ก็ติดอันดับมานานแล้ว
สำหรับใครเป็นที่นักลงทุนจริงๆ น่าจะเคยผ่านตากับหนังสือหุ้นในตำนานอย่าง One Up On Wall Street เหนือกว่าวอลสตรีท ของ ปีเตอร์ ลินช์ (Peter Lynch) ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกตั้งแต่ปี 2012 จนถึงปี 2022 แล้วก็ยังมีนักลงทุนตามหากัน หรือบางเล่มที่ขาดตลาดอย่าง Trading in the Zone โซนแห่งเทรดเดอร์ ของ มาร์ค ดักลาส (Mark Douglas) ก็มีการนำมาขายเก็งกำไรในราคาหลักพัน (ราคาปก 336 บาท) สะท้อนถึงดีมานด์ของหนังสือหุ้นที่พร้อมเบรกทุกแนวต้าน และเมื่อเราลองพลิกดูหนังสือทั้งสองเล่ม ก็พบว่ามาจากสองสำนักพิมพ์ที่อยู่ในเครือเดียวกันอย่าง FP Edition และ Nsix ซึ่งมีผู้ก่อตั้งเป็นนักลงทุนสาย VI (Value Investor) ตัวจริงอย่าง เอก—เอกสิทธิ์ หัสสรังสี ผู้อยากทำสำนักพิมพ์หนังสือหุ้น เพราะไม่อยากให้ใครต้องมาเจ็บตัวจากการลงทุนโดยไม่มีความรู้ติดตัวมาก่อนอย่างเขา
เราจึงชวนเขาพูดคุยพร้อมกับ ต้น—กรศุภ มังกรแก้ว บรรณาธิการรุ่นใหม่ที่อยู่เบื้องหลังหนังสือหุ้นขายดีหลายเล่ม ถึงแนวคิดในการทำสำนักพิมพ์ที่บอกว่าไม่หวังกำไรจากการขาย แต่อยากให้คนอ่านได้มีความรู้ก่อนเข้าไปในตลาด รวมถึงภาพรวมของหนังสือหุ้นและการลงทุนที่กำลังเฟื่องฟูอยู่ ณ ตอนนี้ จนได้มาเป็นบทสัมภาษณ์ที่จะบอกกับผู้อ่านว่า
การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรอ่านบทสัมภาษณ์นี้ก่อนตัดสินใจลงทุน
คุณมองว่าตลาดหนังสือทุกวันนี้เป็นยังไงบ้าง โดยเฉพาะหมวดหนังสือหุ้นและการลงทุน
เอก: ขึ้นอยู่กับว่าเทียบกับอะไร ถ้าคุณเทียบกับภาพรวม ตลาดหนังสือหุ้นเป็นตลาดที่ niche และเล็กมาก เล็กจนกระทั่งบอกได้เลยว่ามีปริมาณเท่าไหร่ เช่น คุณสามารถวัดได้จากจำนวนคนเปิดบัญชีเทรดหุ้น ปัจจุบันอาจจะมีประมาณ 300,000 บัญชีที่แอ็กทีฟอยู่ คุณอาจจะประเมินต่อได้เลยว่ามีคนอ่านหนังสือกี่เปอร์เซ็นต์ ถ้ามีสัก 10 เปอร์เซ็นต์ ก็ประมาณ 30,000 คน หรือ 20 เปอร์เซ็นต์ก็ประมาณ 60,000 คน หรืออาจจะสัก 100,000 คน ซึ่งถ้าคุณเทียบกับปริมาณกลุ่มคนอ่านหนังสือฟิกชั่น หนังสือธุรกิจหรือกลุ่ม self-help ก็นับว่าคนอ่านหนังสือหุ้นเป็นกลุ่มที่เล็กกว่ามาก
หนังสือหุ้นกับหนังสือธุรกิจถือว่าแยกเป็นคนละหมวดกันเลยใช่ไหม
เอก: สำหรับผมมองว่าแยกส่วนกัน แต่หนังสือหุ้นกับหนังสือธุรกิจจะ intersect กันนิดหน่อย หมายความว่าถ้าเกิดคุณอยากจะเป็นนักลงทุนที่ดี คุณก็ต้องเป็นนักธุรกิจที่ดีด้วย ต้องรู้ว่าธุรกิจนี้ทำอะไร ซื้อ-ขายยังไง โฆษณาทำยังไง แต่หนังสือหมวดธุรกิจอาจจะไม่ได้มาสนใจเรื่องหุ้นเท่าไหร่ แต่อาจจะพูดเรื่องของจิตวิทยาองค์กร การบริหารธุรกิจ การตลาดซื้อ-ขาย เพราะฉะนั้นภาพรวมของคนอ่านหนังสือธุรกิจจึงไม่ใช่ตัวแทนของคนอ่านหนังสือหุ้น
