Thu 05 Nov 2020

NOT A PIECE OF PAPER

ล้อมวงคุยกับสองนักทำหนังที่คลั่งไคล้โปสเตอร์หนังถึงขั้นเปิดร้านขายจริงจัง

     ผมเดินถือกระบอกใส่โปสเตอร์ออกมาจากบ้านหลังหนึ่งย่านทาวน์อินทาวน์ ทั้งที่ไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้านี้ ผมเดินเข้าไปตัวเปล่า เพื่อพบ นัฐวุฒิ พูนพิริยะ และ ณฐพล บุญประกอบ สองบุคคลที่ถ้าใครเป็นคอภาพยนตร์คงเคยผ่านตาผลงานการกำกับของพวกเขามาบ้าง

     เคาท์ดาวน์ กับ ฉลาดเกมส์โกง คือผลงานการกำกับของบาส นัฐวุฒิ

     2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว กับ เอหิปัสสิโก (Come and See) คือผลงานการกำกับของไก่ ณฐพล

     เปล่า, ผมไม่ได้มาคุยกับทั้งคู่ถึงเรื่องราวของคนที่นั่งอยู่หลังกล้อง แต่ก็ใช่ที่ผมมาคุยกับทั้งสองคนในเรื่องราวเกี่ยวกับภาพยนตร์ หากว่าเป็นมุมมองที่เกี่ยวกับโปสเตอร์

     ด้วยว่าในช่วงเวลาไม่กี่เดือนที่ผ่านมา นัฐวุฒิและณฐพลต่างพากันเปิดร้านขายโปสเตอร์ภาพยนตร์ในอินสตาแกรม โดย ‘Poster District’ คือร้านของนัฐวุฒิ ส่วน ‘แปะโปสเตอร์’ คือร้านของณฐพล

     ทั้งสองร้านเกิดจากการนำของสะสมของตัวเองมาแบ่งปัน (หรือเรียกอีกอย่างได้ว่าป้ายยา) ผู้มีใจรักในภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ จนเป็นเหตุให้เกิดการเฝ้าหน้าจอรอนัฐวุฒิและณฐพลเปิดแผงออนไลน์ เพื่อช่วงชิงและกดปุ่ม F ก่อนใคร

     แม้ตอนติดต่อไป นัฐวุฒิกับณฐพลจะบอกว่าพวกเขาไม่ใช่เซียนโปสเตอร์ ไม่ใช่คนที่จะมาบอกเราได้ว่าการซื้อโปสเตอร์แต่ละครั้งควรเฝ้าระวังหรือสังเกตสิ่งไหน แง่งามและคุณค่าของโปสเตอร์คือสิ่งใด เพราะหลายครั้งการซื้อและสะสมโปสเตอร์ของพวกเขาก็เกิดจากความรักในภาพยนตร์เรื่องนั้น และที่เอามาขายก็ไม่ใช่ว่าหมดเยื่อใยแล้ว หากต้องจำใจส่งต่อด้วยพื้นที่ในบ้านเริ่มไม่เหลือที่ว่างให้เห็นต่างหาก

     แต่ก็เพราะเหตุนี้ ผมเลยอยากไปคุยกับพวกเขา เพราะถ้ามองจากมุมของคนนอก โปสเตอร์ภาพยนตร์ราคาหลายบาทของใครคนหนึ่งก็อาจไม่ต่างจากกระดาษแผ่นเดียวของใครบางคน และเพื่อมองให้เห็นเรื่องราวในกระดาษแผ่นนั้น (จนเผลอซื้อกลับมาหลังคุยจบ) บางทีเราก็ไม่ควรเริ่มต้นจากเซียนที่ไหน

     เริ่มจากคนที่ชื่นชอบภาพยนตร์อย่างพวกเขาก็น่าจะเพียงพอ

ทั้งสองคนเริ่มสะสมโปสเตอร์หนังกันตั้งแต่ตอนไหน

     บาส: เราสะสมโปสเตอร์ตั้งแต่อายุสิบกว่าขวบ สมัยเรียนมัธยม เก็บตังค์ค่าขนมเอาไปซื้อตามโรงหนัง ยุคนั้นแผ่นละ 30-40 บาทเอง เราก็จะเอาแฮนด์บิลล์ (ใบปลิวประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์ โดยส่วนใหญ่จะมีขนาด A5) ไปแปะเต็มฝาผนัง เอาโปสเตอร์ใหญ่ๆ แปะตามประตูห้องนอน ประตูห้องน้ำ ถ้าแผ่นที่ชอบจริงๆ ก็จะพับเก็บไว้ ม้วนเก็บไว้ ยังไม่ได้เข้ากรอบ ไม่มีปัญญา

     ไก่: พี่มีใบที่อยู่ในความทรงจำมั้ย

     บาส: Reservoir Dog (1992) ซื้อมา 250 บาท เป็นใบที่ซื้อมาแพงที่สุดในยุคนั้น จำได้ว่าเป็นแผ่นที่ ฮาร์วีย์ ไคเทล (Harvey Keitel) ถือปืน แต่ปรากฏว่ามันโดนน้ำ ยุ่ยหมดเลย 

