Wed 21 Dec 2022

60 Years of World Cup

ตลอด 60 ปีของการแข่งขันฟุตบอลโลกเกิดอะไรขึ้นบ้าง?

     การแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2022 จบลงด้วยชัยชนะของอาร์เจนตินาซึ่งนำโดย ‘ลิโอเนล เมสซี’ (Lionel Messi) แต่รู้หรือไม่ว่ากว่าจะคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกเป็นครั้งที่ 3 ทีมชาติอาร์เจนตินาต้องรอนานถึง 36 ปี มากกว่าอายุปัจจุบันของเมสซีด้วยซ้ำ 

     คอลัมน์ Data Journalread เดือนนี้เลยกลับมาพร้อมภารกิจสุดยิ่งใหญ่ในการอธิบายข้อมูลเกี่ยวกับกีฬาฟุตบอล โดยเลือกมาทั้งหมด 6 ทีมที่น่าสนใจ พร้อมคำถามที่ว่า ‘ตลอด 60 ปีของการแข่งขันฟุตบอลโลกเกิดอะไรขึ้นบ้าง ใครเป็นแชมป์บ่อยที่สุด ประเทศไหนได้เป็นเจ้าภาพพร้อมกับได้ถ้วยฟุตบอลโลกไปครอง และประเทศไหนที่น่าจับตามองกันนะ’ 

     คอลัมน์ตอนนี้ใช้ ‘แผนภูมิแท่งเรเดียล’ (Radial Bar Chart) ซึ่งมีลักษณะเป็นวงกลม แต่ละเส้นจะแสดงข้อมูลของแต่ละปีการแข่งขัน โดยแบ่งวงกลมออกเป็น 6 ส่วนตามรอบการแข่งขัน ตำแหน่งของตัวเลขที่อยู่ในแต่ละจุดแสดงรอบการแข่งขันที่ทีมชาตินั้นๆ สามารถเข้าไปถึงได้  

     ถ้าเส้นนั้นมีสีครบทั้งเส้นวงกลม แสดงว่าปีนั้นได้แชมป์

     เลข 2 คือรองชนะเลิศ (Final)

     เลข 3 คืออันดับ 3

     เลข 4 คือเข้ารอบรองชนะเลิศ หรือ 4 ทีมสุดท้าย (Semi final)

     เลข 8 คือเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้าย (Quarter final)

     และเลข 16 คือเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้าย (Round of 16)

     ส่วนสีใช้แสดงปีที่จัดการแข่งขันฟุตบอลโลก  

     สีส้ม คือช่วงปี 2010-2022    

     สีน้ำเงิน คือช่วงปี 1994-2006 

     สีฟ้า คือช่วงปี 1978-1990 

     และสีเหลือง คือช่วงปี 1962-1974

     สุดท้ายสัญลักษณ์ถ้วยรางวัลแสดงปีที่ประเทศนั้นๆ เป็นแชมป์ และรูปบ้านคือปีที่เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน  

     ถ้าเข้าใจวิธีอ่านทั้งหมดแล้ว ไปดูเรื่องราวที่เกิดขึ้นตลอด 60 ของแต่ละประเทศที่เลือกมากันเลย

อาร์เจนตินา
36 ปี แห่งความหลัง

     อาร์เจนตินาเป็นแชมป์ฟุตบอลโลกมาแล้ว 3 สมัย ครั้งแรกในปี 1978 ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันด้วย โดยครั้งนั้นนำทีมโดย ‘มาริโอ เคมเปส’ (Mario Kempes) ผู้ทำประตูตลอดการแข่งขันไปได้ 6 ลูก 

     ครั้งที่ 2 คืออีกแปดปีถัดมา ในปี 1986 นำโดย ‘ดิเอโก มาราโดนา’ (Diego Maradona) นักเตะเจ้าของเสื้อหมายเลข 10 ผู้เป็นตำนานของทีมฟ้า-ขาว ซึ่งอีกสี่ปีต่อมา พวกเขาก็ได้ที่สองจากการแพ้ให้กับเยอรมนีตะวันตก 