ตอนนี้เวลาเดินเข้าร้านหนังสือเชนใหญ่ๆ จะเห็นหนังสือหุ้นเต็มชั้นหนังสือเลย ตรงนี้มันสะท้อนอะไรบ้าง
เอก: ปัญหาของคนไทยคือ me too หมายถึงว่าขอฉันร่วมด้วย หนังสือหุ้นใครก็ทำได้ แต่ก็เป็นแบบทั่วๆ ไป ไม่ได้ลึก ไม่ได้มีความพิเศษอะไร เพราะฉะนั้นการที่คุณเห็นว่าช่วงนี้หนังสือหุ้นกำลังได้รับความนิยม อาจเพราะไวรัสโควิด-19 คนรู้สึกว่างานประจำไม่พอแล้ว มีความเสี่ยง ต้องมีรายได้เสริมเป็นทางที่สอง ต้องเริ่มลงทุนในหุ้น ลงทุนในกองทุนรวม ทำให้หนังสือหุ้นบูมขึ้นมาพักหนึ่ง เช่นเดียวกับอัตราคนเปิดพอร์ตหุ้นในช่วงที่ผ่านมาซึ่งเพิ่มขึ้นเยอะมาก
แต่ผมคิดว่ามันเป็นแค่กระแสชั่วคราว หนังสือหุ้นที่คุณเห็นวางเต็มไปหมดก็จะหายตามไป เหมือนกับในอดีตเมื่อสัก 5-6 ปีที่แล้ว หนังสือธรรมะดังมาก ไปไหนก็จะมีแต่หนังสือธรรมะหมดเลย แล้วมันหายไปไหนตอนนี้ เพราะมันเป็นกระแสแค่ช่วงนั้น
แล้วเรื่องของคริปโตฯ ที่คนกำลังให้ความสนใจมาก ส่งผลต่อภาพรวมของหนังสือหุ้นและการลงทุนยังไงบ้าง
เอก: อันดับแรกคือหนังสือหุ้นต่างกับหนังสืออื่นนิดหน่อย สมมติคุณอ่านหนังสืออื่นๆ ที่ใกล้เคียงอย่างหนังสือธุรกิจหรือหนังสือเศรษฐศาสตร์ มันอาจจะไม่สามารถทำเงินให้คุณได้โดยตรง คุณได้ความคิด ความเข้าใจ ใช้เป็นแนวทาง แต่หนังสือหุ้นคือการที่คุณเรียนรู้วิชาอะไรบางอย่างเพื่อจะไปทำเงิน เหมือนคุณได้เรียนรู้อาชีพเสริม เพราะฉะนั้นความ direct ของการสร้าง income ที่จะมาจากหนังสือหุ้นกับหนังสือธุรกิจนั้นไม่เหมือนกัน
พอมีไวรัสโควิด-19 เข้ามา ก็มีความไม่แน่นอนเรื่องการทำงาน บริษัทอาจล้ม บางคนถูกเลย์ออฟก็ต้องหารายได้เสริม พอคุณไม่มีความรู้อะไรเลย คุณก็ต้องเริ่มจากการหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต จากเฟซบุ๊ก จากกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ เสร็จแล้วก็ได้ข้อมูลในเลเวลที่เป็นฐานพีระมิด เป็นภาพรวมกว้างๆ ที่ยังไม่สามารถทำรายได้ให้คุณ คุณก็ต้องไปเพิ่มยอดพีระมิด ขยับขึ้นไปเป็นขั้น 2-3-4 ต่อไป
ผมมีความเชื่อว่าเงินในตลาดหุ้นไหลจากคนที่มีความรู้น้อยไปหาคนที่มีความรู้มาก อันนี้พูดแบบสุภาพนะ คนที่ไม่อ่านหนังสือ ไม่หาความรู้ ไม่ศึกษาข้อมูล มีแต่เงินแล้วก็เข้าไปตะลุย เงินของคนกลุ่มนี้จะไหลไปหาคนที่ศึกษาหาความรู้ มีจิตใจในการลงทุนที่มั่นคง มี EQ ดี สามารถพิจารณาสิ่งที่กำลังลงทุนได้ดี ดังนั้นคนที่สำเร็จในตลาดหุ้นจึงมีน้อย