     ไก่: อ๋อ บ้านพี่อยู่ใกล้แม่น้ำ อยู่ปากเกร็ดใช่มั้ย

     บาส: ไม่ใช่ อยู่ท่าน้ำนนท์ แต่ว่าไม่ใช่เพราะน้ำท่วมนะ มันมีช่วงหนึ่งที่หลังคารั่ว แล้วน้ำหยดลงมา โปสเตอร์ทั้งปึกที่พี่สะสมมาแม่งบวมเลย บางใบก็ถูกมอดกินไปหมด ยกแรกที่สะสมก็จบไป แต่ยังเก็บความรู้สึกอะไรบางอย่างไว้อยู่

     ไก่: แล้วถ้าเป็นช่วงนี้ล่ะ 

     บาส: ตกลงมึงเป็นพิธีกรใช่มั้ย

     (หัวเราะทั้งวง)

     บาส: เริ่มจากมีทริปหนึ่งไปเที่ยวฝรั่งเศส แล้วไปเจอร้านโปสเตอร์มือสอง เจอโปสเตอร์เรื่อง Scenes from a Marriage (1974) ของ อิงมาร์ เบิร์กแมน (Ingmar Bergman) คนขายบอกว่าเป็นแผ่นที่อยู่มาตั้งแต่ตอนหนังเข้าฉาย ตอนนั้นตื่นเต้นดีใจมาก เลยซื้อเรื่องนี้กลับมาพร้อมกับเรื่องอื่นอีก 1-2 แผ่น จากนั้นก็กลายเป็นว่าไฟความรักในสิ่งพิมพ์ที่เกี่ยวกับหนังของเราถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้ง เวลาไปเที่ยวต่างประเทศ หรือเวลาเจอพวกโปสเตอร์แผ่นดีๆ ในสื่อออนไลน์ เราก็จะซื้อเก็บไว้ 

     ไก่: ที่พี่ชอบโปสเตอร์ มันเป็นเพราะพี่เรียนกราฟิกดีไซน์มาด้วยมั้ย

     บาส: มีส่วน

พี่บาสเรียนกราฟิกฯ ด้านไหนเหรอครับ

     บาส: พี่เรียนกราฟิกฯ สิ่งพิมพ์นี่แหละ แต่ถ้าเทียบกับบ้านเราก็จะเหมือนโปรแกรมการศึกษาผู้ใหญ่ภาคค่ำ ตอนนั้นเรียนที่นิวยอร์ก เพราะว่าตอนอยู่ไทย พี่เรียนการแสดงและกำกับการแสดง แต่ส่วนตัวคือมีความชอบเรื่องกราฟิกอยู่ก่อนแล้ว ชอบดูพวกหน้าปกหนังสือ หน้าปกซีดี หรือโปสเตอร์หนังเป็นทุนเดิม ไม่รู้ว่าเพราะอะไรเหมือนกัน อาจเพราะพี่ชายเรียนทางด้านนี้ด้วยมั้ง พอไปอยู่นิวยอร์กก็เลยไปเข้าคอร์สเรียน แล้วความรู้สึกทางด้านนี้ก็แข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ พอเอามาผนวกกับความชอบหลักของเราที่เป็นเรื่องหนัง กลายเป็นว่าสิ่งพิมพ์ที่เอฟเฟกต์กับเรามากที่สุดก็คือโปสเตอร์หนัง 

ตอนนั้นได้ลองทำบ้างมั้ย

     บาส: ไม่ได้ทำโปสเตอร์หนัง แต่ว่าตอนเรียนก็ถูกสั่งให้ทำปกหนังสือ ไปรับจ็อบทำเมนูอาหารไทยบ้าง

ของพี่ไก่ล่ะครับ เริ่มสะสมโปสเตอร์หนังตอนไหน

     ไก่: ตอนเด็กๆ ก็คงเหมือนคนอื่นๆ ที่เอาโปสเตอร์ทีมฟุตบอล วงดนตรีไปแปะผนัง แต่ตอนโตขึ้นมาหน่อย ผมพยายามคิดอยู่ว่ามันมาตอนไหนวะ แล้วก็คิดว่ามันคงมีเชื้อมาจากการซื้อแผ่นหนัง เราจะชอบซื้อหนังที่คงไม่ได้ดูหรอก แต่ปกสวยมาเก็บไว้เต็มบ้านไปหมด แล้วก็อาจเป็นเพราะเรายังคิดไม่ออกด้วยมั้งว่าจะไปหาโปสเตอร์หนังที่เราชอบมาจากไหน พวกหนังญี่ปุ่นหรือหนังที่ไม่ค่อยฮิตเท่าไหร่ ตอนที่เรียนก็เลยยังไม่ได้สะสม ผมคิดว่ามันมาเริ่มตอนที่ผมไปฮ่องกงกับพี่ (หันไปหาพี่บาส)