     และครั้งล่าสุด ในปี 2022 นำโดยกัปตันทีม ‘ลีโอเนล เมสซี’ ที่นอกจากจะพาทีมเป็นแชมป์ได้อีกครั้ง ยังยิงประตูให้กองทัพฟ้า-ขาวได้ถึง 7 ลูก 

     แต่กว่าถ้วยรางวัลฟุตบอลโลกถ้วยที่ 3 จะมาถึง อาร์เจนตินาก็ต้องรอนานถึง 36 ปี โดยตอนที่อาร์เจนตินาได้แชมป์ครั้งที่ 2 นักเตะที่ตอนนี้ใครต่อใครพากันยกย่องว่าเก่งที่สุดในโลกยังไม่ลืมตาดูโลกเลยด้วยซ้ำ เพราะเมสซีเกิดในปี 1987 หรือหนึ่งปีหลังจากนั้น 

ฝรั่งเศส
การเป็นแชมป์และรองแชมป์แบบกลับไปกลับมา

     ฝรั่งเศสเป็นแชมป์ฟุตบอลโลก 2 ครั้ง และเฉียดเข้าใกล้การเป็นแชมป์อีก 2 ครั้ง

     พวกเขาได้แชมป์ครั้งแรกในปี 1998 ที่ตัวเองเป็นเจ้าภาพ ซึ่งนอกจากจะมาพร้อมฟอร์มอันร้อนแรงแล้ว ยังมีเพลงประจำการแข่งขันที่ติดหูมาถึงปัจจุบัน ไปที่ไหนใครๆ ก็ร้องว่า “โก โก โก อะเล อะเล อะเล” อย่าง The Cup of Life (La Copa de la Vida) ของนักร้องชาวละติน ‘ริกกี มาร์ติน’ (Ricky Martin) และเกือบจะได้เป็นแชมป์ในปี 2006 ถ้าไม่ดวลจุดโทษแพ้ให้กับอิตาลีไปก่อน (และมีเหตุการณ์ในตำนานอย่างการเอาหัวโหม่งหน้าอกคู่แข่งของ ‘ซีเนดีน ซีดาน’ (Zinedine Zidane)) ก่อนจะกลับมาเป็นแชมป์อีกครั้งในปี 2018 ด้วยการเอาชนะโครเอเชียไป 4-2 ประตู

     ในการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งล่าสุด กองทัพตราไก่ก็เกือบได้แชมป์อีกครั้ง ถึงแม้ว่าจะแพ้ให้กับอาร์เจนตินาแต่ก็เป็นการแข่งขันที่ยอดเยี่ยม โดยเฉพาะการทำประตูสองลูกภายในสองนาทีของ ‘คีลิยัน เอ็มบัปเป้’ (Kylian Mbappé)  ที่ทัวร์นาเมนต์นี้ยิงกระจาย (8 ประตู) จนได้ตำแหน่งดาวซัลโวไปครอง

บราซิล
เมื่อไหร่จะกลับมาคืนฟอร์มสักที ภาค 1

     บราซิลมีชาร์ตที่น่าสนใจโดยเฉพาะในช่วงปี 1960-1970 (สีเหลือง) ตลอดทศวรรษนั้นเรียกได้ว่าเป็นยุคทองของพลพรรคแซมบ้า เพราะสามารถเป็นแชมป์ถึง 2 ครั้ง คือในปี 1962 และ 1970 นำโดยนักฟุตบอลในตำนานอย่าง ‘เปเล่’ (Pele) ซึ่งก่อนหน้านี้ในปี 1958 ในขณะที่เขากำลังร้องไห้กอดถ้วยฟุตบอลโลกถ้วยแรกของบราซิลอยู่นั้น เปเล่มีอายุแค่ 17 ปีเท่านั้น 