ขณะเดียวกันก็มีเปิดคอร์สเรียนหุ้นเยอะมาก ถือว่าเป็นคู่แข่งโดยตรงของคุณไหม
เอก: อาจจะเป็นคู่แข่งบางส่วน แต่ไม่ใช่ทั้งหมด มันมีคอร์สหุ้นหลายแบบนะ คอร์สที่เน้นรวยง่าย รวยเร็ว เขาก็จะดึงดูดคนบางกลุ่มไป คอร์สที่สอนประเมินมูลค่าหุ้น วิเคราะห์งบการเงิน ก็จะดึงดูดคนกลุ่มหนึ่งไป แต่หนังสือที่ผมทำจะค่อนข้างยากกว่าเลเวลพื้นฐาน เพราะฉะนั้นคอร์สหุ้นจำนวนมากที่เน้นขายคนหวังรวยเร็ว จึงไม่ใช่คู่แข่งของผม
ทีนี้เวลาคุณอ่านหนังสือ คุณอาจจะมีข้อสงสัยบ้าง ซึ่งหนังสือเป็นการรับสารทางเดียว คุณก็ต้องไปหาข้อมูลมาเพิ่ม อาจจะหาได้หรือไม่ได้ นี่คือสาเหตุที่ผมตั้งกลุ่มพูดคุยเกี่ยวกับหนังสือหุ้นด้วย แต่ถ้าเกิดคุณอยู่คนเดียว และไม่รู้จะถามใคร คอร์สพวกนี้ก็อาจจะเป็นคำตอบ ซึ่งมันเป็นส่วนเสริมกัน
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มลูกค้าอีกแบบที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของเรา ก็คือคนไม่อ่านหนังสือ แนวคิดของผมคือคุณต้องอ่าน และคุณอาจจะไม่รวยเร็ว แต่ก็จะมีคนอีกแบบที่บอกว่าต้องเทรดด้วยประสบการณ์ ต้องเจอเอง เจ็บเอง เจ๊งเอง ถึงจะเรียนรู้
พอจะเปรียบเทียบได้ไหมว่า ความสำเร็จในการเทรดที่ได้จากการอ่านหนังสือกับประสบการณ์จริงที่ได้เจอเอง มันต่างกันไหม
เอก: คำตอบนี้ง่ายมาก ผมบอกได้เลยว่า แพตเทิร์นของจิตวิทยาในการเทรด หรือจิตวิทยาในการลงทุน มันถูกวิเคราะห์หรืออยู่ในหนังสือหมดแล้ว
ยกตัวอย่างเช่น คุณเทรดได้กำไรสามครั้งติดต่อกัน คุณจะรู้สึกว่าคุณเก่ง กลายเป็นเซียนขึ้นมาทันที แต่หนังสือจิตวิทยาก็บอกไว้นะว่ามันอาจจะไม่ใช่ความเก่งก็ได้ คุณอาจจะฟลุก แต่ประเด็นคือคุณรับรู้ไหมว่าตัวเองใช้ bias แบบไหนอยู่
นั่นหมายถึงว่าแทนที่คุณจะรู้จักตัวเองก่อนแล้วค่อยไปเจอกับเหตุการณ์จริง กลายเป็นว่าคุณไปเจอเหตุการณ์จริงก่อน แล้วกลับมารู้ทฤษฎี ผมว่ามันกลับด้านกัน แล้วคุณต้องเรียนรู้จากประสบการณ์จริงกี่ครั้ง ต้องขาดทุนไปเท่าไหร่ถึงจะเจอตัวเอง แต่ถ้าเกิดคุณเรียนรู้มาก่อนบ้าง สัก 5 ใน 10 ส่วน คุณอาจจะเจอเทรดผิดพลาดสัก 5 ครั้ง เพื่อจะเติมให้เต็ม 10 แต่ถ้าเกิดคุณไม่รู้ตัวเองเลย รอเจอเหตุการณ์จริง 10 ครั้ง ซึ่งทุกๆ ครั้งที่เจอก็ต้องเสียเงิน แล้วคุณจะมีเงินทุนเหลือไหม จิตใจจะเป็นยังไง คุณเลยต้องรู้ข้อมูล รู้ทฤษฎี รู้อะไรบางอย่างก่อน แล้วก็ไป on the job training
หนังสือเป็นเหมือนทางลัดหรือเปล่า
เอก: หนังสือไม่ใช่ทางลัด หนังสือคือพื้นฐาน เป็นปากซอย คุณเข้าทางนี้ถูกต้อง แต่คุณจะเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาก็ได้ ถ้าคุณอ่านเพิ่มก็เข้าไปได้ลึกอีกหน่อย ความเลือนรางในปลายอุโมงค์ของคุณจะน้อยลง