     บาส: ที่ Broadway Cinematheque ใช่มั้ย

     ไก่: ใช่ หรือจริงๆ ก็ช่วงก่อนไปฮ่องกงนิดนึงแหละ คือช่วงหลังที่ได้ไปต่างประเทศ เราจะเจอร้านที่ขายแฮนด์บิลล์หนังญี่ปุ่น ซึ่งปกติเราจะเห็นตามกูเกิล แล้วเราก็ไม่เคยรู้ว่ามันมาจากไหน มีขายที่ไหน พอไปฮ่องกง เราก็จะเห็นว่ามันมีขายแฮนด์บิลล์ไซส์เล็กๆ แล้วเป็นหนังที่ไม่ได้มีในท้องตลาดส่วนใหญ่ ซึ่งบางเรื่องเราชอบมาก แม้มันจะเป็นแค่ใบปลิวที่แจกฟรีตามโรงหนังก็ตาม เราดีใจที่ได้ครอบครองมัน ก็เลยซื้อมาเก็บเต็มไปหมด

     ตอนแรกก็เป็นการซื้อเฉพาะเวลาไปเที่ยว จนกระทั่งสืบค้นในอินเทอร์เน็ตแล้วพบว่า อ้อ มันสามารถหาซื้อได้อยู่นะ แล้วพี่บาสก็ไปญี่ปุ่น เอาแฮนด์บิลล์กลับมาฝากผมเต็มไปหมด หลังจากนั้นก็ซื้อๆๆๆๆ แล้วก็เริ่มสะสม

     บาส: พี่เป็นคนดีเนอะ

     ไก่: ครับ เป็นคนป้ายยาครับ (หัวเราะ) ว่าแต่ตอนอยู่นิวยอร์กพี่หมดไปกับโปสเตอร์หลายบาทมั้ยฮะ

     บาส: ช่วงหลังๆ หมดเยอะเหมือนกัน แต่ว่าตอนนั้น พี่จะซื้อโปสเตอร์แบบรีโปรดักชั่น ไม่เคยซื้อของแท้ เพราะรู้สึกว่ามึงจะบ้าเหรอ ซื้อกระดาษหนึ่งแผ่นราคาเป็นหมื่น ใครจะซื้อวะ

     ไก่: ตัดภาพมาตอนนี้

     บาส: ครับผม (หัวเราะ) เรื่องก็เป็นอย่างนี้

รีโปรดักชั่นคือยังไงเหรอครับ

     บาส: สมมติเราอยากได้โปสเตอร์หนังคลาสสิกอย่าง The Godfather (1972) ก็จะมีคนขายเวอร์ชั่นที่เรียกว่า theatrical release ก็คือเป็นแผ่นแท้ที่ทางค่ายหนังพิมพ์ออกมา แล้วก็เอาไว้แปะตามโรงหนังตอนหนังฉายในยุคนั้น ซึ่งแผ่นพวกนี้ก็คือจะเป็นของสะสม แต่ราคาจะแพงมาก

     ไก่: แม้ว่าจะเก่า ขาด ยับก็ตาม 

     บาส: ใช่ แต่แบบคนที่ได้มาก็จะรู้สึกว่านี่คือ theatrical release นะจ๊ะ ซึ่งตอนนั้นพี่รู้สึกว่าเราไม่ได้เครซี่ขนาดนั้น ประกอบกับด้วยกำลังทรัพย์ พี่เลยไปซื้อแผ่นที่เขาเอาแผ่นพวกนี้ไปสแกนแล้วรีปรินต์ออกมาใหม่ 

เมื่อไหร่ที่พี่ไปสุด

     บาส: ก็ตอนไปฝรั่งเศสนั่นแหละ ไปเจอร้านขายโปสเตอร์ของแท้จริงๆ ได้ไปจับกระดาษ ได้ไปดมกลิ่น ได้ไปฟังเจ้าของเล่า แล้วมันก็มีภาพบางอย่างมาเทียบเคียงกับความทรงจำบางอย่างของเรา 

     สมัยก่อนเวลาไปดูหนังสักเรื่องหนึ่งที่โรงหนังแล้วรู้สึกชอบหนังเรื่องนี้มาก สิ่งที่เราทำตอนออกมาจากโรงคือ ไปยืนดูโปสเตอร์ เพราะเราดูหนังอีกรอบไม่ได้แล้ว ตอนนั้นสิ่งที่สายตาเราสัมผัสได้ก็คือโปสเตอร์แผ่นที่แปะอยู่นั่นแหละ เราได้แต่ยืนดูแล้วก็คิดว่า เชี่ย ทำไมหนังมันดีขนาดนี้วะ

     พอโปสเตอร์ที่ฝรั่งเศสมันมาผนวกกับความทรงจำเหล่านั้น เราเลยรู้สึกว่า อ๋อ ความหมายของโปสเตอร์ที่เป็นแบบออริจินัล theatrical release สำหรับคนที่มีแพสชั่นกับมันก็คือสิ่งเหล่านี้แหละ 

มันต่างกันที่ตรงไหน สัมผัสกระดาษ?