     แต่แล้วช่วงฝันร้ายของบราซิลยกที่ 1 ก็มาถึง เพราะหลังจากฟุตบอลโลกปี 1970 พร้อมกับการแขวนสตั๊ดของเปเล่ ทีมชาติบราซิลก็ไม่เคยไปถึงฝันได้ จนกระทั่ง 16 ปีต่อมา ในปี 1994 บราซิลก็กลับมาคว้าแชมป์อีกครั้งด้วยการดวลลูกโทษเอาชนะอิตาลี (ซึ่งมาพร้อมชอตการพลาดลูกโทษในตำนานของเทพบุตรเปียทองคำ ‘โรแบร์โต บัจโจ้’ (Roberto Baggio)) จากนั้นในปี 1998 บราซิลก็มาแพ้ให้กับฝรั่งเศสที่เพิ่งกล่าวถึงไปก่อนหน้า และมาคว้าแชมป์สมัยที่ 5 ได้ในปี 2002  ซึ่งยุคนั้นนำทีมโดยสามประสาน ‘RRR’ ได้แก่ ‘โรนัลโด้-ริวัลโด-โรนัลดินโญ่’ (Ronaldo-Rivaldo-Ronaldinho) 

     แต่แล้วฝันร้ายของบราซิลก็กลับมาอีกครั้ง เพราะตั้งแต่นั้นมาก็ไม่เคยได้แชมป์อีกเลย จนปัจจุบันก็เป็นระยะเวลา 20 ปีแล้ว… พวกเขาไปได้ไกลสุดแค่รอบ  4 ทีมสุดท้ายในการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2014 ซึ่งตัวเองเป็นเจ้าภาพ แตกต่างจากอาร์เจนตินาและฝรั่งเศสที่สามารถคว้าแชมป์มาได้ในปีที่ตัวเองเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน 

     ว่าแต่ในปีที่บราซิลเป็นเจ้าภาพ ทีมชาติไหนที่มาทำให้บราซิลไม่ได้ตื่นจากฝันร้ายนี้กันนะ

เยอรมนี
เมื่อไหร่จะกลับมาคืนฟอร์มสักที ภาค 2

     ในปี 2016 ที่บราซิลเป็นเจ้าภาพ พวกเขาถูกคาดหวังไว้สูงมากว่าต้องได้แชมป์คาบ้าน แต่กลับกลายเป็นทีมชาติอินทรีเหล็กที่คว้าถ้วยไปครอง

     ชาร์ตของเยอรมนีค่อนข้างน่าสนใจ เพราะตลอดการเป็นแชมป์ 4 ครั้ง พวกเขาไม่เคยเป็นแชมป์แบบติดๆ กัน แต่เว้นระยะห่างประมาณ 10-20 ปี (ประมาณ 3-4 การแข่งขันของฟุตบอลโลกที่จัดทุก 4 ปี) ถือเป็นทีมที่ได้แชมป์แบบสม่ำเสมอ และทำฟอร์มได้อย่างยอดเยี่ยมในช่วงปลายทศวรรษ 1980 ถึงต้นทศวรรษ 1990 ซึ่งช่วงเวลานั้นนำทีมโดยซูเปอร์แมน ‘โลธาร์ มัทเธอุส’ (Lothar Matthäus) แต่ถึงอย่างนั้นในช่วงหลังๆ ตั้งแต่ปี 2018 และ 2022 เยอรมนีก็ฟอร์มร่วงกราว ยังไม่เคยเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้ายได้เลย

เกาหลีใต้
ความหวังของชาวเอเชีย

     ถ้าถามว่าทีมจากเอเชียตะวันออกชาติไหนมีผลงานยอดเยี่ยมที่สุดในการแข่งขันฟุตบอลโลก ก็คงจะเป็นเกาหลีใต้ที่เคยเข้ารอบลึกสุดคือรอบ 4 ทีมสุดท้ายในปีที่เกาหลีใต้และญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันร่วมกันในปี 2002 

     ในรอบรองชนะเลิศ เกาหลีใต้แพ้เยอรมนี 1-0 ประตู ทำให้เหล่านักเตะแดนโสมนำโดยซูเปอร์สตาร์ของประเทศอย่าง ‘พัค จีซอง’ (Park Ji- sung) ต้องไปชิงที่ 3 กับตุรกี ณ แดกู สเตเดียม ก่อนจะพ่ายแพ้คาบ้านไปอย่างน่าเสียดายด้วยสกอร์ 2-3 ประตู 