หนังสือไม่สามารถช่วยคุณได้ทั้งหมดนะ ส่วนสำคัญที่สุดคือการดูแลตัวเอง คุณคือนักลงทุนแบบไหน คุณมองการลงทุนยังไง เพราะมุมมองการลงทุนคือส่วนที่ยากที่สุดในการเริ่มลงทุน เช่น คุณรู้ได้ยังไงว่าคุณเป็น trader (นักเก็งกำไร) คุณรู้ได้ยังไงว่าคุณเป็น VI (นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า) หนังสือมันเป็นแค่ปากซอยเพื่อให้คุณเลือกเข้าถูกทาง ถูกถนน เข้าไปแล้วคุณก็ต้องไปเรียนรู้ เหมือนคุณเรียนสี่ปีจบปริญญา คุณก็มีความรู้พื้นฐาน พอออกไปคุณก็ต้องเรียนรู้เพิ่ม เพื่อที่จะทำงานได้ ใช้หลักการเดียวกัน
หน้าที่ผมในฐานะสำนักพิมพ์ คือการสร้างข้อมูลที่หลากหลายเพื่อให้คนอ่านเลือก แล้วดูว่าสิ่งไหนที่เหมาะสมกับตัวเอง และเอาสิ่งนั้นไปใช้ อย่างผมเป็น hardcore VI ก็ต้องรู้จักปีเตอร์ ลินช์, วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett), จอห์น เนฟฟ์ (John Neff), ฟิลิป ฟิชเชอร์ (Philip Fisher) หรือเบนจามิน เกรแฮม (Benjamin Graham) ทั้งหมดนี้เป็นสาย VI หมดเลย แต่มองการลงทุนไม่เหมือนกันสักคน ฟิชเชอร์บอกว่าต้องซื้อหุ้น growth ดีที่สุด บัฟเฟตต์บอกว่าซื้อหุ้นดีราคาเหมาะสม เกรแฮมบอกว่า ต้องซื้อหุ้นราคาถูก 2 ใน 3 ของ book value ลินช์บอกว่าซื้อหุ้นให้หลากหลายตัวมากที่สุดเท่าที่คุณจะดูไหว และหุ้นมีไว้ขาย ซึ่งเห็นมั้ยครับว่าขัดกันเองหมดเลย
สำนักพิมพ์ก็ต้องหา raw material ขึ้นมา ต้องเอาแนวคิดของทุกคนที่พูดถึงเมื่อกี้มาทำหนังสือ พอคุณอ่านเสร็จ คุณชอบของใคร คุณก็ไปสร้างทางขึ้นมาเอง อย่างเจไดใน Star Wars ต้องไปเก็บคริสตัลมาประกอบเป็นดาบของตัวเอง นักลงทุนก็ต้องไปเก็บข้อมูล แล้วประกอบเป็นวิธีการลงทุนของตัวเองขึ้นมา คุณจะไม่มีทางประสบความสำเร็จถ้าคุณไม่มีวิธีการลงทุนที่ถูกจริตกับตัวเอง
ถามตรงๆ ถ้ามองในแง่ธุรกิจ การทำหนังสือหรือสำนักพิมพ์เป็นธุรกิจที่กำไรน้อยมาก ทำไมคุณถึงยังทำอยู่
เอก: ผมทำหนังสือไม่หวังกำไร ฟังแล้วอาจจะดูแปลกหรือขี้โม้ แต่ถ้าถามพนักงานผม จะรู้เลยว่าผมทำธุรกิจแบบนั้นจริงๆ เพราะผมมีรายได้จากการลงทุนพอแล้ว เป้าหมายอย่างเดียวคือไม่ขาดทุน
เมื่อ 20 ปีที่แล้วผมเริ่มเข้าตลาดหุ้นจากการไม่มีความรู้อะไรเลย ผมได้เงินเดือน 20,000 บาท แล้วผมก็เข้าไปซื้อ-ขายหุ้นมั่วๆ ขาดทุนวันละ 1,000 บาท ตกเดือนละ 30,000 บาท ก็ตายสิ ผมเลยถอยออกมา คิดว่ามันต้องมีอะไรบางอย่างที่เราทำผิดไป อ๋อ ไม่มีความรู้ไง ก็ไปหาความรู้