     ไก่: ผมคิดว่า theatrical release คือความรู้สึกของการได้ครอบครองสิ่งที่เป็นทางการของหนัง เหมือนได้รู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของหนัง เหมือนเราได้คอนเนกต์กับคนทำในทางหนึ่ง ขณะที่การรีปรินต์ ร้านซีรอกซ์ก็ทำได้ แล้วเราก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันมีความหมายอะไร ซึ่งถ้าพูดใน essence ของโปสเตอร์จริงๆ มันคือการก๊อปปี้อยู่แล้ว เพียงแต่เราว่า value มันอยู่ตรงนี้มากกว่า

     บาส: มันเหมือนว่าโปสเตอร์ theatrical release คือสิ่งที่ผ่านการพูดคุย ผ่านการประชุมของผู้อำนวยการสร้างกับผู้กำกับมาแล้ว เหมือนเวลาเราทำหนัง เราก็ต้องมีการประชุมสิ่งเหล่านี้นะ แล้วหลังจากขั้นตอนพวกนั้นน่ะ มันก็จะนำมาสู่การปรินต์ไอ้ล็อตพวกนี้ออกมา เราเลยรู้สึกว่าของพวกนี้เป็นของที่ตกทอดมาจากคนทำจริงๆ ว่ะ มันไม่ใช่ของใครก็ไม่รู้ที่เป็นอาแปะสักคนหนึ่งเอาไปปรินต์แล้วเอามาขาย (หัวเราะ)

     แต่สุดท้ายแล้ว สิ่งเหล่านี้ไม่มีถูกผิดเลยนะ หมายถึงว่ามันแล้วแต่เรา แล้วแต่ความสามารถในการซัพพอร์ตสิ่งเหล่านี้ของตัวเราเองด้วยซ้ำ พี่ไม่ได้กำลังจะบอกว่า น้องๆ ที่ซื้อแผ่นรีปรินต์แล้วมันจะไม่มีค่านะครับ ความจริงของเหล่านี้มันอยู่ที่ใจ มันอยู่ที่เจ้าของแหละ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะให้ค่ามันยังไง ที่ไม่เกินความสามารถของเรา

ถ้าอย่างนั้นคุณค่าของโปสเตอร์แต่ละแผ่นมันอยู่ที่อะไร เราจำเป็นต้องอินกับหนังเรื่องนั้น หรือแค่ชอบดีไซน์เฉยๆ

     ไก่: สำหรับผมคือต้องชอบนะ เปรียบเป็นคนก็คือถ้าเราจะให้เขามาอยู่ในบ้านก็ต้องรู้จักกันก่อน ผมว่ามันเหมือนการที่พี่บาสไปดูโปสเตอร์ที่หน้าโรงหลังจากหนังจบ คือภาพภาพหนึ่งในโปสเตอร์มันก็เป็นการสะท้อนโลกทั้งใบในหนังเรื่องนั้น ถ้าพูดในมุมของคนสะสม เราก็ต้องรักหนังเรื่องนั้นในระดับที่จะต้องเห็นทุกวัน แล้วรู้สึกอะไรบางอย่างกับมัน เพราะผมว่าถ้าแค่ความสวยเฉยๆ แป๊บเดียวก็เบื่อ มันไม่มีความหมายอะไรกับเรา แต่ถ้าเราชอบหนัง เราก็จะมีความทรงจำ และมีเรื่องราวอยู่ในนั้น

     บาส: พี่จะคิดต่างนิดหน่อย เพราะว่าพี่เป็นคนที่ติดกับเรื่องของดีไซน์ บางทีเวลาเจอโปสเตอร์ที่ดีไซน์แม่งสวยจังวะ แม้ว่าเราไม่รู้จักหนังเรื่องนั้นเลยก็ตาม พี่ก็จะยอมเปิดประตูต้อนรับเข้ามาในบ้าน การขายในช่วงแรกๆ ของพี่ก็จะเทไปทางนั้นระดับหนึ่ง คือขายโปสเตอร์หนังที่ไม่ได้ดัง ไม่มีชื่อเสียง คนอาจไม่รู้จัก แต่ว่าดีไซน์สวย แล้วก็ขายไม่ออก (หัวเราะ) คือก็จะมีคนที่คิดอย่างพี่แหละ แค่เปอร์เซ็นต์อาจจะน้อยมาก ก็เหมือนที่ไก่บอกแหละว่าคนต้องรักหนังก่อน ต้องรู้สึกอิน ชื่นชอบกับหนังเรื่องนั้นก่อน แม้กระทั่งบางเรื่องที่โปสเตอร์ไม่ได้สวยอะไรมากด้วยซ้ำ แต่พอหนังเรื่องนั้นมีความหมายกับเขา โปสเตอร์ก็มีความหมายไปด้วยในเวลาเดียวกัน

มันดูเป็นของสะสมที่ไม่ใช่แค่ซื้อแล้วจบ ดูต้องใช้พื้นที่ ต้องมีการใส่กรอบ ต้องทำหลายสิ่งต่อ นี่แปลว่าเราต้องมีพื้นที่หรือความพร้อมประมาณหนึ่งในการสะสมด้วยมั้ย