     ในปี 2010 เกาหลีใต้เข้าไปถึงรอบ 16 ทีมสุดท้าย และหลังจากนั้นก็ไม่สามารถเข้ามาถึงรอบนี้ได้เลย จนกระทั่งปีนี้ ‘ซน ฮึงมิน’ (Son Heung-min) พาทีมเข้าไปถึงรอบ 16 ทีมสุดท้ายอีกครั้งในรอบ 12 ปี

ญี่ปุ่น
จะสามารถเป็นแชมป์โลกภายในปี 2050 ได้ไหมนะ?

     ภารกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่นคือการเป็นแชมป์ฟุตบอลโลกภายในปี 2050 หรือที่เรียกว่า Dream 2050 แต่ดูจากผลงานแล้ว ความฝันนี้คงอีกยาวไกล เพราะญี่ปุ่นมักไปหยุดอยู่ที่รอบ 16 ทีมสุดท้ายเสมอ 

     แม้ว่าสิ่งที่คาดหวังไว้จะดูเหมือนความฝัน แต่ปี 2022 ญี่ปุ่นได้สร้างตำนานบทใหม่ในรอบแบ่งกลุ่ม โดยการล้มสเปนและเยอรมนีซึ่งทั้งสองทีมเคยเป็นแชมป์ฟุตบอลโลกมาแล้ว เข้ามาสู่รอบ 16 ทีมสุดท้ายไปอย่างสวยงาม ก่อนจะแพ้ให้โครเอเชียด้วยการดวลจุดโทษ อดเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้ายไปอย่างน่าเสียดาย

     เมื่อมองด้วยสายตาของคนทั่วไปแล้ว กีฬาฟุตบอลช่างเป็นเรื่องของปรัชญาจริงๆ 

     คนเรามีวันที่ชนะก็ต้องมีวันแพ้ ไม่มีทีมไหนอยู่ยิ่งใหญ่ค้ำฟ้าตลอดไป ถ้าคนเราพยายามฝึกฝนและมีความฝันอยู่เสมอ สักวันต้องเป็นจริงแน่นอน

     การรอคอยที่จะกลับมาเป็นแชมป์ในรอบ 36 ปีของอาร์เจนตินาก็ไม่ถือว่าสายเกินไป

     วันนี้คีลิยัน เอ็มบัปเป้ อาจเสียใจที่ไม่สามารถพาทีมรักษาแชมป์ไว้ได้ แต่นักฟุตบอลอนาคตไกลแบบเขาต้องสร้างตำนานบทใหม่ได้อย่างแน่นอน

     ไม่รู้ว่ายุคทองของบราซิลและเยอรมนีจะวนกลับมาอีกเมื่อไหร่ แต่ตราบใดที่พวกเขายังสนุกกับการเล่นฟุตบอลก็คงจะไม่ยาก

     ถ้ามีความฝันที่ยิ่งใหญ่ และพยายามฝึกฝนอยู่เสมอ สักวันจะต้องเป็นวันของเกาหลีใต้และญี่ปุ่นแน่นอน
กีฬาฟุตบอลอาจกำลังบอกเราว่า ถ้ามีความฝันก็อย่าเพิ่งล้มเลิกไปง่ายๆ 

     การรอคอยที่แสนจะยาวนานอาจคุ้มค่ามากก็ได้นะ 

อ้างอิง
fifa.com/fifaplus/en/tournaments/mens/worldcup/qatar2022
en.wikipedia.org/wiki/Argentina_at_the_FIFA_World_Cup
en.wikipedia.org/wiki/France_at_the_FIFA_World_Cup
en.wikipedia.org/wiki/Brazil_at_the_FIFA_World_Cup
en.wikipedia.org/wiki/Germany_at_the_FIFA_World_Cup
en.wikipedia.org/wiki/Japan_at_the_FIFA_World_Cup
en.wikipedia.org/wiki/2002_FIFA_World_Cup