ผมไปร้านหนังสือ ซื้อหนังสือมาอ่าน โชคดีผมอ่านภาษาอังกฤษได้ สุดท้ายผมได้อ่าน One Up On Wall Street แล้วชอบมาก สนุก ถูกจริตมาก ถือติดตัวตลอด รถติดก็เปิดมาอ่าน ก่อนนอนก็เปิดมาอ่าน ผมจำได้ว่าหลังจากอ่านจบ ตื่นเช้ามาผมก็เกิดความคิดว่าหนังสือเล่มนี้น่าจะมีแปลภาษาไทย แบ่งให้คนอื่นอ่านบ้าง เพราะคนอ่านภาษาอังกฤษไม่ได้เยอะมาก ถ้าไม่มีใครทำ เดี๋ยวผมทำเอง
จากที่ผมเป็นวิศวกร เป็นพนักงานบริษัท ไม่มีความรู้เรื่องหนังสือเลย ผมก็ไปรีเสิร์ชว่าจะทำหนังสือยังไง ซื้อลิขสิทธิ์ยังไง ด้วยความคิดที่ว่าเงินนั้นหามาด้วยความยากลำบาก ไม่ควรเอาไปทิ้งง่ายๆ ในตลาดหุ้น เพราะไม่มีความรู้
อะไรที่ทำให้คุณอยากจะทำหนังสือแบ่งให้คนอื่นอ่านด้วย มันเหมือนการทำบุญหรือเปล่า
เอก: การแบ่งให้คนอื่นมันมี gearing ratio หมายความว่า ถ้ามีหนังสือหนึ่งเล่ม นาย ก. เอาหนังสือไปอ่าน จากที่ไม่มีความรู้ก็มีความรู้เพิ่มขึ้น พอไม่ขาดทุนในตลาดหุ้น พ่อแม่ พี่น้อง ลูกเมียที่เขาดูแลอยู่ก็จะมีชีวิตดีขึ้นเรื่อยๆ กลับกัน แค่คุณขาดทุน ไปขอยืมตังค์พ่อแม่หรือเมียไปลงทุน แล้วเจ๊งอีก พังทลายหมดเลย นี่คือ gearing ratio ด้านลบ
ผมต้องการแบ่งสิ่งที่ผมคิดว่าดีที่สุดให้คนอื่น ผมต้องการส่งที่ดีที่สุดให้ลูกค้า ผมคิดว่าอันนี้ดี อันนี้โคตรเจ๋งเลย อ่านเถอะ แล้วชีวิตคุณจะดีขึ้น การทำสิ่งที่มีประโยชน์ให้คนอื่นได้อ่าน แล้วมีชีวิตที่ดีขึ้น ไม่กำไรก็ไม่เป็นไร อย่าขาดทุนพอ นี่คือหลักธุรกิจของผม
ทำไมถึงแยกสำนักพิมพ์ออกมาเป็น FP Edition กับ Nsix
เอก: มันเกิดจากความผิดพลาด เพราะความเป็นเด็กของผมที่มองเป็นดำ-ขาว เมื่อ 20 ปีที่แล้วผมเป็น hardcore VI ที่เชื่อว่า technical ใช้ไม่ได้ผล เป็นเรื่องโกหก ผมจะไม่ส่งต่อสิ่งที่ผมคิดว่าไม่ดีให้คนอ่าน ฉะนั้น 10-15 ปีแรกของสำนักพิมพ์ก็เลยมีแต่หนังสือ VI อย่างเดียว
อยู่มาวันหนึ่ง อาจจะด้วยอายุมากขึ้น เห็นโลกมากขึ้น ก็ป๊อปอัพขึ้นมาว่าสิ่งที่เราคิดมันถูกไหม ทำไมมองย้อนกลับไปก็มีเทรดเดอร์ที่อายุ 70-80 ปีประสบความสำเร็จตั้งเยอะแยะ เรามองอะไรผิดไปหรือเปล่า ผมเลยค่อยพบว่าจริงๆ แล้ว technical analysis มันใช้ได้ แล้วมันมีทั้งการจัดการและจิตวิทยาการลงทุนที่ดีมาก มีคนเอาไปใช้แล้วประสบความสำเร็จจริง
ผมจึงตั้งสำนักพิมพ์ที่สองขึ้นมาคือ Nsix (เอ็นซิกซ์) หมายถึงคำว่า non-VI โดยตัว N แทนคำว่า non ส่วน six มาจากว่า VI คือเลข 6 ในภาษาโรมัน non-VI ส่วนสำนักพิมพ์แรกคือ FP มีที่มาจาก Fidelity ซึ่งเป็นชื่อกองทุนของปีเตอร์ ลินช์ ซึ่งผมชอบมากและเป็นแรงบันดาลใจให้ผมทำหนังสือ