     บาส: ใช่ ซึ่งจริงๆ ถ้าจะพูดในเชิงธุรกิจ อันนี้กลายเป็นปัญหาหลักของร้านพี่เหมือนกันนะ เพราะว่าด้วยความที่พี่จะไม่ค่อยเครซี่พวกโปสเตอร์แบบชิราชิ (ขนาด B5 หรือ 7 x 10 นิ้ว) หรือแฮนด์บิลล์ เพราะพี่จะรู้สึกว่ามันเล็กซะจนเราไม่ได้สัมผัสพลังของมัน พี่ก็จะหันไปเล่นพวกโปสเตอร์แผ่นใหญ่ ซึ่งบางครั้งก็ใหญ่มาก แบบพวกโปสเตอร์ฝรั่งเศสที่ไซส์คือ 120 x 160 ซม. ด้วยความรู้สึกว่าแม่งเป็นโปสเตอร์ที่สะใจว่ะ คุ้มว่ะ แต่ปรากฏว่าตอนขายก็ขายไม่ออกจ้า (หัวเราะ) ลูกค้าถามไซส์แล้วบอกว่า พี่ หนูชอบมาก แต่หนูไม่มีที่แปะค่ะ ขอบคุณค่ะ แล้วก็จะหายไป เราก็จะแบบว่า อ้าว… มันก็คงเป็น issue ในระดับนึงนะที่ทำให้ร้านแปะโปสเตอร์เขาขายดิบขายดี

     ไก่: ผมหนักกว่าบ้านพี่บาสอีก คือผมอยู่คอนโด ซึ่งแม่งโคตรเล็ก แล้วแบบว่ามีที่ให้แปะได้ประมาณสองอัน ที่เหลือก็ใส่ม้วนไว้ครับ

ในฐานะของนักสะสม เมื่อถึงเวลาที่ต้องส่งต่อ พวกพี่ตัดใจขายกันได้ด้วยเหรอครับ

     บาส: ณ ขณะนี้ก็มีหลายแผ่นที่มีคนถามมา แต่ก็ยังไม่กล้าที่จะขายมัน ยังอยากให้น้องเขาอยู่กับเราไปอีกพักหนึ่งก่อน พยายามจะเล็งว่าแต่งมุมไหนของบ้านได้อีกมั่งวะ

     แต่ก็มีโปสเตอร์ใบหนึ่งที่พี่ชอบมาก เป็นไลน์อัพหนังที่ฉายในเทศกาลเมืองคานส์ เป็นใบที่ชอบตั้งแต่ตอนได้มา แล้วก็ไม่ได้กะจะขายด้วยซ้ำ เพราะรู้สึกว่าอันนี้มันแรร์มากๆ หาใหม่ไม่ได้แน่ๆ แต่ตอนนั้นตัดสินใจลงขายไปในอินสตาแกรม เพราะคิดว่าต้องงัดใบเด็ดออกมาทำการตลาดสักหน่อย ในใจก็คิดว่าถ้ามีคนมาถาม ก็จะบอกราคาให้มันแพงๆ ปรากฏมีคนเอาจริงว่ะ เป็นเพื่อนพี่เองที่สนใจ ต่อให้บอกว่าแพงยังไง มันก็เอา เลยตัดสินใจขาย พอกลับไปหาใหม่ ก็หาไม่ได้แล้ว

     ไก่: ถ้าแผ่นไหนชอบผมจะเก็บ ไม่ปล่อยเลย แต่จะมีอยู่ใบหนึ่งที่ไม่เคยดูหนังด้วย แต่ชอบฉิบหายเลย แล้วก็ลงขายไปแล้วด้วยนะ แต่ก็ภาวนาว่าอย่าให้ใครมาซื้อเลย คือมีความอยากเก็บไว้

     ผมจะมีอีกความรู้สึกหนึ่งคือ ซื้อเรื่องที่ไม่เคยดู เพราะเห็นโปสเตอร์แล้วรู้สึกว่าเราต้องชอบหนังเรื่องนี้แน่ๆ เวลาเห็นโปสเตอร์เราจะสัมผัสได้ว่ามันไม่ใช่การทำแบบผ่านๆ มันเป็นการทำที่ผู้กำกับหรือใครสักคนมีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งนั่นแปลว่าหนังเรื่องนั้นมีแรงดึงดูดบางอย่างที่จะทำให้คนหันมาลงเวลาและใช้พลังในการสร้างใบปิดนี้ขึ้นมา เราก็เลยซื้อมาก่อน แล้วรอไปพิสูจน์ว่ามันดีอย่างที่โปสเตอร์ใบนี้ทำออกมาหรือเปล่า ซึ่งมีไม่เยอะนะ มันจะมีแค่บางเรื่องที่เห็นแล้วรู้สึกแบบนี้

พอจะยกตัวอย่างได้มั้ยครับว่าคือเรื่องไหน

     ไก่: In the Realm of the Senses (1976)

พวกพี่เป็นทั้งนักสะสมและคนทำหนัง เวลาทำหนังของตัวเอง พวกพี่ซีเรียสกับการทำโปสเตอร์ขนาดไหน

