Thu 23 Jun 2022

FINANCIAL FORECASTING

ความฝันของคนจนๆ ในเมืองรวยๆ จากหนังเรื่อง ‘เถียน มี มี่ 3650 วัน รักเธอคนเดียว’

ภาพ: NJORVKS

     แนวคิดทำนองว่าความฝันจะเปลี่ยนชนชั้น อยู่คู่กับมนุษยชาติมาทุกยุคทุกสมัย

     ย้อนกลับไป ค.ศ. 1506 ผู้คนจากยุโรปพากันออกเรือเพื่อไปแสวงหาความมั่งคั่งที่ดินแดนโพ้นทะเล นำมาซึ่งการค้นพบโลกใหม่ที่ชื่อว่าอเมริกา หรือใน ค.ศ. 1848 ผู้คนแห่กันไปที่แคลิฟอร์เนียเพื่อค้นหาทองคำที่ซ่อนอยู่ในดิน เพราะเชื่อว่าแร่สีเงางามจะเปลี่ยนชีวิตตัวเองได้ 

     ตัดภาพมาปัจจุบัน คนยากจนเลือกบวชเข้าสู่ศาสนาเพื่อเปลี่ยนฐานะชีวิต ผู้อพยพสมัครไปเป็นทหารเพื่อจะได้อาชีพในแผ่นดินที่ต้องการ ชนชั้นกลางทุ่มเททุกอย่างในชีวิตเพื่อสอบติดคณะโด่งดังแล้วเข้าทำงานในบริษัทชั้นนำ พล็อตนี้ไม่เคยหายไปจากเรื่องเล่าใด เพราะเรื่องเหล่านี้คือสิ่งที่แท้จริง

     เถียน มี มี่ 3650 วัน รักเธอคนเดียว (Comrades, Almost a Love Story) เป็นภาพยนตร์ (เกือบจะ) รักสุดคลาสสิกจากประเทศฮ่องกง แสดงนำโดย จาง ม่านอวี้ (Maggie Cheung) และ หลี่ หมิง (Leon Lai) กำกับโดย ปีเตอร์ ชาน (Peter Chan) ฉายครั้งแรกในปี 1996 และกวาดรางวัลทางภาพยนตร์มาได้อย่างถล่มทลาย

     ภาพยนตร์เล่าถึงชีวิตของ หลี่ เสี่ยวจิน หนุ่มจีนแผ่นดินใหญ่ที่ไปเสี่ยงโชคทำงานเก็บเงินในเกาะฮ่องกง จนได้เจอกับหลี่ เฉียว โดยมีร้านแมคโดนัลด์และโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลาง ความเหงาจากความไกลบ้านทำให้ทั้งสองคนตกหลุมรักกัน และมีความสัมพันธ์รักภายในเวลาไม่นาน

     หากจะมองเป็นภาพยนตร์รักสักเรื่อง หนังเรื่องนี้ก็ขยี้ใจเราได้อย่างนุ่มนวล เพราะบรรยากาศในเรื่องเต็มไปด้วยความอ่อนหวานแบบขมปร่า รู้ทั้งรู้ว่าคนสองคนรักกันแทบตายแต่ก็อยู่ด้วยกันไม่ได้ เพราะต่างฝ่ายต่างแต่งงานและมีคู่รักอยู่ก่อนแล้ว

     ถอยออกมาอีกก้าว และมองบริบทให้เห็นความจริงที่ซ่อนอยู่หลังความสัมพันธ์ หนังเรื่องนี้บอกเล่าชีวิตของชาวจีนในยุค 1970-1990 ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนในชีวิต ถูกปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ แทบจะไม่มีการพึ่งพาเศรษฐกิจจากโลกภายนอก สภาวะทางการเงินย่ำแย่ ในขณะที่ฮ่องกงอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษจนถึงปี 1997 ดูมีความหวัง มีความเชื่อ และความร่ำรวยรอให้ขุดค้นพบ จึงไม่แปลกที่ชาวจีนจำนวนมากจะหนีจากแผ่นดินใหญ่เพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า

     ภาพการเคลื่อนย้ายของผู้คนไปยังดินแดนที่ร่ำรวยกว่า ซิวิไลซ์กว่า และมีโอกาสให้ชีวิตได้เติบโตมากกว่าเป็นภาพที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าท่ามกลางประวัติศาสตร์ที่ยาวนานของมนุษย์ 

     เช่นเดียวกับการลงทุน ซึ่งกลายเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่นักลงทุนจำนวนมากใช้และได้ผลเป็นอย่างดี นั่นคือการมองอดีตผ่านประเทศที่ยังไม่พัฒนา และมองอนาคตผ่านประเทศที่พัฒนาแล้ว 

     ฉากหนึ่งในภาพยนตร์ พระเอกซึ่งมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ ถูกมองว่าเป็นคนบ้านนอก พูดภาษาจีนกวางตุ้งก็ไม่เป็น สั่งแมคโดนัลด์ก็ผิดๆ ถูกๆ สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าความเจริญเหล่านี้ยังไปไม่ถึงแผ่นดินจีนในเวลานั้น—อย่างน้อยก็ในวันที่พระเอกจากมา 

     แต่ถ้าเรามองในสายตาพระเจ้าสักหน่อย เชื่อมั่นว่าสักวันจีนแผ่นดินใหญ่ก็ต้องมีเศรษฐกิจเติบโตขึ้นเรื่อยๆ แล้วคิดไปถึงว่าถ้าวันหนึ่งแมคโดนัลด์ไปตั้งที่นั่นล่ะ… จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง

     คำตอบเรียบง่ายมีทั้งสองแง่ คือ เมืองเจริญ และธุรกิจก็เจริญ 

     เอาฝั่งที่ง่ายก่อนคือธุรกิจ เราสามารถใช้หลักคิดแบบนี้ในการมองภาพอนาคตของประเทศที่พัฒนาแล้วโดยเอามาเทียบกับเรา หรือเอาตัวเองไปเทียบกับประเทศที่ยังไม่พัฒนาเทียบเท่าก็ได้

     ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราเทียบตัวเองกับประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหราชอาณาจักร เราอาจจะพบว่าระบบการขนส่งด้วยรางของเขาพัฒนาไปไกลมาก รถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อโครงข่ายทุกเมืองใหญ่ ถ้าเราคิดว่าสิ่งนี้น่าจะมีอนาคต การลงทุนในหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากการสร้างรถไฟความเร็วสูงย่อมเป็นทางเลือกที่ดี

     หรือถ้าเราเทียบตัวเองกับประเทศที่พัฒนายังไม่เท่าเราอย่างเวียดนาม เราอาจจะพบว่าคนเวียดนามยังไม่นิยมเดินร้านสะดวกซื้อหรือห้างสรรพสินค้าเท่าเรา ดังนั้นหากวันหนึ่งประเทศเขามีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ขึ้น ความต้องการของชนชั้นกลางมากขึ้น การลงทุนในหุ้นธุรกิจค้าปลีกย่อมเป็นเรื่องดี

     นักลงทุนชื่อดังคนหนึ่งชื่อ ฮิลารี เครเมอร์ (Hilary Kramer) เคยเขียนหลักการการลงทุนเกี่ยวกับประเทศเกิดใหม่และความต้องการของชนชั้นกลางไว้ในหนังสือ The Little Book of Big Profits from Small Stocks ซึ่งทำให้เห็นภาพพลวัตการเติบโตของเมืองได้ดี

     เขาเล่าว่าหุ้นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากความต้องการของผู้คน มักจะเป็นกลุ่มเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ สาธารณูปโภคพื้นฐาน การคมนาคม ข้าวของเครื่องใช้ที่แพงขึ้นเป็นลำดับ ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล รวมไปถึงการขนส่งและการท่องเที่ยวที่จะเติบโตตามมา

     การดูหนังที่เล่าถึงความฝันในการไปขุดทองยังแผ่นดินใหม่ จึงทำให้เห็นยุคสมัยทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันระหว่างสองแผ่นดินได้ดีมาก หากใส่แว่นตาของการเป็นนักลงทุน เราคงค่อยๆ วิเคราะห์ออกมาได้ทีละจุดทีละตำแหน่งว่าแต่ละประเทศขาดอะไร และต้องลงทุนซื้ออะไรรอไว้ในอนาคต

     ยกตัวอย่าง หากประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีระบบการสื่อสารที่แพร่หลาย หุ้นเครือข่ายโทรศัพท์ก็ถือเป็นหุ้นที่น่าสนใจ หรือหากประเทศที่พัฒนาแล้ว มีอาหารฟาสต์ฟู้ดแฟรนไชส์ขายกันเป็นจำนวนมาก หุ้นกลุ่มนี้ก็น่าสนใจที่จะถือลงทุน รอวันที่ประเทศที่เราสนใจจะค่อยๆ พัฒนาต่อไปกลายเป็นประเทศที่เรายกไว้เป็นแบบอ้างอิง

     หากใครได้ย้อนกลับไปดู Comrades, Almost a Love Story ตอนนี้ก็คงจะคิดเหมือนผมว่า หากเทียบกับฮ่องกง คนจีนแผ่นดินใหญ่ในปัจจุบันไม่ได้เป็นคนบ้านนอกแบบในหนังแล้ว ภาษาจีนกลางก็มีอิทธิพลอย่างมาก และกลายเป็นภาษาที่ใครๆ ก็ใช้กัน

     อะไรๆ ที่จีนแผ่นดินใหญ่ไม่เคยมี ปัจจุบันก็หาได้ทั้งหมด ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดแบรนด์ตะวันตก ร้านสะดวกซื้อ ชุมชนชาวต่างชาติ เมืองใหญ่ รถติด ตึกสูงเสียดฟ้า ทุกอย่างแทบจะทำนายล่วงหน้าได้จากภาพของฮ่องกงที่นำไปก่อนแล้วผ่านหนังเรื่องนี้

     ผมเพิ่งดู Comrades, Almost a Love Story ได้ไม่นาน ผมร้องไห้ในหัวของ ‘ศิลป์’ แต่ในขณะเดียวกัน หัวของ ‘ศาสตร์’ ก็คิดไปด้วยว่า ถ้าหลี่ เสี่ยวจิน หรือหลี่ เฉียว ตัดสินใจกลับบ้าน ลงทุนซื้อหุ้นในธุรกิจอะไรสักอย่างที่เห็นบ่อยๆ ในฮ่องกง บางที เขาและเธอก็อาจจะไม่จำเป็นต้องไปแสวงโชคต่อที่นิวยอร์กก็ได้

     อาจจะช้าไปเสียบ้าง แต่ถ้าเลือกยืนอยู่ถูกข้าง… เวลาย่อมจะอยู่ข้างเรา