อยากรู้ว่าตัวเลขที่ใส่ไว้ตรงสันหนังสือเป็นกิมมิกที่อยากให้คนอ่านเก็บให้ครบทุกเล่มใช่ไหม
เอก: เป็นความชอบส่วนตัว พอทำๆ ไปมันก็เป็นซีรีส์ ผมไม่เคยทำข้อมูลไว้ว่ามันช่วยเพิ่มยอดขายได้หรือเปล่า บางคนก็ไม่ชอบนะ ส่งข้อความมาหาผมว่าอย่าทำเลขได้ไหม เพราะเขามีไม่ครบแล้วหงุดหงิด แต่ผมบอกว่าสายไปแล้วครับ ทำไปขนาดนี้แล้ว
หลักเกณฑ์ในการเลือกหนังสือมาแปลของคุณคืออะไร
เอก: ก่อนหน้านี้ไม่มีหลักเกณฑ์อะไรเลย มีแต่หนังสือที่ผมชอบ แต่จริงๆ การทำสำนักพิมพ์หรือการเป็นบรรณาธิการ คุณต้องมองภาพรวมของวงการหนังสือให้ได้ก่อน อย่างวงการหนังสือหุ้น คุณต้องเห็นว่าคนอื่นทำอะไร เรากำลังทำอะไร สังคมขาดอะไร คนอ่านขาดอะไร หนังสือเล่มไหนที่จะมาเติมช่องว่างนี้ได้ นี่คือความยากในการเลือกหนังสือ
อย่างที่ผมบอกไปก่อนหน้านี้ว่าใครๆ ก็เข้ามาทำหนังสือหุ้น ถ้าไม่ได้อยู่ในวงการนี้จริงๆ คุณจะไม่เห็นภาพรวมว่าใครทำอะไรอยู่ สำนักพิมพ์นี้ทำอะไร เพราะหนังสือหุ้นก็แยกย่อยไปอีก มี VI มี trader มี hybrid มีทั้งคนไทยเขียน คนต่างชาติเขียน พอคุณไม่เห็นภาพรวม คุณจะตกไปอยู่ใน red ocean ทันที
คุณอาจจะบอกว่าธุรกิจหนังสือเป็นธุรกิจที่ไม่ดีแล้ว ยอดขายก็ตก แต่มันยังมีบางมุมที่ดีอยู่เหมือนกัน เพราะในตลาดยังแบ่งกลุ่มย่อยลงไปอีก คุณต้องรู้ว่าตรงไหนยังว่างอยู่ ต้องไปทำรีเสิร์ชว่าเล่มไหนดี แล้วค่อยนำมาเติมเต็มช่องพวกนี้ เพราะฉะนั้น ผมจะดูในกลุ่มเฟซบุ๊กหลายกลุ่ม เช็กเพจหลายเพจ อ่านคอมเมนต์ทุกอัน ใครกำลังพูดถึงอะไร คนกำลังสนใจเรื่องอะไร หรือคุยกับเพื่อนนักลงทุนบ้าง บางคนก็ส่งข้อความมาแนะนำให้อ่านเล่มนี้สิ ผมก็จะรวบรวมข้อมูลไว้เป็นภาพรวมในกระดาน แล้วใช้เป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจ
นี่คือหลักในการเลือกหนังสือ คือตอบสนองสิ่งที่ยังว่างอยู่ และตอบสนองสิ่งที่ผมคิดว่าดี
หนังสือแปลส่วนใหญ่ จะเป็นหนังสือที่พิมพ์ออกมาหลายปีแล้ว ถ้าถามแบบนักลงทุนมือใหม่เลย แนวคิดในหนังสือยังใช้ได้จริงกับการลงทุนในยุคนี้ไหม
เอก: หลักการก็คือหลักการ มันเป็นหลักการไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีหลักการใหม่ที่น่าเชื่อถือกว่ามาลบล้าง ถ้ายังไม่มีอะไรมาลบล้าง มันก็คือหลักการที่ใช้ได้ เช่น หลักการว่าซื้อหุ้นในราคาถูกของเกรแฮมก็ยังใช้ได้จริงยันทุกวันนี้
ต้น: แก่นจริงๆ ของ VI มันยังใช้ได้ คือซื้ออะไรก็ตามให้ต่ำกว่ามูลค่า หรือซื้ออะไรที่เติบโตได้ แต่ว่าสิ่งที่อาจจะใช้ไม่ได้แล้วคือพวกรายละเอียดมากกว่า เช่น เกรแฮมบอกว่าคนต้องซื้อหุ้นที่ราคาถูกมากๆ ชนิดที่ว่ากิจการนี้ใช้หนี้หมดแล้วก็ยังเหลือเงินสด แบบนี้มันจะใช้ไม่ได้เพราะว่าเป็นบริบทในยุคก่อน