     บาส: ผมค่อนข้างซีเรียสเลยแหละ ไก่ก็น่าจะเป็นเหมือนกันมั้ย

     ไก่: ล่าสุดผมเพิ่งทำโปสเตอร์ Come and See ไป นั่นเป็นครั้งแรก เพราะผมไม่เคยทำโปสเตอร์เองมาก่อน อย่างตอน 2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว คือมีทีมออกแบบ แต่ Come and See คือผมทำเอง แล้วก็ใช้รูปที่ตัวเองถ่าย ซึ่งตอนแรกให้นักออกแบบทำมาหลายคนมาก แล้วก็พบว่ามันไม่ใช่ 

     ผมเข้าใจเลยว่า ความยากของการทำโปสเตอร์คือต้องจับ essence ของหนังออกมาให้ตรงตามความรู้สึกของเรา สุดท้ายก็เลยกลายเป็นรูปที่เราถ่าย แล้วก็หากราฟิกดีไซเนอร์มาทำอาร์ตเวิร์ก (หันไปหาพี่บาส) พี่ทำมาหลายเรื่องแล้ว พี่รู้สึกยังไงบ้าง

     บาส: ถ้าเป็นหนังใหญ่ พี่ก็จะมีทีมมาซัพพอร์ตแหละ เหมือนมีคนเคยพูดให้ฟังว่า พี่น่าจะเป็นผู้กำกับที่ลงไปยุ่งกับโปสเตอร์เยอะมากเหมือนกัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีนะ (หัวเราะ) แต่มันก็เป็นความสุขด้วยแหละ พี่ว่าทั้งหมดทั้งมวลมันเกิดจากแพสชั่นล้วนๆ เลยว่ะ เพราะอย่างที่บอกไปว่าโปสเตอร์มันกลายเป็น medium หนึ่ง ซึ่งพี่รู้สึกว่ามันเป็นตัวแทน มันเป็นหน้าต่างบานแรกที่จะเปิดประตูให้คนดูเข้าไปสู่ความทรงจำที่มีต่อหนังเรื่องนั้น เราเลยรู้สึกว่าต้องให้ค่ากับมันมากๆ 

     โปสเตอร์จึงต้องสามารถสื่อสารและบอกเล่ามู้ดแอนด์โทน เรื่องราว หรือไอเดียอะไรบางอย่างของหนังได้ พี่เลยรู้สึกว่าการทำโปสเตอร์เป็นพาร์ตหนึ่งที่ทำแล้วสนุกและสำคัญ

ดีไซน์ที่เราเห็นส่วนใหญ่มาจากตัวผู้กำกับหรือนักออกแบบมากกว่ากัน

     บาส: แล้วแต่เลยนะ ผู้กำกับบางคนอย่าง สแตนลีย์ คูบริก (Stanley Kubrick) เราจะสัมผัสได้เลยว่าเขาน่าจะลงมาดูแลเรื่องการออกแบบ สังเกตว่าโปสเตอร์ของเขาทุกเรื่องคือขึ้นหิ้งหมดเลย ยิ่งถ้าไปเทียบกับ taste ในการทำหนังของเขาก็จะรู้สึกว่า รสนิยมของเขาลงมาสู่โปสเตอร์อย่างค่อนข้างชัดเจน 

     แต่บางทีก็ขึ้นอยู่กับนักออกแบบ จะมีนักออกแบบอยู่คนหนึ่งซึ่งดังมากๆ ชื่อ ซอล แบส (Saul Bass) เขาออกแบบแต่สิ่งพิมพ์ คือในยุค 50s ถึงประมาณปลาย 70s เขาลงมาออกแบบโปสเตอร์หนังที่หลายๆ แผ่นก็กลายเป็นโปสเตอร์คลาสสิกของโลก

     ไก่: ทุกวันนี้คือแพงมาก

     บาส: ใช่ อย่าง Anatomy of a Murder (1959) ถ้าลองไปดูราคาตัวที่เป็น authentic ตามท้องตลาดตอนนี้น่าจะหลัก 20,000-30,000 บาทขึ้นไป ซึ่งอันนี้คือถูกแล้วนะ อาจจะแพงกว่านี้ถ้าเจอร้านที่ตั้งราคาโหดๆ 

พอมันเป็นกระดาษที่บางแผ่นก็เก่ามากๆ เรามีวิธีในการเก็บรักษายังไง

     ไก่: จริงๆ แล้วการเก็บรักษาก็ทั่วไปเลย คือไว้ในพื้นที่ไม่ชื้นไม่ร้อนจนเกินไป ที่ค่อนข้างซีเรียสมากกว่าคือการขนส่ง เพราะว่าโดนนิดเดียวก็คือยับแล้ว

     เวลาได้มาก็ต้องเอาออกมาแผ่ก่อน แผ่ด้วยการทับ ซึ่งก็จะมีวิธีการเยอะเหมือนกัน เช่น บางอันยับมาก เราก็ต้องเอามารีดด้วยการเอาผ้าเช็ดตัวมาวางทับ แล้วเอาเตารีดไอน้ำมารีดให้มันมีความชื้นเข้าไป สิ่งที่ยับก็จะคลายออกมา แล้วก็เอาหนังสือหรืออะไรก็ตามที่มีน้ำหนักมาทับ ทิ้งไว้สักหนึ่งสัปดาห์มันก็จะแบน

     บาส: แต่กลายเป็นว่าหลังๆ พี่ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องรอยพับเลยว่ะ ทั้งที่ช่วงสะสมใหม่ๆ ก็จะเน้นว่าแผ่นไหนไม่มีรอยพับคือสวย แต่หลังๆ กลายเป็นว่าพอมีรอยพับปุ๊บ จะรู้สึก authentic มั้ง เพราะไปอ่านเจอมาว่าเวลาค่ายหนังยุคนั้นส่งโปสเตอร์ไปที่โรงหนัง เขาจะพับทบแล้วส่งไป การมีรอยพับก็จะเป็นเครื่องยืนยันในระดับหนึ่งว่า เฮ้ย ของพวกนี้มันคือ authentic จริงๆ ว่ะ

ในมุมของคนซื้อ สภาพของโปสเตอร์ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของเรามั้ย

     บาส: ไม่ขนาดนั้น คือถ้าดูจากรูปแล้วมันไม่ได้เยิน หรือมีรอยขาดที่ชัดเจน เราก็จะรู้สึกว่าทุกปัญหาแก้ไขได้ด้วยการเข้ากรอบ

     ไก่: ใช่ ถ้าไม่ถึงขั้นแบบไฟไหม้มาก็เฉยๆ เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าซื้อของเก่า มีรอยยับก็ดีอย่างที่พี่บาสบอก คือเราไม่ได้คาดหวังว่าจะได้ของที่ไม่มีรอยเลย เพราะถ้าเป็นแบบนั้น บางทียิ่งดูปลอมเข้าไปอีก

     บาส: ใช่ มันมีบางแผ่นที่เปิดมาแล้วใหม่มากจนเริ่มไม่แน่ใจ กลายเป็นกลัวไปแทน

รู้ได้ยังไงว่าแผ่นไหนแท้หรือปลอม

     ไก่: ความรู้สึก

     บาส: ใช่ๆ เป็นความรู้สึกเหมือนกัน

     ไก่: ฟังดูเป็นไสยศาสตร์ฉิบหายเลย (หัวเราะ)

     บาส: พี่ว่ากระดาษบอกได้ ยิ่งถ้าเป็นพวกหนังเก่าๆ หน่อยจะรู้เลย ถ้าหนังเก่าแล้วกระดาษมาเป็นอาร์ตมัน หนาๆ อันนี้แม่งไม่ใช่แน่นอน กลิ่นก็บอกได้ มันจะมีกลิ่นเหมือนเวลาเราเปิดหนังสือเก่า มันจะเป็นกลิ่นที่เลียนแบบไม่ได้เลย

     ไก่: จริงๆ เรื่องนี้ต้องตั้งศูนย์พิสูจน์ขึ้นมาตรวจเยื่อกระดาษเลย ซึ่งเราก็อยากไปให้ถึงจุดนั้นเหมือนกัน แต่ว่าจะไปทำที่ไหนวะ

     บาส: ถ้าเป็นสหรัฐฯ มันจะมียุคหนึ่งที่มีองค์กรกลางชื่อ National Screen Service คือในยุคนั้น หน่วยงานนี้จะเป็นคนจัดพิมพ์โปสเตอร์หนังฮอลลีวูดแล้วเป็นฝ่ายส่งให้โรงหนังทั้งหมด เพราะฉะนั้นโปสเตอร์แต่ละใบก็จะมีการรันนัมเบอร์ ซึ่งส่วนมากเวลาที่คนเอาโปสเตอร์เหล่านี้ไปรีโปรดักชั่น ก็จะลบซีเรียลนัมเบอร์ออก เพื่อให้รู้ว่านี่คือรีโปรดักชั่น ไม่ใช่ของแท้ด้วยนะ 

ขอถามถึงชื่อร้านบ้าง ทำไมตอนจะเปิดขายถึงตั้งชื่อร้านแบบนี้ฮะ

     บาส: ตอนแรกพี่ชอบชื่อ Poster District มากเลยนะ ดูเป็นอาณาจักรของโปสเตอร์ พอเจอ แปะโปสเตอร์ กูรู้สึกดัดจริตเลย (หัวเราะ) แต่ส่วนหนึ่งอาจเพราะพี่ชอบตั้งชื่อหรือคิดคำเป็นภาษาอังกฤษด้วยแหละ ชื่อก็เลยออกมาเป็นแบบนี้

     ไก่: จริงๆ คนคิดชื่อแปะโปสเตอร์คือ M Yoss (ยศวัศ สิทธิวงศ์) ตอนแรกบอกให้ชื่อร้านเปี๊ยกโปสเตอร์ แต่ผมเกรงใจน้าเปี๊ยก คุยไปคุยมามันบอกแปะโปสเตอร์ คิดว่าก็ดีเหมือนกัน เวลาคนพูดชื่อแล้วเขาน่าจะนึกหน้าคนขายที่ดูแก่กว่านี้ (หัวเราะ)