หนังสือกลุ่ม technical ก็เหมือนกัน อย่างเล่ม How to Make Money in Stocks (CANSLIM) คัดหุ้นชั้นยอด ด้วยระบบชั้นเยี่ยม เล่มนี้เขียนเมื่อประมาณปี 1980 หลักการแบบ canslim ใช้ได้ดีมาก แต่พอผ่านมาสัก 10 ปี หลักการนี้เริ่มด้อยประสิทธิภาพ หรือหลักการที่เคยใช้ได้จริงกับหุ้นไทย บางอย่างก็เริ่มใช้ไม่ได้ แต่แก่นของมันยังอยู่ คือคุณต้องซื้อหุ้นที่เป็นขาขึ้น
เพราะฉะนั้นหนังสือแปลเมืองนอก ข้อดีคือหลักการจะ solid มาก แต่ข้อเสียที่ลูกค้าหลายคนบอกก็คือ มันเป็นหลักการที่เก่าเกินไปด้วย ในฐานะของสำนักพิมพ์ที่ทำหนังสือแปล เรารู้แล้วว่าจุดอ่อนคือหลักการเหล่านี้อาจจะใช้กับหุ้นไทยยาก ข้อมูลบางอย่างอาจจะใช้กับปัจจุบันไม่ได้ เราเลยมีหน้าที่ในการทำยังไงให้นักลงทุนเอาไปใช้ได้จริงมากขึ้น อย่างในเว็บจะมีส่วน extension ให้กับคนอ่าน ซึ่งเป็นส่วนที่เราคิดว่าต้องเขียนอะไรเพิ่มเติมเข้าไปเพื่อให้คนเอามาใช้กับตลาดหุ้นของจริงได้
ตั้งแต่ทำสำนักพิมพ์มา คุณเคยเจอฟีดแบ็กจากคนอ่านในลักษณะไหนบ้าง
เอก: ผมจะเล่าสองเหตุการณ์สำคัญให้ฟัง เหตุการณ์แรกเกิดเมื่อสักประมาณสิบห้าปีที่แล้ว มีคนเดินมาสวัสดีผม ถามว่าพี่ใช่เจ้าของสำนักพิมพ์ FP Edition ไหมครับ หนังสือพี่เปลี่ยนชีวิตผมเลย ขอบคุณมากครับพี่ แล้วเดินหันหลังไปเลย ไม่มีคำสนทนาต่อเลยนะ คือเขาไม่ต้องการอะไรจากผมเลย เขาต้องการแค่มาบอก หัวใจผมพองโตเลย
เหตุการณ์ที่สอง ผมโพสต์ในเพจว่าวันนี้ครบรอบ 15 ปีของบริษัท ขอบคุณนักอ่านทุกท่านที่สนับสนุนมาตลอด ปรากฏว่ามีข้อความส่งมาหลายร้อยบอกว่าขอบคุณมาก ถ้าไม่มีคุณ ผมลำบากเลย หนังสือของสำนักพิมพ์คุณมันเปลี่ยนชีวิตเลย ผมอ่านแล้วน้ำตาไหล นี่แหละคือกำไร ถ้าคุณทำอะไรก็ได้เพื่อเงิน คุณจะตกเป็นทาสของเงิน ถ้าเกิดคุณทำดีที่สุดแล้ว เงินจะมาเอง
ต้น: ผมแชร์เพิ่มเติมนิดนึง คนเล่นหุ้นที่สำเร็จจริงๆ มีน้อย ในฐานะที่เราทำหนังสือ ถ้ามีคนอ่าน 100 คน ยากมากที่ 100 คนนี้จะเล่นหุ้นแล้วรวย แต่อย่างน้อยมันก็พอช่วยให้คนไม่ขาดทุนหรือหาทางไปต่อของตัวเองได้ แค่นี้ก็แทบจะเป็นเป้าสำเร็จอย่างหนึ่งในฐานะคนทำหนังสือแล้ว
เคยได้ยินมาว่าสำนักพิมพ์บางที่ตีพิมพ์หนังสือออกมาครั้งเดียวแล้วไม่พิมพ์ซ้ำอีกเลย ทำให้ราคาพุ่งสูงเหมือนหุ้น มองตรงนี้ยังไงบ้าง
เอก: คำตอบง่ายมาก คือผมจะไม่ทำแบบนั้น ผมไม่ได้บอกว่าเขาทำไม่ถูกนะ เพราะเป็นวิธีการทำธุรกิจของเขา