     บาส: เฮ้ย แต่ผมชอบมุมนี้ของคุณนะ ตอนแรกไก่มาเล่าให้ฟัง บอกว่าจะชื่อแปะโปสเตอร์ เราก็รู้สึกว่ามันเป็น weird sense of humor ในระดับหนึ่ง แต่พอไก่พูดมุมนี้ว่ามันทำให้ร้านดูเป็นคน แล้วพอเรารู้สึกว่าร้านเป็นคนปุ๊บ ผู้ซื้อ ซึ่งก็คือพวกเรานี่แหละ ระหว่างร้านขายของที่ดูเป็นองค์กรกับร้านของชำที่มีอาแปะแก่ๆ นั่งอยู่ ใจดีๆ เราจะรู้สึกอยากอุดหนุนไง รู้สึกว่ามุมนี้เขาก็ฉลาดเหมือนกัน

     ไก่: แต่ทุกวันนี้ผมไม่รู้แล้วนะว่าคนที่มาซื้อเขาคิดว่าผมเป็นอาแปะจริงมั้ย หรือกระทั่งคนรู้จักก็เรียกผมว่าแปะ ผมก็แบบไอ้เชี่ย กูงงไปหมด

Poster District กับ แปะโปสเตอร์ มีความแตกต่างกันที่ตรงไหนเป็นพิเศษมั้ยครับ

     บาส: พี่ว่ามันคือดีไซน์ อย่างร้านพี่ตอนแรกๆ ก็จะเป็นพวกหนังอเมริกัน แต่พอปล่อยของจริงจังมากขึ้น ก็เริ่มค้นพบว่าจริงๆ โปสเตอร์หนังอเมริกันที่เราชอบก็มีเวอร์ชั่นที่หลากหลายตามแต่ยุคและประเทศ ตั้งแต่นั้นมาเราก็เริ่มเสาะแสวงหาดีไซน์ที่ไม่ได้เห็นตามปกดีวีดีทั่วไป 

     ไก่: ผมชอบโปสเตอร์ของญี่ปุ่นมาก และด้วยความที่ญี่ปุ่นบ้าสิ่งพิมพ์กันอยู่แล้ว ก็เลยมีหนังเล็กหนังน้อยเต็มไปหมด ทุกเรื่องมีโปสเตอร์หมดเลย แล้วอาร์ตเวิร์ก การจัดไทโปกราฟี การจัดสเปซซิ่งแบบญี่ปุ่นมันมีเอกลักษณ์ กระดาษก็มีหลายแบบ เราเลยยิ่งชอบเข้าไปใหญ่

มันดูเป็นของที่ต้องจับ ต้องเห็นของจริงมากๆ แต่พอเราต้องซื้อและขายออนไลน์ มันเป็นข้อเสียหรือข้อดีกันแน่

     ไก่: จริงๆ พอขายออนไลน์มันง่ายมากเลยที่จะทริกคนซื้อ คือเราไม่ถ่ายตำหนิ ถ่ายแค่ภาพรวมก็ได้ แต่ว่ามันเหมือนเป็นจรรยาบรรณสำหรับคนที่จะทำสิ่งนี้เหมือนกันนะว่า เราต้องทำให้ชัวร์ว่าเขารับรู้เท่ากับเรา ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ได้จับกระดาษแผ่นนี้ ทุกอันที่เอามาขายและโชว์ให้คนเห็นก็เลยจะผ่านการรับประกันของเราแล้วว่ามันโอเค ไม่ใช่แบบไถดูในมือถือแล้วสวย พอเห็นของจริงคือยับไปหมด ผมคิดว่าอย่างน้อยเราต้องรู้สึกโอเคกับมันก่อน เราก็เข้าใจเขา เพราะเราก็เป็นคนหนึ่งที่ซื้อ และสะสมเหมือนกัน

     บาส: มีลูกค้าหลายๆ คนที่พอซื้อไปแล้วเขาถ่ายรูปส่งกลับมาบอกว่าประทับใจมาก เพราะว่าพอเขาจับกระดาษ เขาจะรู้สึกว่าหาสัมผัสหรือกลิ่นเก่าๆ อับๆ แบบนี้จากสิ่งพิมพ์ยุคใหม่ๆ ไม่ได้ ตัวโปสเตอร์ก็จะดูมีคุณค่าสำหรับเขาขึ้นมาโดยปริยาย 

     บางทีความสุขของคนซื้อโปสเตอร์ก็คือการเอาออกจากกระบอก แกะ กางออกมาดู ได้กลิ่นกระดาษครั้งแรก ได้สัมผัสเนื้อกระดาษที่เปื่อยยุ่ยครั้งแรก เห็นเทคนิคการพิมพ์แบบต่างๆ แล้วก็พับเก็บ ม้วนเก็บ เอาขึ้นหิ้งบูชา (หัวเราะ) พี่ว่าสิ่งนี้มันเป็นโบนัสสำหรับคนซื้อออนไลน์นะ 

     มันเป็นความรู้สึกที่เราไม่ต้องโฆษณา ถ้าเขาแกะดู เขาจะรู้เอง