ความคิดผมคือ หนึ่ง—ไม่เอากำไรอยู่แล้ว ขอให้ไม่ขาดทุนเป็นเรื่องสำคัญ สอง—ความรู้ที่มีต้องกระจายให้ได้มากที่สุด ในราคาที่ต่ำที่สุด ผมบอกลูกน้องว่าเราไม่ได้ขายหนังสือ เราขายความรู้ และต้องขายความรู้ราคาถูกด้วย มันอาจจะมีบางเล่มที่ขาดตลาดไปแล้วราคาขึ้น เพราะมีการปั่นในตลาดมือสอง แต่สุดท้ายก็จะมีหนังสือออกมาจากผมเอง ผมจะไม่บอกว่าพิมพ์แค่นี้แล้วจบ สมมติพิมพ์ไป 5,000 เล่ม หมดแล้วหมดเลย แล้วอีก 10,000 คนจะอ่านอะไร เขาต้องไปซื้อเล่มนี้ในราคาเล่มละ 2,000 เหรอ ราคาปกมันแค่ 398 บาท
เป้าหมายของผมคือการกระจายความรู้ ไม่ใช่การสร้างราคาหนังสือ หรือทำให้หนังสือเล่มนี้ดัง หนังสือดังหรือไม่ดัง ผมไม่สนใจเลยนะ ผมต้องการอย่างเดียวคือให้มันกระจายไปได้มากที่สุด ยิ่งกระจายมาก gearing ยิ่งสูง หนึ่งคนอ่าน คนที่อยู่ด้านหลังของคนอ่านก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย
จะมีแค่บางช่วงที่ผมไม่ได้พิมพ์หนังสือเล่มนั้นๆ เช่น ผมอยากปรับปรุงก่อน หรือมันขายไม่ค่อยดีหรอก อาจจะต้องรอสักพักหนึ่ง เพื่อให้ดีมานด์มันมากขึ้นหน่อย แล้วค่อยกลับมาพิมพ์ใหม่ มันเป็นการบริหารธุรกิจมากกว่า แต่สุดท้ายมันจะกลับมา ผมรับประกันได้เลย เพราะฉะนั้นคุณไม่จำเป็นต้องไปแย่งของราคาแพง
ต้น: ทุกคนควรจะเข้าถึงความรู้ที่ดีได้ในราคาที่ไม่แพง เหมือนกับว่าคนเล่นหุ้นมีพอร์ตหนึ่งล้านบาท คุณซื้อหนังสือ 500 หรือ 2,000 บาท ได้สบายๆ แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีเงินล้าน เมื่อก่อนตอนผมอยู่ ม.ปลาย การซื้อหนังสือเล่มละ 500 บาทถือว่าแพงแล้วนะ เพราะฉะนั้นเราไม่ได้ตอบสนองกลุ่มลูกค้าที่มีเงินอยู่แล้ว แต่เป็นคนที่เพิ่งเริ่มต้น อาจจะมีเงินออมเดือนหนึ่งไม่กี่พัน เขาก็ควรจะเข้าถึงแหล่งความรู้พวกนี้ได้ด้วย
หนังสือเล่มไหนที่ถือว่าเป็นตำนานของสำนักพิมพ์
เอก: สำหรับผมคือ One Up On Wall Street เหนือกว่าวอลสตรีท มันเป็นหนังสือที่ทำให้ผมทำสำนักพิมพ์ เป็นหนังสือที่ผมชอบที่สุด และเป็นหนังสือที่ขายมายี่สิบปีแล้วก็ยังขายได้ดีอยู่ ติด Top 5 ตลอด แล้วก็เป็นหนังสือที่อ่านสนุกมาก อ่านแล้วหัวเราะได้เลย เป็นหนังสือความรู้ที่สุดยอดของทุกด้าน ไม่ว่าคุณจะเป็น VI หรือคุณจะเป็นเทรดเดอร์ เป็นเล่มที่คุณควรอ่านมากๆ
อยากฝากอะไรกับคนอ่านที่เป็นนักลงทุนที่เพิ่งเข้าตลาดมาบ้างไหม
เอก: สำหรับมือใหม่ อย่าเข้าตลาดมามือเปล่า เอาความรู้ติดตัวเข้ามาด้วย ความรู้จะมาจากทางไหนก็ได้ จะมาจากการอ่าน การฟัง หรืออะไรก็ได้ เพราะว่าตลาดหุ้นโหดร้ายมาก มันสามารถฆ่าคุณได้โดยที่คุณไม่รู้ตัวด้วยซ้ำไป
คุณไม่จำเป็นต้องมาซื้อหนังสือสำนักพิมพ์เรา แต่ขอให้คุณมีความรู้ ความรู้สำคัญที่สุด คุณไม่อ่านหนังสือ คุณก็ไม่รู้อะไร